ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากร

บทความวันที่ 6 พ.ค. 2562  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 49259 ครั้ง

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากร

 

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากร มีบัญญัติรายละเอียดไว้ดังนี้

มาตรา 40 เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทต่อไปนี้ รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด

       (7) เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ

       (8) เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) แล้ว”  

จากบทบัญญัติดังกล่าว อาจแยกพิจารณาเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการให้บริการรับจ้างทำของ ที่จะสามารถเปรียยบเทียบกันได้ เนื่องจากเงินไดพึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร มีขอบเขตกว้างขวางกว่าเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่มากโข

 

1. สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) แห่งประมวลรัษฎากร

1.1 เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ โดยทั่วไปมักเข้าใจว่าเป็นเงินได้จากรับเหมาก่อสร้าง แต่แท้จริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการรับเหมาใดๆ ที่ต้องจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือแล้ว ทั้งนี้ เฉพาะรายการเงินได้ที่ไม่ถูกกำหนดให้เป็นเงินได้พึงประเมินตามาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ก็ย่อมถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ทั้งสิ้น เช่น

      เงินได้จากการรับจ้างทาสี ซ่อมสี โดยผู้รับเหมาเป็นผู้จัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (7) แห่งประมวลรัษฎากร…เงินได้จากการรับจ้างทาสี ซ่อมสี โดยผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหาสีให้ ได้รับแต่ค่าแรง เป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร (กค 0802/3628 : 26 กุมภาพันธ์ 2536)

      การรับเหมาทำตู้ โต๊ะ หรือเครื่องใช้อลูมิเนียม โดยผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญ นอกจากเครื่องมือ ไม่ว่าจะมีการตกลงราคาค่าจ้างกันก่อนหรือภายหลังที่งานสำเร็จ เงินได้ดังกล่าว เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) แห่งประมวลรัษฎากร (กค 0802/6575: 30 เมษายน 2539

อ้างอิง: บัญชี ภาษี การเงินในการก่อสร้าง https://dutyinconstructionthaicon.wordpress.com/…/%E0%B8%A…/

1.2  สำหรับการรับเหมาก่อสร้างแบ่งเป็น

      (1) การก่อสร้างเพื่อพาณิชยกรรม หมายถึง การก่อสร้างที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ดำเนินการเกี่ยวกับการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า การรับจำนำ การประกันภัย การเงินและการธนาคาร เช่น ร้านค้า คลังสินค้า ห้างสรรพสินค้า สำนักงาน ตลาด โชว์รูม ฯลฯ

      (2) การก่อสร้างเพื่ออุตสาหกรรม หมายถึง การก่อสร้างที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ดำเนินการเกี่ยวกับการผลิต-ประกอบสินค้า เช่น อู่ต่อและประกอบรถยนต์ อู่ต่อเรือ โรงกลึง และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ

1.3 แท้จริงการรับเหมา เป็นส่วนหนึ่งของการรับทำงานให้ ซึ่งอาจเข้าลักษณะเป็นเงินได้ประเภทอื่นได้อีก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของที่มาของเงินได้ดังนี้  

      (1) กรณีเงินได้ประเภทที่ 2 เงินได้จากการรับทำงานให้เป็นกรณีที่ผู้มีเงินได้จากการรับทำงานให้นั้นต้องอาศัยแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญในอันที่จะก่อให้เกิดเงินได้ และมีค่าใช้จ่ายจำนวนน้อย (ร้อยละ 50 ของเงินได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท)  

      (2) กรณีเงินได้ประเภทที่ 6 เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เป็นเงินได้จากการรับทำงานให้ ซึ่งผู้มีเงินได้ต้องอาศัยวิชาชีพอิสระเป็นปัจจัยในอันที่จะก่อให้เกิดเงินได้ อันได้แก่ วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี และประณีตศิลปกรรม

      (3) กรณีเงินได้ประเภทที่ 7 เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุน ด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เป็นเงินได้จากการรับทำงานให้โดยการับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องจัดหาสัมภาระ หรือวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับจ้างทำงานให้นอกจากเครื่องมือมาประกอบการรับทำงานให้นั้นด้วย

      (4) กรณีเงินได้ประเภทที่ 8 เงินได้จากการธุรกิจซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเงินได้จากการรับทำงานให้ที่กระทำในรูปธุรกิจที่ผู้มีเงินได้มุ่งหวังผลกำไรและมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการสูง

 

2. สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร  

2.1 เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร อาจจำแนกได้ดังนี้  

      (1) เงินได้จากการธุรกิจ ได้แก่ เงินได้จากการให้บริการ  

      (2) เงินได้จากการพาณิชย์ ได้แก่ เงินได้จากการค้าขายสินค้า โดยเฉพาะการซื้อมาขายไป แต่การประกอบการพาณิชย์ในเชิงกว้างย่อมหมายความรวมถึง การให้เช่าซื้อ การขายเงินผ่อน การแลกเปลี่ยน การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ด้วย

      (3) เงินได้จากการเกษตร ได้แก่ เงินได้จากการขายผลิตผลจากการกสิกรรม ปศุสัตว์ ประมง และป่าไม้  

      (4) เงินได้จากการอุตสาหกรรม ได้แก่ เงินได้จากการขายผลิตภัณฑ์จากผลิตสินค้า

      (5) เงินได้จากการขนส่ง ได้แก่ เงินได้จากการขนส่งคนโดยสาร และการขนสัมภาระ

      (6) เงินได้จากการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 40 (1) ถึง (7) แล้ว อาทิ เงินรางวัลจากการประกวด การแข่งขัน หรือชิงโชค เงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากกองทุนรวมที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เงินได้จากการรับมรดก หรือจากการให้โดยเสน่หา  

2.2 กล่าวเฉพาะ รายการเงินได้จากการธุรกิจ ซึ่งใช้เป็นแนวทางในการกำหนดค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (8) ตามที่ปรากฎในมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2509 ประกอบด้วย

      (1) การเก็บค่าต๋ง หรือค่าเกมจากการพนัน การแข่งขันหรือการเล่นต่างๆ (1)  

      (2) การถ่าย ล้าง อัด หรือขยายรูป ภาพยนตร์ รวมทั้งการขายส่วนประกอบ (2)

      (3) การตัด เย็บ ถัก ปักเสื้อผ้า หรือสิ่งอื่นๆ รวมทั้งการขายส่วนประกอบ (5)

      (4) การทำ ตกแต่ง หรือซ่อมแซมเครื่องเรือน รวมทั้งการขายส่วนประกอบ (6)

      (5) การทำกิจการโรงแรม หรือภัตตาคาร หรือการปรุงอาหารหรือเครื่องดื่มจำหน่าย (7)  

            คำว่า “ภัตตาคาร” หมายความว่า กิจการขายอาหารหรือเครื่องดื่มไม่ว่าชนิดใดๆ รวมทั้งกิจการรับจ้างปรุงอาหารหรือเครื่องดื่ม ทั้งนี้ ไม่ว่าในหรือจากสถานที่ซึ่งจัดให้ประชาชนเข้าไปบริโภคได้ (กฎกระทรวง ฉบับที่ 144 (พ.ศ. 2522) ข้อ 2 (13))

      (6) การดัด ตัด แต่งผม หรือตกแต่งร่างกาย (8)

      (7) การทำกิจการสถานพยาบาล ตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล เฉพาะที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน รวมทั้งการรักษาพยาบาล และการจำหน่ายยา (12)

      (8) การทำบล็อก และตรา การรับพิมพ์ หรือเย็บสมุดเอกสาร รวมทั้งการขายส่วนประกอบ (16)

      (9) การซักรีด หรือย้อมสี (24)

      (10) การแสดงของนักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุหรือโทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี หรือนักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใดๆ (43)

      (11) การให้บริการอื่นใด

              คำว่า “การให้บริการ” หมายความว่า การกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่การขายสินค้า (กฎกระทรวง ฉบับที่ 144 (พ.ศ. 2522) ข้อ 2 (13))

2.3 เงินได้จากการพาณิชย์ อาทิ

      (1) การค้าเครื่องเงิน ทอง นาก เพชร พลอย หรืออัญมณีอื่นๆ รวมทั้งการขายส่วนประกอบ (11)      

      (2) การขายของนอกจากที่ระบุไว้ในข้ออื่น ซึ่งผู้ขายมิได้เป็นผู้ผลิต (25)

      (3) การให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตามมาตรา 40 (5) (34)

      (4) การฆ่าสัตว์จำหน่าย รวมทั้งการขายวัตถุพลอยได้ (39)

      (5) การขายเรือกำปั่น หรือเรือที่มีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ที่มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป หรือแพ (41)

      (6) การขายที่ดินเงินผ่อน หรือการให้เช่าซื้อที่ดิน (42)

2.4 เงินได้จากการเกษตร อาทิ

      (1) การทำป่าไม้ สวนยาง หรือไม้ยืนต้น (14)

      (2) การจับสัตว์น้ำ (31)

      (3) การทำเกษตรกรรมประเภทไม้ล้มลุก (36)

      (4) การเลี้ยงสัตว์ทุกชนิด รวมทั้งการขายวัตถุพลอยได้ (38)   

      (5) การทำนาเกลือ (40)

2.5  เงินได้จากการอุตสาหกรรม อาทิ

      (1) การทำกิจการคานเรือ อู่เรือ หรือซ่อมเรือที่มิใช่ซ่อมเครื่องจักร เครื่องกล (3)   

      (2) การทำรองเท้า และเครื่องหนังแท้ หรือหนังเทียม รวมทั้งการขายส่วนประกอบ (4)       

      (3) การทำสบู่ แชมพู หรือเครื่องสำอาง (9)

      (4) การทำวรรณกรรม (10)             

      (5) การโม่ หรือย่อยหิน (13)            

      (6) การทำเหมืองแร่ (17)

      (7) การทำเครื่องดื่มตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องดื่ม (18)

      (8) การทำเครื่องกระเบื้อง เครื่องเคลือบ เครื่องซีเมนต์ หรือดินเผา (19)

      (9) การทำ หรือจำหน่ายกระแสไฟฟ้า (20)

      (10) การทำน้ำแข็ง (21)

      (11) การทำกาว แป้งเปียก หรือสิ่งที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน และการทำแป้งชนิดต่างๆ ที่มิใช่เครื่องสำอาง (22)

      (12) การทำลูกโป่ง เครื่องแก้ว เครื่องพลาสติก หรือเครื่องยางสำเร็จรูป (23) 

      (13) การรมยาง การทำยางแผ่น หรือยางอย่างอื่นที่มิใช่ยางสำเร็จรูป (10) 

      (14) การฟอกหนัง (29)

      (15) การทำน้ำตาล หรือน้ำเหลืองของน้ำตาล (30)         

      (16) การทำกิจการโรงเลื่อย (32)

      (17) การกลั่น หรือหีบน้ำมัน (33) 

      (18) การทำกิจการโรงสีข้าว (35)  

      (19) การอบ หรือบ่มใบยาสูบ (37)   

2.6 เงินได้จากการขนส่ง อาทิ

      (1) การขนส่งหรือรับจ้างด้วยยานพาหนะ (15)

2.7 เงินได้จากการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 40 (1) ถึง (7) อาทิ

      (1) รางวัลที่เจ้าของม้าได้จากการส่งม้าเข้าแข่ง (26)

      (2) การรับสินไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากหรือการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยเด็ดขาดจากการขาย (27)

ข้อสังเกต

เงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากกองทุนรวมที่จัดตั้งตาม พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และยอมให้ผู้จ่ายเงินได้นั้นหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (2) ในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินได้ เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการให้ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องนำเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ดังกล่าวไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืน หรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน (พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 262) พ.ศ. 2536)