ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

บทความวันที่ 10 มี.ค. 2563  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 3649 ครั้ง

การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

 

การประชุมผู้ถือหุ้นในกรณีภาวะโรคระบาด หากผู้ถือหุ้นอยู่ในประเทศเสี่ยงไม่สามารถเดินทางมาประชุมได้ ทางบริษัทฯ สามารถจัดประชุม โดยทีวีคอนเฟอเรนและจัดทำรายงานการประชุม ได้หรือไม่

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 74/2557 เรื่อง การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ได้กำหนดให้ให้ดําเนินการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยมีผลบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เป็นต้นไปดังนี้

https://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-annouce74-2557.pdf

 

1. เจตนารมณ์

โดยที่เทคโนโลยีปัจจุบันทําให้ผู้ร่วมประชุมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถปรึกษาหารือกันผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้โดยสะดวกแม้จะมิได้อยู่ในสถานที่เดียวกัน ทั้งยังเป็นการประหยัดต้นทุนและระยะเวลาในการจัดการประชุมและการเดินทางไปร่วมประชุมด้วย และปัจจุบันมีการใช้วิธีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการประกอบธุรกิจกันอย่างแพร่หลาย แต่กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่เปิดช่องให้ดําเนินการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยมีผลบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย สมควรมีกฎหมายกลางเพื่อกําหนดให้การประชุมบางอย่างที่กฎหมายต่าง ๆ บัญญัติให้ต้องประชุม สามารถกระทําผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายได้อีกทางหนึ่งด้วย คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้

 

2. นิยามศัพท์ทีเกี่ยวข้อง (ข้อ 1)

“การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า การประชุมที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องมีการประชุมที่กระทําผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยผู้ร่วมประชุมอย่างน้อยหนึ่งในสามขององค์ประชุมต้องอยู่ในที่ประชุมแห่งเดียวกัน และผู้ร่วมประชุมทั้งหมดต้องอยู่ในราชอาณาจักรขณะที่มีการประชุม แม้จะมิได้อยู่ในสถานที่เดียวกันและสามารถประชุมปรึกษาหารือและแสดงความคิดเห็นระหว่างกันได้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์  

“ผู้ร่วมประชุม” หมายความรวมถึงกรรมการ อนุกรรมการ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการของคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการ

 

3. การประชุมที่ไม่อาจใช้การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาตินี้ไม่ใช้บังคับแก่ การประชุมดังต่อไปนี้ (ข้อ 2)

3.1 การประชุมของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา 

3.2 การประชุมเพื่อจัดทําคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาล

3.3 การประชุมเพื่อดําเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ

3.4 การประชุมอื่นที่คณะรัฐมนตรีกําหนด

 

4. การจัดการการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

4.1 การประชุมตามที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องมีการประชุม นอกจากจะดําเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแต่ละฉบับแล้ว ผู้ทําหน้าที่ประธานในที่ประชุมจะกําหนดให้จัดการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ และให้มีผลเช่นเดียวกับการประชุมตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายห้ามมิให้ประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในเรื่องที่มีการกําหนดชั้นความลับตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ และเรื่องอื่นที่คณะรัฐมนตรีกําหนด (ข้อ 3)

4.2 การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ข้อ 4)

4.3 การส่งหนังสือเชิญประชุมและเอกสารประกอบการประชุม จะส่งโดยจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ในการนี้ ผู้มีหน้าที่จัดการประชุมต้องจัดเก็บสําเนาหนังสือเชิญประชุมและเอกสารประกอบการประชุมไว้เป็นหลักฐาน โดยจะจัดเก็บในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ (ข้อ 5)

4.4 หน้าที่ของผู้จัดการการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ข้อ 6)

      ในการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผู้มีหน้าที่จัดการประชุมต้อง

      (1) จัดให้ผู้ร่วมประชุมแสดงตนเพื่อร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก่อนร่วมการประชุม

      (2) จัดทํารายงานการประชุมเป็นหนังสือ

      (3) จัดให้มีการบันทึกเสียงหรือทั้งเสียงและภาพ แล้วแต่กรณี ของผู้ร่วมประชุมทุกคน ตลอดระยะเวลาที่มีการประชุมในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เว้นแต่เป็นการประชุมลับ และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของรายงานการประชุม  

4.5 ในการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หากมีกรณีที่ต้องจ่ายเบี้ยประชุมให้แก่ผู้ร่วมประชุมให้จ่ายเบี้ยประชุมแก่ผู้ร่วมประชุมซึ่งได้แสดงตนเข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ (ข้อ 7)

4.6 ให้ถือว่าการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาตินี้ เป็นการประชุมโดยชอบด้วยกฎหมาย และห้ามมิให้ปฏิเสธการรับฟังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาตินี้เป็นพยานหลักฐานในกระบวนการพิจารณาตามกฎหมายทั้งในคดีแพ่งคดีอาญา หรือคดีอื่นใด เพียงเพราะเหตุว่าเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (ข้อ 8)

4.7 การกําหนดมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามข้อ 4 ให้ดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาตินี้ใช้บังคับ โดยคํานึงถึงความสะดวกในการจัดการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย (ข้อ 9)  

 

ดังนั้น ในการประชุมผู้ถือหุ้นในกรณีภาวะโรคระบาด หากผู้ถือหุ้นอยู่ในประเทศเสี่ยงไม่สามารถเดินทางมาประชุมได้ ทางบริษัทฯ สามารถจัดประชุม โดยทีวีคอนเฟอเรนและจัดทำรายงานการประชุมได้ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 74/2557 เรื่อง การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ดังกล่าว