ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ผลต่างจากการนับสินค้าคงเหลือ

ถามวันที่ 11 ส.ค. 2559  .  ถามโดย anupong66  .  เข้าชม 22 ครั้ง

กรณีที่บริษัทนับสินค้าคงเหลือแล้วพบว่า
1.สินค้าที่นับได้จริงน้อยกว่ารายงานสินค้าคงเหลือในระบบบัญชี
2.สินค้าที่นับได้จริงมากกว่ากว่ารายงานสินค้าคงเหลือในระบบบัญชี
ทั้ง 2 กรณีมีภาระทางด้านภาษีอากรอย่างไร

1 คำตอบ
เรียน คุณ anupong66

ผลกระทำทางภาษีอากร กรณีที่บริษัทฯ ตรวจนับสินค้าคงเหลือ
1. กรณีที่ตรวจพบว่า สินค้าที่นับได้จริงน้อยกว่ารายงานสินค้าคงเหลือในระบบบัญชี หรือ "สินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ"
1.1 กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรณีดังกล่าว ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจาก "มีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87 (3) หรือมาตรา 87 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร" ซึ่งตามมาตรา 78/3 แหงประมวลรัษฎากร ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 กำหนดให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อบริษัทฯ ได้ "ตรวจพบ" ว่าสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบฯ ดังกล่าว
บริษัทฯ จึงต้องนำมูลค่าของสินค้าขาดจากรายงานไปรวมเป็นมูลค่าของฐานภาษีในเดือนภาษีที่ตรวจพบ เพื่อเสียภาษีขายในอัตราร้อยละ 7.0 ของมูลค่าสินค้าตามราคาตลาดตามมาตรา 79/3 แห่งประมวลรัษฎากร
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังอาจต้องรับผิดระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 90 (15) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจาก "ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำรายงาน โดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 87 หรือตามที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 87/1 แห่งประมวลรัษฎากร"
1.2 กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล
การที่สินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ เป็นกรณีที่ไม่มีเหตุผลอันสมควร บริษัทฯ ต้องนำมูลค่าของสินค้าขาดจากรายงานมาถือรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยนำไปปรับปรุงในแบบ ภ.ง.ด.50

2. กรณีที่ตรวจพบว่า สินค้าที่นับได้จริงมากกว่ากว่ารายงานสินค้าคงเหลือในระบบบัญชี หรือ "สินค้าเกินจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ"
2.1 กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรณีดังกล่าว ไม่ถือเป็นการขายสินค้า บริษัทฯ อาจต้องรับผิดระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 90 (14) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจาก (14) ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสินค้าเกินจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87
2.2 กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล
ไม่มีผลกระทบใดๆ ในกรณีนี้
ตอบเมื่อ 14 ส.ค. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