ว่าด้วยเงินลดทุนตามมาตรา 40 (4)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร
บทความวันที่ 5 มี.ค. 2561 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 8934 ครั้ง
บทความวันที่ 5 มี.ค. 2561 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 8934 ครั้ง
ว่าด้วยเงินลดทุนตามมาตรา 40 (4)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร
ตามมาตรา 40 (4)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า
"มาตรา 40 (4) เงินได้ที่เป็น
(ง) เงินลดทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน"
กล่าวเฉพาะ เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ก) - (ช) แห่งประมวลรัษฎากร ทุกกรณี บัญญัติขึ้นจากหลักเงินได้เนื่องจากทรัพย์สิน ในส่วนที่เป็น "ผลได้จากทุน" หรือ Capital Gain ได้แก่ การได้รับเงินได้อันผลเนื่องมาจากการมีทรัพย์สินด้วยการลงทุนหาประโยชน์จากทรัพย์สินที่มิใช่เงินได้เนื่องจากกิจการ
คำว่า "การลดทุน" ตามมาตรา 40 (4)(ง) ดังกล่าว นั้น โดยกฎหมายมีเจตนาที่แบ่งออกเป็นสองส่วน ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1 การลดทุน ในส่วนที่เป็นแต่เพียงการคืน "เงินทุน" ให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน (เจ้าของทุน) ในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล การลดทุนในลักษณะเช่นนี้ เป็นที่ทราบกันโดยชัดแจ้งว่า ่ไม่ก่อให้เกิดเงินได้พึงประเมินแก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนแต่อย่างใด เพราะไม่ก่อให้เกิด "ผลได้จากทุน" หรือ Capital Gain อันเป็นหลักการของบทบัญญัติมาตรา 40 (4)(ก) - (ช) แห่งประมวลรัษฎากรทุกกรณี จึงไม่จำเป็นที่จะต้องบัญญัติกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในส่วนนี้ เพราะเป็นความจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์กระไรอีกแล้ว หรือ สัจพจน์ (Axiom / postulate) ซึ่งหมายถึง ข้อความที่ตกลงกันและยอมรับว่าเป็นความจริงโดยไม่ต้องพิสูจน์ กันอีก ว่า การคืนทุน ก็คือการคืนทุน ที่ไม่ผลประโยชน์อื่นใดที่ตีราคาได้เป็นเงินเกินกว่าที่ลงทุน อันจะก่อให้เกิดเงินได้ที่เป็นผลได้จากทุน
ส่วนที่ 2 การลดทุน ในอีกส่วนหนึ่ง คือ "การลดกำไรสะสม" เพราะในการแสดงรายการ "กำไรสะสม" (Retained Earnings Presentation) ในงบแสดงฐานะการเงิน นั้น ตามมาตรฐานการบัญขี กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแสดงรายการ "กำไรสะสม" นี้ ไว้เป็นส่วนหนึ่งของทุน (Capital) หรือส่วนของเจ้าของ (Equities) การบัญญัติกฎหมายในส่วนของมาตรา 40 (4)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร จึงใช้ถ้อยคำว่า "การลดทุน" ด้วย เพราะเป็นการคืนทุนให้แก่เจ้าของโดยเลี่ยงที่จะจ่ายเป็นเงินส่วนแบ่งของกำไร ซึ่งทำได้เฉพาะในส่วนของห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเท่านั้น เพราะกรณีบริษัทจำกัดไม่สามารถกระทำเช่นนั้นได้ จึงจำเป็นต้องบัญญัติกฎหมาย เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีอากรไว้ดังกล่าว
ขอย้ำว่า บทบัญญัติตามมาตรา 40 (4)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร นั้น ท่านหมายความถึงแต่เฉพาะ "การลดทุน" ที่เป็น "การลดกำไรสะสม" อันเป็นส่วนของ "ทุน" เท่านั้น เพราะ "กำไรสะุสม" เป็นส่วนของ "ทุน" การลดกำไรสะสมลงโดยไม่นำไปจ่ายเป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร รวมทั้งการนำกำไรสะสมมาจ่ายเป็นโบนัสแก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 40 (4)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร ก็จัดเป็น "การลดทุน" ได้เช่นเดียวกัน แต่เมือเลี่ยงไปเรียกว่า "โบนัส" จังแยกวงเล็บออกไปต่างหาก
ด้วยการอ่านกฎหมายในลักษณะนี้ เท่านั้น ที่่จะอำนวยให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีอากร สมตามเจตนารมณ์ของการบัญญัติ "ประมวลรัษฎากร" ตามหลักกฎหมายภาษีอากรที่ดี คือ "เป็นธรรม แน่นอน สะดวก ประหยัด อำนวยรายได้ เป็นกลางทางเศรษฐกิจ และยืดหยุ่่น" ไม่ก่อให้เกิดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บภาษีอากร ซึ่งเป็นไปตาม "หลักความเป็นธรรม" อย่างยิ่ง
แต่หากนำเอาสองส่วนมาผสมปนเปกัน (มั่ว) อย่างไม่รู้จักจะแยกแยะให้ดี ให้รอบคอบ ก็เป็นอย่างที่เห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันจนหาความถูกต้องชอบธรรมไม่พบ ผู้รับเคราะห์กรรมก็ชินในความแปร่ง (เพี้ยน) ไปแล้ว นั้น
ต่อไปนี้ เป็นบทสนทนา ขนาดยาว ที่เกี่ยวด้วยการลดทุนที่น่าสนใจและขอนำมาเสนอให้เห็นโดยทั่วไปอีกครั้งหนึ่งดังนี้ เผื่อท่านผู้รู้อื่นๆ จักได้เมตตารวมแสดงความเห็นเพิ่มเติมเพื่อความประเทืองปัญญาครับ
อาจารย์ Suphot Sumleekaew (31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เวลา 10:18 น.)
"ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ที่ว่า..การลดทุนโดยไม่ลดกำไรสะสม ถูกนำมาตีความให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว ต่อมาหากมีการนำเงินกำไรสะสมที่ถูกใช้เป็นฐานในการจัดเก็บภาษีเงินได้มาแล้วครั้งหนึ่ง มาจ่ายในรูปของเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร กรมสรรพากรยังคงจัดเก็บภาษีเงินได้ โดยถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามมตรา 40 (4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร เช่นนี้ แล้วความซ้ำซ้อนก็จะยิ่งเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก มิใช่เจตนารมณ์ของการตราบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร เมื่อ 31 มีนาคม พ.ศ. 2481 แต่อย่างใดไม่
แต่ผมก็หาเหตุผลไม่ได้ว่าเหตุใดในเมื่อกิจการมีผลกำไรที่สะสมต่อเนื่องกันมาหลายปี..กิจการจึงเลือกจ่ายเงินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของด้วยการลดทุนแทนการจ่ายผลประโยชน์จากการลงทุน ซึ่งหากกิจการจ่ายเงินปันผล/ส่วนแบ่งผลกำไรให้แก่ผู้ลงทุนให้หมดและหากยังไม่เพียงพอค่อยดำเนินการลดทุนลง..คงไม่เกิดประเด็นปัญหาซ้ำซ้อนดังที่อาจารย์กล่าว ผู้ร่างกฎหมายจึงต้องหาวิธีอุดช่องโหว่ซึ่งดูเหมือนจะก่อให้เกิดความขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งหวังให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม...ด้วยความเคารพอย่างสูงครับ"
อาจารย์ Panupong Piboonwate (31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เวลา 15:49 น.)
"ผมก็เข้าใจตามมุมมองของ อ.สุพจน์ ในบางส่วนนะครับ แต่ต้องไม่ลืมว่า ผู้ถือหุ้นทุกคนก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารบริษัทตามสัดส่วนการลงหุ้นเสมอไป สมมติผมหุ้นกับเพื่อนอีกสองคนเพื่อมาลงทุนเปิดบริษัท แต่ผมแค่เอาเงินมาช่วยลงทุนเท่านั้น ผ่านไปสักห้าปี บริษัทเติบโตขึ้นมากโดยฝีมือของเพื่อนทั้งสองคน โดยที่ผมไม่ได้ร่วมทำอะไรเลย และตอนนี้ผมอยากเอาทุนส่วนของผมคืน จึงลงมติกะเพื่อนเพื่อลดทุนบริษัท
จะเห็นว่า ผมไม่ได้อะไรเลย และก็ไม่ควรจะมีรายได้จากเงินปันผลด้วย ดังนั้น การลดทุนแบบนี้ ไม่เสียภาษี ผมจึงมองว่าสมเหตุผลแล้วครับ"
สุเทพ พงษ์พิทักษ์ (31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เวลา 21:20 น.)
"ขอบคุณมากทั้งอาจารย์สุพจน์ และอาจารย์ภาณุพงศ์ ที่กรุณาเติมเต็ม ทำให้เห็นมุมมองที่กว้างขวางออกไปอืก
แต่ในระบอบประชาธิปไตย ภายใต้สิทธิเสรีภาพ และการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้ตั้งอยู่บนความเห็นแก่ตัว เบียดเบียนผู้อื่น บวกกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยเฉพาะเจตนารมณ์ของการเป็นกฎหมายภาษีอากรที่ดี “เป็นธรรม แน่นอน สะดวก ประหยัด อำนวยรายได้ เป็นกลางทางเศรษฐกิจ และยืดหยุ่น” จึงไม่ควรที่จะมีการตีความกฎหมายให้แตกต่างไปจากหลักการดังกล่าว เพราะความขลาดเขลา เอาแต่ได้ มองผู้เสียภาษีอากรว่า จะหาทางโกงภาษีอากร มีแต่ “กู” เท่านั้นที่เป็นคนดีสุจริต
แม้กิจการไม่มีกำไรสะสม แต่หากมี “สำรองตามกฎหมาย” ในกรณีของบริษัทจำกัด หากตีความในเชิงที่เห็นที่เป็นอยู่ เมื่อประสงค์จะลดทุน ก็ต้องเจอปัญหานี้อยู่นั่นเอง โดยความเคารพเหตุผลของอาจารย์สุพจน์ เมื่อการตีความกฎหมายมีผลกระทบในทางที่ไม่เป็นธรรม ขัดต่อเสรีภาพ อย่าว่าแต่จะไม่ชอบดัวยเจตนารมณ์แห่งประมวลรัษฎากร เลยครับ แม้แต่รัฐธรรมนูญ ความเห็นดังกล่าว ก็ขัดด่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญด้วย ดังเหตุผลที่ได้ยกมาข้างต้น รวมกับที่อาจารย์ภาณุพงศ์ ยกขึ้นมา ย่อมมีความจำเป็นที่ต้องลดทุน โดยมีเงินกำไรหรือเงินสำรองตามกฎหมายที่กันไว้จากกำไร เชื่อแน่ว่า การตีความในลักษณะนี้ไม่ใช่เจตนารมณ์ของการร่างกฎหมาย ที่จะหาวิธีอุดช่องโหว่เกินกว่า ที่ได้อุดช่องโหว่โดยบัญญัติให้จัดเก็บภาษีเงินได้จากการนำกำไรสะสมมาลดพร้อมกับการลดทุน ดังกล่าว"
อาจารย์ Suphot Sumleekaew (31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เวลา 20:29 น.)
"ก็คงต้องพึ่งกระบวนการยุติธรรมโดยการนำคดีขึ้นต่อศาลเพื่อหาทางออกอันนำไปสู่การแก้บทบัญญัติในมาตรา 40 (4)(ง) เฉกเช่นการแก้ไขมาตรา 57 ตรี เบญจ ...ครับ...ด้วยความเคารพ"
อาจารย์ Suphot Sumleekaew (31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เวลา 20:47 น. อีกครั้งหนึ่ง)
"ในส่วนของการร่วมลงทุนแม้ไม่ได้ลงแรงอันใด ขอเพียงร่วมลงทุนย่อมต้องเสี่ยงต่อการขาดทุน ดั่งที่เคยได้ยินกันบ่อยครั้งว่าก่รลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน รวมถึงการซื้อหุ้นในตลาด เราเองคงมิอาจเข้าไปบริหารงานได้เว้นแต่การแสดงความเห็นและลงมติในที่ประชุม แต่เมื่อมีการประกาศจ่ายเงินปันผลหลังจากที่เราลงทุนเพียงแค่วันเดียวเราก็ยังได้รับสิทธิ์ในเงินปันผลนั้น..ส่วนผู้ที่ลงแรงด้วยก็ย่อมต้องได้รับค่าตอบแทนจากตำแน่งงานที่ทำนอกเหนือจากเงินปันผล...ด้วยความเคารพอีกครั้ง...กฎหมายที่ดีต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี..แต่เมื่อยังไม่แก้กฎหมายก็ย่อมต้องยึดตามบทบัญญัติ...ซึ่งเขียนไว้อย่างชัดเจน...มิเช่นนั้นคงก็ให้เกิดการเหลื่อมล้ำในสังคมแก่คนที่มิได้ติดตามท่านอาจารย์อย่างใกล้ชิดโดย..แต่ต้องยอมรับกฎหมายที่เจ้าหน้าที่เปิดให้ดูเพื่อประเมินโดยมิอาจโต้แย้งใดๆได้"
สุเทพ พงษ์พิทักษ์ (2 มกราคม พ.ศ. 2560 เวลา 1:15 น.)
"ก็ว่ากันไปครับ หากไม่สนใจในหลักการ "ผลได้จากทุน" (Capital Gain) และเจตนารมณ์ของการบัญญัติกฎหมายเพื่อความเป็นธรรม เอาแต่ตัวหนังสือที่เห็น ก็ต้องปล่อยไปตามยถากรรมครับ คงไม่ไปต่อกรกระไรที่ไหนดอกครับ ความชัดเจนของกฎหมายที่่บัญญัติว่า "เงินลดทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน" ผมได้เคยอภิปรายในหลายโอกาสแล้ว ว่า มีสองส่วน ดังกล่าวข้างต้น
จะทำเป็นไขสือ ไม่รับรู้และใช้ความเข้าใจในส่วนของตนมาตีความกฎหมาย โดยไม่มองให้เห็นถึงเหตุและผลของการบัญญัติกฎหมาย พร้อมกับยัดเยียดให้ประชาชนต้องเชื่อตามที่ตนคิดนั้น ผมรู้สึกท้อใจ ห่อเหี่ยว รู้สึกหดหู่ และปวดในหัวใจอย่างยิ่ง ความลึกของกฎหมายที่ไม่ได้ลึกกระไร กลับมองเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และ่จัดเก็บภาษีภายใต้ความท้าทายที่พร้อมจะถูกประณามหยามเยียดเยี่ยงนี้ ก็ว่ากันไป ก็ต้องปล่อยไปตามยถากรรมล่ะครับ ท่านอาจารย์"