ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

รายจ่ายในการดำเนินงานที่สามารถเป็นรายจ่ายทางภาษีอากรได้

บทความวันที่ 2 เม.ย. 2565  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 2427 ครั้ง

รายจ่ายในการดำเนินงานที่สามารถเป็นรายจ่ายทางภาษีอากรได้

 

ในการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษีอากรตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกำหนดให้คำนวณจากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี หักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเราท่านที่เป็นนักบัญชีภาษีอากรก็จะคุ้นชินกันเป็นอย่างดีว่า

1.  กำไรสุทธิทางภาษีอากร นั้น เป็นการนำกำไรสุทธิทางบัญชีมาปรับปรุงด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับรายได้และรายจ่ายทางภาษีอากร อันเป็นที่มาของคำว่า "การบัญชีภาษีอากร" (Tax Accounting)

 

2.  เงื่อนไขในการคำนวณกำไรสุทธิที่สำคัญๆ ประกอบด้วย

     2.1 เงื่อนไขเกี่ยวกับรายได้ แบ่งเป็น

           (1)  ประเภทรายได้ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบด้วยรายได้จากกิจการ และรายได้เนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี

           (2)  เกณฑ์การรับรู้รายได้ ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 1/2528

           (3)  เงื่อนไขเกี่ยวกับผลตอบแทนจากการประกอบกิจการขายสินค้า ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน ต้องเป็นไปตาม "ราคาตลาด" ตามมาตรา 65 ทวิ (4) และมาตรา 71 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร 

           (4)  เงื่อนไขเกี่ยวกับรายได้ที่เป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร ตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร

           (5)  เงื่อนไขเกี่ยวกับภาษีขายที่กำหนดไม่ให้ถือเป็นรายได้ เพื่อให้สอดรับกับระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 65 ทวิ (14) แห่งประมวลรัษฎากร

           (6)  เงื่อนไขเกี่ยวกับรายได้ของมูลนิธิหรือสมาคม และกองทุนรวม ตามมาตรา 65 ทวิ (13) และ (15) แห่งประมวลรัษฎากร

           (7)  เงื่อนไขเกี่ยวกับรายได้ กรณีเลิก หรือควบโอนกิจการ ตามมาตรา 74 แห่งประมวลรัษฎากร

           (8)  เงื่อนไขเกี่ยวกับรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีกรณีต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร อนุสัญญาภาษีซ้อน กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

     2.2 เงื่อนไขเกี่ยวกับรายจ่าย แบ่งเป็น

           (1)  ประเภทของรายจ่ายทางภาษีอากร ประกอบด้วย รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน และรายจ่ายในการดำเนินงาน

           (2)  เงื่อนไขเกี่ยวกับค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินถาวร ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527

           (3)  เงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ ตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร

           (4)  เงื่อนไขเกี่ยวกับรายจ่ายต้องห้าม ตามมาตรา 65 ทวิ (1) และมาตรา 65 ตรี (1) - (20) แห่งประมวลรัษฎากร

           (5)  เงื่อนไขเกี่ยวกับรายจ่าย กรณีเลิก หรือควบโอนกิจการ ตามมาตรา 74 แห่งประมวลรัษฎากร

           (6)  รายจ่ายที่หักได้เพิ่มขึ้น ตามที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

     2.3 รายได้และรายจ่ายอันเป็นผลจากการตีราคาทรัพย์สินและหนี้สิน แบ่งเป็น

           (1)  หลักเกณฑ์ในการตีราคาทรัพย์สิน ตามมาตรา 65 ทวิ (3) แห่งประมวลรัษฎากร

           (2)  หลักเกณฑ์ในการตีราคาเงินตรา ทรัพย์สิน และหนี้สินที่มีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศ ตามมาตรา 65 ทวิ (5) ประกอบมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร

           (3)  หลักเกณฑ์ในการตีราคาสินค้าคงเหลือ ตามมาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร

           (4)  หลักเกณฑ์ในการตีราคาทรัพย์สิน ณ วันเลิก หรือควบโอนกิจการ ตามมาตรา 74 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

 

3.  ในที่นี้ จะขอนำหลักเกณฑ์ในการพิจารณาองค์ประกอบรายจ่ายในการดำเนินกิจการที่จะนำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิ ที่ตามประมวลรัษฎากร มิได้บัญญัติไว้ โดยการนำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับรายจ่ายมาประมวลรวมกัน จนได้ความว่า รายจ่ายที่กิจการจะนำไปถือเป็นรายจ่าในการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษีอากรได้นั้นต้องครบองค์ประกอบทุกข้อดังต่อไปนี้

     3.1 ต้องเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการประกอบกิจการ ซึ่งได้แก่ รายจ่ายที่เกิดขึ้นเป็นปกติธุระในการดำเนินกิจการทั่วไป อาทิ ต้นทุนสินค้าที่ขายหรือต้นทุนบริการที่ให้ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร อันเป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นตามประเพณีทางการค้า ไม่ใช่รายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร และ

     3.2 ต้องเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ และพิสูจน์ได้ว่า มีเหตุผลอันสมควรที่จะจ่ายรายการรายจ่ายนั้น โดยไม่ใช่รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ให้โดยเสน่หา ไม่ใช่รายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร และ

     3.3 ต้องเป็นรายจ่ายที่มีหลักฐานการจ่ายที่สามารถพิสูจน์ผู้รับได้ เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี ใบสั่งของ ใบแจ้งหนี้ เป็นต้น สำหรับในบางกรณีที่ไม่มีการจ่ายเงิน หรือค่าตอบแทนอย่างอื่น แต่เกิดค่าใช้จ่ายขึ้น เช่น กรณีภัยพิบัติต่างๆ อุบัติเหตุ การฉ้อโกง การลักขโมย ฯลฯ กิจการต้องแสวงหาหลักฐานที่จะสนับสนุนรายการรายจ่ายดังกล่าว เช่น หลักฐานการแจ้งความลงบันทึกประจำวันของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภาพถ่าย ข่าวสารหนังสือพิมพ์ เป็นต้น ไม่ใช่รายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (9) หรือ (18) แห่งประมวลรัษฎากร – รายจ่ายที่กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง หรือรายจ่ายที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป ที่กำหนดว่า ทุกเดบิต ต้องมีเครดิตด้วยจำนวนที่เท่ากัน เมื่อเป็นรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหนึ่ง ย่อมถือเป็นรายได้ของบุคคลหนึ่ง ที่ต้องมีหลักฐานการจ่ายที่พิสูจน์ได้ และผู้มีเงินได้พึงต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามที่กฎหมายกำหนด และ

     3.4 ต้องเป็นรายจ่ายสิ้นเปลืองหมดไป (Supplies) ที่ไม่ก่อให้เกิดเป็นทรัพย์สินหรือสิทธิที่มีอายุการใช้งานเกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี มิฉะนั้น อาจถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน อาทิ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั่วไป เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่ารับรอง ค่าธรรมเนียม ค่าบริการในการประกอบกิจการตามปกติ ค่าซ่อมแซมให้ทรัพย์สินถาวรคงสภาพเดิม ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินถาวร เป็นต้น ไม่ใช่รายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร – รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน หรือรายจ่ายในการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน และ

     3.5 ต้องเป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง และกำหนดจำนวนที่แน่นอนได้ ไม่ใช่รายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (9) แห่งประมวลรัษฎากร – รายจ่ายที่กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง และสามารถกำหนดจำนวนที่แน่นอนโดยมิใช่การประมาณการขึ้นมา 

     3.6 ต้องเป็นรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้ หรือการประกอบกิจการ ในส่วนของต้นทุน และผลเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆ ต้องเป็นไปตามหลักการจับคู่ของรายจ่ายกับรายได้ (Matching Principle) และ

     3.7 ต้องเป็นรายจ่ายในการดำเนินงานที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีปีใด ก็ให้ถือเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ตามความหมายของคำว่า “เกณฑ์สิทธิ” ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ในกรณีที่ไม่สามารถกำหนดจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีใด ก็ให้ถือเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีปีที่รายจ่ายนั้นกำหนดจำนวนที่แน่นอนได้ ตามมาตรา 65 ตรี (9) แห่งประมวลรัษฎากร และ

     3.8 ต้องไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายที่ต้องห้ามตามเงื่อนไขแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร เช่น ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร หรือค่าของสินค้าคงเหลือที่ด้อยค่าโดยไม่เป็นไปตามมาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร ทรัพย์สินที่ตีราคาต่ำลง ตามมาตรา 65 ตรี (17) แห่งประมวลรัษฎากร หรือรายจ่ายที่ไม่ใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรในประเทศไทย ตามมาตรา 65 ตรี (14) แห่งประมวลรัษฎากร หรือรายจ่ายที่กำหนดจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา 65 ตรี (19) แห่งประมวลรัษฎากร หรือรายจ่ายเกี่ยวกับรถยนต์ที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามมาตรา 65 ตรี (20) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นต้น

 

4.  การจัดทำเอกสารประกอบการลงบัญชีที่สามารถเป็นรายจ่ายทางภาษีได้

     ด้วยประกาศกรมทะเบียนการค้าเรื่อง กำหนดชนิดของบัญชีที่ต้องจัดทำ ข้อความ และรายการที่ต้องมีในบัญชี ระยะเวลาที่ต้องลงรายการในบัญชีและเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี พ.ศ. 2544 หมวด 4 ข้อ 8 ได้กำหนดประเภทของเอกสารที่ใช้ประกอบการลงบัญชีไว้ 3 ประเภท คือ

     (1) เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีที่จัดทำขึ้นโดยบุคคลภายนอก

     (2) เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีที่จัดทำขึ้นโดยผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีเพื่อออกให้แก่บุคคลภายนอก

     (3) เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีที่จัดทำขึ้นโดยผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีเพื่อใช้ในกิจการของตนเอง

     ซึ่งโดยทั่วไปเอกสารที่ใช้ประกอบการลงบัญชีทั้งสามประเภทดังกล่าว สอดคล้องกับเอกสารที่ต้องจัดทำตามประมวลรัษฎากร ที่กิจการสามารถนำไปใช้ประกอบเป็นหลักฐานการบันทึกรายการบัญชีเป็นรายจ่ายในทางภาษีอากรได้อยู่แล้ว อันได้แก่ ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือใบเสร็จรับเงินที่มีรายการครบถ้วนสมบูรณ์ ตามมาตรา 105 และมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งผู้รับเงินค่าสินค้าหรือบริการมีหน้าที่ต้องออกหลักฐานการรับเงินให้แก่ผู้จ่ายเงินค่าสินค้าหรือบริการในแต่ละคราว และผู้จ่ายเงินค่าสินค้าหรือบริการสามารถร้องขอให้ผู้รับเงินค่าสินค้าหรือบริการออกหลักฐานการรับเงินได้ด้วยเช่นกัน แต่ในทางปฏิบัติ กรมสรรพากรมักพบปัญหาว่า เอกสารที่ใช้ประกอบการลงบัญชีในบางกรณีไม่สามารถเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ทั้งที่กิจการได้มีรายจ่ายจริง เนื่องจาก

     ประการที่หนึ่ง ผู้รับเงินไม่ออกหลักฐานการรับเงิน

     ประการที่สอง ผู้รับเงินให้หลักฐานการรับเงินที่ไม่สมบูรณ์

     ประการที่สาม ผู้รับเงินไม่ออกหลักฐานการรับเงิน และไม่ยอมให้หักภาษี ณ ที่จ่าย

     กรมสรรพากร โดยสำนักมาตรฐานการสอบบัญชีภาษีอากร จึงได้จัดทำ “คู่มือการจัดทำเอกสารประกอบการลงบัญชีที่สามารถเป็นรายจ่ายทางภาษีได้” จึงขอนำมาเป็นแนวทางในการจัดทำเอกสารประกอบการลงบัญชีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังนี้

     เอกสารหลักฐานที่ควรมี (ทุกกรณี)

     กรณีรายจ่ายของกิจการที่จ่ายจริงแต่ผู้รับเงินไม่มีหลักฐานการรับเงินที่เพียงพอต่อการบันทึกบัญชี กิจการสามารถจัดทำเอกสารประกอบการลงบัญชีได้ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

     (1) เอกสารแสดงการรับเงินของผู้รับเงิน อาทิ

           • ใบรับ ตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร หรือ

           • ใบสำคัญรับเงิน หรือ

           • ใบรับรองแทนใบสำคัญรับเงิน

     (2)  ใบกำกับภาษี หรือใบเสร็จรับเงินปรากฏเป็นชื่อผู้อื่น เช่น ค่าไฟฟ้าหรือค่าน้ำประปา เป็นต้น แต่กิจการมีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่า กิจการเป็นผู้จ่ายเงินตาม (1) และหลักฐานอื่นๆ ประกอบ เช่น สัญญาเช่า เป็นต้น

     (3)  จัดทำใบสำคัญจ่าย (Payment Voucher) ใช้สำหรับกรณีไม่มีหลักฐานตาม (1)

           (ก) ใบสำคัญจ่าย ต้องระบุ

                 • ชื่อ ที่อยู่ เลขบัตรประจ าตัวผู้เสียภาษีอากร ของผู้รับเงิน

                 • วันที่จ่ายเงิน

                 • ระบุประเภทรายการที่จ่ายและจ านวนเงินที่จ่าย

                 • ลงลายมือชื่อผู้รับเงินไว้เป็นหลักฐาน

                 •  มีการลงนามอนุมัติจ่ายโดยผู้มีอ านาจเท่านั้น

           (ข) พร้อมแนบหลักฐานการจ่ายเงิน อาทิ

                 • สำเนาเช็คระบุชื่อผู้รับเงิน ซึ่งขีดฆ่าผู้ถือและขีดคร่อม A/C Payee only ที่มีหลักฐานว่าได้ตัดบัญชี Bank statement ของผู้จ่ายเงินแล้ว หรือ

                 • สำเนาใบโอนเงินผ่านธนาคารหรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น

           (ค) แนบบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับเงิน (เฉพาะกรณีชำระเป็นเงินสด) 

     (4)  เอกสารการพิจารณาอื่นที่เกี่ยวข้อง (แล้วแต่กรณี)

           (ก) รายงานการประชุมที่มีมติอนุมัติให้ถือเป็นรายจ่ายได้

           (ข) จดหมายผู้บริหาร

           (ค) คำรับรองอนุมัติรายจ่าย

           (ง) รายการเบิกจ่ายที่ผ่านการอนุมัติและมีลายมือชื่อผู้อนุมัติจ่าย

           (จ) สัญญาที่เกี่ยวข้อง

     (5) หลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย

     ทั้งนี้ ผู้รับเงินจากกิจการตามเอกสารหลักฐานที่ปรากฏต้องมีพฤติกรรมประกอบอาชีพนั้นอย่างแท้จริง

     กรณีผู้รับเงินไม่ออกหลักฐานการรับเงิน อาทิ

     • กิจการภัตตาคารร้านอาหาร เช่น การซื้อวัตถุดิบปรุงอาหารเอกสาร

     • กิจการผู้ค้าสินค้าเกษตร เช่น การซื้อสินค้าจากเกษตรกร

     หลักฐานที่ควรมี ได้แก่

     (1)  จัดทำรายการซื้อในแต่ละคราว โดยมีข้อความระบุดังนี้

           (ก) รายละเอียดชื่อสินค้าแต่ละรายการ

           (ข) มูลค่าและปริมาณสินค้าแต่ละรายการ

           (ค) ราคารวมสุทธิ

     (2) สัญญาซื้อขาย (ถ้ามี)

     • การกู้เงินจากธนาคารในนามกรรมการ เนื่องจากติดเงื่อนไขที่ธนาคารไม่สามารถให้สินเชื่อต่อกิจการได้โดยตรง และกรรมการมีภาระดอกเบี้ยจ่าย เอกสารหลักฐานที่ควรมี ได้แก่

     (1) มติที่ประชุมแจ้งความจำเป็นให้กรรมการไปกู้ธนาคารแทนกิจการ

     (2) สัญญากู้เงิน

           (ก) คู่สัญญาระหว่างธนาคารกับกรรมการ

           (ข) คู่สัญญาระหว่างกรรมการกับกิจการ

     (3) หลักฐานการรับเงินกู้ยืมและการบันทึกบัญชีเจ้าหนี้

     (4) หลักฐานที่กิจการจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ธนาคาร

     • ค่าใช้จ่ายที่ผู้รับเงินไม่สามารถออกหลักฐานการรับเงินได้ เช่น ค่าใช้จ่ายเดินทาง ค่า Taxi ค่าจ้างคนส่งเอกสาร เป็นต้น เอกสารหลักฐานที่ควรมี ได้แก่

     (1) มติที่ประชุม หรือเอกสารหลักฐานการอนุมัติจากผู้มีอำนาจ ให้ถือเป็นรายจ่าย

     (2) จัดทำใบรับรองแทนใบสำคัญรับเงิน  กรณีผู้รับเงินให้หลักฐานการรับเงินที่ไม่สมบูรณ์

     • การจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือบริการเบ็ดเตล็ดที่ผู้รับเงินให้หลักฐานเพียงใบส่งของหรือใบเสร็จรับเงินที่มีรายการไม่สมบูรณ์ (อาทิ ไม่ระบุชื่อกิจการที่รับเงิน) เอกสารหลักฐานที่ควรมี ได้แก่

        - จัดทำใบรับรองแทนใบสำคัญรับเงิน

     กรณีผู้รับเงินไม่ออกหลักฐานการรับเงิน และไม่ยอมให้หักภาษี ณ ที่จ่าย

     • ค่าเช่าอาคาร/เงินกินเปล่า เอกสารหลักฐานที่ควรมี ได้แก่

        - จัดทำใบรับรองแทนใบสำคัญรับเงิน

     • ค่าไฟฟ้า/ค่าน้ำประปาที่ไม่ใช่ชื่อกิจการ เอกสารหลักฐานที่ควรมี ได้แก่

        (ก) สัญญาเช่าอาคาร ซึ่งระบุให้ผู้เช่าเป็นผู้ชำระค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา

        (ข) ควรติดต่อกับการไฟฟ้าฯ หรือการประปาฯ เพื่อขอเพิ่มชื่อของบริษัทฯ ลงในใบกำกับภาษี โดยเพิ่มเติมข้อความว่า "จ่ายชำระค่าบริการโดย บริษัท...“ ลงไปด้วย บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษี ดังกล่าว ไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่า เพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ได้ (หนังสือที่ กค 0702/พ./1319 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552)

     • ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่มิได้กู้จากสถาบันการเงิน เอกสารหลักฐานที่ควรมี ได้แก่

        (ก) สัญญากู้ยืมเงิน

        (ข) หลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย

     • เงินเดือนของเจ้าของกิจการ (รวมถึง ค่าใช้จ่ายส่วนตัวของเจ้าของกิจการที่เบิกจ่ายจากกิจการ เช่น ค่าการศึกษาบุตร เป็นต้น ซึ่งกำหนดรวมอยู่ในเงินเดือนของเจ้าของกิจการ) เอกสารหลักฐานที่ควรมี ได้แก่

        (ก) สัญญาจ้างแรงงาน

        (ข) หลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย

     • เจ้าของกิจการให้ใช้สถานที่ที่อยู่อาศัยเป็นสถานประกอบการของกิจการหรือให้ใช้ทรัพย์สินโดยไม่คิดค่าตอบแทน เอกสารหลักฐานที่ควรมี ได้แก่

       - หนังสือยินยอมให้ใช้สถานประกอบการ/ทรัพย์สิน (ทั้งนี้ ผู้ยินยอมให้ใช้สถานที่/ทรัพย์สิน มีภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการให้ใช้สถานที่/ทรัพย์สินโดยไม่คิดค่าตอบแทน)

    • กรณีเช่าสถานประกอบการโดยผู้รับเงินไม่ยอมให้หักภาษี ณ ที่จ่าย เอกสารหลักฐานที่ควรมี ได้แก่

       - สัญญาเช่าอาคาร (หากสัญญาเกิน 3 ปี ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดิน)

    • รายจ่ายที่เกี่ยวข้องกรณีเช่าสถานประกอบการซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของกรรมการด้วย หรือกรณีใช้ทรัพย์สินร่วมกันกับกิจการหรือบุคคลอื่นเอกสารหลักฐานที่ควรมี ได้แก่

       - สัญญาเช่า

       หมายเหตุ

       - ให้เฉลี่ยเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการได้ตามเกณฑ์ที่เหมาะสม

       - ถ้าใบกำกับภาษีซื้อไม่ได้เป็นชื่อของผู้เช่า ภาษีซื้อขอคืนไม่ได้