ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการขายห้องชุดพร้อมตกแต่งห้องชุดในราคาเป็น Package ที่รวมเฟอร์นิเจอร์ตกแต่ง

บทความวันที่ 29 ธ.ค. 2562  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 3463 ครั้ง

ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการขายห้องชุดพร้อมตกแต่งห้องชุดในราคาเป็น Package ที่รวมเฟอร์นิเจอร์ตกแต่ง


        โดยความเคารพคำตอบข้อหารือของกรมสรรพากร ซึ่งมีศักดิเป็นเพียงแนวทางปฏิบัติที่ต้องยอมรับว่า โดยทั่วไปสามารถนำไปใช้อ้างอิง และถือปฏิบัติ โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ แต่บางข้อหารือ ก็เห็นได้ว่า เป็นเพียงกรณีศึกษา Case by case เท่านั้น ไม่พึงผูกพันผู้เสียภาษีอากรรายอื่นหรือท่านผู้ประกอบการรายอื่นๆ กล่าวคือ พึงผูกพันเฉพาะผู้ที่ได้รับคำตอบข้อหารือนั้นๆ แต่เพียงลำพัง เพราะข้อหารือบางข้อ ไม่เป็นประโยชน์โภคผลต่อประเทศชาติบ้านเมืองเอาเสียเลย ดังเช่นกรณีเลขที่หนังสือ กค 0702/298 เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการขายห้องชุดพร้อมตกแต่งห้องชุดในราคาเป็น Package ที่รวมเฟอร์นิเจอร์ตกแต่ง ลงวันที่ 15 มกราคม 2552 ที่แนบมาท้ายนี้ ดังต่อไปนี้

        1. ไม่เป็นการสนุกเลยที่ต้องเป็นทั้งผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในการประกอบกิจการที่เนื่องจนเป็นเนื้อเดียวกันในลักษณะดังกล่าว เพราะผู้ประกอบกิจการสร้างคอนโดมิเนียมขายนั้น ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะขอเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เฉพาะในส่วนของการขายเฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น มีมากมายเหลือคณานับ ต้องเป็นภาระยื่นแบบ ภ.พ.30 ทุกเดือน ไม่ว่าจะมีรายได้จากการประกอบกิจการหรือไม่ บทกำหนดโทษทั้งในส่วนของเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม รวมทั้งค่าปรับทางอาญา ก็จุกจิกหยุมหยิม เหมือนคอยจับผิดมากกว่าที่จะส่งเสริมให้ประกอบธุรกิจด้วยต้นทุนที่ต่ำ ขยับตัวเป็นผิด จึงอยู่ให้ห่างจะดีกว่า 

            ผมไม่มีข้อขัดข้องกรณีขายห้องชุดแถมรถยนต์ ซึ่งแตกต่างไปจากการขายห้องชุดพร้อมเฟอร์นิเจอร์โดยสิ้นเชิง แม้จะมองว่าเป็นการขายสังหาริมทรัพย์ด้วยกันก็ตาม เฟอร์นิเจอร์ใกล้เคียงกับการที่จะเป็นส่วนควบ และเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตในห้องชุด แต่รถยนต์ไม่มีลักษณะเช่นนั้นเลย จึงไม่ควรที่จะใช้หลักการเดียวกัน การขายปุ๋ยพร้อมถุงปุ๋ย กรมสรรพากรไม่เคยให้แยกราคาปุ๋ย และถุงปุ๋ยออกจากกัน ทั้งที่แยกได้ หรือกรณีที่ใกล้เคียงมากๆ คือ การขายอาคารพร้อมระบบสาธารณูปโภค กรมสรรพากรก็ไม่เคยให้แยกราคาต่างหากจากกัน แต่ครั้นเป็น Fixture Furniture กลับมองต่างมุมออกไป เท่ากันเป็นสองมาตรฐาน 

        2. เมื่อมีรายได้ในสองประเภทกิจการ อาจนำไปสู่การเฉลี่ยภาษีซื้อตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) ในกรณีที่หากมีรายจ่ายที่เกี่ยวข้องที่ไม่อาจแยกได้ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า เป็นกฎหมายที่ไม่ง่ายเลย

        3. กรมสรรพากรไม่ได้ประโยชน์ใดๆ เพิ่มขึ้นจากการกำหนดให้ “ถือมูลค่าจากการขายสินค้าเท่ากับต้นทุนสินค้าที่ซื้อมา” ซึ่งเท่ากับภาษีขายมีจำนวนเท่ากับภาษีซื้อ และอาจต้องคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากแต่เป็นการเพิ่มภาระต้นทุนการปฏิบัติตามกฎหมาย (Compliance Cost) ผู้ซื้อห้องชุดต้องรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับภาษีซื้อ ซึ่งหากไม่ถือเป็นการขายกรมสรรพากรก็ได้รับภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวนนั้นไปแล้วอยู่ดี 

            การสร้างให้เกิดความสิ้นเปลืองต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะ "การจัดเก็บภาษีอากรด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำของทั้งกรมสรรพากร และของผู้เสียภาษีอากร" จึงน่าจะถือได้ว่า การตอบข้อหารือในเชิงนี้ เป็น “โมฆะ” ใช้ไม่ได้ เพราะขัดต่อวัตถุประสงค์หลักของกรมสรรพากรโดยชัดแจ้ง 

