ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

สวัสดิการและประโยชน์ที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้าง

บทความวันที่ 14 ธ.ค. 2562  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 2202 ครั้ง

สวัสดิการและประโยชน์ที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างที่ไม่ต้องนำมาคำนวณเสียภาษีเงินได้ มีดังนี้ เป็นอาทิ
        1. ค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าพาหนะ ซึ่งลูกจ้างหรือผู้รับหน้าที่หรือตําแหน่งงาน หรือผู้รับทํางานให้ ได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจําเป็นเฉพาะ ในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น (มาตรา 42 (1) แห่งประมวลรัษฎากร)
            อนึ่ง ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 59/2538 ลงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2538 อธิบดีกรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติ เกี่ยวกับค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางในกรณีที่ต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่นอกสำนักงานหรือนอกสถานที่เป็นครั้งคราว ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ไว้ดังต่อไปนี้
            “ข้อ 1 ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางที่ลูกจ้างหรือผู้มีหน้าที่หรือตำแหน่งงาน หรือผู้รับทำงานให้ ได้รับเนื่องจากการเดินทางไปปฏิบัติงานตามหน้าที่ในประเทศหรือต่างประเทศเป็นครั้งคราว ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องเข้าลักษณะดังนี้
                 (1) ต้องเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงซึ่งบุคคลดังกล่าวได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่จะต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น
                 (2) ในกรณีบุคคลดังกล่าวได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงในอัตราไม่เกินอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงสูงสุดที่ทางราชการกำหนดจ่ายให้แก่ข้าราชการ ตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ ในประเทศหรือต่างประเทศ แล้วแต่กรณี ตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายในลักษณะเหมาจ่าย ให้ถือว่าค่าเบี้ยเลี้ยงดังกล่าว เป็นค่าเบี้ยเลี้ยงซึ่งบุคคลดังกล่าวได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น โดยไม่ต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินมาพิสูจน์
                 (3) ในกรณีบุคคลดังกล่าวได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงในอัตราเกินกว่าอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงตาม (2) และบุคคลดังกล่าวไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ว่าได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้นให้ถือว่าค่าเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงซึ่งบุคคลนั้นได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็น เพียงเฉพาะในส่วนที่ไม่เกินอัตราตาม (2)
            ข้อ 2 การเดินทางไปปฏิบัติงานตามหน้าที่ ตามข้อ 1 ต้องมีหลักฐานการได้รับอนุมัติให้เดินทางไปปฏิบัติงานนอกสำนักงานหรือนอกสถานที่จากนายจ้างหรือผู้จ่ายเงินได้ โดยต้องระบุลักษณะงานที่ทำและระยะเวลาในการปฏิบัติงานตามหน้าที่แล้วแต่กรณีด้วย”
        2. เงินค่าเดินทางซึ่งนายจ้างจ่ายให้ลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างเดินทางจากต่างถิ่นเพื่อมาเข้ารับงานเป็นครั้งแรก หรือในการกลับถิ่นเดิมเมื่อการจ้างได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ข้อยกเว้นนี้ มิให้รวมถึงเงินค่าเดินทางที่ลูกจ้างได้รับในการกลับถิ่นเดิม และในการเข้ารับงานของนายจ้างเดิมภายใน 365 วัน นับแต่วันที่การจ้างครั้งก่อนได้สิ้นสุดลง (มาตรา 42 (3) แห่งประมวลรัษฎากร)
        3. เงินประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตนได้รับจากกองทุนประกันสังคม ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม (มาตรา 42 (25) แห่งประมวลรัษฎากร)
        4. เงินได้ส่วนที่เป็นค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่ายให้ หรือจ่ายแทนลูกจ้างเป็นค่ารักษาพยาบาล สำหรับ
            (1) ลูกจ้าง สามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดาน ซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของลูกจ้าง ทั้งนี้เฉพาะสำหรับการรักษาพยาบาลที่กระทำในประเทศไทย
            (2) ลูกจ้าง ในกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลในต่างประเทศ ในขณะที่ปฏิบัติการตามหน้าที่ในต่างประเทศเป็นครั้งคราว
            ทั้งนี้ เงินจำนวนดังกล่าวได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น (กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ 2 (4))
        5. เงินได้ส่วนที่นายจ้างจ่ายให้เป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้างประกอบด้วย
            (1) เงินได้ที่คำนวณได้จากมูลค่าของเครื่องแบบ ซึ่งลูกจ้างได้รับจากนายจ้างในจำนวนคนละไม่เกินสองชุดต่อปี และเสื้อนอกในจำนวนคนละไม่เกินหนึ่งตัวต่อปี
                 “เครื่องแบบ” หมายความว่า เครื่องแต่งกาย รวมทั้งสิ่งประกอบเครื่องแต่งกายที่กำหนดให้แต่งเพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน แต่ไม่รวมถึงรองเท้าที่อาจใช้งานได้ทั่วไป ชุดชั้นใน หรือสิ่งประกอบเครื่องแต่งกายที่ทำด้วยโลหะหรืออัญมณีที่มีค่า เช่น เงิน ทองคำ ทับทิม หยก
                 “เสื้อนอก” หมายความรวมถึง ชุดไทยพระราชทาน และเสื้อที่นิยมใช้ในการแต่งกายไปในงานสำคัญต่างๆ (กฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (34))
            (2) เงินได้ที่คำนวณได้จากมูลค่าที่ลูกจ้างได้รับจากการนำบุตรชอบด้วยกฎหมายของตนแต่ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมไปอยู่ในความดูแลของสถานรับเลี้ยงเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กที่นายจ้างได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสวัสดิการของลูกจ้างสำหรับ สถานประกอบการนั้น ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป
            (3) ค่าสวัสดิการอื่นๆ เช่น
                 (ก) รถรับ-ส่งพนักงาน ที่ทางบริษัทมีการกำหนดเส้นทางและจุดรับ-ส่งไว้ไว้เฉพาะ โดยที่ลูกจ้างคนใดก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้
                 (ข) การจัดงานเลี้ยงในวันปีใหม่ ตามโอกาสเพื่อขนบธรรมเนียมประเพณี
                 (ค) ค่าฌาปนกิจศพ ลูกจ้างที่เสียชีวิต
                 (ง) ทุนการศึกษาแก่พนักงาน
                 (จ) จัดฝึกอบรมพนักงาน เพื่อกิจการของนายจ้างโดยตรง
                 (ฉ) ค่าสมาชิกสโมสรกีฬา หรือสโมสรเพื่อการพักผ่อน
                 (ช) การให้กู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย
                 (ซ) การได้สิทธิซื้อสินค้าราคาถูกกว่าท้องตลวด
                 (ฌ) บริการเครื่องดื่ม น้ำดื่ม ชา กาแฟ ยารักษาโรค ที่ทางนายจ้างจัดไว้ให้
                 (ญ) สวัสดิการจัดกีฬาสี รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพนักงานโดยตรง
                 (ฎ) ค่าโทรศัพท์ (เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 2,000 บาท ต่อเดือน)
        6. ค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและค่าชดเชยที่พนักงานได้รับตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ แต่ไม่รวมถึงค่าชดเชยที่ลูกจ้างหรือพนักงานได้รับเพราะเหตุเกษียณอายุหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง ทั้งนี้เฉพาะค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายแต่ไม่เกินสามแสนบาท (กฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (51))
        7. เงินได้เท่าที่ลูกจ้างจ่ายเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนสํารองเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสํารองเลี้ยงชีพในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้างเฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 490,000 บาท สําหรับปีภาษีนั้น ทั้งนี้ สําหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2551 เป็นต้นไป (กฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (35))
        8. เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ดังต่อไปนี้
            (1) เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับ เนื่องจากลูกจ้างออกจากงานเพราะตาย ทุพพลภาพหรือออกจากงานเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่าห้าสิบห้าปีบริบูรณ์
            (2) เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่มีสิทธิได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเนื่องจากลูกจ้างออกจากงานก่อนอายุครบห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ แต่เมื่อออกจากงานแล้วได้คงเงินหรือผลประโยชน์นั้นไว้ ทั้งจำนวนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และต่อมาได้รับเงินหรือผลประโยชน์หลังจากลูกจ้างผู้นั้นตาย ทุพพลภาพหรืออายุครบห้าสิบห้าปีบริบูรณ์
            ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด (กฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (36))
        9. เงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในอัตราไม่เกินร้อยละสิบห้าของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่
ไม่เกินห้าแสนบาท สำหรับปีภาษีนั้น โดยผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรกและไถ่ถอนหน่วยลงทุนนั้นเมื่อผู้มีเงินได้มีอายุไม่ต่ำกว่าห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ ทั้งนี้สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
            ในกรณีที่ผู้มีเงินได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนด้วย เงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่งเมื่อรวมกับเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสงเคราะห์ ต้องไม่เกินห้าแสนบาท
            ในกรณีที่ผู้มีเงินได้ถือหน่วยลงทุนไม่ครบห้าปีนับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรกหรือไถ่ถอนหน่วยลงทุนก่อนที่ผู้มีเงินได้มีอายุครบห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ ให้ผู้มีเงินได้นั้นหมดสิทธิได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีตามวรรคหนึ่งมาแล้วด้วย (กฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (55))
        10. เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้รับจากกองทุนรวมดังกล่าวเพราะเหตุสูงอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด (กฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (56))
        11. เงินได้พึงประเมินที่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยและมีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษีได้รับ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาทในปีภาษีนั้น ทั้งนี้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 เป็นต้นไป (กฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (72)) โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 150))
        12. เงินได้ที่ผู้มีเงินได้เป็นคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และมีอายุไม่เกินหกสิบห้าปีบริบูรณ์ในปีภาษีที่ได้รับ จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะเงินได้พึงประเมินที่ได้รับส่วนที่ไม่เกินหนึ่งแสนเก้าหมื่นบาทในปีภาษีนั้น โดยผู้มีเงินได้ที่มีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์ในปีภาษีใด ได้ใช้สิทธิยกเว้นตามข้อ 2 (72) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรแล้ว ต้องไม่ใช้สิทธิยกเว้นตามข้อ 2 (81) ในปีภาษีนั้นอีก (กฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (81))
        13. เงินได้ที่ผู้มีเงินได้เป็นคนพิการ ซึ่งเป็นคนต่างด้าวและเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย โดยมีหนังสือรับรองความพิการจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และมีอายุไม่เกินหกสิบห้าปีบริบูรณ์ในปีภาษีได้รับ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท สําหรับปีภาษีนั้น ทั้งนี้ สําหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป (กฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (98))
        14. เงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัท ประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักรตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพัน บาท สำหรับการประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มี เงินได้ซึ่ง มีรายได้ไม่เพียงพอ แก่การยังชีพ ทั้งนี้ ต้องเป็นเบี้ยประกันภัยที่ได้จ่ายในปี พ.ศ. 2549 เป็น ต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด (กฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (76)
        15. เงินได้เท่าที่นายจ้างจ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักร สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มที่มีกำหนดเวลาไม่เกินหนึ่งปี เฉพาะในส่วนที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลสำหรับ
             (1) ลูกจ้าง สามี ภริยา บุพการีหรือผู้สืบสันดานซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของลูกจ้าง ทั้งนี้ เฉพาะการรักษาพยาบาลในประเทศไทย
             (2) ลูกจ้าง ในกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลในต่างประเทศ ในขณะที่ปฏิบัติการตามหน้าที่ในต่างประเทศเป็นครั้งคราว
             ทั้งนี้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2549 เป็นต้นไป (กฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) ข้อ 2 (77)


