เงินได้พึงประเมินกับการให้บริการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
บทความวันที่ 2 ก.พ. 2563 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 6591 ครั้ง
บทความวันที่ 2 ก.พ. 2563 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 6591 ครั้ง
เงินได้พึงประเมินกับการให้บริการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
กิจการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบด้่วยการขายสินค้า และการให้บริการในราชอาณาจักรโดยผู้ประกอบการ ได้แก่ การขายสินค้าหรือการให้บริการโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ซ่งจะได้นำเฉพาะในส่วนของการให้บริการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม มากล่าวแต่เพียงส่วนเดียว โดยจับประเด็นตามประเภทเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มากล่าวเพื่อความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของภาษีอากรต่างประเภทกัน ดังนี้
1. เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร – เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1)(ฐ) แห่งประมวลรัษฎากร
2. เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร – เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ
หรือจากการรับทำงานให้
เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงาน โดยทั่วไปเป็นเงินได้จากการให้บริการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
เว้นแต่ การปฏิบัติงานในฐานะกรรมการบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด
กรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามที่กฎหมายกำหนด
และกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งโดยราชการ เป็นการกระทำที่ไม่ถือว่าเป็นการให้บริการตามความในมาตรา
77/1 (10)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ฉบับที่ 205) เรื่อง การกำหนดการกระทำที่ไม่ถือว่าเป็นการให้บริการ ตามมาตรา 77/1
(10)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2558
เงินได้จากการรับทำงานให้ ทั้งในส่วนของเงินได้จากการให้บริการจ้างทำของ
และเงินได้ที่เป็นบำเหน็จจากการเป็นนายหน้าตัวแทนเป็นเงินได้จากการให้บริการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามมาตรา 77/1 (10)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ การให้บริการวิจัย
หรือการให้บริการทางวิชาการ ทั้งนี้ ในสาขา และลักษณะการประกอบกิจการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 12) ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
81 (1)(ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร
3. เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร – เงินได้ที่เป็นค่าแห่งกู๊ดวิลล์
ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น
4. เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) แห่งประมวลรัษฎากร – เงินได้ที่เป็นผลได้จากทุน
(Capital Gain) เป็นการกระทำที่ไม่ถือว่าเป็นการให้บริการตามความในมาตรา
77/1 (10)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเป็นเงินได้จากการนำเงินไปหาประโยชน์โดยการฝากธนาคารหรือซื้อพันธบัตรหรือหลักทรัพย์
ดังนี้
(ก) ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้
ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่
ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ
ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ
ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว หรือผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
หรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออกและจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน
รวมทั้งเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ย ผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนอื่นๆ
ที่ได้จากการให้กู้ยืม หรือจากสิทธิเรียกร้องในหนี้ทุกชนิด
ไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ก็ตาม
(ข) เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงิน เพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่อยู่ในบังคับ ต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว
(ค) เงินโบนัสที่จ่ายแก่ผู้ถือหุ้น
หรือผู้เป็นหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
(ง)
เงินลดทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน
(จ) เงินเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งจากกำไรที่ได้มาหรือเงินที่กันไว้รวมกัน
(ฉ)
ผลประโยชน์ที่ได้จากการที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลควบเข้ากัน
หรือรับช่วงกัน หรือเลิกกัน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน
(ช) ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนการเป็นหุ้นส่วน โอนหน่วยลงทุน หรือโอนหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตรหรือตั๋วเงิน หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก รวมทั้งเงินได้จากการขายคืนหน่วยลงทุนให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นกองทุนรวม ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน
(ซ) เงินส่วนแบ่งของกำไร
หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือ ครอบครองโทเคนดิจิทัล
(ฌ)
ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ทั้งนี้
เฉพาะซึ่งตีราคา เป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน
5. เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) แห่งประมวลรัษฎากร – เงินได้ที่เป็นเงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจาก
(ก) การให้เช่าทรัพย์สิน
สำหรับเงินได้จากการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ เป็นเงินได้จากการให้บริการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร
สำหรับเงินได้จากการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ เป็นเงินได้จากการให้บริการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามมาตรา 81 (1)(ต) แห่งประมวลรัษฎากร
(ข) การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน
(ค) การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนซึ่งผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้น
โดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้ว
ทั้งกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5)(ข) และ (ค) แห่งประมวลรัษฎากร
ล้วนแต่เป็นเงินได้จากการขายทรัพย์สิน
6. เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร – เงินได้จากวิชาชีพอิสระ
คือ วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม
หรือวิชาชีพอิสระอื่น ซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้
สำหรับเงินได้จากวิชาชีพอิสระ โดยทั่วไปเป็นเงินได้จากการให้บริการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ การให้บริการที่เป็นการประกอบโรคศิลปะ
การสอบบัญชี การว่าความ หรือการประกอบวิชาชีพอิสระอื่นตามที่อธิบดีกำหนด
โดยอนุมัติรัฐมนตรี ทั้งนี้ เฉพาะวิชาชีพอิสระที่มีกฎหมายควบคุม
การประกอบวิชาชีพอิสระนั้น ได้รับยกเว้นพภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1)(ฌ)
แห่งประมวลรัษฎากร
7. เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) แห่งประมวลรัษฎากร – เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วน สำคัญนอกจากเครื่องมือ
เป็นเงินได้จากการให้บริการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1
(10) แห่งประมวลรัษฎากร
8. เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร – เงินได้จากการธุรกิจ
การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1)
ถึง (7) แล้ว
สำหรับเงินได้จากการการธุรกิจ โดยทั่วไปเป็นเงินได้จากการให้บริการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ การให้บริการในราชอาณาจักรดังต่อไปนี้
ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
(ช) การให้บริการการศึกษาของสถานศึกษาของทางราชการ
สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วย สถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
(ซ) การให้บริการที่เป็นงานทางศิลปะและวัฒนธรรมในสาขา
และลักษณะการประกอบกิจการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
(ญ)
การให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
(ฏ) การให้บริการห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์
(ฑ) การให้บริการจัดแข่งขันกีฬาสมัครเล่น
(ฒ) การให้บริการของนักแสดงสาธารณะ ทั้งนี้
เฉพาะบริการในสาขาและลักษณะการประกอบกิจการตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 13) (ดู คำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ป.120/2545)
(ณ) การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร เว้นแต่การให้บริการตามมาตรา
3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 241) พ.ศ. 2534 ดังต่อไปนี้ เป็นกิจการที่ผู้ประกอบการมีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81/3 (3) แห่งประมวลรัษฎากรได้
1) การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรโดยอากาศยาน
2) การให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อในราชอาณาจักร
3) การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร
สำหรับการให้บริการขนส่งทางทะเลโดยเรือเดินทะเล ทั้งนี้
ให้รวมถึงการให้บริการขนส่งระหว่างทะเลกับแม่น้ำในราชอาณาจักรโดยเรือเดินทะเลด้วย
(ด) การให้บริการขนส่งระหว่างประเทศ
ซึ่งมิใช่เป็นการขนส่งโดยอากาศยาน หรือเรือเดินทะเล
(ถ) การให้บริการของราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้
ไม่รวมถึงบริการที่เป็นการพาณิชย์ของราชการส่วนท้องถิ่น
หรือเป็นการหารายได้หรือผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็น กิจการสาธารณูปโภคหรือไม่ก็ตาม
(ท) การขายสินค้าหรือการให้บริการของกระทรวง ทบวง กรม
ซึ่งส่งรายรับทั้งสิ้นให้แก่รัฐโดยไม่หักรายจ่าย
(ธ) การขายสินค้าหรือการให้บริการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา
หรือการสาธารณกุศลภายในประเทศ ซึ่งไม่นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่น
(น) การขายสินค้าหรือการให้บริการตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาฯ
(ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 ดังต่อไปนี้
“มาตรา 4
ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการให้บริการ ดังต่อไปนี้
(1) การให้บริการสีข้าว
(2)
การให้บริการขนส่งระหว่างประเทศโดยอากาศยานหรือเรือเดินทะเล
ที่มิได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (3) แห่งประมวลรัษฎากร
(ไม่มีผลใช้บังคับ)
(3) การให้บริการสื่อสารทางวิทยุเกี่ยวกับการบินระหว่างประเทศ
ระหว่างสถานีพื้นดิน หรือระหว่างอากาศกับพื้นดิน
และการสื่อสารวิทยุเกี่ยวกับงานอุตุนิยม ตลอดจนการบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดบริการดังกล่าว
(4)
การให้บริการการศึกษาของสถานศึกษาที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
โดยประกาศดังกล่าวจะกำหนดขอบเขตและเงื่อนไขอย่างใดก็ได้”
(5)
การให้บริการขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน”
(6) การให้บริการของบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน”
(7) การให้บริการของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน
และกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน
ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(8) การให้บริการของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย
(9)
การให้บริการที่ได้กระทำในเขตพื้นที่พัฒนาร่วมตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย”
(10)
การให้บริการของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้องที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(11)
การให้บริการรับประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยของบรรษัทประกันต่อแห่งเอเชีย
เฉพาะการให้บริการซึ่งกระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป
(12)
การให้บริการรับประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยของผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร
เฉพาะการให้บริการแก่บรรษัทประกันต่อแห่งเอเชียที่กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม
2542 เป็นต้นไป และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
(13)
การให้บริการของสถาบันคุ้มครองเงินฝากตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
ซึ่งกระทำตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป
(14)
การให้บริการของกองทุนบริหารเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ
และพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ
(15) การให้บริการของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ
(องค์การมหาชน) ซึ่งกระทำตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป
(16) การให้บริการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน ที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต”
กรณีบุคคลธรรมดามีเงินได้จากการให้บริการตามประเภทเงินได้พึงประเมินที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีภาษี ผู้มีเงินได้ในฐานะผู้ประกอบการย่อมมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมุลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/1 แห่งประมวลรัษฎากร ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีรายได้เกินกว่าเกณฑ์ดังกล่าว
หมายเหตุ
บทความนี้ เกิดจาการที่ คุณ Kong Kittanut ได้ปุจฉาไปใน FB fanpage เมื่ออาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เวลา 15:22 น. ดังนี้
"สวัสดีครับ อาจารย์สุเทพ ผมขอสอบถามเกี่ยวภาษีมูลค่าเพิ่ม
ผมเกิดข้อสงสัยว่า บุคคลธรรมดาหากรายได้จากการให้คำปรึกษาเกิน 1.8 ลบ.
ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
ผมจึงหาข้อมูลมาได้ดังนี้
ผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม หมายถึง บุคคลซึ่งขายสินค้าหรือ "ให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ"
หากรายได้เกิน 1.8 ลบ ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ดังนั้นบุคคลที่มีรายได้จากการให้คำปรึกษาเกิน 1.8 ลบ. ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
คำถามของผมก็คือ อยากทราบว่า สามารถจำแนกได้หรือไม่ว่า
เงินได้ตามมาตรา 40 วงเล็บใด เป็นการให้บริการที่เข้าข่ายต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ช่วยไขข้อสงสัยนี้ให้กระจ่ายด้วยครับ