ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ข้อสรุปเกี่ยวกับการหักลดหย่อนบุตร

บทความวันที่ 17 พ.ย. 2562  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 2242 ครั้ง

ข้อสรุปเกี่ยวกับการหักลดหย่อนบุตร


        การหักลดหย่อนบุตรตั้งแต่ปีภาษี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป เป็นไปตามมาตรา 47 (1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 46) พ.ศ. 2561 ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี พ.ศ. 2561 ที่จะต้องยื่นรายการในปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการหักลดหย่อนบุตรไว้ดังนี้


1. หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุตรที่จะนำมาหักลดหย่อน
        1.1 ต้องเป็นผู้เยาว์ กรณีพ้นจากความเป็นผู้เยาว์ต้องมีอายุไม่เกิน 25 ปี และศึกษาในระดับอุดมศึกษา หรือเป็นผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
        1.2 เป็นบุตรที่อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้
        1.3 บุตรดังกล่าวต้องไม่มีเงินได้หรือมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วไม่ถึง 30,000 บาท โดยเงินได้พึงประเมินนั้นไม่เข้าลักษณะตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร


2. เงื่อนไขการหักลดหย่อนบุตร
        2.1 สำหรับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้ หรือบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามข้อ 1.
            (1) กรณีเกิดก่อนปี พ.ศ. 2561 ให้หักลดหย่อนได้ทุกคน โดยหักลดหย่อยได้คนละ 30,000 บาท
            (2) กรณีเกิดในปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป

                 (ก) หากเป็นบุตรคนแรก ให้หักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท

                 (ข) หากเป็นบุตรคนที่ 2 และคนต่อๆ ไป ให้หักลดหย่อนได้เพิ่มอีกคนละ 30,000 บาท รวมเป็นคนละ 60,000 บาท 

        2.2 สำหรับบุตรบุญธรรมเฉพาะของผู้มีเงินได้ ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามข้อ 1 ให้หักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกินสามคน 

        2.3 ในกรณีผู้มีเงินได้มีบุตรทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้ หรือบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ตามข้อ 2.1 และบุตรบุญธรรมตามข้อ 2.2 การหักลดหย่อนสำหรับบุตร ให้นำบุตรตามข้อ 2.1 ทั้งหมดมาหักก่อน แล้วจึงนำบุตรตามข้อ 2.2 มาหัก เว้นแต่ในกรณีผู้มีเงินได้มีบุตรตามข้อ 2.1 ที่มีชีวิตอยู่ รวมเป็นจำนวนตั้งแต่สามคนขึ้นไป จะนำบุตรตามข้อ 2.2 มาหักไม่ได้ แต่ถ้าบุตรตามข้อ 2.1 มีจำนวนไม่ถึงสามคน ให้นำบุตรตามข้อ 2.2 มาหักได้ โดยเมื่อรวมกับบุตรตามข้อ 2.1 แล้วต้องไม่เกินสามคน 

        2.4 การนับจำนวนบุตร ให้นับเฉพาะบุตรที่มีชีวิตอยู่ตามลำดับอายุสูงสุดของบุตร โดยให้นับรวมทั้งบุตรที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการหักลดหย่อนด้วย 

        2.5 การหักลดหย่อนสำหรับบุตรดังกล่าว ให้หักได้ตลอดปีภาษีไม่ว่ากรณีที่จะหักได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่ 

        2.6 ในกรณีบุตรบุญธรรมนั้นให้หักลดหย่อนในฐานะบุตรบุญธรรมได้แต่ฐานะเดียว

       

        นอกจากนี้ ผู้มีเงินได้ยังสามารถหักลดหย่อนค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรของตนเองหรือของภริยาได้อีก 60,000 บาท สำหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราว ตามข้อ 2 (99) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 338 (พ.ศ. 2561) สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนดดังนี้ อีกด้วย
        "(99) เงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสได้จ่ายเป็นค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรของตนตามจำนวนที่จ่ายจริงสำหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราวแต่ไม่เกินหกหมื่นบาท หากการจ่ายค่าฝากครรภ์ และค่าคลอดบุตรสำหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราวมิได้จ่ายในปีภาษีเดียวกัน ให้ได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริงในแต่ละปีภาษี แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินหกหมื่นบาท ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด"


        อธิบดีกรมสรรพากรอาศัยอำนาจตามข้อ 2 (99) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 331) เรื่อง กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สําหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ลงวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2561 ดังต่อไปนี้
        "ข้อ 1 ในประกาศนี้
             “ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร” หมายความว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาล อันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์และคลอดบุตร ไม่ว่าจะเป็นค่าตรวจและรับฝากครรภ์ ค่าบําบัดทางการแพทย์ ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์ ค่าทําคลอด และค่ากินอยู่ในสถานพยาบาล ทั้งนี้ ไม่ว่าทารกที่คลอดจะมีชีวิตรอดหรือไม่
             “สถานพยาบาล” หมายความว่า สถานพยาบาลของทางราชการและสถานพยาบาลของเอกชน
        ข้อ 2 การยกเว้นภาษีเงินได้สําหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสได้จ่ายเป็นค่าฝากครรภ์ และค่าคลอดบุตรให้แก่สถานพยาบาลตามจํานวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาท ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
             (1) กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่สามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ตามจํานวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาท
             (2) กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้
                  (ก) ถ้าต่างฝ่ายต่างยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะแยกยื่นรายการสําหรับเงินได้พึงประเมินทุกประเภท หรือเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ให้ภริยาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เต็มจํานวนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาท
                  (ข) ถ้าสามีภริยาตกลงยื่นรายการและเสียภาษีรวมกัน โดยถือเอาเงินได้พึงประเมินของตนเป็นเงินได้ของสามีหรือภริยาอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจํานวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 60,000 บาท
             (3) กรณีผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสจ่ายค่าฝากรรภ์ และค่าคลอดบุตรสําหรับการตั้งครรภ์ในคราวเดียวกันแต่คนละปีภาษี ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจํานวนที่จ่ายจริง ในแต่ละปีภาษี แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาท
             (4) กรณีผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสจ่ายค่าฝากครรภ์ และค่าคลอดบุตรสําหรับการตั้งครรภ์หลายคราวในปีภาษีเดียวกัน ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจํานวนที่จ่ายจริงสําหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราว ๆ ละไม่เกิน 60,000 บาท
        ข้อ 3 ผู้มีเงินได้ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 2 จะต้องมีเอกสารดังต่อไปนี้มาแสดงเพื่อขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้
             (1) ใบรับรองแพทยืจากแพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ได้ตรวจและแสดงความเห็นว่า ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสมีภาวะตั้งครรภ์
             (2) ใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานอื่นใดที่แสดงว่า ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสได้จ่ายค่าฝากครรภ์ และค่าคลอดบุตรให้แก่สถานพยาบาล
        ข้อ 4 การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 2 เมื่อนําไปรวมกับสิทธิการเบิกค่าฝากครรภ์ และค่าคลอดบุตรซึ่งเป็นสิทธิสวัสดิการจากภาครัฐหรือภาคเอกชนที่ผู้มีเงินได้และคู่สมรสได้รับสําหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราวแล้ว ต้องไม่เกิน 60,000 บาท
             สิทธิสวัสดิการจากภาครัฐหรือภาคเอกชนตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ สิทธิสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ สิทธิสวัสดิการพนักงานส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
สิทธิประกันสังคม สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสิทธิสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่ได้รับจากนายจ้างภาคเอกชน
        ข้อ 5 การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ให้ผู้มีเงินได้มีสิทธินําเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีไปคํานวณหักจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร หลังจากหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
        ข้อ 6 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป" 



3. บทสรุป 


        นับแต่ปีภาษี พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีการคุมกำเนิด โดยได้นำนโยบายการคุมกำเนิดมากำหนดเป็นค่าลดหย่อนบุตรว่า บุตรที่เกิดตั้งแต่ในหลังปี พ.ศ. 2522 ให้หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน แต่ในปีภาษี พ.ศ. 2561 ประเทศไทยกำลังย่างก้าวไปสู่ประเทศที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยมีจำนวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปี ขึ้นไป ไม่น้อยกว่า 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด จึงได้มีนโยบายส่งเสริมให้มีบุตรไม่จำกัดจำนวน และนำมาปรับใช้กับการหักลดหย่อน เพื่อกระตุ้นให้ผู้มีเงินได้มีบุตรเพิ่มขึ้น อีกทางหนึ่ง โดยการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 47 (1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร ดังได้นำมากล่าวข้างต้น แต่ยังจำกัดจำนวนค่าลดหย่อนบุตรบุญธรรมไว้ที่ไม่เกิน 3 คน 

นอกจากนี้ ยังให้สิทธิหักลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรคราวละไม่เกิน 60,000 บาท อีกด้วย