ตัวอย่างสวัสดิการอื่น ๆ ที่ลูกจ้างในภาคเอกชนต้องนำมาคำนวณรวมในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

        1. ภาษีเงินได้ที่นายจ้างออกให้หรือจ่ายแทนลูกจ้าง (มาตรา 39 มาตรา 40 วรรคท้าย แห่งประมวลรัษฎากร)
        2. เบี้ยขยัน 
        3. เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้เป็นเงินค่าเช่าบ้านหรือเงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า (มาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ 23/2533) 
        4. เงินช่วยการศึกษาบุตร (ค่าเล่าเรียนบุตร) เงินช่วยเหลือบุตร เงินค่าเบี้ยกันดาร เงินยังชีพ
        5. เงินค่าอาหารทำการนอกเวลา (ค่าล่วงเวลา)
        6. บริการอาหาร ที่ทางบริษัทจัดไว้ให้ในเวลาปฏิบัติงาน
        7. หุ้นไปแจกให้พนักงานลูกจ้าง หรือค่าหุ้นที่ขายให้พนักงานลูกจ้างตามข้อตกลงพิเศษในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด (ESOP: Employee Stock Option Program) 


            ตาม

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การเสียภาษีในกรณีได้รับแจกหุ้น หรือได้ซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดตามข้อตกลงพิเศษ คณะกรรมการฯ ได้มีคำวินิจฉัยว่า กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำหุ้นไปแจกให้พนักงานลูกจ้าง กรรมการ ที่ปรึกษา หรือบุคคลผู้รับทำงานให้ในลักษณะทำนองเดียวกัน หรือนำหุ้นไปขายให้กับบุคคลดังกล่าวตามข้อตกลงพิเศษในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด กรณีย่อมถือได้ว่าบุคคลดังกล่าวได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว จึงต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้นไม่ว่าหุ้นดังกล่าวจะมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายจ่ายโอน และไม่ว่าหุ้นดังกล่าวจะเป็นหุ้นที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

           สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมิน ให้ถือตามมูลค่าหุ้น ดังนี้

           (1) ในวันที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้นดังกล่าว เป็นหุ้นที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

                (ก) หากหุ้นดังกล่าวมีราคาขายให้กับประชาชนทั่วไป (Public Offering)ให้ถือมูลค่าหุ้นเท่ากับราคาขายให้กับประชาชนทั่วไป

                (ข) หากหุ้นดังกล่าวไม่มีราคาขายให้กับประชาชนทั่วไป (Public Offering) ให้ถือมูลค่าหุ้นเท่ากับราคาเฉลี่ยในตลาดหลักทรัพย์ในเดือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้น

           (2) ในวันที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้นดังกล่าว เป็นหุ้นที่ไม่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

                (ก) หากหุ้นดังกล่าวมีราคาขายให้กับประชาชนทั่วไป (Public Offering) ให้ถือมูลค่าหุ้นเท่ากับราคาขายให้กับประชาชนทั่วไป

                (ข) หากหุ้นดังกล่าวไม่มีราคาขายให้กับประชาชนทั่วไป (Public Offering) ให้ถือมูลค่าหุ้นเท่ากับมูลค่าทางบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้น

                กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดจะเสนอหุ้นให้พนักงาน ลูกจ้างกรรมการ ที่ปรึกษา หรือบุคคลผู้รับทำงานให้ในลักษณะทำนองเดียวกัน โดยมีเงื่อนไขเกี่ยวกับหุ้นดังกล่าว และประสงค์ที่จะทำความตกลงเกี่ยวกับการคำนวณมูลค่าหุ้นเพื่อประโยชน์ในการเสียภาษีของบุคคลดังกล่าว ให้ยื่นคำขอต่อกรมสรรพากรเพื่อเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป