ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

รถยนต์กระบะ 4 ประตู จากรถยนต์นั่ง สู่รถยนต์กระบะบรรทุกไม่เกิน 4,000 กิโลกรัม ที่เครดิตภาษีซื้อได้

บทความวันที่ 5 ธ.ค. 2562  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 19032 ครั้ง

รถยนต์กระบะ 4 ประตู จากรถยนต์นั่ง สู่รถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กิโลกรัม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาศับอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ซึ่งใช้บังคับแทนที่พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป ได้ออกกฎกระทรวงกําหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 เปลี่ยนแปลงรายละเอียดในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตตอนที่ 6 สินค้ารถยนต์ สำหรับรถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณลักษณะที่อธิบดีกรมสรรพสามิตประกาศกำหนด จากพิกัด 06.01 ว่าด้วยรถยนต์นั่ง เป็นพิกัด 06.03 ว่าด้วยรถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กิโลกรัม เป็นผลทำให้รถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณลักษณะที่อธิบดีกรมสรรพสามิตประกาศกำหนด พ้นจากการเป็นรถยนต์นั่ง ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัตอัตราภาษีสรรพสามิต ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/095/111.PDF

ตามข้อ 2 ของประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณลักษณะของรถยนต์กระบะสี่ประตู (Double Cab) ลงวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2562 อธิบดีกรมสรรพสามิตกำหนดคุณลักษณะของรถยนต์กระบะสี่ประตู (Double Cab) ที่มีความจุของกระบอกสูบไม่เกิน 3,250 ลูกบาศก์เซนติเมตร ตามความใน (3) ของประเภทที่ 06.03 รถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีนำหนักรถรวมนำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กิโลกรัม ในบัญชีท้ายกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ไว้ ดังต่อไปนี้ "ข้อ 2 รถยนต์กระบะสี่ประตู (Double Cab) ที่มีความจุของกระบอกสูบไม่เกิน 3,250 ลูกบาศก์เซนติเมตร ใน (ก) - (ง) และที่มีความจุของกระบอกสูบเกิน 3,250 ลูกบาศก์เซนติเมตร ใน (จ) ของ (3) ของประเภทที่ 06.03 ในบัญชีท้ายกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562 ต้องมีคุณลักษณะครบถ้วนทุกข้อ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี 2.1 ตัวถังวางบนโครงสร้าง (Frame Construction) แบบแชสซีส์ของรถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถไม่น้อยกว่า 1,200 กิโลกรัม มีน้ำหนักบรรทุกไม่น้อยกว่า 1,000 กิโลกรัม และมีน้ำหนักรถรวมนำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กิโลกรัม ซึ่งเป็นแบบเดียวกับรุ่นที่มีการผลิตในประเทศ มีการจัดจำหน่ายทั่วไปหรือส่งออกเป็นปกติวิสัย และจดทะเบียนเป็นรถยนต์กระบะบรรทุกตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ 2.2 ระบบกันสะเทือนหลังแบบแหนบ 2.3 ระยะด้านนอกตัวรถยนต์จากแนวขอบด้านหน้าส่วนที่กว้างที่สุดของบานประตูจนถึงด้านหลังสุดของห้องคนขับในแนวระนาบเดียวกัน มีความยาวเกินกว่า 180 เซนติเมตร 2.4 ส่วนท้ายเป็นกระบะเปิดโล่งจนถึงท้ายรถ โดยไม่มีหลังคา และมีความยาวของกระบะไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร" http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/154/T_0031.PD

การเปลี่ยนแปลงพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตดังกล่าว มีผลกระทบต่อภาษีอากรตามประมวลรัษากรดังนี้
1. ภาษีซื้อสำหรับรถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณลักษณะที่อธิบดีกรมสรรพสามิตประกาศกำหนด ตามข้อ 2 ของประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณลักษณะของรถยนต์กระบะสี่ประตู (Double Cab) รวมทั้งภาษีซื้อสำหรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับรถยนต์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป ไม่ถือเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 2 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)
นั่นย่อมหมายความว่า ภาษีซื้อสำหรับรถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณลักษณะที่อธิบดีกรมสรรพสามิตประกาศกำหนด ที่ได้มาก่อนวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 ยังคงเป็นภาษีซื้อต้องห้ามที่นับรวมเป็นต้นทุนรถยนต์นั่งต่อไป แต่ภาษีซื้อสำหรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์ดังกล่าว ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา ย่อมสามารถใช้เป็นภาษีซื้อที่นำไปเดรดิตหักภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ได้ แต่ทั้งนี้ หากรถกระบะ 4 ประตูที่ได้มาก่อนวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 และได้จดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งตามกฎหมายเดิม หากประสงค์จะใช้ภาษีซื้อสำหรับค่าใช้จ่ายดังกล่าวผู้ประกอบการจดทะเบียน ต้องเปลี่ยนทะเบียนเป็นรถยนต์บรรทุกเสียก่อน จึงจะสามารถใช้ภาษีซื้อได้
2. ต้นทุนรถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณลักษณะที่อธิบดีกรมสรรพสามิต ในการคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้มาโดยการซื้อหรือเช่าซื้อ ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป ไม่จำกัดมูลค่าต้นทุนที่จำนวนไม่เกิน 1,000,000 บาท อีกต่อไป
การเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าว ย่อมไม่กระทบต่อมูลค่าต้นทุนรถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณลักษณะที่อธิบดีกรมสรรพสามิตประกาศกำหนด ในการคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้มาโดยการซื้อหรือเช่าซื้อ ก่อนวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 ยังคงจำกัดมูลค่าต้นทุนที่จำนวนไม่เกิน 1,000,000 บาท อีกต่อไป
3. มูลค่าต้นทุนรถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณลักษณะที่อธิบดีกรมสรรพสามิตประกาศกำหนด ที่ได้มาตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป ในส่วนที่เกินกว่า 1,000,000 บาท ไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (20) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 (1) แห่งพระราขกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540
สำหรับมูลค่าต้นทุนรถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณลักษณะที่อธิบดีกรมสรรพสามิตประกาศกำหนด ที่ได้มาก่อนวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 ในส่วนที่เกินกว่า 1,000,000 บาท ยังคงเข้าลักษณะเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (20) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 (1) แห่งพระราขกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540 อยู่ต่อไป
4. ค่าเช่ารถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณลักษณะที่อธิบดีกรมสรรพสามิตประกาศกำหนด ที่เช่าตั้งแต่วันที 16 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป ไม่จำกัดจำนวนที่ 36,000 บาทต่อคันต่อเดือน หรือ 1,200 บาทต่อคันต่อวัน ตามมาตรา 65 ตรี (20) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 (2) แห่งพระราขกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต สำหรับรถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณลักษณะที่อธิบดีกรมสรรพสามิตประกาศกำหนดตามข้อ 2 ของประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณลักษณะของรถยนต์กระบะสี่ประตู (Double Cab) ลงวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2562 จากพิกัดอัตรา 06.01 "รถยนต์นั่ง" เป็นพิกัด 06.03 "รถยนต์กระบะที่ออกแบบสำหรับให้มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 4,000 กิโลกรัม" ย่อมส่งผลกระทบต่อการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งส่วนของค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา และมูลค่าต้นทุนรถยนต์ในส่วนที่เกินกว่า 1,000,000 บาท และการนำภาษีซื้อเกี่ยวกับรถยนต์ดังกล่าวมาเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม นับแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา