ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

การจ่ายเงินปันผลของบริษัทจำกัด

บทความวันที่ 5 ธ.ค. 2561  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 92308 ครั้ง

การจ่ายเงินปันผลของบริษัทจำกัด


        เกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจำกัดให้แก่ผู้ถือหุ้น 
        1. กฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผล
            1.1 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สำหรับบริษัทจำกัดที่มิใช่บริษัทมหาชน 

                  การจ่ายเงินปันผล   
                  “มาตรา 1200 การแจกเงินปันผลนั้น ต้องคิดตามส่วนจำนวน ซึ่งผู้ถือหุ้น ได้ส่งเงินแล้วในหุ้นหนึ่ง ๆ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในเรื่องหุ้นบุริมสิทธิ
                  มาตรา 1201 ห้ามมิให้ประกาศอนุญาตเงินปันผล นอกจากโดยมติของที่ประชุมใหญ่ 

                      กรรมการอาจจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้แก่ผู้ถือหุ้น ได้เป็นครั้งเป็นคราว ในเมื่อปรากฏแก่กรรมการว่าบริษัทมีกำไรสมควรพอที่จะทำเช่นนั้น 

                      ห้ามมิให้จ่ายเงินปันผลจากเงินประเภทอื่นนอกจากเงินกำไร ถ้าหากบริษัทขาดทุน ห้ามมิให้จ่ายเงินปันผลจนกว่าจะได้แก้ไขให้หายขาดทุนเช่นนั้น 

                      “การจ่ายเงินปันผลนั้นให้กระทําภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่หรือกรรมการลงมติ แล้วแต่กรณี”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 21/2560 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่ออํานวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2560 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป)  

                  มาตรา 1202 ทุกคราวที่แจกเงินปันผล บริษัทต้องจัดสรรเงินไว้เป็นทุน สำรองอย่างน้อยหนึ่งในยี่สิบส่วนของจำนวนผลกำไร ซึ่งบริษัททำมาหาได้จาก กิจการของบริษัท จนกว่าทุนสำรองนั้นจะมีจำนวนถึงหนึ่งในสิบของจำนวนทุน ของบริษัทหรือมากกว่านั้น แล้วแต่จะได้ตกลงกำหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัท
                      ถ้าได้ออกหุ้นโดยคิดเอาราคาเกินกว่าที่ปรากฏในใบหุ้นเท่าใด จำนวนที่คิดเกินนี้ท่านให้บวกทบเข้าในทุนสำรองจนกว่าทุนสำรองจะมีจำนวนเท่าถึงที่ กำหนดไว้ในวรรคก่อน 
                  มาตรา 1203 ถ้าจ่ายเงินปันผลไปโดยฝ่าฝืนความในมาตราทั้งสองซึ่ง กล่าวมาไซร้ เจ้าหนี้ทั้งหลายของบริษัทชอบที่จะเรียกเอาเงินจำนวนซึ่งได้ แจกไปคืนมายังบริษัทได้ แต่ว่าถ้าผู้ถือหุ้นคนใดได้รับเงินปันผลไปแล้วโดย สุจริต ท่านว่าจะกลับบังคับให้เขาจำคืนนั้นหาได้ไม่ 
                  "มาตรา 1204 การบอกกล่าวว่าจะปันผลอย่างใด ๆ อันได้อนุญาตให้จ่ายนั้น ให้บริษัทมีจดหมายบอกกล่าวไปยังตัวผู้ถือหุ้นที่ปรากฏชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหุ้นทุกคน แต่ในกรณีที่บริษัทมีหุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ ให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวด้วย” 
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพรบ. แก้ไขเพิ่มเติม ปพพ. (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2551) 
                  มาตรา 1205 เงินปันผลนั้น แม้จะค้างจ่ายอยู่ ท่านว่าหาอาจจะคิดเอา ดอกเบี้ยแก่บริษัทได้ไม่” 

                  การประชุมใหญ่ 

                  มาตรา 1175 คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ ให้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่เป็นคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษ ให้กระทำการดังว่านั้นก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน

                     คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น ให้ระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากัน และในกรณีที่เป็นคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษ ให้ระบุข้อความที่จะนำเสนอให้ลงมติด้วย  

            1.2 ตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด
                  "มาตรา 115 การจ่ายเงินปันผลจากเงินประเภทอื่นนอกจากเงินกำไรจะกระทำมิได้ ในกรณีที่บริษัทยังมียอดขาดทุนสะสมอยู่ ห้ามมิให้จ่ายเงินปันผล 
                      เงินปันผลนั้นให้แบ่งตามจำนวนหุ้น หุ้นละเท่าๆ กัน เว้นแต่จะมีข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในเรื่องหุ้นบุริมสิทธิ โดยการจ่ายเงินปันผลต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น 
                     เมื่อข้อบังคับของบริษัทกำหนดให้ทำได้ คณะกรรมการอาจจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้เป็นครั้งคราว เมื่อเห็นว่าบริษัทมีกำไรสมควรพอที่จะทำเช่นนั้นและเมื่อได้จ่ายเงินปันผลแล้ว ให้รายงานให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมคราวต่อไป 
การจ่ายเงินปันผลนั้นให้กระทำภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้น หรือคณะกรรมการลงมติ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ให้แจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้ถือหุ้นกับให้โฆษณาคำบอกกล่าวการจ่ายเงินปันผลนั้นในหนังสือพิมพ์ด้วย 
                  มาตรา 116 บริษัทต้องจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีส่วนหนึ่งไว้เป็นทุนสำรองไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของกำไรสุทธิประจำปีหักด้วยยอดเงินขาดทุนสะสมยกมา (ถ้ามี) จนกว่าทุนสำรองนี้จะมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของทุนจดทะเบียน เว้นแต่บริษัทจะมีข้อบังคับหรือกฎหมายอื่นกำหนดให้ต้องมีทุนสำรองมากกว่านั้น 
                  มาตรา 117 ในกรณีที่บริษัทยังจำหน่ายหุ้นไม่ครบตามจำนวนที่จดทะเบียนไว้ หรือบริษัทได้จดทะเบียนเพิ่มทุนแล้ว บริษัทจะจ่ายเงินปันผลทั้งหมดหรือบางส่วน โดยออกเป็นหุ้นสามัญใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นโดยได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นก็ได้ 
                  มาตรา 118 ในกรณีที่บริษัทจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นโดยฝ่าฝืนมาตรา 115 มาตรา 116 หรือมาตรา 117 เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ของบริษัทเสียเปรียบ เจ้าหนี้จะฟ้องผู้ถือหุ้นให้คืนเงินปันผลที่ได้รับไปแล้วก็ได้ โดยต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงมติแต่ผู้ถือหุ้นคนใดได้รับเงินปันผลไปแล้วโดยสุจริตจะบังคับให้คืนเงินมิได้ 
                  มาตรา 119 เมื่อได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นแล้ว บริษัทจะโอนเงินสำรองอื่นที่มิใช่ทุนสำรองตามมาตรา 51 หรือมาตรา 116 เพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมของบริษัทก็ได้”
          1.3 ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 
                เนื่องจากบริษัทจดทะเบีบนในตลาดหลักทรัพย์มีสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ข้อบัญญัติเกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผลก็ให้เป็นไปเช่นเดียวกับกรณีบริษัทมหาชนจำกัดนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามทางตลาดหลักทรัพย์ได้สรุปหลักเกณฑ์การจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนไว้ตามเวบไซต์ดังต่อไปนี้ 
เดรดิต: http://www.set.or.th/…/regul…/files/20130517_Dividend_v2.pdf


        2. ในทางภาษีอากร 
            เกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผลของบริษัทฯ นั้น มีข้อควรคำนึงดังนี้
            2.1 บริษัทฯ พึงต้องจ่ายเงินปันผลจากกำไรสะสมทางบัญชีเท่านั้น กรณีมีผลขาดทุนสะสม ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเนื่องจากการใดบริษัทฯ ย่อมไม่มีสิทธิจ่ายเงินปันผล ซึ่งในการจ่ายเงินปันผลดังกล่าว บริษัทฯ ไม่ต้องนำจำนวนกำไรทางภาษีเงินได้นิติบุคคลที่มีเพื่อการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรมาพิจารณา เว้นแต่เรื่องของอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ ให้พิจารณาตาม 2.2 


                  บริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ต้องการจ่ายเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบคุคลนั้น ต้องจ่ายจากกำไรสะสมในทางบัญชีเท่านั้น ไม่อาจนำกำไรสุทธิในทางภาษีอากรมาจ่ายเป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรได้ เนื่องเพราะกำไรสุทธิในทางภาษีอากรมีขึ้นเพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษ๊เงินได้นิติบุคคลเท่านั้น 
                  ดังนั้น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจึงต้องจำแนกกำไรสุทธิที่บันทึกในบัญชีกำไรสะสมให้ชัดแจ้งว่า เป็นกำไรสุทธิที่ได้ผ่านการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ และได้จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราเท่าใด ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 118/2545 และการใช้สิทธิในเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ของผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน 


                   เว้นแต่ การจ่ายเงินปันผลของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 

ซึ่งได้รับยกเว้นเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนฯ บริษัทฯ ต้องจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิทางภาษี และเงินปันผลดังกล่าว จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตลอดระยะเวลาที่ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนฯ เมื่อบริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 7 ของประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 ดังนี้

