ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

การคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคารถยนต์ทางภาษีอากร กรณีได้รถยนต์มาโดยการเช่าซื้อ

บทความวันที่ 11 ต.ค. 2563  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 19885 ครั้ง

การคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคารถยนต์ทางภาษีอากร กรณีได้รถยนต์มาโดยการเช่าซื้อ

เกี่ยวกับการคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคารถยนต์ทางภาษีอากร กรณีได้รถยนต์มาโดยการเช่าซื้อ ทั้งนี้ รถยนต์ดังกล่าว ต้องไม่ใช่รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต
กรณีรถยนต์ราคาเงินสด....2,835,000 บาท
ดอกเบี้ยเช่าซื้อ.......................289,740 บาท
รวม........................................3,124,740 บาท
1. ตามมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ประกอบกับข้อ 7 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 3/2527 เรื่อง การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน กำหนดให้ถือมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินนั้นตามราคาที่พึงต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อ เป็นต้นทุนในการคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน ซึ่งในที่นี้ได้แก่ จำนวน 3,124,740 บาท
แต่ในทางบัญชีกำหนดให้คำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนตามราคาเงินสดของทรัพย์สิน คือ 2,835,000 บาท และรับรู้ดอกผลเช่าซื้อจำนวน 289,740 บาท ตามงวดที่ถึงกำหนดชำระราคาแต่ละงวด
ดังนั้น ในช่วงเวลาที่มีการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ บริษัทฯ จึงต้องบวกกลับจำนวนดอกผลเช่าซื้อ และหักเพิ่มด้วยส่วนต่างของค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทางภาษีที่มากกว่าค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทางบัญชี ไปจนตลอดอายุการใช้ทรัพย์สินนั้น
แต่ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวให้ใช้กับกรณีระยะเวลาในการผ่อนชำระค่างวดเช่าซื้อน้อยกว่าระยะเวลาในการคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา

2. ในการคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินรถยนต์ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2562 ซึ่งคงเหลือระยะเวลาในการผ่อนชำระค่างวดเพียง 8 งวด ให้บริษัทฯ คำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคารถยนต์ตามวิธีในข้อ 1 ไปจนตลอดอายุการใช้งานของรถยนต์ดังกล่าว โดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อความตามมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 เนื่องเพราะกรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติตามข้อ 7 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 3/2527 ว่า “ในกรณีที่ได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อหรือราคาตามสัญญาครบถ้วนแล้ว โดยทรัพย์สินดังกล่าวยังคงมีมูลค่าต้นทุนหลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามวิธีการดังกล่าวข้างต้นเหลืออยู่ก็ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่นั้นได้ต่อไป”

3. ในการคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินรถยนต์ที่มีปัญหาผ่อนชำระค่างวดไม่ครบตามที่กำหนดตกลงกัน ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินนั้นตามราคาที่พึงต้องชำระทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อ ได้แก่ จำนวน 3,124,740 บาท แต่จำนวนค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาสะสมของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีรวมกันแล้วจะต้องไม่เกินค่าเช่าซื้อที่ต้องผ่อนชำระในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ๆ จนถึงรอบระยะเวลาบัญชีปัจจุบันเท่านั้น