ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ความแตกต่างของเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร

บทความวันที่ 3 ก.พ. 2562  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 80275 ครั้ง

ความแตกต่างของเงินได้พึงประเมินตาม

มาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร  

                        

บทนำ

เป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่า เงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร หมายถึง เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีเงินได้ โดยจะต้องเป็นเงินได้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากหน้าที่งานที่ทำ หรือเนื่องจากทรัพย์สิน หรือเนื่องจากกิจการที่ทำ ซึ่งได้รับ หรือเสมือนหนึ่งได้รับแล้ว (Constructive receipt) ในระหว่างปีภาษี ทั้งนี้ ไม่ว่าเงินได้นั้นจะเกิดจากแหล่งเงินได้ในประเทศไทย หรือจากแหล่งเงินได้ในต่างประเทศก็ตาม สาเหตุที่กฎหมายกำหนดให้เรียกเงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีเงินได้ว่า เงินได้พึงประเมินก็เนื่องมาจาก ประการที่หนึ่ง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดอยู่ในประเภทภาษีอากรประเมิน (Assessment Tax) ซึ่งกำหนดให้ผู้ต้องเสียหรือผู้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีหน้าที่ยื่นรายการประเมินตนเองว่า มีเงินได้หรือจ่ายเงินได้ที่เข้าลักษณะพึงต้องเสียภาษีเงินได้เป็นจำนวนเท่าใด เมื่อได้คำนวณตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่กำหนด ผู้ต้องเสียภาษีเกิดภาระภาษีเงินได้เป็นจำนวนเท่าใด และให้เจ้าพนักงานประเมินเป็นผู้ประเมินความถูกต้องของจำนวนเงินภาษี และการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีอากรของผู้ต้องเสียภาษีเงินได้นั้น ประการที่สอง เป็นคำที่แปลตรงตัวหรือทับศัพท์จากคำในภาษาอังกฤษว่า “Assessable Income” และประการที่สาม การแสดงเงินได้พึงประเมินนั้น ต้องแสดงจำนวนที่ “ถูกต้อง” เท่านั้น เพราะคำว่า “ประเมิน” ในที่นี้ หมายความ “ที่ถูกต้อง และครบถ้วน”   

ในกรณีที่กฎหมายจำแนกประเภทเงินได้พึงประเมินออกเป็นถึง 8 ประเภทนั้น มีเหตุผลเนื่องมาจากเงินได้พึงประเมินมีบ่อเกิดของเงินได้พึงประเมินที่แตกต่างกัน และมีค่าใช้จ่ายที่ก่อให้เกิดเป็นเงินได้พึงประเมินที่แตกต่างกันไป ซึ่งตามหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามนัยมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดบ่อเกิดของเงินได้ไว้ดังนี้

1. บ่อเกิดจากหน้าที่งานที่ทำ ได้แก่ เงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นเนื่องจากการจ้างแรงงาน หน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำที่กระทำโดยบุคคลธรรมดาคนเดียว หรือจากการรับทำงานให้ที่อาจกระทำโดยบุคคลธรรมดาคนเดียวหรือห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

2. บ่อเกิดจากทรัพย์สิน ได้แก่ เงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นเนื่องจากทรัพย์สินทางปัญญา อาทิ ลิขสิทธิ์ กู๊ดวิลล์ สิทธิบัตร หรือเงินได้ในส่วนที่เป็นผลได้จากทุน (Capital Gain)

3. บ่อเกิดจากกิจการที่ทำ ได้แก่ เงินได้จากการประกอบธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การให้บริการ หรือการอื่นใดที่มุ่งประสงค์ในทางการค้าหรือหากำไร

การจำแนกประเภทเงินได้ตามบ่อเกิดของเงินได้อาจแสดงเป็นตารางได้ดังนี้

บ่อเกิดเงินได้

ประเภทเงินได้

1. เงินได้เนื่องจากหน้าที่งานที่ทำ

ประเภทที่ 1 เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน

ประเภทที่ 2 เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้

2. เงินได้เนื่องจากทรัพย์สิน

ประเภทที่ 3 ทรัพย์สินทางปัญญา อาทิ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น

ประเภทที่ 4 เงินได้ที่เป็นผลได้จากทุน (Capital Gain) ทั้งหลาย

3. เงินได้เนื่องจากกิจการที่ทำ

ประเภทที่ 5 เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สิน

ประเภทที่ 6 เงินได้จากวิชาชีพอิสระ

ประเภทที่ 7 เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ

ประเภทที่ 8 เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตรกรรม การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่นใดนอกจากที่ระบุในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7 แล้ว

 

ในบทความนี้ จะได้นำเงินได้พึงประเมินเฉพาะที่เกิดขึ้นเนื่องจาก “หน้าที่งานที่ทำ” ซึ่งจำแนกรายละเอียดเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) มากล่าวให้เห็นถึงประเด็นความแตกต่างของทั้งสองประเภทเงินได้ในทุกแง่ทุกมุมรวมทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้อกับภาษีอากรประเภทอื่นๆ ด้วย อนึ่งบทบัญญัติที่อ้างถึงในบทความนี้ ถ้ามิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น ให้หมายความถึงบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร

 

1. เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1)

เงินได้ประเภทที่ 1 หรือเงินได้พึงประเมินเนื่องจากการจ้างแรงงาน ตามมาตรา 40 (1) อาจจำแนกรายละเอียดได้ดังนี้

1.1 บ่อเกิดของเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1

      นอกจากเป็นเงินได้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการจ้างแรงงานแล้ว ในรายละเอียดของการเกิดเงินได้ต้องเป็นไปตามสัญญาจ้างแรงงาน ได้แก่ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งที่เรียกว่า ลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่ บุคคลอีกคนหนึ่งที่เรียกว่า นายจ้าง และ นายจ้างตกลงจะให้สินจ้างแก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ (มาตรา 575 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

      ลักษณะของสัญญาจ้างแรงงานที่สำคัญ คือ

      1.1.1 สัญญาจ้างแรงงาน เป็นนิติกรรมสองฝ่ายระหว่างคู่สัญญาฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้างที่มีการ บัญญัติไว้เป็นเอกเทศในลักษณะจ้างแรงงาน-จ้างทำของ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

      1.1.2 สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ก่อหนี้ให้แก่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายโดยฝ่ายลูกจ้างมีหนี้ที่จะต้องทำงานให้แก่นายจ้าง และนายจ้างมีหนี้ที่จะต้องจ่ายสินจ้าง ให้แก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงาน

             (1) สิทธิของนายจ้าง

                   (ก) นายจ้างมีสิทธิที่จะทำให้ลูกจ้างทำงานตามที่ได้ มีการตกลงกันไว้

                   (ข) นายจ้างมีสิทธิที่จะโอนสิทธิของตนให้แก่บุคคล ภายนอกได้เมื่อลูกจ้างยินยอม                               (ค) นายจ้างมีสิทธิออกคำสั่งและใช้อำนาจบังคับบัญชา โดยชอบด้วยกฎหมาย

                   (ง) นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ถ้าลูกจ้างขาดงาน ไปโดยปราศจากเหตุอันควร

                   (จ) นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ถ้าลูกจ้างให้บุคคล ภายนอกทำงานแทน โดยนายจ้างมิได้ให้ความยินยอม

                   (ฉ) ในกรณีสัญญาไม่มีกำหนดว่าจะจ้างนานเท่าไรนายจ้างมีสิทธิ บอกเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้า

             (2) หน้าที่ของนายจ้าง

                   (ก) นายจ้างต้องจ่ายสินจ้างให้ลูกจ้าง

                   (ข) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 585 บัญญัติว่า "เมื่อมีการจ้างงานสิ้นสุดลงแล้ว ลูกจ้าง ชอบที่จะได้รับใบสำคัญ แสดงว่า ลูกจ้างนั้นได้ทำงานมานานเท่าไร และงานที่ทำนั้น เป็นงานอย่างไร

                   (ค) นายจ้างต้องรับผิดชอบในผลแห่งการละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้ กระทำไปในทางการที่จ้างหรือตามคำสั่ง ของนายจ้าง

             (3) สิทธิของลูกจ้าง

                   (ก) ลูกจ้างมีสิทธิได้รับสินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้นายจ้าง โดยไม่คำนึงว่างานที่มอบหมายให้ลูกจ้างทำนั้น จะได้ผลเป็นประการใด 

                   (ข) ลูกจ้างมีสิทธิให้บุคคลภายนอกทำงานแทนได้เมื่อนายจ้างยินยอม

                   (ค) ลูกจ้างมีสิทธิได้รับใบสำคัญแสดงว่าทำงานมานานแล้ว

                   (ง) ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ถ้าไม่ได้กำหนดว่าจะจ้าง เป็นระยะเวลานานเท่าไร ด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้า

             (4) หน้าที่ของลูกจ้าง

                   (ก) ลูกจ้างมีสิทธิได้รับสินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้นายจ้าง

                   (ข) ลูกจ้างต้องไม่ขาดงานโดยปราศจากเหตุสมควร

                   (ค) ลูกจ้างต้องปฏิบัติตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย (ลูกจ้างไม่มีอิสระในการทำงาน)

      1.1.3 สัญญาจ้างแรงงานไม่มีแบบหรือหลักฐานเป็นหนังสือ กล่าวคือ กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทำตามแบบหรือทำเป็นหนังสือ ฉะนั้นเพียงแต่เจตนาของทั้งสองฝ่ายตรงกัน ก็ถือว่าสัญญาจ้างแรงงานเกิดขึ้นแล้ว

      1.1.4 สัญญาจ้างแรงงานมีสาระสำคัญอยู่ที่ตัวของคู่สัญญา กล่าวคือ คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะโอนสิทธิ และหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานให้ผู้อื่นไม่ได้ นอกจากอีกฝ่ายหนึ่งจะยินยอม ในกรณีเมื่อลูกจ้างตายลง สัญญาจ้างแรงงานย่อมระงับทายาทจะสวมสิทธิ และหน้าที่ตามสัญญาไม่ได้ แต่สำหรับกรณีนายจ้างนั้น หากสัญญาจ้างแรงงานมีสาระสำคัญอยู่ที่ตัวบุคคล ผู้เป็นนายจ้าง สัญญาจ้างย่อมระงับไปเช่นกัน

      ข้อสังเกต สัญญาจ้างแรงงานอาจเป็นความตกลงในการทำงานที่ต้องใช้สติปัญญา นอกจากแรงงานก็ได้ สินจ้างในสัญญาจ้างแรงงานอาจเป็นทรัพย์สินอื่นใด โดยไม่จำกัดเพียงแค่ ในรูปเงินตราเท่านั้น และ ลูกจ้างในที่นี้ไม่ได้หมายความรวมถึง ข้าราชการ และ ลูกจ้างของกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ

1.2 ผู้ที่มีเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน

      คำสำคัญ หรือ Key word ที่ระบุว่าเป็นผู้มีเงินได้จากการจ้างแรงงานตามประมวลรัษฎากร ได้แก่ คำว่า “ลูกจ้าง” อันได้แก่ ลูกจ้างพนักงานทั้งในภาคธุรกิจเอกชน และภาครัฐบาล รวมทั้งองค์การของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นใด

      1.2.1 ผู้มีเงินได้จากการจ้างแรงงานในภาคราชการ อาทิ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตั้งแต่ลูกจ้าง พนักงานข้าราชการ ข้าราชการทุกชั้นจนสูงสุดในระดับปลัดกระทรวง ข้าราชการครูในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ลูกจ้างหรือข้าราชการทหารทุกชั้นยศในทุกเหล่าทัพที่อยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหม ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองบัญชาการทหารสูงสุด จนถึงปลัดกระทรวงกลาโหม ลูกจ้างหรือข้าราชตำรวจในสังกัด ในทุกชั้นยศ

      1.2.2 ผู้มีเงินได้จากการจ้างแรงงานในองค์การของรัฐบาลที่เป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารราชการส่วนจัดหวัด หรือองค์การบริหารราชการส่วนตำบล หรือองค์การของรัฐบาลที่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ อาทิ ลูกจ้าง พนักงานราชการ หรือข้าราชการพลเรือนที่เป็นพนักงานประจำที่มิได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหลาย 

      1.2.3 ผู้มีเงินได้จากการจ้างแรงงานในรัฐวิสาหกิจที่มิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล อาทิ พนักงาน หรือองค์กรอิสระของรัฐบาล ลูกจ้างในรัฐวิสาหกิจทุกระดับชั้นไปจนถึงระดับรองผู้ว่าการ สำหรับระดับผู้ว่าการ หรืออธิการบดี เป็นตำแหน่งที่ต้องสรรหา จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) แต่เข้าเป็นเงินได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ ตามมาตรา 40 (2)

      1.2.4 ผู้มีเงินได้จากการจ้างแรงงานในภาคเอกชน อาทิ ในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เช่น ลูกจ้าง พนักงาน ทุกระดับชั้น ที่มิใช่กรรมการบริหาร

1.3 ลักษณะของเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ซึ่งอาจเรียกชื่อแตกต่างกันไปตามลักษณะแห่งการจ้าง และการจ่ายค่าจ้าง แบ่งเป็น

      1.3.1 ค่าจ้างที่กำหนดจ่ายระยะเวลาที่จ้าง อาทิ เงินเดือน ค่าจ้าง

      1.3.2 ค่าจ้างที่จ่ายเป็นพิเศษ อาทิ เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด ค่าตอบแทนล่วงเวลา

      1.3.3 ค่าจ้างที่จ่ายให้เมื่อออกจากงาน อาทิ บำเหน็จ บำนาญ เงินได้จากการทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

      1.3.4 ประโยชน์เพิ่มพิเศษจากการจ้างแรงงาน อาทิ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า (ดู คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 23/2533 ประกอบ) เงินที่นายจ้างชำระหนี้ใดๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ  

      1.3.5 เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน 

             อนึ่ง รายการเงินได้ต่อไปนี้ เข้าลักษณะเป็นประโยชน์เพิ่มที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงาน หรือเนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ และถือเป็นเงินเพิ่มตลอดปี ตามนัยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 23/2533 ตามหนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802(ก)/8125 ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2535 ดังนี้

             (1) เงินค่าล่วงเวลา  หมายถึง  เงินได้จากการทำงานของพนักงานกะที่ทำงานเกินกว่าพนักงานทำงานปกติที่กำหนดไว้ในแต่ละวัน

             (2) เงินค่าล่วงเวลาตามกะ  หมายถึง  เงินได้จากการทำงานของพนักงานกะที่ทำงานเกินกว่าพนักงานทำงานปกติในรอบระยะเวลาการจ่ายเงินเดือน

             (3) เงินค่าทำงานล่วงเวลาในวันหยุด หมายถึงเงินได้จากการทำงาน ในวันหยุดประจำสัปดาห์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์

             (4) เงินเพิ่มค่าวิชาชีพ หมายถึง เงินที่จ่ายให้แก่ผู้ปฏิบัติงานสายเทคนิค

             (5) เงินเพิ่มค่าวิชาชีพด้านปฏิบัติการ  หมายถึง  เงินที่จ่ายให้แก่ผู้ปฏิบัติงานเฉพาะทาง เช่น สายควบคุมจราจรทางอากาศและงานสื่อสาร

             (6) เงินเพิ่มอื่นๆ เช่น เงิ่นเพิ่มค่าใบอนุญาตพนักงานควบคุมจราจรทางอากาศ  หมายถึง เงินที่จ่ายให้แก่พนักงานควบคุมจราจรทางอากาศที่มีใบอนุญาตพนักงานควบคุมจราจรทางอากาศ

             (7) เงินเบี้ยเลี้ยงสุขภาพ  หมายถึง  เงินที่จ่ายให้พนักงานกะ ซึ่งทำงานในเวลากลางคืน เฉพาะเวลา 18.30 น. ถึง 06.30 น.

             (8) เงินช่วยเหลือการศึกษาบุตร

             (9) เงินช่วยเหลือค่าเครื่องแบบ

             (10) เงินเพิ่มสู้รบ

             เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายแทนพนักงานทุกคนเป็นการทั่วไปตามระเบียบของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล นายจ้างมีสิทธินำเบี้ยประกันชีวิตที่จ่าย แทนพนักงานมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร และเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่นายจ้างจ่ายแทนพนักงานถือเป็นประโยชน์เพิ่มของพนักงานเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร และผลประโยชน์ที่นายจ้างได้รับตามกรมธรรม์นายจ้างจะต้องบันทึกบัญชีเป็นรายได้ เมื่อนายจ้างได้ส่งมอบผลประโยชน์ให้พนักงานตามระเบียบสวัสดิการถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้าง นายจ้างมีสิทธินำผลประโยชน์ที่ส่งมอบให้พนักงานมาถือเป็นรายจ่ายได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ผลประโยชน์ที่พนักงานได้รับถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0706/9255 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2547 

 

2. เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2)

เงินได้ประเภทที่ 2 อาจจำแนกรายละเอียดได้ดังนี้

2.1 ผู้มีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 ได้แก่ 

      2.1.1 ผู้มีเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ อาทิ

             (1) ผู้มีเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำทางการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล สมาชิกสภาตำบล เป็นต้น

             (2) ผู้มีเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำองค์การของรัฐบาล เช่น องค์กรอิสระ หรือมหาวิทยาลัยของรัฐ เช่น กรรมการบริหารองค์กรอิสระ ผู้ว่าการองค์กรอิสระ อธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ และรองอธิการบดี เป็นต้น

             (3) ผู้มีเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำในรัฐวิสาหกิจ เช่น กรรการบริหารของรัฐวิสาหกิจ ผู้ว่าการรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น

             (4) ผู้มีเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำในบริษัทจำกัด เช่น กรรการบริหารของบริษัทจำกัด ซึ่งมีหน้าที่กำหนดนโยบาย ควบคุม ดูแล การบริหารงานของบริษัทให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบริษัท เป็นต้น  

      2.1.2 ผู้มีเงินได้เนื่องจากรับทำงานให้ ได้แก่ พนักงานขาย ซึ่งได้รับเงินได้ที่เป็นค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า หรือส่วนลด เป็นต้น

             การรับทำงานให้นั้นในทางกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ถือเป็น “สัญญาจ้างทำของ” อย่างหนึ่ง สัญญาว่าจ้างทำของนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จ ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น

             สาระสำคัญของสัญญาจ้างทำของ มีดังนี้

             (1) สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาต่างตอบแทน กล่าวคือ ผู้รับจ้างจะต้องทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างต้อง ให้สินจ้างเพื่อผลงานนั้น ทั้งนี้สินจ้างดังกล่าวอาจเป็นเงินตราหรือทรัพย์สินอย่างอื่นก็ได้ตามแต่ จะตกลงกัน

             (2) สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาที่มุ่งถึงผลสำเร็จของงานที่ทำเป็นสำคัญ กล่าวคือ วัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างทำของ คือ ผลสำเร็จของงานไม่ใช่ต้องการ เฉพาะแต่แรงงานของผู้รับจ้างเท่านั้น เช่น จ้างก่อสร้างบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์ ติดกระจก ซ่อมหลังคาบ้าน จ้างตัดเสื้อผ้า หรือจ้างว่าความ เมื่อไม่ใช่การจ้างแรงงาน นายจ้างจึงไม่ต้อง รับผิดร่วมกับลูกจ้างใน ผลแห่งการละเมิดต่อบุคคลภายนอก ผู้รับจ้างจึงมีอิสระในการทำงาน มากกว่าลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงาน โดยที่ผู้รับจ้างไม่ได้อยู่ในความควบคุม บังคับบัญชาของผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างไม่มีสิทธิจะสั่งงาน หรือบงการผู้รับจ้าง

             (3) สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาที่ไม่มีแบบ กล่าวคือ สัญญาจ้างทำของเกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาตกลงกัน แม้ด้วยวาจาก็สามารถ ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ โดยไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่อย่างใด

2.2 ลักษณะของเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือการรับทำงานให้

      2.2.1 เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ เป็นเงินได้ที่เกิดจากการที่ผู้มีเงินได้เป็นผู้มีตำแหน่ง หรือหน้าที่งานที่ทำในองค์การทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมิใช่การจ้างแรงงาน หรือการรับทำงานให้ หรือการจ้างทำของ   

             ลักษณะของเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ แบ่งเป็น

             (1) เบี้ยประชุม

             (2) บำเหน็จ  

             (3) โบนัส เงินอุดหนุนในงานที่ทำ

             (4) เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ

             (5) เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้นั้นไม่ว่าหน้าที่ หรือตำแหน่งงาน หรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว

             อนึ่ง อธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 77/1 (10)(ค) ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 205) เรื่อง การกำหนดการกระทำที่ไม่ถือว่าเป็นการให้บริการ ตามมาตรา 77/1 (10)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2558 ว่า “การปฏิบัติงานในฐานะกรรมการบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด กรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามที่กฎหมายกำหนด และกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งโดยราชการ

             เนื่องจากประกาศฉบับดังกล่าวมิได้กำหนดวันที่ใช้บังคับไว้ว่า ตั้งแต่เมื่อใด จึงถือได้ว่าให้มีผลใช้บังคับย้อนหลังกลับไปจนถึงวันที่เริ่มใช้บังคับภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ วันที่ 1 มกราคม 2535 เป็นต้นมา   

      2.2.2 เงินได้จากการรับทำงานให้ เป็นเงินได้ตามสัญญาจ้างทำของประเภทหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยบุคคลสองฝ่ายคือ “ผู้ว่าจ้าง” และ “ผู้รับจ้าง” โดยผู้ว่าจ้างสัญญาว่าจะจ่าย "สินจ้าง" ให้ตามส่วนของงานที่ทำเสร็จ และผู้รับจ้างสัญญาว่าจะทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญา ทั้งนี้ ผู้รับจ้างทำงานให้โดยอาศัยแรงงานเป็นสำคัญมิได้มีการจัดหาสัมภาระ และในการรับทำงานให้ดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายในการรับทำงานดังกล่าวน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย เช่น บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจรับฝึกอบรมและสัมมนาให้กับสมาชิก และบุคคลทั่วไป โดยเชิญบุคคลภายนอกมาเป็นวิทยากร เงินค่าตอบแทนที่บริษัทฯ จ่ายให้กับวิทยากร ถือเป็นเงินได้จากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40 (2)  

             ลักษณะของเงินได้จากการรับทำงานให้งานให้ แบ่งเป็น

             (1) ค่าธรรมเนียม เช่น

                   กรณีบริษัทฯ ได้ว่าจ้างบุคคลภายนอกให้เป็นผู้แปลวรรณกรรมและเรียบเรียงหนังสือ ซึ่งเป็นผลงานอันเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ค่าตอบแทนที่บุคคลดังกล่าวได้รับเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินจากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40 (2) บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (1) และให้ใช้แบบ ภ.ง.ด.1 ยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย หรือ

                   กรณีบริษัทฯ ได้ว่าจ้างบุคคลภายนอกมาทำงานต่างๆ เช่น งานป้อนข้อมูล จัดเรียงชั้นหนังสือ ทำความสะอาด โดยมีการคิดค่าจ้างเป็นรายวันที่มาทำงาน แต่ได้จ่ายในลักษณะเดือนละครั้ง จึงเป็นการรับทำงานให้ โดยมุ่งที่ผลสำเร็จของงานเป็นหลัก ค่าตอบแทนที่บุคคลดังกล่าวได้รับเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินจากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40 (2) (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0706/10627 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2548)   

             (2) ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เช่น ค่าตอบแทนที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ได้รับจากบริษัทประกันชีวิตหรือบุคคลใดๆ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 115/2545)

                   อนึ่ง ตามข้อ 2.3 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 115/2545 ได้กำหนดแนวทาในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการให้บริการของตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนแก่บริษัทประกันชีวิตหรือบุคคลใดๆ ว่า เป็นกรณีที่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 (1) โดยต้องนำรายรับซึ่งเป็นค่าตอบแทนที่ได้รับมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มดังนี้

                   (ก) กรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนมีรายรับไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี ย่อมได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ ว่าด้วยการกำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 432) พ.ศ. 2548 จึงไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

                         ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนตามวรรคหนึ่ง หากประสงค์จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็ให้กระทำได้โดยให้แจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้แจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากร ตามมาตรา 81/3 (2) และมาตรา 85/1 (2)

                   (ข) กรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนมีรายรับเกิน 1,800,000 บาทต่อปี ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีรายรับเกิน 1,800,000 บาทต่อปี ตามมาตรา 85/1 (1) โดยเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 80  

                   ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนซึ่งได้มีการรวมกับบุคคลอื่นในลักษณะเป็นกลุ่มหรือทีมหรือในลักษณะทำนองเดียวกันในการหาผู้เอาประกันชีวิต โดยตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนต้องได้รับค่าตอบแทนในการทำหน้าที่เป็นตัวแทนหรือ  นายหน้าเพียงคนเดียว แต่ปรากฏหลักฐานว่าให้มีการรับเงินค่าตอบแทนในชื่อบุคคลอื่น ไม่ว่าบุคคลอื่นจะได้รับค่าตอบแทนจริงหรือไม่ ให้ถือว่าค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นรายรับของตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนนั้นทั้งจำนวน

             (3) โบนัส เงินอุดหนุนในงานที่ทำ

             (4) บำเหน็จ

             (5) เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ

             (6) เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการรับทำงานให้

            

3. เงินได้จากการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า  

กรมสรรพากรได้ออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 23/2533 ลงวันที่ 26 เมษายน 2533 วางแนวทางปฏิบัติสำหรับการกำหนดมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่ โดยไม่เสียค่าเช่าเป็นเงินได้พึงประเมิน ดังต่อไปนี้

3.1 กรณีลูกจ้างได้อยู่บ้านของนายจ้างโดยไม่เสียค่าเช่า ให้กำหนดมูลค่าจากการนี้เป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ของลูกจ้างดังต่อไปนี้

      3.1.1 กรณีลูกจ้างได้อยู่บ้านของนายจ้างโดยไม่เสียค่าเช่า ให้คำนวณประโยชน์เพิ่มจากการนี้เป็นเงินได้พึงประเมินในอัตราร้อยละ 20 ของเงินเดือนหรือค่าจ้างรวมทั้งเงินเพิ่มตลอดปี (ถ้ามี) โดยไม่รวมโบนัสที่จ่ายเป็นรายปี

      3.1.2 กรณีลูกจ้างหลายคนได้บ้านของนายจ้างหลังเดียวอยู่รวมกัน โดยไม่เสียค่าเช่า  ให้คำนวณประโยชน์จากการนี้เป็นเงินได้พึงประเมินในอัตราร้อยละ 20 ของเงินเดือน หรือค่าจ้าง เป็นเงินได้พึงประเมินของลูกจ้างแต่ละคน ตามเกณฑ์เดียวกัน 3.1.1

      3.1.3 กรณีลูกจ้างโต้แย้งการกำหนดมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่ โดย   ไม่เสียค่าเช่าตาม 3.1.1 ไม่ว่าจะเป็นการโต้แย้งในชั้นการตรวจสอบไต่สวนหรือในชั้นอุทธรณ์ก็ตาม ให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินค่าเช่าของบ้านนั้นๆ ว่า สมควรให้เช่าได้ตามปกติปีละเท่าใด และให้ทำบันทึกการประเมินไว้เป็นหลักฐาน แล้วรายงานขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมสรรพากร และให้ถือว่า ค่าเช่าบ้านที่ทำการประเมินนี้เป็นเงินได้ของลูกจ้างที่จะนำมาทำการประเมิน หรือพิจารณาชี้ขาดของเจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาอุทธรณ์แล้วแต่กรณีและให้ถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณเงินได้ในปีภาษีต่อไปด้วย เว้นแต่มีข้อเท็จจริงหรือสภาพของบ้านเปลี่ยนแปลงไป

      3.1.4 ลูกจ้างหลายคนได้บ้านของนายจ้างตาม 3.1.3 หลังเดียวอยู่รวมกัน ให้เฉลี่ยค่าเช่าบ้านที่คำนวณได้ตาม 3.1.3 เป็นเงินได้ของลูกจ้างแต่ละคนตามส่วนของเงินเดือน หรือค่าจ้างรวมทั้งเงินเพิ่มตลอดปี (ถ้ามี) โดยไม่รวมเงินโบนัสที่จ่ายเป็นรายปี และให้ถือว่าค่าเช่าบ้านที่ได้ทำการประเมินนี้ เป็นเงินได้ของลูกจ้างที่จะนำมาทำการประเมิน หรือพิจารณาชี้ขาดของเจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาอุทธรณ์แล้วแต่กรณี และให้ถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณเงินได้ในปีภาษีต่อไปด้วย เว้นแต่มีข้อเท็จจริงหรือสภาพของบ้านเปลี่ยนแปลงไป

      3.1.5 กรณีลูกจ้างได้อยู่บ้านของนายจ้างโดยไม่เสียค่าเช่า และเป็นบ้านที่นายจ้างได้ไปเช่าจากบุคคลอื่นมาอีกต่อหนึ่ง ให้คำนวณประโยชน์เพิ่มจากการนี้เป็นเงินได้พึงประเมินตามค่าเช่าที่นายจ้างได้จ่ายไปจริง

      3.1.6 กรณีลูกจ้างหลายคนได้บ้านของนายจ้างตาม 3.1.4 อยู่รวมกัน ให้เฉลี่ยค่าเช่าบ้านที่นายจ้างได้จ่ายไปจริงตาม 3.1.4 เป็นเงินได้ของลูกจ้างแต่ละคน ตามส่วนของเงินเดือน หรือค่าจ้าง รวมทั้งเงินเพิ่มตลอดปี (ถ้ามี) โดยไม่รวมเงินโบนัสที่จ่ายเป็นรายปี

             อนึ่ง การคำนวณประโยชน์เพิ่มจากการได้บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่าเป็น  เงินได้พึงประเมินนั้น ให้คำนวณประโยชน์เพิ่มดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินในอัตราร้อยละ 20 ของเงินเดือนหรือค่าจ้างที่นายจ้างจ่าย โดยต้องเฉลี่ยตามจำนวนวันที่เข้าพัก จะถือเป็นประโยชน์เพิ่มเต็มเดือนนั้นๆ ไม่ได้

3.2 ในกรณีนายจ้างได้เช่าบ้านให้เป็นที่พักอาศัยของพนักงาน ซึ่งดำรงตำแหน่งระดับบริหาร โดยนายจ้างเป็นผู้ออกค่าเช่าและค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าคนสวน   และค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในบ้าน เป็นต้น แม้ต่อมาพนักงานผู้นั้น หรือนายจ้างจะได้ใช้บ้านดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นสถานที่ประชุมและปรึกษาหารือกิจการของนายจ้าง ตลอดจนการจัดงานเลี้ยงรับรองลูกค้าสำคัญๆ  ของนายจ้างเป็นครั้งคราว  ถือได้ว่าค่าเช่าบ้านและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่นายจ้างจ่ายไปเป็นประโยชน์ที่พนักงานผู้นั้นได้รับทั้งสิ้น พนักงานผู้นั้นจะต้องนำประโยชน์ที่ได้รับทั้งหมดมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย เช่น

      บริษัทฯ  ซื้อคอนโดมิเนียมไว้เป็นที่รับรองแขกเป็นครั้งคราว ในขณะเดียวกัน บริษัทฯ ได้อนุมัติให้พนักงานระดับบริหารของบริษัทฯ คนหนึ่งเข้าพักอาศัยโดยบริษัทฯ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าดูแลรักษาและค่าซ่อมแซมอาคาร และสิ่งอำนวยความสะดวก ให้คำนวณประโยชน์เพิ่มจากการได้พักอาศัยในคอนโดมิเนียมโดยไม่ต้องเสียค่าเช่าเป็นเงินได้พึงประเมินของพนักงานในอัตราร้อยละ 20 ของเงินเดือน หรือค่าจ้างรวมทั้งเงินเพิ่มตลอดปี (ถ้ามี) โดยไม่รวมโบนัสที่จ่ายเป็นรายปี และต้องนำประโยชน์ที่ได้รับจากการที่บริษัทฯ ได้ออกค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในคอนโดมิเนียมทั้งหมด มารวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินของพนักงานเพื่อการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0807/3804 ลงวันที่ 2 มีนาคม 2536)

 

4. การรับแจกหุ้น หรือซื้อหุ้นในราคาต่ำกว่าราคาตลาดตามข้อตกลงพิเศษ

กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำหุ้นไปแจกให้พนักงาน ลูกจ้าง กรรมการ ที่ปรึกษา หรือบุคคลผู้รับทำงานให้ในลักษณะทำนองเดียวกัน หรือนำหุ้นไปขายให้กับบุคคลดังกล่าวตามข้อตกลงพิเศษในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด หรือ ESOP: Employee Stock Option Program นั้น คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรได้มีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉับภาษีอากรที่ 28/2538 เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การเสียภาษีในกรณีได้รับแจกหุ้น หรือได้ซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดตามข้อตกลงพิเศษ ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538 โดยวางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ดังนี้ 

4.1 การที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำหุ้นไปแจกให้พนักงาน ลูกจ้าง กรรมการ ที่ปรึกษา หรือบุคคลผู้รับทำงานให้ในลักษณะทำนองเดียวกัน หรือนำหุ้นไปขายให้กับบุคคลดังกล่าวตามข้อตกลงพิเศษในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด ย่อมถือได้ว่าพนักงาน ลูกจ้าง กรรมการ ที่ปรึกษา หรือบุคคลผู้รับทำงานให้ในลักษณะทำนองเดียวกันได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แล้ว จึงต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้นไม่ว่าหุ้นดังกล่าวจะมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายจ่ายโอน และไม่ว่าหุ้นดังกล่าวจะเป็นหุ้นที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

4.2 ให้ถือตามมูลค่าหุ้น ในวันที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้นดังกล่าว เป็นเงินได้พึงประเมิน ดังนี้ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม

      4.2.1 หากหุ้นดังกล่าวมีราคาขายให้กับประชาชนทั่วไป (Public Offering) ให้ถือมูลค่าหุ้นเท่ากับราคาขายให้กับประชาชนทั่วไป

      4.2.2 หากหุ้นดังกล่าวไม่มีราคาขายให้กับประชาชนทั่วไป (Public Offering) ให้ถือมูลค่าหุ้นเท่ากับราคาเฉลี่ยในตลาดหลักทรัพย์ในเดือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้น หรือมูลค่าหุ้นเท่ากับมูลค่าทางบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้น แล้วแต่กรณี        

4.3 ตัวอย่างแนวคำตอบข้อหารือเกี่ยวกับ ESOP: Employee Stock Option Program

      บริษัทฯ จดทะเบียนตามกฎหมายประเทศฝรั่งเศส ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต ยิบซัม และวัสดุทำหลังคา ได้จัดให้มีโครงการ ซึ่งเป็นโครงการจัดสรรหุ้นให้แก่พนักงาน โดยเปิดโอกาสให้พนักงานของบริษัทฯ บริษัทในเครือ และบริษัทสาขาทั่วโลกรวมทั้งพนักงานของบริษัทในประเทศไทยเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น ดังนี้

      1. โครงการเสนอขายหุ้น (Stock Purchase Plan) พนักงานมีสิทธิจองหุ้นได้ไม่เกินจำนวน 110 หุ้น โดยราคาจอง (Subscription Price) จะคำนวณจากราคาเฉลี่ยของราคาหุ้นในช่วง 20 วันของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศฝรั่งเศส (Euronext Paris SA) ก่อนหน้าที่จะประกาศขาย โดยหักส่วนลดร้อยละ 20 ของราคาดังกล่าว สำหรับการจองหุ้นที่ 1 ถึง 10 พนักงานขายจะจ่ายเงินในอัตราร้อยละ 40 ของราคาจอง (หลังหักส่วนลดร้อยละ 20) โดยบริษัทฯ จ่ายเงินให้ในอัตราร้อยละ 60 ของราคาจอง ส่วนหุ้นที่ 11 ถึง 110 จะต้องจ่ายเงินเต็มจำนวน (หลังหักส่วนลดร้อยละ 20) โดยมีเงื่อนไขว่าพนักงานไม่สามารถจำหน่ายหุ้นดังกล่าวจนกว่าจะพ้นกำหนดระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับมอบหุ้นดังกล่าว สำนักงานฯ จึงขอทราบว่า

          1.1 วันที่พนักงานจองหุ้น ผลประโยชน์ที่พนักงานได้รับจากส่วนต่างระหว่างมูลค่าตามราคาตลาดหลักทรัพย์ในประเทศฝรั่งเศส และราคาจองหุ้น จะถือเป็นเงินได้พึงประเมินของพนักงานหรือไม่ และส่วนลด เงินสมทบ ที่พนักงานได้รับจากบริษัทฯ จะต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้หรือไม่

         1.2 กรณีพนักงานขายหุ้นดังกล่าว พนักงานจะถือราคาใดเป็นต้นทุนของหุ้นและผลกำไรจากการขายหุ้นดังกล่าว จะต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้หรือไม่

          1.3 หากพนักงานโอนเงินได้จากการขายหุ้นทั้งหมดเข้ามาในประเทศไทย ในปีภาษีเดียวกัน จะต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้หรือไม่

      2. โครงการให้สิทธิในการซื้อหุ้น (Stock Option Plan) พนักงานที่จองหุ้นตามโครงการแรก จะได้สิทธิ 1 สิทธิสำหรับหุ้นแต่ละหุ้น ส่วนมูลค่าหุ้นจะคิดคำนวณจากราคาเฉลี่ยของราคาหุ้นที่ตลาดหลักทรัพย์ประเทศฝรั่งเศสในช่วง 20 วันทำการ พนักงานจะใช้สิทธิในการซื้อหุ้นได้ในวันแรกของปีที่ห้านับจากวันจัดสรร และจะขายหุ้นดังกล่าวได้ภายในระยะเวลา 10 ปี นับจากวันจัดสรร ซึ่งพนักงานมีสิทธิในการซื้อหุ้นดังกล่าวในอนาคตในราคาคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามราคาตลาด ทั้งนี้ พนักงานจะไม่ได้รับหุ้น หากพนักงานลาออกหรือพ้นสภาพการจ้างงาน จึงขอทราบว่า

          2.1 สิทธิดังกล่าวยังมิได้ก่อให้เกิดเงินได้หรือผลประโยชน์ใดๆ จึงไม่ต้องนำสิทธินั้นๆ มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ใช่หรือไม่

         2.2 หากพนักงานใช้สิทธิซื้อหุ้น พนักงานจะต้องนำฐานเงินได้โดยถือส่วนต่างระหว่างมูลค่าหุ้นตามราคาตลาดของประเทศฝรั่งเศส ณ วันใช้สิทธิกับราคาใช้สิทธิในการเสียภาษีถูกต้องหรือไม่

          2.3 หากพนักงานขายหุ้นดังกล่าวจะใช้ฐานมูลค่าหุ้นใดเพื่อเสียภาษี

          2.4 หากพนักงานขายหุ้นและโอนเงินจากการขายหุ้นทั้งหมดเข้ามาในประเทศไทย ในปีภาษีเดียวกัน จะต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาเสียภาษีหรือไม่ 

      ซึ่งกรมสรรพากรได้วินิจฉัยตามหนังสือที่ กค 0706/4934 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2546 ดังนี้

      1. กรณีบริษัทฯ นำหุ้นขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดให้กับพนักงานของบริษัทเอง กรมสรรพากรได้มีแนวทางวินิจฉัย ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 ฯ ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 อยู่แล้ว ขอให้สำนักงานฯ ถือปฏิบัติตามคำวินิจฉัยดังกล่าว

      2. กรณีพนักงานได้รับสิทธิในการซื้อหุ้น (Stock Option Plan) โดยระบุเฉพาะตัวไม่สามารถโอนเปลี่ยนมือได้ ซึ่งพนักงานมีสิทธิในการซื้อหุ้นดังกล่าวในอนาคต จึงยังมิได้รับเงินได้พึงประเมินในวันที่ได้รับใบสิทธิในการซื้อหุ้น สำหรับภาระภาษีในกรณีที่พนักงานได้ซื้อหุ้นตามสิทธิในการซื้อหุ้นดังกล่าวเป็นไปตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 28/2538 ฯ ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 จึงขอให้สำนักงานฯ ถือปฏิบัติตามคำวินิจฉัยดังกล่าวนั้น

      3. กรณีผู้อยู่ในประเทศไทย ได้ขายหุ้นที่อยู่ในต่างประเทศ กรณีเข้าลักษณะเป็นการขายทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ หากมีกำไรจากการขายหุ้นซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร และนำเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นในปีภาษีที่ผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย เข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกัน จะต้องนำเงินได้มาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 41 วรรคสอง    

 

5. เงินได้จากการรับทำงานให้กับเงินได้ประเภทอื่นที่เกี่ยวข้อง

เงินได้พึงประเมินจากการรับทำงานให้อาจเข้าลักษณะเป็นเงินได้ประเภทต่างๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของที่มาของเงินได้ดังนี้

5.1 กรณีเงินได้ประเภทที่ 2 เงินได้จากการรับทำงานให้เป็นกรณีที่ผู้มีเงินได้จากการรับทำงานให้นั้นต้องอาศัยแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญในอันที่จะก่อให้เกิดเงินได้ และมีค่าใช้จ่ายจำนวนน้อย (ร้อยละ 40 ของเงินได้แต่ไม่เกิน 60,000 บาท)

5.2 กรณีเงินได้ประเภทที่ 6 เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เป็นเงินได้จากการรับทำงานให้ ซึ่งผู้มีเงินได้ต้องอาศัยวิชาชีพอิสระเป็นปัจจัยในอันที่จะก่อให้เกิดเงินได้ อันได้แก่ วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี และประณีตศิลปกรรม

5.3 กรณีเงินได้ประเภทที่ 7 เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุน ด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เป็นเงินได้จากการรับทำงานให้โดยการับเหมาที่ผู้รับเหมา ต้องจัดหาสัมภาระ หรือวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับจ้างทำงานให้นอกจากเครื่องมือมาประกอบการรับทำงานให้นั้นด้วย

5.4 กรณีเงินได้ประเภทที่ 8 เงินได้จากการธุรกิจซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเงินได้จากการรับทำงานให้ที่กระทำในรูปธุรกิจที่ผู้มีเงินได้มุ่งหวังผลกำไรและมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการสูง

      5.4.1 ตามข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 115/2545 ได้วางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินของตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ดังนี้  

             “กรณีตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนมีหลักฐานในการประกอบกิจการให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า ได้ประกอบกิจการในรูปแบบของการทำธุรกิจและสามารถพิสูจน์รายจ่ายในการประกอบกิจการได้ ซึ่งต้องมีลักษณะการประกอบกิจการดังนี้

             (1) ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนและ

             (2) ได้จัดตั้งเป็นสำนักงานในการประกอบกิจการ โดยมีอาคารสำนักงานเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง หรือเช่าจากบุคคลอื่น โดยมีหลักฐาน เช่น หลักฐานการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ สัญญาเช่าสำนักงาน และ

             (3) มีการลงทุนด้วยการจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ มีค่าใช้จ่ายสำนักงาน และ

             (4) มีการจ้างลูกจ้างหรือพนักงานในการประกอบกิจการ โดยมีหลักฐานตามสัญญาจ้างแรงงาน หลักฐานการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และหลักฐานการแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่ง ในกรณีการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ไม่มีภาษีที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายและนำส่ง จะต้องมีหลักฐานเกี่ยวกับการยื่นรายการเกี่ยวกับค่าจ้างแรงงานตามแบบ ภ.ง.ด.1 ก.

             (5) มีค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการ เช่น ค่ารับรอง หรือค่าบริการเพื่อประโยชน์ในการติดต่องานกับลูกค้า และ

             (6) มีหนังสือรับรองจากบริษัทประกันชีวิต ว่าไม่มีการจ่ายเงินชดเชยหรือออกค่าใช้จ่ายแทนให้

             ค่าตอบแทนที่ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทน ได้รับจากบริษัทประกันชีวิตในการประกอบกิจการตามวรรคหนึ่ง เข้าลักษณะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) และในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร โดยให้นำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี มาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ หากตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนไม่สามารถพิสูจน์รายจ่ายและไม่มีหลักฐานในการประกอบกิจการตามวรรคหนึ่ง เงินค่าตอบแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันชีวิตเข้าลักษณะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2)

      5.4.2 นาง บ. ประกอบอาชีพเลี้ยงไก่ในราคาประกันกับบริษัทฯ ซึ่งจากลักษณะการดำเนินการบริษัทฯ จะส่งมอบลูกไก่ อาหาร และยา ให้แก่ นาง บ. โดยบริษัทฯ จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายดังกล่าวล่วงหน้าแทน นาง บ. เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าไก่ให้ นาง บ. บริษัทฯ จะหักค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายล่วงหน้าออกจากราคาไก่ที่ต้องจ่ายให้ นาง บ. ซึ่งจากข้อเท็จจริงดังกล่าว ภาระค่าใช้จ่ายที่ถูกหักออกจากเงินได้ที่ นาง บ. จะได้รับ จึงเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงไก่ เมื่อ นาง บ. เป็นผู้รับภาระต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงไก่ การประกอบอาชีพเลี้ยงไก่ดังกล่าวจึงเป็นการเลี้ยงไก่ไว้เพื่อขาย ดังนั้น เงินได้ที่ นาง บ. ได้รับทั้งสิ้นก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆ จึงเข้าลักษณะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8)  มิใช่เป็นเงินได้จากการรับจ้างเลี้ยงไก่ ซึ่งเข้าลักษณะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) แต่อย่างใด การที่เจ้าหน้าที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่แนะนำให้ นาง บ. นำเงินได้ค่าไก่ที่ได้รับทั้งสิ้นก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆ มาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 48 (1) หรือ (2) แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า ก็ให้เสียภาษีตามจำนวนที่มากกว่านั้น จึงถูกต้องแล้ว (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0706/4695 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2546) 

 

6. เงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้น

6.1 รายการเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้

      6.1.1 ค่าเบี้ยเลี้ยง หรือค่าพาหนะเดินทาง

             (1) ค่าเบี้ยเลี้ยง หรือค่าพาหนะซึ่งลูกจ้างได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็น เฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตน และได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น (มาตรา 42 (1)) 

                   เงื่อนไขสำคัญของการยกเว้นเงินได้ในกรณีนี้ คือ ผู้มีเงินได้ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างหรือผู้รับหน้าที่ หรือผู้รับทำงานให้ต้องมีหลักฐานในอันที่จะพิสูจน์ว่าตนได้นำเงินได้ที่ได้รับมานั้น ไปใช้จ่ายเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าพาหนะเพื่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ของตน เช่น หลักฐานใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี ตั๋วค่าโดยสาร รายงานการเดินทาง ฯลฯ แล้วแต่กรณี ในกรณีที่ไม่มีหลักฐานที่จะพิสูจน์ได้ดังกล่าว เช่น การจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าพาหนะเป็นการเหมาจ่ายก็ย่อมไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้

                   กรณีบริษัท จ่ายเงินค่าน้ำมันรถให้กับพนักงาน หากจะได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 (1) ก็ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้คือ ต้องมีหลักฐานการใช้รถและพิสูจน์จนเป็นที่เชื่อถือแก่การตรวจสอบไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมิน กล่าวคือต้องจ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนเท่านั้น และได้จ่ายไปทั้งหมดเพื่อการปฏิบัติงานตามหน้าที่  นั้นด้วย และบริษัทฯ ต้องมีระเบียบอนุญาตให้มีการเบิกจ่ายค่าน้ำมันรถได้ มีหนังสืออนุญาตพร้อมทั้งการบันทึกอนุญาตให้เดินทางไปติดต่องานจากที่ไหนถึงไหน ระยะทางเท่าใด ชื่อเจ้าของรถหมายเลขทะเบียนรถ ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันรถที่มีการระบุชื่อเจ้าของรถ หมายเลขทะเบียนรถ ดังนั้นเงินค่าน้ำมันรถที่บริษัทฯ ได้จ่ายให้พนักงานส่วนที่นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น ย่อมเข้าลักษณะเป็นประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ตามมาตรา 40 (1) จึงต้องนำเงินจำนวนนี้ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย (หนังสือกรมสรรพากรเลขที่ กค 0811(กม.02)/1681 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2543 หรือ กค 0702/88 ลงวันที่ 7 มกราคม 2552) 

                   อย่างไรก็ตาม เงินได้ค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าพาหนะเหมาจ่ายในอัตราไม่เกินค่าพาหนะ หรือค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ตามอัตราที่รัฐบาลกำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2526 ก็ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้

                   อนึ่ง กรมสรรพากรได้ออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 59/2538 ลงวันที่ 25 มกราคม 2538 วางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีดังกล่าว ทั้งนี้ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 เป็นต้นไป ดังนี้ 

                   (ก) ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางที่ลูกจ้างหรือผู้มีหน้าที่ หรือตำแหน่งงาน หรือผู้รับทำงานให้ได้รับเนื่องจากการเดินทางไปปฏิบัติงานตามหน้าที่ในประเทศหรือต่างประเทศเป็นครั้งคราว        ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องเข้าลักษณะดังนี้

                         1) ต้องเป็นค่าเบี้ยเลี้ยง ซึ่งบุคคลดังกล่าวได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่จะต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตน และได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น

                         2) ในกรณีบุคคลดังกล่าวได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงในอัตราไม่เกินอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงสูงสุดที่ทางราชการกำหนดจ่ายให้แก่ข้าราชการ ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการในประเทศหรือต่างประเทศ แล้วแต่กรณี ตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายในลักษณะเหมาจ่าย ให้ถือว่าค่าเบี้ยเลี้ยงดังกล่าว เป็นค่าเบี้ยเลี้ยงซึ่งบุคคลดังกล่าวได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่จะต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตน และได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น โดยไม่ต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินมาพิสูจน์

                         3) ในกรณีบุคคลดังกล่าวได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงในอัตราเกินกว่าอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงตาม 2) และบุคคลดังกล่าว ไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ว่า ได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่จะต้องปฏิบัติการตามหน้าทีของตน และได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น ให้ถือว่าค่าเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวเป็นค่าเบี้ยเลี้ยง ซึ่งบุคคลนั้นได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเพียงเฉพาะในส่วนที่ไม่เกินอัตราตาม 2)

                   (ข) การเดินทางไปปฏิบัติงานตามหน้าที่ ตาม (ก) ต้องมีหลักฐานการได้รับอนุมัติให้เดินทางไปปฏิบัติงานนอกสำนักงานหรือนอกสถานที่จากนายจ้างหรือผู้จ่ายเงินได้ โดยไม่ต้องระบุลักษณะงานที่ทำ และระยะเวลาในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ แล้วแต่กรณีด้วย

             (2) ค่าพาหนะ และค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางตามอัตราที่รัฐบาลกำหนดไว้ โดยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยอัตราค่าพาหนะและค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ซึ่งในปัจจุบันได้แก่ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2526 ตามมาตรา 42 (2)

             (3) เงินค่าเดินทางซึ่งนายจ้างจ่ายให้ลูกจ้าง เฉพาะส่วนที่ลูกจ้างได้จ่ายทั้งหมด โดยจำเป็นเพื่อการเดินทางจากต่างถิ่นในการเข้ารับงานในครั้งแรก หรือในการกลับถิ่นเดิมเมื่อการจ้างได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ไม่รวมถึงเงินค่าเดินทางที่ลูกจ้างได้รับในการกลับถิ่นเดิมและในการเข้ารับงานของนายจ้างเดิมภายใน 365 วันนับแต่วันที่การจ้างครั้งก่อนได้สิ้นสุดลง ตามมาตรา 42 (3)

      6.1.2 เงินเพิ่มพิเศษประจำตำแหน่ง เงินค่าเช่าบ้าน หรือบ้านที่ให้อยู่โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า และสวัสดิการอื่นที่ได้จากทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจ 

             (1) เงินเพิ่มพิเศษประจำตำแหน่ง และเงินค่าเช่าบ้านหรือบ้านที่ให้อยู่โดยไม่ต้องเสีย   ค่าเช่า สำหรับข้าราชการสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ ตามมาตรา 42 (5)

             (2) เงินได้ที่ทางราชการจ่ายให้เป็นเงินค่าเช่าบ้าน หรือเงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของ    การได้อยู่บ้านที่ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินช่วยการศึกษาบุตร เงินช่วยเหลือบุตร เงินค่าเบี้ยกันดาร เงินยังชีพ หรือเงินค่าอาหารทำการนอกเวลา ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ 2 (6)

             (3) เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับจากรัฐวิสาหกิจซึ่งมิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเท่าที่ ผู้มีเงินได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความเป็นจริง หรือเงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่รัฐวิสาหกิจดังกล่าวให้อยู่โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า และรัฐวิสาหกิจผู้จ่ายเงินมิได้ออกค่าภาษีเงินได้สำหรับเงินได้จำนวนดังกล่าวให้ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ 2 (8)

             (4) เงินช่วยการศึกษาบุตร เงินช่วยเหลือบุตร เงินค่าเบี้ยกันดาร หรือเงินยังชีพที่ได้รับจากรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ในอัตราเดียวกับที่ทางราชการจ่ายให้แก่ข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจผู้จ่ายเงินมิได้ออกค่าภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้จำนวนดังกล่าวให้ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ 2 (9)

             (5) เบี้ยประชุมกรรมาธิการหรือกรรมการ หรือค่าสอน ค่าสอบที่ทางราชการหรือสถานศึกษาของทางราชการจ่ายให้ ตามมาตรา 42 (7) 

             (6) บำนาญพิเศษ บำเหน็จพิเศษ บำนาญตกทอด หรือบำเหน็จตกทอด ตามมาตรา 42 (12)

             (7) ค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และค่าชดเชยที่พนักงานได้รับตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ แต่ไม่รวมถึงค่าชดเชยที่ลูกจ้างหรือพนักงานได้รับเพราะเหตุเกษียณอายุหรือสิ้นสุดการจ้าง ทั้งนี้ เฉพาะค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายแต่ไม่เกิน 300,000 บาท (กฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (51))

             (8) เงินที่มีลักษณะเดียวกับบำเหน็จดำรงชีพตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการและกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย พนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย และพนักงานธนาคารออมสินได้รับ โดยมีอัตราและวิธีการคำนวณเช่นเดียวกับบำเหน็จดำรงชีพตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการและกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2547 เป็นต้นไป ตามกฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (73)

             (9) เงินได้ที่มีลักษณะเดียวกับบำเหน็จดำรงชีพตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการและกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งเจ้าหน้าที่สภากาชาดไทยได้รับ โดยมีอัตราและวิธีการคำนวณเช่นเดียวกับบำเหน็จดำรงชีพตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการและกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ตามกฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (79))

             (10) เงินค่าตอบแทนพิเศษที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยบำเหน็จความชอบสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2550 ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป ตามกฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (86) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 295 (พ.ศ. 2555)

      6.1.3 เงินได้จากกองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ       ได้แก่

             (1) เงินประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตนได้รับจากกองทุนประกันสังคม ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ตามมาตรา 42 (25)

             (2) เงินได้เท่ากับที่ลูกจ้างจ่ายเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้างเฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาทแต่ไม่เกิน 490,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น  ตามกฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (35)  

             (3) เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณ ทุพพลภาพ หรือตาย ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) ดังนี้

                   () กรณีเกษียณอายุ ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

                   () กรณีทุพพลภาพ ต้องเป็นกรณีที่แพทย์ที่ทางราชการรับรองได้ตรวจและแสดงความเห็นว่า ลูกจ้างนั้นไม่สามารถที่จะทำงานในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งปฏิบัติอยู่นั้นต่อไป ไม่ว่าเหตุทุพพลภาพนั้นจะเกิดขึ้น เนื่องจากการปฏิบัติงานให้แก่นายจ้างหรือไม่ก็ตาม

                   () กรณีตาย ไม่ว่าการตายนั้นจะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานให้แก่นายจ้างหรือไม่

                   ทั้งนี้ ลูกจ้างต้องมีหลักฐานจากนายจ้าง เพื่อรับรองว่าลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย แล้วแต่กรณีมาแสดงด้วย ตามกฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (36)

             (4) เงินได้เท่าที่สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการจ่ายเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น ตามกฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (43)) 

             (5) เงินหรือประโยชน์ใดๆ ที่สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้รับจาก กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เนื่องจากออกจากราชการเพราะเหตุสูงอายุ เหตุทุพพลภาพ เหตุทดแทน หรือตาย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 70) ดังนี้

                   (ก) กรณีเหตุสูงอายุ  สำหรับสมาชิกซึ่งออกจากราชการเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรือลาออกเมื่ออายุครบ 50 ปีบริบูรณ์แล้ว

                   (ข) กรณีทุพพลภาพ สำหรับสมาชิกซึ่งออกจากราชการเพราะป่วย เจ็บ ทุพพลภาพ ซึ่งแพทย์ที่ทางราชการรับรองได้ตรวจและแสดงความเห็นว่า ลูกจ้างนั้นไม่สามารถที่จะทำงานในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งปฏิบัติอยู่นั้นต่อไปได้

                   (ค) กรณีเหตุทดแทน สำหรับสมาชิกซึ่งออกจากราชการเพราะทางราชการเลิก หรือยุบตำแหน่ง หรือมีคำสั่งให้ออกโดยไม่มีความผิด หรือทหารซึ่งออกจากกองหนุนเบี้ยหวัด

                   (ง) กรณีตาย สำหรับสมาชิกซึ่งออกจากราชการเพราะถึงแก่ความตายในระหว่างรับราชการ ตามกฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (44)) 

      6.1.4 ค่ารักษาพยาบาล และสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล สำหรับผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40 (1) ที่ไดรับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่

             (1) เงินได้ส่วนที่เป็นค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่ายให้ หรือจ่ายแทนลูกจ้างเป็นค่ารักษา พยาบาลที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ต้องเป็นค่ารักษาพยาบาลที่ได้จ่ายไปทั้งหมดในการรักษาพยาบาล ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ 2 (4) ทั้งนี้ สำหรับ

                   (ก) ลูกจ้าง  สามี  ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดาน ซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของลูกจ้าง ทั้งนี้เฉพาะสำหรับการรักษาพยาบาลที่กระทำในประเทศไทย

                   (ข) ลูกจ้าง ในกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลในต่างประเทศ ในขณะที่ปฏิบัติการตามหน้าที่ในต่างประเทศเป็นครั้งคราว

             (2) เงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัท ประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักรตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพัน บาท สำหรับการประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ซึ่งมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ทั้งนี้ต้องเป็นเบี้ยประกันภัยที่ได้จ่ายในปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด ตามกฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (76)

             (3) เงินได้เท่าที่นายจ้างจ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักร สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มที่มีกำหนดเวลาไม่เกินหนึ่งปี เฉพาะในส่วนที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลสำหรับ

                   (ก) ลูกจ้าง สามี ภริยา บุพการีหรือผู้สืบสันดานซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของลูกจ้าง ทั้งนี้ เฉพาะการรักษาพยาบาลในประเทศไทย

                   (ข) ลูกจ้าง ในกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลในต่างประเทศ ในขณะที่ปฏิบัติการตามหน้าที่ในต่างประเทศเป็นครั้งคราว

                   ทั้งนี้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2549 เป็นต้นไป (กฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (77))

      6.1.5 เงินได้ที่คำนวณได้จากมูลค่าของเครื่องแบบ ได้แก่ เงินได้ที่คำนวณได้จากมูลค่าของเครื่องแบบซึ่งลูกจ้างได้รับจากนายจ้างในจำนวนคนละไม่เกินสองชุดต่อปี และเสื้อนอกในจำนวนคนละไม่เกินหนึ่งตัวต่อปี ทั้งนี้ ตามกฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (34)

             “เครื่องแบบ”  หมายความว่า เครื่องแต่งกาย รวมทั้งสิ่งประกอบเครื่องแต่งกายที่กำหนดให้แต่งเพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน แต่ไม่รวมถึงรองเท้าที่อาจใช้งานได้ทั่วไป ชุดชั้นใน หรือสิ่งประกอบเครื่องแต่งกายที่ทำด้วยโลหะหรืออัญมณีที่มีค่า เช่น เงิน ทองคำ ทับทิม หยก

                       “เสื้อนอก” หมายความรวมถึง ชุดไทยพระราชทาน และเสื้อที่นิยมใช้ในการแต่งกายไปในงานสำคัญต่างๆ  

      6.1.6 เงินได้ค่าจ้างตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติ ได้แก่

             (1) เงินได้ส่วนที่เป็นค่าจ้างการทำงาน ในระยะเวลาปิดภาคการศึกษาของคนต่างด้าว ซึ่งเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือนิสิตที่เข้ามาศึกษา ณ สถานศึกษาในประเทศไทย ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ 2 (3)

             (2) เงินได้ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลต่างประเทศ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย ได้รับจากรัฐบาลของตน ทั้งนี้ โดยให้เป็นไปตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ 2 (12)

             (3) เงินได้ส่วนที่เป็นเงินเดือนและเงินใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่ หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ที่คนต่างด้าวซึ่งเป็นผู้แทนของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยได้รับจากคณะกรรมการต่างประเทศ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ 2 (13)

             (4) เงินได้ส่วนที่เป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างและเงินใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่ หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ที่คนต่างด้าวที่ไม่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยได้รับจาก

                   (ก) คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานในการปฏิบัติงานในประเทศไทย

                   (ข) รัฐบาลแห่งประเทศของตนในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้อพยพจากอินโดจีนในประเทศไทย (กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ 2 (16))

             (5) เงินได้ที่ผู้เชี่ยวชาญของประชาคมยุโรปที่เป็นคนต่างด้าว และไม่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยได้รับเนื่องจากการเข้ามาทำงานในประเทศไทย ภายใต้โครงการความช่วยเหลือที่ประเทศไทยได้รับจากประชาคมยุโรป ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ 2 (31)

             (6) เงินได้ที่ผู้ว่าการ ผู้ว่าการสำรอง พนักงาน ลูกจ้าง รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญซึ่งปฏิบัติงานของธนาคารพัฒนาเอเชียได้รับจากธนาคารดังกล่าว (พระราชบัญญัติให้อำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับธนาคารพัฒนาเอเชีย พ.ศ. 2509)

             (7) เงินได้ที่เป็นเงินเดือนหรือค่าตอบแทนที่เจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยวนเกษตรนานาชาติ ซึ่งเป็นคนต่างด้าวและไม่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ได้รับจากศูนย์วิจัยวนเกษตรนานาชาติ เนื่องจากการเข้ามาทำงานในประเทศไทย ภายใต้ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและศูนย์วิจัยเกษตรนานาชาติ ตามกฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (47)

      6.1.7 เงินได้ส่วนที่เป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างที่คนประจำเรือได้รับเนื่องจากการปฏิบัติงานบนเรือไทย ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพาณิชย์นาวี ที่ใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ตามกฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (39)

      6.1.8 ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ตามตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ ทั้งนี้ จะต้องมีจำนวนไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับปีภาษี 2551 เป็นต้นไป ตามกฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (55)

      6.1.9 ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ได้มีการจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2550 ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับปีภาษี 2551 เป็นต้นไป ตามกฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (66)  

      6.1.10 เงินได้พึงประเมินที่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยและมีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษีได้รับ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาทในปีภาษีนั้น ทั้งนี้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นไป โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 150) ตามกฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (72)  

      6.1.11 เงินได้ที่ผู้มีเงินได้เป็นคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยและมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษีได้รับเฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งแสนเก้าหมื่นบาท สำหรับปีภาษีนั้น ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 232) ทั้งนี้ ตามกฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (81) 

      6.1.12 กรณีอื่นๆ อาทิ กรณีที่บริษัทฯ จ่ายค่าบริการโทรศัพท์และเครื่องมือสื่อสารอื่น ๆ ให้แก่พนักงานเพื่อช่วยเหลือเนื่องจากพนักงานได้นำโทรศัพท์และเครื่องมือสื่อสารส่วนตัวมาใช้ในกิจการของบริษัทฯ ซึ่งบริษัทฯ ได้มีระเบียบการเบิกจ่ายเงินดังกล่าวนั้น หากบริษัทฯ มีหลักฐานพิสูจน์ได้โดยชัดแจ้งว่า บริษัทฯ เป็นผู้จ่ายไป และเกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจการแล้ว บริษัทฯ มีสิทธิ์นำค่าบริการดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่ต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีดังกล่าว ไม่ถือเป็นประโยชน์เพิ่มของพนักงาน ฉะนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าบริการคืนให้พนักงาน บริษัทฯ จึงไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0811/9964 ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2544) 

6.2 รายการเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้มีดังนี้

      6.2.1 ค่าเบี้ยเลี้ยง หรือค่าพาหนะซึ่งผู้รับหน้าที่หรือตำแหน่งงาน หรือผู้รับทำงานให้ได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็น เฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตน และได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น (มาตรา 42 (1)) 

              อย่างไรก็ตาม เงินได้ค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าพาหนะเหมาจ่ายในอัตราไม่เกินค่าพาหนะหรือค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ตามอัตราที่รัฐบาลกำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2526 ก็ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 59/2538

      6.2.2 ค่าพาหนะ และค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางตามอัตราที่รัฐบาลกำหนดไว้โดยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยอัตราค่าพาหนะและค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง  ซึ่งในปัจจุบันได้แก่พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2526 (มาตรา 42 (2))

      6.2.3 เบี้ยประชุมกรรมาธิการหรือกรรมการ หรือค่าสอน ค่าสอบที่ทางราชการหรือสถานศึกษาของทางราชการจ่ายให้ (มาตรา 42 (7))

      6.2.4 บำนาญพิเศษ บำเหน็จพิเศษ บำนาญตกทอด หรือบำเหน็จตกทอด (มาตรา 42 (12))

      6.2.5 เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับจากรัฐวิสาหกิจซึ่งมิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความเป็นจริง หรือเงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่รัฐวิสาหกิจดังกล่าวให้อยู่โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า และรัฐวิสาหกิจผู้จ่ายเงินมิได้ออกค่าภาษีเงินได้สำหรับเงินได้จำนวนดังกล่าวให้ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ 2 (8)

      6.2.6 เงินช่วยการศึกษาบุตร เงินช่วยเหลือบุตร เงินค่าเบี้ยกันดาร หรือเงินยังชีพที่ได้รับจากรัฐวิสาหกิจซึ่งมิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในอัตราเดียวกับที่ทางราชการจ่ายให้แก่ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจผู้จ่ายเงินมิได้ออกค่าภาษีเงินได้สำหรับเงินได้จำนวนดังกล่าวให้ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ 2 (9) 

              เป็นที่น่าสังเกตว่า เงินได้ที่เป็นค่าอาหารทำการนอกเวลามีข้อกำหนดยกเว้นภาษีเงินได้ให้เฉพาะกรณีที่ทางราชการเป็นผู้จ่ายเงินได้เท่านั้น สำหรับเงินค่าอาหารทำการนอกเวลาที่ได้รับจากรัฐวิสาหกิจก็ดี หรือนายจ้างที่เป็นภาคเอกชนก็ดี จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีแต่อย่างใด

      6.2.7 เงินได้ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลต่างประเทศ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย ได้รับจากรัฐบาลของตน ทั้งนี้ ตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ 2 (12)

      6.2.8 เงินได้ส่วนที่เป็นเงินเดือนและเงินใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่ หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ที่คนต่างด้าวซึ่งเป็นผู้แทนของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยได้รับจากคณะกรรมการต่างประเทศ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ 2 (13))

      6.2.9 เงินได้ส่วนที่เป็นเงินใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่ หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ที่คนต่างด้าวที่ไม่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยได้รับจาก

             (1) คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานในการปฏิบัติงานในประเทศไทย

             (2) รัฐบาลแห่งประเทศของตนในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้อพยพจากอินโดจีนในประเทศไทย ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ 2 (16)

      6.2.10 เงินได้ที่ผู้เชี่ยวชาญของประชาคมยุโรปที่เป็นคนต่างด้าว และไม่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยได้รับเนื่องจากการเข้ามาทำงานในประเทศไทย ภายใต้โครงการความช่วยเหลือที่ประเทศไทยได้รับจากประชาคมยุโรป ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ 2 (31)

      6.2.11 เงินได้ที่ผู้ว่าการ ผู้ว่าการสำรอง กรรมการ กรรมการสำรอง พนักงาน ลูกจ้าง รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญซึ่งปฏิบัติงานของธนาคารพัฒนาเอเชียได้รับจากธนาคารดังกล่าว (พระราชบัญญัติให้อำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับธนาคารพัฒนาเอเชีย พ.ศ. 2509)

      6.2.12 เงินได้พึงประเมินเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพฯ เช่นเดียวกับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) ข้างต้น ตามกฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (55)

      6.2.13 เงินได้พึงประเมินเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว เช่นเดียวกับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) ข้างต้น ตามกฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (66)

      6.2.14 เงินได้พึงประเมินที่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยและมีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษีได้รับ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาทในปีภาษีนั้น เช่นเดียวกับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) – (3) ข้างต้น ตามกฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (72)

      6.2.15 เงินได้ที่ผู้มีเงินได้เป็นคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยและมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษีได้รับเฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งแสนเก้าหมื่นบาท สำหรับปีภาษีนั้น ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 232) ทั้งนี้ ตามกฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (81)

 

7. บทสรุป

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) นั้น แม้จะมีบ่อเกิดของเงินได้พึงประเมินจาก “หน้าที่งานที่ทำ” ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 41 ด้วยกัน ซึ่งเป็นกรณีผู้มีเงินได้ได้รับเงินได้จากการอาศัยแรงงานของผู้มีเงินได้หรือของผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนในการทำงานที่ก่อให้เกิดเงินได้ ที่แต่ทว่า ตามข้อเท็จจริงตามที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 40 ทั้งกรณี (1) และ (2) กลับมีรายละเอียดที่แตกต่างกันอย่างมาก ไม่อาจพิจารณาจากชื่อเงินได้ที่จ่าย เช่น การจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือน อาจไม่ใช่เป็นเฉพาะแต่เพียงเงินได้จากการจ้างแรงงาน หากแต่เป็นเงินได้เนื่อจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำก็ได้ จึงควรที่จะทำความกระจ่างชัดให้เกิดขึ้นเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีอากรโดยถูกต้อง โดยเฉพาะกรณีที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย    

ความแตกต่างของเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 อาจแสดงเป็นตารางได้ดังนี้

ความแตกต่างของเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2

รายการ

เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน

เงินได้เนื่องจาก

หน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ

การรับทำงานให้

1. ประเภทเงินได้

มาตรา 40 (1)

มาตรา 40 (2)

มาตรา 40 (2)

2. สัญญาที่ก่อให้เกิดเงินได้

สัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งไม่คำนึง ถึงผลสำเร็จของงาน

ทำนองเดียวกับสัญญาจ้างแรงงาน

สัญญาจ้างทำของซึ่งคำนึงถึงผลสำเร็จของงาน

3. ผู้มีเงินได้

ลูกจ้าง ซึ่งสัญญาว่าจะทำงานให้ตลอดระยะเวลาที่จ้าง

กรรมการ สส. สว. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฯลฯ

ตัวแทน นายหน้า ผู้รับทำงานให้ ซึ่งสัญญาว่าจะทำงานให้จนงานสำเร็จ

4. ความเป็นอิสระในการทำงาน

ไม่มีอิสระ ต้องปฏิบัติตามหลัก เกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่นายจ้างกำหนด

ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนด

มีความเป็นอิสระ

5. ผู้จ่ายเงินได้

นายจ้าง

บริษัท รัฐวิสาหกิจ องค์การของรัฐบาน

บุคคล บริษัท ห้างหุ้นส่วน หรือนิติบุคคลอื่น

6. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ยกเว้นตามมาตรา 81 (1)(ฐ)

ทำนองเดียวกับสัญญาจ้างแรงงาน

เป็นกิจการที่ต้องเสียภาษี มูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2

7. อากรแสตมป์

ไม่ต้องปิดบนสัญญา

ไม่ต้องปิดบนสัญญา

ต้องปิดบนสัญญา

 

 

 

 

 

 

 

 

บรรณานุกรม

 

สุเทพ พงษ์พิทักษ์. ประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2556. บริษัท เอช เอ็น กรุ๊ป จำกัด, 2556. กรุงเทพมหานคร.

สุเทพ พงษ์พิทักษ์. การบัญชีภาษีอากร. พิมพ์ครั้งที่ 3, 2552. กรุงเทพมหานคร.

สุเทพ พงษ์พิทักษ์. คำอธิบายประมวลรัษฎากร ภาค 1 ว่าด้วยความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับประมวลรัษฎากร. บริษัท พรีเมียร์ โปร จำกัด, 2553. กรุงเทพมหานคร.

www.rd.go.th

legal.bloggang.com

http://dnfe5.nfe.go.th/ilp/42030/42030-2.htm