ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

เรียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับนักบัญชี ตอนที่ 8 โครงสร้างกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม: การขายสินค้าในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ

บทความวันที่ 26 ม.ค. 2564  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 2600 ครั้ง

เรียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับนักบัญชี ตอนที่

โครงสร้างกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม: การขายสินค้าในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ

 

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีอากรที่มุ่งจัดเก็บภาษีจากการกระทำกิจกรรม หรือการประกอบกิจการเป็นสำคัญ โดยไม่คำนึงว่าผู้กระทำกิจกรรม หรือผู้ประกอบกิจการนั้น จะมีสถานภาพเป็นอย่างใด เช่น บุคคลธรรมดา บริษัท ห้างหุ้นส่วน คณะบุคคล มูลนิธิ สมาคม หรือนิติบุคคลอื่น รวมทั้งองค์การของรัฐบาล เช่น กระทรวง ทบวง กรม หรือรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น

กิจกรรมที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร อาจจำแนกได้เป็น 3 กรณี คือ

1. การขายสินค้าในทางธุรกิจหรือวิชาชีพในราชอาณาจักร

2. การให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพในราชอาณาจักร

3. การนำเข้าในราชอาณาจักร

ซึ่งในตอนนี้จะได้นำเฉพาะกิจกรรมการขายสินค้าในทางธุกิจหรือวิชาชีพมากล่าว ตามประเด็นในนิยามศัพท์คำว่า “ขาย” และ “สินค้า” ตามมาตรา 77/1 (8) และ (9) ประกอบกับกิจกรรมขายสินค้าในทางธุรกิจหรือวิชาชีพในราชอาณาจักรโดยผู้ประกอบการ ตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้

การขายสินค้าในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ หมายถึง การขายสินค้าที่ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะค้าหรือหากำไรจากการขายสินค้านั้นอยู่เป็นปกติธุระ ซึ่งเรียกการขายในลักษณะนี้ว่า การขายสินค้าโดยผู้ประกอบการ ทั้งนี้ การขายสินค้าดังกล่าวต้องกระทำในราชอาณาจักร หรือประเทศไทย จึงจะอยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

คำว่า "ขาย" กำหนดนิยามไว้ตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งอาจจำแนกกิจกรรมการขายสินค้าที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ดังนี้

 1. การจำหน่าย จ่าย โอนสินค้าโดยได้รับประโยชน์หรือค่าตอบแทน

 2. การจำหน่าย จ่าย โอนสินค้าโดยไม่ได้รับประโยชน์ หรือค่าตอบแทนที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

 3. การจำหน่าย จ่าย โอนสินค้าโดยไม่ได้รับประโยชน์หรือค่าตอบแทนที่ไม่อยู่ในบังคับต้องเสีย  ภาษีมูลค่าเพิ่ม

 4. สัญญาให้เช่าซื้อสินค้า สัญญาซื้อขายผ่อนชำระ

 5. การส่งมอบสินค้าให้ตั้งแทนเพื่อขายหรือการฝากขาย

 6. การส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร หรือการส่งออก

 7. การนำสินค้าไปใช้ไม่ว่าประการใดๆ    

 8. กรณีมีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ

 9. กรณีมีสินค้าคงเหลือหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ

10. กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 188 (พ.ศ. 2534)

ซึ่งจะได้นำรายละเอียดมากล่าวเป็นลำดับดังต่อไปนี้

 

1. การจำหน่าย จ่าย โอนสินค้าโดยได้รับประโยชน์หรือค่าตอบแทน

การจำหน่าย จ่าย โอนสินค้า โดยได้รับประโยชน์หรือค่าตอบแทนที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่

1.1 การขายสินค้าโดยทั่วไป ที่กระทำโดยผู้ประกอบการ ได้แก่

      1.1.1  การขายสินค้าที่ผลิตขายหรือซื้อมาขายไปเป็นปกติธุรกิจ เช่น

      บริษัท ก. ผลิตสติกเกอร์ขายอยู่เป็นปกติอยู่แล้ว แม้จะผลิตสติกเกอร์ตามคำสั่งของบริษัท ข. ที่มีเงื่อนไขว่า บริษัท ก. ต้องพิมพ์ตรา ยี่ห้อ และเครื่องหมายการค้าของบริษัท ข. ลงบนแผ่นสติกเกอร์ด้วย เช่นนี้ ถือเป็นการขายสินค้า มิใช่สัญญาจ้างทำของบริษัท ข. ไม่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528

      บริษัท ค. ผลิตกล่องกระดาษลูกฟูกขายเป็นปกติอยู่แล้ว แม้จะจัดพิมพ์ข้อความต่างๆ ลงบนกล่องตามใบสั่งซื้อของบริษัท ง. ที่มีเงื่อนไขว่า บริษัท ค. ต้องพิมพ์ตรา ยี่ห้อ และเครื่องหมายการค้าของบริษัท ง. ลงบนกล่องกระดาษลูกฟูกด้วย เช่นนี้ถือเป็นการขายสินค้า มิใช่สัญญาจ้างทำของ บริษัท ข. ไม่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/6125 ลงวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2536)

      1.1.2  การขายสินค้าที่มิได้มีวัตถุประสงค์ที่ขายเป็นปกติธุรกิจ เช่น

      บริษัทฯ แบ่งจ่ายไฟฟ้าให้บริษัทอื่นใช้ ให้บริษัทอื่นใช้น้ำประปาร่วมด้วย และบางครั้งได้ขายเศษวัสดุ เช่น เศษเหล็ก กระดาษ ไม้ และอื่นๆ แม้จะเป็นจำนวนน้อยและเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งในแต่ละปีก็ตามเงินค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปาที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากบริษัทอื่น ค่าขายเศษวัสดุเหลือใช้ถือเป็นค่าตอบแทนจากการขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.1142 ลงวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2536)

      บริษัทฯ และห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ได้ทำสัญญาเพื่อติดตั้งระบบสุขาภิบาล และป้องกันอัคคีภัยกับโครงการธนาคาร ก. สาขาพระราม 9 โดยบริษัทฯ รับเป็นผู้จัดส่งอุปกรณ์ต่างๆ ตามสัญญาให้แก่โครงการฯ และห้างฯ รับเป็นผู้รับจ้างเหมาติดตั้งระบบตามสัญญาให้แก่โครงการฯ จนแล้วเสร็จ ทั้งบริษัทฯ และห้างฯ เป็นนิติบุคคลอิสระต่างหากจากกันและได้ทำหนังสือสัญญาแยกจากกันเป็นของแต่ละกิจการกับธนาคารฯ เช่นนี้ กรณีของบริษัทฯ ซึ่งตามข้อเท็จจริงและรายละเอียดจากสัญญาซื้อขายระหว่างบริษัทฯ กับธนาคารฯ เข้าลักษณะเป็นการซื้อขายตามมาตรา 453 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้นธนาคารฯ ผู้จ่ายเงินได้จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด ส่วนกรณีของห้างฯ ซึ่งมีรายละเอียดในสัญญาคล้ายกับสัญญาซื้อขายระหว่างบริษัทฯ กับธนาคารฯ จะต่างกันก็บางข้อ แต่การประกอบกิจการโดยส่วนใหญ่ของห้างฯ ไม่มีสินค้าของตนเองเป็นเพียงผู้ให้บริการรับจ้างเท่านั้น จึงเข้าลักษณะเป็นการรับจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งธนาคารฯ ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/9449 ลงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2537)

      1.1.3  การขายสินค้าเป็นสวัสดิการ เช่น องค์การฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ซื้อสินค้าจากร้านค้าและนำสินค้านั้นมาจำหน่ายเป็นสวัสดิการแก่พนักงานขององค์การฯ ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.1142 ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536)

1.2 การนำสินค้าไปแลกเปลี่ยน (Barter) กับสินค้าหรือบริการ เช่น การแลกเปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์กับเครื่องใช้สำนักงาน การแลกเปลี่ยนเครื่องจักรกับการโฆษณาในระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการ หรือระหว่างผู้ประกอบการกับบุคคลอื่น เช่น บริษัทฯ นำสินค้าไปแลกเปลี่ยนกับผู้ที่ต้องการรับแลกเปลี่ยน โดยคู่กรณีทั้งสองฝ่ายต่างโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้านั้นให้กันและกันตามมาตรา 518 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่นนี้ บริษัทฯ ผู้นำน้ำมันไปแลกเปลี่ยนดังกล่าว มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้รับแลกเปลี่ยนตามมาตรา 82 (1) และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.10312 ลงวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2536)

1.3 การนำทรัพย์สินเก่าไปชำระเป็นส่วนหนึ่งของราคาทรัพย์สินที่ซื้อใหม่ (Trade Out, Trade In) เช่น การนำรถยนต์เก่าไปชำระเป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ที่ซื้อใหม่ ถือว่าผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของรถยนต์เก่าได้ขายรถยนต์เก่าของตน ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินเก่านั้นจะได้มาเมื่อใดก็ตาม ซึ่งกระทำระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการ หรือระหว่างผู้ประกอบการกับบุคคลอื่น

1.4 การขายสินค้าโดยรวมค่าบริการไว้ในราคาสินค้า ให้ถือเป็นการขายสินค้าทั้งจำนวน เช่น

      บริษัทฯ ขายเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงพร้อมกับให้บริการรับจ้างตอกเสาเข็ม โดยออกใบกำกับภาษี ราคาค่าเสาเข็มและค่าบริการตอกเสาเข็มรวมเป็นราคาเดียวกัน ให้ถือเป็นการขายสินค้า ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 78 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ถือวันที่บริษัทฯ ส่งมอบเสาเข็มบริษัทฯ ต้องออกใบกำกับภาษีในทันที ตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร มิใช่ออกใบกำกับภาษีเมื่อตอกเสาเข็มเสร็จเรียบร้อย และเนื่องจากเป็นการขายสินค้า บริษัทฯ จึงไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่ถ้าหากบริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีราคาค่าเสาเข็มและค่าบริการรับจ้างตอกเสาเข็มแยกออกจากกัน ค่าบริการรับจ้างตอกเสาเข็มอยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 (หนังสือกรมสรรพากร ที่ กค 0802/พ.23259 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536)

      บริษัทฯ ทำสัญญาขายลิฟท์และบันไดเลื่อนพร้อมทั้งให้บริการประกอบติดตั้งโดยมิได้แยกราคาค่าสินค้าและค่าบริการออกจากกัน ถือเป็นการขายสินค้า ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีส่งมอบสินค้า ตามมาตรา 78 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ถือวันที่บริษัทฯ ผู้ขายส่งมอบลิฟท์หรือบันไดเลื่อนเป็นวันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขื้น บริษัทฯ ต้องออกใบกำกับภาษีในทันที่ที่ความรับผิดเกิดขึ้นตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร มิใช่วันที่บริษัทฯ ประกอบติดตั้งเสร็จและมีสิทธิได้รับชำระราคา เนื่องจากถือเป็นการขายสินค้าเมื่อผู้ซื้อชำระราค่าสินค้า บริษัทฯ ไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามคำสั่งของกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 (หนังสือกรมสรรพากร ที่ กค 0802/พ.23430 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536)

      บริษัทฯ ประกอบกิจการขายอุปกรณ์ระบบโทรศัพท์ และโทรสาร พร้อมทั้งบริการติดตั้งให้ลูกค้าด้วย โดยไม่แยกราคาค่าสินค้าและค่าบริการติดตั้งออกจากกัน เข้าลักษณะเป็นการขายตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่อยู่ในข่ายต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 (หนังสือกรมสรรพากร ที่ กค 0802/พ.3058 ลงวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2537)

      บริษัทฯ ประกอบกิจการขายสินค้าหลายประเภท ได้แก่ เครื่องทำน้ำแข็ง เครื่องทำน้ำแข็งเกร็ด ห้องเย็น อุปกรณ์อาหารและนม อุปกรณ์ผลิตและถนอมอาหาร และอื่นๆ สินค้าของบริษัทฯ จะมีขนาด และรูปแบบแตกต่างไปตามความต้องการของลูกค้า โดยบริษัทฯ จะนำอุปกรณ์ต่างๆ ไปประกอบรวมกันเข้า เป็นสินค้าสำเร็จรูปก่อนการส่งมอบสินค้าลูกค้าจะต้องมีการทดสอบเครื่องจนพอใจก่อนจึงจะรับมอบสินค้านั้น ไว้ และการประกอบติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ นั้น บริษัทฯ จะนำอุปกรณ์สินค้าของบริษัทฯ และคนงานของบริษัทฯ ไปประกอบติดตั้งสำเร็จรูปเพื่อใช้งานในการผลิตของลูกค้า ณ สถานประกอบการของลูกค้า โดยบางครั้งลูกค้าอาจจะควบคุมดูแลการประกอบนั้นด้วยและบางครั้งอาจต้องมีการติดตั้งเชื่อมต่อกับเครื่องจักรเดิมของลูกค้าด้วยเพื่อใช้งานร่วมกัน เช่น สินค้าประเภทห้องเย็นหรือเครื่องผลิตอาหารและนม เป็นต้น เช่นนี้  

      (1) การประกอบกิจการดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้า ตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากรดังนั้น ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้า เว้นแต่ กรณีที่ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์สินค้า หรือได้รับชำระราคาสินค้า หรือได้ออกใบกำกับภาษีเกิดขึ้นก่อน ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ตามมาตรา 78 แห่งประมวลรัษฎากร   

      (2) เมื่อลูกค้าชำระค่าสินค้าให้บริษัทฯ ลูกค้าไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด

      (3) บริษัทฯ สามารถทำสัญญากับลูกค้า โดยมีเงื่อนไขกำหนดให้มีการโอนกรรมสิทธิ์เมื่อลูกค้าชำระหนี้จนเสร็จสมบูรณ์ได้ เพราะไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดห้ามไว้แต่อย่างใด (หนังสือกรมสรรพากร ที่ กค 0802/พ.5955 ลงวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2537)

      การขายสินค้าแผ่นพื้นคอนกรีตอัดแรงใช้ในการก่อสร้างอาคาร (Post-Tension) ประกอบ ด้วยส่วนที่เป็น Post-Tension Hardware และส่วนบริการประกอบติดตั้ง (Stressing Service) โดยไม่แยกราคาสินค้าและค่าบริการติดตั้งออกจากกัน ถือเป็นการขายสินค้าไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 สัญญาขายสินค้าดังกล่าวไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ เพราะไม่เข้าลักษณะแห่งตราสารตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ และให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบแผ่นพื้นคอนกรีต ตามมาตรา 78 (1) แห่งประมวลรัษฎากร มิใช่วันที่มีการติดตั้งเสร็จ (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.8736 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2537)

      บริษัทฯ ประกอบกิจการนำเข้าเหล็กเพื่อทำชั้นวางสินค้าใช้ในโกดังขนาดใหญ่ โดยนำเข้าจากต่างประเทศเป็นชิ้นส่วนกึ่งสำเร็จรูปแล้วนำมาตัด เชื่อม หรือจ้างบริษัทอื่นทำ หรือหลังจากตัด เชื่อมแล้วส่งไปโรงงานเพื่อพ่นสีแล้วส่งไปยังสถานที่ติดตั้ง จากนั้นบริษัทฯ จะส่งช่างไปให้บริการประกอบและติดตั้ง เป็นชั้นวางสินค้า เช่นนี้ กรณีบริษัทฯ ขายสินค้าพร้อมให้บริการ โดยคิดราคาค่าสินค้าและค่าบริการรวมกันถือเป็นการขายสินค้า เมื่อผู้ซื้อชำระราคาค่าสินค้า บริษัทฯ ไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/10992 ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2537)

      บริษัทฯ ประกอบกิจการขายลิฟต์และบันไดเลื่อนพร้อมทั้งให้บริการติดตั้ง โดยมิได้แยกราคาค่าสินค้าและค่าบริการติดตั้งออกจากกัน กรณีนี้ถือว่าเป็นการขายสินค้า ผู้จ่ายเงินได้ค่าสินค้าไม่อยู่บังคับต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 และกรณีบริษัทฯ แยกราคาสินค้าและค่าบริการออกจากกัน เฉพาะค่าบริการที่แยกออกจากราคาสินค้า เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการรับจ้างทำของ ผู้จ่ายเงินได้ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.10725 ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2537)

   อนี่ง การโอนสินค้าคงเหลือ และหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการจดทะเบียน มีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ ของผู้ประกอบการซึ่งได้ควบเข้ากัน หรือได้โอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการใหม่อันได้ควบเข้ากันหรือผู้รับโอนกิจการนั้น อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร แม้จะเป็นการจำหน่าย จ่าย โอนสินค้าโดยได้รับประโยชน์หรือค่าตอบแทนก็ตาม แต่ไม่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (มาตรา 77/1 (8)(ฉ)) แห่งประมวลรัษฎากร

 

2. การจำหน่าย จ่าย โอนสินค้าโดยไม่ได้รับประโยชน์ หรือค่าตอบแทนที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

การจำหน่าย จ่าย โอนสินค้าโดยไม่ได้รับประโยชน์ หรือค่าตอบแทน ที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่

2.1 การแจกสินค้าหรือสิ่งของ ทั้งนี้ ไม่ว่าเพื่อการใดๆ เช่น การแจกสินค้าหรือสิ่งของเพื่อเป็นรางวัล หรือโบนัสแก่พนักงาน การแจกสิ่งของเพื่อเป็นรางวัลในการประกวดแข่งขันหรือชิงโชค เช่น

      บริษัทฯ ซื้อสินค้า เพื่อใช้เป็นของแจกตามรายการสนับสนุนสินค้าของบริษัทฯ ตามเป้า (Promotion Budget) การขายสินค้าโดยวิธีแจกของแถมดังกล่าว ภาษีซื้อสำหรับของแจกย่อมนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.3748 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535)

      บริษัทฯ ซื้อรถยนต์มาเป็นรางวัลในการชิงโชค เมื่อบริษัทฯ มอบรถยนต์ให้แก่ลูกค้า ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้คำนวณภาษีขายจากราคา รถยนต์ที่ซื้อมา (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.10314 ลงวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2536)

2.2 การแจกสินค้าเป็นตัวอย่างในกรณีอื่นใดที่มิใช่เป็นการแจกสินค้าตัวอย่าง เพื่อการส่งเสริมการขาย อาทิ การแจกสินค้าให้แก่ผู้จัดจำหน่าย เช่น

      บริษัทฯ ประกอบกิจการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาชนิดต่าง ๆ โดยให้ผู้แทนขายยาของบริษัทฯ ติดต่อโดยตรงกับสถานพยาบาลและโรงพยาบาล และได้มีการมอบยาตัวอย่างให้แพทย์ตามสถานพยาบาล หรือแผนกเภสัชกรรมของโรงพยาบาล เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยา หรือมอบยาตัวอย่างให้หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อรักษาคนไข้โดยไม่คิดมูลค่า การแจกยาดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802 (ก)/พ.10184 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535)

      บริษัทฯ ผลิตขนมกรอบเพื่อส่งออก เมื่อลูกค้ามาเยี่ยมชมโรงงาน บริษัทฯ ได้แจกขนมกรอบที่บริษัทฯ ผลิตให้ทดลองชิมโดยไม่คิดมูลค่าใดๆ การแจกขนมกรอบดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/7321 ลงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2536)

   องค์การฯ ประกอบกิจการผลิตผ้าและเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ได้ส่งผ้าตัวอย่างให้ลูกค้าพร้อมในเสนอราคาทุกครั้ง และอีกกรณีหนึ่งได้ส่งผ้าชดเชยให้ลูกค้าเท่ากับผ้าที่ลูกค้าสุ่มต้วอย่างจากผ้าที่องค์การฯ ส่งให้ตามใบสั่งซื้อเพื่อนำไปทดสอบคุณลักษณะ ซึ่งเมื่อทำการตรวจสอบแล้วลูกค้าจะทำการตรวจนับจำนวนผ้าอีกครั้งหนึ่ง องค์การฯ จึงต้องส่งผ้าไปชดเชยให้ครบเต็มตามจำนวนที่สั่งซื้อ การส่งมอบผ้าตัวอย่างและผ้าชดเชยดังกล่าวถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร องค์การฯ จะต้องนำผ้าตัวอย่าง และผ้าชดเชยมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีที่ส่งมอบผ้า (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.5177 ลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2536)

2.3 การส่งสินค้าไปให้ลูกค้าทดลองใช้งานก่อนซื้อ เช่น

      โดยทั่วไปการส่งสินค้าไปให้ลูกค้าทดลองใช้งานก่อนซื้อ และเมื่อลูกค้าพอใจในสินค้าดังกล่าว ได้ตกลงซื้อขายสินค้าตามที่ได้ส่งมอบให้ทดลองใช้ดังกล่าว กรณีนี้ถือเป็นการขายตั้งแต่วันที่ได้มอบสินค้าให้ลูกค้า ทดลองใช้นั้น ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ประกอบการดังกล่าวจะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือไม่ก็ตาม (คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 48/2537)

      อนึ่ง การส่งสินค้าที่จะขายไปให้ลูกค้าเลือกซื้อเกินกว่า 14 วัน และหรือผู้ประกอบการจดทะเบียน มิได้ลงรายการในรายงานสินค้าและวัตถุดิบ ในช่องหมายเหตุไว้ชัดเจนว่าเป็นสินค้าที่ส่งไปให้ลูกค้าเลือกซื้อ (หนังสือซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการขายสินค้าในบางกรณีของกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.15952 ลงวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2537)

2.4 การให้ยืมใช้สิ้นเปลืองและการใช้คืนสินค้าที่ได้ยืมใช้สิ้นเปลืองไปนั้น

      การให้ยืมใช้สิ้นเปลืองและการใช้คืนสินค้าที่ได้ยืมใช้สิ้นเปลืองไปนั้น ให้ถือว่าผู้ประกอบการแต่ละฝ่ายเป็นผู้ขายสินค้า

      ในกรณีการใช้คืนสินค้าที่ยืมใช้สิ้นเปลือง ซึ่งให้ถือว่าผู้ประกอบการที่เป็นผู้ยืมและได้ใช้คืนดังกล่าวเป็นผู้ขายสินค้า โดยไม่ถือว่าผู้ให้ยืมและรับคืนสินค้าดังเช่นกรณีขายและรับคืนสินค้าโดยทั่วไป เนื่องจากการรับสินค้าดังกล่าว มิได้รับคืนสินค้าเดิมหากแต่เป็นสินค้าใหม่ จึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการรับคืนสินค้าที่อยู่ในข่ายต้องออกใบลดหนี้ ตามมาตรา 82/10 (3) แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 18) ซึ่งกำหนดให้รับคืนสินค้าที่ขายเนื่องจากสินค้าชำรุดบกพร่อง ไม่ตรงตามตัวอย่าง ไม่ตรงตามคำพรรณนาหรือเนื่องจากการรับคืนสินค้า หรือแลกเปลี่ยนสินค้าตามข้อตกลงทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการจดทะเบียนด้วยกัน

      ตัวอย่างแนวคำตอบข้อหารือของกรมสรรพากร

      การให้ยืมน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าใช้สิ้นไป ถือได้ว่าผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในน้ำมันนั้นให้กับผู้ยืมไปแล้ว เข้าลักษณะเป็นการยืมใช้สิ้นเปลืองตามมาตรา 650 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) และ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ให้ยืมมีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82 (1) และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.10312 ลงวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2536)

   การให้บุคคลอื่นยืมสินค้าไปจำหน่ายเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ให้ยืมสินค้ามีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีทันทีที่ได้มีการส่งมอบสินค้าตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 78 (1) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.15650 ลงวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2536)

2.5 การแถมสินค้า ที่ไม่ได้แถมไปพร้อมกับการขายสินค้า หรือการให้บริการ หรือมูลค่าของสินค้าที่แถมมากกว่ามูลค่าของสินค้าที่ขายหรือบริการที่ให้

      การแถมสินค้า ที่ไม่ได้แถมไปพร้อมกับการขายสินค้าหรือการให้บริการ หรือมูลค่าของสินค้าที่แถมมากกว่ามูลค่าของสินค้าที่ขายหรือบริการที่ให้ ดังนี้

      2.5.1 การแถมสินค้าที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้แถมให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการและแม้ว่าจะได้แถมไปพร้อมกับการขายสินค้า หรือการให้บริการก็ตาม แต่มูลค่าของสินค้าที่แถมนั้นมีมูลค่า มากกว่ามูลค่าของสินค้าที่ขายหรือบริการที่ให้

      2.5.2 การแถมสินค้าในกรณีที่ผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการได้ซื้อสินค้าหรือรับบริการเป็นปริมาณ หรือมูลค่าตามที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนกำหนดไว้ แต่ได้แถมสินค้าไปต่างหากจากการขายสินค้าหรือการให้บริการตามปกติ

2.6 การบริจาคสินค้าที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

      2.6.1 บริจาคสินค้าให้แก่สถานพยาบาล ของทางเอกชน

      2.6.2  บริจาคสินค้าให้แก่โรงเรียนเอกชนที่มิได้ประกอบกิจการโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น

      2.6.3  บริจาคสินค้าให้แก่รัฐบาล องค์การของรัฐบาล

      2.6.4  บริจาคสินค้าให้แก่เทศบาล องค์การบริการราชการส่วนท้องถิ่นอื่น  

      2.6.5 บริจาคสินค้าให้แก่มูลนิธิ หรือสมาคม หรือกองทุนที่ไม่ได้รับการประกาศกำหนดให้เป็นองค์การสาธารณกุศล ตามประกาศกระทรวงการคลีงที่ออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

      2.6.6  บริจาคสินค้าให้แก่บุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

      2.6.7  บริจาคสินค้าให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคลอื่น

(ดู ข้อ 3.2 การบริจาคสินค้าที่ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบ)

 

3. การจำหน่าย จ่าย โอนสินค้าโดยไม่ได้รับประโยชน์หรือค่าตอบแทนที่ไม่อยู่ในบังคับต้องเสีย  ภาษีมูลค่าเพิ่ม

3.1 การจำหน่าย จ่าย โอนสินค้าโดยไม่ได้รับประโยชน์หรือค่าตอบแทน ที่ไม่นับรวมเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร  เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) ดังนี้

        3.1.1  การแถมสินค้า

              (1) ต้องเป็นการแถม “สินค้า” ที่ได้แถมไปพร้อมกับการขายสินค้าหรือการให้บริการ ทั้งนี้ ไม่ว่าสินค้าที่แถมนั้นจะเป็นสินค้าประเภทและชนิดเดียวกับสินค้าที่ขายหรือบริการที่กระทำหรือไม่

              (2) มูลค่าของสินค้าที่แถมจะต้องไม่เกินมูลค่าของสินค้าที่ขายหรือมูลค่าของบริการที่ให้  

      3.1.2  การแจกสินค้าหรือให้สินค้าเป็นรางวัลแก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ เพื่อตอบแทนการซื้อสินค้าหรือรับบริการตามมูลค่ารวมที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนกำหนดในแต่ละวัน โดยมูลค่าของสินค้าที่แจกหรือให้เป็นรางวัล ต้องไม่เกินมูลค่าของสินค้าที่ขายหรือของบริการที่ให้ ผู้ประกอบการไม่ต้องนำค่าตอบแทนที่พึงได้รับมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (2) ของประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40)

      3.1.3  กรณีผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมส่งออก ตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อสินค้าในราชอาณาจักร และผู้ซื้อเป็นผู้นำเข้าตามมาตรา 77/1 (11) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ยื่นกระทำพิธีการนำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร เมื่อนำสินค้านั้นออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออกแล้ว ทั้งนี้ ผู้ซื้อสินค้าดังกล่าว ต้องมิใช่ผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมส่งออก ตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร (ข้อ 2 (4) ของประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40))

      3.1.4 กรณีผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมส่งออก ตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อสินค้าในราชอาณาจักร ที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนเต็มรูปแบบที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 ของราคาสินค้าหรือค่าบริการ โดยคำนวณภาษีมูลค่า เพิ่มจากยอดภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี และผู้ประกอบการที่ได้ขายสินค้าดังกล่าวได้ยื่นกระทำพิธีการนำเข้า ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร เมื่อนำสินค้านั้นออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออกแล้ว ทั้งนี้ ผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวต้องมิใช่ผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมส่งออก ตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร (ข้อ 2 (5) ของประกอบกับประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40))

      3.1.5 การแจกสินค้าหรือของขวัญ ของชำร่วย ตามข้อ 2 (6) ของประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) ตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

              (1) ต้องเป็นการแจกสินค้าหรือของขวัญ เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น เทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ หรือเนื่องในโอกาสเปิดแนะนำสินค้าใหม่ เป็นต้น

              (2) สินค้าที่แจกหรือให้เป็นของขวัญต้องเป็นสินค้าที่เป็นปฏิทิน สมุดบันทึกประจำวัน (Diary) หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

              (3) ในกรณีสินค้าที่แจกหรือให้เป็นของขวัญ เป็นของขวัญของชำร่วยต้องมี ชื่อผู้ประกอบ การ ชื่อการค้าหรือเครื่องหมายการค้าของผู้ประกอบการปรากฏอยู่ โดยของขวัญหรือของชำร่วยดังกล่าว ต้องเป็นสิ่งของที่พึงให้แก่กันตามประเพณีทางธุรกิจทั่วไป และต้องมีราคาหรือมูลค่าไม่เกินสมควร

      3.1.6  การแจกสินค้าตัวอย่างเนื่องจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย (ข้อ 2 (7) ของประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40)) เช่น  

              บริษัทจำกัดแห่งหนึ่ง ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปจำหน่าย เนื่องในการส่งเสริมการขาย บริษัทฯ นำสินค้าที่ผลิตไปแจกให้แก่ผู้บริโภคทดลองบริโภคเป็นตัวอย่าง เช่นนี้ บริษัทฯ ไม่ต้องนำมูลค่าสินค้าตัวอย่างที่ได้แจกไปในกรณีดังกล่าวไปเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

      3.1.7  มูลค่าของอาหารและเครื่องดื่ม ที่นายจ้างจัดหาให้กับพนักงานหรือลูกจ้างในระหว่างเวลาปฏิบัติงาน ตามระเบียบเกี่ยวกับสวัสดิการของพนักงานหรือลูกจ้าง โดยมูลค่าของอาหารและเครื่องดื่มดังกล่าวต้องมีราคาไม่เกินสมควร (ข้อ 2 (8) ของประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40))

      3.1.8  มูลค่าของสินค้าที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ขายให้แก่ผู้ซื้อ โดยสินค้าดังกล่าวผู้ประกอบ การจดทะเบียนที่ขายได้นำเข้าจากต่างประเทศและได้โอนสินค้าให้แก่ผู้ซื้อยื่นใบขนสินค้าขาเข้าต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ณ ด่านศุลกากร เพื่อชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเข้าพนักงานศุลกากร ตามมาตรา 83/8 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าจะต้องมีสำเนาในเสร็จรับเงินของกรมศุลกากรที่ออกให้ผู้ซื้อพร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้ (ข้อ 2 (9) ของประกอบกับประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40))

      3.1.9 การนำสินค้าประเภทเครื่องแบบของพนักงานไปใช้ในการบริหารงานของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามข้อ 2 (10) ของประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) ดังนี้                    

              (1) ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องมีระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับเครื่องแบบของพนักงานว่า จะจัดหาเครื่องแบบให้พนักงานใช้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

              (2) กรณีเป็นเครื่องแบบที่ใช้เฉพาะงานหรือห้องปฏิบัติงานโดยเฉพาะ

                   (ก) ต้องมีปริมาณไม่เกินสมควร

                   (ข) ต้องไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของพนักงาน

                   (ค) เมื่อพนักงานปฏิบัติงานตามหน้าที่แล้ว ต้องเก็บรักษาไว้ที่สถานประกอบการหรือให้พนักงานนำออกไปจากสถานประกอบการได้เพื่อการซักฟอกหรือทำความสะอาด

              (3) กรณีเป็นเครื่องแบบที่พนักงานแต่ละคนต้องแต่งอย่างเดียวกัน หรือคล้ายคลึงกันในจำนวนคนมากพอสมควร ซึ่งประชาชนทั่วไปเมื่อพบเห็นสามารถเข้าใจได้ว่าเป็นเครื่องแบบของพนักงานของ ผู้ประกอบการรายหนึ่งรายใดโดยเฉพาะไม่ว่าพนักงานแต่ละคนจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการตัดเย็บเอง หรือผู้ประกอบการเป็นผู้จ่ายให้ทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์ของพนักงาน

                   (ก) เครื่องแบบที่ให้แก่พนักงานแต่ละคนต้องไม่เกินปีละ 2 ชุด

                   (ข) เสื้อนอกที่ให้แก่พนักงานแต่ละคนต้องไม่เกินปีละ 1 ตัว

              “เครื่องแบบ” หมายความว่า เครื่องแต่งกายรวมทั้งสิ่งประกอบเครื่องแต่งกายที่กำหนดให้แต่งเพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน แต่ไม่รวมถึงรองเท้าที่อาจใช้งานได้ทั่วไป ชุดชั้นใน หรือสิ่งประกอบเครื่องแต่งกายที่ทำด้วยโลหะหรืออัญมณีมีค่า เช่น เงิน ทองคำ ทับทิม หยก

              “เสื้อนอก” หมายความรวมถึงชุดไทยพระราชทาน และเสื้อที่นิยมใช้ในการแต่งกายไปในงานสำคัญต่างๆ

              นอกจากนี้ มูลค่าของเครื่องแบบ และเสื้อนอกที่พนักงานได้รับดังกล่าวให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมิน เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของพนักงาน ทั้งนี้ สำหรับเงินได้เงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2537 เป็นต้นไป (กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 194 (พ.ศ.2537))

      3.1.10 กรณีส่งสินค้าไปให้ลูกค้าทดลองใช้งานก่อนซื้อเป็นการชั่วคราว เพื่อทดลองคุณภาพหรือประสิทธิภาพของสินค้าเท่านั้น และผู้ซื้อสินค้าจะต้องส่งมอบสินค้าดังกล่าวคืนให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนผู้ขายสินค้าเมื่อทดลองใช้เสร็จ ไม่นับรวมเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามข้อ 2 (11) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) ดังนี้

              (1) สินค้าที่มอบให้ลูกค้าทดลองใช้ก่อนซื้อนั้น จะต้องเป็นสินค้าที่ผู้ขายมีไว้สำหรับให้ทดลองใช้โดยเฉพาะเท่านั้น และเมื่อลูกค้าตกลงซื้อสินค้าผู้ขายต้องมอบสินค้าตัวใหม่ที่เป็นชนิดเดียวกันให้ลูกค้า

              (2) ระยะเวลาที่ให้ลูกค้าทดลองใช้สินค้านั้น จะต้องเป็นกรณีที่ให้ทดลองใช้เพียงชั่วคราวเพียงเพื่อทดลองคุณภาพหรือประสิทธิภาพของสินค้าเท่านั้น และต้องไม่เกินความจำเป็นแก่การทดลอง โดยผู้ซื้อสินค้าจะต้องส่งมอบสินค้าดังกล่าวคืนให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนผู้ขายสินค่าเมื่อทดลองใช้เสร็จ และ

              (3) สินค้าที่มอบให้ลูกค้าทดลองใช้ก่อนซื้อนั้น จะต้องมิใช่เป็นสินค้าชนิดที่เป็นของใช้สิ้นเปลือง

                   การส่งสินค้าที่จะขายไปให้ลูกค้าเลือกซื้อ ภายในกำหนดเวลาไม่เกิน 14 วัน โดยผู้ประกอบ การจดทะเบียนได้ลงรายการในรายงานสินค้าและวัตถุดิบในช่องหมายเหตุไว้ชัดเจนว่าเป็นสินค้าที่ส่งไปให้ลูกค้าเลือกซื้อภายในกำหนดว่ากี่วัน ชนิด และปริมาณของสินค้าดังกล่าว กรณียังไม่ถือว่าสินค้านั้น ได้มีการขายตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร จนกว่าลูกค้าจะได้เลือกสินค้าที่จะซื้อ และได้แจ้งความประสงค์ว่าจะซื้อสินค้าชิ้นใดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งขายสินค้านั้นทราบแน่นอน ก็ให้ถือว่าได้มีการขายสินค้าดังกล่าว และได้มีการส่งมอบสินค้านั้นในวันที่ได้รับแจ้งความประสงค์ของลูกค้า (หนังสือซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าในบางกรณีของกรมสรรพากร ที่ กค 0802/พ.15952 ลงวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2537)

              (4) เมื่อลูกค้าพอใจในสินค้าดังกล่าว ผู้ขายจะส่งมอบสินค้าตัวใหม่ไปให้

      3.1.11 มูลค่าของสินค้าหรือบริการที่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ได้ขายหรือให้บริการแก่ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ ซึ่งเป็น

              (1) ผู้ทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับองค์กรร่วมไทย-มาเลเซียตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย

              (2) ผู้ขายสินค้าหรือให้บริการซึ่งได้ทำสัญญาเป็นหนังสือโดยตรงกับผู้ทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย

              ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ต้องทำสัญญากับผู้ซื้อหรือผู้รับบริการเป็นหนังสือ และต้องจัดทำรายงานตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนด ตามข้อ 2 (12) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40)

      3.1.12 มูลค่าของทองรูปพรรณที่ขายเป็นจำนวนเท่ากับราคาทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศรับซื้อคืนในวันที่ขายทองรูปพรรณ ทั้งนี้ เฉพาะผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายทองรูปพรรณซึ่งมีใบอนุญาตค้าของเก่าตามกฎหมายว่าด้วยการค้าของเก่า

              ทองรูปพรรณ หมายความว่า ทองคำที่ทำสำเร็จเป็นเครื่องประดับกาย เครื่องแต่งกาย ของชำร่วย หรือสิ่งของต่าง ๆ ที่มีไว้เพื่อโชว์ ทั้งนี้ ต้องไม่มีอัญมณีประกอบอยู่ด้วย และให้หมายความรวมถึงนากที่สามารถคำนวณราคารับซื้อคืนได้ตามส่วนของราคาทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศรับซื้อคืน ตามข้อ 2 (14) ของประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40)

      3.1.13 มูลค่าของทองรูปพรรณที่ขายซึ่งผู้ขายฝากใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินคืนภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เป็นจำนวนเท่ากับราคาขายฝากที่กำหนดไว้ในสัญญา ทั้งนี้ เฉพาะผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายทองรูปพรรณ ซึ่งมีใบอนุญาตค้าของเก่าตามกฎหมายว่าด้วยการค้าของเก่า

              หากมิได้กำหนดราคาขายฝากไว้มูลค่าของทองรูปพรรณที่ขายฝากตามวรรคหนึ่งให้เป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 85 ของราคาสินไถ่ที่กำหนดไว้ตามสัญญาขายฝาก

              สินไถ่ คือ จำนวนเงินที่ผู้ขายฝากหรือผู้มีสิทธิไถ่ตามกฎหมาย จะต้องนำมาชำระให้แก่ผู้ซื้อหรือผู้มีหน้าที่รับไถ่ เมื่อมาใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินนั้น

              ทองรูปพรรณตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า ทองคำที่ทำสำเร็จเป็นเครื่องประดับกาย เครื่องแต่งกาย ของชำร่วย หรือสิ่งของต่างๆ ที่มีไว้เพื่อโชว์ ทั้งนี้ ต้องไม่มีอัญมณีประกอบอยู่ด้วยและหมายความรวมถึงนากที่สามารถคำนวณราคารับซื้อคืนได้ตามส่วนของราคาทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศรับซื้อคืน

(ข้อ 2 (14/1) ของประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 213) ใช้บังคับตั่งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป)

      3.1.14 มูลค่าของน้ำมันดีเซลที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ผลิตและขายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2545 เป็นต้นไป ให้แก่ผู้ค้าน้ำมันที่จะนำน้ำมันดีเซลดังกล่าวไปขายให้แก่สถานีบริการจำหน่ายน้ำมันกลางทะเลในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะนำน้ำมันดีเซลนั้นไปขายให้แก่เรือจดทะเบียนสำหรับการประมง ตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย

              น้ำมันดีเซลดังกล่าว ต้องมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดคุณภาพของ น้ำมันดีเซลสำหรับการส่งไปขายในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย ตามที่กรมพัฒนาธุรกิจ การค้าประกาศกำหนด และเป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด

              ผู้ค้าน้ำมัน หมายความว่า ผู้กระทำการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ไม่รวมถึงผู้กลั่นหรือผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง หรือผู้ได้รับสัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม

              สถานีบริการจำหน่ายน้ำมันกลางทะเลในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย หมายความว่า เรือบรรทุกน้ำมันที่กรมศุลกากรอนุญาตให้ขนถ่ายน้ำมันดีเซลในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย เพื่อขายน้ำมันดีเซลให้แก่เรือจดทะเบียนสำหรับการประมงตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย

              เขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย หมายความว่า เขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทยตามพระบรมราชโองการประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย ลงวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2538

(ข้อ 2 (15) ของประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40))

      3.1.15 มูลค่าของน้ำมันดีเซลที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ผลิตและขายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2545 เป็นต้นไป ให้แก่ผู้ค้าน้ำมันที่จะนำน้ำมันดีเซลดังกล่าวไปขายให้แก่สถานีบริการจำหน่ายน้ำมันกลางทะเลในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะนำน้ำมันดีเซลนั้นไปขายให้แก่เรือจดทะเบียนสำหรับการประมง ตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย

              น้ำมันดีเซลดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดคุณภาพของน้ำมันดีเซลสำหรับการส่งไปขายในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย ตามที่กรมพัฒนาธุรกิจ การค้าประกาศกำหนด และเป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด

              ผู้ค้าน้ำมัน หมายความว่า ผู้กระทำการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ไม่รวมถึงผู้กลั่นหรือผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง หรือผู้ได้รับสัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม

              สถานีบริการจำหน่ายน้ำมันกลางทะเลในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย  หมายความว่า เรือบรรทุกน้ำมันที่กรมศุลกากรอนุญาตให้ขนถ่ายน้ำมันดีเซลในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย เพื่อขายน้ำมันดีเซลให้แก่เรือจดทะเบียนสำหรับการประมงตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย

              เขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย หมายความว่า เขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทยตามพระบรมราชโองการประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย ลงวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2538  

(ข้อ 2 (16) ของประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40))

      3.1.16 มูลค่าของทรัพย์สินหรือสินค้าซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนบริจาคให้แก่ส่วนราชการตามโครงการของทางราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติในลักษณะทำนองเดียวกัน ตามข้อ 2 (19) ของประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40)

      3.1.17 มูลค่าของทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการซึ่งผู้ประกอบการ จดทะเบียนบริจาคให้แก่ส่วนราชการตามโครงการของทางราชการ เพื่อให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือสถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ตามข้อ 2 (20) ของประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40)

      3.1.18 มูลค่าของการให้บริการรับประกันวินาศภัยต่อตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย ทั้งนี้ เฉพาะส่วนลดประกันภัยต่อที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการประกันภัยต่อได้หักออกจากค่าเบี้ยประกันภัยต่อ ตามข้อ 2 (21) ของประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40)

      3.1.19 มูลค่าของการให้บริการผลิตรถยนต์ต้นแบบ หรือรถจักรยานยนต์ต้นแบบที่ใช้เพื่อการวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะ ที่ได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนผลิตให้แก่ผู้วิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะยานยนต์ที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพสามิต โดยมีหนังสือรับรองการยกเว้นภาษีสรรพสามิตและการอนุมัติให้เป็นผู้วิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะยานยนต์จากกรมสรรพสามิตมาแสดง ตามข้อ 2 (22) ของประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) เพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 210) ใช้บังคับ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป)

3.2 การบริจาคสินค้า ที่ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

              (1) บริจาคสินค้าให้แก่สถานพยาบาล ของทางเอกชน

              (2) บริจาคสินค้าให้แก่โรงเรียนเอกชนที่มิได้ประกอบกิจการโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น

              (3) บริจาคสินค้าให้แก่รัฐบาล องค์การของรัฐบาล

              (4) บริจาคสินค้าให้แก่เทศบาล องค์การบริการราชการส่วนท้องถิ่นอื่น  

              (5) บริจาคสินค้าให้แก่มูลนิธิ หรือสมาคม หรือกองทุนที่ไม่ได้รับการประกาศกำหนดให้เป็นองค์การสาธารณกุศล ตามประกาศกระทรวงการคลีงที่ออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

              (6) บริจาคสินค้าให้แก่บุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

              (7) บริจาคสินค้าให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคลอื่น

      3.2.2  การบริจาคสินค้าที่ไม่นับรวมเป็นมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79 วรรคสาม (4) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (19) และ (20) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) ดังนี้

              (1) บริจาคสินค้าให้แก่ส่วนราชการตามโครงการของทางราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติในลักษณะทำนองเดียวกัน

              (2) บริจาคให้แก่ส่วนราชการตามโครงการของทางราชการ เพื่อให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือสถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน

      3.2.3  การบริจาคสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 3 (4) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 ดังนี้

              (1) บริจาคสินค้าให้แก่สถานพยาบาลและสถานศึกษาของทางราชการ

              (2) บริจาคสินค้าให้แก่สถานพยาบาลและสถานศึกษาขององค์การของรัฐบาล

              (3) บริจาคสินค้าให้แก่สกากาชาดไทย

              (4) บริจาคสินค้าให้แก่วัดวาอาราม

              (5) บริจาคสินค้าให้แก่หอสมุด ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ของเอกชนที่เปิดให้ใช้เป็นการสาธารณะโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ค่าทำนุบำรุงหรือเงินสนับสนุนใด ๆ และหอสมุด ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ของทางราชการ

              (6) บริจาคสินค้าให้แก่กองทุนผู้สูงอายุตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุ และ สถานพักฟื้น บำบัดและฟื้นฟูเด็ก คนชรา ผู้พิการของเอกชนที่ไม่เก็บค่าใช้จ่าย ค่าทำนุบำรุงหรือเงินสนับสนุนใด ๆ หรือสถานพักฟื้น บำบัด ฟื้นฟูเด็ก คนชรา ผู้พิการของทางราชการ

              (7) บริจาคสินค้าให้แก่มูลนิธิ สมาคม หรือกองทุนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดให้เป็นองค์การสาธารณกุศลตามมาตรา 47 (7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 3 (4)(ข) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 ประกอบกับข้อ 3 ของประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2) เรื่อง กำหนดองค์การ สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาลและสถานศึกษา ตามมาตรา 47 (7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 3 (4)(ข) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534

(ดู ข้อ 2.6 ประกอบ)

3.3 การทำลายสินค้าและวัตถุดิบ ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.79/2541 เรื่อง แนวทางปฏิบัติกรณีการทำลายของเสีย สินค้าที่เสื่อมคุณภาพ สินค้าทีมีตำหนิ สินค้าที่หมดสมัยนิยม สินค้าที่หมดอายุ และเศษซาก ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 ดังต่อไปนี้

      3.3.1 การพิจารณาต้นทุนหรือรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับผลิตภัณฑ์หน่วยที่ดี ให้ถือว่าต้นทุนของของเสียตามปกติที่เกิดจากกระบวนการผลิต เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนของผลิตภัณฑ์หน่วยที่ดี

               ของเสียตามปกติ หมายถึง ของเสียที่เกิดขึ้นไม่เกินอัตราปกติที่ได้กำหนดไว้ในกระบวน การผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้กรรมวิธีการผลิต ซึ่งได้มีการกำหนดอัตราของเสียที่ถือว่าเป็นอัตราปกติของกรรมวิธีการผลิต    

      3.3.2 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่อยู่ในเขตอุตสาหกรรมการส่งออก ให้นำมูลค่าต้นทุนของเสียเกินปกติที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต สินค้าที่เสื่อมคุณภาพ สินค้าที่มีตำหนิ สินค้าที่หมดสมัยนิยม สินค้าที่หมดอายุ และเศษซาก ไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ของรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ทำลายสินค้านั้นได้ ในกรณีที่ได้ถือปฏิบัติ ตามวิธีการเกี่ยวกับการทำลายของเสีย สินค้า และเศษซากที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกำหนด โดยได้เชิญผู้สอบบัญชีมาเป็นพยานในการทำลาย หรือจัดทำรายงานการทำลายให้ผู้สอบบัญชีรับทราบ และผู้สอบบัญชีได้รับรองเป็นลายลักษณ์อักษรแนบงบดุลด้วย

              ของเสียเกินปกติ หมายถึง ของเสียที่เกิดขึ้นมากกว่าอัตราปกติที่ ได้กำหนดไว้ในกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ

              เศษซากหมายถึง เศษวัตถุที่เกิดจากกระบวนการผลิตบางประเภท ซึ่งมีมูลค่ากลับคืนที่อาจวัดได้ แต่มีจำนวนน้อย

      3.3.3 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการทุน ที่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ มาใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งการควบคุมปริมาณวัตถุดิบนำเข้าอยู่ภายใต้การควบคุมของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ให้นำมูลค่าต้นทุนของวัตถุดิบที่ทำลาย ไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ของรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ทำลายวัตถุดินนั้นได้ ในกรณีที่ได้ถือปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนด โดยได้เชิญผู้สอบบัญชีมาเป็นพยานในการทำลาย หรือจัดทำรายงานการทำลายให้ผู้สอบบัญชีรับทราบ และผู้สอบบัญชีได้รับรองเป็นลายลักษณ์อักษรแนบงบดุลด้วย

      3.3.4 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการทุน ให้นำมูลค่าต้นทุนของเสียเกินปกติที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต สินค้าที่เสื่อมคุณภาพ สินค้าที่มีตำหนิ สินค้าที่หมดสมัยนิยม สินค้าที่หมดอายุ และเศษซาก นอกจากวัตถุดิบที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ มาใช้ในการผลิตเพื่อส่งออกของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการทุน ไปถือเป็นรายจ่ายไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ของรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ทำลายสินค้านั้นได้ ในกรณีที่ได้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังนี้

              (1) การทำลายของเสีย หรือสินค้า หรือเศษซากที่โดยสภาพไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้ เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร เวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์

                   (ก) ต้องมีการตรวจสอบสภาพสินค้าดังกล่าวว่า เสียหายตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้หรือไม่ และต้องได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจในการพิจารณาให้เป็นสินค้าเสียหายตามเงื่อนไขที่กำหนดดังกล่าว

                        กรณีสินค้าทีได้รับคืน จะต้องมีเอกสารหลักฐานการรับคืนสินค้า ซึ่งระบุรายละเอียดของสินค้านั้น เช่น วันเดือนปีที่รับคืน ปริมาณสินค้า ชนิดสินค้าหรือรหัสสินค้า สาเหตุที่รับคืนสินค้า เลขที่อ้างอิงของการสั่งซื้อสินค้าที่รับคืนนั้น และให้มีการลงลายมือชื่อของลูกค้าที่คืนสินค้า พนักงารับคืนสินค้าด้วย เมื่อมีการนำสินค้าที่รับคืนมาเก็บไว้เพื่อรอทำลาย ให้พนักงานฝ่ายคลังสินค้าที่เก็บรักษาสินค้าเสียหายตรวจนับและลงลายมือชื่อกำกับไว้ พร้อมทั้งแจ้งให้ฝ่ายบัญชีทราบด้วย

                   (ข) เมื่อได้รับอนุมัติให้ทำลายของเสีย หรือสินค้า หรือเศษซากจากผู้มีอำนาจอนุมัติให้ทำลายแล้ว ให้มีบุคคลอย่างน้อยประกอบด้วย ฝ่ายคลังสินค้า ฝ่ายบัญชี ฝ่ายขาย หรือฝ่ายตรวจสอบ (ถ้ามี) ร่วมสังเกตการณ์ และลงลายมือชื่อเป็นพยานในการทำลาย เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการบันทึก พร้อมทั้งเชิญผู้สอบบัญชีมาเป็นพยานในการทำลาย โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรร่วมเป็นพยานในการทำลายก็ได้

               (2) การทำลายของเสีย หรือสินค้า หรือเศษซากที่โดยสภาพสามารถเก็บรักษาและรอการทำลายพร้อมกันได้ เมื่อมีปริมาณที่เหมาะสม นอกจากต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในข้อ () แล้ว ให้แจ้งการทำลายให้สรรพากรพื้นที่ หรือสรรพากรจังหวัด หรือ สรรพากรจังหวัด (สาขา) ในท้องที่ที่รับผิดชอบทราบล่วงหน้าเป็นเวลา 30 วันก่อนวันทำลาย ซึ่งสรรพากรพื้นที่ หรือหรือสรรพากรจังหวัด หรือสรรพากรจังหวัด (สาขา) อาจส่งเจ้าหน้าที่ไปดูการทำลายด้วยก็ได้ตามความเหมาะสม แล้วแต่กรณี

3.4 กรณีสินค้าถูกทำลายหรือสูญหายเนื่องจากอุบัติเหตุ หรือเหตุสุดวิสัย ได้แก่ อัคคีภัย อุทกภัย วาตภัย หรือภัยธรรมชาติอื่นใด รวมทั้งกรณีสินค้าถูกขโมยหรือยักยอก ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีหลักฐานทางราชการ หรือหลักฐานอื่นที่เชื่อถือได้ว่า เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวจริงโดยชัดแจ้ง ไว้พิสูจน์ต่อเจ้าพนักงานประเมิน

      หากต่อมา ผู้ประกอบการได้รับเงินชดเชยค่าความเสียหาย เนื่องจากการที่สินค้าถูกทำลายหรือสูญหายดังกล่าวจากการประกัน หรือสัญญาค้ำประกันใดๆ เงินที่ได้รับดังกล่าวก็ไม่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นกัน เว้นแต่กรณีสินค้าที่ถูกทำลายหรือสูญหายดังกล่าว มีซากหรือมีหลักฐานทางทะเบียน ซึ่งผู้ประกอบการต้องโอนกรรมสิทธิ์ในซาก หรือโอนทะเบียนให้แก่บุคคลอื่น การโอนกรรมสิทธิ์หรือทะเบียนดังกล่าว ถือเป็นการขายสินค้าที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

      การคำนวณมูลค่าซากของสินค้า ให้คำนวณมูลค่าตามสภาพ ณ วันโอนซากสินค้านั้น (ดูข้อ 4  ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 36/2536 ประกอบ)

3.5 การเปลี่ยนอะไหล่ หรือการซ่อมแซมสินค้าหรือบริการที่มีการรับประกัน ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าหรือมีการให้บริการ โดยมีการรับประกันสินค้าหรือบริการที่มีการชำรุดบกพร่องหรือเพื่อเหตุอื่นอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน เฉพาะกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวได้จัดทำรายงานการจ่ายอะไหล่โดยไม่คิดมูลค่า (สำหรับสินค้าที่มีประกัน) ตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดตามประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 22) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 37) แยกต่างหากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ

 

4. สัญญาให้เช่าซื้อสินค้า สัญญาซื้อขายผ่อนชำระ

สัญญาให้เช่าซื้อสินค้า สัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อ เมื่อได้ส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อแล้ว หรือสัญญาจะขายสินค้าที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

5. การส่งมอบสินค้าให้ตั้งแทนเพื่อขายหรือการฝากขาย (Consignment Sale)

ในทางภาษีมูลค่าเพิ่มจำแนกการฝากขายออกเป็น 2 กรณีคือ

5.1 การฝากขาย หรือการตั้งตัวแทนเพื่อขาย ที่สัญญาการฝากขาย หรือสัญญาการตั้งตัวแทน เพื่อขายเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลังที่ออกตามมาตรา 78 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ ประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษี มูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 8) ดังนี้

      5.1.1 ต้องเป็นสัญญาการตั้งตัวแทนเพื่อขายสินค้า โดยตัวแทนได้รับค่าตอบแทน หรือบำเหน็จจากตัวการตามที่กำหนดไว้ในสัญญาการตั้งตัวแทน

      5.1.2 สัญญาตามข้อ 5.1.1 ต้องจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร และเป็นสัญญาที่ตั้งตัวแทนเพื่อขายสินค้าประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภทก็ได้

      5.1.3 ตัวการและตัวแทนต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งต้องคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากยอดภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร

      5.1.4 ตัวการและตัวแทนต้องเก็บรักษาต้นฉบับสัญญาการตั้งตัวแทนไว้ ณ สถานประกอบการแห่งประมวลรัษฎากร ที่เป็นสำนักงานใหญ่ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีนับแต่วันสิ้นสุดสัญญา

      5.1.5 ตัวการต้องแจ้งสัญญาการตั้งตัวแทนต่อเจ้าพนักงานสรรพากรภายใน 15 วันนับแต่วันทำสัญญาตั้งตัวแทน ณ สำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่หรือที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนัก งานใหญ่ของตัวการตั้งอยู่

      5.1.6 ตัวแทนต้องจำทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบโดยให้จัดทำแยกต่างหาก จากรายงานสินค้าและวัตถุดิบของตน ตามมาตรา 87 (3) แห่งประมวลรัษฎากร

      นอกจากนี้ ในการออกใบกำกับภาษี ตัวแทนต้องจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของทั้งผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นตัวการหรือผู้ฝากขาย และตัวแทน หรือผู้รับฝากขายด้วย (มาตรา 86/4 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร) จะออกใบกำกับภาษีอย่างย่อสำหรับการรับฝากขายดังกล่าวไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร

      ในกรณีที่สัญญาการฝากขายใดเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นตัวการ หรือผู้ฝากขาย (Consignor) จะเป็นผู้ขายสินค้าที่ฝากขายให้แก่ผู้ซื้อสินค้านั้น โดยผ่านผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นตัวแทน หรือผู้รับฝากขาย (Consignee) และให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของตัวการเกิดขึ้นเมื่อตัวแทนได้ส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อ เว้นแต่ตัวแทนจะได้โอนกรรมสิทธิ์สินค้าให้ผู้ซื้อ หรือได้รับชำระราคา หรือออกใบกำกับภาษี หรือได้มีการนำสินค้าไปใช้ไม่ว่าโดยตัวแทนหรือบุคคลอื่น (มาตรา 78 (3)) สำหรับตัวแทนหรือผู้รับฝากขาย เป็นแต่เพียงผู้ให้บริการขายสินค้าแทนตัวการเท่านั้น

5.2 การฝากขาย หรือการตั้งตัวแทนเพื่อขาย ที่สัญญาการฝากขาย หรือสัญญาการตั้งตัวแทน ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามมาตรา 87 (3) แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 8) ให้ถือว่าผู้ประกอบการที่เป็นตัวการ หรือผู้ฝากขาย เป็นผู้ขายสินค้าของตนเองให้แก่ตัวแทน หรือผู้รับฝากขาย สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นตัวแทน หรือผู้รับฝากขาย ก็จะเป็นผู้ซื้อสินค้ามาเพื่อขาย ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็เกิดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อได้มีการส่งมอบสินค้าตามมาตรา 87 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

 

6. การส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร หรือการส่งออก

"ส่งออก" หมายความว่า ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งไปต่างประเทศและให้หมายความรวมถึง

6.1 การนำสินค้าในราชอาณาจักร เข้าไปในเขตปลอดอากร เฉพาะสินค้าที่ต้องเสียอากรขาออก หรือที่ได้รับยกเว้นอากรขาออกตามตามแบบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

6.2 การขายสินค้าของคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรที่ขายให้แก่ผู้ที่เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร (มาตรา 77/1 (14) แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่า เพิ่ม (ฉบับที่ 125))

 

7. การนำสินค้าไปใช้ไม่ว่าประการใดๆ กรณีที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

7.1 การนำสินค้าไปใช้ไม่ว่าประการใดๆ กรณีที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่

      7.1.1  การนำสินค้าไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญหรือบุคคลในคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของกรรมการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้จัดการในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

      7.1.2 การนำสินค้าไปใช้ในการผลิตสินค้า การให้บริการ การบริหารงานของกิจการ หรือเพื่อประโยชน์ของทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับการใช้ในกิจการที่ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

              (1) การนำสินค้าจากแผนกที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไปใช้ในแผนกที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

              (2) การนำสินค้าจากแผนกที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ไปใช้ในแผนกที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

      7.1.3 การนำรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต และสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ดังกล่าวที่มีไว้เพื่อขาย หรือการให้บริการไปใช้ในกิจการ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะนำไปในกิจการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ เว้นแต่กรณีนำไปไว้ในสถานแสดงรถยนต์เพื่อขาย (ประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 1))

      ดังนั้น การนำสินค้าอื่นใดที่มิใช่รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต และสินค้า หรือบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ดังกล่าวที่มีไว้เพื่อขาย หรือการให้บริการไปใช้ในการผลิตสินค้า การให้บริการ การบริหารงานของกิจการ หรือเพื่อประโยชน์ของทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการของตนเองสำหรับกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้ง กรณีนำรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต และสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ดังกล่าวที่มีไว้เพื่อขายหรือการให้บริการไปไว้ในสถานแสดงรถยนต์เพื่อขาย จึงไม่ถือเป็นการกระทำกิจการที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

7.2 การนำสินค้าไปใช้ไม่ว่าประการใดๆ กรณีที่ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่

      7.2.1 การนำสินค้าไปใช้ในการผลิตสินค้า การให้บริการ การบริหารงานของกิจการหรือเพื่อประโยชน์ของทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการของตนเอง ทั้งนี้ ต้องเป็นการใช้ในกิจการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (ประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 1)) เช่น

              (1) การโอนสินค้าหรือวัตถุดิบจากสำนักงานใหญ่ไปยังสาขา หรือจากสาขาแห่งหนึ่งไปยังสาขาอีกแห่งหนึ่ง

              (2) การโอนสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างที่มีไว้เพื่อขาย นำไปใช้ในการซ่อมแซมอาคารสำนักงานของผู้ประกอบการ

              (3) การโอนเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องใช้ ไปถือเป็นทรัพย์สิน

              (4) การนำสินค้าที่เป็นรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ดังกล่าว ไปไว้ในสถานแสดงรถยนต์เพื่อขาย (ประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 1))

      7.2.2 การโอนสินค้า วัตถุดิบ รวมทั้งทรัพย์สินภายในกิจการที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น โอนสินค้าหรือวัตถุดิบจากสำนักงานใหญ่ไปยังสาขา หรือจากสาขาแห่งหนึ่งไปยังสาขาอีกแห่งหนึ่ง เป็นต้น แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นการกระทำภายในราชอาณาจักรและแม้ในบางกรณีการโอนสินค้า หรือวัตถุดิบดังกล่าว จะได้มีการเรียกเก็บค่าตอบแทนระหว่างกันก็ตาม

 

8. กรณีมีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ

กรณีมีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบถือเป็นขายตามมาตรา 87 (3) หรือมาตรา 87 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบการขายสินค้า ถูกกำหนดให้มีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ และรายละเอียดสินค้าคงเหลือ ณ วันที่ 31 ธันวาคมของปีภาษี ตามแบบที่อธิบดีกรม สรรพากรกำหนด ตามนัยมาตรา 87 (3) แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 22) และ (ฉบับที่ 23) ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสินค้าและวัตถุดิบ ขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ หรือรายละเอียดสินค้าคงเหลือ ณ วันที่ 31 ธันวาคมของปีภาษี ให้ถือว่าจำนวนสินค้าและวัตถุดิบที่ขาดจากรายงาน และรายละเอียดดังกล่าวเป็นการขายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ไม่ว่าการที่สินค้าขาดจากรายงานนั้น จะเป็นการตรวจพบโดยผู้ประกอบการจดทะเบียน หรือเจ้าพนักงานประเมินก็ตาม

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่ากรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสินค้าและวัตถุดิบเกินจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ หรือรายละเอียดสินค้าคงเหลือ ณ วันที่ 31 ธันวาคมของปีภาษี หรือมีสินค้าและวัตถุดิบโดยมิได้จัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ หรือรายละเอียดสินค้าคงเหลือ ณ วันที่ 31 ธันวาคมของปีภาษี ไม่ถือเป็นการขายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังเช่นที่ปรากฏในระบบภาษีการค้า

 

9.   กรณีมีสินค้าคงเหลือหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ

กรณีมีสินค้าคงเหลือ และหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ แต่ไม่รวมถึงสินค้าคงเหลือ และหรือทรัพย์สินดังกล่าวของผู้ประกอบการซึ่งได้ควบเข้ากันหรือได้โอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการใหม่อันได้ควบเข้ากันหรือผู้รับโอนกิจการต้องอยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร

 

10. กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 188 (พ.ศ. 2534)

การถือเป็นการขายสินค้ากรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 188 (พ.ศ.2534) ได้แก่

10.1 ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียน ได้รับแจ้งคำสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/10 แห่งประมวลรัษฎากร มีสินค้าคงเหลือ และหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันที่ได้รับแจ้งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

10.2 ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ได้รับแจ้งการเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/17 แห่งประมวลรัษฎากร (เนื่องจากผู้ประกอบการจดทะเบียนกระทำผิดบทบัญญัติเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม) มีสินค้าคงเหลือ และหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันที่ได้รับแจ้งการเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

อนึ่ง ภายใต้การประกอบกิจการขายสินค้าในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ ที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ว่าผู้ประกอบการจะได้ขาย หรือจำหน่าย จ่าย หรือโอนสินค้าหรือทรัพย์สินใดๆ หรือให้บริการใดๆ ล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้น เว้นแต่กรณีที่มีข้อกำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มไว้เป็นการเฉพาะ