ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

Impairment ด้อยค่าทรัพย์สิน อย่างไรให้ถูกหลักสรรพากร

บทความวันที่ 22 ธ.ค. 2562  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 17832 ครั้ง

Impairment ด้อยค่าทรัพย์สิน อย่างไรให้ถูกหลักสรรพากรค่ะ

 

การด้อยค่าของสินทรัพย์ (Impairment of assets) ในทางบัญชี

        การด้อยค่าของสินทรัพย์ เมื่อกิจการใช้งานสินทรัพย์มาระยะหนึ่ง ต่อมามีการเปลี่ยนแลงเกิดขึ้น ทั้งจากภายในหรือภายนอกของกิจการ จนเป็นสาเหตุให้มูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์สูงกว่ามูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืน แสดงว่าสินทรัพย์เกิดการด้อยค่า (Impairment) กรณีดังกล่าว มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 36 (ปรับปรุง 2552) เรื่องการด้อยค่าของสินทรัพย์ (กำหนดให้ใช้ปี 2554) ได้กำหนดไว้ว่า สินทรัพย์จะเกิดการด้อยค่าเมื่อมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์สูงกว่ามูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืน ดังนั้น  

        ถ้าสินทรัพย์มีการด้อยค่าเกิดขึ้น มูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืนจะเป็นตัวกำหนดให้กิจการต้องลดมูลค่าตามบัญชี ให้มีจำนวนเท่ากับมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืน สำหรับมูลค่าที่ลดลงให้รับรู้เป็นผลขาดทุนจากการด้อยค่า

        มูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืน (Recoverable amount : RA) หมายถึง มูลค่ายุติธรรมหักต้นทุนในการขายสินทรัพย์ หรือหน่วยสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดเงินสด หรือมูลค่าจากการใช้ของสินทรัพย์แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

        มูลค่ายุติธรรมหักต้นทุนในการขาย (Fair value less costs to sell or Net fair value : NFV) หมายถึง จำนวนที่จะได้รับจากการขายสินทรัพย์หรือหน่วยสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดเงินสดหักด้วยต้นทุนการขายินทรัพย์นั้น โดยที่ผู้ซื้อกับผู้ขายสามารถต่อรองราคากันได้อย่างเป็นอิสระในลักษณะของผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกัน ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายมีความรอบรู้และเต็มใจในการแลกเปลี่ยน

        มูลค่าจากการใช้ (Value in use : VIU) หมายถึง มูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดในอนาคตที่คาดว่าจะได้รับ จากการใช้สินทรัพย์หรือหน่วยสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดเงินสด

        มูลค่าตามบัญชี (Carrying amount : CA) หมายถึง มูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดในอนาคตที่คาดว่าจะได้รับ จากการใช้สินทรัพย์หรือหน่วยสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดเงินสด

        ผลขาดทุนจากการด้อยค่า (Loss in impairment) หมายถึง จำนวนมูลค่าตามบัญชีที่สูงกว่ามูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืนของสินทรัพย์ หรือหน่วยสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดเงินสด

        ต้นทุนในการขาย ( Cost to sell or costs of disposal) หมายถึง ต้นทุนส่วนเพิ่มที่เกี่ยวข้องดดยตรงกับการจำหน่ายสินทรัพย์หรือหน่วยสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดเงินสดซึ่งไม่รวมต้นทุนทางการเงินและค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้

        หน่วยสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดเงินสด (Cash generating Unit : CGU) หมายถึง สินทรัพย์กลุ่มที่เล็กที่สุดที่สามารถระบุได้ว่าการใช้กลุ่มสินทรัพย์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จะก่อให้เกิดกระแสเงินสดรับ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นอิสระจากกระแสเงินสดรับที่เกิดจากสินทรัพย์อื่นหรือกลุ่มสินทรัพย์อื่น

แหล่งอ้างอิง : หนังสือการบัญชีชั้นกลาง 1 ( ผศ. ทิพสุดา คมวงศ์วิวัฒน์ )

https://www.pangpond.co.th/p=4405

 

การด้อยค่าของทรัพย์สินในทางภาษีอากร

1. หลักการตีราคาทรัพย์สินในทางภาษีอากร

        1.1 ตามมาตรา 65 ทวิ (3) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ต้องรับรู้มูลค่าของทรัพย์สินตามมราคาที่พึงซื้อทรัพย์สินนั้นได้ตามปกติ หรือมูลค่าต้นทุนเดิม (Historical Cost)

        1.2 ในกรณีที่มีการตีราคาทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ห้ามมิให้นำราคาที่ตีราคาเพิ่มขึ้นมารวมคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ส่วนทรัพย์สินรายการใดมีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ก็ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในการคำนวณกำไรสุทธิ หรือขาดทุนสุทธิตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราเดิมที่ใช้อยู่ก่อนตีราคาทรัพย์สินเพิ่มขึ้น โดยให้หักเพียงเท่าที่ระยะเวลา และมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่สำหรับทรัพย์สินนั้นเท่านั้น

        1.3 ตามมาตรา 65 ตรี (17) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดห้ามมิให้นำค่าของทรัพย์สินนอกจากสินค้าที่ตีราคาต่ำลง ทั้งนี้ ภายใต้บังคับมาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร มาถือเป็นรายจ่าย ในการคำนวณกำไรสุทธิ หรือขาดทุนสุทธิ


2. หลักเกณฑ์ในการตีราคาสินค้าคงเหลือ (มาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร)

        2.1 การตีราคาสินค้าคงเหลือให้นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณตามราคาทุนหรือราคาตลาด แล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่า และให้ถือราคานี้เป็นราคาสินค้าคงเหลือยกมาสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใหม่ด้วย

        2.2 การคำนวณราคาทุนดังกล่าว เมื่อได้คำนวณตามหลักเกณฑ์ใด ตามวิชาการบัญชี ให้ใช้หลักเกณฑ์นั้นตลอดไป เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีจึงจะเปลี่ยนหลักเกณฑ์ได้


3. การตั้งสำรองหรือค่าเผื่อการด้อยค่าของทรัพย์สิน

        การตั้งสำรองหรือค่าเผื่อการด้อยค่าของทรัพย์สินทุกประเภท เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (1) แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ในบางกิจการ ได้แก่ บริษัทประกันชีวิต บริษัทประก้นวินาศภัย และสถาบันการเงิน เท่านั้น

 

        ดังนั้น สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไป ไม่มีหลัก Impairment ด้อยค่าทรัพย์สิน ให้ใข้ได้โดยถูกหลักสรรพากร แต่อย่างใด ต้องถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดไว้ล้วดังกล่าวเท่านั้น