ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

รายได้ Out of VAT Scope ไม่ต้องนำไปใช้เป็นฐานในการเฉลี่ยภาษีซื้อ

บทความวันที่ 25 ต.ค. 2563  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 8670 ครั้ง

รายได้ที่ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Out of VAT Scope) ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
ไม่ต้องนำไปใช้เป็นฐานในการคำนวณเฉลี่ยภาษีซื้อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2546 เป็นต้นไป

ตามข้อ 3 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 89/2542 เรื่อง การขายสินค้านอกราชอาณาจักร โดยผู้ประกอบการจดทะเบียน ลงวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2542 ซึ่งกรมสรรพากรได้กำหนดแนวทางปฏิบัติว่า
"ข้อ 3 ภาษีซื้อที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 1 และ ข้อ 2 ได้เสียไปเนื่องจากการประกอบกิจการขายสินค้านอกราชอาณาจักร ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่มีสิทธินำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ประกอบกิจการขายสินค้าในราชอาณาจักรซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากรด้วย ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวเฉลี่ยภาษีซื้อที่จะนำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร" นั้น
ในปัจจุบันนับแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2546 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อ 4 วรรคสอง ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) โดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 153) ใช้บังคับ 1 มกราคม พ.ศ. 2546 เป็นต้นไป โดยกำหนดรายได้ที่ไม่ต้องนำไปใช้เป็นฐานในการเฉลี่ยภาษีซื้อ ดังต่อไปนี้
"รายได้ตามวรรคหนึ่งไม่รวมถึง
(ก) รายได้ที่เกิดขึ้นจากกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนนำเงินไปหาประโยชน์โดยการฝากธนาคาร ซื้อพันธบัตรหรือหลักทรัพย์ หรือซื้อตั๋วเงินของสถาบันการเงินอื่น แต่ทั้งนี้ไม่ใช้บังคับสำหรับการประกอบกิจการตามมาตรา 91/2 (1)(2) และ (3) แห่งประมวลรัษฎากร
(ข) รายได้ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีการกู้ยืมเงินกันเองในระหว่างบริษัทในเครือเดียวกัน
คำว่า "บริษัทในเครือเดียวกัน" หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตั้งแต่สองนิติบุคคลขึ้นไปซึ่งมีความสัมพันธ์กันโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนอยู่ในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอีกแห่งหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือนก่อนวันที่มีการกู้ยืม
(ค) รายได้ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีระเบียบเกี่ยวกับเงินกองทุนสะสมพนักงานหรือทุนอื่นใดเพื่อพนักงาน และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้นำเงินกองทุนนี้ออกให้พนักงานที่เป็นสมาชิกกู้ยืมเป็นสวัสดิการ
(ง) รายได้ที่เกิดขึ้นจากกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีการประกอบกิจการประเภทที่ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร”
กล่าวเฉพาะรายได้ตามข้อ (ง) ดังกล่าว อธิบดีกรมสรรพากรได้กำหนดให้ถือว่า "รายได้ที่เกิดขึ้นจากกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีการประกอบกิจการประเภทที่ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร” เป็นรายได้ที่ไม่ต้องนำมาใช้เป็นฐานในการเฉลี่ยภาษีซื้อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2546 เป็นต้นไป
ดังจะเห็นได้ว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าว ได้มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติเดิมตามข้อ 3 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ 89/2542 โดยสิ้นเชิง อันเป็นการหักล้างแนวทางปฏิบัติเดิมชนิดหักมุม โดยที่ไม่มีการแก้ไขยกเลิกความตามข้อ 3 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 89/2542 ที่ปล่อยไว้รังแต่จะเกิดความ้เข้าใจผิด และรับโทษของความที่ (เจ้าหน้าที่ไม่รู้) ไปตามยถากรรม อย่างไม่น่าจะเป็นในฐานะหน่วยงานที่ให้บริการประชาชน

ปุจฉา:
ไม่เข้าใจเจตนารมณ์ ที่ out of scope จึงไม่ต้องนำมาเฉลี่ยภาษีซื้อคะ ถ้า กิจการมีขายvat ในประเทศ 20%. ขายvat นอกประเทศ 80%. แล้วจะได้ใช้vatซื้อเต็ม 100% หรือคะ
ในกรณีมี out of scope ต้องเฉลี่ยภาษีซื้อปาวครับ ที่ผ่านมาผมไม่ได้เฉลี่ย อยู่ๆพี่สรรพให้เฉลี่ยเลยงง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์
วิสัชนา:
1. ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียน ที่ประกอบกิจการ ทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม อันได้แก่ กิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) แห่งประมวลรัษากร และหรือกิจการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 และมาตรา 91/3 แห่งประมวลรัษฎากร โดยผู้ประกอบการจดทะเบียนได้นำสินค้าหรือบริการที่ได้มาหรือได้รับมาในการประกอบกิจการของตนไปใช้ หรือจะใช้ในกิจการทั้งสองประเภท ในกรณีดังกล่าวผู้ประกอบการจดทะเบียน ต้องเฉลี่ยภาษีซื้อที่จะนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)
2. ตามข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) ได้กำหนดรายได้ที่จะนำมาใช้เป็นฐานในการเฉลี่ยภาษีซื้อ และไม่ต้องใช้เป็นฐานในการเฉลี่ยภาษีไว้ดังนี้
(1) รายได้ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หมายความว่า มูลค่าของฐานภาษีของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
เว้นแต่มูลค่าของฐานภาษีของกิจการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศโดยอากาศยานหรือเรือเดินทะเล ในกรณีรับขนคนโดยสาร ให้หมายความรวมถึง มูลค่าของค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บ นอกราชอาณาจักรก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เนื่องในการรับขนคนโดยสารด้วย หรือในกรณีรับขนสินค้า ให้หมายความรวมถึง มูลค่าของค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เนื่องในการรับขนสินค้าเข้าในราชอาณาจักรด้วย
(2) รายได้ของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หมายความว่า มูลค่าของฐานภาษีของกิจการประเภทที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม รายรับของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ และรายรับของกิจการประเภทที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ
(3) รายได้ไม่ต้องใช้เป็นฐานในการเฉลี่ยภาษี ได้แก่ รายได้ตามวรรคสองของข้อ 4 วรรคสอง ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม(ฉบับที่ 153) ใช้บังคับ 1 มกราคม พ.ศ. 2546 เป็นต้นไป ดังต่อไปนี้
(ก) รายได้ที่เกิดขึ้นจากกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนนำเงินไปหาประโยชน์โดยการฝากธนาคาร ซื้อพันธบัตรหรือหลักทรัพย์ หรือซื้อตั๋วเงินของสถาบันการเงินอื่น แต่ทั้งนี้ไม่ใช้บังคับสำหรับการประกอบกิจการตามมาตรา 91/2 (1)(2) และ (3) แห่งประมวลรัษฎากร
(ข) รายได้ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีการกู้ยืมเงินกันเองในระหว่างบริษัทในเครือเดียวกัน
คำว่า "บริษัทในเครือเดียวกัน" หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตั้งแต่สองนิติบุคคลขึ้นไปซึ่งมีความสัมพันธ์กันโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนอยู่ในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอีกแห่งหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือนก่อนวันที่มีการกู้ยืม
(ค) รายได้ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีระเบียบเกี่ยวกับเงินกองทุนสะสมพนักงานหรือทุนอื่นใดเพื่อพนักงาน และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้นำเงินกองทุนนี้ออกให้พนักงานที่เป็นสมาชิกกู้ยืมเป็นสวัสดิการ
(ง) รายได้ที่เกิดขึ้นจากกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีการประกอบกิจการประเภทที่ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร (Out of VAT Scope)กล่าวสำหรับรายได้ไม่ต้องใช้เป็นฐานในการเฉลี่ยภาษี ตามข้อ 2 (3) ดังกล่าวข้างต้นนั้น ในการเฉลี่ยภาษีซื้อก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2546 กำหนดไว้เฉพาะแต่เพียงรายได้ตาม (ก) เท่านั้น กรมสรรพากรได้แก้ไขเพิ่มเติม (ข)(ค) และ (ง) เข้ามาใหม่ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
นั่นย่อมหมายความว่า ก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2546 ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องนำรายได้ตามข้อ 2 (3)(ข)(ค) และ (ง) ดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นฐานภาษีในส่วนของรายได้ของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามข้อ 2 (2) จนกระทั่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมความตามข้อ 4 วรรคสองของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) จึงทำให้รายได้ดังกล่าวไม่ต้องนับรวมเป็นฐานในการเฉลี่ยภาษีซื้อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2546 เป็นต้นไป
กล่าวเฉพาะรายได้ประเภทที่ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร (Out of VAT Scope) ตามข้อ 4 วรรคสอง (ง) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 153) ใช้บังคับ 1 มกราคม พ.ศ. 2546 เป็นต้นไป นั้น มีเจตนารมณ์ดังนี้
(1) เพื่ออำนวยให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการให้บริการของบริษัทสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค หรือ Regional Operating Headquarters (ROH) คือ บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เพื่อประกอบกิจการให้บริการด้านการบริหาร หรือด้านเทคนิค หรือการให้บริการสนับสนุน แก่วิสาหกิจในเครือหรือสาขาของสำนักงานฯ ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ
(2) อำนวยให้เกิดความเป็นธรรม แก่กิจการอื่นที่มิใช่กิจการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศโดยอากาศยานหรือเรือเดินทะเล ที่ได้สิทธินำมูลค่าของค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บ นอกราชอาณาจักรก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เนื่องในการรับขนคนโดยสาร และมูลค่าของค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนหักรายจ่ายใด ๆ เนื่องในการรับขนสินค้าเข้าในราชอาณาจักร รวมเป็นฐานรายได้ของกิจการที่ประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย แต่สำหรับรายได้รายได้ประเภทที่ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร (Out of VAT Scope) ต่างออกไป เพียงนำออกจากรายได้ของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เท่านั้น
อาจมีเจตนารมณ์หรือเหตุผลอื่นอีก แต่ไม่ขอนำมากล่าวในที่นี้ให้มากความ และไม่เกิดประโยชน์โพดผลใดๆ