ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

กรรมการให้บริษัทกู้ยืมเงิน

บทความวันที่ 1 ก.ย. 2559  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 24481 ครั้ง

                                                                              เงินกู้ยืมจากกรรมการ


        กรณีกรรมการบริษัทฯ นำเงินส่วนตัวออกมาให้บริษัทของตนเองกู้ยืมเพื่อลงทุน โดยออกเป็นลักษณะตั๋วสัญญาใช้เงิน โดยไม่ได้ให้กู้เป็นการทั่วไป ให้เฉพาะบริษัทของตนเองกู้ นั้น กรมสรรพากรได้เคยมีแนววินิจฉัยว่า การที่บุคคลธรรมดาผู้ให้กู้ยืมเงินแก่บริษัทฯ ได้นำเงินของตนเองมาให้บริษัทฯ กู้ยืมหากบุคคลดังกล่าวมิได้มีการประกอบอาชีพให้กู้ยืมเงินมาก่อน และการให้กู้ยืมเงินดังกล่าว มิได้มีการหาเงินจากที่อื่นมาโดยการกู้ยืมอยู่ด้วย การให้กู้ยืมเงินดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแต่อย่างใด ตามหนังสือตอบข้อหารือดังต่อไปนี้

 

เลขที่หนังสือ : กค 0811/05502

วันที่            : 11 มิถุนายน 2542

เรื่อง           : ภาษีเงินได้และภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการให้กู้ยืมเงิน

ข้อกฎหมาย  : มาตรา 48, มาตรา 50, มาตรา 65 ตรี, มาตรา 91/2, มาตรา 104

ข้อหารือ      :

     บริษัทฯ จำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ แต่ปัจจุบันบริษัทฯ ต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับการขอกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์เป็นอย่างมาก เพราะธนาคารพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทฯ น้อยมาก ทำให้เป็นปัญหากับบริษัทฯ อย่างยิ่ง บริษัทฯ จึงหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยแจ้งให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัทฯกรรมการของบริษัทฯ และพนักงานของบริษัทฯ ว่าถ้าบุคคลต่าง ๆ เหล่านี้มีเงินของตนเอง หากประสงค์จะให้บริษัทฯ กู้ยืม บริษัทฯ ก็พร้อมที่จะกู้ยืมโดยให้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 9.0 ต่อปี และบริษัทฯ จะจ่ายดอกเบี้ยให้เป็นรายเดือน แต่มีเงื่อนไขว่าเงินที่บุคคลต่าง ๆ เหล่านั้นนำมาให้บริษัทฯ กู้ จะต้องเป็นเงินของตนเองเท่านั้น จะนำเงินของคนอื่นมารวมให้กู้ด้วยไม่ได้เป็นอันขาด และในการกู้ยืมดังกล่าว บริษัทฯ จะทำสัญญากู้ยืมเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทุกคน ขอทราบว่า

       1. ในกรณีที่บริษัทฯ จ่ายดอกเบี้ยให้กับบุคคลผู้ให้กู้ยืมดังกล่าว บริษัทฯ จะต้องหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายหรือไม่ ถ้าต้องหักจะต้องหักในอัตราใด

         2. บุคคลผู้ให้กู้ยืมดังกล่าว จะมีสิทธิเลือกไม่นำดอกเบี้ยที่ได้รับจากบริษัทฯ มารวมยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีตอนสิ้นปีได้หรือไม่

      3. การที่บุคคลผู้ให้กู้ยืมดังกล่าว นำเงินของตนเองมาให้บริษัทฯ กู้ตามข้อเท็จจริงข้างต้น และได้รับดอกเบี้ยจากบริษัทฯ เป็นรายเดือนจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ และถ้าบริษัทฯ จ่ายดอกเบี้ยให้ปีละครั้งจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ ถ้าต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะผู้ให้กู้จะต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่

        4. สัญญากู้ยืมจะต้องปิดอากรแสตมป์หรือไม่ และถ้าจะต้องปิดอากรแสตมป์จะต้องซื้ออากรแสตมป์มาปิดทับ หรือต้องเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน

       5. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่บริษัทฯ จ่ายกับผู้ให้กู้ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น กรรมการ และพนักงานของบริษัทฯ จะนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเสียภาษีได้หรือไม่

แนววินิจฉัย   :

       1. กรณีตาม 1 และ 2 บริษัทฯ จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่บุคคลผู้ให้กู้ยืมบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15.0 ตามมาตรา 50 (2) (ข) แห่งประมวลรัษฎากรและบุคคลผู้ให้กู้ยืมดังกล่าว มีสิทธิเลือกเสียภาษีโดยไม่นำดอกเบี้ยที่ได้รับดังกล่าวไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 48 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อถึงกำหนดยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็ได้ ทั้งนี้ตามมาตรา 48 (3) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร

        2. กรณีตาม 3 การที่บุคคลธรรมดาผู้ให้กู้ยืมเงินแก่บริษัทฯ ได้นำเงินของตนเองมาให้บริษัทฯ กู้ยืมหากบุคคลดังกล่าวมิได้มีการประกอบอาชีพให้กู้ยืมเงินมาก่อน และการให้กู้ยืมเงินดังกล่าว มิได้มีการหาเงินจากที่อื่นมาโดยการกู้ยืมอยู่ด้วย การให้กู้ยืมเงินดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแต่อย่างใด

       3. กรณีตาม 4 สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวต้องเสียอากรแสตมป์ตามลักษณะแห่งตราสาร 5. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ โดยวิธีการปิดแสตมป์ทับเอกสารสัญญากู้ยืมเงิน

        4. กรณีตาม 5 บริษัทฯ จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่บุคคลผู้ให้กู้ยืม หากเป็นการกู้ยืมเงินมาเพื่อใช้ในการประกอบกิจการของบริษัทฯ บริษัทฯ ย่อมนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร

 

เลขตู้          : 62/27909