ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ทำไมเงินได้ต้อง “พึงประเมิน”

บทความวันที่ 28 ธ.ค. 2565  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 221 ครั้ง

ทำไมเงินได้ต้อง “พึงประเมิน”  

 

ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ผู้คำนวณไม่ว่าจะเป็นผู้มีเงินได้หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินและหลักการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินรวมทั้งหลักการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินอย่างดีพอ จึงจะสามารถคำนวณภาษีเงินได้ได้อย่างถูกต้อง เพราะเงินได้พึงประเมินแต่ละประเภทมีข้อกำหนดในการคำนวณภาษีเงินได้ที่แตกต่างกันทั้งในส่วนการยกเว้นภาษีเงินได้ และในส่วนของค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทเงินได้พึงประเมินยังสามารถนำไปใช้กับการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายอีกด้วย

แต่ก่อนอื่นมาตอบคำถามกันก่อนว่าทำไมจึงต้องนำคำว่า “พึงประเมิน” มาต่อท้ายคำว่าเงินได้ เพราะเป็นที่น่าสังเกตว่าในทางภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น มีเพียงคำว่า “รายได้ – รายจ่าย” เท่านั้น หรือแม้แต่ในทางภาษีมูลค่าเพิ่มก็มีคำว่า “มูลค่าของฐานภาษี” และในทางภาษีธุรกิจเฉพาะ มีคำว่า “รายรับ” ไม่ต่อท้ายคำดังกล่าวด้วยคำว่า “พึงประเมิน

จากการคิดหาเหตุจากผลที่ปรากฏอยู่ ก็ได้ความดังนี้ ครับ

คำว่า “พึง” แปลว่า ต้อง

ส่วนคำว่า “ประเมิน” แปลว่า ทำให้ถูกต้อง แสดงให้ถูกต้อง

ดังนั้น คำว่า "เงินได้พึงประเมิน" จึงหมายความว่า เงินได้ที่ต้องแสดงให้ถูกต้อง สำหรับเหตุผลที่ต้องเติมคำว่า “พึงประเมิน” ไว้ต่อท้ายคำว่าเงินได้นั้น ก็เพราะในทางภาษีเงินได้นิติบุคคลมีกฎหมายกำหนดบังคับให้ต้องจัดทำบัญชี แถมยังต้องมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและแสดงความเห็นต่องบการเงินว่าได้จัดทำตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป ในทางภาษีเงินได้นิติบุคคลจึงใช้คำว่า “รายได้” โดยไม่ต้องมีคำว่า “พึงประเมินต่อท้าย

นอกจากนี้ สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มก็กำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่จัดทำรายงานภาษีขายและรายงานภาษีซื้อ โดยมีเอกสารหลักฐานรองรับอันได้แก่ ใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษี ในส่วนของภาษีธุรกิจเฉพาะ ให้ใช้คำว่า “รายรับ” ซึ่งกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นกิจการที่มีหลักฐานที่ใช้อ้างอิงในการพิสูจน์จำนวนรายรับได้อย่างน่าเชื่อถือ

แต่สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ไม่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องจัดทำบัญชี ซึ่งแต่เดิมตั้งแต่ปี 2481 ที่ตราประมวลรัษฎากรยังไม่มีการกำหนดให้บุคคลธรรมดาต้องจัดทำบัญชี การเพิ่มคำว่า “พึงประเมิน” เข้าไปก็เพื่อให้เกิดหน้าที่ตามกฎหมายว่าต้องแสดงเงินได้ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด และทำให้ผู้มีเงินได้เห็นหรือระลึกได้ตนเองต้องนำเงินได้ที่ได้รับมาแสดงในแบบแสดงรายการเพื่อคำนวณและเสียภาษีให้ถูกต้องครบถ้วน มิฉะนั้น อาจต้องได้รับโทษทัณฑ์ทางภาษีอากร อาทิ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม รวมทั้งโทษทางอาญา

การทำความเข้าใจเกี่ยวกับ เงินได้พึงประเมินให้ชัดแจ้ง ทั้งกรณีบ่อเกิดเงินได้ แหล่งเงินได้ ประเภทเงินได้ การยกเว้นเงินได้ ยังช่วยให้การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ได้ถูกต้องครบถ้วนอีกด้วย