ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

พระราชบัญญัติยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2562

บทความวันที่ 1 พ.ค. 2562  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 1944 ครั้ง

พระราชบัญญัติยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา

เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2562

 

1. เจตนารมณ์

เพื่อสนับสนุนให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม เข้าสู่ระบบภาษีเพื่อการพัฒนาฐานภาษีที่ยั่งยืน อันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากร ในอันที่จะยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญาให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

 

2. ประเภทภาษีที่ได้รับยกเว้นเบี้ยปรับ-เงินเพิ่ม

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการ หรือที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้แล้ว แต่ไม่ถูกต้องก่อน25 มีนาคม พ.ศ. 2562 (วันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ) จะได้รับยกเว้นเบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม สำหรับประเภทภาษีอากรดังต่อไปนี้ (มาตรา 4)

2.1 ภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่มีวันเริ่มต้นในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560

2.2 ภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับรายได้ประจำเดือนภาษีตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2559 จนถึงเดือนภาษีกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 (เดือนภาษีก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ)

2.3 ภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับรายรับประจำเดือนภาษีตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ จนถึงเดือนภาษีกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 (เดือนภาษีก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ)

2.4 อากรแสตมป์ สำหรับตราสารที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดให้ชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 จนถึง25 มีนาคม พ.ศ. 2562 (วันก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ)

2.5 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 จนถึงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2562 (ว้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ)

 

3. ผู้ที่ได้รับสิทธิยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าปรับอาญา

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับยกเว้นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มตามมาตรา 4 ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ (มาตรา 5)

2.1 เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้าย ซึ่งมีกำหนดครบสิบสองเดือน โดยวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2561 ไม่เกิน 500 ล้านบาท ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

2.2 ได้มีการยื่นรายการภาษีเงินได้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตาม 2.1 ไว้แล้วก่อนวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2562 (วันก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ)

2.3 ต้องไม่เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีหรือผู้ใช้ใบกำกับภาษีที่กรมสรรพากรได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำความผิดอาญาเกี่ยวกับใบกำกับภาษีตามประมวลกฎหมายอาญาไว้แล้วก่อนวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2562 (วันก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ)

 

4. เงื่อนไขการได้รับสิทธิยกเว้นเบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม

4.1 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับยกเว้นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มตามข้อ 2 (มาตรา 4) ต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (มาตรา 6)

      (1) ลงทะเบียนต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

            อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 (1) แห่งพระราชบัญญัติยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากรและความรับผิดทางอาญา เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2562 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการลงทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้

            (ก) ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2562 ลงทะเบียนแจ้งใช้สิทธิตามมาตรา 6 (1) แห่งพระราชบัญญัติยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2562 ต่อกรมสรรพากร ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางเว็ปไซต์ของกรมสรรพากร http://www.rd.go.th ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2562

            (ข) ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ลงทะเบียนแจ้งใช้สิทธิตามข้อ 1 จัดพิมพ์หลักฐานการลงทะเบียนแจ้งใช้สิทธิทางเว็ปไซต์ของกรมสรรพากรและน าส่งกรมสรรพากรพร้อมกับการดำเนินการตามมาตรา 6 (2) หรือ (3) แห่งพระราชบัญญัติยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และความรับผิดทางอาญา เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2562

      (2) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีอากรหรือยื่นขอเสียอากรเป็นตัวเงิน พร้อมทั้งชำระภาษีอากรที่ยังไม่ได้ชำระหรือยังชำระไม่ครบถ้วนทั้งจำนวน ภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ดังต่อไปนี้

            (ก) ภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลของรอบระยะเวลาบัญชีที่มีวันเริ่มต้นในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560

            (ข) ภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับรายได้ประจำเดือนภาษีตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2559 จนถึงเดือนภาษีกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 (เดือนภาษีก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ)

            (ค) ภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับรายรับประจำเดือนภาษีตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2559 จนถึงเดือนภาษีกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 (เดือนภาษีก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ)

            (ง) อากรแสตมป์ สำหรับตราสารที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดให้ชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 จนถึงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2562 (วันก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ)

            (จ) ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 จนถึงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2562 (ว้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ)

      (3) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีอากรทุกประเภทตามประมวลรัษฎากรที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่หักหรือนำส่ง สำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 จนถึงวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ พร้อมทั้งนำส่งภาษีอากรที่ยังไม่ได้นำส่งหรือยังนำส่งไม่ครบถ้วนทั้งจำนวน ภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2562

      อนึ่ง บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มตามมาตรา ๔ เมื่อได้ดำเนินการตาม 4.1 ข้างต้นแล้ว ให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวข้อง (มาตรา 8)

4.2  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มตามข้อ 2 (มาตรา 4) ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี แบบนำส่งภาษี และแบบขอเสียอากรเป็นตัวเงิน สำหรับภาษีอากรทุกประเภท ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครบถ้วน สำหรับการยื่นแบบตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เว้นแต่มีเหตุอันสมควรตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

      กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ปฏิบัติตามที่กล่าวข้างต้น ให้หมดสิทธิได้รับยกเว้นเบี้ยปรับ หรือเงินเพิ่มตามข้อ 2 (มาตรา 4) และให้กรมสรรพากรดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวข้องต่อไป     

 

5. บทสรุป

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ ตามที่นายเอกนิติ  นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวสรุปว่า การยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มครั้งนี้ถือเป็นมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังไม่ได้จัดท าบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการได้ใช้โอกาสนี้ในการปรับตัว มีงบการเงินที่น่าเชื่อถือ สร้างโอกาสทางธุรกิจ และสามารถเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินหรือสินเชื่อ โดยไม่มีภาระภาษีย้อนหลัง สมตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ ซึ่งกรมสรรพากรได้เริ่มขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ D2DRIVE บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ผ่านระบบดิจิทัล จากหลายหน่วยงาน เช่น ความร่วมมือจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดใช้งบการเงินที่แจ้งต่อกรมสรรพากรยื่นขออนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ข้อมูลงบการเงินจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและบริษัทผู้ท าบัญชีเพื่อการตรวจสอบภาษีอากร

นายเกรียงศักดิ์ ประสงค์สุกาญจน์ รองอธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเสริมว่า ผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิ์จากการออกมาตรการนี้มีจำนวน 460,000 ราย เนื่องจากเป็นผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท และยังมีผู้ประกอบการที่อยู่ในระหว่างการตรวจสอบอีก 60,000-70,000 ราย

มาตรการนี้ เป็นมาตรการสนับสนุนให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมดำเนินการทางภาษีอากรให้ถูกต้อง โดยมีระบบบัญชีและงบการเงินที่ถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และทำธุรกรรมทางการเงินได้สะดวกมากขึ้น ทั้งยังช่วยลดต้นทุนที่ต้องใช้ในการประกอบกิจการ และเปลี่ยนต้นทุนเป็นขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจได้เพื่อประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับในอนาคต  

กรมสรรพากร ได้ยืนยันว่า มาตรการนี้จัดเป็นมาตรการสุดท้ายเกี่ยวกับเรื่องการจัดทำบัญชีชุดเดียว และกรมสรรพากรได้ทำการประสานธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาจากบัญชีงบการเงินของกรมสรรพากร และหลังจากวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2562 กรมสรรพากรจะเริ่มใช้มาตรการที่เข้มงวดในการตรวจสอบ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ใช้ธุรกรรมเงินสด เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีจากการปรับแต่งงบการเงิน

สำหรับผู้ประกอบการที่เคยลงทะเบียนตามมาตรการบัญชีชุดเดียวเมื่อปี พ.ศ. 2559 และมั่นใจว่า ที่ผ่านมายื่นภาษีถูกต้อง จะเลือกไม่ลงทะเบียนและยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามมาตรการนี้ ก็ได้ ในทางตรงกันข้าม ในกรณีที่ผู้ประกอบการได้เคยลงทะเบียนตามมาตรการบัญชีชุดเดียวเมื่อปี พ.ศ. 2559 และยังไม่ได้ยื่นแบบแสดงกรายการและเสียหรือนำส่งภาษีให้ถูกต้อง มีการปรับแต่งบัญชี และอยากแก้ไขให้ถูกต้อง ก็ย่อมมีสิทธิลงทะเบียนและดำเนินการตามมาตรการนี้ได้ และแม้ผู้ประกอบากรที่ไม่เคยลงทะเบียตามมาตรการบัญชีชุดเดียวในปี พงศ. 2559 ก็มีสิทธิลงทะเบียนและดำเนินการขอรับสิทธิตามมาตรการนี้ ได้ เช่นเดียวกัน

ในกรณีที่ผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่า ได้ยื่นแบบแสดงรายการและเสียหรือนำส่งวภาษีอากรไว้ถูกต้อง ครบถ้วนแล้ว ไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ ก็นไม่ต้องลงทะเบียนและดำเนินการใดๆ ตามมาตรการนี้

 

อ้างอิง:

http://www.rd.go.th/publish/fileadmin/user_upload/news/news30_2562.pdf

https://www.itax.in.th/media/%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A-sme/