ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

รายจ่ายเกี่ยวกับรถยนต์

บทความวันที่ 4 มิ.ย. 2560  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 26526 ครั้ง

รายจ่ายเกี่ยวกับรถยนต์


          ปุจฉา: หากจะซื้อรถในนามห้างฯ แต่เป็นรถเบนซ์ (สำหรับผู้บริหาร) จะสามารถนำค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถ เช่น ค่างวด ค่าซ่อมบำรุงรักษาต่างๆ (แต่ไม่รวมค่าน้ำมัน) มาเป็นค่าใช้จ่ายของห้างฯได้หรือไม่คะ ห้างฯ ไม่ได้จด vat ค่ะ หรือมีเงื่อนไข ข้อยกเว้นอื่นๆ ทางบัญชี ภาษี สำหรับการซื้อรถราคาแพงรึเปล่าคะ รบกวนอาจารย์แนะนำด้วยค่ะ 


          วิสัชนา: 
          ข้อกฎหมายเกี่ยวกับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต มีดังนี้ 
          1. ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 ทศ และมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 505) พ.ศ. 2553 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2553 ความเดิมยังคงใช้บังคับต่อไป เฉพาะทรัพย์สินที่ได้มาก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ)
              มาตรา 4 ทศ การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภททรัพย์สินอย่างอื่นตามมาตรา 4 (5) แต่ไม่รวมถึงยานพาหนะที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยซื้อหรือได้รับโอนกรรมสิทธิ์เพื่อมีไว้ใช้ในการประกอบกิจการของตนเอง ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละหกสิบของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 4 ทั้งนี้ ทรัพย์สินนั้นต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
                   (1) เป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาขอรับสิทธิประโยชน์สนับสนุนจากส่วนราชการ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อการส่งเสริมการลงทุนด้านอนุรักษ์พลังงาน
                   (2) เป็นทรัพย์สินที่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
                   (3) เป็นทรัพย์สินที่เกิดจากรายจ่ายซึ่งได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2539
                   (4) เป็นทรัพย์สินที่เกิดจากรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 3 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 460) พ.ศ. 2549”

“มาตรา 5 ทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุน เฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งล้านบาท เว้นแต่เป็นทรัพย์สินซึ่งมีไว้ใช้ในกิจการให้เช่ารถยนต์ ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนทั้งหมด ทั้งนี้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องไม่นำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้ในกิจการอื่น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน”

          2. ตามมาตรา 65 ตรี (20) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ 
              มาตรา 4 รายจ่ายต่อไปนี้ ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ 
                  (1) มูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์ โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เฉพาะส่วนที่เกิน คันละหนึ่งล้านบาท 
                  (2) ค่าเช่าทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มี ที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เฉพาะส่วนที่เกินคันละสาม หมื่นหกพันบาทต่อเดือนในกรณีที่เช่าเป็นรายเดือนหรือรายปี หรือค่าเช่าส่วนที่เกินคันละ หนึ่งพันสองร้อยบาทต่อวันในกรณีที่เช่าเป็นรายวัน เศษของเดือนให้คิดเป็นวัน หากเช่า ไม่ถึงหนึ่งวัน ให้คำนวณค่าเช่าตามส่วนของระยะเวลาที่เช่า ทั้งนี้ โดยรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ด้วย 
              มาตรา 5 บทบัญญัติมาตรา 4(1) ไม่ใช้บังคับกับรายจ่ายที่เกิดจากซื้อหรือ การเช่าซื้อทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมาย ว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ในกรณีที่ 
                  (1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจซื้อขายหรือ ให้เช่าซื้อรถยนต์ประเภทดังกล่าวไว้เพื่อเป็นสินค้า หรือ 
                  (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจให้เช่ารถยนต์ มีรถยนต์ประเภทดังกล่าวไว้เพื่อการให้เช่า เฉพาะมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือหลังจากหักค่า สึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร 
              มาตรา 5/1 บทบัญญัติมาตรา 4 (2) ไม่ใช้บังคับกับรายจ่ายที่เกิดจากการเช่าทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจให้เช่ารถยนต์ได้เช่ารถยนต์ประเภทดังกล่าวไว้เพื่อการให้เช่า 
              มาตรา 6 บทบัญญัติมาตรา 4 ไม่ใช้บังคับกับรายจ่ายที่เป็นมูลค่าต้นทุนของ หรือค่าเช่าทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมายว่า ด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ที่เกิดจากการซื้อ การเช่าซื้อ หรือการเช่าที่ได้ทำสัญญาก่อน วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2539”

           3. ตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) 
               (1) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ เช่า หรือรับโอนรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต และภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือการรับบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต 
                     ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับสำหรับการขายรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต และการให้บริการเช่ารถยนต์ดังกล่าวของตนเองโดยตรง และการให้บริการรับประกันวินาศภัยสำหรับรถยนต์ดังกล่าว 
               ....
               (11) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ หรือรับโอนรถยนต์ที่มิใช่รถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และต่อมาได้มีการดัดแปลงรถยนต์ดังกล่าวเป็นรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ทั้งนี้ เฉพาะที่ได้กระทำภายในสามปีนับแต่เดือนภาษีที่ได้รถยนต์ไว้ในครอบครอง 
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับสำหรับการขายรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต และการให้บริการเช่ารถยนต์ดังกล่าวของตนเองโดยตรง”

          ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
          กรณีห้างฯ ไม่ใช่ “ผู้ประกอบการจดทะเบียน” จะซื้อ “รถเบนซ์” ซึ่งเป็นรถยนต์นั่งตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (รถยนต์นั่ง) ในนามห้างฯ เพื่อใช้เป็นรถสำหรับผู้บริหาร 
          1. ห้างฯ จะสามารถนำค่าซื้อรถเบนซ์ (รถยนต์นั่งฯ) มาบันทึกเป็นต้นทุนทรัพย์สินของห้างฯ ได้ทั้งจำนวน รวมทั้งค่าภาษีซื้อสำหรับรถยนต์ดังกล่าว 
กรณีที่ได้รถยนต์นั่งฯ มาโดยการเช่าซื้อ ต้องคำนึงถึงบทบัญญัติมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ดังต่อไปนี้ด้วย
“มาตรา 7 ทรัพย์สินที่ได้มาโดยการเช่าซื้อ หรือโดยการซื้อขายเงินผ่อนมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินนั้นให้ถือตามราคาที่พึงต้องชำระทั้งหมด แต่ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาที่จะนำมาหักในรอบระยะเวลาบัญชี จะต้องไม่เกินค่าเช่าซื้อหรือราคาที่จะต้องผ่อนชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น”
          2. ในการคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคารถยนต์นั่งฯ ดังกล่าว ในทางบัญชี ห้างฯ จะมีสิทธิคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้เต็มตามมูลค่ารถยนต์นั่งฯ ที่ห้างฯ ได้ซื้อมา แต่ในทางภาษีเงินได้นิติบุคคลห้างฯ มีสิทธิคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคารถยนต์นั่งฯ จากมูลค่าต้นทุนเพียง 1 ล้านบาท ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ข้างต้น 
         3. ห้างฯ จะนำค่างวด ไปถือเป็นค่าใช้จ่ายของห้างฯ ไม่ได้ เนื่องจากเป็นการซ้ำซ้อนกับต้นทุนรถยนต์ 
         4. เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์ดังกล่าว เช่น ค่าซ่อมบำรุงรักษาต่างๆ ค่าน้ำมัน รวมทั้งภาษีซื้อที่เกี่ยวกับรายจ่ายดังกล่าว เป็นต้น นั้น ห้างฯ จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายได้ ไมต้องห้ามตามมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร