ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

รายจ่ายจากการดําเนินการตามกฎหมายว่าด้วยส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

บทความวันที่ 15 เม.ย. 2561  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 3852 ครั้ง

รายจ่ายจากการดําเนินการตามกฎหมายว่าด้วยส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 

 

กรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการจ้างคนพิการเข้าทํางาน หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาลงเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 156/2561 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสําหรับรายจ่ายจากการดําเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ลงวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2561 จึงขอนำมาเป็นประเด็นเล่าสู่กันฟังดังนี้

1. นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการซึ่งรับคนพิการที่มีบัตรประจําตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเข้าทํางาน มีสิทธินําค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายเนื่องจากการจ้างคนพิการเข้าทํางาน อาทิ ค่าใช้จ่ายที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการมีหน้าที่ต้องจ่ายตามข้อผูกพันที่กําหนดในสัญญาจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือนค่าล่วงเวลา โบนัส ค่ารักษาพยาบาล เงินประกันสังคม เป็นต้น มาลงเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรได้ ดังนี้

    กรณีที่ 1 นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการรับคนพิการที่มีบัตรประจําตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเข้าทํางาน นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้น มีสิทธินําค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายเนื่องจากการจ้างคนพิการเข้าทํางาน นํามาลงเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เป็นจํานวนสองเท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเนื่องจากการจ้างคนพิการเข้าทํางาน ทั้งนี้ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 499) พ.ศ. 2553 เช่น

    บริษัท ก. รับนาย ข. ซึ่งเป็นคนพิการที่มีบัตรประจําตัวคนพิการเข้าทํางานเป็นพนักงานประจําของบริษัท โดยบริษัท ก. จ่ายค่าจ้างให้นาย ข. จํานวน 20,000 บาทต่อเดือน หรือ 240,000 บาทต่อปี บริษัท ก. มีสิทธินําค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าจ้างนาย ข. นํามาลงเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสําหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการจ้างได้ทั้งสิ้นจํานวน  480,000 บาท 

    กรณีที่ 2 นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการรับคนพิการที่มีบัตรประจําตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเข้าทํางานเกินกว่าร้อยละหกสิบของลูกจ้างในสถานประกอบการนั้น โดยมีระยะเวลาจ้างเกินกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีหรือรอบระยะเวลาบัญชีที่มีเงินได้ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้น มีสิทธินําค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายเนื่องจากการจ้างคนพิการเข้าทํางานมาลงเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไดเป็นจํานวนสามเท่า ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเนื่องจากการจางคนพิการเข้าทํางาน ทั้งนี้ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 499) พ.ศ. 2553 และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 519) พ.ศ. 2554 เช่น

    ในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม บริษัท ก. มีพนักงานในบริษัททั้งหมด 100 คน เป็นพนักงานที่เป็นคนพิการที่มีบัตรประจําตัวคนพิการทั้งหมด 61 คน โดยได้จ้างพนักงานที่เป็นคนพิการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึง 31 มีนาคมของป็ถัดไป รวมทั้งสิ้น 275  วันในรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งเกินกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันในรอบระยะเวลาบัญชี ดังนั้น บริษัท ก. จ่ายค่าจ้างให้พนักงานที่เป็นคนพิการคนละ 20,000 บาทต่อเดือน หรือคนละ 180,000 บาทในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว บริษัท ก. จึงมีสิทธินําค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าจ้างพนักงานที่เป็นคนพิการมาลงเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสําหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการจ้างได้ทั้งสิ้นจํานวน 540,000 บาทต่อพนักงานที่เป็นคนพิการ 1 คน

 

2. ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 กําหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่  100 คนขึ้นไป รับคนพิการเข้าทํางานในอัตราส่วนลูกจ้างที่ไม่ใช่คนพิการทุก 100 คนต่อคนพิการ 1 คน เศษของ 100 คน ถ้าเกิน 50 คนต้องรับคนพิการเพิ่มอีก 1 คน

    2.1 กรณีที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่มิได้จ้างคนพิการเข้าทํางานตามจํานวนที่กําหนด ดังกล่าว แต่ได้ส่งเงินเข้ากองทุนส้งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามจํานวนกําหนด ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการมีสิทธินําเงินที่ส่งเข้ากองทุนตามมาตรา 34 ดังกล่าว มาลงเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ เพราะเป็นรายจ่ายที่จ่าตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

    2.2 อย่างไรก้ตาม  กรณีนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่มิได้จ้างคนพิการเข้าทํางานตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และไม่ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการอาจปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 อาจกระทําได้โดย

         (1) การให้สัมปทาน จัดสถานที่จําหน่ายสินค้าหรือบริการ

         (2) จัดจัางเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ

         (3) ฝึกงาน

         (4) จัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอํานวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือ

         (5) ให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ

 

3. หากนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการมีค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไปจริง ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจการของตนเอง นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้น มีสิทธินําค่าใช้จ่ายนั้นมาลงเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ แต่รายจ่ายดังกล่าวจะต้องไม่เกินจํานวนเงินที่ต้องจ่ายเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550

 

4.  นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการมีสิทธินํารายจ่ายที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาลงเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรได้ ดังนี้

    วิธีที่ 1 การให้สัมปทาน คือ การให้สิทธิแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ ได้ครอบครองหรือใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินในการประกอบอาชีพ เช่น การให้ใช้ประโยชน์จากอาคาร สถานที่หรือทรัพย์สินของสถานประกอบการ การให้สิทธิในลิขสิทธิ์ในการจําหน้ายสินค้า การจัดสรรเวลาออกอากาศสถานีโทรทัศน์ วิทยุ

         การดําเนินการในลักษณะดังกล่าว เป็นกรณีนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการให้คนพิการได้ใช้ประโยชน์จากสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ของตน ไม่ใช่กรณีการจ่ายค่าใช้จ่ายใด ๆ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการไม่มีสิทธินํามูลค่าการให้คนพิการได้ใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินนั้น มาถือเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เช่น

         บริษัท ก. มีที่ดินเป็นของตนเอง ได้ทําสัญญาให้สัมปทานใช้พื้นที่ในการทําการเกษตรปลูกผักแก่ผู้ดูแลคนพิการเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยไม่มีค่าตอบแทน คิดเป็นมูลค่า 109,500 บาท โดยผู้ดูแลคนพิการจะเป็นผู้หาประโยชน์และเป็นผู้ได้รับรายได้จากการขายผักตลอดระยะเวลาการให้สัมปทาน บริษัท ก. ให้ผู้ดูแลคนพิการได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินของตน ไม่ใช่กรณีการจ่ายค่าใช้จ่ายใดๆ บริษัท ก. ไม่มีสิทธินํามูลค่าการให้ผู้ดูแลคนพิการได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นมาถือเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

    วิธีที่ 2 การจัดสถานที่จําหน่ายสินค้าหรือบริการ คือ การให้สถานที่เพื่อให้คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการได้ใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ การดําเนินการในลักษณะดังกล่าว เป็นกรณีนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการให้คนพิการได้ใช้ประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ของตน ไม่ใช่กรณีการจ่ายค่าใช้จ่ายใดๆ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการไม่มีสิทธินํามูลค่าการให้คนพิการได้ใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินนั้น มาถือเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เช่น

         บริษัท ก. มีอาคารสถานประกอบการ ได้ทําสัญญาให้คนพิการใช้พื้นที่อาคารบริเวณโรงอาหารของบริษัทเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้คนพิการขายอาหารจํานวน 1 ร้าน โดยไม่มีค่าตอบแทน คิดเป็นมูลค่า 109,500 บาท ผลประโยชน์เงินรายได้ที่เกิดจากการจําหน่ายอาหารให้ตกเป็นของคนพิการ เช่นนี้ การที่บริษัท ก. ให้คนพิการได้ใช้ประโยชน์จากอาคารของตน ไม่ใช่กรณีการจ่ายค่าใช้จ่ายใดๆ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการไม่มีสิทธินํามูลค่าการให้คนพิการได้ใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินนั้นมาลงเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

    วิธีที่ 3 การจัดจ้างเหมาช่วงงานหรือการจ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ คือ การจ้างคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการโดยตรง ในงานที่มุ่งผลสําเร็จของงาน หากนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการได้จ่ายค่าใช้จ่ายไปเพื่อการจัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการที่เป็นไปเพื่อกิจการของตน นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้น มีสิทธินําค่าใช้จ่ายตามจํานวนที่ได้จ่ายไปนั้นมาลงเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

         หากการจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้น ไม่มีสิทธินําค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการมาลงเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เพราะไม่ใช่รายจ่ายเพื่อหากําไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร เช่น

         ตัวอยางที่ 1

         บริษัท ก. ได้ทําสัญญาจ้างเหมาคนพิการเพื่อให้จัดทําของที่ระลึกของบริษัท เพื่อแจกเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ โดยบริษัทจะเป็นผู้จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ ให้คนพิการ โดยบริษัทจะจ่ายเงินค่าจ้างทําของที่ระลึกในราคา 109,500 บาทต่อคนพิการ 1 คน บริษัท ก. มีสิทธินําเงินค่าจ้างเหมาคนพิการดังกล่าว มาลงเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้

         ตัวอย่างที่ 2

         บริษัท ก. ได้ทําสัญญาจ้างเหมาคนพิการเพื่อให้ไปทํางานในบริษัท ข. หรือส่วนราชการใด ๆ เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยมีมูลค่าสัญญาจ้างจํานวน 109,500 บาทต่อคนพิการ 1 คน บริษัท ก. ไม่มีสิทธินําเงินค่าจ้างเหมาคนพิการดังกล่าว มาลงเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

    วิธีที่ 4 การฝึกงาน คือ การฝึกงานให้แก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการในหลักสูตรที่เป็นการเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ การถ่ายทอดวิทยาการ เทคโนโลยี องค์ความรู้ เพื่อให้นําไปใช้ประกอบอาชีพ

         หากนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการได้มีการจ่ายเงินเพื่อการฝึกงานให้แก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้น มีสิทธินําค่าใช้จ่ายตามจํานวนที่ได้จ่ายไปนั้นมาลงเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เช่น บริษัท ก. จัดให้มีการอบรมอาชีพพนักงาน Call center สําหรับคนพิการ โดยจ้างทีมงานฝึกอบรมจากบริษัท ข. โดยบริษัท ก. จ่ายเงินค่าจ้างทีมงานฝึกอบรมให้แก่บริษัท ข. จํานวน 109,500 บาท ต่อคนพิการ 1 คน บริษัท ก. มีสิทธินําค่าใช้จ่ายการจ้างทีมงานฝึกอบรมที่ได้จ่ายไปจริง จํานวน 109,500 บาท มาลงเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 

    วิธีที่ 5 การจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอํานวยความสะดวก คือ การจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอํานวยความสะดวกให้แก่คนพิการที่ทํางานในสถานประกอบการ ให้สามารถทํางานได้ตามความเหมาะสม นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการมีสิทธินํารายจ่ายตามจํานวนที่ได้จ่ายไปเพื่อการจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอํานวยความสะดวก มาลงเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เช่น 

         บริษัท ก. มีพนักงานลูกจ้างทั้งสิ้นจํานวน 2,100 คน ได้จ้างคนพิการทํางานในสถานประกอบการจํานวน 20 คน และได้จัดให้มีทางลาดสําหรับคนพิการ โดยบริษัท ก. จ่ายเงินค่าจัดทําทางลาดคนพิการเป็นจํานวน 109,500 บาท ดังนั้น บริษัท ก. มีสิทธินํามูลค่าต้นทุนของทางลาดที่ได้จัดทํานั้นมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้

         และเนื่องจากกรณีดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการจัดอุปกรณ์ สิ่งอํานวยความสะดวกหรือบริการในอาคาร สถานที่ ให้แก่คนพิการในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ บริษัท ก. จึงได้รับสิทธิตามมาตรา  4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 499) พ.ศ. 2553 ดังนี้

         “มาตรา 4 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๒ และส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล) ให้แก่เจ้าของอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ บริการขนส่ง หรือผู้ให้บริการสาธารณะอื่น ซึ่งได้จัดอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ บริการขนส่ง หรือบริการสาธารณะอื่น ให้แก่คนพิการในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการดังกล่าว

    วิธีที่ 6 การจัดให้มีบริการล่ามภาษามือ คือ การจัดหาบุคคลซึ่งจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือต่อกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่ออํานวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างคนพิการ ทางการได้ยินกับบุคคลอื่นในสถานประกอบการของตน นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้นมีสิทธินําค่าใช้จ่ายตามจํานวนที่ได้จ่ายไปเพื่อการจัดให้มีล่ามภาษามือมาลงเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เช่น

         ตัวอย่างที่ 1

         บริษัท ก. มีพนักงานลูกจ้างทั้งสิ้นจํานวน 2,100 คน ได้จ่างคนพิการทางการได้ยินเข้าทํางานในสถานประกอบการจํานวน 20 คน และได้จ่ายเงินค่าจ้างล่ามภาษามือ 1 คน เป็นจํานวน 109,500 บาทต่อ 1 ปี เพื่ออํานวยความสะดวกในการสื่อสารในสถานประกอบการ เช่นนี้ บริษัท ก. มีสิทธินําค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีบริการล่ามภาษามือดังกล่าว มาลงเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 

         ตัวอย่างที่ 2

         บริษัท ก. จ่ายเงินค่าจัดให้มีบริการล่ามภาษามือเป็นจํานวน 109,500 บาท เพื่อจ้างล่ามภาษามือไปให้บริการในงานปีใหม่ของโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง หรือสถานที่ของหน่วยงานของรัฐอื่นใด บริษัท ก. ไม่มีสิทธินําค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีบริการล่ามภาษามือดังกล่าว มาลงเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

    วิธีที่ 7 การช่วยเหลืออื่นใด คือ การสนับสนุนด้านการเงิน วัสดุ ครุภัณฑ์ เครื่องมือหรือทรัพย์สินอื่น รวมทั้งการซื้อสินค้าจากคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการโดยตรงเพื่อให้มีอาชีพ ฝึกอาชีพ เตรียมความพร้อมในการทํางาน นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่สนับสนุนด้านการเงิน วัสดุ ครุภัณฑ์ เครื่องมือหรือทรัพย์สินอื่นแก่คนพิการและผู้ดูแลคนพิการนั้น มีสิทธินําค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาลงเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เช่น

          ตัวอย่างที่ 1

         บริษัท ก. สนับสนุนให้เครื่องดนตรีแก่คนพิการเพื่อประกอบอาชีพนักดนตรี โดยจ่ายเงินเพื่อซื้อกีตาร์ 1 ตัว ราคา 109,500 บาท บริษัท ก. มีสิทธินําค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องดนตรีดังกล่าว มาลงเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้

          ตัวอย่างที่ 2

         บริษัท ก. สนับสนุนเงินให้แก่คนพิการเป็นจํานวน 109,500 บาท ในลักษณะเป็นเงินสงเคราะห์ให้เปล่า ให้คนพิการนําเงินดังกล่าวไปใช้โดยมิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนพิการ บริษัท ก. ไม่มีสิทธินําค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาลงเป็นรายจ่ายในการคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เนื่องจากเป็นการจ่ายในลักษณะของการสงเคราะห์คนพิการ มิใช่การสนับสนุนเพื่อให้มีอาชีพ ฝึกอาชีพ หรือเตรียมความพร้อมในการทํางานในด้านรายได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส้วนนิติบุคคล กรณีที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการให้บริการแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการโดยไม่มีค่าตอบแทน อันเป็นการดําเนินการตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 เนื่องจากเป็นการปฏิบัติตามที่กฎหมายกําหนด กรณีถือเป็นเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินไม่มีอํานาจประเมินตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร

 

5. อนึ่ง นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องมีหลักฐานรายจ่ายตามมาตรา 33 มาตรา 34 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ดังต่อไปนี้ เพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานประเมินกรมสรรพากร

    5.1 กรณีการจ้างคนพิการที่มีบัตรประจําตัวคนพิการเข้าทํางาน ได้แก่ สัญญาจ้างแรงงาน และหลักฐานการจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่คนพิการที่จ้างเข้าทํางาน

    5.2 กรณีการจ่ายเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้แก่ ใบเสร็จรับเงินที่ออกโดยกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

    5.3 กรณีการให้สัมปทาน จัดสถานที่จําหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอํานวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ ได้แก่ หนังสือแจ้งผลการใช้สิทธิตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ซึ่งอนุญาตให้ใช้สิทธิตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน รวมทั้งเอกสารประกอบการขอใช้สิทธิ และหลักฐานการจ่ายเงินเพื่อดําเนินการดังกล่าว