ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

การตรวจเเนะนำ การออกหมายเรียกตรวจสอบของสรรพากร สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทราบเเละเตรียมตัว

บทความวันที่ 24 ก.ย. 2561  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 24657 ครั้ง

การตรวจเเนะนำ การออกหมายเรียกตรวจสอบของสรรพากร

สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทราบเเละเตรียมตัว

 

การตรวจแนะนำ เป็นแนวทางการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรโดยเจ้าพนักงานสรรพากร จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลและแบบแสดงรายการภาษี ประกอบกับลักษณะการประกอบธุรกิจ และเมื่อได้พบประเด็นที่ผู้เสียภาษีอาจปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีอากรไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง ก็จักเข้าไปตรวจ ณ สถานประกอบการของผู้ประกอบการ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีอากรที่ถูกต้องและสอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง รวมถึงพัฒนาเครือข่ายความรู้ทางภาษีอากรไปยังผู้ทำบัญชี ที่กรมสรรพากรได้นำมาใช้แทนที่การกำกับดูแล โดยเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 เป็นต้นไป จึงขอนำมาเป็นประเด็นให้ผู้มีความสนใจ และโดยเฉพาะผู้ประกอบการต้องทราบและเตรียมความพร้อมก่อนที่เจ้าพนักงานสรรพากรจะได้เข้าดำเนินการตามหัวข้อต่อไปนี้

1. เป้าหมายและวัตถุประสงค์การตรวจแนะนำ

2. ผู้ประกอบการที่ต้องแนะนำ ควบคุม และติดตาม

3. หน่วยงานที่มีหน้าที่แนะนำ ควบคุม และติดตาม

4. สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทราบเเละเตรียมตัวในการตรวจแนะนำด้านภาษีอากร

5. ประเด็นทางภาษีอากรที่ผู้ประกอบพึงต้องทราบและปฏิบัติให้ถูกต้อง

6. บทสรุป

 

1. เป้าหมายและวัตถุประสงค์การตรวจแนะนำ

1.1 เป้าหมาย

      1.1.1 เจ้าหน้าที่ออกตรวจแนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีที่ถูกต้องแก่ผู้ประกอบการที่จดแจ้งจัดทำบัญชีชุดเดียวฯ ผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจซึ่งมีแนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในแต่ละท้องที่ และผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ณ สถานประกอบการทุกราย

             (1) เน้นให้ความรู้การปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง

             (2) กระตุ้นให้บันทึกรายจ่ายครบถ้วน

      1.1.2 เจ้าหน้าที่มีโอกาสเรียนรู้เข้าใจการประกอบธุรกิจของผู้เสียภาษีระหว่างปฏิบัติงานตรวจแนะนำา ณ สถานประกอบการ เพื่อนำมาปรับใช้กับการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

      1.1.3 พัฒนาเครือข่ายความรู้ทางภาษีอากรไปยังผู้ทำบัญชี และสำนักงานบัญชีเพื่อขับเคลื่อนการเสียภาษีให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงในอนาคต

1.2 วัตถุประสงค์

      เจ้าหน้าที่สามารถวิเคราะห์ประเด็นที่ผู้เสียภาษีอาจจะปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงเพื่อกำหนดประเด็นออกตรวจแนะนำ

      1.2.1 ให้ความรู้ในการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีที่ถูกต้องแก่ เจ้าของกิจการและผู้ทำบัญชีเพื่อปฏิบัติให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงสำหรับประเด็นที่พบจากการวิเคราะห์

      1.2.2 ติดตามประเด็นที่พบจากการออกตรวจแนะนำ เพื่อการกำกับดูแลและบริหารจัดเก็บภาษีอากร

      1.2.3 เสริมสร้างภาพลักษณ์การบริการที่ดีของกรมสรรพากร

      1.2.4 ปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับการเสียภาษีให้ดีขึ้น

      1.2.5 เสริมสร้างผู้ทำบัญชีและสำนักงานบัญชีให้มีคุณภาพ และเป็นเครือข่ายฐานภาษีที่ยั่งยืน

 

2. ผู้ประกอบการที่ต้องแนะนำ ควบคุม และติดตาม

จากแนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรที่ มก 34/2560 เรื่อง การแนะนำ ควบคุมและติดตามผู้ประกอบการ ลงวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2560

2.1 ประเภทของผู้ประกอบการ จำแนกตามประเภทภาษีอากรดังนี้

      2.1.1 ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

      2.1.2 ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ

      2.1.3 ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ   

      2.1.4 นิติบุคคลที่ไม่มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและหรือไม่มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ

      2.1.5 บุคคลธรรมดาที่ไม่มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและหรือไม่มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ และมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) - (8) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ว่าจะมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) - (4) แห่งประมวลรัษฎากร รวมอยู่ด้วยหรือไม่ก็ตาม ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่กรมสรรพากรกำหนด

2.2 การแบ่งกลุ่มผู้ประกอบการ

      กรมสรรพากรจะได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้เป็นไปตามนโยบายที่กรมสรรพากรกำหนด ซึ่งจำมีการแบ่งกลุ่มผู้ประกอบการออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

      2.2.1 ผู้ประกอบการกลุ่มดี

             จากประสบการณ์ของผู้เขียนเห็นว่า ผู้ประกอบการกลุ่มดี นั้น ต้องสะท้อนสิ่งที่ “ดี” ให้เห็นโดยเด่นชัด อาทิ

             (1) มีการประกอบการจริง ประกอบการต่อเนื่องมายาวนานเป้นที่ยอมรับของสังคม มีการพัฒนาการประกอบกิจการให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปตามลำดับ  

             (2) มีทรัพย์สินถาวรที่สะท้อนถึงความมั่นคงของกิจการ

             (3) มีผลประกอบการดี

             (4) มีระบบบัญชีดี จัดทำบัญชีตามมาตรฐานการบัญชี หรือตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป

             (5) มีกลุ่มอ้างอิงที่ดี เป็นสมาชิกของสมาคมที่มีความน่าเชื่อถือ หรือเคยได้รับรางวัลเกี่ยวกับการประกอบกิจการที่มีมาตรฐาน หรือธรรมาภิบาล 

             (6) มีการเสียภาษีอากรดี ในที่นี้ หมายถึง การเสียภาษีอากรโดยถูกต้อง ครบถ้วน รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีอากรเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีกร และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ให้ความร่วมมือแก่ทางราชการด้วยดี ไม่มีประวัติการใช้ใบกำกับภาษีปลอม

             (7) มีความเอาใจใส่ต่อสังคมแวดล้อม อาทิ มีกิจกรรม CSR (Corporate Social Responsibility) การบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา

      2.2.2 ผู้ประกอบการกลุ่มเสี่ยง      

2.3 การแนะนำ ควบคุมและติดตามผู้ประกอบการแต่ละกุล่ม

      2.3.1 ผู้ประกอบการกลุ่มดี

             โดยทั่วไปผู้ประกอบการกลุ่มดี ย่อมได้รับการปฏิบัติในการแนะนำ ควบคุมและติดตามที่แตกต่างไปจากผู้ประกอบการกลุ่มเสี่ยง เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้

             (1) กรณีวิเคราะห์ข้อมูลและแบบแสดงรายการภาษีพบข้อมูลผิดปกติ อาทิ มีสัดส่วนของรายการทางการเงินแตกต่างไปจากค่ากลาง (means) ของธุรกิจอย่างมาก เจ้าพนักงานประเมินจะพิจารณาเลือกดำเนินการตรวจแนะนำด้านภาษีอากร หรือวิเคราะห์และตรวจสอบแบบแสดงรายการภาษี หรือตรวจปฏิบัติการ หรือตรวจสอบภาษีอากรตามหมายเรียก แล้วแต่กรณี

             (2) กรณีผู้ประกอบการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ชำระไว้เกิน ให้พิจารณาคืนภาษีอากร ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนด เว้นแต่กรณีพบข้อมูลผิดปกติ ให้เสนอกรมสรรพากรเพื่อพิจารณาเป็นแต่ละกรณี

      2.3.2 ผู้ประกอบการกลุ่มเสี่ยง เจ้าพนักงานประเมินจะพิจารณาดำเนินการตรวจแนะนำด้านภาษีอากร หรือวิเคราะห์และตรวจสอบแบบแสดงรายการภาษี หรือตรวจปฏิบัติการ หรือตรวจสอบภาษีอากรตามหมายเรียก  

2.4 การเปลี่ยนกลุ่มผู้ประกอบการ

      กรณีที่ได้ตรวจแนะนำด้านภาษีอากร หรือตรวจประเภทอื่น เป็นเหตุให้ต้องเปลี่ยนกลุ่มผู้ประกอบการ ให้เจ้าหน้าที่ส่วนเสนอเหตุผลเพื่อขออนุมัติผู้มีอำนาจสั่งการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เปลี่ยนกลุ่มผู้ประกอบการจากกลุ่มปัจจุบันไปยังกลุ่มที่เหมาะสมได้

 

3. หน่วยงานที่มีหน้าที่แนะนำ ควบคุม และติดตาม

3.1 สำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ แนะนำ ควบคุมและติดตามผู้ประกอบการรายที่กรมสรรพากรมอบหมายให้อยู่ภายใต้การบริหารการจัดเก็บภาษีอากร

      ผู้ประกอบการรายที่ต้องแนะนำ ควบคุมและติดตาม

      3.1.1 จะมีการมอบหมายรายตามประเภทกิจการ และปริมาณรายผู้ประกอบการ เพื่อให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงานการแนะนำ ควบคุม และติดตามผู้ประกอบการ

      3.1.2 จะมีการสลับหัวหน้าส่วน หรือเจ้าหน้าที่ส่วน ในส่วนกำกับดูแลผู้เสียภาษีได้ตามระยะเวลาที่ผู้มีอำนาจสั่งการเห็นสมควรเพื่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ มิให้แนะนำ ควบคุมและติดตามผู้ประกอบการประเภทกิจการใดต่อเนื่องเกินกว่า 3 ปี

3.2 สำนักงานสรรพากรพื้นที่ แนะนำ ควบคุมและติดตามผู้ประกอบการในท้องที่ ซึ่งอยู่นอกเหนือรายผู้ประกอบการที่อยู่ภายใต้การบริหารการจัดเก็บภาษีอากรของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ดังนี้

      3.2.1 ผู้ประกอบการที่ต้องตรวจแนะนำ ควบคุม และติดตาม

             (1) ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และหรือผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะที่มีสถานประกอบการอยู่ในท้องที่ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานใหญ่หรือสาขา และไม่ว่าจะแยกยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มและหรือแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือยื่นแบบฯ รวมกัน ณ สถานที่ใด

             (2) นิติบุคคลที่ไม่มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและหรือไม่มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะที่มีสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่อยู่ในท้องที่ และให้แนะนำ ควบคุมและติดตามผู้ประกอบการสถานประกอบการสาขาที่อยู่ในท้องที่อื่นด้วย โดยให้ประสานข้อมูลกับสำนักงานสรรพากรพื้นที่ อันเป็นที่ตั้งสถานประกอบการสาขา เพื่อสามารถแนะนำ  ควบคุมและติดตามผู้ประกอบการได้

             (3) บุคคลธรรมดาที่ไม่มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและหรือไม่มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะที่มีสถานประกอบการอยู่ในท้องที่

                   กรณีบุคคลธรรมดาที่ไม่มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและหรือไม่มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ มีสถานประกอบการหลายแห่งอยู่ต่างท้องที่ ให้สำนักงานสรรพากรพื้นที่อันเป็นที่ตั้งภูมิสำเนามีหน้าที่แนะนำ ควบคุมและติดตามผู้ประกอบการ และให้แนะนำ ควบคุมและติดตามผู้ประกอบการสถานประกอบการในท้องที่อื่นด้วย โดยให้ประสานข้อมูลกับสำนักงานสรรพากรพื้นที่อันเป็นที่ตั้งสถานประกอบการแห่งอื่น เพื่อสามารถแนะนำ  ควบคุมและติดตามผู้ประกอบการได้ \

      3.2.2 การมอบหมายรายผู้ประกอบการ

             (1) อธิบดีมอบหมายรายผู้ประกอบการตามนโยบายที่กำหนด

             (2) สรรพากรภาคพิจารณามอบหมายรายผู้ประกอบการให้เป็นไปตามนโยบายที่กรมสรรพากรกำหนด

             (3) สรรพากรพื้นที่พิจารณามอบหมายรายผู้ประกอบการให้เป็นไปตามนโยบายที่กรมสรรพากรกำหนด

3.3 หน้าที่ของส่วนกำกับดูแลผู้เสียภาษี และส่วนแนะนำและตรวจสอบภาษีอากร

      3.3.1 แนะนำ ควบคุมและติดตามผู้ประกอบการ

      3.3.2 ตรวจแนะนำด้านภาษีอากร

      3.3.3 ปรับปรุงฐานข้อมูลบนระบบแนะนำ ควบคุมและติดตามผู้ประกอบการ

      3.3.4 วิเคราะห์และตรวจสอบแบบแสดงรายการภาษี

      3.3.5 ตรวจปฏิบัติการ

      3.3.6 ตรวจสอบภาษีอากรตามหมายเรียก

      3.3.7 หน้าที่อื่นที่ได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจสั่งการ

 

4. สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทราบเเละเตรียมตัวในการตรวจแนะนำด้านภาษีอากร

4.1 ความหมาย

      การตรวจแนะนำด้านภาษีอากร หมายถึง การวิเคราะห์ข้อมูลและแบบแสดงรายการภาษี ลักษณะการประกอบธุรกิจ และพบประเด็นที่ผู้เสียภาษีอาจปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีอากรไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง เพื่อเข้าไปตรวจ ณ สถานประกอบการของผู้ประกอบการ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีอากรที่ถูกต้องและสอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง รวมถึงพัฒนาเครือข่ายความรู้ทางภาษีอากรไปยังผู้ทำบัญชี

      การตรวจแนะนำด้านภาษีอากร ต้องเป็นไปตามแผนปฏิบัติงานที่กรมสรรพากรกำหนด โดยวางแผนออกตรวจแนะนำด้านภาษีอากร ล่วงหน้าเป็นรายเดือน รวบรวมประเด็นหรือข้อมูลที่จะต้องตรวจให้ครบถ้วน เพื่อดำเนินการตรวจพร้อมกันในคราวเดียว และดำเนินการบนระบบแนะนำ ควบคุมและติดตามผู้ประกอบการ รวมทั้งระบบการรายงานและการควบคุมติดตามประเมินผล

      4.1.1 การตรวจแนะนำด้านภาษีอากร ณ สถานประกอบการ เจ้าพนักงานประเมินสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่ จะส่งหนังสือแจ้งการตรวจ (น.4) เป็นการล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 5 วัน ก่อนวันออกตรวจแนะนำด้านภาษีอากร และจะแจ้งให้ผู้ประกอบการแจ้งผู้ทำบัญชีเข้าร่วมรับฟังการตรวจแนะนำด้านภาษีอากรในวันที่เข้าตรวจด้วย

      4.1.2 ผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อมในการออกตรวจแนะนำด้านภาษีอากร ณ สถานประกอบการ ของเจ้าพนักงานประเมิน โดยคำนึงถึงประเด็นทางภาษีอากร ที่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงของการประกอบกิจการ ดังนี้

             (1) ประวัติข้อมูลการเสียภาษีอากร และลักษณะการประกอบกิจการ

             (2) สรุปลักษณะการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการ เพื่อชี้แจงต่อเจ้าพนักงานประเมิน

             (3) จากการพิจารณารายการทางการเงินและภาษีอากรในงบการเงินและแบบแสดงรายการภาษีตามประมวลรัษฎากร และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ให้จัดเตรียมข้อเท็จจริงและข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวกับรายการผิดปกติ ไว้ชี้แจงต่อเจ้าพนักงานประเมิน อาทิ 

                   (ก) รายการพิเศษในงบแสดงฐานะการเงินและแบบแสดงรายการภาษี

                   (ข) รายการพิเศษในงบกำไรขาดทุนและแบบแสดงรายการภาษี เช่น รายการรายได้ที่ได้รับยกเว้น  

                   (ค) รายการรายจ่ายที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 หรือมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร  

                   (ง) รายจ่ายที่มีเงื่อนไขพิเศษตามกฎหมาย เช่น รายการรายได้ที่ได้รับยกเว้น รายจ่ายที่หักได้เพิ่มขึ้น

                   (จ) รายจ่ายที่มีความสัมพันธ์กับรายได้ เช่น ต้นทุนสินค้าที่ขาย หรือต้นทุนบริการ ตามสูตรการผลิต

                   (ฉ) ข้อมูลเพื่อพิสูจน์ทรัพย์สินของกิจการ

                   (ช) สิทธิพิเศษตามกฎหมายเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เช่น กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน เขตอุตสาหกรรมส่งออก เขตปลอดอากร เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2556                                     (4) ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติตามแนวนโยบายหรือมาตรการทางการคลังและภาษีอากร กฎหมาย ภาษิอากรใหม่ ในอันที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น ระบบการรับ-ชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ระบบการควบคุมภายใน (Internal Control)

             (5) ในการตรวจแนะนำด้านภาษีอากร ณ สถานประกอบการ

                   (ก) เจ้าพนักงานสรรพากรต้องแสดงและหรือมอบเอกสารดังต่อไปนี้ให้แก่ผู้ประกอบการ

                         - บัตรประจำตัวข้าราชการหรือบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อยืนยันว่าเป็นข้าราชการสังกัดกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง จริง

                         - หนังสือนำตัว (ต.2)

                   (ข) ใบแสดงการตรวจ ณ สถานประกอบการ (ต.4)

                   (ค) เจ้าพนักงานสรรพากรจะให้คำแนะนำความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับนโยบายหรือมาตรการทางการคลังและภาษีอากร รวมถึงความรู้เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากรใหม่แก่ผู้ประกอบการเพื่อก่อให้เกิดทัศนคติและความร่วมมือที่ดีเป็นลำดับแรก เช่น เรื่องที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริมแก่ภาคเอกชนเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันผ่านระบบการภาษีอากร มาตรการภาษีใหม่ที่ผู้ประกอบการควรรู้

                   (ง) เจ้าพนักงานสรรพากรจะทำการสอบถามการปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องทั่วไป เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงวิเคราะห์การปฏิบัติของผู้ประกอบการ เพื่อให้คำแนะนำและเก็บรวบรวมประเด็นที่มีนัยสำคัญทางภาษีอากร เช่น ข้อมูลผู้ทำบัญชี การใช้ระบบรับ-ชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การควบคุมภายใน การยื่นแบบแสดงรายการภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ต้องทำการบันทึกรายงานสรุปข้อเท็จจริง คำชี้แจง และคำแนะนำที่ได้แจ้งให้ผู้ประกอบการทราบ

                   (จ) เจ้าพนักงานสรรพากรจะทำการสอบถามประเด็นที่ได้วิเคราะห์เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีอากร เพื่อรับฟังการปฏิบัติของผู้ประกอบการ สังเกตข้อเท็จจริง พร้อมการวิเคราะห์ หากพบว่าอาจปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีอากรไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ให้คำแนะนำผู้ประกอบการให้ปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีอากรสอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ต้องทำการบันทึกรายงานสรุปข้อเท็จจริง คำชี้แจง การสุ่มสอบทาน (ถ้ามี) ประเด็นที่ผู้ประกอบการอาจปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีอากรไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง และคำแนะนำที่ได้แจ้งให้ผู้ประกอบการทราบ

                   (ฉ) เจ้าพนักงานสรรพากรจะไม่ขอเอกสารหลักฐานจากผู้ประกอบการเว้นแต่ผู้ประกอบการได้แสดงเอกสารหลักฐานชี้แจงตามประเด็นที่ได้สอบถาม และไม่นำเอกสารหลักฐานของผู้ประกอบการกลับสำนักงาน

                   (ช) เจ้าพนักงานสรรพากรจะให้แนะนำประเด็นต่างๆ ทางภาษีอากรตามที่วิเคราะห์ก่อนออกตรวจแนะนำด้านภาษีอากรให้ครบถ้วนทุกประเด็น เมื่อตรวจสอบแล้วครบถ้วนให้ผู้ประกอบการลงลายมือชื่อ เพื่อรับทราบข้อมูลหรือประเด็นที่ได้แนะนำด้านภาษีอากรด้วย

                   (ซ) เจ้าพนักงานสรรพากรผู้ให้คำแนะนำด้านภาษีอากรต้องปฏิบัติต่อผู้ประกอบการโดยสุภาพและระมัดระวังไม่ให้เป็นที่เดือดร้อน หรือขัดขวางการประกอบการของผู้ประกอบการ โดยจัดทำใบแสดงการตรวจ ณ สถานประกอบการ (ต.4) ตามแบบแนบท้ายแนวทางปฏิบัติ จำนวน 2 ฉบับ ให้ผู้รับการตรวจลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ฉบับหนึ่งให้ผู้รับการตรวจ ส่วนอีกฉบับหนึ่งให้ติดไว้ในสำนวนการตรวจแนะนำด้านภาษีอากร

             (6) การดำเนินการภายหลังออกตรวจ

                   (ก) เจ้าพนักงานสรรพากรจะทำการประเมินสถานะความเหมาะสมเบื้องต้นในการชำระภาษี และความมั่นคงของผู้ประกอบการ เพื่อเสนอให้ผู้มีอำนาจสั่งการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายยุติผลการตรวจบนระบบแนะนำ ควบคุมและติดตามผู้ประกอบการต่อไป

                   (ข) เจ้าพนักงานสรรพากรจะจัดทำหนังสือแจ้งผลการตรวจแนะนำด้านภาษีอากร (น.5) เพื่อแจ้งให้ผู้ประกอบการทราบว่าได้ดำเนินการตรวจเสร็จสิ้นแล้ว

                   (ค) ระยะเวลาการตรวจแนะนำด้านภาษีอากร ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ออกตรวจแนะนำด้านภาษีอากร

                   หากผู้ประกอบการเห็นชอบตามที่เจ้าพนักงานสรรพากรแจ้งผลการตรวจแนะนำ ก็ให้ดำเนินการตามคำแนะนำ เว้นแต่มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมหรือโต้แย้งก็ให้ดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงนั้น

 

5. ประเด็นทางภาษีอากรที่ผู้ประกอบพึงต้องทราบและปฏิบัติให้ถูกต้อง

5.1 ประเด็นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามฐาน “กำไรสุทธิ

      กำไรสุทธิทางภาษีอากร เป็นผลมาจากรายได้จากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการในรอบระยะเวลาบัญชี หักด้วยรายจ่ายทั่งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้นั้น อันประกอบด้วยต้นทุน และรายจ่ายในการขายและบริหาร ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนที่เป็นไปตามเงื่อนไขตามมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ประเด็นทางภาษีเงินได้นิติบุคคลจึงประกอบด้วย

      5.1.1 ประเด็นเงื่อนไขเกี่ยวกับรายได้ อาทิ

             (1) ประเภทรายได้ และเกณฑ์รับรู้รายได้ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 1/2528

             (2) ราคาตลาดจากการโอนทรัพย์สิน การให้บริการ และให้กู้ยืมเงินตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร

             (3) รวมทั้งหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขเกี่ยวกับรายได้ที่ได้รับยกเว้นทั้งหลาย อาทิ

                   (ก) การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร ที่ได้จากกิจการร่วมค้าที่ประกอบกิจการในประเทศไทยให้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและประกอบกิจการในประเทศไทย (มาตรา 5 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500)

                   (ข) การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากกองทุนรวมที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ให้แก่ บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จำนวนกึ่งหนึ่ง และบริษัทจดทะเบียน สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้ทั้งจำนวน ทั้งนี้  โดยต้องถือหน่วยลงทุนที่ก่อให้เกิดเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าวไว้ไม่น้อยกว่าสามเดือนก่อนวันที่ได้รับเงินได้ และถือหน่วยลงทุนดังกล่าวต่อไปอีกไม่น้อยกว่าสามเดือนหลังวันที่มีเงินได้ (พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 263) พ.ศ. 2536)

                   (ค) การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือกิจการสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน แต่ไม่แต่ไม่รวมถึงเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งขอกำไรที่ได้จากกำไรสุทธิของกิจการโรงเรียนเอกชนนอกระบบประเภทกวดวิชาที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน (มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 284) พ.ศ. 2538

                   (ง) การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการสถาบันฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานของลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น หรือของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวมิได้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการสถาบันฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน (มาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 284) พ.ศ. 2538 

                   (จ) การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ (มาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 314) พ.ศ. 2540

                   (ฉ) การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน โดยต้องเป็นเงินปันผลที่ผู้ได้รับการส่งเสริมจ่ายและผู้รับเงินปันผลได้รับในระหว่างระยะเวลาที่ผู้ได้รับการส่งเสริม ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (ประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530)

      5.1.2 ประเด็นเงื่อนไขเกี่ยวกับรายจ่าย อาทิ

             (1) ประเภทรายจ่ายและเกณฑ์รับรู้รายจ่าย ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 1/2528

             (2) การคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540 และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 375) พ.ศ. 2543 ตลอดจนคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 3/2527

             (3) การคำนวณราคาทุนของสินค้านำเช้าที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ณ วันที่ได้รับสินค้า ตามมาตรา 65 ทวิ (8) แห่งประมวลรัษฎากร

             (4) การจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ ตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)

             (5) รายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร และกฎหมายลูกที่ออกตามความในมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

             (6) รายจ่ายที่หักได้เพิ่มขึ้น ในรูปของการยกเว้นเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับต่างๆ) อาทิ

                   รายจ่ายที่หักเพิ่มขึ้นเป็น 2 - 3 เท่าของรายจ่าย

                   () รายจ่ายที่ได้จ่ายไปเพื่อทําการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ได้จ่ายให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 598) พ.ศ. 2559 ที่จ่ายให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด (1) เป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไป และ (2) เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไป ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ รายจ่าย (1) + (2) ที่ได้จ่ายไป เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินอัตราส่วนของรายได้ของกิจการที่ต้องนำ มาคำ นวณกำ ไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกัน ตามลำดับต่อไปนี้

                      - ร้อยละหกสิบ เฉพาะส่วนของรายได้ที่ไม่เกินห้าสิบล้านบาท

                      - ร้อยละเก้า เฉพาะส่วนของรายได้ที่เกินห้าสิบล้านบาทแต่ไม่เกินสองร้อยล้านบาท

                      - ร้อยละหก เฉพาะส่วนของรายได้ที่เกินสองร้อยล้านบาท

 

                   () รายจ่ายส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษา หรือฝึกอบรมในสถานศึกษา หรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานที่ทางราชการจัดตั้งขึ้นหรือที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศ กำหนด - รายจ่ายฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างตาม หลักเกณฑ์ ที่อธิบดีกรมสรรพากร ประกาศกำหนด ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 437) พ.ศ. 2548

                   () รายจ่ายในการฝึกเตรียมเข้าทำงานเพื่อประโยชน์ของกิจการผู้ดำเนินการฝึก ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 437) พ.ศ. 2548

                   () รายจ่ายที่เป็นค่าจ้างคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเข้าทำงาน ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 499) พ.ศ. 2553

                         อนึ่ง รายจ่ายที่ในการจ้างคนพิการดังกล่าวให้หักเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่า หากรับคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เข้าทำงานเกินกว่าร้อยละ 60 ของลูกจ้างในสถานประกอบการนั้น โดยมีระยะเวลาจ้างเกินกว่า 180 วันใน รอบระยะเวลาบัญชีที่ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 519) พ.ศ. 2554

                   () รายจ่ายค่าจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกหรือบริการในอาคารสถานที่่ ยานพาหนะ บริการขนส่ง หรือบริการสาธารณะอื่น ให้แก่คนพิการในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นจำ นวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำ นวยความสะดวกหรือบริการดังกล่าวให้แก่คนพิการ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 499) พ.ศ. 2553

                   () รายจ่ายในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่านสำ หรับหอสมุดหรือห้องสมุดของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น เป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไป เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 515) พ.ศ. 2554

                   (ช) รายจ่ายค่าจ้างให้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับบัญชีแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่อยู่ระหว่างศึกษาในแผนกหรือสาขาวิชาบัญชีที่ได้รับการรับรองจากสถาบันการศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไป สำ หรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 607) พ.ศ. 2559

                   (ซ) รายจ่ายที่จ่ายไปเพื่อการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำ ให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม เป็นจำ นวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปทั้งนี้ ต้องเป็นเงินได้ที่ได้จ่ายไประหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559

                   (ฌ) รายจ่ายเงินลงทุนในหุ้นสามัญของวิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 621) พ.ศ. 2559

                   () รายจ่ายค่าขนส่งภายในประเทศ ค่าไฟฟ้า และค่าประปาจำนวน 100% ของรายจ่ายดังกล่าว สำหรับผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนในเขต 3 ตามเงื่อนไข วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการ BOI กำหนด 

                         อนึ่ง สำหรับรายจ่ายในการติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ระบบไฟฟ้า ถนน ระบบสาธารณูปโภคอื่น ให้หักเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 25% ของรายจ่ายดังกล่าว สำหรับผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนในเขต 3 ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ BOI กำหนด 

                   รายจ่ายที่หักเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของรายจ่าย แต่รวมกันต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ อาทิ

                   (ก) รายจ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา เพื่อจัดหาหรือจัดสร้างอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือที่ดิน หรือจัดหาวัสดุอุปกรณ์ศึกษา แบบเขียน ตำรา หนังสือวิชาการสื่อเทคโนโลยีเพื่อ การศึกษาตลอดจนวัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ หรือจัดหาครู อาจารย์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา หรือเป็นทุนการศึกษา การประดิษฐ์ การพัฒนา การค้นคว้า หรือการวิจัย สำหรับนักเรียน นิสิต หรือนักศึกษาของสถานศึกษา ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2547 และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 476)ตรวจสอบรายชื่อได้ทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากรที่ www.rd.go.th > อ้างอิง > ประมวลรัษฎากร > ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร > ทั่วไป > หลักเกณฑ์ การยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ สำ หรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา แล้วคลิกที่รายชื่อสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศหรือสอบถามได้ที่สำ นักงานสรรพากรพื้นที่หรือสำ นักงานสรรพากรพื้นที่สาขา

                   () รายจ่ายในการจัดสร้างและการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะหรือสนามกีฬาเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้โดยไม่คิดค่าบริการหรือ สนามเด็กเล่นสวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของทางราชการ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 428) พ.ศ. 2548

                   () รายจ่ายที่ในการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิประโยชน์ ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 519) พ.ศ. 2554 

                   () การบริจาคให้แก่การกีฬาแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกีฬาจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาจังหวัดหรือสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย กรมพลศึกษา หรือกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เพื่อนำไปใช้ในการจัดหาอุปกรณ์กีฬา การฝึกซ้อมหรือการแข่งขัน การจัดสร้างและพัฒนาสนามกีฬาหรือศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬา หรือการพัฒนานักกีฬาและบุคลากรด้านกีฬา ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 559) พ.ศ. 2556

                   (จ) รายจ่ายในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสถานศึกษา เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 515) พ.ศ. 2554

                   (ฉ) รายจ่ายเพื่อพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา เป็นจำนวน 2เท่า ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไป ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 520) พ.ศ. 2554

                   (ช) รายจ่ายในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัด อปท. ที่ได้จ่ายให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นจำนวน 2 เท่า ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไป ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 526) พ.ศ. 2554

                   (ซ) รายจ่ายเพื่อโครงการฝึกอบรมอาชีพฯ กระทรวงยุติธรรม เป็นจำนวน 2 เท่า ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นเงินบริจาคดังกล่าว ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 541) พ.ศ. 2555

                   (ฌ) รายจ่ายบริจาคให้แก่สถานศึกษา เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 616) พ.ศ. 2559

                   (ญ) รายจ่ายบริจาคให้แก่องค์กรกีฬา เป็นจำนวน 2เท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 596) พ.ศ. 2559

                   (ฎ) รายจ่ายบริจาคให้แก่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย กองทุนส่งเสริมงานจดหมายเหตุหรือกองทุนโบราณคดี เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายไป ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 615) พ.ศ. 2559

             อนึ่ง ในการจ่ายเงินได้หากผู้ประกอบการ เป็นผู้มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ทั้งกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งที่จ่ายให้แก่ผู้รับในประเทศไทย และในต่างประเทศ โดยต้องนำส่งพร้อมทั้งยื่นแบบแสดงรายการให้ถูกต้องครบถ้วน แม้ตนเองจะมิได้หักภาษีเงินได ณ ที่จ่ายนั้นไว้ก็ตาม ทั้งนี้ ตามมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร 

      5.1.3 ประเด็นรายได้หรือรายจ่ายที่เกิดจากหลักเกณฑ์ในการตีราคาทรัพย์สินและหนี้สิน อาทิ

             (1) การตีราคาทรัพย์สินอย่างอื่นที่มิใช่สินค้าคงเหลือตามมาตรา 65 ทวิ (3) แห่งประมวลรัษฎากร

             (2) การตีราคาเงินตรา ทรัพย์สิน และหนี้สินที่มีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศ ตามมาตรา 65 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากร

             (3) การตีราคาสินค้าคงเหลือตามมาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร

             (4) การตีราคาทรัพย์สิน ณ วันเลิกกิจการตามราคาตลาดตามมาตรา 74 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

      5.1.4 หน้าที่ทางภาษีเงินได้นิติบุคคล อาทิ

             (1) การคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ทั้งกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 50 และมาตรา 3 เตรส และภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 69 ทวิ มาตรา 69 ตรี มาตรา 3 เตรส และมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร  

             (2) การจัดทำบัญชีและการเก็บรักษาบัญชีและหลักฐานเอกสารตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี

             (3) การจัดทำบัญชี การแจ้งรายการ การจัดทำบัญชีพิเศษตามประมวลรัษฎากร

             (4) การยื่นรายการและชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล

                   (ก) การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 69 ทวิ มาตรา 69 ตรี และมาตรา 3 เตรส ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 144 พ.ศ. 2522 และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 ซึ่งจำนวนเงินภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ถูกหักและนำส่งไว้แล้ว ย่อมถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องชำระต่อไป

                   (ข) การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี ภ.ง.ด.51 ตามมาตรา 67 ทวิ ภายใน 2 เดือนนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี โดยคำนวณและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี ดังนี้

                        - สำหรับบริษัทจำกัดที่มิใช่บริษัทจดทะเบียน ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือเครดิตฟองซิเอร์ หรือบริษัทที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้มีผู้สอบทานงบการเงิน ให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีจากจำนวนกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำและจะได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี

                        - สำหรับบริษัทจำกัดที่เป็นบริษัทจดทะเบียน หรือประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ หรือเครดิตฟองซิเอร์ หรือบริษัทที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้มีผู้สอบทานงบการเงิน ให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีจากจำนวนกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นจริงในรอบระยะเวลา 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี

                   (ค) การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำรอบระยะเวลาบัญชี ภ.ง.ด.50 ตามมาตรา 68 มาตรา 68 ทวิ และมาตรา 69 ซึ่งในหน้าสุดท้ายของแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50 กรรมการของบริษัทต้องกรอกแบบแจ้งของความของกรรมการ หรือผู้จัดการ ว่า

                        1) กิจการขายสินค้า บริการ หรือทรัพย์สิน ให้กู้ยืมเงิน หรือให้เช่าทรัพย์สิน โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมีแต่ต่ำกว่าราคาตลาด อันถือได้ว่าเป็นสาระสำคัญโดยชัดแจ้งหรือไม่

                        2) กิจการซื้อทรัพย์สิน รวมทั้งรายจ่ายเพื่อซื้อทรัพย์สินดังกล่าว และค่าบริการในราคาที่เกินปกติ อันถือได้ว่าเป็นสาระสำคัญโดยชัดหรือไม่

                        3) กิจการตั้งเจ้าหนี้หรือลูกหนี้โดยไม่มีตัวตน หรือมีตัวตน แต่จำนวนเกินความเป็นจริง อันถือได้ว่าเป็นสาระสำคัญโดยชัดแจ้งหรือไม่

                        4) กิจการเกิดผลขาดทุนสุทธิติดต่อกันเกินกว่า 3 รอบระยะเวลาบัญชี แต่มีการขยายกิจการหรือไม่ และ

                        5) การหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษี กิจการได้ดำเนินการครบถ้วนแล้วหรือไม่  

                        ทั้งนี้ โดยมีผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นว่า ได้ทดสอบรายการตามแบบแจ้งข้อความของกรรมการ หรือผู้จัดการดังกล่าวข้างต้นแล้ว 

             (5) การให้ความร่วมมือต่อทางราชการ ในการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ให้ถูกต้องครบถ้วน

             ดังจะเห็นได้ว่า ประเด็นตาม 5.1.1 5.1.2 และ 5.1.3 นั้น มีความสัมพันธ์กับรายการทางการเงินของผู้ประกอบการ อันได้แก่ รายการในงบกำไรขาดทุน และงบแสดงฐานะการเงิน ส่วนประเด็นตาม 5.1.4 นั้นนำมาจากกฎหมายภาษีเงินได้นิติบุคคล และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

      5.1.5 การขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ชำระไว้เกินไป ตามมาตรา 27 ตรี หรือมาตรา 63 แล้วแต่กรณี

5.2 ประเด็นภาษีมูลค่าเพิ่ม

      5.2.1 ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีที่มุ่งจัดเก็บจากการบริโภคหรือการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนผู้บริโภค ซึ่งโดยทั่วไปจัดเป็นภาษีทางอ้อมที่กำหนดให้ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้าหรือการให้บริการในราชอาณาจักร (In - In) นอกจากนี้ สำหรับการค้าระหว่างประเทศทั้งกรณีส่งออกสินค้า หรือการให้บริการในราชอาณาจักรและใช้บริการในต่างประเทศ (In - Out) หรือกรณีนำเข้าสินค้า หรือการให้บริการในต่างประเทศและใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร (Out - In) ให้เป็นไปตามหลักปลายทาง (Destination Principle)

      5.2.2 การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องเสียให้เป็นไปตามวิธีเครดิต (Credit Method) โดยให้นำภาษีขาย หักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี ทั้งนี้ โดยให้ความสำคัญกับเอกสารหลักฐาน ได้แก่ ใบกำกับภาษี (Tax Invoice) อย่างยิ่ง

      5.2.3 อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นระบบอัตราแยกนอกฐานภาษี (Exclusive Tax Rate) ภาษีขายจึงไม่ถือเป็นรายได้ และกำหนดให้ภาษีซื้อที่ใช้เป็นเครดิตในการคำนวณภาษีเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณภาษีเงินได้ โดยกำหนดเป็นอัตราเดียวกล่าวคืออัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อการจัดเก็บจากการบริโภคสินค้าหรือบริการกำหนดจัดเก็บ็็็ในอัตราร้อยละ 7.0 ของมูลค่าของฐานภาษี และอัตราร้อยละ 0 ของมูลค่าของฐานภาษี เพื่อการขจัดภาระภาษีมูลค่าเพิ่มในสินค้าหรือบริการ โครงสร้างอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลกลางจัดเก็บต่อภาษีมูลค่าเพิ่มของราชการส่วนท้องถิ่นเป็น 9 ส่วนต่อ 1 ส่วน (6.3% ต่อ 0.7% ซึ่งรวมเป็น 7.0%)

      5.2.4 การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการจะกำหนดให้มีรายการยกเว้นน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น อาทิ การขายสินค้าทางการเกษตรทั้งพืชและสัตว์ที่เป็นอาหารอันปัจจัยในการครองชีพพื้นฐาน การศึกษารวมทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และตำราเรียน การสาธารณสุขที่เป็นการประกอบโรคศิลปะและสถานพยาบาล การขายสินค้าหรือการให้บริการเพื่อการสาธารณกุศล ปัจจัยการผลิตที่เป็นบริการจ้างแรงงาน และการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์

      5.2.5 กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต่างๆ ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มดังนี้

             (1) หน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

             (2) หน้าที่เกี่ยวการจัดทำเอกสารหลักฐานในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ ใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้

             (3) หน้าที่ในการจัดทำรายงานภาษีขาย รายงานภาษีซื้อ และรายงานสินค้าและวัตถุดิบ และการเก็บรักษารายงาน และหลักฐานเอกสารในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

             (4) หน้าที่ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือนภาษี

             (5) หน้าที่ในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียหรือนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30 ภ.พ.36 และใบขนสินค้าขาเข้า) เนื่องจากระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นระบบ “ภาษีอากรประเมิน” ที่กำหนดให้ผู้ต้องเสียหรือนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อประเมินตนเองที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่กฎหมายกำหนด และให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบและประเมินความถูกต้องของจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องเสียหรือนำส่ง และหน้าที่ที่ต้องปฎิบัติในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่นเดียวกับภาษีอากรประเมินอื่นๆ

             (6) หน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด อาทิ การปฏิบัติตามหมายเรียก และการอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบภาษีมูลค่าเพิ่ม

      5.2.6 นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธิในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มดังนี้

             (1) สิทธิในการออกใบกำกับภาษีเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น

             (2) สิทธิในการเรียกเก็บภาษีขายจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

             (3) สิทธิในการนำภาษีซื้อมาเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือนภาษี

             (4) สิทธิในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีที่ภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย โดยจะเลือกขอคืนเป็นเงินสดหรือเครดิต แล้วแต่กรณีก็ได้

             (5) สิทธิที่จะขอให้อธิบดีกรมสรรพากรถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในกรณีที่มีรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการไม่เกิน 1.8 ล้านบาท ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 ปี

             (6) สิทธิที่จะอุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน                       

5.3 ประเด็นภาษีธุรกิจเฉพาะ

      5.3.1 ภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นภาษีทางอ้อมที่มุ่งจัดเก็บจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ ในราชอาณาจักร ที่ไม่อาจคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้โดยง่าย ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการดังต่อไปนี้เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะตามแบบที่อธิบดีกำหนด (ภ.ธ.40) จากยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายเป็นรายเดือนภาษี เว้นแต่การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรที่กำหนดให้มีหน้าที่เสียเมื่อมีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายที่ดิน

             (1) การธนาคาร ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ หรือกฎหมายเฉพาะ

             (2) การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วย การประกอบ ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

             (3) การรับประกันชีวิต ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต

             (4) การรับจำนำ ตามกฎหมายว่าด้วยโรงรับจำนำ

             (5) การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เช่น การให้กู้ยืมเงินค้ำประกัน แลกเปลี่ยนเงินตรา ออก ซื้อ หรือขายตั๋วเงิน หรือรับส่งเงินไปต่างประเทศด้วยวิธีต่าง ๆ

                   ในกรณีที่มีปัญหาว่า กิจการใดเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์หรือไม อธิบดีกรมสรรพากรจะเสนอให้คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรพิจารณากำหนดขอบเขตและเงื่อนไขของการประกอบกิจการดังกล่าวนั้นก็ได้และเมื่อคณะกรรมการวินิจฉัย ภาษีอากรได้วินิจฉัยแล้ว ให้ประกาศคำวินิจฉัยนั้นในราชกิจจานุเบกษา

             (6) การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 (ใช้บังคับตั้งแต่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป) ได้แก่การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ดังต่อไปนี้

                   (ก) การขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการจัดสรรที่ดิน

                   (ข) การขายห้องชุดของผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ขอจดทะเบียนอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วย อาคารชุด

                   (ค) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อขาย รวมถึงการขายที่ดินอันเป็นที่ตั้งของ อาคารดังกล่าว

                   (ง) การขายอสังหริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (ก) (ข) หรือ (ค) เฉพาะกรณีที่มีการแบ่งขาย หรือแบ่งแยกไว้เพื่อขาย โดยได้จัดทำถนนหรือสิ่งสาธารณูปโภคอื่น หรือให้คำสั่นว่าจะจัดให้มีสิ่งดังกล่าว

                   (จ) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการเฉพาะของบริษัทหรื ห้างหุ้นส่วน ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล องค์การของรัฐบาล สหกรณ์ และองค์กรอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นนิติบุคคล

                   (ฉ) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) (3) (4) (5) ที่ได้กระทำภายในห้าปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น

      5.3.2 การยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับดอกเบี้ย ของกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ตามมาตรา 91/5(5) แห่งประมวลรัษฎากร ตามคำสั่งกรมสรรพาการที่ ป. 26/2534

              กรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติ สำหรับกรณีดอกเบี้ยที่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายรับ เพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ตามมาตรา 91/2(5) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้

              (1) กรณีบริษัทในเครือเดียวกันให้กู้ยืมเงินกันเอง ไม่ว่าจะนำเงินของตนหรือนำเงินที่กู้ยืมจากบุคคลอื่นมาให้กู้ยืมในระหว่างกันเอง และไม่ว่าจะคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใดก็ตาม ดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้ยืมเงินในกรณีเช่นนี้ ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

                   คำว่า บริษัทในเครือเดียวกัน หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตั้งแต่สองนิติบุคคลขึ้นไป ซึ่งมีความสัมพันธ์กัน โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนอยู่ในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิ์ออกเสียงในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอีกแห่งหนึ่งไม่น้อยกว่าหกเดือนก่อนวันที่มีการกู้ยืม ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ กิจการเงินทุน หลักทรัพย์ หรือเครดิตฟองซิเอร์ และการประกอบกิจการประกันชีวิต

             (2) กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำเงินทุน เงินกู้ยืม เงินเพิ่มทุน หรือเงินอื่นที่เหลืออยู่ไปฝากธนาคาร หรือซื้อตั๋วเงินของสถาบันการเงินอื่น โดยได้รับดอกเบี้ยตามอัตราปกติ กรณีเช่นนี้ ไม่ถือว่าดอกเบี้ยนั้นเป็นรายรับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แม้ว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น จะประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ก็ตาม ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ กิจการเงินทุน หลักทรัพย์ หรือเครดิตฟองซิเอร์ และการประกอบกิจการประกันชีวิต

             (3) กรณีโดยคิดดอกเบี้ยสำหรับเงินบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีระเบียบเกี่ยวกับเงินกองทุนสะสมพนักงาน หรือทุนอื่นใด เพื่อพนักงาน และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้นำเงินกองทุนนี้ ออกให้พนักงานที่เป็นสมาชิกกู้ยืมเป็นสวัสดิการ ที่ให้กู้นั้นตามสมควร ไม่ต้องนำดอกเบี้ยนั้นมารวมคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ  

      5.3.3 เกณฑ์การคำนวณรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

             เกณฑ์การคำนวณรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 91/8 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

             (1)  การคำนวณรายรับเพื่อการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ให้เป็นไปตามวิธีการ หลักเกณฑ์ และการปฏิบัติทางบัญชี และเพื่อประโยชน์ในการคำนวณรายรับ เมื่อได้เลือกปฏิบัติเป็นอย่างใดแล้ว ให้ถือปฏิบัติอย่างเดียวกันตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลงได้

                   การคำนวณรายรับที่เป็นไปตามวิธีการ หลักเกณฑ์ และการปฏิบัติทางบัญชี เพื่อการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แบ่งออกเป็นสองเกณฑ์ คือ

                   (ก) เกณฑ์เงินสด (Cash Basis) หมายถึง เกณฑ์รับรู้รายรับเมื่อได้รับชำระค่าตอบแทน หรือค่าบริการ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะได้รับชำระเป็นเงินสด หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ

                   (ข) เกณฑ์สิทธิ (Accrual Basis) หมายถึง เกณฑ์รับรู้รายรับเมื่อเกิดสิทธิเรียกร้องให้ชำระค่าตอบแทนหรือค่าบริการ ไม่ว่าจะได้รับชำระค่าตอบแทนหรือค่าบริการในขณะที่เกิดสิทธิเรียกร้องหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งกรณีที่แม้ยังไม่เกิดสิทธิเรียกร้อง แต่ได้รับชำระค่าตอบแทนหรือค่าบริการก็ให้รับรู้รายรับนั้นด้วย ซึ่งในทางบัญชี นิยมเรียกเกณฑ์สิทธินี้ว่า เกณฑ์ค้างรับค้างจ่าย หรือเกณฑ์พึงรับพึงจ่าย หรือเกณฑ์คงค้าง

             (2)  สำหรับรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ไม่ใช้เกณฑ์รับรู้รายรับตาม (1) โดยให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีรับรู้รายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในขณะที่มีการจดทะเบียนสิทธิหรือนิติกรรมเกี่ยวกับ อสังหาริมทรัพย์นั้น โดยรับรู้รายรับตามราคาขายจริง หรือราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามกฎหมายที่ดิน แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า  และให้ผู้เสียภาษีมีสิทธิอุทธรณ์การประเมิน ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมิน รายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ ตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามกฎหมายที่ดิน

      5.3.4 ฐานภาษีธุรกิจเฉพาะและอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ

             อัตราภาษีธุรกิจเฉพาะจำแนกตามการประกอบกิจการ และรายรับอาจแสดงเป็นตารางได้ดังนี้

ประเภทกิจการ

ฐานภาษี (รายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ

อัตราภาษี

(ร้อยละ)

1. กิจการธนาคาร ธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ และเครดิตฟอง   ซิเอร์ รวมทั้งการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์

(1) ดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ กำไรก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากการซื้อขาย หรือได้จากตั๋วเงิน หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ใด ๆ

(2) กำไรก่อนหักรายจ่ายใด ๆ จากการแลกเปลี่ยน ซื้อขายเงินตรา การออกตั๋วเงิน หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ใด ๆ หรือการส่งเงินไปต่างประเทศ

3.0

 

 

3.0  

2. กิจการประกันชีวิต

ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการ

2.5  

3. กิจการโรงรับจำนำ

(1) ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม

(2) เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์ใดๆอันมีมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการขายของที่จำนำหลุดเป็นสิทธิ  

2.5  

4. กิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร 

รายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

3.0  

5. กิจการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์

รายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

0.1

6. ธุรกิจแฟคตอริ่ง

รายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

3.0

 

      5.3.5 หน้าที่ของผู้ประกอบกิจการในระบบภาษีธุรกิจเฉพาะ 

             (1) หน้าที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ  

                   ผู้ประกอบกิจการที่ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/13 แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่

                    (ก) ผู้ประกอบกิจการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์

                   (ข) ผู้ประกอบกิจการที่ประกอบกิจการเป็นการชั่วคราว ได้แก่

                         1)  การขายอสังหาริมทรัพย์ที่มีไว้ในการประกอบกิจการ เฉพาะที่ผู้ขายเป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น

                         2)  การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำในห้าปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นเฉพาะที่ผู้ขายเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ ต้องมิใช่การ การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดิน ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการจัดสรรที่ดิน หรือการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องจดทะเบียนเป็นอาคารชุด ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด หรือการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อขาย หรือมีพฤติการณ์ของผู้ขายว่าปลูกสร้างเพื่อขาย รวมถึงการขายที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคารดังกล่าว ไม่ว่าจะมีการแบ่งแยกหรือไม่ หรือการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะข้างต้น เฉพาะกรณีการแบ่งขาย หรือมีการแบ่งแยกไว้เพื่อขาย โดยได้จัดทำถนน หรือสิ่งสาธารณูปโภคอื่น หรือให้คำมั่นว่าจะมีสิ่งดังกล่าว

             (2) หน้าที่เกี่ยวกับ การยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

5.4 ประเด็นอากรแสตมป์

      5.4.1 การจัดเก็บอากรแสตมป์เป็นการมุ่งจัดเก็บจากการกระทำตราสารทางกฎหมายธุรกิจ ที่แตกต่างไปจากการจัดเก็บภาษีตามประมวลรัษฎากรอื่นๆ โดยมุ่งจัดเก็บจากรายได้และการบริโภคหรือการจับจ่ายใช้สอย ในลักษณะค่าธรรมเนียมในการกระทำตราสาร และกำหนดว่า “ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้” (มาตรา 118)

      5.4.2 ตราสารที่ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ ในปัจจุบันมีรวมทั้งสิ้น 28 ลักษณะตราสาร ซึ่งต้องให้เจ้าพนักงานรัฐบาลหรือเทศบาลตราสารซึ่งเจ้าพนักงานรัฐบาลหรือเทศบาลต้องลงนามหรือรับรู้ หรือลงบันทึกก็ดี ห้ามมิให้เจ้าพนักงานลงนามรับรู้ ยอมให้ทำ หรือบันทึกไว้ จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้ และขีดฆ่าแล้ว

      5.4.3 อากรแสตมป์ไม่จัดอยู่ในประเภทภาษีอากรประเมิน โดยทั่วไปไม่ต้องนำวิธีการเกี่ยวแก่ภาษีอากรประเมินมาใช้บังคับกับบทบัญญัติอากรแสตมป์ ทั้งนี้ เว้นแต่การอุทธรณ์ ซึ่งตามมาตรา 115 และมาตรา 123 ตรี กำหนดให้นำบทบัญญัติตามส่วน 2 หมวด 2 ในลักษณะ 2 มาใช้บังคับโดยอนุโลม 

      5.4.4 ผู้มีหน้าที่เสียอากรแสตมป์ โดยทั่วไปปรากฏในช่องที่ 3 ของบัญชีอัตราอากรแสตมป์ (มาตรา 107) ถ้าฝ่ายที่ต้องเสียอากรเป็นรัฐบาล เจ้าพนักงานผู้กระทำงานของรัฐบาลโดยหน้าที่ บุคคลผู้กระทำการในนามของรัฐบาล องค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น สภากาชาดไทย วัดวาอาราม และองค์การศาสนาใดๆ ในราชอาณาจักรซึ่งเป็นนิติบุคคล อากรเป็นอันไม่ต้องเสีย แต่ข้อยกเว้นนี้มิให้ใช้แก่องค์การของรัฐบาลที่ใช้ทุนหรือทุนหมุนเวียนเพื่อประกอบการพาณิชย์ หรือการพาณิชย์ซึ่งองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดทำ (มาตรา 121)

      5.4.5 ผู้มีหน้าที่ขีดฆ่า โดยทั่วไปปรากฏในช่องที่ 4 ของบัญชีอัตราอากรแสตมป์ อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้มีหน้าที่ขีดฆ่าเขียนหนังสือไม่เป็น จะให้ผู้อื่นเขียนวันเดือนปีแทนก็ได้ หรือถ้า  ผู้มีหน้าที่ขีดฆ่าไม่ยอมขีดฆ่า หรือไม่มีตัวอยู่ที่จะทำการขีดฆ่าได้ ให้ผู้ทรงตราสารหรือผู้ถือเอาประโยชน์ขีดฆ่าแทนได้ (มาตรา 107)

      5.4.6 ผู้ใดได้เสียค่าอากรหรือค่าเพิ่มอากรเกินไปไม่น้อยกว่า 2 บาท สำหรับตราสารลักษณะเดียวหรือเรื่องเดียวผู้นั้นชอบที่จะทำคำร้องเป็นหนังสือยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่ออธิบดีเห็นว่าเกินไปจริงก็ให้คืนค่าอากรหรือค่าเพิ่มอากรที่เกินไปนั้นแก่ผู้เสียอากรได้ แต่คำร้องที่กล่าวนั้นต้องยื่นภายในเวลา 6 เดือน นับแต่วันเสียอากรหรือค่าเพิ่มอากร และต้องประกอบด้วยคำชี้แจงหรือเอกสาร ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่หรืออธิบดีเห็นสมควรให้ยื่นสนับสนุนคำร้อง (มาตรา 122)

5.5 ประเด็นภาษีอากรประเภทอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร

 

6. บทสรุป

เมื่อผู้ประกอบการได้รับรู้และเข้าใจถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการตรวจแนะนำ อันเป้นแนวทางในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรแนวใหม่ของกรมสรรพากร โดยมุ่งเน้นให้ความรู้การปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง และกระตุ้นให้บันทึกรายจ่ายครบถ้วน และให้เจ้าหน้าที่มีโอกาสเรียนรู้เข้าใจการประกอบธุรกิจของผู้เสียภาษีระหว่างปฏิบัติงานตรวจแนะนำา ณ สถานประกอบการ เพื่อนำมาปรับใช้กับการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งพัฒนาเครือข่ายความรู้ทางภาษีอากรไปยังผู้ทำบัญชี และสำนักงานบัญชีเพื่อขับเคลื่อนการเสียภาษีให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงในอนาคตหากผู้ประกอบการมีทัศนคติที่ดีต่อการเสียภาษีอากรโดยถูกต้อง ก็ย่อมที่จะไม่หวาดหวั่นต่อการดำเนินการของเจ้าพนักงานสรรพากรที่ “มาดี” มิใชการ “มาหาเรื่อง” จริงอยู่ที่การเห็นไม่ตรงกันในข้อกฎหมายอาจมีได้ หาใช่การมุ่งทำลายล้างหรือเข่นฆ่ากัน การรับฟังเพื่อปรับปรุงของทั้งสองผ่ายจึงน่อมเกิดขึ้น เพราะในวันนี้ ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการบางรายมีบุคลากรที่มีความรู้ทางภาษีอากรก้าวทันกฎหมาย

การเตรียมความพร้อมในการออกตรวจแนะนำด้านภาษีอากร ณ สถานประกอบการ ของเจ้าพนักงานสรรพากร โดยคำนึงถึงประเด็นทางภาษีอากร ที่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงของการประกอบกิจการ เป็นสิ่งที่ควรต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็จในการตรวจแนะนำ ดังนี้

1. สรุปลักษณะการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการ เพื่อชี้แจงต่อเจ้าพนักงานประเมิน

2. การเตรียมแฟ้มประวัติของกิจการ และข้อมูลการเสียภาษีอากร

3. การจัดเตรียมข้อเท็จจริงและข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวกับรายการผิดปกติ จากรายการทางการเงินและภาษีอากรในงบการเงินและแบบแสดงรายการภาษีตามประมวลรัษฎากร และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ไว้ชี้แจงต่อเจ้าพนักงานประเมิน อาทิ 

      (1) กระดาษทำการเกี่ยวกับรายการพิเศษในงบแสดงฐานะการเงินและแบบแสดงรายการภาษี

      (2) การกระดาษทำการเกี่ยวกับการปรับปรุงรายการพิเศษในงบกำไรขาดทุนและแบบแสดงรายการภาษี เช่น รายการรายได้ที่ได้รับยกเว้น รายการรายจ่ายที่หักได้เพิ่ม เป็นต้น  

      (3) ตาราง Tax Mapping เกี่ยวกับรายการรายจ่ายที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 หรือมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร 

      (4) รายจ่ายที่มีความสัมพันธ์กับรายได้ เช่น ต้นทุนสินค้าที่ขาย หรือต้นทุนบริการ ตามสูตรการผลิต

      (5) ข้อมูลเพื่อพิสูจน์ทรัพย์สินของกิจการ

      (6) สิทธิพิเศษตามกฎหมายเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เช่น กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน เขตอุตสาหกรรมส่งออก เขตปลอดอากร เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2556

4. รายการสรุปข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติตามแนวนโยบายหรือมาตรการทางการคลังและภาษีอากร กฎหมายภาษิอากรใหม่ ในอันที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น ระบบการรับ-ชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ระบบการควบคุมภายใน (Internal Control)

รายการต่างๆ ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการพึงต้องมีและใช้ในการประกอบกิจการตามปกติอยู่แล้ว เพียงแต่หากได้มีกาจัดทำไว้อย่างเป็นระบบ แบบแผนที่ดีก็จักช่วยให้การตรวจแนะนำบรรลุตามเป้าหมายของทั้งกรมสรรพากร และผู้ประกอบการ