ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

คำอธิบาย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564

บทความวันที่ 13 ก.พ. 2564  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 6234 ครั้ง

คำอธิบาย

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564

 

1. ความนำ

1.1  กรมสรรพากรได้ชี้แจงรายละเอียด​เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ ดังนี้

       (1)  ความเป็นมาเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลได้ส่งผลให้รูปแบบการให้บริการเปลี่ยนแปลงไป ผู้ประกอบการที่อยู่ในต่างประเทศสามารถให้บริการแก่บุคคลต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต รวมทั้งมีแพลตฟอร์มซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการจำนวนมาก ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงบริการอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เกม เพลง ภาพยนตร์ จากผู้ประกอบการที่อยู่ในต่างประเทศได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว

             ในปี 2563 ประเทศไทยมีจำนวนประชากรกว่า 69 ล้านคน และมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงถึง 75% และจากผลสำรวจของ Globalwebindex พบว่าประชากรไทยอายุระหว่าง 16-64 ปี มากกว่า 50% ดูวิดีโอ ฟังเพลง และฟังวิทยุออนไลน์ ส่งผลให้มีการใช้บริการออนไลน์เติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่น การซื้อขายเพลงออนไลน์เติบโต 9% การซื้อขายวีดีโอเกมเติบโต 7.8% และการโฆษณาออนไลน์เติบโต 16% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

       (2)  ปัญหาสะสมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม​ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการในประเทศที่ให้บริการ e–Service ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่ยื่นแบบ และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มมาโดยตลอด ในขณะที่​ ผู้ประกอบการต่างประเทศ หรืออิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มต่างประเทศที่ให้บริการ e-Serviceในประเทศไทย ไม่ต้องดำเนินการดังกล่าว เนื่องจาก​ กฎหมายเดิมไม่ได้ครอบคลุมถึง ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เกิดความได้เปรียบ เสียเปรียบในการดำเนินธุรกิจ ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการต่างประเทศ ซึ่งหลายประเทศที่ใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มต่างก็เผชิญปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกัน

       (3)  ทางออกที่เป็นมาตรฐานสากล นานาประเทศจึงได้ร่วมกันกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา โดยดำเนินการตามคำแนะนำของ OECD ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการต่างประเทศหรืออิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มต่างประเทศ จดทะเบียนและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่หน่วยงานจัดเก็บภาษี ซึ่งประเทศที่จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนใหญ่ (มากกว่า 60 ประเทศ) ได้ออกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามคำแนะนำดังกล่าว เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น

1.2  โดยที่ปัจจุบันมีการใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศมากขึ้น จึงจำเป็นต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้มีความเหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจและการใช้บริการดังกล่าว นอกจากนี้ สมควรปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการมี การใช้ หรือการจัดทำเอกสารหลักฐานหรือหนังสืออื่นใด ตามประมวลรัษฎากร ให้สามารถดำเนินการด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวก แก่ประชาชนและเพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน โดยการตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 ดังต่อไปนี้

       (1) แก้ไขเพิ่มเติมให้การดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานหรือหนังสืออื่นใดตามประมวลรัษฎากรสามารถดำเนินการด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 3 โสฬส แห่งประมวลรัษฎากร)

       (2) แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “สินค้า” และเพิ่มบทนิยามคำว่า “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” และคำว่า “อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม” (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 77/1 (9) แห่งประมวลรัษฎากร และเพิ่มมาตรา 77/1 (10/1) และ (10/2) แห่งประมวลรัษฎากร)

       (3) แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศแก่ผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน เสียภาษีจากยอดขายโดยไม่ให้หักภาษีซื้อ และให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ (เพิ่มมาตรา 82/13 วรรคสองและวรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร) เป็นผลทำให้ในปัจจุบันประมวลรัษฎากร มีบทบัญญัติรวม 324 มาตรา

       (4) แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่ของผู้จ่ายเงินในการนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม และหน้าที่ของผู้ประกอบการในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศแก่ผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83/6 (2) และมาตรา 85/3 (2) แห่งประมวลรัษฎากร)

       (5) กำหนดให้การดำเนินการทางทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกระทำโดยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ (เพิ่มมาตรา 85/20 แห่งประมวลรัษฎากร)

       (6) กำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศออกใบกำกับภาษี (เพิ่มมาตรา 86/1 (1/1) แห่งประมวลรัษฎากร)

จึงขอนำบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษากฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างเป็นระบบต่อไป


2. การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริการทางอิเล็กทรอนิกส์

2.1 แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “สินค้า” ตามมาตรา 77/1 (9) แห่งประมวลรัษฎากร และเพิ่มนิยามศัพท์คำว่า บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” และ อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม” เป็น (10/1) และ (10/2) ของมาตรา 77/1 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้

       มาตรา 77/1 ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น  

             (9)สินค้า” หมายความว่า ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขาย เพื่อใช้ หรือเพื่อการใด ๆ และให้หมายความรวมถึงสิ่งของทุกชนิดที่นำเข้า แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด

(ความตาม (9) แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564)

             (10/1)บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า บริการซึ่งรวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ซึ่งลักษณะของบริการ เป็นไปโดยอัตโนมัติในสาระสำคัญ โดยบริการดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้หากปราศจากเทคโนโลยีสารสนเทศ

             (10/2)อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม” หมายความว่า ตลาด ช่องทาง หรือกระบวนการอื่นใด ที่ผู้ให้บริการหลายรายใช้ในการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการ”

(ความตาม (10/1) และ (10/2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564)

       (1)  แก้ไขเพิ่มเติมนิยามศัพท์คำว่า “สินค้า” ซึ่งแต่เดิมคำว่า สินค้า” หมายความว่า ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างทุกชนิด ที่อาจมีราคาและถือเอาได้ ไม่ว่าผู้ประกอบการจะมีไว้เพื่อขาย เพื่อใช้ หรือเพื่อการใด ๆ และให้หมายความรวมถึงสิ่งของทุกชนิดซึ่งเป็นสินค้าที่มีรูปร่างที่นำเข้า เท่านั้น เพราะกรมศุลกากรจัดเก็บอากรขาเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่มได้แต่เพียงเฉพาะสินค้านำเข้าที่มีรุปร่างเท่านั้น จึงได้เพิ่มเติมข้อความ “แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด” ซึ่งนำไปบัญญัติเป็น บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” ตามมาตรา 77/1 (10/1) แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อที่จะทำให้สามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับ บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” ที่หมายความว่า “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งลักษณะของบริการเป็นไปโดยอัตโนมัติในสาระสำคัญ โดยบริการดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้หากปราศจากเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้ง ทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ที่เข้าลักษณะเช่นเดียวกับบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว โดยเฉพาะที่ให้บริการจากต่างประเทศ ซึ่งมีปัญหาในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งในต่างประเทศรวมทั้งในประเทศไทย

       (2)  เพิ่มเติมนิยามศัพท์คำว่า “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” และ อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม” ให้มีความชัดเจนและเป็นสากล  

             (ก)  บริการทั่วไปที่ไม่ใช่บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” ที่ให้บริการจากต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในประเทศไทย เช่น

                   - ค่าบริการเป็นนายหน้าตัวแทนเนื่องจากการขายสินค้าหรือให้บริการแก่ลูกค้าในประเทศไทย

                   - ค่าบริการที่ปรึกษาทางธุรกิจ

                   - ค่าบริการรับทำงานให้

                   - ค่าตอบแทนในการใช้สิทธิ ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า

                   - ค่าบริการจ้างเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์

                   - ค่าเช่าทรัพย์สินที่นำมาใช้ในประเทศไทย

                   - ค่าบริการทางวิชาชีพที่มิใช่ การประกอบโรคศิลป การว่าความ และการสอบบัญชี

                   - ค่าบริการซ่อมทรัพย์สิน เครื่องจักร

                   - ค่าบริการจ้างผลิตสินค้า

                   - ค่าบริการจ้างทำของทั้งหลาย เป็นต้น

             (ข) “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า บริการที่ส่งผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ซึ่งลักษณะของบริการ เป็นไปโดยอัตโนมัติในสาระสำคัญ โดยบริการดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้หากปราศจากเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น

                   - World Wide Web (www) หรือเครือข่ายใยแมงมุม

                   - E-mail หรือไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์

                   - การโอนย้ายแฟ้มข้อมูล  (Upload, Download, FTP) i cloud

                   - การเผยแพร่สารสนเทศ

                   - ห้องสนทนา (Chat Room) การสนทนาแบบออนไลน์ (Chat) V Chat

                   - เครือข่ายสังคมหรือชุมชนเว็บ (social network or web community) เช่น ทวิตเตอร์ (Twitter) Facebook Instagram (IG)

                   - ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Banking Service)

                   - การให้บริการชำระเงินออนไลน์ (Online Bill-Paying Service)

                   - การให้บริการตลาดนัดแรงงาน (Job Market Service)

                   - การให้บริการด้านการเดินทางและการท่องเที่ยว (Travel and Tourism Service)

                   - การให้บริการติดต่อสื่อสาร (Communities Service)

                   - การให้บริการด้านการศึกษา (E-Learning Service)

                   - การให้บริการโฆษณาทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น

             (ค)  ทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด

2.2  ไม่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของความรับผิด ฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับ “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” จึงยังคงใช้บังคับตามบทบัญญัติที่มีอยู่เดิมดังนี้

       (1)  ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับ “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” เกิดขึ้นตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 78/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือ ให้ความรับผิดทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการ เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนได้รับชำระราคาค่าบริการก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ด้วย

             (ก) ได้ออกใบกำกับภาษี หรือ

             (ข) ได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น

             ทั้งนี้ โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้น ๆ แล้วแต่กรณี

       (2)  ฐานภาษีภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับ “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 79 และมาตรา 79/3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้  

             ฐานภาษีสำหรับการการให้บริการ ได้แก่ มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการให้บริการ รวมทั้งภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา 77/1 (19) แห่งประมวลรัษฎากร ถ้ามี ด้วย

             มูลค่าของฐานภาษี ให้หมายความถึง เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือประโยชน์ใด ๆ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน

             การคำนวณมูลค่าของฐานภาษีสำหรับการให้บริการตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร ให้ถือมูลค่าของฐานภาษีเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้ (มาตรา 79/3 แห่งประมวลรัษฎากร)

             (ก) การให้บริการ โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาด โดยไม่มีเหตุอันสมควร มูลค่าของฐานภาษีให้ถือตามราคาตลาดของสินค้าหรือการให้บริการในวันที่ความรับผิดเกิดขึ้น

             (ข) การให้บริการในกรณีที่ผู้ประกอบการได้ใช้บริการ ไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น โดยมิใช่เพื่อการประกอบกิจการโดยตรงตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร มูลค่าของฐานภาษีให้ถือตามราคาตลาดของบริการในวันที่ความรับผิดเกิดขึ้น

             ราคาตลาดตามมาตรานี้ ให้ถือราคาเฉลี่ยของราคาตลาดที่ซื้อขายกันตามความเป็นจริงทั่วไปในวันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ทั้งนี้ ตามที่ได้มีการตรวจสอบ ราคาตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนด และในกรณีที่ไม่อาจทราบราคาตลาดได้แน่นอน ให้อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศใช้เกณฑ์คำนวณเพื่อให้ได้มาซึ่งราคาตลาดได้

2.3  การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับ “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์

       ได้มีการเพิ่มความในวรรคสองและวรรคสาม ของมาตรา 82/13 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้

       “มาตรา 82/13 ในกรณีที่ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรและได้เข้ามาประกอบกิจการขายสินค้า หรือให้บริการในราชอาณาจักร เป็นการชั่วคราว โดยไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวตามมาตรา 85/3 หรือในกรณีที่ผู้ประกอบการ ที่ได้ให้บริการจากต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ให้ผู้ประกอบการดังกล่าวเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีเกิดขึ้น โดยให้คำนวณจากฐานภาษีตามส่วน 3 และอัตราภาษีตามมาตรา 80 หรือมาตรา 80/1 แล้วแต่กรณี

             “ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับกรณีผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณจากภาษีขาย โดยไม่ให้หักภาษีซื้อ ทั้งนี้ ให้ผู้ประกอบการดังกล่าวยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษีตามมาตรา 83

             ในกรณีผู้ประกอบการตามวรรคสอง ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม โดยมีกระบวนการต่อเนื่องตั้งแต่การนำเสนอการให้บริการ การชำระค่าบริการ การส่งมอบ บริการ และการอื่นใดตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกรายรวมกัน โดยไม่ต้องแยกรายละเอียดการให้บริการสำหรับผู้ประกอบการแต่ละราย และให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ แพลตฟอร์มมีหน้าที่และความรับผิดเช่นเดียวกับผู้ประกอบการ”

(ความตามวรรคสองและวรรคสาม เพิ่มเติมโดยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564)

       มาตรา 83/6 เมื่อมีการชำระราคาสินค้าหรือ ราคาค่าบริการให้กับผู้ประกอบการดังต่อไปนี้ ให้ผู้จ่ายเงินค่าซื้อสินค้า หรือค่าบริการมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสียภาษี

             (1) ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งได้เข้ามาประกอบกิจการขายสินค้า หรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 85/3

             “(2) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการจากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ทั้งนี้ เฉพาะ

                   (ก) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน

                   (ข) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการอื่นนอกจากบริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้ทุกราย”

(ความตาม (2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564)

             (3) ผู้ประกอบการอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

             ให้นำมาตรา 83/5 วรรคสอง มาใช้บังคับ

       มาตรา 85/3 ให้ผู้ประกอบการดังต่อไปนี้ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

             (1) ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร และเข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราว

             “(2) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการจากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ทั้งนี้ เฉพาะ

                   (ก) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน

                   (ข) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการอื่นนอกจากบริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้ทุกราย”

(ความตาม (2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564)

             (3) ผู้ประกอบการอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนดเมื่อมีเหตุอันสมควร

             อธิบดีจะผ่อนผันให้ผู้ประกอบการตาม (1) หรือ (3) ซึ่งการประกอบกิจการ ของผู้ประกอบการดังกล่าวมีลักษณะและวิธีการตามที่อธิบดีกำหนด มีสิทธิขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราวก็ได้

             การยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราว และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวให้เป็นไปตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

             เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่จะพิจารณากำหนดว่า การเข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรอย่างใด เป็นการเข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราว

       จากบทบัญญัติดังกล่าวอาจแยกพิจารณาได้ดังนี้

       (1)  ในกรณีที่ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรและได้เข้ามาประกอบกิจการขายสินค้า หรือให้บริการในราชอาณาจักร เป็นการชั่วคราว โดยไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวตามมาตรา 85/3 แห่งประมวลรัษฎากร หรือในกรณีที่ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการอื่นที่มิใช่บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร รวมทั้งผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้ผู้ประกอบการดังกล่าวเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีเกิดขึ้น โดยให้คำนวณจากฐานภาษีตาม 1.2 (2) และอัตราภาษีร้อยละ 7.0 หรือร้อยละ 0 ตามมาตรา 80 หรือมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี

             ให้ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการดังต่อไปนี้ มีหน้าที่ยื่นรายการและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ตามแบบ ภ.พ.36 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป

             (ก) ผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรและได้เข้ามาประกอบกิจการขายสินค้า หรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว โดยไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวตามมาตรา 85/3 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามมาตรา 83/6 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

             (ข)  ผู้รับบริการไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดจากผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการอื่นที่มิใช่บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร และ

             (ค) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่รับบริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากผู้ให้บริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร

       (2)  สำหรับผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น โดยไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/3 (2) แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณจากภาษีขาย โดยไม่ให้หักภาษีซื้อ ทั้งนี้ ให้ผู้ประกอบการดังกล่าวยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.พ.30) และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ตามมาตรา 83 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/13 วรรคสสอง แห่งประมวลรัษฎากร

                       ในกรณีผู้ประกอบการตาม (2) ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ แพลตฟอร์ม โดยมีกระบวนการต่อเนื่องตั้งแต่การนำเสนอการให้บริการ การชำระค่าบริการ การส่งมอบ บริการ และการอื่นใดตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกรายรวมกัน โดยไม่ต้องแยกรายละเอียดการให้บริการสำหรับผู้ประกอบการแต่ละราย และให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ แพลตฟอร์มมีหน้าที่และความรับผิดเช่นเดียวกับผู้ประกอบการ ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/13 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร

       (3)  ในกรณีผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม (ตลาด ช่องทาง หรือกระบวนการอื่นใด ที่ผู้ให้บริการหลายรายใช้ในการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการ) โดยมีกระบวนการต่อเนื่องตั้งแต่การนำเสนอการให้บริการ การชำระค่าบริการ การส่งมอบ บริการ และการอื่นใดตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกรายรวมกัน โดยไม่ต้องแยกรายละเอียดการให้บริการสำหรับผู้ประกอบการแต่ละราย และให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ แพลตฟอร์มมีหน้าที่และความรับผิดเช่นเดียวกับผู้ประกอบการ

       (4) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้นำส่งเนื่องจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการตาม (1)(2) หรือ (3) แล้วแต่กรณี ตามแบบ ภ.พ.36 ตามใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากร ซึ่งถือเป็นใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/14 แห่งประมวลรัษฎากร ดังกล่าว ให้ถือเป็นภาษีซื้อที่จะนำไปเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1 (18) แห่งประมวลรัษฎากร

2.4  เพิ่มเติมความในมาตรา 85/20 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อใช้ในกรณีมีความจำเป็นหรือเหมาะสม รัฐมนตรีมีอำนาจว่าการกระทรวงการคลังในอันที่จะออกกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อกำหนดกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้แทน การดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่บัญญัติไว้ในส่วน 9 หมวด 4 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ได้ ดังนี้

       "มาตรา 85/20 ในกรณีมีความจำเป็นหรือเหมาะสม รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อกำหนดกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้แทน การดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่บทบัญญัติในส่วน 8 ได้ 

             การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ อันเป็นความผิดและต้องระวางโทษตามมาตราที่เกี่ยวข้องด้วย

(เพิ่มเติมโดยมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564)

2.5  เพิ่มเติมความ (1/1) ในมาตรา 86/1 (1/1) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศออกใบกำกับภาษี ดังนี้

       “มาตรา 86/1 ห้ามมิให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังต่อไปนี้ออกใบกำกับภาษี

             (1) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่นอกราชอาณาจักร และได้ให้ตัวแทนของตนออกใบกำกับภาษีแทนตนตามมาตรา 86/2

             “(1/1) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศและ ได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน”

             (2) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ทรัพย์สินถูกนำออกขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นโดยบุคคลอื่นตามมาตรา 83/5

(ความตาม (1/1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564)

             (3) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 83/6 (3)”

2.6 การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับ "บริการทางอิเล็กทรอนิกส" ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 นี้ให้ใช้บังคับสำหรับรายรับหรือการจ่ายเงิน ตั้งแต่วันที่หนึ่งของเดือนที่เจ็ดถัดจากเดือนที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564) ได้แก่ วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

 

3. แก้ไขเพิ่มเติมความในมาตรา 3 โสฬส แห่งประมวลรัษฎากร

ให้ยกเลิกความในมาตรา 3 โสฬส แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา 3 โสฬส บรรดาหมายเรียก หนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากร แบบ ใบกำกับภาษี รายงาน เอกสารหลักฐานหรือหนังสืออื่นใด ที่ต้องมี จัดทำ หรือใช้ ตามที่บัญญัติในประมวลรัษฎากร และบรรดาเอกสารหลักฐานหรือหนังสือที่กรมสรรพากรต้องใช้ในการติดต่อกับผู้เสียภาษีอากรหรือบุคคลใด หรือที่ผู้เสียภาษีอากรหรือบุคคลใดต้องใช้ในการติดต่อกับกรมสรรพากร อาจกระทำด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

       กฎกระทรวงตามวรรคหนึ่งให้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการจัดทำ การส่ง การรับ ตลอดจนการเก็บรักษาที่เกี่ยวข้องไว้ด้วย ซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรม ทางอิเล็กทรอนิกส์

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564)

 

4. บทสรุป

การเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับบริการที่ได้ให้จากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร โดยแยก “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” โดยเฉพาะที่ได้ให้บริการแก่ผู้รับบริการที่มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนออกต่างหาก อาทิ ประชาชนผู้บริโภคทั่วไป ผู้ประกอบการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ รวมทั้งองค์การของรัฐบาลหรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งโดยส่วนใหญรัฐได้รับค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจากกิจการในส่วนนี้น้อยมาก เพราะกฎหมายกำหนดให้ผู้ใช้บริการมีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.พ.36 เพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่ได้จ่ายเงินได้ ทั้งนี้ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณจากภาษีขาย โดยไม่ให้หักภาษีซื้อ มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ภ.พ.30 และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ตามมาตรา 83 แห่งประมวลรัษฎากร  

ในการนี้ได้เพิ่มเติม “ทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด” ให้ถือเป็นบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยอีกโสตหนึ่ง ทำให้ประเทศไทยสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง จากที่ไม่สามารถจัดเก็บได้ เนื่องจากมีช่องโหว่ของกฎหมาย

ในส่วนของบริการอื่นใดที่มิใช่บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ และ “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” โดยเฉพาะที่ได้ให้บริการแก่ผู้รับบริการที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ให้จากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร นั้น ผู้จ่ายเงินค่าบริการมีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.พ.36 เพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับ "บริการทางอิเล็กทรอนิกส" ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 นี้ให้ใช้บังคับสำหรับรายรับหรือการจ่ายเงิน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป  ซึ่งกรมสรรพากรมีเครื่องมือที่สามารถเข้าถึงการมีรายรับในประเทศไทยของผู้ให้บริการจากต่างประเทศโดยสมบูรณ์แบบครับ ไม่ต้องกังวลเรื่องนี้ มิฉะนั้น จะออกกฎหมายมาจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีนี้ไม่ได้

มีประเด็นปัญหาสืบเนื่องต่อไปอีกประเด็นหนึ่ง คือ ผลกระทบของกฎหมายฉบับนี้ เป็นผลทำหใ้ต้องมีการเพิ่มค่าบริการอีกอย่างน้อย 7% สำหรับผู้รับบริการที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม อย่างแน่แท้ทีเดียวเชียวครับ !!!! ไม่มีทางที่ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ให้บริการจะเป็นผู้รับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนนี้ จึงเป็นเวรเป็นกรรมของผู้บริโภค เพราะภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีการบริโภคที่ผู้บริโภคต้องเป็นผู้รับภาระ (VAT is "Tax" on consume.)

 

บรรณานุกรม

 

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/010/T_0001.PDF

https://www.rd.go.th/315.html (ประมวลรัษฎากร)

https://www.rd.go.th/27807.html (เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 (ร่าง พ.ร.บ. การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน)

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/922292

https://sites.google.com/site/kruvongkot/u6-kar-suxsar-phan-kherux-khay-xintexrnet?fbclid=IwAR2_9TLdDuI1STRqVJPuQ4Az8hH95zkY3MlnNdwBC-8sbmWYOPJhgO6dCIU

   

 

 พระราชบัญญัติ

แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53)

พ.ศ. 2564

-------------------------

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ

พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ให้ไว้ ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

เป็นปีที่ 6 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอม ของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่าพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป เว้นแต่บทบัญญัติที่มีผลแก้ไขเปลี่ยนแปลงการเสียหรือการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 และมาตรา 10 ให้ใช้บังคับสำหรับรายรับหรือการจ่ายเงิน ตั้งแต่วันที่หนึ่งของเดือนที่เจ็ดถัดจากเดือนที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 3 โสฬส แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

       มาตรา 3 โสฬส บรรดาหมายเรียก หนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากร แบบ ใบกำกับภาษี รายงาน เอกสารหลักฐานหรือหนังสืออื่นใด ที่ต้องมี จัดทำ หรือใช้ ตามที่บัญญัติในประมวลรัษฎากร และบรรดาเอกสารหลักฐานหรือหนังสือที่กรมสรรพากรต้องใช้ในการติดต่อกับผู้เสียภาษีอากรหรือบุคคลใด หรือที่ผู้เสียภาษีอากรหรือบุคคลใดต้องใช้ในการติดต่อกับกรมสรรพากร อาจกระทำด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

              กฎกระทรวงตามวรรคหนึ่งให้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการจัดทำ การส่ง การรับ ตลอดจนการเก็บรักษาที่เกี่ยวข้องไว้ด้วย ซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรม ทางอิเล็กทรอนิกส์

มาตรา 4 ให้ยกเลิกความใน (9) ของมาตรา 77/1 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 และให้ใช้ ความต่อไปนี้     แทน

              “(9)สินค้า” หมายความว่า ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขาย เพื่อใช้ หรือเพื่อการใด ๆ และให้หมายความรวมถึงสิ่งของทุกชนิดที่นำเข้า แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่าย ทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด”

มาตรา 5 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (10/1) และ (10/2) ของมาตรา 77/1 แห่งประมวลรัษฎากร  

              “(10/1)บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า บริการซึ่งรวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง ที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ซึ่งลักษณะของบริการ เป็นไปโดยอัตโนมัติในสาระส าคัญ โดยบริการดังกล่าวไม่สามารถกระท าได้หากปราศจากเทคโนโลยี สารสนเทศ

              (10/2)อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม” หมายความว่า ตลาด ช่องทาง หรือกระบวนการอื่นใด ที่ผู้ให้บริการหลายรายใช้ในการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการ”

มาตรา 6 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองและวรรคสาม ของมาตรา 82/13 แห่งประมวลรัษฎากร

              “ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับกรณีผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณจากภาษีขาย โดยไม่ให้หักภาษีซื้อ ทั้งนี้ ให้ผู้ประกอบการดังกล่าวยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษีตามมาตรา 83

              ในกรณีผู้ประกอบการตามวรรคสอง ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ แพลตฟอร์ม โดยมีกระบวนการต่อเนื่องตั้งแต่การนำเสนอการให้บริการ การชำระค่าบริการ การส่งมอบ บริการ และการอื่นใดตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกรายรวมกัน โดยไม่ต้องแยกรายละเอียดการให้บริการสำหรับผู้ประกอบการแต่ละราย และให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ แพลตฟอร์มมีหน้าที่และความรับผิดเช่นเดียวกับผู้ประกอบการ

มาตรา 7 ให้ยกเลิกความใน (2) ของวรรคหนึ่ง ของมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 และ ให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

              “(2) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการจากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ทั้งนี้ เฉพาะ

                    (ก) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน

                    (ข) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการอื่นนอกจากบริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้ทุกราย

มาตรา 8 ให้ยกเลิกความใน (2) ของวรรคหนึ่ง ของมาตรา 85/3 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 และ ให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

              “(2) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการจากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ทั้งนี้ เฉพาะ

                    (ก) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน

                    (ข) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการอื่นนอกจากบริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้ทุกราย

มาตรา 9 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 85/20 ในส่วน 9 การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ของหมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ของลักษณะ 2 ภาษีอากรฝ่ายสรรพากร แห่งประมวลรัษฎากร

       มาตรา 85/20 ในกรณีมีความจำเป็นหรือเหมาะสม รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อกำหนดกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้แทน การดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่บัญญัติไว้ในส่วน 9 ได้

              การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ อันเป็นความผิดและต้องระวางโทษตามมาตราที่เกี่ยวข้องด้วย

มาตรา 10 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (1/1) ของมาตรา 86/1 แห่งประมวลรัษฎากร

              “(1/1) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศและ ได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน”

มาตรา 11 บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรที่ถูกยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัตินี้ ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปเฉพาะในการปฏิบัติจัดเก็บภาษีอากรที่ค้างอยู่หรือที่พึงชำระ สำหรับรายรับหรือการจ่ายเงินก่อนวันที่หนึ่งของเดือนที่เจ็ดถัดจากเดือนที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

มาตรา 12 บรรดาประกาศที่ออกตามมาตรา 3 โสฬส แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ บทบัญญัติตามมาตรา 3 โสฬส แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะได้มีกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 3 โสฬส แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 13 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

 

 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

         นายกรัฐมนตรี

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันมีการใช้บริการ ทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศมากขึ้น สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้มีความเหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจและการใช้บริการดังกล่าว นอกจากนี้ สมควรปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการมี การใช้ หรือการจัดทำเอกสารหลักฐานหรือหนังสืออื่นใด ตามประมวลรัษฎากร ให้สามารถดำเนินการด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวก แก่ประชาชนและเพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

ราชกิจจานุเบกษา หน้า 1 - หน้า 4 เล่ม 138 ตอนที่ 11 ก 10 กุมภาพันธ์ 2564