                     (1) ต้องเป็นเงินปันผลที่ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเป็นผู้จ่าย และผู้รับเงินปันผลได้รับในระหว่างระยะเวลาที่ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

                     (2) ต้องเป็นเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ นิติบุคคลเท่านั้น

                     (3) กรณีผู้ได้รับการส่งเสริมประกอบกิจการทั้งที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ผู้ได้รับการส่งเสริมจะจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิที่เกิดจากกิจการใด เป็นจำนวนเท่าใดก็ได้ แต่ผู้รับเงินปันผลจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เฉพาะเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เท่านั้น

                    กรณีที่ผู้ได้รับการส่งเสริมจ่ายเงินปันผลโดยมิได้ระบุว่าเงินปันผลดังกล่าวจ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการใด ให้เฉลี่ยเงินปันผลดังกล่าวตามส่วนของกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลกับกำไรสุทธิของกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (หนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากรเลขที่ กค 0702/5562 ลงวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2551 (https://www.rd.go.th/39288.html)

                 
            2.2 ให้จำแนกจำนวนกำไรสะสมที่ได้ผ่านการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นรายรอบระยะเวลาบัญชี โดยจำแนกเป็น 
                  (1) กำไรสะสมในส่วนที่ไม่ผ่านการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ไม่ว่าจะเกิดจากการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีใดๆ 
                  (2) กำไรสะสมในแต่ละช่วงอัตราภาษี โดยหักจำนวนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บริษัทฯ ได้ชำระออกไป คงเหลือสุทธิเป็นจำนวนเทาใดในแต่ละขั้นอัตราภาษีเงิน ได้นิติบุคคล 
                  (3) กรณีที่มีรายการปรับปรุงกำไรสุทธิทางภาษีอากรให้มีจำนวนมากกว่ากำไรสุทธิทางบัญชี อาทิ การบวกกลับรายจ่ายต้องห้าม การบวกเพิ่มรายได้ที่ไม่เป็นไปตามราคาตลาด ถือได้ว่าบริษัทฯ ไม่มีจำนวนกำไรสุทธิที่จะนำไปจ่ายเงินปันผลสำหรับกำไรสุทธิในส่วนนี้ (เท่ากับกิจการต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรที่ไม่เกิดขึ้นจริง (เสียฟรี) ตามหลักเกณฑ์แห่งประมวลรัษฎากร)
            2.3 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ มีสิทธิที่จะกำหนดเลือกจ่ายเงินปันผลจากจำนวนกำไรสะสมที่ผ่านการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอัตราใด ของรอบระยะเวลาบัญชีใดๆ ก็ได้ โดยให้ระบุอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บิรษัทฯ ได้จ่ายชำระไว้ในหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ที่จายให้แก่ผู้ถือหุ้นที่เป็นผู้มีภูมิลำเนาในประเทศไทย หรือเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 62) รวมทั้งคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 119/2545 


                 บริษัทฯ มีสิทธิที่จะเลือกจ่ายเงินปันผลจากกำไรสะสมก้อนใดก่อนหลังก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเฉลี่ยเงินปันผลตามสัดส่วนของกำไรสะสมในแต่ละอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เพราะได้ทราบโดยชัดแจ้งว่า เงินปันผลจากกำไรสุทธิที่บริษัทฯ จะนำมาจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นนั้น ได้มีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไปก่อนแล้วในอัตราเท่าใด เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิที่คำนวณได้จากเงินปันผลที่ได้รับมาจากบริษัทในเครือโดยระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย อย่างชัดเจนว่า เงินปันผลที่จ่ายนั้น จำนวนใดมาจากเงินปันผลที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราเท่าใดให้แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ผู้ถือหุ้นดังกล่าวย่อมมีสิทธิได้รับเครดิตภาษีเงินปันผลตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร โดยอนุโลมตามข้อ 3 ของหนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากรเลขที่ กค 0706/2156 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2549 


                 เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้จาก “กำไรสุทธิ” นั้น ตามความเข้าใจ คือ รัฐจัดเก็บภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิเป็นสองระดับ คือ 
                 ระดับที่หนึ่ง จึดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ในอดีตก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 ได้เคยจัดเก็บภาษ๊เงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิ แต่ในปัจจุบัน โดยทั่วไปจัดเก็บในอัตราร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ หากจะจัดเก็บในอัตราที่ต่ำกว่าก็เป็นกรณีที่รัฐส่งเสริมกิจการประเภทนั้น เป็นกรณีพิเศษ แม้จะเป็นการจัดเก็บภาษีจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แต่ทว่าในทางความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่เสียภาษีเงินได้นิติบคุคล ได้แก่ ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือเจ้าของกิจการนั่นเอง 
                ระดับที่สอง จัดเก็บจาก “เงินปันผล” อันเป้นการนำเอากำไรสะสมภายหลังการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลมาจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยกำหนดให้คำนวณหักภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 10 ของเงินปันผล ซึ่งถือเป็นการจัดเก็บภาษีเงินได้ “ซ้ำซ้อน” โดยถือเป็นความซ้ำซ้อนเชิงเศรษฐกิจ (Economic Double Taxation)
                ประการหนึ่ง รัฐจึงเปิดทางให้ผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 40 (4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร มีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่าที่ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้ไว้แล้ว ในประการนี้ เท่ากับรัฐได้รับภาษีเงินได้ไปแล้ว 2 ระดับ คือ 20% ของกำไรสุทธิ คงเหลืออีก 80% รัฐจัดเก็บภาษีเงินนได้หัก ณ ที่จายอีก 10% คิดเป็น 8% ของกำไรสุทฺธิ รวมเป็นจำนวนภาษีเงินได้ที่รัฐจัดเก็บไปในกรณีนี้คือ 20% + 8% = 28% ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเพียงพอแล้ว รัฐจึงกำหนดให้เลือกเสียภาษีเงินได้เท่าที่ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายดังกล่าว ตามมาตรา 48 (3) แห่งประมวลรัษฎากร (Final Tax) 
                อีกประการหนึ่ง เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิ รัฐได้บัญญัติมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ให้เครดิตภาษีแก่ผู้มีเงินได้ที่เป็นผู้มีภูมิลำเนาในประเทศไทย หรือเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย เพื่อการขจัดความซ้ำซ้อน โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ผู้จ่ายเงินได้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ชัดเจนว่าเงินได้ที่จ่ายนั้นจำนวนใดได้มาจากกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราใด ดังนี้
                “มาตรา 47 ทวิ ให้ผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40 (4)(ข) ซึ่งได้รับจากบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยได้รับเครดิตในการคำนวณภาษี โดยให้นำอัตราภาษีเงินได้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ต้องเสียหารด้วยผลต่างของหนึ่งร้อยลบด้วยอัตราภาษีเงินได้ดังกล่าวนั้น ได้ผลลัพธ์เท่าใดให้คูณด้วยจำนวนเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับ ผลลัพธ์ที่ได้เป็นเครดิตในการคำนวณภาษี ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินได้ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้หลายอัตรา ผู้จ่ายเงินได้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ชัดเจนว่าเงินได้ที่จ่ายนั้นจำนวนใดได้มาจากกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราใด 
                      เครดิตภาษีที่คำนวณได้ตามความในวรรคหนึ่ง ให้นำมารวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามเกณฑ์ในมาตรา 48 เป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใด ให้นำเครดิตภาษีที่คำนวณได้ดังกล่าวหักออกจากภาษีที่ต้องเสีย ถ้ายังขาดหรือเหลือเท่าใดให้ผู้มีเงินได้เสียภาษีสำหรับจำนวนที่ขาด หรือมีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่เหลือนั้นคืน
                     ความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมิให้ใช้บังคับแก่ผู้มีเงินได้ซึ่งมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย และมิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย
                     ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายเงินได้แสดงข้อความที่กำหนดให้ต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามวรรคหนึ่งไม่ถูกต้อง อันเป็นเหตุให้เครดิตภาษีที่คำนวณได้มีจำนวนเกินกว่าที่ผู้มีเงินได้พึงได้รับ ให้ผู้จ่ายเงินได้รับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้เท่ากับจำนวนเงินที่ได้รับคืนเกินไป หรือที่ชำระไว้ไม่ครบ และถ้าผู้จ่ายเงินได้หรือผู้มีเงินได้ไม่ชำระเงินดังกล่าวภายในเจ็ดวันนับแต่ได้รับหนังสือแจ้งจากเจ้าพนักงานประเมิน ให้ถือว่าเงินจำนวนที่เรียกให้ชำระเป็นภาษีอากรค้าง ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบพบว่าเครดิตภาษีที่คำนวณได้มีจำนวนน้อยกว่าที่ผู้มีเงินได้พึงได้รับ ให้แจ้งผู้มีเงินได้ทราบถึงสิทธิที่จะได้รับเงินที่เหลือนั้นคืนตามกฎหมาย”
                อนึ่ง หากบริษัทฯ ไม่ดำเนินการดังกล่าว เพราะเหตุที่บริษัทฯ ไม่สามารถทราบโดยชัดแจ้งว่าจ่ายจากเงินกำไรหลังจากเสียภาษีในอัตราใด บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้ต้องเฉลี่ยเงินปันผลตามส่วนของกำไรหลังจากเสียภาษีในแต่ละอัตราภาษี และจะต้องระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ชัดเจนว่าเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่จ่ายนั้นจำนวนใดได้มาจากกิจการที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราใด ตามข้อ 13 วรรคสองของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 119/2545