ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

คำอธิบาย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562

บทความวันที่ 29 มิ.ย. 2562  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 8003 ครั้ง


 คำอธิบาย

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร

(ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562

 

1. เจตนารมณ์

โดยเหตุที่การกำหนดภาระภาษีตามประมวลรัษฎากรจากการลงทุนในตราสารหนี้โดยตรงของผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีความแตกต่างกับการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม กล่าวคือ การลงทุนในตราสารหนี้โดยตรงโดยผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้พึงประเมินจากการลงทุนดังกล่าว ในขณะที่การลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมไม่มีภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะกองทุนรวมไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้จากกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือตามกฎหมายของต่างประเทศ เฉพาะเงินได้ตามมาตรา 40 (4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อให้ภาระภาษีจากการลงทุนทั้งสองประเภทดังกล่าวมีความสอดคล้องกัน โดยการกำหนดให้ “กองทุนรวม” ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อให้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เฉพาะเงินได้ตามมาตรา 40 (4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้ดังกล่าว รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง อาทิ มาตรา 42 (22) และ (23) แห่งประมวลรัษฎากร โดยตราเป็นพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562

 

2. กำหนดให้กองทุนรวมเป็น “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคค”

ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 กำหนดให้กองทุนรวมเป็น “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” ดังนี้

2.1 ยกเลิกบทนิยามคำว่า “กองทุนรวม” ในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2517 ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2518 เป็นต้นมาดังต่อไปนี้ (มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562)

      “กองทุนรวม” หมายความว่า คณะบุคคลซึ่งเข้าร่วมในกองทุนซึ่งจัดตั้งและดำเนินการโดยบริษัทจัดการกิจการลงทุน ตามโครงการในการประกอบกิจการจัดการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน

      กองทุนรวมที่มีสถานภาพเป็นคณะบุคคลดังกล่าว อาทิ กองทุนสินภิญโญ กองทุนทรัพย์ทวี ที่มีการจำหน่ายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมดังกล่าวในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันไม่มีกองทุนประเภทนี้อีกแล้ว จึงเป็นการสมควรที่จะยกเลิกนิยามศัพท์ดังกล่าวอย่างยิ่ง และสถานภาพของกองทุนรวมตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในปัจจุบัน นับแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา นั้น เป็นนิติบุคคล 

2.2 เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (3/1) ของบทนิยามคำว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” ในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร (มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562) เป็นดังนี้

      “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และให้หมายความรวมถึง

      (1) กิจการซึ่งดำเนินการเป็นทางค้าหรือหากำไรโดยรัฐบาลต่างประเทศ องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ

      (2) กิจการร่วมค้า ซึ่งได้แก่กิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางค้าหรือหากำไรระหว่างบริษัทกับบริษัท บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือระหว่างบริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือนิติบุคคลอื่น

      (3) มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร

      (3/1) กองทุนรวมที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ

      (4) นิติบุคคลที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี และประกาศในราชกิจจานุเบกษา  

2.3  การแก้ไขเพิ่มเติมนบทนิยามศัพท์คำว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” ดังกล่าวเป็นผลให้ “กองทุนรวมที่เป็นนิติบุคคล” ทั้งที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และประกอบกิจการในประเทศไทย ตามมาตรา 66 หรือมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล นับแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2562) เป็นต้นไป ได้แก่ วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป

2.4 กองทุนรวมซึ่งถูกกำหนดให้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว ต้องนำรายได้ตามมาตรา 40 (4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่เกิดขึ้นจากเงินที่ฝาก หรือตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่ถือตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป เท่านั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ทวิ (15) แห่งประมวลรัษฎากร ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 

2.5  สำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นกองทุนรวมซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 67 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 เฉพาะส่วนที่เกิดขึ้นจากเงินที่ฝาก หรือตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่ถืออยู่ก่อนวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี (มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562)

2.6  ให้กองทุนรวมซึ่งถูกกำหนดให้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 15 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (4)(ก)  แห่งประมวลรัษฎากร ตามมาตรา 67 (3) แห่งประมวลรัษฎากร แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562

      ในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของกองทุนรวม ให้ผู้จัดการกองทุนรวมมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการตามแบบทีอธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ตามมาตรา 68 แห่งประมวลรัษฎากร ภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี โดยกองทุนรวมมีหน้าที่จัดทำบัญชีรายรับก่อนหักรายจ่าย ตามมาตรา 68 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ที่มีผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ตรวจสอบและรับรองในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว และแนบบัญชีดังกล่าวไปพร้อมกับแบบแสดงรายการที่ยื่น ตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร   

2.6  ให้ยกเลิกความใน (23) และ (24) ของมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งหมายถึง แต่เดิมได้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคธรรมดา สำหรับเงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม และเงินได้ของกองทุนรวม ที่มีสถานภาพเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งถูกยกเลิกเลิกนิยามศัพท์ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร จึงจำเป็นต้องยกเลิกความใน (23) และ (24) ของมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร ด่วย (มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562)

 

3. เงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวม และเงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม

3.1  ก่อนวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เงินส่วนแบ่งของกำไร ที่ได้จากกองทุนรวม และเงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร

3.2  เงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากกองทุนรวม

      (1)  นับแต่วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป เงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากกองทุนรวม ถือเป็นเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จาก “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” อันเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากมีการแก้ไขเพิ่มเติม ความในวรรคหนึ่งของ (ข) ใน (4) ของมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้ใช้ความต่อไปนี้แทน (มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562)

            “(ข) เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว”

      (2)  กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินได้โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตาม (1) และ (2) ในมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากรก็ได้ ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากรที่ได้รับจาก “กองทุนรวม” ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป (มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562)

            ซึ่งแต่เดิมก่อนวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ดังกล่าว เงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งอยู่ในประเทศไทยและได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวมที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และยอมให้ผู้จ่ายเงินได้นั้นหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินได้ เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ ดังกล่าวไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืน หรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 262) พ.ศ. 2536

3.3  กรณีผู้มีเงินได้ที่เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้รับเงินได้จากการขายคืนหน่วยลงทุนให้แก่กองทุนรวม (บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย) นับแต่วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เฉพาะที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน นั้น

      (1)  เงินได้พึงประเมินดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร (มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562)  

      (2)  ผู้มีเงินได้พึงประเมินดังกล่าว จึงต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินได้ เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ดังกล่าวไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืน หรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ตามมาตรา 48 (3)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร

 

4. การแก้ไขเพิ่มเพิ่มเติมมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร

4.1  ให้ยกเลิกความใน (10) ของมาตรา 65 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 31) พ.ศ. 2534 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน (มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562)

      “(10) สำหรับบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ให้นำเงินปันผลที่ได้จากบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงิน เพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม และเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากกิจการร่วมค้า มารวมคำนวณเป็นรายได้เพียงกึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้ เว้นแต่บริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยดังต่อไปนี้ ไม่ต้องนำเงินปันผลที่ได้จากบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม และเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากกิจการร่วมค้า มารวมคำนวณเป็นรายได้

            (ก) บริษัทจดทะเบียน

            (ข) บริษัทจำกัดนอกจาก (ก) ซึ่งถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลและบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้รับเงินปันผลไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

            ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับในกรณีที่บริษัทจำกัดหรือบริษัทจดทะเบียนมีเงินได้ที่เป็นเงินปันผลและเงินส่วนแบ่งกำไรดังกล่าว โดยถือหุ้นที่ก่อให้เกิดเงินปันผลและเงินส่วนแบ่งกำไรนั้นไว้ไม่ถึงสามเดือนนับแต่วันที่ได้หุ้นนั้นมาถึงวันมีเงินได้ดังกล่าว หรือได้โอนหุ้นนั้นไปก่อนสามเดือนนับแต่วันที่มีเงินได้

            เงินปันผลที่ได้จากการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามมาตรา 65 ตรี (2) ไม่ให้ถือเป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรตามความในวรรคสอง”

4.2  จากบทบัญญัติดังกล่าวอาจแยกพิจารณาได้ดังนี้

      (1)  สำหรับบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ให้นำเงินปันผลที่ได้จากบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย (รวมทั้งเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากกองทุนรวมตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 ดัวย) มารวมคำนวณเป็นรายได้เพียงกึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้

            ทั้งนี้ บริษัทจำกัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยดังกล่าว ต้องถือหุ้นที่ก่อให้เกิดเงินปันผลและเงินส่วนแบ่งกำไรนั้นไว้ไม่น้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่ได้หุ้นหรือหน่วยลงทุนนั้นมาถึงวันมีเงินได้ดังกล่าว หรือได้ถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนนั้นไว้ไม่น้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่มีเงินได้

            อนึ่ง ไม่มีข้อกำหนดให้กองทุนรวมมีหน้าทีคำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายสำหรับการจ่ายเงินส่วนแบ่งของกำไรให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และประกอบกิจการในประเทศไทยแต่อย่างใด

      (2)  สำหรับบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยดังต่อไปนี้ ไม่ต้องนำเงินปันผลที่ได้จากบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย (รวมทั้งเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากกองทุนรวมตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 ดัวย) หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม และเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากกิจการร่วมค้า มารวมคำนวณเป็นรายได้

            (ก) บริษัทจดทะเบียน

            (ข) บริษัทจำกัดนอกจาก (ก) ซึ่งถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลและบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผล (กองทุนรวม) ไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้รับเงินปันผลไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

            ทั้งนี้ บริษัทจำกัดหรือบริษัทจดทะเบียนดังกล่าว ต้องถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมที่ก่อให้เกิดเงินปันผลและเงินส่วนแบ่งกำไรนั้นไว้ไม่น้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่ได้หุ้นหรือหน่วยลงทุนนั้นมาถึงวันมีเงินได้ดังกล่าว และได้ถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมนั้นไว้ไม่น้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่มีเงินได้

      (3)  การคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

            เนื่องจากกองทุนรวมถูกกำหนดให้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนส่วนนิติบุคคล ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา เงินส่วนแบ่งของกำไรของกองทุนรวมเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร  

            (ก)  กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 

                  กองทุนรวมในฐานะบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (2)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 10 ของเงินส่วนแบ่งของกำไร  

            (ข)  กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล

                  กองทุนรวมจึงมีหน้าที่คำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินส่วนแบ่งของกำไรให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และประกอบกิจการในประเทศไทยตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.319/2563 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป ในอัตราร้อยละ 10 ของเงินส่วนแบ่งของกำไร ดังนี้ 

                 "ข้อ 5 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย สถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม กองทุนรวมที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยแต่ไม่รวมถึงกองทุนรวมตราสารหนี้และกิจการร่วมค้า ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือประโยชน์อื่นใดตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้อัตราร้อยละ 10.0 กรณีจ่ายให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศประกอบกิจการในประเทศไทย หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย แต่ไม่รวมถึง

                                        (1) บริษัทจดทะเบียน เฉพาะกรณีที่ผู้จ่ายมิใช่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้อง ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
                                        (2) บริษัทจำกัด นอกจาก (1) ซึ่งถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผล และบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้น ในบริษัทจำกัดผู้รับเงินปันผลไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม
                                       กองทุนรวมตราสารหนี้ตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ลงทุนในตราสารหนี้ตามสัดส่วนที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด” 

                 และสำหรับการจ่ายเงินส่วนแบ่งของกำไรให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย กองทุนรวมมีหน้าที่คำนวณหักภาษีเงิได้นิติบุคคล ณ ที่่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่ประมวลรษฎากร ในอัตราร้อยละ 10 ของเงินส่วนแบ่งของกำไรที่จ่าย 

      (4)  สำหร้บสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงิน เพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม ได้แก่ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยนั้น ในปัจจุบันไม่มีแล้ว จึงเป็นการบัญญัติกฎหมายไว้รองรับเหตุการณ์ในอนาคต

            และสำหรับเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากกิจการร่วมค้า นั้น ตามมาตรา 5 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ได้กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากกิจการร่วมค้าที่ประกอบกิจการในประเทศไทย ให้แก่

            (ก) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย  

            (ข) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและประกอบกิจการในประเทศไทย

            ทั้งนี้ บริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เป็นหุ้นส่วนในกิจการร่วมค้าที่ก่อให้เกิดเงินส่วนแบ่งกำไรนั้นไว้ไม่น้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่เป็นผู้หุ้นส่วนในกิจการร่วมค้านั้นมาถึงวันที่ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไร และเป็นผู้เป็นหุ้นส่วนในกิจการร่วมค้านั้นไว้ไม่น้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไร

 

5. การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร

5.1  ให้ยกเลิกความในมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชก าหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2523 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน (มาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562)

      “มาตรา 67 การเสียภาษีตามความในส่วนนี้ ให้เสียตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวดนี้ เว้นแต่

            (1) ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 66 วรรคสอง กระทำกิจการขนส่งผ่านประเทศต่าง ๆ ให้เสียภาษีเฉพาะกิจการขนส่งตามเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

                 (ก) ในกรณีรับขนคนโดยสาร ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 3 ของค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บในประเทศไทยก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เนื่องในการรับขนคนโดยสารนั้น

                 (ข) ในกรณีรับขนของ ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 3 ของค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บไม่ว่าในหรือนอกประเทศไทย ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เนื่องในการรับขนของออกจากประเทศไทยนั้น

            (2) มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้อันมิใช่รายได้ตามมาตรา 65 ทวิ (13) ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ

            (3) เงินได้ตามมาตรา 40 (4)(ก) ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นกองทุนรวม ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 15 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ”

5.2  ให้ยกเลิก (จ) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2534 (มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562) เนื่องจากนำไปบัญญัติเป็น (2) ของมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว

 

6. ผลกระทบตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร

6.1  สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ที่เป็นผู้ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวม หรือกำไรจากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม ตามมาตรา 40 (4)(ข) หรือ (ช) แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี กองทุนรวมมีหน้าที่คำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้

      (1) สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวม ร้อยละ 10.0

      (2) สำหรับกำไรจากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม ร้อยละ 15.0

6.2  ให้กองทุนรวมมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.54 พร้อมทั้งนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย ภายในวับที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่จ่ายเงินได้

 

7. บทสรุป

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 มีเจตนารมณ์ที่จะให้การภาระภาษีสำหรับเงินได้บุคคลธรรมดาจากลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง โดยผู้ลงทุนในตราสารหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดามีความเท่าเทียมกันกับการลงทุนในตราสารหนี้ของผู้ถือหน่วยลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ลงทุนผ่านกองทุนรวม เนื่องจากแต่เดิมนั้น กองทุนรวมไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงทำให้ปลอดภาระภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ของกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือตามกฎหมายของต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 เพื่อให้ภาระภาษีจากการลงทุนทั้งสองประเภทดังกล่าวมีความสอดคล้องกัน

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อกองทุนรวมจ่ายเงินส่วนแบ่งของกำไรให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมที่เป็นบุคคลธรรมดา นั้น ตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร และต้องถูกหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้ ซึ่งเป็นผลทำให้ภาระภาษีของถือหน่วยลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ลงทุนผ่านกองทุนรวม เพิ่มมากขึ้นกว่าการที่บุคคลธรรมดาลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับจากการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวม โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ต่อไป รวมทั้ง ต้องมีการยกเลิกพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 262) พ.ศ. 2536 และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 263) พ.ศ. 2536 พร้อมก้นไปในที่สุด จึงต้องมีการติดตามศึกษากันต่อไป มิใช่สิ้นสุดเพียงพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 นี้เท่านั้น

 

 

  

พระราชบัญญัติ

แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52)

พ.ศ. 2562

------------------------------

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ

พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ให้ไว้ ณ วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติท าหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า “กองทุนรวม” ในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 251๗

มาตรา 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (3/1) ของบทนิยามคำว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” ในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร

       “(3/1) กองทุนรวมที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ”

มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของ (ข) ใน (4) ของมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2525 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

       “(ข) เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของก าไรที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว”

มาตรา 6 ให้ยกเลิกความใน (ช) ใน (4) ของมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2534 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

       “(ช) ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนการเป็นหุ้นส่วน โอนหน่วยลงทุน หรือโอนหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร หรือตั๋วเงิน หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก รวมทั้งเงินได้จากการขายคืนหน่วยลงทุนให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นกองทุนรวม ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน”

มาตรา 7 ให้ยกเลิก (23) และ (24) ของมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2517

มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของ (3) ของมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2534 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

       “ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยจะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินได้โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตาม (1) และ (2) ก็ได้สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (4)(ข) ที่ได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมาย โดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม”

มาตรา 9 ให้ยกเลิกความใน (10) ของมาตรา 65 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 31) พ.ศ. 2534 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

       “(10) สำหรับบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ให้นำเงินปันผลที่ได้จากบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงิน เพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม และเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากกิจการร่วมค้า มารวมคำนวณเป็นรายได้เพียงกึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้ เว้นแต่บริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยดังต่อไปนี้ ไม่ต้องนำเงินปันผลที่ได้จากบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม และเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากกิจการร่วมค้า มารวมคำนวณเป็นรายได้

             (ก) บริษัทจดทะเบียน

             (ข) บริษัทจำกัดนอกจาก (ก) ซึ่งถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลและบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้รับเงินปันผลไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

             ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับในกรณีที่บริษัทจำกัดหรือบริษัทจดทะเบียนมีเงินได้ที่เป็นเงินปันผลและเงินส่วนแบ่งกำไรดังกล่าว โดยถือหุ้นที่ก่อให้เกิดเงินปันผลและเงินส่วนแบ่งกำไรนั้นไว้ไม่ถึงสามเดือนนับแต่วันที่ได้หุ้นนั้นมาถึงวันมีเงินได้ดังกล่าว หรือได้โอนหุ้นนั้นไปก่อนสามเดือนนับแต่วันที่มีเงินได้เงินปันผลที่ได้จากการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามมาตรา 65 ตรี (2) ไม่ให้ถือเป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรตามความในวรรคสอง”

มาตรา 10 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (15) ของมาตรา 65 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

       “(15) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นกองทุนรวมไม่ต้องนำรายได้อันมิใช่เงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ก) มารวมคำนวณเป็นรายได้”

มาตรา 11 ให้ยกเลิกความในมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชก าหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2523 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

       “มาตรา 67 การเสียภาษีตามความในส่วนนี้ ให้เสียตามอัตราที่ก าหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวดนี้ เว้นแต่

             (1) ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 66 วรรคสอง กระท ากิจการขนส่งผ่านประเทศต่าง ๆ ให้เสียภาษีเฉพาะกิจการขนส่งตามเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

                   (ก) ในกรณีรับขนคนโดยสาร ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 3 ของค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บในประเทศไทยก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เนื่องในการรับขนคนโดยสารนั้น

                   (ข) ในกรณีรับขนของ ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 3 ของค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บไม่ว่าในหรือนอกประเทศไทย ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เนื่องในการรับขนของออกจากประเทศไทยนั้น

             (2) มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้อันมิใช่รายได้ตามมาตรา 65 ทวิ (13) ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ

             (3) เงินได้ตามมาตรา 40 (4)(ก) ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นกองทุนรวม ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 15 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ”

มาตรา 12 ให้ยกเลิก (จ) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2534

มาตรา 13 เงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นกองทุนรวมซึ่งต้องเสียภาษีตามมาตรา 67 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ เฉพาะส่วนที่เกิดขึ้นจากเงินที่ฝาก หรือตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่ถืออยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี

มาตรา 14 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

 

 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

         นายกรัฐมนตรี

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันการลงทุนในตราสารหนี้โดยตรงมีภาระภาษีที่แตกต่างกับการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม และเพื่อให้ภาระภาษีจากการลงทุนทั้งสองประเภทดังกล่าวมีความสอดคล้องกัน สมควรปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้จากกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือตามกฎหมายของต่างประเทศ เฉพาะเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

หนา 103 - 106

เล่ม 136 ตอนที่ 67 ก ราชกิจจานุเบกษา 22 พฤษภาคม 2562