ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

เรียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับนักบัญชี ตอนที่ 9 โครงสร้างกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม: การให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ

บทความวันที่ 28 ม.ค. 2564  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 2400 ครั้ง

เรียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับนักบัญชี ตอนที่ 9

โครงสร้างกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม: การให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ

 

โดยหลักการทั่วไปของภาษีมูลค่าเพิ่ม มุ่งประสงค์ที่จะจัดเก็บภาษีจากการกระทำกิจกรรม หรือการประกอบกิจการเป็นสำคัญ  โดยไม่คำนึงว่าผู้กระทำกิจกรรม หรือผู้ประกอบกิจการนั้น จะมีสถานภาพเป็นอย่างใด เช่น บุคคลธรรมดา บริษัท ห้างหุ้นส่วน คณะบุคคล มูลนิธิ สมาคม หรือนิติบุคคลอื่น รวมทั้งองค์การของรัฐบาล เช่น กระทรวง ทบวง กรม หรือรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น

กิจกรรมที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร อาจจำแนกกิจกรรมที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ออกเป็น 3 กรณี คือ

1.  การขายสินค้าในทางธุรกิจหรือวิชาชีพในราชอาณาจักร

2.  การให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพในราชอาณาจักร

3.  การนำเข้าในราชอาณาจักร

            ซึ่งในตอนนี้จะได้กล่าวถึงเฉพาะกิจกรรมการให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพโดยผู้ประกอบการ อันเป็นส่วนเติมเต็มกิจการที่กฎหมายกำหนดให้อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่มุ่งจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคภายในราชอาณาจักร โดยอาจจำแนกรายละเอียดตามประเด็นดังต่อไปนี้

 

1.  การให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพในราชอาณาจักร

"บริการ"  หมายความว่า  การกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า และให้หมายความรวมถึง การใช้บริการของตนเองไม่ว่าประการใดๆ แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึง

     (ก) การใช้บริการ หรือการนำสินค้าไปใช้เพื่อประกอบกิจการของตนเองโดยตรง  ได้แก่ การนำสินค้าไปใช้ในการผลิตสินค้า การให้บริการ การบริหารของกิจการหรือเพื่อประโยชน์ของทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการให้บริการของตนเอง  ทั้งนี้ ต้องเป็นการใช้ในกิจการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 

          อนึ่ง การให้บริการดังกล่าว ต้องมิใช่เพื่อการรับรอง หรือเพื่อการอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน (ประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2))

     (ข) การนำเงินไปหาผลประโยชน์โดยการฝากธนาคาร หรือซื้อพันธบัตร หรือหลักทรัพย์

     (ค) การกระทำตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด  โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ในปัจจุบันยังไม่มี) (มาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร)

ฉะนั้น การให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ หมายถึง การให้บริการที่ผู้ให้บริการมีวัตถุประสงค์ในอันที่จะหากำไรจากการให้บริการนั้นอยู่เป็นปรกติธุรกิจ และการกระทำดังกล่าวมิใช่เป็นการขายสินค้า ทั้งนี้ ไม่ว่าการให้บริการดังกล่าวได้รับประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่

จากบทบัญญัติดังกล่าว อาจจำแนกกิจกรรมการให้บริการที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ดังนี้

1.1  การให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพในราชอาณาจักร โดยได้รับประโยชน์หรือค่าตอบแทน ได้แก่

      1.1.1  การให้บริการรับจ้างทำของ

               "จ้างทำของ คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า "ผู้รับจ้าง" ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า "ผู้ว่าจ้าง" และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น" มาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

      1.1.2  การประกอบกิจการโรงแรมและภัตตาคาร

      1.1.3  นายหน้าตัวแทน และรับจัดธุรกิจให้ เช่น

              (1) ตัวแทนขายประกันของบริษัทประกันภัย

              (2) ตัวแทนขายตรง (Direct Sale)

              (3) ตัวแทนออกของ (Shipping)

              (4) ตัวแทนของผู้ประกอบการในต่างประเทศ เป็นต้น

      1.1.4  การให้เช่าสังหาริมทรัพย์ เช่น ให้เช่าเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องเรือน รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน หนังสือ เสื้อผ้า เต้นท์ เรือ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้  เป็นต้น 

      1.1.5  การให้เช่าแบบลีสซิ่ง

      1.1.6  การประกอบกิจการคลังสินค้า ห้องเย็น และรับฝากทรัพย์

      1.1.7  การประกอบวิชาชีพอิสระ ทั้งนี้ เฉพาะที่มิใช่การประกอบโรคศิลปะ การว่าความ การสอบบัญชี เช่น การรับจ้างทำบัญชี การรับเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย การประกอบวิชาชีพวิศวกรรม สถาปัตยกรรม หรือประณีตศิลปกรรม

      1.1.8  การประกอบกิจการมหรสพ 

      1.1.9  การประกอบกิจการสนามม้าแข่ง 

      1.1.10 การประกอบกิจการสถานีวิทยุและสถานีวิทยุโทรทัศน์ เคเบิ้ลทีวี

      1.1.11 การประกอบกิจการรับโฆษณา

      1.1.12 การให้บริการโทรศัพท์

      1.1.13 การประกอบกิจการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ เช่น ไนท์คลับ คาบาเรต์ ดิสโก้เทค สถานบริการอาบ อบ นวด เป็นต้น 

      1.1.14 การให้บริการทางด่วน (Express Way)

      1.1.15 การให้บริการขนส่งทางทะเล และทางอากาศยาน การขนส่งน้ำมันทางท่อ เป็นต้น เช่น

             บริษัท ว. จำกัด ได้รับจ้างบริษัท อ. จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ให้เป็นผู้คอยติดตามดูแลความเรียบร้อย ในการจัดส่งสินค้าจากโรงงานที่ผลิตสินค้าในประเทศไทยไปยังบริษัทขนส่ง เพื่อนำสินค้าไปยังบริษัท อ. จำกัด ที่ประเทศฝรั่งเศส บริษัทฯ มิได้ทำสัญญารับจ้างทำของเป็นหนังสือ แต่ได้มีการออกใบแจ้งหนี้และใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี เช่นนี้การให้บริการดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะของการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักร และได้มีการใช้บริการในต่างประเทศตามมาตรา 80/1 (2) แห่งประมวลรัษฎากร  ประกอบกับประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 15) (หากแต่เป็นการประกอบกิจการให้บริการในประเทศไทยทั่วไป)  บริษัทฯ  จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ของมูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับตามมาตรา 80 (2) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.16952 ลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2537)

1.2 การให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพในราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับประโยชน์หรือค่าตอบแทน อาทิ

      1.2.1  การแถมบริการ โดยไม่ได้รับประโยชน์หรือค่าตอบแทน  

      1.2.2  การบริจาคด้วยการให้บริการ เช่น ปฏิบัติงานก่อสร้างให้แก่องค์การสาธารณกุศล

      1.2.3  การให้บริการโดยไม่คิดค่าตอบแทน โดยเสน่หา

      1.2.4  การจัดการส่งเสริมการขายโดยการให้บริการ เช่น การนำเที่ยวในต่างประเทศ

1.3 การใช้บริการของตนเองไม่ว่าประการใดๆ

      1.3.1  การใช้บริการของตนเอง ที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่

               (1) การใช้บริการเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือบุคคลในคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของ กรรมการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้จัดการในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

               (2) การใช้บริการเพื่อประโยชน์ในการขายสินค้า หรือการบริหารงานของกิจการ หรือ เพื่อประโยชน์ของทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการของผู้ประกอบการ ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับการใช้ในกิจการที่ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น การนำบริการจากแผนกที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ไปใช้ในแผนกที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือในแผนกที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

               (3) การใช้บริการสำหรับรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตของผู้ประกอบการ เช่น การซ่อมแซมรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ของผู้ประกอบการ

      1.3.2  การใช้บริการของตนเอง ที่ไม่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม อาทิ การใช้บริการหรือการนำสินค้าไปใช้เพื่อประกอบกิจการของตนเองโดยตรง เช่น การนำสินค้าไปใช้ในการผลิตสินค้า การให้บริการ การบริหารของกิจการ หรือเพื่อประโยชน์ของทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการให้บริการของตนเอง ทั้งนี้ โดยต้องเป็นการใช้ในกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (ประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2))

1.4 การนำบริการของตนเองไปใช้เพื่อการรับรอง หรือเพื่อการอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน (ประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2))

1.5 การให้บริการในราชอาณาจักร ตามมาตรา 77/2 วรรคสอง และวรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากรหมายถึง กรณีดังต่อไปนี้ 

      กรณีที่ 1 การให้บริการที่ทำในราชอาณาจักร และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร (IN - IN)

      กรณีที่ 2 การให้บริการที่ทำในราชอาณาจักร และได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ เช่น การให้บริการนำเที่ยวในต่างประเทศ (IN – OUT)

      กรณีที่ 3 การให้บริการที่ทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร  ให้ถือว่าเป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรด้วย (OUT - OUT)  

 

2. การให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

การให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หมายถึง การให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพในราชอาณาจักรโดยผู้ประกอบการ

การให้บริการที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แบ่งเป็น  กรณีดังนี้

2.1 การให้บริการหรือการกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า โดยผู้ประกอบการได้รับประโยชน์หรือค่าตอบแทนจากการให้บริการ ได้แก่

      2.1.1  การรับจ้างทำของ อาทิ

              (1) การรับจ้างผลิต เช่น

                   กรณีผู้รับจ้างทำการผลิตสิ่งของตามแบบ และรายละเอียดที่บริษัทผู้ว่าจ้างกำหนดไม่ว่าบริษัทผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์หรือผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหา การกระทำทั้ง 2 กรณีดังกล่าวถือเป็นการให้บริการ (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.05945 ลงวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2535)

                    บริษัทฯ รับจ้างผลิตคอนกรีตตามรูปแบบและวัสดุที่ลูกค้าจัดหามา มิได้ผลิตขายทั่วไป เช่นนี้ ถือเป็นการให้บริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และเข้าลักษณะเป็นการรับจ้างทำของต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และถ้าให้บริการพร้อมกับขนส่งให้ด้วย ไม่ว่าจะใช้ยานพาหนะของตนเอง หรือจ้างบุคคลอื่นให้ขนส่งให้ ต้องนำมูลค่าทั้งหมดจากการให้บริการรวมค่าขนส่งมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้ว่าจะแยกค่าขนส่งออกจากค่าบริการก็ตาม (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.22385 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536)

                   บริษัทฯ ผลิตวงกบประตูหน้าต่างขายในประเทศและส่งออก ต่อมาได้ผลิตตามแบบและขนาดของบริษัทฯ ท เช่นนี้ การผลิตขายเป็นปกติธุระ ถือเป็นการขาย ไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่การผลิตตามแบบและขนาดที่บริษัท ท. ลูกค้ากำหนด โดยที่แบบและขนาดนั้นบริษัทฯ มิได้ผลิตขายทั่วไป ถือเป็นการให้บริการรับจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บริษัท ท. ผู้จ่ายเงินต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.3181 ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537)

                   บริษัทฯ รับจ้างผลิตน้ำมันหล่อลื่นโดยวัตถุดิบเป็นของผู้ว่าจ้าง และขนส่งไปให้ ณ ที่ทำการของผู้ว่าจ้าง เช่นนี้ การประกอบกิจการของบริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ บริษัทฯ ต้องนำมูลค่าของบริการรวมค่าขนส่งมารวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เว้นแต่บริษัทฯ จะประกอบกิจการขนส่งสินค้าให้บุคคลอื่นเป็นปกติธุระ และได้ใช้ยานพาหนะที่ประกอบกิจการับขนส่งในการขนส่งให้ผู้ว่าจ้าง จึงจะไม่ต้องนำค่าขนส่งมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษี (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.5299 ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2537)

                   บริษัทฯ เป็นโรงงานผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ มีตัวแทนขายในประเทศสหรัฐอเมริกา ตัวแทนได้ทำสัญญารับจ้างผลิตสินค้าดังกล่าวกับผู้ว่าจ้างในประเทศอเมริกา โดยผู้ว่าจ้างได้ส่งวัตถุดิบมาให้บริษัท เอ. ในประเทศไทย แล้วบริษัท เอ. ได้ส่งวัตถุดิบนั้นให้บริษัทฯ เมื่อบริษัทฯ ผลิตสินค้าเสร็จแล้วก็จะส่งมอบสินค้าให้บริษัท เอ. ในประเทศไทยรับแทนผู้ว่าจ้างในประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทฯ ได้เรียกเก็บเงินค่าจ้างจากผู้ว่าจ้างในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยตรง เช่นนี้ เป็นกรณีที่บริษัทฯ รับจ้างผลิตสินค้าโดยวัตถุดิบเป็นของผู้ว่าจ้าง และได้ส่งมอบสินค้าที่รับจ้างผลิตให้กับบริษัท เอ. ในประเทศไทยเป็นผู้รับสินค้าแทน จึงเข้าลักษณะเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร บริษัทฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ว่าจ้างในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นคู่สัญญา สำหรับบริษัท เอ. ไม่ได้เป็นผู้ซื้อสินค้ามาส่งออก แม้บริษัทฯ จะออกใบกำกับภาษีในนามของบริษัท เอ. ก็ตาม บริษัท เอ. ก็ไม่มีสิทธินำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีนั้นไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะมิใช่ภาษีซื้อที่บริษัท เอ. ถูกเรียกเก็บตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.2689 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539)

                   บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายฟันปลอม จะผลิตต่อเมื่อมีคำสั่งจากลูกค้า โดยทันตแพทย์จะพิมพ์แบบฟันแล้วส่งให้บริษัทฯ ทำฟันปลอมตามแบบพิมพ์นั้น ซึ่งจะนำไปใช้กับคนไข้รายอื่นไม่ได้ เมื่อบริษัทฯ ดำเนินการผลิตดังกล่าวแล้วก็ส่งกลับไปให้ทันตแพทย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะต่างประเทศได้ส่งผ่านพิธีการศุลกากร และไม่ผ่านพิธีการศุลกากร ดังนี้ เป็นการรับจ้างทำของ ถือเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม การส่งออกต่างประเทศโดยผ่านพิธีการศุลกากร ได้สิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 15) และคำว่า หนังสือในข้อ 2 ของประกาศฯ ฉบับดังกล่าว นั้น หมายถึง หนังสือใดๆ อันเป็นหลักฐานแสดงถึงการรับจ้างระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง ส่วนใบกำกับสินค้าไม่ใช่หนังสือดังกล่าว

                   สำหรับการให้บริการแก่ลูกค้าที่อยู่ในต่างประเทศนั้น บริษัทฯ ต้องนำมูลค่าทั้งหมดที่ได้รับมารวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0811/พ.2534 ลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2539)

                   บริษัทฯ ในประเทศไทยทำสัญญารับจ้างบริษัทในต่างประเทศ ทำการผลิตสินค้าพลาสติกพร้อมทั้งแม่พิมพ์ในการผลิตสินค้านั้น เช่นนี้ การรับจ้างทำแม่พิมพ์ถือเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร แต่บริษัทฯ ได้นำแม่พิมพ์นั้นไปใช้ในการผลิตพลาสติกของบริษัทฯ เอง ไม่ใช่การส่งผลของบริการรับจ้างทำของไปใช้ในต่างประเทศตามมาตรา 80/1 (2) แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 15) การรับจ้างทำแม่พิมพ์ในกรณีนี้ จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0811(กม)/353 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541)

              (2) การรับเหมาก่อสร้าง เช่น

                   บริษัท ซ. จ้างบริษัท อ. ก่อสร้างโรงงาน สัญญาจ้างเหมาเฉพาะค่าแรง โดยสัญญาจ้างระบุว่าผู้ว่าจ้างจะจัดหาวัสดุ โดยผู้รับจ้างจะจัดหาในนามของผู้ว่าจ้างและจ่ายค่าวัสดุเป็นงวดล่วงหน้า 1 งวด เช่นนี้ บริษัท อ. ผู้รับจ้างต้องออกใบกำกับภาษีขายโดยนำมูลค่าทั้งหมดตามสัญญามาเป็นฐานภาษี เพราะเป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่งผู้รับจ้างรับจะหาแรงงานและวัสดุอุปกรณ์เพื่อผลสำเร็จในการก่อสร้างโงงาน บริษัท ซ. ผู้ว่าจ้างจะนำใบกำกับภาษีซื้อวัสดุมาเป็นภาษีซื้อของตนไม่ได้ (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.23230 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536)

                   บริษัทฯ เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง ได้ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างกับผู้ว่าจ้างโดยตรง ในการปฏิบัติตามสัญญา ผู้รับจ้างได้ทำสัญญาจ้างช่วงงานบางส่วนของโครงการกับผู้รับจ้างช่วง โดยผู้ว่าจ้างให้ความยินยอม การจ้างช่วงนั้นคิดเป็นอัตราส่วน 60/40 เมื่อผู้รับจ้างช่วงทำงานแต่ละขั้นตอนเสร็จแล้วจะออกใบแจ้งหนี้เรียกเก็บค่าบริการเฉพาะส่วนของตนไปยังผู้ว่าจ้างโดยตรง และผู้ว่าจ้างจะจ่างค่าบริการให้ผู้รับจ้างช่วงก็ต่อเมื่อผู้รับจ้างออกหลักฐานแสดงการได้รับอนุมัติการยอมรับในผลงานให้ผู้รับจ้างช่วงแล้ว เช่นนี้ ผู้รับจ้างช่วงมิได้เป็นคู่สัญญากับผู้ว่าจ้าง แต่เป็นผู้ให้บริการรับจ้างแก่บริษัทผู้รับจ้างโดยตรง ผู้รับจ้างล่วงจึงต้องเรียกเก็บภาษีขายจากบริษัทผู้รับจ้าง และต้องออกใบกำกับภาษีให้บริษัทผู้รับจ้างเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีเกิดขึ้น ตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร

                   ผู้รับจ้างช่วงไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ว่าจ้าง ไม่มีสิทธิออกในกำกับภาษีให้แก่ผู้ว่าจ้าง หากออกใบกำกับภาษีไปแล้วมีความผิดทางอาญาตามมาตรา 90/4 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร และต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษี ตามมาตรา 89 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนผู้ว่าจ้างที่ได้ใบกำกับภาษีจากผู้รับจ้างช่วง จะนำภาษีซื้อนั้นไปหักออกจากภาษีขายไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (5) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0811/พ.3958 ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2539) 

              (3) การรับจ้างตอกเสาเข็ม

              (4) การรับจ้างทำเสาเข็มเจาะ เช่น บริษัทฯ รับจ้างทำเสาเข็มเจาะ เป็นการรับจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถือเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร และผู้รับจ้างต้องจัดหาสัมภาระเพื่อใช้ในการทำ บริษัทฯ ต้องนำทั้งค่าแรงและค่าสัมภาระมารวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้จะออกบิลเป็นค่าแรงกับค่าวัสดุสัมภาระก็ตาม และต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3 จากยอดรวมนั้น (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.6315 ลงวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2537)

              (5) การรับจ้างซ่อมแซม เช่น

                   บริษัทฯ ซ่อมแซมสินค้าให้ลูกค้า ได้ออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีโดยแยกเป็นค่าอะไหล่ ค่าแรง ค่าขนส่ง และขนส่งให้เฉพาะลูกค้าเท่านั้น เช่นนี้ ค่าขนส่งมิได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ต้องนำมูลค่าทั้งหมดจากการให้บริการรวมค่าขนส่งด้วย มารวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.905 ลงวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2537)

                   บริษัทฯ ขายอุปกรณ์โทรศัพท์และตู้สาขาพร้อมให้บริการติดตั้งในขณะเดียวกันนั้น  โดยออกใบแจ้งหนี้ค่าสินค้า และค่าบริการติดตั้งแยกจากกัน โดยจะออกเป็น 2 ฉบับหรือฉบับเดียว ในส่วนของค่าบริการติดตั้งนั้นต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 กรณีรับจ้างซ่อมและขายอะไหล่อุปกรณ์โทรศัพท์ ถือเป็นการรับจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 587 แม้จะแยกค่าอะไหล่และค่าแรง ก็ให้ถือเป็นค่าบริการที่ต้องนำค่าอะไหล่และค่าแรงมารวมเป็นฐานภาษีตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร และผู้จ่ายเงินต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 ของยอดเงินรวมนั้น ส่วนการขายสินค้าพร้อมให้บริการติดตั้ง โดยคิดราคารวมกัน ถือเป็นการขายสินค้า ผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.10419 ลงวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2538)  

                   บริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการตรวจเช็คเครื่องบินตามปกติ เมื่อเครื่องบินของสายการบินต่างๆ ลงจอดพักที่ดอนเมือง เช่นนี้ เป็นกรณีที่บริษัทฯ ได้ให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การให้บริการซ่อมบำรุงแก่อากาศยายของสายการบินต่างประเทศ เมื่อซ่อมบำรุงเสร็จก็จะบินออกไปต่างประเทศ ดังนี้ เป็นการให้บริการรับจ้างทำของให้ผู้ประกอบการในต่างประเทศ และได้ส่งผลของการรับจ้างทำของให้ผู้ประกอบการในต่างประเทศทั้งหมด หากบริการนั้นมีหลักฐาน (สัญญา) เป็นหนังสือระหว่างบริษัทฯ กับบริษัทสายการบินในต่างประเทศ บริษัทฯ มีสิทธิเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 15)  (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0811/3113 ลงวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2541) 

              (6) การรับจ้างทำความสะอาด เช่น ห้างฯ ได้ทำสัญญากับบริษัทสายการบินเพื่อขนถ่ายสัมภาระและทำความสะอาดบนเครื่องบิน ณ สนามบินหาดใหญ่ ตกลงจ่ายค่าจ้างเป็นการเหมาจ่ายต่อเดือน ห้างฯ ได้ออกใบเสร็จรับเงินค่าจ้างแยกออกเป็น 2 ฉบับ คือ รายได้จากการทำความสะอาด และรายได้จากการขนสัมภาระ และบริษัทสายการบินได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายเฉพาะค่าจ้างทำความสะอาดเท่านั้น เช่นนี้ การให้กระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการให้บริการที่ต้องเสียภาษีมุลค่าเพิมตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร ห้างฯ ต้องนำค่าจ้างเหมาทั้งสิ้นตามสัญญามารวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งจำนวน โดยไม่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 81 (1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร และตามสัญญาดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการรับจ้างทำของ เมื่อมีการจ่ายค่าจ้างทำของ บริษัทฯ ผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ  ที่จ่ายในอัตรา 3% ของยอดเงินค่าจ้างที่จ่าย  (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.9536 ลงวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2539)

              (7) การรับจ้างถมดิน

              (8) การให้บริการต่อโทรศัพท์ผ่านชุมสาย เช่น การให้บริการรับจ้างต่อโทรศัพท์ทางไกลให้ลูกค้า ตามราคาค่าโทรศัพท์ที่องค์กาเรียกเก็บบวกค่าบรริกาครั้งละ 10 บาท ถือเป็นการให้บริการรับจ้างทำของ ที่อยู่ในข่างต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร  (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/11301 ลงวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2538)  

              (9) การให้บริการอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น การให้บริการความเย็น การให้บริการลิฟท์ขนส่ง การให้บริการเฝ้ายามหรือรักษาความปลอดภัย  เป็นต้น

              (10 การให้บริการนำเที่ยว เช่น

                    บริษัทฯ ประกอบธุรกิจจัดท่องเที่ยว มีผู้มาว่าจ้างให้จัดทัวร์พาไปท่องเที่ยวต่างประเทศชมสถานที่และพักอาศัยอยู่ในต่างประเทศ เช่นนี้ ถือเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 15) ไม่ถือว่า เป็นการให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการในต่างประเทศ (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.7449 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2536)

                    บริษัทฯ ประกอบกิจการนำเที่ยวต่างประเทศ โดยคิดค่านำเที่ยวในอัตรา 50,000 บาทต่อคน เงินค่าบริการดังกล่าวจ่ายเป็นค่าเครื่องบิน ค่าโรงแรม ค่าอาหาร - เครื่องดื่ม ค่าทัวร์ ค่าพาหนะ ค่ามัคคุเทศก์ท้องถิ่น ค่าภาษีสนามบิน ค่าเข้าชมสถานที่ ค่าวีซ่า ค่าบริการ ค่าใช้จ่ายทั้งหมาดนี้มีใบรับเงินเป็นหลักฐาน เช่นนี้ เป็นกรณีที่บริษัทฯ รับจ้างหานักท่องเที่ยวไปเที่ยวในต่างประเทศ ถือเป็นการให้บริการในราชอาณาจักรตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ต้องนำรายได้ที่ได้รับจากนักท่องเที่ยวทั้งหมดมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม และเมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้จ่ายเงินได้ดังกล่าว ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 ของยอดเงินทั้งหมดที่จ่าย (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.12272 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2537)  

              (11) การให้บริการปั๊มคอนกรีต เช่น

                     กิจการปั๊มคอนกรีตผสมเสร็จจากรถปั๊มคอนกรีตไปยังสถานที่ก่อสร้าง ไม่ว่าจะทำโดยใช้ปั๊มคอนกรีตชนิดลาก หรือปั๊มคอนกรีตชนิดเคลื่อนที่เอง เช้าลักษณะเป็นการให้บริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ใช่การให้บริการขนส่งที่ยกเว้นภาษีมุลค่าเพิ่ม (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.2072 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2535)  

              (12) การรับจ้างบริหาร เช่น  

                     บริษัทฯ ประกอบกิจการบริหาร และควบคุมการก่อสร้างตามโครงการให้แก่ลูกค้า บริษัทฯ ได้ซื้อเครื่องเขียนแบบพิมพ์และได้รับใบกำกับภาษีในชื่อของบริษัทฯ และได้ส่งใบแจ้งหนี้ไปเรียกเก็บจากลุกค้าตามสัญญาจ้างบริหารฯ และบริษัทฯ ได้จ้างบริษัทในประเทศอังกฤษเป็นที่ปรึกษา โดยบริษัทในต่างประเทศอังกฤษได้ส่งพนักงานเข้ามาร่วมประชุมพิจารณาเกี่ยวกับโครงการที่บริษัทฯ รับจ้างทำอยู่ บริษัทฯ จึงมีตั๋วเครื่องบิน ค่าโรงแรม ค่าอาหาร เช่นนี้ ภาษีซื้อสำหรับค่าเครื่องเขียนแบบพิมพ์ดังกล่าว ที่นำไปใช้ในการปะอบกิจการ และค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พักโรงแรม และค่าอกหารที่ใบกำกับภาษีออกในชื่อบริษัทฯ เป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการให้บริการ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ บริษัทฯ เรียกเก็บจากลูกค้า บริษัทฯ ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เพราะเป็นรายได้ส่วนหนึ่งจากการรับจ้างทำของ และเป็นค่าบริการที่ได้รับ จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม  (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.13369 ลงวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2537)  

              (13) การให้บริการรับจ้างเดินสายไฟฟ้า ท่อประปา

              (14) การให้บริการเสริมสวย ดัด ตัดผม และตกแต่งร่างกาย  

              (15) การให้บริการรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า 

              (16) การให้บริการซัก อบ รีดเสื้อผ้า

              (17) การให้บริการต่อโทรศัพท์ผ่านตู้ชุมสาย 

              (18) การให้บริการรักษาความปลอดภัย

              (19) การให้บริการที่ปรึกษาทางธุรกิจและการเงิน 

              (20) การให้บริการถ่ายรูป ถ่ายภาพยนตร์ ถ่ายเอกสาร

              (21) การให้บริการรับจ้างพิมพ์เอกสาร  

              (22) การให้บริการแปลเอกสาร

              (23) การให้บริการรับจ้างทำป้ายโฆษณา

              (24) การให้บริการรับจ้างต่อเรือ

              (25) การให้บริการรับจ้างผลิตสินค้า

              (26) การให้บริการดาวเทียม

              (27) การให้บริการอินเตอร์เนท

              (28) การให้บริการเคเบี้ลทีวี

              (29) การให้บริการถ่ายภาพ ถ่ายเอกสาร จัดทำพิมพ์เขียว

              (30) การรับจ้างเหมาทำอาหาร

              (31) การให้บริการรับจ้างบรรจุภัณฑ์

              (32) การให้บริการวิชาชีพอิสระ เช่น บริการปรึกษาทางกฎหมาย บริการรับจ้างทำบัญชี  บริการทางวิศวกรรม บริการทางสถาปัตยกรรม บริการทางประณีตศิลปกรรม เป็นต้น

              (33) การให้บริการบูธ (Booth) เช่น

                   บริษัทฯ ลงทุนก่อสร้างอาคารศูนย์แสดงสินค้า เพื่อให้ลูกค้าเช่าสถานที่จัดแสดงสินค้า (บูธ) เป็นการชั่วคราวประมาณ 7 วัน ส่วนการติดตั้งระบบสาธารณูปโภคภายในอาคารศูนย์ เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบสุขาภิบาล ระบบปรับอากาศ โทรศัพท์ ได้ให้สิทธิแก่อีกบริษัทหนึ่งดำเนินการลงทุนติดตั้ง เช่น การกระทำดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) และมาตรา 82 (1) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคารมาคำนวณหักออกจากภาษีขายได้ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.10404 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2539)

              (34) การให้บริการคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิ (Cold Storage Service) รถห้องเย็น

                   กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการรับจ้างขนส่งสินค้าประเภทอาหาร เช่น อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง เนื้อสัตว์แช่แข็ง ผลิตภัณฑ์นม ขนมปังแซนวิช ไอศครีม น้ำผลไม้ เป็นต้น โดยการดำเนินการดังกล่าว บริษัทฯ จัดเตรียมอุณหภูมิในรถบรรทุกให้ได้อุณหภูมิตามที่ลูกค้าต้องการก่อนไปรับสินค้า (Pre cool) บริษัทฯ ต้องใช้รถบรรทุกที่ติดตั้งเครื่องทำความเย็น และเครื่องควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ตามช่วงอุณหภูมิที่ลูกค้า (เจ้าของสินค้า) กำหนด เพื่อรักษาอุณหภูมิให้เหมาะสมกับสภาพสินค้าแต่ละประเภท บริษัทฯ จะติดตามการกระจายสินค้าและควบคุมความเร็วในการขับขี่โดยติดตั้งอุปกรณ์บันทึกอุณหภูมิระหว่างการขนส่ง (Temperature Tracking) อุปกรณ์ป้องกันความเสียหายของสินค้า และระบบติดตามการเคลื่อนที่ (Real - time GPS) และอุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นตามที่ลูกค้ากำหนด เพื่อป้องกันความเสียหายของสินค้า ซึ่งลูกค้าสามารถเข้าตรวจสอบการรักษาอุณหภูมิระหว่างขนส่งได้ เมื่อบริษัทฯ กระจายสินค้าไปยังปลายทางตามที่กำหนดแล้วมีหน้าที่ต้องทำรายงานสรุปผลการกระจายสินค้าให้แก่ลูกค้า พนักงานขับรถและพนักงานติดรถมีหน้าที่นำสินค้าลงจากรถและจัดเรียงให้เรียบร้อย บริษัทฯ มีหน้าที่จัดทำรายงานสรุปผลการกระจายสินค้าให้แก่ลูกค้าด้วย และบริษัทฯ มีหน้าที่จัดเรียงสินค้าในคลังสินค้า ติดฉลากสินค้า รวมถึงการจัดการบรรจุภัณฑ์ (Repacking) และกระจายสินค้าโดยรถควบคุมอุณหภูมิไปยังปลายทางตามที่ลูกค้ากำหนด โดยบริษัทฯ จะเรียกเก็บค่าจ้างจากเจ้าของสินค้าเป็นจำนวนเงินต่อเที่ยวซึ่งขึ้นกับน้ำหนัก ปริมาณ ชนิดของสินค้า ตลอดจนระยะทางขนส่ง และหากสินค้าเน่าเสียระหว่างขนส่งบริษัทฯ ต้องจ่ายค่าปรับให้กับลูกค้า การให้บริการขนสินค้าโดยใช้รถยนต์ที่มีห้องควบคุมอุณภูมิดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่มุ่งถึงผลสำเร็จของงานมากกว่าการให้บริการขนส่ง เข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1 (10) และมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากรและผู้จ่ายค่าบริการซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 8 (2) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0702/6801 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2558)

                   ตามสัญญาจ้างขนส่งสินค้าแช่แข็งประเภทปลา อาหารทะเลแช่แข็ง ซึ่งบริษัทฯ ต้องจัดหารถบรรทุกห้องเย็นที่รักษาอุณหภูมิได้ตามกำหนด เพื่อขนส่งสินค้าของผู้ว่าจ้างไม่ให้เสื่อมคุณภาพ โดยได้รับค่าบริการขนส่งสินค้าที่รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในการนำส่งสินค้าจากต้นทางไปยังปลายทางตามที่ระบุในใบส่งของแต่ละฉบับ และบริษัทฯ ยังมีหน้าที่อีกหลายประการ เช่น ต้องจัดรถมารับสินค้าที่ต้นทางพร้อมตรวจสอบน้ำหนัก รายการ จำนวนสินค้าร่วมกับเจ้าหน้าที่ของผู้ว่าจ้างและนำส่งยังปลายทางพร้อมบิลรายการตามเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนดอย่างเคร่งครัด เก็บรักษาและขนส่งสินค้าด้วยความระมัดระวัง ต้องรักษาอุณหภูมิให้ได้ตามมาตรฐานที่ผู้ว่าจ้างกำหนดตลอดระยะเวลาการขนส่งจนกระทั่งส่งมอบสินค้า รถทุกคันที่ใช้ขนส่งสินค้าต้องมีอุปกรณ์เก็บข้อมูลอุณหภูมิตลอดระยะเวลาการขนส่ง และต้องตรวจสอบความสามารถในการทำอุณหภูมิให้ได้ตามที่กำหนดอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง  ต้องดูแลรักษาอุปกรณ์ ภาชนะบรรจุสินค้าต่างๆ และนำส่งกลับคืนให้ผู้ว่าจ้างในสภาพเดิมและต้องชดใช้ตามมูลค่าของอุปกรณ์ ภาชนะบรรจุ หากมีความเสียหายเกิดขึ้น  ต้องดูแลรักษาความสะอาดของพาหนะ ตลอดถึงการอบรมดูแลพนักงานให้มีความประพฤติสุภาพเรียบร้อย แต่งกายถูกต้องตามระเบียบของผู้ว่าจ้าง สะอาดเหมาะสม ไม่ก่อการทะเลาะวิวาท ไม่สูบบุหรี่ ไม่เมาสุรา หรือสารเสพติดจากข้อกำหนดเกี่ยวกับงานที่ว่าจ้างในสัญญาดังกล่าว บริษัทฯ มีวัตถุประสงค์และการกระทำที่มุ่งถึงผลสำเร็จของงานมากกว่าที่จะขนสินค้าจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเพียงอย่างเดียว เข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น การให้บริการรับจ้างขนส่งสินค้าโดยใช้รถยนต์ที่มีห้องควบคุมอุณหภูมิดังกล่าว ถือเป็นการให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1 (10) และมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และผู้จ่ายค่าบริการซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 8 (2) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0702/10780 ลงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559)

              (35) การให้บริการรับจ้างทำของอย่างอื่น เป็นต้น

      2.1.2  การให้บริการนายหน้าตัวแทน

              (1) กิจการชิปปิ้ง เช่น

                   การประกอบกิจการชิปปิ้งหรือรับจ้างออกของ เป็นการให้บริการของนายหน้าตัวแทน ดังนั้นค่าบริการที่ชิปปิ้งได้รับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าใช้จ่ายที่ชิปปิ้งออกแทนเจ้าของสินค้าไปก่อนแล้วเรียกเก็บจากเข้าของสินค้าเท่าที่จ่ายไปต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เว้นแต่ค่าภาษีขาเข้า ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าธรรมเนียมที่ระบุชื่อเจ้าของสินค้า และค่าใช้จ่ายอื่นที่ระบุชื่อเจ้าของสินค้า ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ เจ้าของสินค้ามีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อของตน  

                   กิจการรับออกของ ณ ด่านศุลกากร โดยมีการขนส่งสินค้าจากโกดังของผู้ว่าจ้างไปยังด่านศุลกากร หรือขนจากด่านศุลกากรไปให้แก่ผู้ว่าจ้าง ไม่ว่าจะขนด้วยยานพาหนะของตนเองหรือไม่ก็ตาม ให้คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยนำมูลค่าทั้งหมดซึ่งรวมค่าขนส่งไว้แล้วมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม  

                   บริษัทฯ ประกอบกิจการรับ-ออกของทางพิธีการศุลกากร ถือเป็นการให้บริการ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าบริการในการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนรับ-ออกของ โดยให้รวมค่าใช้จ่ายในการนำเข้าที่บริษัทฯ จ่ายแทนไปก่อน แต่ไม่รวมถึง ค่าภาษี ค่าธรรมเนียมที่บริษัทฯ จ่ายแทนลูกค้าซึ่งได้มีการระบุซื่อลูกค้า (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802(ก)/พ.4174 ลงวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2535 และที่ กค 0802/พ.8091 ลงวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2537) 

              (2) การให้บริการจัดหางาน เช่น

                   ห้างฯ มีรายได้จากค่าบริการจัดหาคนงานให้เจ้าของเรือเดินทะเล โดยเรือนั้นมิได้มีเส้นทางเข้ามายังประเทศไทย คนงานมิใช้ลูกจ้างของห้างฯ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการจัดหาคนงาน เจ้าของเรือต้องจ่ายตามบัญชีค่าใช้จ่ายที่ห้างฯ ทำส่ง เช่นนี้ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ห้างฯ ทำส่งเพื่อให้เจ้าของเรือจ่ายนั้น ถ้าห้างฯ พิสูจน์ได้ว่าเป็นรายจ่ายค่าอะไร เมื่อใด เพราะเหตุใด และค่าใช้จ่ายนั้นมิใช่รายจ่ายที่จำเป็นในการดำเนินงานของห้างฯ เอง และรายการค่าใช้จ่ายระบุให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ห้างฯ เฉพาะจากค่าบริการ ทั้งห้างฯ ไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลงานในต่างประเทศ ห้างฯ มีหน้าที่เฉพาะจัดหาคนงานเท่านั้น เช่นนี้ เป็นกรณีที่ห้างฯ ให้บริการนายหน้า เป็นการให้บริการในราชอาณาจักร ห้างฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าบริการที่เรียกเก็บ (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802(ก)/พ.10443 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535) 

              (3) นายหน้าขายสินค้า เช่น

                   ห้างฯ ทำสัญญาเป็นตัวแทนขายรถยนต์ การซื้อขายและการออกใบกำกับภาษีทำในนามของบริษัทเจ้าของรถ โดยห้างฯ ได้ค่าตอบแทนตามสัญญา เช่นนี้ ถ้าห้างฯ เป็นตัวแทนที่มีองค์ประอบครบถ้วนตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 8) ถือได้ว่าห้างฯ เป็นตัวแทนเพื่อขายสินค้า และห้างฯ ต้องนำค่าตอบแทนมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.114 ลงวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2536)

                   บริษัทฯ เป็นสาขาของบริษัทในต่างประเทศเข้ามาประกอบกิจการนายหน้าตัวแทนขายสินค้าของผู้ขายในต่างประเทศให้กับผู้ซื้อสินค้าในประเทศไทย บริษัทฯ ต้องนำค่านายหน้าที่ได้รับจากผู้ขายในต่างประเทศมารวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร และในกรณีที่เป็นนายหน้าขายสินค้าให้กับผู้ขายในต่างประเทศ ซึ่งขายสินค้าให้กับผู้ซื้อในต่างประเทศ ค่านายหน้าที่ได้รับไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.1564 ลงวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2539)

              (4) นายหน้าขายประกัน เช่น

                   การให้บริการของตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนแก่บริษัทประกันชีวิตหรือบุคคลใด ๆ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องนำรายรับซึ่งเป็นค่าตอบแทนที่ได้รับมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนซึ่งได้มีการรวมกับบุคคลอื่นในลักษณะเป็นกลุ่มหรือทีมหรือในลักษณะทำนองเดียวกันในการหาผู้เอาประกันชีวิต โดยตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนต้องได้รับค่าตอบแทนในการทำหน้าที่เป็นตัวแทนหรือ นายหน้าเพียงคนเดียว แต่ปรากฏหลักฐานว่าให้มีการรับเงินค่าตอบแทนในชื่อบุคคลอื่น ไม่ว่าบุคคลอื่นจะได้รับค่าตอบแทนจริงหรือไม่ ให้ถือว่าค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นรายรับของตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนนั้นทั้งจำนวน (ข้อ 2.3 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 115/2545)

                   การประกอบกิจการเป็นนายหน้าตัวแทนขายประกันชีวิต เป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระค่าบริการตามมาตรา 78/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทประกันชีวิตนำเงินรายได้เข้าบัญชีเงินฝากของผู้ประกอบการในวันใด ต้องถือว่าวันนั้นได้รับค่าบริการ (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.3180 ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 และที่ กค 0802/พ.4149 ลงวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2537) 

              (5) นายหน้าด้านการเงิน เช่น

                   บริษัทฯ ประกอบกิจการเป็นนายหน้าตัวแทนให้แก่สถาบันการเงินในประเทศและต่างประเทศ เช่น ผู้ซื้อและผู้ขายเป็นสถาบันการเงินในไทย ผู้ซื้อและผู้ขายเป็นสถาบันการเงินต่างประเทศฝ่ายหนึ่ง กับสถาบันการเงินในประเทศอีกฝ่ายหนึ่ง ผู้ซื้อและผู้ขายเป็นสถาบันการเงินต่างประเทศและเป็นการซื้อขายเงินบาทกับเงินสกุลอื่น หรือผู้ซื้อและผู้ขายเป็นสถาบันการเงินต่างประเทศ ซื้อขายเงินตราต่างประเทศ และไม่มีการส่งมอบเงินในไทย เช่นนี้ การประกอบกิจการนายหน้าดังกล่าว เป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.1561 ลงวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2539)  

      2.1.3  การให้บริการรับฝากทรัพย์

              (1) การรับฝากทรัพย์ทั่วไป เช่น

                   การให้บริการรับฝากเก็บข้าวสารในโกดัง โดยคิดค่าเช่าตันละ 15 บาทต่อเดือน และค่ารักษาคุณภาพข้าวตันละ 25 บาทต่อเดือน เป็นการให้บริการที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าฝากเก็บและค่ารักษาคุณภาพข้าวสารรวมตันละ 40 บาท (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802(ก)/พ.9101 ลงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2535)

                   บริษัทฯ รับสัมปทานจากการนิคมอุตสาหกรรมฯ ให้ก่อสร้างและบริหารคลังเก็บผลิตภัณฑ์ขนถ่ายสินค้าเหลง บริษัทฯ และลูกค้าจะทำสัญญาให้บริการรับฝากสินค้าระหว่างกัน มีกำหนดเวลาที่แน่นอน บริษัทฯ รับผิดชอบในความสูญหาย ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการเก็บรักษา โดยเริ่มตั้งแต่รับมอบสินค้าเหลว จนกระทั่งส่งมอบสินค้าที่เก็บรักษาคืนให้แก่ลูกค้าทั้งหมด บริษัทฯ เรียกเก็บค่าบริการคงที่รายเดือน และค่าบริการผันแปรที่เกิดจากค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าล่วงเวลา ค่าไฟฟ้า (ใช้เดินเครื่องปรับอุณหภูมิ) ค่าไนโตรเจนเหลว (ใช้ทำความสะอาดถังและท่อ) เช่นนี้ การที่บริษัทฯ ได้ก่อสร้างถัง (Tank Farm) เพื่อให้บริการรับฝากหรือเก็บสารเคมีเหลวหรือผลิตภัณฑ์นำมันของลูกค้า พร้อมกับขนถ่ายสินค้าเหลงนั้นเพียงเพื่อประโยชน์ในการรจัดเก็บสินค้าสู่ถังเก็บและจ่ายคืนจากถึงเก็บให้ลูกค้าอันเป็นส่วนหนึ่งของบริการรับฝากสินค้าเท่สนั้น จึงถือเป็นการรับฝากสินค้าในคลังสินค้า ไม่ใช่รับจ้างทำของ จึงไม่ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย การกระทำดังกล่าวเป็นการให้บริการทางธุรกิจหรือวิชาชีพตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและมีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้าตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีที่บริษัทฯ ก่อสร้างและอุปกรณ์ที่จำเป็นเพิ่มเติมต่อไปยังโรงงานของลูกค้าโดยตรง เพื่อขนถ่ายสินค้าเหลวให้ลูกค้า โดยลักษณะการให้บริการอื่นๆ และเก็บค่าบริการยังเหมือนเดิม เข้าลักษณะเป็นการให้บริการรับฝากสินค้าเหลวในคลังสินค้า ภาระภาษีจึงเหมือนเดิม (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/2593 ลงวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2539) 

              (2) การรับฝากรถ เช่น

                   บริษัทฯ ประกอบกิจการให้เช่าอาคารสำนักงาน โดยกำหนดพื้นที่ให้เช่าเฉพาะบริเวณที่เป็นสำนักงานเท่านั้น ตกลงเรียกเก็บค่าเช่าเป็นรายเดือนและทำสัญญาให้บริการแก่ผู้เช่า คือ การใช้ทางเข้าออกภายในและภายนอกอาคาร การใช้ลิฟท์โดยสาร กาใช้ห้องสุขา กาใช้เครื่องปรับอากาศ กรใช้ระบบดับเพลิงและการรักษาความปลอดภัย การใช้บริการรักษาความสะอาดทั่วไปไม่รวมภายในพื้นที่สำนักงานของผู้เช่า การใช้ที่จอดรถซึ่งจะจอดบริเวณใดในสถานที่จอดรถก็ได้ บริการทั้งหมดดังกล่าว บริษัทฯ ได้เรียกเก็บจากผู้เช่าอาคารเป็นรายเดือน โดยไม่แยกค่าบริการสำหรับบริการสำหรับบริการแต่ละส่วน การให้บริการด้งกล่าวต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.8286 ลงวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2535)

                   บริษัทฯ ประกอบกิจการให้เช่าอาคารพาณิชย์ และจัดให้มีที่จอดรถโดยให้เช่าเป็นรายเดือนสำหรับที่จอดรถประจำ และที่จอดรถลานนอกเก็บค่าบริการเป็นรายชั้วโมง แต่ฟรี 1 ชั่วโมงสำหรับผู้มาติดต่องาน เช่นนี้ รายได้ค่าจอดรถทั้งสองประเภทต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.10371 ลงวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2537)

      2.1.4  การให้บริการโฆษณา เช่น

              บริษัทฯ รับโฆษณาซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทน จ่ายเงินทดรองค่าสื่อโฆษณาแทนลูกค้าตัวการ ผู้รับสื่อโฆษณาต้องออกใบกำกับภาษีให้ตัวแทน และเมื่อตัวแทนได้รับคืนเงินยทดรองจ่ายค่าสื่อโฆษณาและค่าบริการของตนจากลูกค้าตัวการ ตัวแทนจะเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มโดยแยกออกใบกำกับภาษีให้ลูกตัวตัวการตามจำนวนค่าสื่อโฆษณา และค่าบริการ  เพื่อเป็นภาษีขายสำหรับเดือนภาษีที่ได้รับชำระเงิน (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.04483 ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2538)  

      2.1.5  การให้เช่าสังหาริมทรัพย์

              (1)  การให้เช่าโครงเหล็ก เช่น

                     บริษัทฯ ให้เช่าโครงเหล็กสำหรับติดป้ายโฆษณา โครงเหล็กนั้นติดตังบนพื้นดินอย่างถาวร ลงเสาเข็มเป็นฐาน เจาะลึกลงบนพื้นดิน 15 เมตร เหล็กเส้นทุกเส้นจะเชื่อมติดต่อกันเพื่อยึดโครงเหล็กให้เข็งแรง และก่อตั้งบนพื้นดินที่บริษัทฯ ให้เช่าระยะยาวนั้น เป็นการที่บริษัทฯ ให้บริการ บริษัทฯ มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.03203 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535)  

                    การให้บริการเช่าโครงเหล็กหรือการให้บริการเช่าสังหาริมทรัพย์อื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1)(ต) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถือเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78/1 แห่งประมวลรัษฎากร  

              (2)  การให้เช่าเรือ เช่น

                     บริษัทฯ ประกอบกิจการขนส่งสินคาทางทะเลระหว่างประเทศ มีผู้ต้องการเช่าเรือของบริษัทฯ ไปขนสินค้านอาราชอาณาจักร เช่น ระหว่างสิงคโปร์ - อินโดนีเซีย โดยผู้เช่าเป็นบริษัทต่างประเทศมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย เช่นนี้ หากการให้เช่าเรือดังกล่าวกระทำในราชอาณาจักร ย่อมเป็นการให้บริการในราชอาณาจักรต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.13326 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2536) 

                   บริษัทฯ ให้เช่าเรือลอยน้ำ ชนิดไม่มีเครื่องยนต์ ซึ่งผู้เช่าเป็นบริษัทจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศเมียนม่าร์ นำไปใช้ประกอบกิจการโรงแรมลอยน้ำบนแม่น้ำย่างกุ้ง ดังนี้ หากการให้เช่าเรือดังกล่าวกระทำในราชอาณาจักร ย่อมเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1 (10) มาตรา 77/2 และมาตรา 80/2 แห่งประมวลรัษฎากร 

                   บริษัทฯ ทำสัญญาร่วมทุนในการขนส่งสินค้ากับ รสพ. โดยสัญญาระบุให้บริษัทฯ มอบรถบรรทุกน้ำมัน 10  คันให้ รสพ. เพื่อ รสพ. นำไปใช้ในการขนส่งน้ำมันให้แก่บริษัทไทยเชลล์ฯ โดย รสพ. จัดหาคนขับและพนักงานอื่นๆ โดย รสพ. ออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด และ รสพ. ต้องับผิดชอบในความเสียหายต่างๆ แต่เพียงผู้เดียว หากเกิดความเสียหายจากการขนส่งน้ำมัน รสพ. จ่ายเงินให้แก่บริษัทฯ ร้อยละ 45 ของเงินที่ รสพ. ได้รับจากบริษัทไทยเชลล์ฯ โดยไม่หักค่าใช้จ่ายเป็นประจำทุกเดือนตลอดอายุสัญญา 3 ปี เช่นนี้ สัญญาดังกล่าวไม่เช้าลักษณะเป็นกิจการร่วมค้าตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร  และการที่บริษัทฯ มอบรถยนต์บรรทุกน้ำมันให้แก่ รสพ. เพื่อประกอบการขนส่งน้ำมัน โดยบริษัทฯ ได้รับเงินร่วมการค้าจาก รสพ. ถือว่าบริษัทฯ ให้เช่าทรัพย์สินที่มิใช่อสังหาริมทรัพย์ บริษัทฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/6414 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2532)

              (3) การให้เช่าเฟอร์นิเจอร์

              (4) การให้เช่าเสื้อผ้า

              (5) การให้เช่าเต้นท์

              (6) การให้เช้าหนังสือ

              (7) การให้เช่ากล้วยไม้ ไม้ประดับ

              (8) การให้เช่าอุปกรณ์เครื่องประกอบงานสมรส

              (9) การให้เช่าอุปกรณ์ เครื่องมือ

              (10) การให้เช่าเครื่องจักร

              (11) การให้เช่ารถยนต์

      2.1.6  การให้เช่าแบบลิสซึ่ง เช่น

                บริษัทฯ ทำสัญญาเช่ารถยนต์นั่งแบบลีสซิ่งเพื่อใช้ในกิจการของบริษัทฯ โดยจ่ายค่าเช่าเป็นรายเดือนเป็นเวลา 5 ปี โดยมีเงื่อนไขว่า เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า บริษัทฯจะเลือกซื้อตามราคาที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าก็ได้ หากไม่เลือกซื้อ และผู้ให้เช่าได้ขายรถยนต์ดังกล่าว ให้ผู้อื่นไปต่ำกว่าราคาที่ระบุในสัญญา บริษัทฯ ต้องชดใช้ส่วนต่างของราคาให้กับผู้ให้เช่า เช่นนี้ เป็นสัญญาเช่าทรัพย์สิน (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.10617 ลงวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2538)   

      2.1.7  การรับส่งเอกสารและพัสดุระหว่างประเทศ เช่น

               บริษัทฯ ประกอบกิจการรับส่งเอกสารและพัสดุระหว่างประเทศโดยทางอากาศยาน เป็นปกติธุระ เมื่อลูกค้าต้องการส่งเอกสารหรือพัสดุสิ่งของไปที่ใด บริษัทฯจะไปรับมอบที่ดอนเมือง และออกใบตราส่งให้ลูกค้า แล้วบริษัทฯ จะรวบรวมสิ่งของที่จะส่งไปประเทศปลายทางเข้าด้วยกัน แล้วมอบให้พนักงานของบริษัทฯ ดำเนินการส่งออกไปใบ้แก่ผู้รับ ณ ต่างประเทศ เช่น นำไปผ่านการตรวจเอ็กซเรย์ จ่ายค่าระวางให้แก่สายการบิน สายการบินจะนำของขึ้นเครื่อง โดยมีพนักงานของบริษัทฯ เดินทางไปพ้อมกับของ เมื่อถึงปลายทางต่างประเทศแล้ว พนักงานของบริษัทฯ ก็จะส่งมอบของให้แก่เอเยนต์ของบริษัทฯ ที่ต่างประเทศ เพื่อจัดส่งแก่บุคคลที่ลูกค้ากำหนดให้เป็นผู้รับของแต่ละรายต่อไป เมื่อผู้รับของเซ็นรับของในใบตราส่งที่ติดไปกับของ แล้วก็จะส่งใบตราส่งนั้นกลักมาเป็นหลักฐานเรียกเก็บเงินจากลูกค้าต่อไป เช่นนี้ ถือเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร ที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.10867 ลงวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2537)

      2.1.8  การให้บริการท่าเทียบเรือ

               “การให้บริการของกิจการท่าเรือ” หมายความว่า การจัดอำนวยความสะดวกด้านการเดินเรือ การรับเรือเข้าเทียบท่าหรือหลักผูกเรือหรือทุ่นผูกเรือ การเก็บรักษาสินค้า การขนถ่ายสินค้าทั้งที่บรรจุตู้สินค้าหรือไม่ได้บรรจุตู้สินค้า สินค้าที่บรรจุหีบห่อหรือไม่ได้บรรจุหีบห่อสิ่งของ คนโดยสาร สัตว์มีชีวิต ภาชนะขนส่ง ขึ้นหรือลงเรือ การจัดการทางการค้าและการจัดการอื่น ๆ ทั้งในท่าเรือ และบริเวณที่ต่อเนื่องกับท่าเรือให้แก่เจ้าของเรือหรือตัวแทนเจ้าของตู้สินค้า ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้ร้องขอทำการ

               “ค่าบริการของกิจการท่าเรือ” หมายความว่า ค่าภาระ ค่าบริการ ค่าเช่า ค่าธรรมเนียมและอื่น ๆ ในการใช้บริการในท่าเรือและบริเวณที่ต่อเนื่องกับท่าเรือที่ผู้ประกอบกิจการท่าเรือเรียกเก็บจากเจ้าของเรือหรือตัวแทน เจ้าของตู้สินค้า ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้ร้องขอทำการ

               “กิจการที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการท่าเรือ” หมายความว่า

               (1) การให้บริการยกขนหรือเคลื่อนย้ายสินค้า ตู้สินค้า สิ่งของหรืออื่น ๆ โดยใช้เครื่องจักร รถเครน รถเทรลเลอร์ ฯลฯ

               (2) การให้บริการขนถ่ายสินค้า โดยใช้แรงงานคน (Stevedore)

               (3) การให้บริการใช้เรือลากหรือจูงหรือดันเรือให้เข้าเทียบท่าหรือออกจากท่า

               (4) การให้บริการตรวจนับจำนวนสินค้าหรือตู้สินค้า

               (5) การให้บริการทำความสะอาดตู้สินค้า

               (6) การให้เช่าสังหาริมทรัพย์สำหรับยกหรือขนสินค้า เช่น ให้เช่าเครื่องจักร รถยก ปั้นจั่น เครื่องมือยกขน ฯลฯ

               (7) การให้บริการเก็บรักษาสินค้าในโรงพักสินค้าหรือคลังสินค้า

               (8) การให้บริการเก็บรักษาสินค้าหรือตู้สินค้าในลานกองเก็บสินค้าหรือลานกองตู้สินค้า

               (9) การให้บริการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน

               “ค่าบริการของกิจการที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการท่าเรือ” หมายความว่า ค่าบริการของกิจการตาม (1) - (9) ที่ผู้ประกอบกิจการท่าเรือเรียกเก็บจากเจ้าของเรือหรือตัวแทน เจ้าของตู้สินค้า ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้ร้องขอทำการ

               กิจการท่าเรือและกิจการที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการท่าเรือ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบกิจการท่าเรือมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องนำมูลค่าทั้งหมดที่ได้รับหรือพึงได้รับทั้งที่เป็นค่าบริการของกิจการท่าเรือ และค่าบริการของกิจการที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการท่าเรือมารวมเป็นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ว่าการให้บริการนั้น ผู้ประกอบกิจการท่าเรือจะคิดค่าบริการของกิจการที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการท่าเรือรวมในหรือแยกค่าบริการของกิจการที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการท่าเรือออกจากค่าบริการของ กิจการท่าเรือ (คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 106/2544)  

      2.1.9  กิจการโรงแรมและภัตตาคาร เช่น

               วิทยาลัยของทางราชการประกอบกิจการสนามกอล์ฟ และกิจการโรงแรม เป็นการให้บริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ใช่การให้บริการเกี่ยวกับการศึกษาของทางราชการ จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร  (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.198211 ลงวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2537)

               บริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการ โดยเก็บค่าสมาชิกจากผู้ใช้บิการ โดยบริษัทฯ จะปลูกสร้างอาคารมีห้องพักอย่างโรงแรม มีภัตตาคาร สระว่ายน้ำ สถานที่ออกกำลังกาย เล่นกีฬา สถานที่พักผ่อนและอื่นๆ บริษัทฯ เรียกเก็บค่าสมาชิกครั้งเดียวจากผู้มาใช้บริการเป็นเวลา 20 ปี สมาชิกมีสิทธิใช้ห้องพักที่บริษัทฯ จะจัดห้องใดที่ว่างอยู่ โดยจองล่วงหน้าและไม่ต้องเสียค่าห้องพัก แต่ต้องเสียเงินในการใช้สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก การเข้าพักจะกำหนดให้สมาชิกเข้าพักได้ปีหนึ่งกี่วัน และสมาชิกจะขอพักวันใดก็ได้ ถ้าพักเกินกำหนดต้องจ่ายค่าที่พัก ห้องพักแต่ละห้อง บริษัทฯ จะตกแต่งตามแบบของบริษัทฯ เช่นนี้ เป็นกรณีที่บริษัทฯ ให้บริการแก่สมาชิกตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ต้องนำค่าสมาชิก และค่าบริการอื่นมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม และบริษัท มีสิทธินำภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคาร ที่ใช้ในการประกอบกิจการให้บริการนั้นมาหักออกจากภาษีขายตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรได้  (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.10867 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539)

     2.1.10 กิจการสนามกอล์ฟ เช่น 

               บริษัทฯ ให้บริการสนามกอล์ฟแก่บุคคลทั่วไปและสมาชิกโดยมีการแลกเปลี่ยนบริการสนาม กอล์ฟฟรีกับการใช้ที่ดินของห้างฯ ในการสร้างสนามกอล์ฟ ที่ดินเป็นทรัพย์สินของห้างฯ เช่นนี้ การให้บริการสนามกอล์ฟฟรี เป็นการให้บริการอันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่า ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้บริการ บริษัทฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากราคาตลาดของอัตราการให้บริการ  (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.5449 ลงวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2536)

               บริษัทฯ ประกอบกิจการสนามกอล์ฟ โดยจัดสถานที่ไดร์ฟลูกกอล์ฟ ตกแต่งเป็นสนามกอล์ฟอยู่ในตัวอาคาร ทางสนามจัดลูกกอล์ฟให้ลูกค้าเป็นถามๆ โดยลูกค้าต้องซื้อคูปอง 3 ส่วน 2 ส่วนแรกเป็นค่าเช่าสถานที่และสนาม อีกส่วนหนึ่งเป็นค่าเช่าลูกกอล์ฟ เช่นนี้ จะแยกรายได้เป็นค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ส่วนหนึ่งไม่ได้ รายได้ทั้งหมดถือเป็นการให้บริการ ต้องนำไปเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งจำนวน (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.19502 ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2536)

               การประกอบกิจการสนามกอล์ฟของสถาบัน เอ.ไอ.ที. เป็นการให้บริการอย่างหนึ่งที่มิใช่บิการเกี่ยวกับการศึกษาของสถานการศึกษาของทางราชการ จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าทั้งหมดที่ได้รับ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้สนาม ค่าสมาชิก เงินประกัน เงินมัดจำ เงินจ่ายล่วงหน้าเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย หรือเงินอื่นที่เรียกเก็บในลักษณะทำนองเดียวกัน ทั้งที่ผ่อนชำระหรือชำระครั้งเดียวกัน  (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/23164 ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2537)

               บริษัทฯ รับคำสั่งจากลูกค้าว่าจะไปตีกอล์ฟสนามใด บริษัทฯ จะทำการติดต่อสนามพร้อมบริการรับส่งลูกค้าไปยังสนามกอล์ฟนั้น โดยคิดค่าบริการจากลูกค้าในอัตราที่รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าสนาม ค่าแคดดี้ ค่ารถบริการ และค่าบริการอื่นๆ จึงเข้าลักษณะเป็นการที่บริษัทฯ ให้บริการจัดหาสนามกอล์ฟ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าบริการทั้งหมดที่ได้รับ  (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.17258 ลงวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2538)

      2.1.11 กิจการสนามม้าแข่ง เช่น    

               การส่งม้าเข้าแข่งในสนามแข่งม้า โดยได้รับรางวัลม้าชนะและได้รับเงินส่วนแบ่งรายได้ที่ทางสนามม้าจ่ายให้เนื่องจากการส่งม้าเข้าแข่งเป็นรายได้ที่เกิดจากการให้บริการ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (มติ กกม. ครั้งที่19/2535)

      2.1.12 การให้บริการสนามกีฬา เช่น สระว่ายน้ำ สนามเทนนิส

                 การประกอบกิจการสระว่ายน้ำ โดยให้สิทธิแก่บุคคลทั่วไปสมัครเป็นสมาชิก ซึ่งจะแยกเก็บเงินจำนวนหนึ่ง และสมาชิกจะต้องชำระค่าบริการรายเดือนตลอดเวลาที่เป็นสมาชิก หากสมาชิกผู้ใดไม่ชำระค่าบริการรายเดือน แต่มาใช้บริการสระว่ายน้ำ ต้องชำระค่าบริการเมื่อใช้บริการ เช่นนี้ ไม่ต้องนำค่าบริการที่ค้างชำระมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนที่ถึงกำหนดชำระ (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/พ.2295 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536)

      2.1.13 การให้บริการสถานบันเทิง เช่น ไนต์คลับ คาบาเรต์ อาบอบนวด คาราโอเกะ

      2.1.14 การให้บริการมหรสพ เช่น ภาพยนตร์ ละคร

      2.1.15 การให้บริการรถร่วม เช่น

               บริษัทฯ ประกอบกิจการขนส่งผู้โดยสาร รายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทฯ ได้มาจากเจ้าของรถร่วมบริการ โดยคิดร้อยละ 10 ของยอดรายได้ค่าขนส่ง เมื่อได้รับเงินจากเจ้าของรถร่วม บริษัทฯ ได้ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อให้แก่เจ้าของรถร่วมวันละ 60 - 70 ฉบับ เช่นนี้ กรณีไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมากตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 32) (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/10307 ลงวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2539) 

      2.1.16 การให้บริการทางด่วน 

      2.1.17 การให้บริการส่วนกลางของกิจการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์                

2.2 การใช้บริการของตนเองไม่ว่าประการใดๆ

       การให้บริการดังต่อไปนี้ ถือเป็นการให้บริการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

      2.2.1  การนำบริการระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือการนำสินค้าที่มีเพื่อขายหรือเพื่อใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มไปใช้เพื่อประกอบกิจการที่ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของตนเองโดยตรง ได้แก่ การให้บริการตนเองดังต่อไปนี้   

              (1) การนำสินค้าไปใช้ในการผลิตสินค้าที่ได้รับเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มของกิจการ

              (2) การนำสินค้าไปใช้ในการให้บริการที่ได้รับเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มของกิจการ

              (3) การนำสินค้าไปใช้ในการบริหารของกิจการที่ได้รับเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

              (4) การนำสินค้าไปใช้เพื่อประโยชน์ของทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการให้บริการที่ได้รับเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มของตนเอง

      2.2.2  การนำสินค้าไปใช้เพื่อการรับรอง หรือเพื่อการอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน (ประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2))  

2.3  “การให้บริการในราชอาณาจักรหมายถึง กรณีดังต่อไปนี้ 

      2.3.1 การให้บริการที่ทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร

      2.3.2 การให้บริการที่ทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ เช่น การให้บริการนำเที่ยวในต่างประเทศ

      2.3.3 การให้บริการที่ทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร เช่น การให้บริการซ่อมแซมเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ การให้บริการใช้ลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตรหรือสิทธิอย่างอื่น การให้เช่าทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ การให้บริการทางวิชาชีพอิสระ การให้บริการรับจ้างพิมพ์ การให้บริการโฆษณา การให้บริการโทรคมนาคม เป็นต้น 

    

3.  การให้บริการที่ไม่ต้องนำค่าตอบแทนมาถือรวมเป็นมูลค่าของฐานภาษี

3.1 การนำบริการไปใช้เพื่อประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของตนเองโดยตรง อาทิ (มาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร)    

      3.1.1  การนำสินค้าไปใช้ในการผลิตสินค้าของกิจการ

      3.1.2  การนำสินค้าไปใช้ในการให้บริการของกิจการ

      3.1.3  การนำสินค้าไปใช้ในการบริหารของกิจการ

      3.1.4  การนำสินค้าไปใช้เพื่อประโยชน์ของทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการให้บริการของตนเอง เช่น การก่อสร้างอาคารเพื่อใช้ในการประกอบกิจการที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม การซ่อมแซมอาคารหรือทรัพย์สินที่ใช้ในกิจการดังกล่าว (ประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2))

3.2 การนำเงินไปหาผลประโยชน์โดยการฝากธนาคาร หรือซื้อพันธบัตร หรือหลักทรัพย์ (มาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร)   

3.3 การกระทำตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนด ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนด (มาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร)  

3.4 กรณีที่ไม่ต้องมาถือรวมเป็นมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) ได้แก่

      3.4.1 การให้บริการเป็นนายหน้าตัวแทนให้แก่ผู้ประกอบการในต่างประเทศ ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่ผู้ประกอบการในต่างประเทศดังกล่าวขายสินค้าหรือให้บริการกับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในต่างประเทศด้วยกัน (ข้อ 2 (3) เช่น บริษัทฯ ผลิตสินค้าและส่งออกไปต่างประเทศ ได้ขายสินค้าโดยผ่านบริษัทตัวแทนในประเทศนั้นๆ บริษัทฯ ต้องจ่ายค่านายหน้าตัวแทนเหล่านั้น เช่นนี้ บริษัทฯ ไม่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการจ่ายค่านายหน้าดังกล่าว เนื่องจากเป็นการชำระค่าบริการแก่ผู้ให้บริการในต่างประเทศ และไม่มีการใช้บริการนั้นในประเทศไทยตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/14766 ลงวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2537)

      3.4.2  มูลค่าของอาหารและเครื่องดื่มที่นายจ้างจัดหาให้กับพนักงานหรือลูกจ้างในระหว่างเวลาปฏิบัติงาน ตามระเบียนเกี่ยวกับสวัสดิการของพนักงานหรือลูกจ้าง โดยมูลค่าของอาหารและเครื่องดื่มดังกล่าวต้องมีราคาไม่เกินสมควร (ข้อ 2 (8)) 

      3.4.3  การให้บริการแก่ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ ซึ่งเป็น

               (1) ผู้ทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับองค์กรร่วมไทย-มาเลเซียตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย

               (2) ผู้ขายสินค้าหรือให้บริการซึ่งได้ทำสัญญาเป็นหนังสือโดยตรงกับผู้ทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย

               ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าว ต้องทำสัญญากับผู้ซื้อหรือผู้รับบริการเป็นหนังสือ และต้องจัดทำรายงานตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนด (ข้อ 2 (12))  

      3.4.4  มูลค่าของสลากวินโต๊ดและเปร๊สโต๊ดที่ผู้ประกอบการสนามแข่งม้าขายให้แก่ผู้เล่นพนันแข่งม้า เป็นจำนวนเท่ากับจำนวนเงินรางวัลที่จะต้องจ่ายคืนให้แก่ผู้เล่นพนันแข่งม้าดังกล่าว (ข้อ 2 (13))

      3.4.5  การให้บริการรับประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยของผู้ประกอบการจดทะเบียน เฉพาะการให้บริการแก่บรรษัทประกันต่อแห่งเอเชียที่กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2542 เป็นต้นไป (ข้อ 2 (17))

      3.4.6  การให้บริการขนส่งก๊าซทางท่อที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนให้บริการแก่ผู้รับ บริการ ซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งได้ทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในพื้นที่พัฒนา ร่วมกับองค์กรร่วมไทย-มาเลเซียและผู้ทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ทั้งนี้ เฉพาะการให้บริการขนส่งก๊าซซึ่งผลิตจากเขตพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย เท่านั้น

               พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย และองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย หมายความว่า พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย และองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย (ข้อ 2 (18))

      3.4.7  มูลค่าของการให้บริการรับประกันวินาศภัยต่อตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย ทั้งนี้ เฉพาะส่วนลดประกันภัยต่อที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการประกันภัยต่อได้หักออกจากค่าเบี้ยประกันภัยต่อ (ข้อ 2 (21) ใช้บังคับวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป)

      3.4.8  การให้บริการผลิตรถยนต์ต้นแบบ หรือรถจักรยานยนต์ต้นแบบที่ใช้เพื่อการวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะ ที่ได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนผลิตให้แก่ผู้วิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะยานยนต์ที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพสามิต โดยมีหนังสือรับรองการยกเว้นภาษีสรรพสามิตและการอนุมัติให้เป็นผู้วิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะยานยนต์จากกรมสรรพสามิตมาแสดง (ข้อ 2 (22) ใช้บังคับวันที่ 1 มกราคม  พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป)

      3.4.9 การให้บริการไฟฟ้าที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ให้บริการไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยซึ่งติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 5 (15) แอมแปร์ โดยได้ใช้ไฟฟ้าไม่เกินจำนวนหน่วยที่กำหนดตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบหรือรับทราบแล้ว และเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาสตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการพลังงาน ทั้งนี้ สำหรับมูลค่าของการให้บริการไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป

              มูลค่าของการให้บริการไฟฟ้าตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า ค่าพลังงานไฟฟ้า ค่าไฟฟ้าผันแปร และค่าบริการที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้า (ข้อ 2 (23) ใช้บังคับวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป)  

 

4. บทสรุป

ดังจะเห็นได้ว่า กฎหมายกำหนดกิจกรรมที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยผู้ประกอบการ ซึ่งประกอบกิจการขายสินค้าหรือการให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ ในอันที่จะให้ภาระภาษีมูลค่าเพิ่มตกต้องไปยังผู้บริโภคในราชอาณาจักร ตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ไว้เพียง 2 ประการ เท่านั้น คือ

ประการที่หนึ่ง การขายสินค้าในทางธุรกิจหรือวิชาชีพโดยผู้ประกอบการในราชอาณาจักร

ประการที่สอง การให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพโดยผู้ประกอบการในราชอาณาจักร

กล่าวคือ หากกิจกรรมนั้น ผิดไปจากการขายสินค้าในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ (Supply of Goods) โดยผู้ประกอบการในราชอาณาจักร แล้วก็ต้องเป็นการให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ (Supply of Services) โดยผู้ประกอบการในราชอาณาจักร เท่านั้น เพื่อขจัดปัญหาการตีความกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังเช่นที่เคยเป็นในระบบภาษีการค้า นอกจากนี้ ยังให้อำนาจอธิบดีกรมสรรพากรในอันที่จะวินิจฉัย ในกรณีที่มีปัญหาว่า กิจการใดเป็นการขายสินค้าหรือการให้บริการ และให้ถือว่า คำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากรดักล่าวให้ถือเป็นที่สุดตามมาตรา 77/5 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรได้กำหนดนิยามศัพท์คำว่า “กิจการภัตตาคาร” ได้แก่ กิจการขายอาหารหรือเครื่องดื่มไม่ว่าชนิดใด ๆ รวมทั้งกิจการรับจ้างปรุงอาหารหรือเครื่องดื่ม ทั้งนี้ ไม่ว่าในหรือนอกสถานที่ซึ่งจัดไว้ให้ประชาชนเข้าไปบริโภคได้ ไว้ตามข้อ 2 (2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 32)ฯ ลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2535

จึงอาจสรุปความได้ว่า กิจการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร หากไม่ใช่การขายสินค้าในทางธุรกิจหรือวิชาชีพโดยผู้ประกอบการในราชอาณาจักร ให้ถือเป็นการให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพโดยผู้ประกอบการในราชอาณาจักร เว้นแต่ จะมีกฎหมายกำหนดให้เป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 หรือกรณีที่ไม่นับรวมเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) 

นอกจากนี้ ยังต้องศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับ กรณีบริการที่ได้ให้ในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร เพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์พร้อมของกิจการให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