การเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
บทความวันที่ 3 มี.ค. 2564 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 4444 ครั้ง
บทความวันที่ 3 มี.ค. 2564 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 4444 ครั้ง
การเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
1. หลักการเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เป็นไปตามมาตรา 48
(3)(4)(4/1)(5)(6) และ (7) มาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งอาจสรุปความได้ดังนี้
1.1
ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้
โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตามมาตรา 48 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากรก็ได้
สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(4) (ก) และ (ช) แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้ (มาตรา 48
(3) วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร)
(1) ดอกเบี้ยพันธบัตร
ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ดอกเบี้ยเงินฝากสหกรณ์ ดอกเบี้ยหุ้นกู้
ดอกเบี้ยตั๋วเงินที่ได้จากบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคลอื่น
ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น
ดอกเบี้ยที่ได้จากสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้น
สำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม
(2) ผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
หรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก
(3) ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนพันธบัตร
หุ้นกู้ หรือตั๋วเงิน
หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก
ทั้งนี้ เฉพาะที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน
1.2
ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยจะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10.0
ของเงินได้ โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตามมาตรา 48 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร
ก็ได้ สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร
เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะ
ของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม
หรืออุตสาหกรรม (มาตรา 48 (3) วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร)
1.3
ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตามมาตรา 48 (1) และ (2)
แห่งประมวลรัษฎากร ก็ได้ เฉพาะเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร
ที่ได้รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดก หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ได้มา
โดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ดังต่อไปนี้ (มาตรา 48 (4) แห่งประมวลรัษฎากร)
(1)
เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดก
หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หา ให้หักค่าใช้จ่ายร้อยละ 50
ของเงินได้ เหลือเท่าใดถือเป็นเงินได้สุทธิแล้วหารด้วยจำนวนปีที่ถือครอง
ได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใด ให้คำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้
ได้เท่าใดคูณด้วยจำนวนปีที่ถือครอง ผลลัพธ์ที่ได้เป็นเงินภาษีที่ต้องเสีย
(2)
เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางอื่นนอกจาก (ก) ให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฏีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร
(ฉบับที่ 165) พ.ศ. 2529 เหลือเท่าใดถือเป็นเงินได้สุทธิ
แล้วหารด้วยจำนวนปีที่ถือครองได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใด
ให้คำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้ ได้เท่าใดให้คูณด้วยจำนวนปีที่ถือครอง
ผลลัพธ์ที่ได้เป็นเงินภาษีที่ต้องเสีย
ในกรณีที่เสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีตามมาตรา
48 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อคำนวณภาษีแล้วต้องเสียไม่เกินร้อยละ 20
ของราคาขาย
ในกรณีที่เสียภาษีโดยนำไปรวมคำนวณภาษีตามมาตรา
48 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ให้หักค่าใช้จ่ายร้อยละ 50 ของเงินได้
หรือตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 165) พ.ศ.
2529 แล้วแต่กรณี เหลือเท่าใดนำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อย่างอื่น
คำว่า "จำนวนปีที่ถือครอง" ใน (ก)
หรือ (ข) หมายถึงจำนวนปีนับตั้งแต่ปีที่ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ถึงปีที่โอนกรรมสิทธิ์
หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้าเกินสิบปีให้นับเพียงสิบปี
และเศษของปีให้นับเป็นหนึ่งปี
1.4
ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของเงินได้ส่วนที่เกินยี่สิบล้านบาท
โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตามมาตรา 48 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ก็ได้
สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร
ที่เป็นเงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม
ที่ไม่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 (26) แห่งประมวลรัษฎากร (มาตรา 48 (4/1)
แห่งประมวลรัษฎากร เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่
40) พ.ศ. 2558 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 เป็นต้นไป)
1.5
ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตามมาตรา 48 (1) และ (2)
แห่งประมวลรัษฎากร ก็ได้ สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2)
แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน
ซึ่งได้คำนวณจ่ายจากระยะเวลาที่ทำงานและได้จ่ายตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
โดยให้นำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวหักค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเท่ากับ 7,000 บาท
คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงานแต่ไม่เกินเงินได้พึงประเมิน
เหลือเท่าใดให้หักค่าใช้จ่ายอีกร้อยละ 50 ของเงินที่เหลือนั้น
แล้วคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้
ในกรณีเงินได้พึงประเมินดังกล่าวจ่ายในลักษณะเงินบำเหน็จจำนวนหนึ่งและเงินบำนาญอีกจำนวนหนึ่ง
ให้ถือว่าเฉพาะเงินที่จ่ายในลักษณะเงินบำเหน็จเป็นเงินซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน
และให้ลดค่าใช้จ่ายจำนวน 7,000 บาท ลงเหลือ 3,500 บาท
จำนวนปีที่ทำงานตามวรรคหนึ่ง
ในกรณีเงินบำเหน็จหรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ทางราชการจ่าย
ให้ถือจำนวนปีที่ใช้เป็นเกณฑ์คำนวณเงินบำเหน็จหรือเงินอื่นในลักษณะเดียวกันนั้นตามกฎหมายระเบียบหรือข้อบังคับของทางราชการ
ในการคำนวณจำนวนปีที่ทำงาน
นอกจากกรณีตามวรรคสาม เศษของปี ถ้าถึง 183 วัน ให้ถือเป็นหนึ่งปี ถ้าไม่ถึง 183
วันให้ปัดทิ้ง (มาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ดู
ประกาศอธิบดีเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) ประกอบ)
1.6
ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของเงินได้ส่วนที่เกินยี่สิบล้านบาท
โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตามมาตรา 48 (1) และ (2) ก็ได้ สำหรับเงินได้ตามมาตรา
40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้รับจากการอุปการะ
หรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส
ที่ไม่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 (27) แห่งประมวลรัษฎากร (มาตรา 48 (6)
แห่งประมวลรัษฎากร เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่
40) พ.ศ. 2558 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 เป็นต้นไป)
1.7
ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของเงินได้ส่วนที่เกินสิบล้านบาท
โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตามมาตรา 48 (1) และ (2) ก็ได้ สำหรับเงินได้ตามมาตรา
40 (8) ที่ได้รับจากการอุปการะ
โดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีทั้งนี้
จากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส ที่ไม่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42
(28) แห่งประมวลรัษฎากร (มาตรา 48 (7) แห่งประมวลรัษฎากร
เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558
ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 เป็นต้นไป)
1.8
ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของสามีและภริยา ตามมาตรา 57 ฉ
แห่งประมวลรัษฎากรนั้น สามีและภริยามีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้ ดังนี้
(1)
ให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วตามมาตรา
56 แห่งประมวลรัษฎากร
(2)
สามีและภริยาจะตกลงยื่นรายการและเสียภาษีรวมกัน โดย
(ก)
ให้ถือเอาเงินได้พึงประเมินของตนเป็นเงินได้ของสามีหรือภริยาอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้
หรือ
(ข) จะแยกยื่นรายการและเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา
40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยมิให้ถือเอาเป็นเงินได้ของอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้
แต่ถ้ามีภาษีค้างชำระสามีและภริยาต้องร่วมรับผิดในการเสียภาษีที่ค้างชำระนั้น
(3)
ในกรณีที่เงินได้พึงประเมินไม่อาจแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นของสามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด
ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง
เว้นแต่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร
สามีและภริยาจะแบ่งเงินได้พึงประเมินเป็นของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันก็ได้
แต่รวมกันต้องไม่น้อยกว่าเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ถ้าตกลงกันไม่ได้
ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยา ฝ่ายละกึ่งหนึ่ง
เมื่อได้เลือกยื่นรายการตามวรรคสองและวรรคสามในปีภาษีใดแล้ว
ให้ถือว่าเป็นวิธีการยื่นรายการสำหรับปีภาษีนั้นตลอดไป
เว้นแต่อธิบดีกรมสรรพากรจะอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกยื่นรายการดังกล่าว (มาตรา
57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร เพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร
(ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2555 ใช้บังคับสำหรับเงินได้ปีภาษี 2555 เป็นต้นไป)
1.9 ตามมาตรา 5
จตุทศ (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500
กำหนดให้ผู้เงินได้ที่ได้รับเงินรางวัลสลากการกุศลงวดพิเศษที่คณะรัฐมนตรีมีมติว่าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
มีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลหรือภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่าที่ถูกหักภาษีเงินได้
ณ ที่จ่าย (Final
Tax) โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตามมาตรา 48 (1) และ (2) ก็ได้
ในกรณีที่ยอมให้ผู้จ่ายเงินได้ (สำนักงานสลากกินของรัฐบาล) หักภาษีเงินได้ ณ
ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 ของรางวัล
โดยไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืนหรือไม่ขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไว้นั้น
ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
1.10
ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง
การเสียภาษีเงินได้ของผู้มีเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินที่ได้รับเงินกินเปล่า
เงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินค่าปลูกสร้าง เงินค่าซ่อมแซม
หรือค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์หรือเงินได้อื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน
ลงวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 151/2558 เรื่อง
การเสียภาษีเงินได้ กรณีเงินกินเปล่าหรือเงินได้อื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน
ลงวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
กำหนดแนวทางปฏิบัติให้มีเงินได้มีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินที่ได้รับเงินกินเปล่า
เงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินค่าปลูกสร้าง เงินค่าซ่อมแซม
หรือค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์หรือเงินได้อื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน
โดยเฉลี่ยเงินได้ดังกล่าวออกเป็นรายปีตามอายุการเช่า ทั้งนี้ โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์
วิธีการ และเงื่อนไขตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 151/2558
2. หลักในการเลือกเสียภาษีเงินได้
2.1 ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรดังต่อไปนี้
คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรได้วางแนวทางปฏิบัติกรณีที่ผู้มีเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีนั้นโดยนำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นอันทำให้ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงกว่าการไม่นำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นนั้น
จึงเป็นการกระทำโดยสำคัญผิด เมื่อผู้มีเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีนั้นใหม่
โดยไม่นำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นจึงเป็นกรณีที่ผู้มีเงินได้สามารถกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ได้ทำให้รัฐเสียประโยชน์ที่จะพึงได้แต่อย่างใด
(1)
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 18/2533
การเลือกเสียภาษีเงินได้สำหรับเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดก
หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร
(2)
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 19/2533
การเลือกเสียภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ฯลฯ ตามมาตรา 48
(3) แห่งประมวลรัษฎากร
(3)
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 20/2533
การเลือกเสียภาษีเงินได้สำหรับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับจากบริษัทจดทะเบียน
กองทุนรวม
(4)
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 21/2533
การเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
สำหรับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
2.2 จากแนวทางปฏิบัติตามคำวินิจฉัยทั้ง
4 ฉบับดังกล่าว สำหรับกรณีที่กฎหมายเปิดช่องทางให้ผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้
นั้น หาก “เป็นการกระทำโดยสำคัญผิด
เมื่อผู้มีเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีนั้นใหม่
โดยไม่นำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นจึงเป็นกรณีที่ผู้มีเงินได้สามารถกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ได้ทำให้รัฐเสียประโยชน์ที่จะพึงได้แต่อย่างใด”
สามารถปรับใช้กับการเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกกรณี
2.3 ตามข้อ 2 ของประกาศกระทรวงการคลังฯ ลงวันที่ 8
กรกฎาคม พ.ศ.2558 ที่ระบุว่า...
“2. กรณีผู้ให้เช่าซึ่งได้รับเงินกินเปล่า
เงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินค่าปลูกสร้าง เงินค่าซ่อมแซม และ
ค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์ แต่ได้ยื่นรายการเงินได้
และชำระภาษีเงินได้จาก เงินกินเปล่าที่เฉลี่ยเป็นรายปีตามจำนวนปีของอายุการเช่า
เมื่อพ้นกำหนด เดือนมีนาคมของปีถัดจากปี ที่ได้รับเงินได้พึงประเมินแล้ว
ผู้มีเงินได้ยังคงสามารถเฉลี่ยเงินกินเปล่าเป็นรายปีตามจำนวนปีของ อายุการเช่า
แล้วยื่นรายการเงินได้ และชำระภาษีเงินได้จากเงินกินเปล่าที่เฉลี่ยได้
แต่ต้องเสียเงินเพิ่ม อีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน
หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสีย” นั้น
พิจารณาเห็นว่า
สามารถประยุกต์ใช้กับกรณีที่ผู้มีเงินได้ได้นำเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินที่ได้รับเงินกินเปล่า
เงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินค่าปลูกสร้าง เงินค่าซ่อมแซม
หรือค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์หรือเงินได้อื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน
ไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีนั้น
โดยนำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นอันทำให้ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงกว่าการไม่นำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นนั้น
จึงเป็นการกระทำโดยสำคัญผิด ด้วยเช่นเดียวกับกรณีตามแนวทางปฏิบัติตามคำวินิจฉัยทั้ง
4 ฉบับดังกล่าวข้างต้น เว้นแต่กรณีตามข้อ 1.8
การเลือกเสียภาษีเงินได้ของสามีภริยาที่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นพิเศษแล้ว
อย่างไรก็ตาม มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ผู้มีเงินได้ควรจักทำหนังสือขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากรให้อนุมัติให้ผู้มีเงินได้เปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกยื่นรายการดังกล่าว ทำนองเดียวกับการเลือกเสียภาษีเงินได้ของสามีภริยาตามมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเป็นกรณีที่ไม่มีระบุไว้โดยชัดแจ้งตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรทั้ง 4 ฉบับ และเพื่อเป็นบรรทัดฐานที่ดีสืบไป ซึ่งเชื่อลึก ๆ ว่าท่านอธิบดีกรมสรรพากรคงจะเมตตาอนุมัติให้ เพราะการเลือกเสียภาษีดังกล่าว “ไม่ได้ทำให้รัฐเสียประโยชน์ที่จะพึงได้แต่อย่างใด”
อ้างอิง https://www.facebook.com/Suthep.Pongpitak/posts/3981876545196625