ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

สัญญาจ้างทนายว่าความ

บทความวันที่ 14 มี.ค. 2563  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 7155 ครั้ง

สัญญาจ้างทนายว่าความ

 

สัญญาจ้างทนายว่าความสังกัดสำนักงานทนาย เข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของ

          สัญญาว่าจ้างทำของนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จ ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น

สาระสำคัญของสัญญาจ้างทำของ มีดังนี้

1. สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาต่างตอบแทน กล่าวคือ ผู้รับจ้างจะต้องทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างต้อง ให้สินจ้างเพื่อผลงานนั้น ทั้งนี้สินจ้างดังกล่าวอาจเป็นเงินตราหรือทรัพย์สินอย่างอื่นก็ได้ตามแต่ จะตกลงกัน

2. สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาที่มุ่งถึงผลสำเร็จของงานที่ทำเป็นสำคัญ กล่าวคือ วัตถุประสงค์ของสัญญาจ้างทำของ คือ “ผลสำเร็จของงาน” ไม่ใช่ต้องการ เฉพาะแต่แรงงานของผู้รับจ้างเท่านั้น เช่น จ้างก่อสร้างบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์ ติดกระจก ซ่อมหลังคาบ้าน จ้างตัดเสื้อผ้า หรือจ้างว่าความ เมื่อไม่ใช่การจ้างแรงงาน นายจ้างจึงไม่ต้อง รับผิดร่วมกับลูกจ้างใน ผลแห่งการละเมิดต่อบุคคลภายนอก ผู้รับจ้างจึงมีอิสระในการทำงาน มากกว่าลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงาน โดยที่ผู้รับจ้างไม่ได้อยู่ในความควบคุม บังคับบัญชาของผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างไม่มีสิทธิจะสั่งงาน หรือบงการผู้รับจ้าง

3. สัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาที่ไม่มีแบบ กล่าวคือ สัญญาจ้างทำของเกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาตกลงกัน แม้ด้วยวาจาก็สามารถ ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ โดยไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่อย่างใด

 

สัญญาจ้างทำของ เป็นตราสารที่ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ ตามลักษณะเตราสาร 4 แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ซึ่งผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องเสียอากร 1 บาท ต่อทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือ เศษของ 1,000 บาท แห่งสินจ้าง (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

สัญญาจ้างทำของ ดังต่อไปนี้ต้องชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร

(ก) ตราสารที่มีสินจ้างตั้งแต่ 1,000,000 บาทขึ้นไป สำหรับตราสารที่กระทำตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป หรือ

(ข) ตราสารที่รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ว่าจ้างและมีสินจ้างตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป

ตราสารดังกล่าว หากมิได้มีการชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน ถือว่าตราสารนั้นไม่ได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ต้องชำระอากรแสตมป์เป็นตัวเงินและเสียเงินเพิ่มอากร ตามมาตรา 113 และ114 แห่งประมวลรัษฎากร

         กรณีบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น จ่ายค่าจ้างทนาย ย่อมมีหน้าที่คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 3% ของเงินได้ตามข้อ 7 (1) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528