ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ค่านายหน้าจากการขายสินค้าไปต่างประเทศให้กับบุคคลธรรมดาที่เป็นชาวต่างชาติ

บทความวันที่ 16 เม.ย. 2563  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 10447 ครั้ง

ค่านายหน้าจากการขายสินค้าไปต่างประเทศให้กับบุคคลธรรมดาที่เป็นชาวต่างชาติ


        กรณีบริษัทฯ จ่ายค่านายหน้าจากการขายสินค้าไปต่างประเทศให้กับบุคคลธรรมดาที่เป็นชาวต่างชาติ ในกรณีดังต่อไปนี้

        1. ชาวต่างชาติอาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 180 วัน ไม่มี Work permit 

        2. กรณีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วัน ไม่มี work permit    


1. ชาวต่างชาติอาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 180 วัน ไม่มี Work permit
        1.1 กรณีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
              (1) ชาวต่างชาติเป็นคนชาติที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย และมิได้ประกอบกิจการผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย บริษัทฯ ไม่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากการจ่ายค่านายหน้าให้แก่ชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นผู้หาลูกค้าในต่างประเทศให้กับบริษัทฯ เนื่องจากนายหน้าเข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ และหากบุคคลธรรมดาผู้เป็นนายหน้ามีถิ่นที่อยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไท โดยมิได้ประกอบกิจการเป็นนายหน้าผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ตามนัยข้อ 5 แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนฯ บุคคลธรรมดาผู้เป็นนายหน้า ย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทยสำหรับค่านายหน้าที่ได้รับ ตามข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาฯ และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่านายหน้าในกรณีดังกล่าวบริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด
              (2) สำหรับค่านายหน้าเนื่องจากทำหน้าที่หาลูกค้าในต่างประเทศให้กับบริษัทฯ กรณีชาวต่างชาติเป็นคนชาติที่ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย เนื่องจากค่าตอบแทนจากการให้บริการในต่างประเทศโดยบุคคลธรรมดาดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ ดังนั้น หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า บุคคลธรรมดาดังกล่าว มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และมิได้นำเงินได้พึงประเมินนั้น เข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีที่ได้รับเงินได้พึงประเมิน บุคคลธรรมดาดังกล่าว ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามนัยมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร (อนุโลมตามเลขที่หนังสือ กค 0702/2648 ลงวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2552 https://www.rd.go.th/publish/41068.0.html)
..............อย่างไรก็ตาม สำหรับค่านายหน้าเนื่องจากทำหน้าที่หาลูกค้าในประเทศไทยให้กับบริษัทฯ ที่บริษัทฯ ได้จ่ายให้แก่ชาวต่างชาติเป็นคนชาติที่ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย บุคคลธรรมดาดังกล่าว ย่อมมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามนัยมาตรา 41 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ในอ้ตรา 15% ของเงินได้ และนำส่งพร้อมทั้งยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป
        1.2 กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม
              (1) การที่บริษัทฯ จ่ายค่านายหน้าเนื่องจากทำหน้าที่หาลูกค้าในต่างประเทศให้กับบริษัทฯ ให้กับบุคคลธรรมดาดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นการจ่ายค่าบริการให้กับผู้ประกอบการ ที่ให้บริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) ตามนัยมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
              (2) สำหรับการที่บริษัทฯ จ่ายค่านายหน้าเนื่องจากทำหน้าที่หาลูกค้าในประเทศไทยให้กับบุคคลธรรมดาดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการจ่ายค่าบริการให้กับผู้ประกอบการ ที่ให้บริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) ตามนัยมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนเงินได้ที่จ่ายดังกล่าวว่า จะมีจำนวนเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีหรือไม่
        1.3 ชาวต่างชาติ ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ในประเทศไทย


2. กรณีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วัน ไม่มี work permit
        2.1 กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย
              (1) กรณีชาวต่างชาติที่เป็นคนชาติที่ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย สำหรับค่านายหน้าเนื่องจากทำหน้าที่หาลูกค้าในต่างประเทศให้กับบริษัทฯ นั้น ยังคงต้องพิจารณาว่า ชาวต่างชาตินั้นมีสถานประกอบการถววรในประเทศไทย เพราะเหตุที่พำนักอยู่ในประเทศไทยตามกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาภาษีซ้อน ถือว่าประกอบกิจการเป็นนายหน้าผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ตามนัยข้อ 5 แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนฯ บุคคลธรรมดาผู้เป็นนายหน้า ย่อมมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทยสำหรับค่านายหน้าที่ได้รับ
              (2) กรณีชาวต่างชาติที่เป็นคนชาติที่ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย สำหรับค่านายหน้าเนื่องจากทำหน้าที่หาลูกค้าในต่างประเทศให้กับบริษัทฯ เนื่องจากค่าตอบแทนจากการให้บริการในต่างประเทศโดยบุคคลธรรมดาดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า บุคคลธรรมดาดังกล่าวเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันในปีภาษี และได้มีการจ่ายเงินได้พึงประเมินนั้นในประเทศไทย บุคคลธรรมดาดังกล่าว ย่อมมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ทั้งนี้ ตามนัยมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
        2.2 กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม
              (1) การที่บริษัทฯ จ่ายค่านายหน้าเนื่องจากทำหน้าที่หาลูกค้าในต่างประเทศให้กับบริษัทฯ ให้กับบุคคลธรรมดาดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นการจ่ายค่าบริการให้กับผู้ประกอบการ ที่ให้บริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) ตามนัยมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
              (2) สำหรับการที่บริษัทฯ จ่ายค่านายหน้าเนื่องจากทำหน้าที่หาลูกค้าในประเทศไทยให้กับบุคคลธรรมดาดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการจ่ายค่าบริการให้กับผู้ประกอบการ ที่ให้บริการในราชอาณาจักร โดยมิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราวในประเทศไทย บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) ตามนัยมาตรา 83/6 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนเงินได้ที่จ่ายดังกล่าวว่า จะมีจำนวนเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีหรือไม่