ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

สรุป บริการที่ให้จากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในประเทศไทย ตั้งแต่วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

บทความวันที่ 14 ก.พ. 2564  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 6871 ครั้ง

สรุป บริการที่ให้จากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในประเทศไทย ตั้งแต่วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

 

 

บรรยายภาพ

บริการที่ให้จากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในประเทศไทย เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร ตามมาตรา 77/2 วรรคสาม แห่งประเทศไทย (OUT to IN Activity)

1.  การจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564

     (1) แต่เดิมนับแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 เป็นมาจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 จะมีผลใช้บังคับ คือ วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564 (วันที่ 1 ของเดือนที่เจ็ดถัดจากเดือนที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564) เป็นต้นไป) ผู้จ่ายเงินค่าบริการไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดในประเทศไทย มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.พ.36 เพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่จ่ายเงินค่าบริการ ตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร

     (2) สำหรับบุคคลอื่นใดที่มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้นำส่งตามแบบ ภ.พ.36 ถือเป็นต้นทุนหรือรายจ่าย หรือรับเป็นภาระในจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้นำส่งไว้เอง

     (3) สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียน ใบเสร็จรับเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้นำส่งตามแบบ ภ.พ.36 ถือเป็นใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/14 แห่งประมวลรัษฎากร และให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อตามมาตรา 77/1 (18) แห่งประมวลรัษฎากร เครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร

2.  การจ่ายค่าบริการตั้งแต่วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป  

     (1) ให้จำแนกบริการที่ให้จากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในประเทศไทย เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร ตามมาตรา 77/2 วรรคสาม แห่งประเทศไทยดังกล่าวออกเป็น 2 กรณี ดังนี้

           (ก) บริการอื่นใดที่มิใช่ “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” และ

           (ข) “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า บริการที่ส่งผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ซึ่งลักษณะของบริการเป็นไปโดยอัตโนมัติในสาระสำคัญ โดยบริการดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้หากปราศจากเทคโนโลยีสารสนเทศ

     (2) ให้จัดแบ่งกลุ่มผูจ่ายเงินค่า “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” ออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

           (ก) ผู้จ่ายเงินค่า “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” ที่ผู้จ่ายเงินค่าบริการ “มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน” และ

           (ข) “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” ที่ผู้จ่ายเงินค่าบริการเป็น “ผู้ประกอบการจดทะเบียน

     (3) การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบริการตั้งแต่วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป ไม่ว่าภาระหนี้สินนั้นจะเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด

           (ก) สำหรับบริการอื่นใดที่ “มิใช่บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” จ่ายเงินค่าบริการไม่ว่าจะเป็นบุคคลใดในประเทศไทย มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.พ.36 เพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่จ่ายเงินค่าบริการ ตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร

           (ข) สำหรับค่า “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” ที่จ่ายโดย “ผู้ประกอบการจดทะเบียน” ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.พ.36 เพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่จ่ายเงินค่าบริการ ตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยตนเอง

           (ค) สำหรับค่า “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” ที่จ่ายโดย “ผู้ที่มิใช่ประกอบการจดทะเบียน” ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ให้บริการในต่างประเทศมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยยื่นแบบ ภ.พ.30 เพื่อชำระภาษีมูลค่าเพิ่มภายในวันที่ ตามมาตรา 83 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/13 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร  

                   ในกรณีผู้ประกอบการตาม (ค) ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ แพลตฟอร์ม โดยมีกระบวนการต่อเนื่องตั้งแต่การนำเสนอการให้บริการ การชำระค่าบริการ การส่งมอบ บริการ และการอื่นใดตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกรายรวมกัน โดยไม่ต้องแยกรายละเอียดการให้บริการสำหรับผู้ประกอบการแต่ละราย และให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ แพลตฟอร์มมีหน้าที่และความรับผิดเช่นเดียวกับผู้ประกอบการ ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/13 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร  

         ขอเรียนให้ทราบว่า กรมสรรพากรมีเครื่องมือที่สามารถเข้าถึงการมีรายรับในประเทศไทยของผู้ให้บริการจากต่างประเทศโดยสมบูรณ์แบบครับ ไม่ต้องกังวลเรื่องนี้ มิฉะนั้น จะออกกฎหมายมาจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีนี้ไม่ได้ครับ

มีประเด็นปัญหาสืบเนื่องต่อไปคือ ต้องมีการเพิ่มค่าบริการอีกอย่างน้อย 7% สำหรับผู้รับบริการที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม อย่างแน่แท้ทีเดียวเชียวครับ !!!! เป็นเวรเป็นกรรมของผู้บริโภคครับ เพราะภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีการบริโภคที่ผู้บริโภคต้องเป็นผู้รับภาระ (VAT is "Tax" on consume.)