ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

บทกำหนดโทษกรณีไม่นำส่งเอกสารงบการเงินตามประมวลรัษฎากร

บทความวันที่ 14 ส.ค. 2564  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 2807 ครั้ง

บทกำหนดโทษกรณีไม่นำส่งเอกสารงบการเงินตามประมวลรัษฎากร

 

เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2542 สำนักงานสรรพากรภาคแห่งหนึ่ง ได้หารือต่ากรมสรรพากรว่า “มีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลบางราย ได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีตามมาตรา 68 แห่งประมวลรัษฎากร โดยแสดงรายการในแบบไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน หรือไม่แนบเอกสารงบการเงิน ฯลฯซึ่งมีรายละเอียดปรากฏตามเอกสารรายชื่อนิติบุคคลที่ยื่นแบบไม่ถูกต้อง และไม่สามารถบันทึกข้อมูลได้ ทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการบันทึกข้อมูลของหน่วยบันทึกข้อมูล และไม่สามารถติดตามผู้ยื่นแบบฯ ให้มาแก้ไขข้อผิดพลาดได้ จากการวิเคราะห์สาเหตุพบว่า ปัญหาเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามประมวลรัษฎากรของผู้รับทำบัญชีเป็นช่องโหว่ของกฎหมายที่มิได้กำหนดโทษในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยื่นแบบแสดงรายการ แต่มิได้ยื่นรายการที่จำเป็น ต้องใช้ในการคำนวณภาษีตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร”

ซึ่งกรมสรรพากรได้มีหนังสือตอบข้อหารือตามหนังสือกรมสรรพากรเลขที่ กค 0811/04960 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีไม่นำส่งเอกสารงบการเงิน ประเด็นข้อกฎหมาย: มาตรา 17 มาตรา 18 มาตรา 35 มาตรา 68 มาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร ว่า “กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ถือว่านิติบุคคลนั้น ๆ ได้ยื่นแบบแสดงรายการแล้ว การที่ไม่สามารถบันทึกข้อมูลได้นั้น ไม่ใช่สาเหตุที่จะถือได้ว่าผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 17 และมีความผิดตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร หาได้ไม่ ดังนั้น หากเกิดกรณีดังกล่าวสำนักงานสรรพากรภาค ก็ควรรวบรวมรายชื่อของนิติบุคคลนั้น ๆ พร้อมแบบ ภ.ง.ด.50 ส่งให้จังหวัดตามสถานที่ตั้งหรือภูมิลำเนาของผู้ประกอบการนั้น ๆทำการวิเคราะห์แบบหรือออกหมายเรียกตรวจสอบโดยจะต้องออกหมายเรียกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร เพราะถือได้ว่าได้ยื่นแบบแสดงรายการแล้วหรือสำนักงานสรรพากรภาคจะวิเคราะห์แบบหรือออกหมายเรียกผู้ประกอบการมาตรวจสอบเองก็ได้” เลขตู้: 62/27862

(https://www.rd.go.th/23578.html)

เนื่องจากในขณะนั้น (ก่อนวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559) บทกำหนดโทษตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร ยังมิได้กำหนด ให้ต้องระวางโทษปรับ กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลฝ่าฝืนมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร โดยมิได้แนบเอกสารงบการเงินที่ต้องจัดทำตามมาตรา 68 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบด้วย บัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน” รวมทั้ง “บัญชีรายรับก่อนหักรายจ่ายเกี่ยวกับค่าโดยสาร ค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดอันต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะกิจการขนส่ง” แทนบัญชีงบดุล บัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุนในรอบระยะเวลาบัญชี สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 66 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกระทำกิจการขนส่งผ่านประเทศต่าง ๆ ไปพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร อันได้แก่ แบบ ภ.ง.ด.50 และ ภ.ง.ด.52 ภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี  

ต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษากร (ฉบับที่ 41) พ.ศ. 2559 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป แก้ไขเพิ่มมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้

มาตรา 35 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 17 มาตรา 50 ทวิ มาตรา 51 หรือมาตรา 69 เว้นแต่จะแสดงว่าได้มีเหตุสุดวิสัย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท"

การแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติตามมาตรา 35 แหงประมวลรัษฎากร โดยการเพิ่มการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษากร ซึ่งเป็นกรณีที่กรมสรรพากรเชื่อมั่นว่า เป็นการอุดช่องโหว่ตามที่เคยมีคำวินิจฉัยไว้ตามหนังสือกรมสรรพากรเลขที่ กค 0811/04960 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 ดังกล่าว

นับแต่นั้น เป็นต้นมา กรมสรรพากรเริ่มเรียกเก็บค่าปรับอาญาตามมมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ภ.ง.ด.52 และ ภ.ง.ด.55 กรณียื่นแบบแสดงรายการดังกล่าวล่าช้า หรือมิได้ยื่นแบบแสดงรายการดังกล่าว โดยถือเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 17 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นความผิดกระทงที่ 1 และหากมิได้แนบบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน ไปพร้อมกับแบบ ภ.ง.ด.50 ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีมิได้แนบบัญชีรายรับก่อนหักรายจ่ายเกี่ยวกับค่าโดยสาร ค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใด ไปพร้อมกับแบบ ภ.ง.ด.52 ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นความผิดกระทงที่ 2  

โดยกรมสรรพากรได้ออกประกาศเตือน “ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ภ.ง.ด.52 ภ.ง.ด.55 และยื่นบัญชี เกินกำหนดเวลา ต้องเสียค่าปรับ” ดังนี้

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ ตามมาตรา 68 แห่งประมวลรัษฎากร พร้อมทั้งชำระภาษี (ถ้ามี) และยื่นบัญชี ตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร ภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี (โดยต้องยื่นเป็นประจำทุกรอบระยะเวลาบัญชี ไม่ว่าจะมีรายได้หรือไม่ก็ตาม) หากยื่นแบบฯ และยื่นบัญชีเกินกำหนดเวลาดังกล่าวต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 41) พ.ศ. 2559 ถือเป็น “ความผิดสองกระทง” โดยให้เปรียบเทียบกำหนดค่าปรับ ตามมาตรา 3 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้ 

1.  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 และ ภ.ง.ด.52                            

    1.1 กรณียื่นแบบฯ และยื่นบัญชีเกินกำหนดเวลา แต่ไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลา เสียค่าปรับกระทงละ 1,000 บาท (รวมสองกระทงเป็นเงิน 2,000 บาท)

    1.2 กรณียื่นแบบฯ และยื่นบัญชีเกินกำหนดเวลา และเกิน  7 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลา เสียค่าปรับกระทงละ 2,000 บาท (รวมสองกระทงเป็นเงิน 4,000 บาท)                        

2.  มูลนิธิหรือสมาคม ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.55                             

    2.1 กรณียื่นแบบฯ และยื่นบัญชีเกินกำหนดเวลา แต่ไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลา เสียค่าปรับกระทงละ 500 บาท (ไม่มีความผิดเกี่ยวกับบัญชีแสดงรายได้ รายจ่าย)                            

    2.2 กรณียื่นแบบฯ และยื่นบัญชีเกินกำหนดเวลา และเกิน  7 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลา เสียค่าปรับกระทงละ 1,000 บาท

หมายเหตุ กรณีมีภาษีต้องชำระต้องเสียเงินเพิ่มอีกอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นแบบฯ จนถึงวันที่ยื่นแบบฯ ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร

(ที่มา: ttps://www.rd.go.th/60363.html)

 

อนึ่ง ตามข้อ 1 และข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 117/2545 ลงวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2545 กรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการนับระยะเวลาเพื่อคำนวณเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 27 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 มาตรา 89/1 และมาตรา 91/21 (6) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีกำหนดเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี แบบแสดงรายการหักภาษีและนำเงินภาษีส่ง หรือแบบนำส่งภาษี วันสุดท้ายตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ ดังนี้

ข้อ 1 กรณีกำหนดเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี แบบแสดงรายการหักภาษีและนำเงินภาษีส่งหรือแบบนำส่งภาษี วันสุดท้ายตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา ตามมาตรา 193/8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม แต่อย่างใด  

ข้อ 2  กรณีได้รับอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร

       (1) กรณีขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร โดยได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร ตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาที่ขยายออกไปดังกล่าวตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ ให้นับวันที่เริ่ม ทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา ตามมาตรา 193/8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับ แต่ต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 0.75 ต่อเดือนหรือเศษ ของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่ง โดยให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบแสดงรายการหักภาษีและนำเงินภาษีส่ง หรือแบบนำส่งภาษีจนถึงวันชำระภาษีหรือนำส่งภาษี ตามมาตรา 27 หรือมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร

          (2) กรณีขยายกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร โดยได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรี ตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร และวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาที่ขยายออกไปดังกล่าวตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา ตามมาตรา 193/8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแต่อย่างใด”

ซึ่ง ตามแนวทางปฏิบัติดังกล่าว ให้อนุโลมใช้กับประเด็นการกำหนดเปรียบเทียบปรับทางอาญาด้วยเช่นเดียวกัน

 

 

คำสั่งกรมสรรพากร

ที่ ป. 117/2545

เรื่อง      การนับระยะเวลาเพื่อคำนวณเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 27 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 มาตรา 89/1 และมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีกำหนดเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี แบบแสดงรายการหักภาษีและนำเงินภาษีส่ง หรือแบบนำส่งภาษี วันสุดท้ายตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ

---------------------------------------------

 

          เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำผู้เสียภาษีอากร ในการนับระยะเวลาเพื่อคำนวณเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 27 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 มาตรา 89/1 และมาตรา 91/21 (6) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีกำหนดเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี แบบแสดงรายการหักภาษีและนำเงินภาษีส่งหรือแบบนำส่งภาษี วันสุดท้ายตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ รวมทั้งกรณีอื่น ๆ ที่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการด้วย กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1  กรณีกำหนดเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี แบบแสดงรายการหักภาษีและนำเงินภาษีส่งหรือแบบนำส่งภาษี วันสุดท้ายตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา ตามมาตรา 193/8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแต่อย่างใด

ข้อ 2  กรณีได้รับอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร

       (1) กรณีขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร โดยได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร ตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาที่ขยายออกไปดังกล่าวตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ ให้นับวันที่เริ่ม ทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา ตามมาตรา 193/8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับ แต่ต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 0.75 ต่อเดือนหรือเศษ ของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่ง โดยให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบแสดงรายการหักภาษีและนำเงินภาษีส่ง หรือแบบนำส่งภาษีจนถึงวันชำระภาษีหรือนำส่งภาษี ตามมาตรา 27 หรือมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร

       (2) กรณีขยายกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร โดยได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรี ตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร และวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาที่ขยายออกไปดังกล่าวตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา ตามมาตรา 193/8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแต่อย่างใด

ข้อ 3  กรณีผู้ต้องเสียภาษีใช้สิทธิชำระภาษีเป็นรายงวด หากวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลา ซึ่งต้องชำระภาษีในแต่ละงวดตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ

       (1) กรณีผ่อนชำระภาษีตามมาตรา 64 (1) แห่งประมวลรัษฎากร หากวัน สุดท้ายที่ต้องผ่อนชำระงวดที่สองหรืองวดที่สามตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ ให้นับวันที่เริ่ม ทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา ตามมาตรา 193/8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

             ตัวอย่าง นาย ก. ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.91) ปี พ.ศ. 2542 มีภาษีที่ต้องชำระ 6,000 บาท และได้ใช้สิทธิตามมาตรา 64 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยงวดที่หนึ่งได้ชำระภาษีพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีฯ จำนวน 2,000 บาท เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2543 งวดที่สองต้องชำระจำนวน 2,000 บาท ภายในเดือนเมษายน 2543 และงวด ที่สามต้องชำระ จำนวน 2,000 บาท ภายในเดือนพฤษภาคม 2543 แต่ปรากฏว่าวันที่ 30 เมษายน 2543 ตรงกับวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดทำการ นาย ก. มีสิทธินำเงินงวดที่สองไปชำระ ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2543 โดยไม่หมดสิทธิที่จะชำระเป็นรายงวดต่อไป และไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด

       (2) กรณีผ่อนชำระภาษีตามมาตรา 64 (2) แห่งประมวลรัษฎากร หากวันสุดท้าย ที่ต้องผ่อนชำระงวดที่สองหรืองวดที่สามตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา ตามมาตรา 193/8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

             ตัวอย่าง นาย ข. ได้ถูกประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พร้อมเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนเงินมากกว่า 3,000 บาท ได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2543 นาย ข. ได้ใช้สิทธิตามมาตรา 64 (2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยงวดที่หนึ่งได้ชำระ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2543 งวดที่สองจะต้องชำระภายในเดือนเมษายน 2543 และงวดที่สามจะ ต้องชำระภายในเดือนพฤษภาคม 2543 แต่ปรากฏว่าวันที่ 30 เมษายน 2543 ตรงกับวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดทำการ นาย ข. มีสิทธินำเงินงวดที่สองไปชำระในวันที่ 1 พฤษภาคม 2543 โดยไม่หมดสิทธิที่จะชำระเป็นรายงวดต่อไป และไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร เพิ่มเติม แต่อย่างใด

       (3) กรณีได้รับอนุมัติให้ผ่อนชำระภาษีเป็นรายงวด ตามระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการผ่อนชำระภาษีอากร หากวันสุดท้ายที่ต้องผ่อนชำระของงวดใดงวดหนึ่งตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลาตามมาตรา 193/8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

             ตัวอย่าง บริษัท ค. จำกัด ได้ถูกประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ตามหนังสือแจ้งการประเมิน เป็นเงินจำนวน 120,000 บาท บริษัท ค. จำกัด ได้รับอนุมัติให้ผ่อนชำระภาษีตามระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการผ่อนชำระภาษีอากร เป็นงวดรายเดือน รวม 6 งวด แต่ละงวดต้องชำระภายในวันที่ 7 ของทุกเดือน

                งวดที่หนึ่งได้ชำระเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2543

                งวดที่สองชำระเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2543

                งวดที่สามชำระเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2543

                แต่ปรากฏว่างวดที่ 4 วันที่ 7 ตุลาคม 2543 ตรงกับวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันหยุดทำการ บริษัท ค. จำกัด มีสิทธินำเงินงวดที่ 4 ไปชำระในวันที่ 9 ตุลาคม 2543 ได้ โดยไม่หมดสิทธิที่จะชำระเป็นรายงวดต่อไป และไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร เพิ่มเติม แต่อย่างใด

ข้อ 4 กรณีบุคคลผู้ต้องเสียเบี้ยปรับขอลดเบี้ยปรับตามคำสั่งกรมสรรพากรเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 89 และมาตรา 91/21 (6) แห่งประมวลรัษฎากร การนับระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม แบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะที่จะได้รับสิทธิลดเบี้ยปรับ หากวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาตรงกับวันหยุดทำการของทางราชการ ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา ตามมาตรา 193/8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนเงินเพิ่มให้คำนวณในอัตรา ร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่ง โดยให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบนำส่งภาษีจนถึงวันชำระภาษีหรือนำส่งภาษี ตามมาตรา 89/1 หรือมาตรา 91/21 (6) แห่งประมวลรัษฎากร

       ตัวอย่าง

       (1) บริษัท ง. จำกัด ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนกรกฎาคม 2539 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2539 ขอลดเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ตามข้อ 5 (1) (ข) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้ ภาษี มูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 และมาตรา 91/21 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 ชำระภายหลัง 15 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน นับแต่วัน พ้นกำหนดเวลาชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้เสียร้อยละ 5 ของเบี้ยปรับได้ เนื่องจากกรณีนี้วันที่ 14 และวันที่ 15 กันยายน 2539 ตรงกับวันเสาร์และวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดทำการของทางราชการ ส่วนเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร ให้คำนวณร้อยละ 1.5 ต่อเดือน เป็นเวลา 1 เดือน

       (2) บริษัท จ. จำกัด ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) และชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเดือนกรกฎาคม 2543 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2543 ต่อมาได้ยื่นแบบแสดง รายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ของเดือนกรกฎาคม 2543 เพิ่มเติม เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2543 กรณีนี้การนับระยะเวลาเพื่อคำนวณเบี้ยปรับสำหรับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติม ตามข้อ 5 (1) (ค) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 และมาตรา 91/21 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 จะต้องนับตั้งแต่วันพ้นกำหนดเวลาชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ วันที่ 16 สิงหาคม 2543 จนถึงวันที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติม คือวันที่ 16 ตุลาคม 2543 ซึ่งนับได้เป็นเวลา 62 วัน แต่เนื่องจากวันที่ 14 และวันที่ 15 ตุลาคม 2543 ตรงกับ วันเสาร์และวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดทำการของทางราชการ กรณีนี้จึงถือว่าบริษัทฯ ชำระภาษีภายหลัง 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เสียร้อยละ 10 ของเบี้ยปรับ ส่วนเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร ให้คำนวณร้อยละ 1.5 ต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือน

ข้อ 5  บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือตอบข้อหารือหรือแนวทางปฏิบัติใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ให้เป็นอันยกเลิก

 

สั่ง ณ วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2545

 

ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล

อธิบดีกรมสรรพากร

 

 

เลขที่หนังสือ : กค 0811/04960

วันที่             : 26 พฤษภาคม 2542

เรื่อง             : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีไม่นำส่งเอกสารงบการเงิน

ข้อกฎหมาย  : มาตรา 17, มาตรา 18, มาตรา 35, มาตรา 68, มาตรา 69

ข้อหารือ        :     

มีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลบางราย ได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีตามมาตรา 68 แห่งประมวลรัษฎากร โดยแสดงรายการในแบบไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน หรือไม่แนบเอกสารงบการเงิน ฯลฯซึ่งมีรายละเอียดปรากฏตามเอกสารรายชื่อนิติบุคคลที่ยื่นแบบไม่ถูกต้อง และไม่สามารถบันทึกข้อมูลได้ ทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการบันทึกข้อมูลของหน่วยบันทึกข้อมูล และไม่สามารถติดตามผู้ยื่นแบบฯ ให้มาแก้ไขข้อผิดพลาดได้ จากการวิเคราะห์สาเหตุพบว่า ปัญหาเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามประมวลรัษฎากรของผู้รับทำบัญชีเป็นช่องโหว่ของกฎหมายที่มิได้กำหนดโทษในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยื่นแบบแสดงรายการ แต่มิได้ยื่นรายการที่จำเป็น ต้องใช้ในการคำนวณภาษีตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย   : 

กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ถือว่านิติบุคคลนั้น ๆ ได้ยื่นแบบแสดงรายการแล้ว การที่ไม่สามารถบันทึกข้อมูลได้นั้น ไม่ใช่สาเหตุที่จะถือได้ว่าผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 17 และมีความผิดตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร หาได้ไม่ ดังนั้น หากเกิดกรณีดังกล่าวสำนักงานสรรพากรภาค ก็ควรรวบรวมรายชื่อของนิติบุคคลนั้น ๆ พร้อมแบบ ภ.ง.ด.50 ส่งให้จังหวัดตามสถานที่ตั้งหรือภูมิลำเนาของผู้ประกอบการนั้น ๆทำการวิเคราะห์แบบหรือออกหมายเรียกตรวจสอบโดยจะต้องออกหมายเรียกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 18 แห่งประมวลรัษฎากร เพราะถือได้ว่าได้ยื่นแบบแสดงรายการแล้ว หรือสำนักงานสรรพากรภาคจะวิเคราะห์แบบหรือออกหมายเรียกผู้ประกอบการมาตรวจสอบเองก็ได้

เลขตู้   : 62/27862

https://www.rd.go.th/23578.html

 

 

เลขที่หนังสือ : กค 0702/5808

วันที่             : 23 กรกฎาคม 2552

เรื่อง             : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการนับอายุความการเปรียบเทียบปรับอาญา

ข้อกฎหมาย  : มาตรา 68 มาตรา 17 และมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ       

นาย ก. ต้องการสอบถามความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการนับอายุความการเปรียบเทียบปรับอาญา กรณีการยื่น รายการภาษี แบบ ภ.ง.ด. 50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 1 มกราคม 2550 ถึง 31 ธันวาคม 2550 วันสุดท้ายแห่ง กำหนดเวลาการยื่นรายการภาษี แบบ ภ.ง.ด. 50 ของปี 2550 คือวันที่ 29 พฤษภาคม 2551 โดยต้องการทราบว่า

1. กรณีวันที่ 29 พฤษภาคม 2551 เป็นวันหยุดราชการ เช่น วันเสาร์ วันอาทิตย์หรือเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือหยุดโดยรัฐบาลเช่น กรณีเมื่อเดือนเมษายน 2552 มีเหตุการณ์ไม่สงบของบ้านเมือง ก็ให้เลื่อนไปในวันทำการ ถัดไปเป็นวันที่ 30 หรือ 31 พฤษภาคม 2551 หรือ ถ้ามีเหตุการณ์ไม่สงบดังตัวอย่างข้างต้น ก็อาจจะเป็นวันที่ 1 หรือ 2 มิถุนายน 2551

2. ตามข้อ 1 วันที่ 29 พฤษภาคม 2551 เป็นวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาการยื่นรายการภาษี แบบ ภ.ง.ด. 50 และเป็นวันธรรมดา หรือวันทำการของทางราชการ การเริ่มนับอายุความเปรียบเทียบปรับทางอาญาจะเริ่มนับอย่างไร

3. การสิ้นสุดของอายุความเปรียบเทียบปรับอาญา 1 ปี ซึ่งค่าปรับอาญาไม่เกิน 2,000 บาท นั้น จะสิ้นสุดในวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 หรือ 28 พฤษภาคม 2552

หากได้ยื่นรายการภาษี แบบ ภ.ง.ด. 50 ของปี 2550 ในวันที่ 30พฤษภาคม 2552 ถือว่าหมดอายุความแล้ว ใช่หรือไม่

แนววินิจฉัย  

1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ มีรอบระยะเวลาบัญชี 1 มกราคม 2550 ถึง 31 ธันวาคม 2550 บริษัทฯ จะต้องยื่นแบบ แสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 68 แห่งประมวลรัษฎากร หากเดือนกุมภาพันธ์ 2551 มีระยะเวลาจำนวน 29 วัน บริษัทฯ ต้องยื่นภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2551 ถ้าหากวันสุดท้ายของระยะเวลาเป็นวันหยุดทำการตามประกาศเป็นทางการหรือตามประเพณี ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้น เป็นวันสุดท้ายของระยะเวลาตามมาตรา 193/8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น หากวันสุดท้ายของกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการเป็นวันหยุดราชการเช่น วันเสาร์ วันอาทิตย์ หรือเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือหยุดโดยรัฐบาลกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของ ระยะเวลา

          2. กรณีตาม 2. และ 3. หากผู้มีเงินได้ใดไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภายในกำหนดเวลาและตามแบบแสดงรายการที่ อธิบดีกำหนดตามมาตรา 17 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้มีเงินได้นั้น มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตาม มาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร โทษดังกล่าวมีอายุความหนึ่งปี ตามมาตรา 95 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังกล่าว นับแต่วันกระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ และ ตามประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติถึงวิธีการกำหนดนับระยะเวลาอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะ การนับระยะเวลา อายุความคดีอาญาจึงอยู่ในบังคับของหลักทั่วไปตามมาตรา 193/3 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งกำหนดมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน จึงเริ่มนับอายุความในวันรุ่งขึ้น ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ได้ยื่นรายการภาษี แบบ ภ.ง.ด.50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2550 ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2552 จึงไม่ขาดอายุความ

เลขตู้   : 72/36746

https://www.rd.go.th/41504.html