ภ.พ.36 กับการจ่ายเงินไปต่างประเทศ
บทความวันที่ 25 พ.ย. 2561 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 85485 ครั้ง
บทความวันที่ 25 พ.ย. 2561 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 85485 ครั้ง
ภ.พ.36 กับการจ่ายเงินไปต่างประเทศ
การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม มี
3 กรณี คือ กรณีที่ 1
การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากการทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา
83/5 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีที่ 2 การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากมีการชำระราคาสินค้า
ให้แก่ ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งได้เข้ามาประกอบกิจการขายสินค้า
หรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว
และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 85/3
แห่งประมวลรัษฎากร หรือชำระราคาค่าบริการให้กับผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศ
และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร
และกรณีที่ 3 การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากการรับโอนกรรมสิทธิ์ในส่งค้าหรือสิทธิในบริการที่เคยได้สิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ
0 จากองค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ สถานเอกอัครราชทูต
สถานทูต สถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุล อันเป็นหน้าที่ของผู้จ่ายเงินได้เมื่อมีพร้อมทั้งยื่นแบบ
ภ.พ.36 ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินให้กับผู้ประกอบการดังกล่าว
หรือภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่ครบกำหนด 30 วัน บับแต่วันที่จ่ายเงินได้ ซึ่งยังมีความสงสัยใคร่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
83/6 แห่งประมวลรัษฎากรดังกล่าว
สังเกตจากมีผู้เขียนคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปถามผู้เขียนอยู่เป็นระยะ ๆ จึงขอนำเฉพาะประเด็นการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
83/6 แห่งประมวลรัษฎากร
มากล่าวเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาและนำไปปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามหัวข้อดังต่อไปนี้
1.
ทำไมต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
2.
ผลของการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม และความรับผิดของผู้จ่ายเงิน
3. การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
โดยพิจารณาจากประเภทเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร
4. การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
83/6 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
5. การให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ
และมิได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
6. บทสรุป
1. ทำไมต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
สืบเนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่ม
เป็นภาษีการบริโภค ที่มุ่งจัดเก็บภาษีจากผู้บริโภคขั้นสุดท้าย
แต่เนื่องจากรัฐไมสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มโดยตรงจากผู้บริโภดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จึงกำหนดจัดเก็บจากการขายสินค้าหรือการให้บริการในราชอาณาจักร
โดยให้ผู้ประกอบการที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้บริโภคโดยใกล้ชิดเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
และให้ผู้ประกอบการ
ทั้งที่ได้จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนสามารถผลักภาระภาษีมูลค่าเพิ่มได้โดยบวกภาษีมูลค่าเพิ่ม
ไปกับราคาสินค้า หรือค่าบริการ รวมเรียกว่า “ภาษีทางอ้อม”
สำหรับกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศ
นั้น ได้กำหนดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามหลักปลายทาง (Destination Principle) ของสินค้าหรือบริการ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าที่มีรูปร่างซึ่งกรมศุลกากรเป็นผู้จัดเก็บอากรขาเข้าอยู่แล้ว
จึงกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้า ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการหรือผู้บริโภค
เป็นผู้สำแดงใบขนสินค้าขาเข้าและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
สำหรับผู้ประกอบการสามารถผลักภาระภาษีมูลค่าเพิ่มได้ แต่ในส่วนของผู้บริโภคที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าไม่สามารถผลักภาระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อไปได้
จึงต้องรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นไว้เอง ภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีนี้จึงเป็น “ภาษีทางตรง”
กล่าวสำหรับการนำเข้าบริการจากต่างประเทศ
ซึ่งตามหลักการต้องจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามหลักปลายทาง (Destination Principle) ของบริการ
และกรมศุลกากรไม่มีอำนาจจัดเก็บอากรขาเข้าในกรณีนี้ กฎหมายจึงต้องหาทางจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
โดยบัญญัติมาตรา 77/2 วรรคสาม
แห่งประมวลรัษฎากร ให้ถือว่า กรณีผู้ประกอบการซึ่งได้ให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
นั้น เป็นการให้บริการในราชอาณาจักร ที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดหรือบางส่วนเกิดขึ้นเมื่อได้มีการชำระราคาค่าบริการทั้งหมดหรือบางส่วนตามมาตรา
78/1 (3) แห่งประมวลรัษฎากร
โดยคำนวณจากฐานภาษีตามมาตรา 79
และอัตราภาษีตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร
การให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ
และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรตามมาตรา 77/2
วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร หมายความว่า การกระทำใด ๆ
อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ผู้ประกอบการในต่างประเทศได้กระทำขึ้นในต่างประเทศ
และผู้รับบริการในราชอาณาจักรได้นำผลของการกระทำนั้นมาใช้ในราชอาณาจักร (ข้อ 2
วรรคแรก ของคำสั่งคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 104/2544)
กฎหมายยังได้กำหนดต่อไปว่า
กรณีผู้รับบริการในราชอาณาจักร ใม่ว่าจะเป็นบุคคลใดๆทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
ทั้งบุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งจ่ายเงินค่าบริการให้กับผู้ประกอบการซึ่งได้ให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
อันเป็นการให้บริการในราชอาณาจักรที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว
นั้น ให้ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสียภาษีตามมาตรา
83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยผู้จ่ายเงินต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ภ.พ.36) ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินให้กับผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ กรณีผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งได้เข้ามาประกอบกิจการขายสินค้า
หรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว
และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 85/3
แห่งประมวลรัษฎากร นั้น เมื่อมีการชำระราคาสินค้าหรือ
ราคาค่าบริการให้กับผู้ประกอบการดังกล่าว ให้ผู้จ่ายเงินค่าซื้อสินค้า
หรือค่าบริการมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสียภาษีตามมาตรา
83/6 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยผู้จ่ายเงินต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ภ.พ.36) ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินให้กับผู้ประกอบการ
ด้วยเช่นเดียวกัน
การกำหนดให้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
83/6 แห่งประมวลรัษฎากร นี้ เป็นบทบัญญัติที่กำหนดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามหลักปลายทางของสินค้าหรือบริการ
เช่นเดียวกับการนำเข้าสินค้าโดยผ่านพิธีการทางศุลกากร จึงไม่อาจนำข้อกำหนดยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
สำหรับมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมในส่วนที่ไม่เกินหนึ่งล้านแปดแสนบาทต่อปี
ตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร มาใช้บังคับได้
เนื่องจากการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร
เป็นการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามหลักการบริโภค ที่ต้องคำนึงถึงผู้ประกอบการรายย่อย
แต่การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงประเด็นดังกล่าว
2. ผลของการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม และความรับผิดของผู้จ่ายเงิน
2.1 สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียน
ให้นำจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบเสร็จรับเงินที่ได้นำส่งตามแบบ ภ.พ.36 (ไม่รวมเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร) ไปถือเป็นภาษีซื้อห้กออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีที่ได้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามมาตรา 77/1 (18) แห่งประมวลรัษฎากร และให้ถือว่า
ใบเส็จรับเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/14
แห่งประมวลรัษฎากร
อนึ่ง
การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งตามมาตรา 83/6
แห่งประมวลรัษฎากร ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว
โดยยื่นแบบ ค.10 เพื่อขอคืน
โดยไม่มีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม มิฉะนั้น
จะเข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (3) แห่งประมวบรัษฎากร
2.2 สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
หรือผู้ประกอบกิจการในระบบภาษีธุรกิจเฉพาะ
จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้นำส่ง (ไม่รวมถึงเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร
เพราะถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร)
ไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
หรือต้นทุนของทรัพย์สิน
2.3 สำหรับประชาชนผู้บริโภค รวมทั้งองค์การของรัฐบาล หรือส่วนราชการ
หรือบุคคลอื่นที่มิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้นำส่ง
ถือเป็นค่าใช้จ่าย ทีต้องรับภาระไว้ เพราะไม่อาจผลักภาระไปยังบุคคลอื่นได้
2.4 ความรับผิดของผู้จ่ายเงิน
2.4.1 ความรับผิดทางแพ่ง
(1) ความรับผิดในจำนวนเงินภาษีมุลค่าเพิ่มที่มิได้นำส่งหรือนำส่งไม่ครบถ้วน
ตามมาตรา 54 แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีที่ผู้จ่ายเงินไม่ได้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
หรือนำส่งไว้แล้วแต่ยังไม่ถูกต้อง ครบถ้วน ผู้จ่ายเงินได้ต้องร่วมรับผิดกับผู้มีเงินได้ในจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ที่ยังหักและนำส่งไว้ไม่ครบถ้วนนั้น
(2)
ความรับผิดในเงินเพิ่มภาษี ตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร
ผู้จ่ายเงินต้องรับผิดในจำนวนเงินเพิ่มภาษี
สำหรับจำนวนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ยังนำส่งไว้ไม่ครบถ้วน
และพ้นกำหนดเวลานำส่งตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว
โดยต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5
ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของจำนวนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
ที่นำส่งไว้ไม่ครบถ้วนนั้น ทั้งนี้
ผู้จ่ายเงินได้ต้องรับผิดในจำนวนเงินเพิ่มดังกล่าวแต่เพียงฝ่ายเดียว และในการคำนวณภาษีเงินได้
ผู้จ่ายเงินได้จะนำเงินเพิ่มภาษีไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณเงินได้สุทธิ
หรือกำไรและขาดทุนสุทธิไม่ได้ ตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร
2.4.2 ความรับผิดทางอาญา
(1) กรณีผู้จ่ายเงิน ฝ่าฝืนไม่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
83/6 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 90
(5) แห่งประมวลรัษฎากร
(2) ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 200,000 บาท
(ก) โดยเจตนาแจ้งข้อความเท็จ
หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง
เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือเพื่อขอคืนภาษีอากรตามลักษณะ 2
แห่งประมวลรัษฎากร หรือ
(ข) โดยความเท็จ
โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยง
หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือขอคืนภาษีอากรตามลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร (มาตรา 37
แห่งประมวลรัษฎากร)
(3) ผู้ใดโดยเจตนาไม่ยื่นรายการที่ต้องยื่นตามลักษณะ
2 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี
หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 37 ทวิ
แห่งประมวลรัษฎากร)
(4) ความผิดตามมาตรา
37 มาตรา 37 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากร
และเป็นความผิดที่เกี่ยวกับจำนวนภาษีอากรที่หลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงตั้งแต่ 10 ล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป
หรือจำนวนภาษีอากรที่ขอคืนโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย
หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน ตั้งแต่
2 ล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป
และผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรดังกล่าวได้กระทำในลักษณะที่เป็นกระบวนการหรือเป็นเครือข่าย
โดยสร้างธุรกรรมอันเป็นเท็จหรือปกปิดเงินได้พึงประเมินหรือรายได้
เพื่อหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษีอากร และมีพฤติกรรมปกปิดหรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อมิให้ติดตามทรัพย์สินนั้นได้
ให้ถือว่าความผิดดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
เมื่ออธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองความผิดทางภาษีอากรที่เข้าข่าย
ความผิดมูลฐานส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแล้ว
ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต่อไป
ในกรณีที่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสียภาษีอากรเพิ่มขึ้น
ผู้อุทธรณ์จะต้องชำระภายในกำหนดเวลาเช่นเดียวกับวรรคก่อน (มาตรา 37 ตรี
แห่งประมวลรัษฎากร)
3.
การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยพิจารณาจากประเภทเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40
แห่งประมวลรัษฎากร
การทำความเข้าเกี่ยวกับการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
โดยใช้ประเภทเงินได้พึงประเมินตามมาตรา
40 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นตัวตั้งต้น
จะช่วยให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้น เพราะประการที่หนึ่ง
มีความคุ้นเคยกับประเภทเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร
โดยเฉพาะในส่วนที่ต้องจ่ายไปให้แก่ผู้มีเงินได้ในต่างประเทศ
ที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย อยู่เป็นปกติ ประการทีสอง ความสัมพันธ์กับการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
ที่ตรงประเด็นที่สุด
3.1 เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40
(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา
40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส
เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน
เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า
เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน
หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน
ผู้มีเงินได้จากการจ้างแรงงาน ตามมาตรา
40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ล้วนแต่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นเงินได้จากการให้บริการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามมาตรา 81 (1)(ฐ) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่มีการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
สำหรับการจ่ายค่าบริการจ้างรงงาน แม้จะได้จ่ายไปต่างประเทศ ก็ตาม
3.2 เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40
(2) แห่งประมวลรัษฎากร
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2)
แห่งประมวลรัษฎากร แบ่งเป็น
3.2.1 เงินได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ
ได้แก่ เงินได้ที่เป็น เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส เงินค่าเช่าบ้าน
เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า
เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน
ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ ไม่ว่าหน้าที่
หรือตำแหน่งงาน นั้น จะเป็นการประจำหรือชั่วคราว
ผู้มีเงินได้ในส่วนนี้
เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งอธิบดีกรมสรรพากร ได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 205) เรื่อง
การกำหนดการกระทำที่ไม่ถือว่าเป็นการให้บริการ ตามมาตรา 77/1 (10)(ค)
แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2558 กำหนดให้การปฏิบัติงานในฐานะกรรมการบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด
กรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามที่กฎหมายกำหนด
และกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งโดยราชการ เป็นการกระทำที่ไม่ถือว่าเป็นการให้บริการ
ดังนั้น
การจ่ายเงินได้พึงประเมินในกรณีนี้ไปให้ผู้มีเงินได้ในต่างประเทศ
จึงไม่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร
แต่ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินนได้ ณที่จ่ายตามมาตรา 50
(1) วรรคท้าย แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตรา 15% ของเงินได้
3.2.2 เงินได้จากการรับทำงานให้ ได้แก่ ค่าธรรมเนียม
ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทำ บำเหน็จ โบนัส เงินค่าเช่าบ้าน
เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า
เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน
ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการรับทำงานให้นั้น ไม่ว่าหน้าที่ หรือตำแหน่งงาน
หรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว ซึ่งแยกเป็น
(1) เงินได้จากการเป็นนายหน้าตัวแทน
(2)
เงินได้จากการรับจ้างทำงานให้ ที่เป็นรับจ้างทำของ
การจ่ายเงินได้พึงประเมินในกรณีนี้
ให้แก่ผู้มีเงินได้ในต่างประเทศ นั้น หากได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.พ.36 เพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา
83/6 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถ้าเป็นการให้บริการในต่างประเทศ
และได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ
ผู้จ่ายเงินได้ก็ไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลคาเพิ่มแต่อย่างใด
ตัวอย่าง ตามคำสั่งคำสั่งกรมสรรพากรที่
ป. 104/2544
บริษัท ก จำกัด
ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศให้ดำเนินการ
ให้คำปรึกษาและแนะนำด้านการบริหาร การจัดการ การวางแผน กฎหมาย การเงิน
การตลาดและบุคคล
ซึ่งการให้บริการทั้งหมดได้กระทำในต่างประเทศและบริษัทในต่างประเทศได้จัดส่งข้อมูลดังกล่าวผ่านทางโทรศัพท์
โทรสาร E – MAIL (ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์) และจดหมายให้กับบริษัท
ก จำกัด กรณีดังกล่าว
ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
บริษัท ก จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) (ข้อ 3
(1) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 104/2544)
บริษัท ง จำกัด
ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศให้ซ่อมแซมเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าโดยส่งเครื่องจักรไปซ่อมแซมในต่างประเทศ
เมื่อบริษัทในต่างประเทศดำเนินการเรียบร้อยแล้วได้ส่งกลับมาให้บริษัท ง จำกัด
ใช้ในประเทศไทย กรณีดังกล่าว
ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
บริษัท ง จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) (ข้อ 3 (4)
ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 104/2544)
3.3 เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3)
แห่งประมวลรัษฎากร
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3)
แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ เงินได้ที่เป็นค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น
เงินได้พึงประเมินในส่วนที่เป็น
“ค่าสิทธิ” (Royalty) นั้น
สำหรับประเทสคู่สัญญาตามอนุสัญญาภาษีซ้อนที่กระทำกับประเทศไทย
มีนิยามศัพท์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น ตามวรรคสาม ของข้อ 12 แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนไทยสหรัฐอเมริการ
ได้กำหนดนิยามค่ำว่า “ค่าสิทธิ” ไว้ดังนี้
“(3) คำว่า "ค่าสิทธิ" ที่ใช้ในข้อนี้หมายถึง การจ่ายไม่ว่าชนิดใด ๆ
ที่ได้รับเป็นค่าตอบแทนเพื่อ
(ก) การใช้หรือสิทธิในการใช้
ลิขสิทธิ์ใดๆ ในงานวรรณกรรม ศิลปะ หรือ วิทยาศาสตร์ รวมทั้งซอฟแวร์และ
ฟิล์มภาพยนตร์ และงานฟิล์ม เทป หรือการกระทำ อื่นๆ
เพื่อถอดแบบสำหรับการใช้ที่เกี่ยวข้องกับการกระจาย เสียงของวิทยุหรือโทรทัศน์
(ข)
เพื่อการใช้หรือสิทธิในการใช้อุปกรณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือวิทยาศาสตร์
หรือ
(ค) เพื่อการใช้หรือสิทธิในการใช้
สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า แบบหรือหุ่นจำลอง แผนผังสูตรลับหรือกรรมวิธีลับใด ๆ
หรือเพื่อข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม
หรือทางวิทยาศาสตร์คำว่า "ค่าสิทธิ"
จะรวมถึงผลได้ที่ได้รับจากการจำหน่ายสิทธิหรือทรัพย์สินใด ๆ
ที่อาจเกิดขึ้นกับการผลิต การใช้ หรือการมอบให้ดังกล่าว”
กรณีผู้ประกอบการในต่างประเทศได้ให้ผู้ประกอบการหรือบุคคลใดใน
ราชอาณาจักรได้ใช้สิทธิในสิทธิบัตร ได้ใช้กู๊ดวิลล์ ได้ใช้เครื่องหมายการค้า
ได้ใช้ลิขสิทธิ์ ได้ใช้สัมปทาน ได้ใช้ค่าสิทธิ หรือได้ใช้สินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน
โดยผู้ประกอบการใน ต่างประเทศยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สิทธิในสิทธิบัตร
กู๊ดวิลล์ เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สัมปทาน ค่าสิทธิ
หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ไม่ถือเป็นการขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างตามมาตรา
77/1 (8) และมาตรา 77/1 (9) แห่งประมวลรัษฎากร
แต่ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรตามมาตรา
77/2 วรรคสาม และมาตรา 77/5 แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีผู้ประกอบการในต่างประเทศรับจ้างเขียนซอฟต์แวร์ให้กับผู้ประกอบการหรือบุคคลใดซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างในราชอาณาจักร
โดยผู้ว่าจ้างในราชอาณาจักรยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ดังกล่าว
ไม่ถือเป็นการขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างตามมาตรา 77/1 (8) และมาตรา 77/1
(9) แห่งประมวลรัษฎากร
แต่ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรตามมาตรา
77/2 วรรคสาม และมาตรา 77/5 แห่งประมวลรัษฎากร
ตัวอย่าง ตามคำสั่งคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 104/2544
บริษัท จ จำกัด ประกอบกิจการเกี่ยวกับสนามกอล์ฟได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศให้ดำเนินการออกแบบสนามกอล์ฟโดยมีการจัดทำแผนผัง
รายละเอียดและงานเขียนแบบสำหรับใช้ในการก่อสร้างสนามกอล์ฟ
ซึ่งบริษัทในต่างประเทศยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในงานเขียนแบบและแผนผังอื่น ๆ
เงินค่าจ้างออกแบบดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นค่า ตอบแทนเพื่อค่าสิทธิ กรณีดังกล่าว
ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
บริษัท จ จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) (ข้อ 3 (5) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 104/2544)
บริษัท ช จำกัด ประกอบธุรกิจถลุงโลหะ
ได้ซื้อลิขสิทธิ์กรรมวิธีการผลิตจากบริษัทในต่างประเทศโดยบริษัทในต่างประเทศยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในลิขสิทธิ์กรรมวิธีการผลิต
กรณีดังกล่าว
ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร บริษัท
ช จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) (ข้อ 3 (6)
ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 104/2544)
ส่วนราชการแห่งหนึ่งทำสัญญาจัดซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากบริษัทในต่างประเทศ
โดยบริษัทในต่างประเทศเสนอราคาค่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ประกอบด้วยค่าลิขสิทธิ์ที่บริษัทในต่างประเทศยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในลิขสิทธิ์
ค่าติดตั้ง ค่าบำรุงรักษา ค่าฝึกอบรม ค่าให้คำปรึกษา ค่าเดินทาง
และค่าที่พักของพนักงาน กรณีดังกล่าว ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ
และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ส่วนราชการมีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ภ.พ.36) (ข้อ 3 (7) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 104/2544)
อย่างไรก็ตาม กรณีผู้ประกอบการในต่างประเทศได้โอนกรรมสิทธิ์สินค้าที่ไม่มีรูปร่างให้กับผู้ประกอบการหรือบุคคลใดในราชอาณาจักรไม่ถือเป็น
การให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรตามมาตรา
77/2 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร
แต่ถือเป็นการขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่าง ตามมาตรา 77/1 (8) และ (9) แห่งประมวลรัษฎากร
การขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างดังกล่าว เช่น
การโอนกรรมสิทธิ์สิทธิในสิทธิบัตร การโอนกรรมสิทธิ์ในกู๊ดวิลล์
การโอนกรรมสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้า การโอนกรรมสิทธิ์ในลิขสิทธิ์
การโอนกรรมสิทธิ์ในสัมปทาน การโอนกรรมสิทธิ์ในค่าสิทธิ
หรือการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน (ข้อ 2 วรรคสามและวรรคสี่
ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 104/2544)
3.4 เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40
(4) แห่งประมวลรัษฎากร
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา
40 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่
“(4) เงินได้ที่เป็น
(ก) ดอกเบี้ยพันธบัตร
ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน
ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่
ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ
ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ
ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว หรือผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
หรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออกและจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน
รวมทั้งเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ย ผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนอื่นๆ
ที่ได้จากการให้กู้ยืม หรือจากสิทธิเรียกร้องในหนี้ทุกชนิด
ไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ก็ตาม
(ข) เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือ
ประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กองทุนรวม
หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทย
จัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม
เงินปันผล หรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ
ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ
ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว
เพื่อประโยชน์ในการคำนวณเงินได้ตามวรรคหนึ่ง
ในกรณีที่บุตรชอบด้วยกฎหมายที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็นผู้มีเงินได้
และความเป็นสามีภริยาของบิดาและมารดาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี
ให้ถือว่าเงินได้ของบุตรดังกล่าวเป็นเงินได้ของบิดา
แต่ถ้าความเป็นสามีภริยาของบิดาและมารดามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษี
ให้ถือว่าเงินได้ของบุตรดังกล่าวเป็นเงินได้ของบิดาหรือของมารดาผู้ใช้อำนาจปกครอง
หรือของบิดาในกรณีบิดามารดาใช้อำนาจปกครองร่วมกัน
ความในวรรคสองให้ใช้บังคับกับบุตรบุญธรรมที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ด้วยโดยอนุโลม
(ค) เงินโบนัสที่จ่ายแก่ผู้ถือหุ้น
หรือผู้เป็นหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
(ง)
เงินลดทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน
(จ)
เงินเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งจากกำไรที่ได้มาหรือเงินที่กันไว้รวมกัน
(ฉ) ผลประโยชน์ที่ได้จากการที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลควบเข้ากัน
หรือรับช่วงกัน หรือเลิกกัน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน
(ช)
ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนการเป็นหุ้นส่วนหรือ โอนหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร
หรือตั๋วเงิน หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก
ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน”
เนื่องจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40
(4) แห่งประมวลรัษฎากร ทุกกรณีเป็น “ผลได้จากทุน” (Capital
Gain) ซึ่งเป็นรายได้ที่ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ดังนั้น การจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา
40 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ทุกกรณี
ผู้จ่ายเงินได้จึงไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ
ภ.พ.36 เพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่อย่างใด
3.5 เงินได้พึงประเมินตามมาตรา
40 (5) แห่งประมวลรัษฎากร
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา
40 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่
“(5) เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจาก
(ก)
การให้เช่าทรัพย์สิน
(ข)
การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน
(ค)
การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนซึ่งผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้น
โดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้ว...”
ตัวอย่าง ตามคำสั่งคำสั่งกรมสรรพากรที่
ป. 104/2544
บริษัท ข จำกัด
ได้ทำสัญญาเช่าเครื่องจักรจากบริษัทในต่างประเทศเพื่อ นำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศไทย
ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
บริษัท ข จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) (ข้อ 3
(2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 104/2544)
3.6 เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40
(6) แห่งประมวลรัษฎากร
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6)
แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่
“(6)
เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือ วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี
ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอิสระอื่น ซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้”
ตัวอย่าง ตามคำสั่งคำสั่งกรมสรรพากรที่
ป. 104/2544
บริษัท ค จำกัด ได้ทำสัญญารับจ้างออกแบบคำนวณโครงสร้างทางยกระดับโครงการแห่งหนึ่ง
ซึ่งบริษัท ค จำกัด
ได้ทำสัญญาจ้างช่วงงานคำนวณโครงสร้างบางส่วนกับบริษัทในต่างประเทศโดยบริษัทในต่างประเทศจะดำเนินการออกแบบและ
คำนวณโครงสร้างในต่างประเทศ และส่งผลของงานให้กับบริษัท ค จำกัด กรณีดังกล่าว
ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
บริษัท ค จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) (ข้อ 3
(3) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 104/2544)
อย่างไรก็ตาม
สำหรับเงินได้จากวิชาชีพอิสระ ที่เป็นการประกอบโรคศิลปะ การสอบบัญชี และการว่าความ
ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
กรณีจ่ายเงินได้ดังกล่าวไปต่างประเทศจึงไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
แต่อย่างใด
“(ฌ) การให้บริการการประกอบโรคศิลปะ
การสอบบัญชี การว่าความ หรือการประกอบวิชาชีพอิสระอื่นตามที่อธิบดีกำหนด
โดยอนุมัติรัฐมนตรี ทั้งนี้ เฉพาะวิชาชีพอิสระที่มีกฎหมายควบคุม
การประกอบวิชาชีพอิสระนั้น”
3.7 เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7)
แห่งประมวลรัษฎากร
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) แห่งประมวลรัษฎากร
ได้แก่
“(7)
เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ”
เนื่องจากเงินได้ประเภทนี้
ผู้มีเงินได้ต้องเข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย เท่านั้น และหากผู้มีเงินได้ที่เป็นผู้ประกอบการต้องการประโยชน์สูงสุดในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน
กรณีจึงไม่มีการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
เว้นแต่ผู้ประกอบการมิได้จดทะเบียนภาษ๊มูลค่าเพิ่มผู้จ่ายเงินได้
มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.พ.36 เพื่อ นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 83/6 (1)
แห่งประมวลรัษฎากร เป็นกรณีจ่ายเงินได้ให้แก่ ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งได้เข้ามาประกอบกิจการ
(ขายสินค้าหรือ) ให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว
และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราว
3.8 เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8)
แห่งประมวลรัษฎากร
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา
40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่
“(8)
เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง
หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) แล้ว”
การกระทำใด ๆ
อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ผู้ประกอบการในต่างประเทศได้กระทำขึ้นในต่างประเทศ
และผู้รับบริการในราชอาณาจักรได้นำผลของการกระทำนั้นมาใช้ในราชอาณาจักร ตามมาตรา
77/2 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะส่วนที่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา
40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อผู้รับบริการในราชอาณาจักรจ่ายเงินค่าบริการให้กับผู้ประกอบการดังกล่าว
ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสียภาษีตามมาตรา
83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยผู้จ่ายเงินต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ภ.พ.36) ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินให้กับผู้ประกอบการตามมาตรา
83/6 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
ตัวอย่าง
ตามคำสั่งคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 104/2544
บริษัท ซ จำกัด
ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศผลิต BROCHURE เป็นรูปภาพของโรงแรมและเย็บเป็นหนังสือเล่มเล็ก
ๆ โดยบางส่วนแจกให้ลูกค้าในประเทศไทย และบางส่วนแจกให้ลูกค้าในต่างประเทศ
ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
บริษัท ซ จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)
โดยคำนวณจากค่าบริการทั้งหมด (ข้อ 3 (8) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.
104/2544)
บริษัท ฌ จำกัด
ได้ทำสัญญาใช้บริการนำเสนอข้อมูลสินค้าหรือบริการผ่านอินเตอร์เน็ต
หรือบริการเช่าพื้นที่บนเว็บไซท์ (Web Site) หรือบริการเช่าพื้นที่บนเซิร์ฟเวอร์
(Server) ของบริษัทในต่างประเทศ
ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
บริษัท ฌ จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)
โดยคำนวณจากค่าบริการทั้งหมด (ข้อ 3 (9) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 104/2544)
บริษัท บริษัท ญ จำกัด
ได้ทำสัญญาใช้บริการอินเตอร์เน็ต หรือบริการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Internet
Service Provider) จากบริษัทในต่างประเทศ
ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
บริษัท ญ จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)
โดยคำนวณจากค่าบริการทั้งหมด (ข้อ 3 (10) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.
104/2544)
บริษัท ฎ จำกัด
ได้ทำสัญญาใช้บริการรับฝากเซิร์ฟเวอร์ (Data Management หรือ
Co-Location) จากบริษัทในต่างประเทศ
ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
บริษัท ฎ จำกัด มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36)
โดยคำนวณจากค่าบริการทั้งหมด (ข้อ 3 (11) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.
104/2544)
4. การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
83/6 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
ตามมาตรา
83/6 (1) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ผู้จ่ายเงินให้แก่ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งได้เข้ามาประกอบกิจการขายสินค้า
หรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว
และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 85/3
แห่งประมวลรัษฎากร นั้น มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสียภาษีตามมาตรา
83/6 (1) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อมีการชำระราคาสินค้าหรือ
ราคาค่าบริการให้กับผู้ประกอบการดังกล่าว โดยให้ผู้จ่ายเงินค่าซื้อสินค้า
หรือค่าบริการ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
ภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินให้กับผู้ประกอบการ
ตัวอย่าง
ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 97/2543
กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อในต่างประเทศ
และผู้ประกอบการจดทะเบียนผลิตสินค้าเพื่อส่งออกหรือซื้อสินค้าดังกล่าวจากโรงงานผู้ผลิตหรือผู้ขายในประเทศเพื่อส่งออก
แต่ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้าในประเทศตามคำสั่งซื้อของผู้ซื้อในต่างประเทศ
โดยที่สินค้าดังกล่าวไม่ได้ส่งออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งไปต่างประเทศ โดยทั่วไปกรณีดังกล่าว
ถือเป็นการขายสินค้าในราชอาณาจักร
ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0
ของราคาสินค้า
โดยต้องจัดทำใบกำกับภาษีเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการจดทะเบียน
โดยต้องจัดทำใบกำกับภาษีเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อในต่างประเทศ
เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น กล่าวคือ เมื่อส่งมอบสินค้า
หรือรับชำระราคาก่อนส่งมอบ
ตัวอย่าง
แนวคำตอบข้อหารือของกรมสรรพากร
สำหรับกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนส่งมอบสินค้าให้แก่
ลูกค้าในประเทศของผู้ซื้อในต่างประเทศตามคำสั่งของผู้ซื้อในต่างประเทศนั้น
ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อในต่างประเทศกับลูกค้าในประเทศ
ถือว่าผู้ซื้อในต่างประเทศขายสินค้าให้แก่ลูกค้าในประเทศ ดังนั้นเมื่อลูกค้าในประเทศจ่ายเงินค่าซื้อสินค้าให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ
จึงต้องยื่นแบบ ภ.พ.36 และนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% ของราคาสินคา
ภายในวันที 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่จ่ายเงินได้ ตามมาตรา 83/6 (1)
แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้ถือจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้นำส่งไว้นั้นเป็นภาษีซื้อของเดือนภาษีที่ได้นำส่งดังกล่าว
บริษัทฯ
ประกอบกิจการขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในลักษณะร้านค้าสะดวก
ต้องการขยายธุรกิจโดยการเพิ่มสาขาและชนิดของสินค้า บริษัทฯ
จึงต้องสร้างศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ที่มีการจัดเก็บสินค้าด้วยระบบคอมพิวเตอร์
บริษัทฯ ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท A แห่งประเทศแคนาดา
ไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย เพื่อให้บริการดังนี้
(1) รวบรวมและประเมินข้อมูลอย่างละเอียดที่จำเป็นต้องใช้ในการศึกษางานครั้งนี้
ซึ่งรวมถึงจำนวนหรือความหลากหลายของสินค้าในปัจจุบันและในแผนงานในอนาคตที่คาดการณ์ไว้
ระดับสินค้าคงคลัง และการเคลื่อนไหวของสินค้าเหล่านั้น
ตำแหน่งที่ตั้งของร้านสาขาและประวัติหรือรายละเอียดการสั่งสินค้า
ความถี่ของการจัดส่ง และเป้าหมายมาตรฐานการบริการต่อร้านสาขา
(2) ทำการสรุปและประเมินเพื่อให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับวิธีการจัดเก็บ วิธีจัดสินค้า
และวิธีการจัดส่งสินค้า รวมทั้งทำการออกแบบ Lay Out ต่างๆ
และขนาดของคลังสินค้าที่เหมาะสมกับวิธีต่างๆ เหล่านั้น
(3) ทำการแนะนำระบบงานที่เหมาะสมที่สุด เพื่อรองรับแผนการขยายงานของบริษัทฯ
และเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายผลตอบแทนในการลงทุน ตระเตรียมระบบ Lay Out และเตรียมงบประมาณในการดำเนินการ
ทำการสรุปเรื่องขีดความสามารถสูงสุดหรือกำลังผลิตของ Lay Out ต่างๆ และระบุการเตรียมการขยายโครงการ
(4) เตรียมแบบ Lay Out อย่างละเอียดของเครื่องมือเครื่องใช้ที่ต้องติดตั้ง
รวมทั้งระบุรายละเอียดเนื้อที่หรือสถานที่ใช้ประกอบการทำงานที่เกี่ยวข้องและทำการสรุปเรื่องขนาดของตัวอาคารคลังสินคา
และรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง
(5) ประสานงานกับสถาปนิกและวิศวกรของโครงการ
เพื่อให้ทราบถึงเนื้อที่ที่ต้องว่างเว้น เพื่อใช้ปฏิบัติงานของส่วนต่างๆ
ของอาคารคลังสินค้า
(6) คิดค้นและระบุมาตรฐานของอุปกรณ์ ทั้งที่ต้องประกอบติดตั้งกับตัวอาคาร
และที่ไม่ต้องประกอบติดตั้ง
เพื่อให้ได้มาตรฐานในการประมูลงานอุปกรณ์ดังกล่าวที่ได้ประสิทธิภาพ
(7) ประสานงานในการจัดส่งและการติดตั้งของอุปกรณ์ดังกล่าว
(8) พัฒนาขั้นตอนวิธีการปฏิบัติงานต่างๆ ดังกล่าว
(9) คิดค้นหาแผนงานอย่างละเอียดเป็นขั้นตอนในการเริ่มรับสินค้าเข้าคลัง
และเริ่มการปฏิบัติงานของคลังสินค้า
ในการให้บริการดังกล่าว
บริษัท A จะส่งพนักงานเข้ามาเก็บข้อมูลและให้บริการในประเทศไทยรวมระยะเวลาทั้งสิ้น
62 วัน เช่นนี้ เงินได้จากการให้บริการตามสัญญาดังกล่าว
เข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ
แต่โดยที่การส่งพนักงานเข้ามาให้บริการในประเทศไทยรวมเวลา 62 วัน ยังถือไม่ได้ว่า บริษัท A ให้บริการโดยผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย
ดังนั้น บริษัท A จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยจากเงินได้ที่ได้รับตามสัญญาดังกล่าว
ตามข้อ 7 วรรคหนึ่ง
แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศแคนาดา เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน
และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 และการให้บริการของบริษัท A เข้าลักษณะเป็นการให้บริการโดยผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร
ซึ่งเข้ามาให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว
และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 85/3 ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าจ้างตามสัญญาให้กับบริษัท A บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 ตามมาตรา 83/6 (1) (หนังสือกรมสรรพากรที่
กค 0802/3488 ลงวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2539)
5. การให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และมิได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
กรณีผู้ประกอบการซึ่งได้ให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ
และมิได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
ไม่ถือว่าการให้บริการนั้นเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร ตามมาตรา 77/2
วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร อันเป็นกิจกรรมที่ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
(Out-Out: Out of VAT Scope)
เพราะเป็นบริการที่ได้ให้ในต่างประเทศ และได้ใช้บริการนันในต่างประเทศ ผู้ประกอบการดังกล่าวไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
82/13 แห่งประมวลรัษฎากร
ผู้จ่ายเงินค่าบริการจึงไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6
(2) แห่งประมวลรัษฎากร (ข้อ 6 ของคำสั่งคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 104/2544)
ตัวอย่าง
ตามคำสั่งคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 104/2544
บริษัท
ก จำกัด ประกอบกิจการขายสินค้า ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศให้เป็นนายหน้าติดต่อหาลูกค้าในต่างประเทศ
ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและมิได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
บริษัท ก จำกัด ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) (ข้อ 6
(1) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 104/2544)
บริษัท
ข จำกัด ประกอบกิจการประเภทธุรกิจหลักทรัพย์
ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากธนาคารในต่างประเทศ โดยบริษัท ข จำกัด
ได้ว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศแห่งหนึ่งเป็นตัวแทนในการจัดหาแหล่งเงินกู้
ซึ่งบริษัท ข จำกัดจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้แก่ตัวแทน ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและมิได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
บริษัท ข จำกัด ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) (ข้อ 6
(2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 104/2544)
บริษัท
ค จำกัด ประกอบกิจการผลิตสินค้า ได้ทำสัญญาแต่งตั้งบริษัทในต่างประเทศเป็นตัวแทนในการชำระราคาค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายในต่างประเทศ
โดย ตัวแทนต้องจ่ายเงินทดรองแทนบริษัทฯ ไปก่อนและเรียกเก็บเงินคืนจากบริษัทฯ
พร้อมกับ เรียกเก็บค่าบริการ
ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและมิได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
บริษัท ค จำกัด ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) (ข้อ 6
(3) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 104/2544)
บริษัท
ง จำกัด ประกอบกิจการโรงแรม
ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศให้ดำเนินการส่งเสริมการขาย การตลาด โฆษณา
และรับจองห้องพัก
ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและมิได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
บริษัท ง จำกัด ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) (ข้อ 6
(4) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 104/2544)
สถานีโทรทัศน์ในต่างประเทศรับจ้างโฆษณาสินค้าทางโทรทัศน์ในต่างประเทศ
โดยมีรายได้จากการรับจ้างโฆษณาสินค้าทางโทรทัศน์จากผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย
สินค้าทั้งในและนอกประเทศ
ซึ่งมีผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายสินค้าในประเทศไทยได้ว่าจ้างโฆษณาดังกล่าวด้วย
ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและมิได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายสินค้าในประเทศไทยไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ภ.พ.36) (ข้อ 6 (5) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 104/2544)
บริษัท
จ จำกัด
ว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศจัดทำโฆษณาลงในนิตยสารสวัสดีที่มีผู้โดยสารอ่านบนเครื่องบินซึ่งมีทั้งสายการบินในประเทศและต่างประเทศ
ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและมิได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
บริษัท จ จำกัด ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) (ข้อ 6
(6) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 104/2544)
บริษัท
ฉ จำกัด ว่าจ้างบริษัทในต่างประเทศลงพิมพ์โฆษณาในนิตยสาร (Magazine)
ในต่างประเทศ ซึ่งมีการขายนิตยสารดังกล่าวในประเทศไทยด้วย
ถือเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศและมิได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
บริษัท ฉ จำกัด ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) (ข้อ 6
(7) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 104/2544)
6. ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
83/6 แห่งประมวลรัษฎากร
การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70
แห่งประมวลรัษฎากร
เนื่องจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย
แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินจากแหล่งเงินได้ในประเทศไทย ได้ตามมาตรา 40
(2)(3)(4)(5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย
และการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร มีความสัมพันธ์กันใน
4 ลักษณะดังนี้
6.1 รายการจ่ายเงินได้ที่ต้องทั้งคำนวณหักภาษีเงินได้
ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา
83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
6.1.1 เงินได้ตามมาตรา 40
(2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งจ่ายให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งอยู่ในประเทศที่ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย
ในส่วนที่เป็น
(1) ค่านายหน้าเนื่องจากการหาลูกค้าในประเทศไทย
(2) เงินได้จากการรับทำงานให้
6.1.2 เงินได้ตามมาตรา 40 (3)
แห่งประมวลรัษฎากร เงินได้ที่เป็นค่าแห่งกู๊ดวิลล์
ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น ซึ่งจ่ายให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในประเทศที่ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย หรือไม่ก็ตาม
6.1.3 เงินได้ตามมาตรา 40
(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ค่าเช่าทรัพย์สินเพื่อนำมาใช้งานในประเทศไทย
ซึ่งจ่ายให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งอยู่ในประเทศที่ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย
6.1.4 เงินได้ตามมาตรา 40 (6)
แห่งประมวลรัษฎากร เงินได้จากวิชาชีพอิสระ ซึ่งจ่ายให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งอยู่ในประเทศที่ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย
เว้นแต่ เงินได้จากการประกอบโรคศิลปะ ค่าว่าความ และค่าสอบบัญชี
6.2 รายการจ่ายเงินได้ที่ไม่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้
ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา
83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
6.2.1 เงินได้ตามมาตรา 40 (2)
แห่งประมวลรัษฎากร
ซึ่งจ่ายให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย
ในส่วนที่เป็น
(1) ค่านายหน้าเนื่องจากการหาลูกค้าในประเทศไทย
(2) เงินได้จากการรับทำงานให้
ซึ่งเข้าลักษณะเป็น
“กำไรจากธุรกิจ” ตามอนุสัญญาภาษีซ้อน ที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร
6.2.2 เงินได้ตามมาตรา 40 (5)(ก)
แห่งประมวลรัษฎากร ค่าเช่าทรัพย์สินเพื่อนำมาใช้งานในประเทศไทย ซึ่งจ่ายให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย
โดยทั่วไป เข้าลักษณะเป็น “กำไรจากธุรกิจ”
ที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร เว้นแต่ ตามอนุสัญญาภาษีซ้อนกำหนดให้
ค่าสิทธิในการใช้ทรัพย์สิน ถือเป็นรายการเงินได้ “ค่าสิทธิ” (Royalty)
ซึ่งรวมอยู่ในรายการจ่ายเงินได้ตามข้อ 6.1.2 ข้างต้น
6.2.3 เงินได้ตามมาตรา 40 (6)
แห่งประมวลรัษฎากร เงินได้จากวิชาชีพอิสระ
ซึ่งจ่ายให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย
เว้นแต่ เงินได้จากการประกอบโรคศิลปะ ค่าว่าความ และค่าสอบบัญชี
6.3 รายการจ่ายเงินได้ที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้
ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ไม่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
6.3.1 เงินได้ตามมาตรา
40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
ซึ่งจ่ายให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งอยู่ในประเทศที่ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย
ในส่วนที่เป็น
(1)
ค่านายหน้าเนื่องจากการหาลูกค้าในต่างประเทศ
(2) ค่าธรรมเนียมการเป็นตัวแทนในการจัดหาแหล่งเงินกู้ในต่างประเทศ
(3) ค่าบริการการเป็นตัวแทนในการชำระราคาค่าสินค้าในต่างประเทศ
6.3.2 เงินได้ตามมาตรา
40 (4)(ก)-(ช) แห่งประมวลรัษฎากร “ผลได้จากทุน” (Capital Gain) ซึ่งจ่ายให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั้งที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย
และมิได้ตั้งอยู่ในประเทศที่มี่อนุสัญญาภาษีซ้อนกั้บประเทศไทย เนื่องเพราะเป็นกิจกรรมทีไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
6.2.3 เงินได้ตามมาตรา 40 (6)
แห่งประมวลรัษฎากร เงินได้จากวิชาชีพอิสระ ที่เป็นเงินได้จากการประกอบโรคศิลปะ
ค่าว่าความ และค่าสอบบัญชี
ซึ่งจ่ายให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งอยู่ในประเทศที่ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย
6.4 รายการจ่ายเงินได้ที่ไม่ต้องทั้งคำนวณหักภาษีเงินได้
ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
6.4.1 เงินได้ตามมาตรา 40 (4)(ข)
แห่งประมวลรัษฎากร “เงินปันผล” ที่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ
และมิได้มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ในกรณีดังต่อไปนี้
(1)
บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ได้จ่ายและผู้รับเงินปันผลได้รับในระหว่างระยะเวลาที่ผู้ได้รับการส่งเสริม
ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยต้องเป็นเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่านั้น
(2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
ที่ประกอบกิจการโรงเรียนเอกชน หรือกิจการสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
แต่ไม่รวมถึงกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการโรงเรียนเอกชนนอกระบบประเภทกวดวิชาที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
โดยต้องเป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการประกอบกิจการดังกล่าว
(3) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
ที่ประกอบกิจการสถานฝึกอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานของลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นหรือของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน
โดยต้องเป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการประกอบกิจการดังกล่าว
6.2.3 เงินได้ตามมาตรา
40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร เงินได้จากวิชาชีพอิสระ
ที่เป็นเงินได้จากการประกอบโรคศิลปะ ค่าว่าความ และค่าสอบบัญชี
ซึ่งจ่ายให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย
ตารางสรุปการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
และการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร
รายการจ่ายเงินได้ ตามมาตรา 40 |
การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย |
การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม |
|
DTA |
Non DTA |
||
1.
มาตรา 40 (2) - ค่านายหน้า (Commission) |
- ถือเป็นกำไรจากธุรกิจ
ไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย |
- หักภาษีเงินได้
ณ ที่จ่าย 15% |
- นำส่ง กรณีใช้บริการในไทย - ไม่นำส่ง กรณีไม่ใช้บริการในไทย
|
- เงินได้จากการรับทำงานให้ |
- ถือเป็นกำไรจากธุรกิจ ไม่ต้องหักภาษีเงินได้
ณ ที่จ่าย |
- หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย 15% |
- นำส่ง
กรณีใช้บริการในไทย - ไม่นำส่ง กรณีไม่ใช้บริการในไทย เช่น การฝึกอบรมในต่างประเทศ |
2. เงินได้ตามมาตรา 40 (3) |
- หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไม่เกิน
15% มีการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
|
- หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย 15% |
- นำส่ง กรณีใช้บริการในไทย - ไม่นำส่ง กรณีจ่ายค่ากรรมสิทธิ์ในสินค้า |
3. เงินได้ตามมาตรา 40 (4)(ก) |
- หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย 15%
|
- หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย 15% |
- ไม่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม |
4. เงินได้ตามมาตรา 40 (4)(ข) |
- หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย 10%
|
- หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย 10% |
- ไม่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม |
5. เงินได้ตามมาตรา 40 (5)(ก) |
- ถือเป็นกำไรจากธุรกิจ ไม่ต้องหักภาษีเงินได้
ณ ที่จ่าย |
- หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย 15% |
- นำส่ง กรณีใช้บริการในไทย |
6. เงินได้ตามมาตรา 40 (6) |
- ถือเป็นกำไรจากธุรกิจ ไม่ต้องหักภาษีเงินได้
ณ ที่จ่าย |
- หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย 15% |
- นำส่ง กรณีใช้บริการในไทย |
7. เงินได้ตามมาตรา 40 (8) - ค่าโฆษณา |
- ไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่าย |
- ไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่าย |
- นำส่ง กรณีใช้บริการในประเทศไทย
- ไม่ต้องนำส่ง กรณีไม่ได้ใช้บริการในประเทศไทย |
7.
บทสรุป
การน่ำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นหน้าที่ที่สำคัญของผู้จ่ายเงินได้
กรณีมีการชำระราคาสินค้าให้แก่
ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งได้เข้ามาประกอบกิจการขายสินค้า
หรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราวตามมาตรา
85/3 แห่งประมวลรัษฎากร หรือชำระราคาค่าบริการให้กับผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศ
และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
ตามหลักการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามหลักปลายทาง (Destination Principle)
เช่นเดียวกับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ
แต่เป็นกรณ๊ที่กรมศุลกากรไม่มีอำนาจในการจัดเก็บอากรขาเข้าในกรณีนี้
กฎหมายจึงกำหนดให้กรมสรรพากรเป็นผู้จัดเก็บโดยกำหนดให้ผูจ้ายเงินมีหน้าที่ยื่นแบบ
ภ.พ.36 เพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียน
ให้มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้นำส่งมาใช้เป็นภาษีซื้อ
เช่นเดียวกับภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า
โดยใช้ใบเสร็จรับเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ทางราชการออกให้เป็นใบกำกับภาษี
สำหรับผู้บริโภคการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
จากการใช้บริการที่ได้ให้ในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการในประเทศไทย
เป็นกรณีที่มีการละเลยกันมาก เป็นเพราะไม่ทราบถึงบทบาทหน้าที่
และอาจเป็นเพราะมีจำนวนเล็กน้อย ยิบย่อย ประกอบกับในปัจจุบันทางราชการไม่มีข้อมูลในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มีหลายกรณีที่การจ่ายเงินได้ไปต่างประเทศไม่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
โดยเฉพาะกิจกรรมที่ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษ๊มูลค่าเพิ่ม อาทิ
การจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) แห่งประมวลรัษฎากร หรือการใช้บริการที่ได้ให้ในต่างประเทศ
และได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ
การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรณีใช้บริการที่ได้ให้ในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการในประเทศไทย ตามแบบ
ภ.พ.36 มีหลายกรณีที่ต้องนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามแบบ ภ.ง.ด.54 ตามมาตรา
70 แห่งประมวลรัษฎากร ควบคู่กันไป
แต่ก็มีอีกหลายกรณีที่ไม่ต้องนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.54
จึงต้องทำความเข้าใจและใช้ความระมัดระวังมิให้เกิดข้อผิดพลาด
การนำภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่ได้นำส่งไว้ตามแบบ
ภ.พ.36 มาใช้เป็นเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นกรณีที่ผู้ประกอบการสามารถพิสูจน์ที่มาของภาษีซื้อต่อเจ้าพนักงานประเมินและได้รับคืนภาษีได้โดยสะดวก