ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

การเฉลี่ยภาษีซื้อตามพื้นที่การใช้อาคาร

บทความวันที่ 18 มี.ค. 2563  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 5550 ครั้ง

การเฉลี่ยภาษีซื้อตามพื้นที่การใช้อาคาร 


การเฉลี่ยภาษีซื้อเป็นไปตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) ซึ่งมีหลักเบื้องต้นตามข้อ ของประกาศฉบับดังกล่าวดังนี้ “ข้อ กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบการจดทะเบียนได้นำสินค้าหรือบริการที่ได้มาหรือได้รับมาในการประกอบกิจการของตนไปใช้หรือจะใช้ในกิจการทั้งสองประเภทถ้าสามารถแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าภาษีซื้อที่เกิดจากสินค้าหรือบริการดังกล่าวเป็นภาษีซื้อของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ถือเป็นภาษีซื้อของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ๆ” การเฉลี่ยภาษีซื้อมี วิธี คือ วิธีที่ สำหรับภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจากการอื่นใดที่มิใช่การก่อสร้างอาคารเพื่อร่วมกันในทั้งสองประเภทกิจการ ให้เฉลี่ยภาษีซื้อตามสัดส่วนของรายได้ วิธีที่ สำหรับภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้ในทั้งสองประเภทกิจการ ให้เฉลี่ยภาษีซื้อตามสัดส่วนการใช้ พื้นที่อาคาร ซึ่งในที่นี้จักขอนำวิธีการเฉลี่ยภาษีซื้อตามพิ้นที่อาคารมากล่าวดังต่อไปนี้

การเฉลี่ยภาษีซื้อเป็นไปตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) ซึ่งมีหลักเบื้องต้นตามข้อ 1 ของประกาศฉบับดังกล่าวดังนี้

“ข้อ 1 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบการจดทะเบียนได้นำสินค้าหรือบริการที่ได้มาหรือได้รับมาในการประกอบกิจการของตนไปใช้หรือจะใช้ในกิจการทั้งสองประเภทถ้าสามารถแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าภาษีซื้อที่เกิดจากสินค้าหรือบริการดังกล่าวเป็นภาษีซื้อของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ถือเป็นภาษีซื้อของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ๆ”

การเฉลี่ยภาษีซื้อมี 2 วิธี คือ

วิธีที่ 1 สำหรับภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจากการอื่นใดที่มิใช่การก่อสร้างอาคารเพื่อร่วมกันในทั้งสองประเภทกิจการ ให้เฉลี่ยภาษีซื้อตามสัดส่วนของรายได้

วิธีที่ สำหรับภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้ในทั้งสองประเภทกิจการ ให้เฉลี่ยภาษีซื้อตามสัดส่วนการใช้พื้นที่อาคาร 

ซึ่งในที่นี้จักขอนำวิธีการเฉลี่ยภาษีซื้อตามพิ้นที่อาคารมากล่าวดังต่อไปนี้


1. การดำเนินทั่วไปเกี่ยวกับเฉลี่ยภาษีซื้อตามพื้นที่การใช้อาคาร

ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ประสงค์ที่จะก่อสร้างอาคารเพื่อใช้ในกิจการของตนเอง ทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและเพื่อการอื่นที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนดำเนินการดังต่อไปนี้

1.1 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนทำการประมาณการพื้นที่อาคารเพื่อใช้ในกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และเพื่อการอื่นที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้แน่นอน เพราะแม้จะเป็นเพียงการประมาณการพื้นที่อาคารเพื่อใช้ในกิจการ ทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และเพื่อการอื่นที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องเอาใจใส่ประมาณการพื้นที่อาคารดังกล่าวให้แน่นอนชัดเจน และเมื่ออาคารก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ผู้ประกอบการจดทะเบียนควรใช้พื้นที่อาคาร ตามส่วนที่ได้ประมาณการไว้โดยเคร่งครัดต่อไปอีกเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี นับแต่เดือนภาษีที่อาคารก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์  เพราะการใช้พื้นที่อาคารไม่เป็นไปตามที่ได้ประมาณการในช่วงระยะเวลาดังกล่าว  จะมีผลต่อการเฉลี่ยภาษีซื้อที่ได้กระทำไว้แล้ว ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องปรับปรุงการเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของพื้นที่อาคารใหม่  อันเป็นการทำงานที่ไม่จบไม่สิ้น นอกจากนี้ยังอาจต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอีกด้วย

1.2 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนแจ้งการประมาณการการใช้พื้นที่อาคาร ต่ออธิบดีกรมสรรพากร โดยใช้แบบ ภ.พ.05.1 ภายใน 30 วันนับแต่วันเริ่มทำการก่อสร้างอาคาร หรือวันที่ได้รับอนุมัติให้ทำการก่อสร้างอาคาร แล้วแต่วันใดจะเกิดขึ้นก่อน มิฉะนั้น ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะไม่มีสิทธินำภาษีซื้อตามส่วนของอาคารที่ใช้ในกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไปเครดิตหักออกจากภาษีขาย ทั้งนี้ โดยต้องแจ้งการใช้พื้นที่อาคารดังกล่าวเป็นตารางเมตรในแต่ละชั้น 

1.3 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ดำเนินการดังกล่าวข้างต้นเฉลี่ยภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารตามส่วนของพื้นที่อาคารตามประมาณการการใช้พื้นที่อาคารดังนี้

      (1) เฉลี่ยมูลค่าของสินค้าหรือค่าบริการที่มีภาษีซื้อ  ซึ่งเป็นมูลค่าของสินค้าหรือค่าบริการที่ใช้ หรือจะใช้ในการก่อสร้างอาคาร  พร้อมทั้งเฉลี่ยภาษีซื้อของมูลค่าของสินค้าหรือค่าบริการดังกล่าว ตามส่วนของพื้นที่อาคารที่ใช้ในการประกอบกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อจำนวนรวมของพื้นที่อาคารทั้งสิ้นตามประมาณการ ทั้งนี้ ตามหลักฐานใบกำกับภาษี

      (2) ได้ผลลัพธ์เป็นจำนวนเท่าใด ให้นำมูลค่าของสินค้าหรือค่าบริการ และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่เฉลี่ยได้ บันทึกในรายงานภาษีซื้อของเดือนที่เกิดรายการภาษีซื้อนั้น หรือเดือนที่ได้รับใบกำกับภาษีซื้อดังกล่าว แล้วแต่กรณี เพื่อการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องเสียในแต่ละเดือนภาษีต่อไป สำหรับภาษีซื้อของมูลค่าของสินค้าหรือค่าบริการ ตามส่วนของพื้นที่อาคารที่ใช้ในการประกอบกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้นำไปถือรวมเป็นมูลค่าต้นทุนของอาคารต่อไป

      ดังนั้น ผู้ประกอบการฯ ควรประมาณการใช้พื้นที่อาคารให้แน่นอน แล้วทำการเฉลี่ยภาษีซื้อไปตามประมาณการและในการใช้พื้นที่อาคารจริงภายหลังที่อาคารก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ จะต้องไม่เกินกว่าประมาณการการใช้พื้นที่อาคารที่ยื่น ภ.พ.05.1 ไว้ มิฉะนั้น ต้องปรับปรุงการเฉลี่ยภาษีซื้อย้อนหลังกลับไปตั้งแต่เริ่มต้น และปรับปรุงเป็นรายเดือนภาษี หากใช้ภาษีซื้อเกินไปต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม 


2. การดำเนินการเมื่ออาคารที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์

เมื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนก่อสร้างอาคารเสร็จสมบูรณ์ และใช้พื้นที่อาคารตรงตามที่ได้แจ้งประมาณการการใช้พื้นที่อาคารไว้ในแต่ละส่วน ตามแบบ ภ.พ.05.1 หรือใช้พื้นที่อาคารไม่เกินกว่าที่ได้แจ้งประมาณการการใช้พื้นที่อาคารไว้ในแต่ละส่วนดังกล่าวข้างต้น หรือยังมิได้ใช้พื้นที่อาคาร

2.1 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแจ้งการก่อสร้างอาคารเสร็จสมบูรณ์  ตามแบบ ภ.พ.05.2 ต่ออธิบดีกรมสรรพากรภายใน 30 วันนับแต่วันที่อาคารก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์

2.2 กรณียังมิได้ใช้พื้นที่อาคาร ผู้ประกอบการจดทะเบียนยังไม่ต้องดำเนินการใด ๆ

2.3 กรณีใช้พื้นที่อาคาร ตรงตามที่ได้แจ้งประมาณการการใช้พื้นที่อาคารไว้ในแต่ละส่วนตามแบบ ภ.พ.05.1 หรือใช้พื้นที่อาคาร ไม่เกินกว่าที่ได้แจ้งประมาณการการใช้พื้นที่อาคารไว้ในแต่ละส่วนดังกล่าวข้างต้น ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแจ้งการใช้พื้นที่อาคาร ตามแบบ ภ.พ.05.3 ต่ออธิบดีกรมสรรพากรดังนี้ ทั้งนี้ โดยต้องแจ้งการใช้พื้นที่อาคารดังกล่าวเป็นตารางเมตรในแต่ละชั้น

     (1) กรณีใช้พื้นที่อาคารก่อนหรือในวันที่อาคารก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ให้ยื่นแบบแจ้งการใช้พื้นที่อาคารภายใน 30 วันนับแต่วันที่อาคารก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ 

     (2) กรณีใช้พื้นที่อาคารภายหลังวันที่อาคารก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ให้ยื่นแบบแจ้งการใช้พื้นที่อาคารภายใน 30 วันนับแต่วันที่เริ่มใช้พื้นที่อาคาร ในกรณีเช่นนี้ ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ต้องปรับปรุงการเฉลี่ยภาษีซื้อแต่อย่างใด 

2.4 ภายใน 3 ปีนับแต่วันที่ก่อสร้างอาคารเสร็จสมบูรณ์ หากผู้ประกอบการจดทะเบียน ได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคารแตกต่างไปจากที่ได้ประมาณการไว้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งแรก ให้ผู้ประกอบการแจ้งรายการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคาร ตามแบบ ภ.พ.05.4 ต่ออธิบดีกรมสรรพากรภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคาร โดยต้องปรับปรุงการเฉลี่ยภาษีดังกล่าวเป็นรายเดือน ตั้งแต่เดือนภาษีแรกที่มีรายการภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารเกิดขึ้น จนถึงเดือนภาษีที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคาร

     (1) กรณีใช้พื้นที่อาคารเพื่อกิจการอื่นประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม มากกว่าพื้นที่อาคารที่ได้ประมาณการไว้ อันเป็นเหตุทำให้จำนวนภาษีซื้อที่เฉลี่ยไว้ตามประมาณการ มีจำนวนเกินกว่าภาษีซื้อที่หักได้จริง ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30.3 เพื่อปรับปรุงการเฉลี่ยภาษีซื้อเป็นรายเดือนภาษี เดือนละหนึ่งฉบับ  ทั้งนี้  เฉพาะเดือนที่มีภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคารดังกล่าว พร้อมทั้งชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนภาษีซื้อส่วนที่ใช้เกินไปดังกล่าว อีกทั้งต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษี และเสียเบี้ยปรับดังนี้

           (ก) กรณียื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30.3 ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้เสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระเพิ่มเติม ตามมาตรา 89 (3) แห่งประมวลรัษฎากร

           (ข) กรณียื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30.3 ภายหลังพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวให้เสียเบี้ยปรับอีก 2 เท่าของจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระเพิ่มเติม ตามมาตรา 89 (2) แห่งประมวลรัษฎากร และค่าปรับทางอาญาอีกไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 90 (2) แห่งประมวลรัษฎากร

           ในกรณีนี้ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนำจำนวนภาษีซื้อส่วนที่ใช้เกินไปดังกล่าวไปรวมคำนวณเป็นมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินหรืออาคารสำหรับปีที่เกิดรายการภาษีนั้น

     (2) กรณีใช้พื้นที่อาคารเพื่อกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม  มากกว่าพื้นที่อาคารที่ได้ประมาณการไว้ อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีซื้อที่เฉลี่ยไว้ตามประมาณการ มีจำนวนน้อยกว่าภาษีซื้อที่หักได้จริง ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30.3 เพื่อปรับปรุงการเฉลี่ยภาษีซื้อเป็นรายเดือน เดือนละหนึ่งฉบับ  เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนที่ขาดไปดังกล่าว ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคารดังกล่าว และให้นำจำนวนภาษีซื้อส่วนที่ใช้ขาดไปดังกล่าวไปหักออกจากมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินหรืออาคารสำหรับปีที่เกิดรายการภาษีนั้น

2.5 ภายใน 3 ปีนับแต่วันที่ก่อสร้างอาคารเสร็จสมบูรณ์  หากผู้ประกอบการจดทะเบียนได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคารแตกต่างไปจากที่ได้ปรับปรุงการเฉลี่ยภาษีซื้อไว้ครั้งก่อน  ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งที่สองหรือครั้งต่อๆ ไป ให้ผู้ประกอบการแจ้งรายการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคาร ตามแบบ ภ.พ.05.4 ต่ออธิบดีกรมสรรพากรภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคาร โดยต้องปรับปรุงการเฉลี่ยภาษีดังกล่าว ตั้งแต่เดือนภาษีภาษีที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคารในครั้งก่อน จนถึงเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคารครั้งหลังสุด

     (1) กรณีใช้พื้นที่อาคารเพื่อกิจการอื่นประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม มากกว่าพื้นที่อาคาร ที่ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงไว้ครั้งก่อน  อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีซื้อที่เฉลี่ยได้ครั้งก่อนมีจำนวนเกินกว่าภาษีซื้อที่หักได้จริง  ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30.3 เพื่อปรับปรุงการเฉลี่ยภาษี ซื้อเพิ่มเติมเพียงฉบับเดียว ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคาร ดังกล่าว พร้อมทั้งชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนภาษีซื้อส่วนที่ใช้เกินไปดังกล่าว อีกทั้งต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีและเสียเบี้ยปรับดังนี้

           (ก)  กรณียื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30.3 ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้เสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระเพิ่มเติม ตามมาตรา 89(3) แห่งประมวลรัษฎากร

           (ข)  กรณียื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30.3 ภายหลังพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวให้เสียเบี้ยปรับอีก 2 เท่าของจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระเพิ่มเติม ตามมาตรา 89(2) แห่งประมวลรัษฎากร และค่าปรับทางอาญาอีกไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 90(2) แห่งประมวลรัษฎากร

           ในกรณีนี้ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนำจำนวนภาษีซื้อส่วนที่ใช้เกินไปดังกล่าวไปรวมคำนวณเป็นมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินหรืออาคารสำหรับปีที่เกิดรายการภาษีนั้น

     (2) กรณีใช้พื้นที่อาคารเพื่อกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม  มากกว่าพื้นที่อาคารที่ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงไว้ครั้งก่อน อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีซื้อที่เฉลี่ยไว้ตามประมาณการ มีจำนวนน้อยกว่าภาษีซื้อที่หักได้จริง  ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30.3 เพื่อปรับปรุงการเฉลี่ยภาษีซื้อเพิ่มเติมเพียงฉบับเดียว  เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนที่ขาดไปดังกล่าว ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคารดังกล่าว  และให้นำจำนวนภาษีซื้อส่วนที่ใช้ขาดไปดังกล่าวไปรวมคำนวณมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินหรืออาคารสำหรับปีที่เกิดรายการภาษีนั้น


3. กรณีใช้พื้นที่อาคารไม่ตรงตามที่ได้แจ้งประมาณการการใช้พื้นที่อาคารไว้

เมื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนก่อสร้างอาคารเสร็จสมบูรณ์ และใช้พื้นที่อาคารไม่ตรงตามที่ได้แจ้งประมาณการการใช้พื้นที่อาคารไว้ในแต่ละส่วนตามแบบ ภ.พ.05.1

3.1 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแจ้งวันที่อาคารก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์  ตามแบบ ภ.พ.05.2 ต่ออธิบดีกรมสรรพากรภายใน 30 วันนับแต่วันที่อาคารก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์

3.2 กรณีใช้พื้นที่อาคาร ไม่ตรงตามที่ได้แจ้งประมาณการการใช้พื้นที่อาคารไว้ในแต่ละส่วนตามแบบ ภ.พ.05.1 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคารแตกต่างไปจากที่ได้ประมาณการไว้ดังกล่าว ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งแรก ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแจ้งการใช้พื้นที่อาคารตามแบบ ภ.พ.05.3 ต่ออธิบดีกรมสรรพากรดังนี้  ทั้งนี้  โดยต้องแจ้งการใช้พื้นที่อาคารดังกล่าวเป็นตารางเมตรในแต่ละชั้น

     (1) กรณีใช้พื้นที่อาคารก่อนหรือในวันที่อาคารก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ให้ยื่นแบบแจ้งการใช้พื้นที่อาคารภายใน 30 วันนับแต่วันที่อาคารก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์

     (2) กรณีใช้พื้นที่อาคารภายหลังวันที่อาคารก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ให้ยื่นแบบแจ้งการใช้พื้นที่อาคารภายใน 30 วันนับแต่วันที่เริ่มใช้พื้นที่อาคาร

3.3 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนปรับปรุงการเฉลี่ยภาษีซื้อดังกล่าวเป็นรายเดือน ตั้งแต่เดือนภาษีแรกที่มีรายการภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารเกิดขึ้น จนถึงเดือนภาษีที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคาร

     (1) กรณีใช้พื้นที่อาคารเพื่อกิจการอื่นประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม มากกว่าพื้นที่อาคารที่ได้ประมาณการไว้  อันเป็นเหตุทำให้จำนวนภาษีซื้อที่เฉลี่ยไว้ตามประมาณการ มีจำนวนเกินกว่าภาษีซื้อที่หักได้จริง ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30.3 เพื่อปรับปรุงการเฉลี่ยภาษีซื้อเป็นรายเดือนภาษี เดือนละหนึ่งฉบับ ทั้งนี้ เฉพาะเดือนที่มีภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคารดังกล่าว พร้อมทั้งชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนภาษีซื้อส่วนที่ใช้เกินไปดังกล่าว อีกทั้งต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อ เดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษี และเสียเบี้ยปรับดังนี้

           (ก)  กรณียื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30.3 ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้เสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระเพิ่มเติม ตามมาตรา 89 (3) แห่งประมวลรัษฎากร

           (ข)  กรณียื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30.3 ภายหลังพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวให้เสียเบี้ยปรับอีก 2 เท่าของจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระเพิ่มเติม ตามมาตรา 89 (2) แห่งประมวลรัษฎากร และค่าปรับทางอาญาอีกไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 90 (2) แห่งประมวลรัษฎากร

           ในกรณีนี้ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนำจำนวนภาษีซื้อส่วนที่ใช้เกินไปดังกล่าวไปรวมคำนวณเป็นมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินหรืออาคารสำหรับปีที่เกิดรายการภาษีนั้น

     (2) กรณีใช้พื้นที่อาคารเพื่อกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม  มากกว่าพื้นที่อาคารที่ได้ประมาณการไว้ อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีซื้อที่เฉลี่ยไว้ตามประมาณการ มีจำนวนน้อยกว่าภาษีซื้อที่หักได้จริง ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30.3 เพื่อปรับปรุงการเฉลี่ยภาษีซื้อเป็นรายเดือน เดือนละหนึ่งฉบับ  เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนที่ขาดไปดังกล่าว ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคารดังกล่าว และให้นำจำนวนภาษีซื้อส่วนที่ใช้ขาดไปดังกล่าวไปหักออกจากมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินหรืออาคารสำหรับปีที่เกิดรายการภาษีนั้น

3.4 ภายใน 3 ปีนับแต่วันที่ก่อสร้างอาคารเสร็จสมบูรณ์  หากผู้ประกอบการจดทะเบียนได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคารแตกต่างไปจากที่ได้ปรับปรุงการเฉลี่ยภาษีซื้อไว้ครั้งก่อน  ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งที่สองหรือครั้งต่อๆ  ไป        ให้ผู้ประกอบการแจ้งรายการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคารตามแบบ ภ.พ.05.4 ต่ออธิบดีกรมสรรพากรภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคารโดยต้องปรับปรุงการเฉลี่ยภาษีดังกล่าว ตั้งแต่เดือนภาษีภาษีที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคารในครั้งก่อน จนถึงเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคารครั้งหลังสุด

     (1) กรณีใช้พื้นที่อาคารเพื่อกิจการอื่นประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม มากกว่าพื้นที่อาคารที่ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงไว้ครั้งก่อน  อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีซื้อที่เฉลี่ยได้ครั้งก่อนมีจำนวนเกินกว่าภาษีซื้อที่หักได้จริง ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30.3 เพื่อปรับปรุงการเฉลี่ยภาษีซื้อเพิ่มเติมเพียงฉบับเดียว ภายในวันที่ 15  ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคาร ดังกล่าว พร้อมทั้งชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนภาษีซื้อส่วนที่ใช้เกินไปดังกล่าว อีกทั้งต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีและเสียเบี้ยปรับดังนี้

           (ก)  กรณียื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30.3 ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้เสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระเพิ่มเติม ตามมาตรา 89 (3) แห่งประมวลรัษฎากร

           (ข)  กรณียื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30.3 ภายหลังพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวให้เสียเบี้ยปรับอีก 2 เท่าของจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระเพิ่มเติม ตามมาตรา 89 (2) แห่งประมวลรัษฎากร  และค่าปรับทางอาญาอีกไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 90 (2) แห่งประมวลรัษฎากร

           ในกรณีนี้ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนำจำนวนภาษีซื้อส่วนที่ใช้เกินไปดังกล่าวไปรวมคำนวณเป็นมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินหรืออาคารสำหรับปีที่เกิดรายการภาษีนั้น

     (2) กรณีใช้พื้นที่อาคารเพื่อกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม  มากกว่าพื้นที่อาคารที่ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงไว้ครั้งก่อน อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีซื้อที่เฉลี่ยไว้ตามประมาณการ มีจำนวนน้อยกว่าภาษีซื้อที่หักได้จริง  ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30.3 เพื่อปรับปรุงการเฉลี่ยภาษีซื้อเพิ่มเติมเพียงฉบับเดียว เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนที่ขาดไปดังกล่าว ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคารดังกล่าว และให้นำจำนวนภาษีซื้อส่วนที่ใช้ขาดไปดังกล่าว ไปรวมคำนวณมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินหรืออาคารสำหรับปีที่เกิดรายการภาษีนั้น

     อนึ่ง ภายใน 3 ปี นับแต่วันที่อาคารก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ผู้ประกอบการฯ ไม่ควรเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคารให้แตกต่างไปจากที่ได้ประมาณการไว้ตามแบบ ภ.พ.05.1 เพราะต้องทำการปรับปรุงการเฉลี่ยภาษีซื้อทุกครั้งซึ่งก่อให้เกิดความยุ่งยากเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อพ้น 3 ปี นับแต่วันที่อาคารก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ผู้ประกอบการฯ จะเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคารอย่างไรก็ได้จะไม่มีผลกระทบต่อการเฉลี่ยภาษีซื้อแต่อย่างใด


4. ภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารเกิดขึ้นในภายหลัง

         ภายหลังจากการที่มีการใช้พื้นที่อาคารตรงตามที่ได้ประมาณการไว้  หรือมีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคาร และได้มีการปรับปรุงการเฉลี่ยภาษีซื้อให้เป็นไปตามส่วนของพื้นที่อาคารที่เปลี่ยนแปลงไป  หากมีภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารเกิดขึ้นอีก ไม่ว่าจะเกิดจาการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออกหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งอาคารที่มิใช่เป็นการซ่อมแซมอาคารให้คงสภาพเดิม  ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนเฉลี่ยภาษีซื้อดังกล่าวตามส่วนของการใช้พื้นที่อาคารเพื่อใช้ในการประกอบกิจการของตนเองซึ่งเป็นกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละเดือนภาษี


5. แบบแจ้งรายการต่างๆ เกี่ยวกับการเฉลี่ยภาษีซื้อตามพื้นที่อาคาร

ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมิได้แจ้งรายการต่างๆ เกี่ยวกับการเฉลี่ยภาษีซื้อตามพื้นที่อาคารตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดและภายในเวลาที่กำหนดดังต่อไปนี้ ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะไม่ได้รับสิทธิที่จะนำภาษีซื้อที่เฉลี่ยได้ตามข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4 ดังกล่าวข้างต้น ไปหักออกจากภาษีขาย ทั้งนี้ เว้นแต่อธิบดีกรมสรรพากรจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

5.1 ภ.พ.05.1 แบบแจ้งประมาณการการใช้พื้นที่อาคารภายใน 30 วันนับแต่วันเริ่มก่อสร้างอาคาร หรือวันได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างอาคารแล้วแต่วันใดจะเกิดขึ้นก่อน

     อนึ่ง กรณีมิได้ยื่นแบบ ภ.พ.05.1 และหรือแบบ 05.2 และหรือแบบ 05.3 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นคำขอขยายเวลาการยื่นรายการตามมาตรา 3 อัฎฐ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกรมสรรพากรมักอนุมัติให้ขยายเวลาเสมอ เมื่อเข้าเงื่อนไขการขอขยายเวลาตามมาตราดังกล่าว เช่น บริษัทฯ จ้างก่อสร้างอาคารเพื่อใช้พื้นที่ประกอบกิจการทั้งที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ได้เฉลี่ยภาษีซื้อโดยมิได้ยื่นแบบ ภ.พ.05.1 แบบประมาณการการใช้พื้นที่อาคาร ไม่ได้ยื่นแบบ ภ.พ.05.2  แบบแจ้งวันที่ก่อสร้างอาคารเสร็จสมบูรณ์ แบบ ภ.พ.05.3 แบบแจ้งวันเริ่มใช้อาคารทั้งหมดหรือบางส่วน เนื่องจากบริษัทฯ มิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย จึงอนุมัติให้บริษัทฯ ยื่นแบบดังกล่าวภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือจากสรรพากรจังหวัด ทั้งนี้ ตามนัยข้อ 5(7) แห่งประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.14403 ลงวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2537)

5.2 ภ.พ.05.2 แบบแจ้งวันที่อาคารก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่อาคารก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ 

5.3 ภ.พ.05.3 แบบแจ้งรายการการใช้พื้นที่อาคารภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เริ่มใช้พื้นที่อาคารภายหลังอาคารก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์กรณีเริ่มใช้อาคารก่อนที่อาคารจะสร้างเสร็จสมบูรณ์  ให้ยื่น  ภ.พ.05.3   พร้อมกับ ภ.พ.05.2

5.4 ภ.พ.05.4 แบบแจ้งรายการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคารภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่อาคาร 


6. การเฉลี่ยภาษีซื้อกรณีพิเศษ

6.1 พื้นที่อาคารบางส่วนที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ชัดเจนว่าใช้ในกิจการใดเท่าใด ให้เฉลี่ยภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารตามส่วนของรายได้ เช่น

     บริษัทเงินทุนประกอบกิจการทั้งที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ บริษัทฯ ได้สร้างอาคารสำนักงานเพื่อใช้ในการประกอบกิจการ โดยมีพื้นที่อาคารบางส่วนใช้ร่วมกันในกิจการทั้งสอง โดยไม่อาจแบ่งแยกหรือประมาณการการใช้พื้นที่ได้ เช่น แผนกบัญชี แผนกบริการทั่วไป ห้องกรรมการผู้จัดการ ให้เฉลี่ยภาษีซื้อจากการสร้างอาคารตามส่วนของรายได้ ถือเป็นการเฉลี่ยภาษีซื้อตามข้อ 7 ของประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) (มติที่ประชุม กกม. ครั้งที่ 33/2535 และหนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802(ก)/พ.10435 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535)

     บริษัทฯ ประกอบกิจการตั้งแต่ปี 2530  ได้เปิดสาขาที่ 2 สร้างโรงงานในปี 2535  ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผลิตสัตว์น้ำแช่แข็งส่งออกและขายในประเทศ บริษัทฯ จึงประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 (ส่งออก) และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีขายในประเทศ ภาษีซื้อในการก่อสร้างโรงงาน จึงต้องเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) รายได้ตามที่กล่าวนี้ได้แก่ รายได้ของกิจการทั้งหมด หรือรายได้ของทุกสถานประกอบการรวมกันทั้งหมด ปีแรกที่เฉลี่ยรายได้นั้นก็คือ รายได้ของบริษัทฯ ในปี 2534  (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.1217 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2537)

6.2 กรณีรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งมีกำหนดเวลาน้อยกว่าสิบสองเดือน การเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมา ให้ใช้รายได้ของรอบระยะเวลาบัญชีปีก่อนปีที่ได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีซึ่งมีกำหนดเวลาปกติสิบสองเดือนเป็นฐานในการเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ เช่น  

     การเฉลี่ยภาษีซื้อตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) ต้องคำนวณตามส่วนเฉลี่ยของรายได้ของปีที่ผ่านมาก่อนปีปัจจุบัน 1 ปี ตามข้อ 2(3) การที่รอบระยะเวลาบัญชีของบริษัทฯ เริ่ม 1 ตุลาคม พ.ศ. 2535 - 1 กันยายน พ.ศ. 2536 เป็นปกติ และต่อมาได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีรอบระยะเวลาบัญชีน้อยกว่า 12 เดือน ตามที่ได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงคือ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2536 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2536 เช่นนี้ การคำนวณตามส่วนเฉลี่ยของรายได้ที่จะนำมาใช้ในปี 2537 ต้องคำนวณตามส่วนเฉลี่ยของรายได้ตามรอบระยะเวลาบัญชี 1 ตุลาคม พ.ศ. 2535 - 1 กันยายน พ.ศ. 2536 ซึ่งเป็นรอบระยะเวลาบัญชีปกติของบริษัทฯ (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.1243 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2537)