ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

บทความวันที่ 30 ส.ค. 2559  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 6565 ครั้ง

ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  

 

แต่เดิมก่อนวันที่ 9 สิงหาคม 2559 คำว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคบ” ตามความในวรรคเก้า ของมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร หมายความถึง ผู้ที่กฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลดังต่อไปนี้

1. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ

3. กิจการซึ่งดำเนินการเป็นทางค้าหรือหากำไรโดยรัฐบาลต่างประเทศ องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ

4. กิจการร่วมค้า ซึ่งได้แก่กิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางค้าหรือหากำไรระหว่างบริษัทกับบริษัท บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือระหว่างบริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือนิติบุคคลอื่น

5. มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดให้เป็นองค์การกุศลสาธารณะตามมาตรา 47 (7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร

6. นิติบุคคลอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้เป็น “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล”

ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีการกำหนดให้นิติบุคคลอื่นเป็น “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” จวบจนกระทั่ง เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 อธิบดีกรมสรรพากร โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาศัยอำนาจตามความในวรรคเก้า (4) ของมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 271) กำหนดให้ “ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” เป็น “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” ตามความในวรรคเก้า (4) ของมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเษกษาเป็นต้นไป ซึ่งได้แก่ นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไป

การกำหนดนิยามคำว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” ตามมาตรา 39 วรรคเก้า แห่งประมวลรัษฎากร ดังกล่าว ก็เพื่อจำแนกผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ชัดแจ้งว่า ประกอบด้วยบุคคลใดบ้าง ทั้งกรณีที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และกิจการอื่นใดที่มิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคค ในอันที่จะผลักดันให้กิจการอื่นที่มิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นๆ มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร

ในกรณีของ “ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” ก็เช่นเดียวกัน สืบเนื่องจากการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีผลการประกอบกิจการปรากฏเป็นกำไรสุทธิ สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการเสียภาษีเงินได้ จึงถูกกำหนดเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดัวกล่าว   

ผลของการที่อธิบดีกรมสรรพากร โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาศัยอำนาจตามความในวรรคเก้า (4) ของมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ “ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” เป็น “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2559 เป็นต้นมา ก่อให้เกิดผลกระทบทางภาษ๊อากรดังนี้

ประการที่หนึ่ง ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิ นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไป ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงต้องจัดทำงบการเงินตามมาตรา 68 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบด้วย “บัญชีงบดุล” หรืองบแสดงฐานะการเงิน “บัญชีทำการ” และ “บัญชีกำไรขาดทุน” สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2559 เพื่อแนบไปพร้อมกับแบบ ภ.ง.ด.50 ตามมาตรา 68 และมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร

เนื่องจากรอบระยะเวลาบัญชีปีแรกนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกำหนดรอบระยะเวลาบัญชีน้อยกว่า 12 เดือน จึงไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามมาตรา 67 ทวิ วรรคท้าย แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีต่อไป ซึ่งมีกำหนดเวลา 12 เดือนเต็ม หากตลาดหลักทรัพย์ฯ ประสงค์จะเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นจริงในรอบระยะเวลา 6 เดือนแรก ก็ต้องขออนุมัติอธิบดีกรมสรรพากรเพื่อจัดให้มีการสอบทานงบการเงิน มิฉะนั้น ก็ต้องเสียภาษีจากกึ่งหนึ่งประมาณการกำไรสุทธิเช่นเดียวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไป

ประการที่สอง เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ถูกกำหนดให้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว สถานภาพทางภาษีอากรย่อมหลุดจาก “องค์การของรัฐบาล” ตามความในมาตรา 2 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับเงินได้พึงประเมิน จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนติบุคคลนับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไป จึงต้องถูกหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528  เช่นเดียวกับ “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” โดยสภาพ

ประการที่สาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ย่อมมีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ทั้งกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 ในฐานะที่เป็น “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” แทนที่การเป็น องค์การของรัฐบาลตามมาตรา 2 แห่งประมวลรัษฎากร ที่เคยมีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (4) และมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ด้วยเช่นเดียวกัน 

ประการที่สี่ กรณีตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) - (8) แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป จากรัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ก็ต้องถูกหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.0 ของเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร