ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประมวลรัษฎากร ตอนที่ 1

บทความวันที่ 25 ส.ค. 2559  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 6953 ครั้ง

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประมวลรัษฎากร ตอนที่ 1

 

จากที่ได้เกริ่นนำแล้วว่า "ประมวลรัษฎากร" หมายถึง "บทบัญญัติว่าด้วยกฎหมายภาษีอากรบรรดาที่จัดเก็บจากราษฎรทั้งหลาย" ซึ่งได้บัญญัติรวมกฎหมายระดับพระราชบัญญัติหลายฉบับไว้ใน “ประมวลกฎหมาย” นั่นก็คือ “ประมวลรัษฎากร”

ประมวลรัษฎากร เป็นบทบัญญัติที่ตราไว้ต่อท้าย พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 อันเป็นรูปแบบเฉพาะที่เป็น "ประมวลกฎหมาย" ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา

ลำดับศักดิ์ของ "ประมวลรัษฎากร" จึงถือเป็นพระราชบัญญัติตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร จึงต้องตราพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดเท่านั้น เว้นแต่ในสภาวะรัฐประหารก็อาจมีการออกคำสั่งของคณะปฏิวัติหรือคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเป็นคราวๆ ไป

ประมวลรัษฎากร บัญญัติขึ้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2481 แต่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2482 เป็นต้นมา

นับแต่วันใช้ตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 ให้ยกเลิกกฎหมายภาษีอากรดังต่อไปนี้

(1) พระราชบัญญัติเงินรัชชูปการ พุทธศักราช 2468

(2) พระราชบัญญัติลักษณะเก็บเงินค่านา ร.ศ. 119

(3) พระราชบัญญัติลักษณะการเก็บภาษีค่าที่ไร่อ้อย พุทธศักราช 2464

(4) พระราชบัญญัติเปลี่ยนวิธีเก็บภาษียา ร.ศ. 119

(5) ประกาศพระราชทานยกเงินอากรสวนใหญ่ค้างเก่า และเดินสำรวจต้นผลไม้ใหม่ สำหรับเก็บเงินอากรสวนใหญ่ รัตนโกสินทร์ศก 130

(6) พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ พุทธศักราช 2475

(7) พระราชบัญญัติภาษีการค้า พุทธศักราช 2475

(8) พระราชบัญญัติภาษีการธนาคารและการประกันภัย พุทธศักราช 2476

(9) บรรดาพิกัดอัตรา ข้อบังคับ กฎ ประกาศ และบทกฎหมายอื่น ซึ่งออกเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมหรือดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

และนับตั้งแต่วันใช้บทบัญญัติในลักษณะ 2 หมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากรว่าด้วยอากรแสตมป์ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติอากรแสตมป์ พุทธศักราช 2475 กับบรรดาพิกัดอัตรา ข้อบังคับ กฎ และบทกฎหมายอื่น ซึ่งออกเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมหรือดำเนินการตามพระราชบัญญัตินั้น (มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481)

เป็นภาพสะท้อนกฎหมายภาษีอากรที่บัญญัติจัดเก็บก่อนวันที่ใช้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร (ประวัติศาสตร์ภาษีอากรก่อนยุคปัจจุบัน) ทั้งนี้ เพื่อปรับปรุงการรัษฎากรตามหลักความเป็นธรรมแก่สังคม

ในชั้นนั้น ได้แบ่งประมวลรัษฎากรเป็น 3 ลักษณะคือ

ลักษณะ 1 ข้อความเบื้องต้น ตั้งแต่มาตรา 1 - มาตรา 4

ลักษณะ 2 ภาษีอากรฝ่ายสรรพากร ตั้งแต่มาตรา 5 - มาตรา 143

ลักษณะ 3 ภาษีบำรุงท้องที่ ตั้งแต่มาตรา 144 - มาตรา 164 และบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่

อยางไรก็ตาม ได้มีการตราพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ยกเลิกลักษณะ 3 ดังกล่าว และพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ยกเลิกภาษีป้ายตามหมวด 5 ในลักษณะ 2 ตั้งแต่มาตรา 94 ถึงมาตรา 102 เป็นผลให้ยกเลิกการจัดเก็บภาษีทั้งสองประเภทออกจากประมวลรัษฎากร ตามปี พ.ศ. ที่บัญญัติกฎหมายดังกล่าว กรมสรรพากรจึงไม่ต้องจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่เข้ารัฐบาลกลาง หากแต่กรมมหาดไทย (ในขณะนั้น) เป็นหน่วยงานที่จัดเก็บแทน เพื่อใช้เป็นรายได้ขององค์การบริการราชการส่วนท้องถิน

นายกรัฐมนตรีอันเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร ผู้รับสนองพระบรมราชโองการตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 ได้แก่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม