ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

การหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย กรณีจ่ายให้แก่วิสาหกิจที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มี DTA

บทความวันที่ 9 ต.ค. 2563  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 3025 ครั้ง

การหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย กรณีจ่ายให้แก่วิสาหกิจที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มี DTA

หลักเกณฑ์การพิจารณาเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีจ่ายเงินได้พึงประเมินไปยังประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อน
1. ตามอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ประเทศไทยได้กระทำกับประเทศนั้น ๆ ซึ่งมีข้อกำหนดยอมให้จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นจากแหล่งเงินได้ในประเทศไทย (Thai Source of Income) สำหรับเงินได้ประเภทเงินได้พึงประเมินดังต่อไปนี้ มีข้อกำหนดให้จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยตามอนุสัญญาภาษีซ้อนตามอัตราภาษีที่กำหนดไว้แต่ไม่เกิน 15% ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
(1) ค่าสิทธิ (Royalty) ตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร
ในนิยามคำว่า “ค่าสิทธิ” ตามอนุสัญญาภาษีซ้อนบางประเทศ กำหนดให้ถือว่า ค่าตอบแทนเพื่อการใช้หรือสิทธิในการใช้อุปกรณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือวิทยาศาสตร์ ซึ่งหมายถึง “ค่าเช่า” ทรัพย์สินที่เป็นอุปกรณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือวิทยาศาสตร์ ตามกฎหมายทั่วไป ก็ย่อมสามารถคำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากรได้
(2) ดอกเบี้ย (Interest)
(3) เงินปันผล (Dividend) ตามมาตรา 40 (4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร
(4) ผลได้จากทุน (Capital Gain) ตามมาตรา 40 (4)(ค)(ง)(จ)(ฉ)(ช)(ซ) หรือ (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร
(5) เงินได้จากค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 40 (5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร

2. สำหรับเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นที่มิได้กำหนดให้จัดเก็บภาษีเงินไดนิติบุคคลไว้ตามข้อ 3.1 ข้างต้น ถือเป็นเงินได้ที่เป็น “กำไรจากธุรกิจ” หรือ “กำไรธุรกิจ” (Business Profit) ซึ่งมีข้อกำหนดให้สามารถจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร ได้ก็ต่อเมือ ปรากฏว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ นั้น มี “สถานประกอบการถาวร” (PE: Permanent Establishment) ในประเทศไทย เท่านั้น อาทิ
(1) ค่า Commission หรือค่านายหน้า ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
(2) ค่าเช่าทรัพย์สินที่เป็นสังหาริทรัพย์อื่นที่ไม่เข้าลักษณะตามข้อ 3.1 ข้างต้น ตามมาตรา 40 (5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร
(3) เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ ตามมาตรา 40 (7) แห่งประมวลรัษฎากร และ
(4) เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง (ยกเว้นการจราจรทางอากาศ) ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎมายยของต่างประเทศมีเงินไดที่เป็น “กำไรจากธุรกิจ” ซึ่งประเทศไทยมีอำนาจจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร เพราะเหตุที่วิสาหกิจนั้นมีสถานประกอบการถาวร (PE: Permanent Establishment) ในประเทศไทย เป็นผลให้วิสาหกิจดังกล่าว มีหน้าที่ต้องคำนวณและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

3. ข้อสรุปเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จ่ายให้แก่บริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย มีหลักในการพิจารณา
(1) ประเภทเงินได้ ตามที่อนุสัญญาภาษีซ้อนได้มีการบัญญัติมีดังต่อไปนี้
- อสังหาริมทรัพย์ (ทั้ง PIT และ CIT)
- กำไรจากธุรกิจ (ทั้ง PIT และ CIT)
- การขนส่งระหวางประเทศ (ทั้ง PIT และ CIT)
- เงินปันผล (ทั้ง PIT และ CIT)
- ดอกเบี้ย (ทั้ง PIT และ CIT)
- ค่าสิทธิ (ทั้ง PIT และ CIT)
- ผลได้จากทุน (ทั้ง PIT และ CIT)
- บริการส่วนบุคคลที่เป็นอิสระ (PIT)
- บริการส่วนบุคคลที่ไม่เป็นอิสระ (PIT)
- ค่าป่วยกรรมการ (PIT)
- นักแสดงและนักกีฬาสาธารณะ (PIT)
- เงินบำนาญ (PIT)
- เงินได้อื่น ๆ แล้วแต่อนุสัญญาภาษีซ้อนจะมีการกำหนด
(2) ประเภทเงินได้ที่บริษัทฯ ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อมีการจ่ายเงินได้ให้แก่บริษัทเหล่านั้น ต้องเป็นกรณีที่ตามอนุสัญญาภาษีซ้อนกำหนดให้สามารถจัดเก็บภาษีตามประมวลรัษฎากรได้ ได้แก่
(ก) ค่าสิทธิตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีความละเอียดอ่อน และสลับ ซับซ้อนเป็นอันมาก จึงต้องพิจารณาความหมายของคำว่า “ค่าสิทธิ” (Royalty) ในอนุสัญญาภาษีซ้อนแต่ละประเทศอย่างละเอียด รอบคอบ เช่น
ข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือทางวิทยาศาสตร์ โดยทั่วไปในการจ่ายเงินได้ให้แก่บริษัทที่ตั้งอยู่ใประเทศที่ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไท ถือเป็นการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร แต่การจ่ายเงินได้ให้แก่บริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อน เข้าลักษณะเป็นค่าสิทธิ
ในบางประเทศมีข้อกำหนดให้ลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายต่ำกว่า 15% ของเงินได้ จึงต้องเปิดอนุสัญญาภาษีซ้อนมาพิจารณาเป็นรายกรณ๊ไป
ในบางประเทศ กำหนดให้การจ่ายค่าสิทธิเพื่อใช้อุปกรณ์ทางพาณิชยกรม อุตสาหกรรม หรือวิทยาศาสตร์ ซึ่งโดยทั่วไป คือ เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน ตามมาตรา 40 (5) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ตามอนุสัญญาภาษีซ้อนถือเป็นการจ่ายค่าสิทธิ
(ข) เงินได้ที่เป็นผลได้จากทุน (Capital Gain) ตามมาตรา 40 (4) (ก) – (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร
โดยทั่วไปให้คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ของเงินได้
เว้นแต่เงินปันผลตามมาตรา 40 (4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ให้คำนวณหักในอัตรา 10% ของเงินได้
(3) สำหรับเงินได้ประเภทอื่นที่ตามอนุสัญญามิได้กำหนดไว้ถือเป็น “กำไรจากธุรกิจ” (Business Profit) ซึ่งบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศจะมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร ก็ต่อเมื่อมี “สถานประกอบการถาวร” (Permanent Establishment: PE)
เช่นนี้ เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินได้ที่เป็นกำไรจากธุริจใหแก่ทั้งบุคคลธรรมดา และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยมิได้เข้ามาให้บริการผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยแล้ว ผู้รับจ้างนั้นก็ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล แล้วแต่กรณี ให้แก่ประเทศไทย บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเงินที่จ่ายตามมาตรา 50 หรือมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร