ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

การหักเงินได้คืนกองทุน กยศ.

บทความวันที่ 10 พ.ย. 2561  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 1501 ครั้ง

การหักเงินได้คืนกองทุน กยศ.

 

โดยทั่วไปสำหรับผู้กุ้ยืมเงินกองทุน กยศ. มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญากู้ยืมเงินโดยเคร่งครัดเพื่อประโยชน์ในการบริหารกองทุนและการติดตามการชำระเงินคืนกองทุน กยศ. ซึ่งตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 กำหนดให้ผู้กู้ยืมเงินมีหน้าที่ ต่าง ๆ ดังนี้

ประการที่ 1 ให้ความยินยอมในขณะทำสัญญากู้ยืมเงิน เพื่อให้ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร หักเงินได้พึงประเมินของตนตามจำนวนที่กองทุน กยศ. แจ้งให้ทราบเพื่อชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาคืนกองทุน

ประการที่ 2 แจ้งสถานะการเป็นผู้กู้ยืมเงินต่อหัวหน้าหน่วยงานภาครัฐ หรือเอกชนที่ตนทำงานด้วยภายใน 30 วันนับแต่วันที่เริ่มปฏิบัติงาน และยินยอมให้หักเงินได้พึงประเมินของตนเพื่อดำเนินการตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560

ประการที่ 3 ยินยอมให้กองทุน กยศ. เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของตนที่อยู่ในครอบครองของบุคคลอื่น รวมทั้งยินยอมให้กองทุน กยศ. เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน และการชำระเงินคืนกองทุน กยศ.

เพื่อประโยชน์แห่งการชำระคืนเงินกู้เพื่อการศึกษา ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้นายจ้างของผู้กู้ยืมเงินกองทุน กยศ. ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ว่าจะเป็นบุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลทั้งภาครัฐและเอกชน มีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงินกองทุน กยศ. ซึ่งเป็นพนักงาน หรือลูกจ้างของผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าว เพื่อชำระเงินกู้ยืมคืนตามจำนวนที่กองทุน กยศ. แจ้งให้ทราบ โดยให้นำส่งกรมสรรพากรภายในกำหนดระยะเวลานำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

 ต่อมาอธิบดีกรมสรรพากร อาศัยอำนาจตามความในวรรคหนึ่งของมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการหักเงินได้พึงประเมินเพื่อชำระเงินกู้ยืมคืนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป ดังนี้

 ให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นกระทรวง ทบวง กรม สำนักงานหรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม หักเงินได้พึงประเมินของข้าราชการและลูกจ้างประจำในสังกัดซึ่งเป็นผู้กู้ยืมเงิน ตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ แล้วนำส่งผ่านระบบของกรมบัญชีกลางตามกฎหมายว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจ่ายเงิน บางประเภทตามงบประมาณรายจ่าย เพื่อให้กรมบัญชีกลางโอนเงินดังกล่าวให้กรมสรรพากรผ่านบัญชี ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ชื่อบัญชี “กรมสรรพากร เพื่อรับชำระเงินคืนกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา”

ตามมาตรา 51 ดังกล่าว ยังได้กำหนดว่า การหักเงินได้พึงประเมินของข้าราชการและลูกจ้างประจำในสังกัดซึ่งเป็นผู้กู้ยืมเงิน ตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบต้องหักให้กองทุนเป็นลำดับแรกถัดจากการหักภาษี ณ ที่จ่าย และการหักเงินเข้ากองทุนที่ผู้กู้ยืมเงินต้องถูกหักตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม

ถ้าผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าวไม่ได้หักเงินได้พึงประเมิน หักและไม่ได้นำส่ง หรือนำส่งแต่ไม่ครบตามจำนวนที่กองทุน กยศ. แจ้งให้ทราบ หรือหัก และนำส่งเกินกำหนดระยะเวลา ให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินรับผิดชดใช้เงินที่ต้องนำส่งในส่วนของผู้กู้ยืมเงินตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ และต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินที่ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินยังไม่ได้นำส่ง หรือตามจำนวนที่ยังขาดไป แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ นับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดต้องนำส่ง