        4. การแยกราคาเฟอร์นิเจอร์ออกจากราคาห้องชุด เป็นผลต่อผู้ซื้อห้องชุดที่ต้องกู้ยิมเงินจากสถาบันการเงิน ซึ่งจะทำให้ได้วงเงินกู้ไม่เต็มจำนวน ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ที่ต้องหาเงินเพิ่มขึ้น ทั้งที่หากรวมค่าเฟอร์นิเจอร์ไว้ในราคาห้องชุดกลับได้วงเงินกู้เต็มจำนวน เท่ากับไม่ส่งเสริมภาคธุรกิจให้สามารถประกอบกิจการได้ และขณะเดียวกันก็เป็นการอุปสรรคขัดขวางการมีที่อยู่อาศัยของประชาชน ไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ขัดนโยบายแห่งรัฐ  

        5. ในอดีตกรมสรรพากรเคยวางแนวทางที่กลับด้านกับการตอบข้อหารือเดิมๆ โดยการออกคำสั่งกรมสรรรพากรที่ ป. อาทิ คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 106/2544 เรื่อง การเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการของผู้ประกอบกิจการท่าเรือ และผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการให้บริการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันกับกิจการท่าเรือ ซึ่งนับเป็นความกล้าหาญมากๆ


        หากบริษัทฯ ยังมิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ก็ไม่พึงต้องนำภาษีขายขาย สำหรับเฟอร์นิเจอร์ที่ซื้อมาตกแต่ง ในสัญญาระบุว่า เป็นโปรโมชั่นแถมเฟอร์ ณ วันโอน เพราะถือเป็นการขายบ้านพร้อมกับเฟอร์นิเจอร์ อันเป็นบ้านพร้อมอยุ่อาศัย เป็นกิจการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะทั้งจำนวน ไม่ต้องแยกค่าเฟอร์นิเจอร์อันเป็นของแถมออกต่างหากจากราคา 


ขอนำหนังสือตอบข้อหารือเลขที่ กค 0702/298 ลงวันที่ 15 มกราคม 2552 มาแสดงประกอบดังนี้ 

เลขที่หนังสือ : กค 0702/298

วันที่ : 15 มกราคม 2552
เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการขายห้องชุดพร้อมตกแต่งห้องชุดในราคาเป็น Package ที่รวมเฟอร์นิเจอร์ตกแต่ง
ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 มาตรา 65 ทวิ มาตรา 65 ตรี มาตรา 77/1(8)(9) และมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ :
        บริษัท พ. จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ประเภทกิจการก่อสร้างคอนโดมิเนียมขาย ซึ่งบริษัทฯ จะกำหนดราคาขายห้องชุดพร้อมตกแต่งห้องชุดในราคาเป็น Package ที่รวมเฟอร์นิเจอร์ตกแต่ง โดยทำสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างบริษัทฯ กับผู้จะซื้อในราคาเป็น Package ที่รวมเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งแล้ว โดยมีรายละเอียดดังนี้
        1. ติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ประเภท Build in ซึ่งติดตรึงกับห้องชุด เช่น เตียงนอน ตู้เสื้อผ้า โต๊ะและเก้าอี้ชุดรับประทานอาหาร ห้องครัวซึ่งตกแต่งติดกับผนังห้องชุด เป็นต้น
        2. ติดตั้งแอร์ตามตำแหน่งที่กำหนดให้เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยบริษัทฯ ได้เดินท่อน้ำทิ้ง ท่อสายไฟฟ้า ท่อน้ำยาแอร์ ของทุกห้องชุดพร้อมกับการก่อสร้างอาคารไว้เพื่อรอการติดตั้งแอร์
        3. มีทีวี ตู้เย็น ที่นอน รวมอยู่ในราคาจะซื้อจะขายด้วย
        บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
        1. กรณีบริษัทฯ ขายห้องชุดพร้อมตกแต่งห้องชุดในราคาเป็น Package ที่รวมเฟอร์นิเจอร์ตกแต่ง โดยทำสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างบริษัทฯ กับผู้จะซื้อในราคาเป็น Package ที่รวมเฟอร์นิเจอร์ตกแต่ง การตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ดังกล่าว บริษัทฯ จะต้องนำมูลค่าที่ได้รับมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีธุรกิจเฉพาะ
        2. หากปรากฏว่า ราคาประเมินของกรมที่ดินเพื่อใช้ในการโอนห้องชุดมีราคาสูงกว่าราคาตามสัญญาจะซื้อจะขาย บริษัทฯ จะรับรู้รายได้เพื่อนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีตามราคาประเมินหรือตามราคาที่ได้รับจริงตามสัญญาจะซื้อจะขาย
แนววินิจฉัย :
        1. กรณีบริษัทฯ ขายห้องชุดดังกล่าว โดยทำสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างบริษัทฯ กับผู้จะซื้อในราคาเป็น Package ที่รวมเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งแล้ว เฉพาะราคาห้องชุดไม่รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ ตกแต่ง ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 บริษัทฯ อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) และมาตรา 77/1 (9) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้ถือมูลค่าจากการขายสินค้าเท่ากับต้นทุนสินค้าที่ซื้อมา
        2. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ ต้องนำรายได้จากการขายห้องชุดพร้อมตกแต่งห้องชุดในราคาเป็น Package ที่รวมเฟอร์นิเจอร์ตกแต่ง มารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ ต้องนำรายได้ที่กระทำใน รอบระยะเวลาบัญชี หักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร และหากการโอนห้องชุดที่รวมเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งดังกล่าวมีราคาต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานมีอำนาจประเมินค่าตอบแทนตามราคาตลาดในวันที่มีการโอนได้ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้ : 72/36335


ป.ล. ข้อหารือที่มิได้ถาม หากเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผูกพันใช้กับเฉพาะผู้ที่ได้รับคำตอบเท่านั้น