ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

เงินได้ค่าเช่าจากสิทธิเก็บกิน บางกรณี

บทความวันที่ 31 ธ.ค. 2565  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 421 ครั้ง

เงินได้ค่าเช่าจากสิทธิเก็บกิน บางกรณี

1. สิทธิเก็บกิน

สิทธิเก็บกิน” หมายถึง กรณีเจ้าของที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่น มาขอจดทะเบียนสิทธิเก็บกินในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นให้แก่บุคคลอื่น ให้เป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกิน โดยมีสิทธิครอบครองใช้ และถือเอาประโยชน์ในที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์สินนั้น ตามมาตรา 1417 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ทั้งหมด ไม่ว่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นนั้นจะมีผู้ถือกรรมสิทธิ์คนเดียวหรือหลายคน แต่ทุกคนยอมให้บุคคลอื่นเป็นผู้ทรงสิทธิด้วยกันทั้งหมด

สิทธิเก็บกิน” คือ ทรัพยสิทธิอย่างหนึ่งที่เจ้าของยังคงมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์อยู่ เพียงแต่ยอมให้ผู้ทรงสิทธิเก็บกินเข้ามาครอบครอง ใช้ประโยชน์และถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งทรัพย์สิน ตลอดจนมีอํานาจจัดการทรัพย์สินนั้นได้ดังนั้น หากเจ้าของที่ดินต้องการที่จะจดทะเบียนสิทธิเก็บกินให้ผู้ใดเป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกินก็ชอบที่จะกระทําได้ โดยไปยื่นคําขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สํานักงานที่ดินท้องที่ที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ และเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนสิทธิเก็บกินแล้ว ย่อมมีผลทําให้ผู้ทรงสิทธิเก็บกินสามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้แต่ต้องไม่เกินไปกว่าสิทธิที่ตนเองมีอยู่

การสิ้นสุดลงของสิทธิเก็บกินตามมาตรา 1418 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1418 สิทธิเก็บกินนั้น จะก่อให้เกิดโดยมีกำหนดเวลา หรือตลอดชีวิตแห่งผู้ทรงสิทธิก็ได้

     ถ้าไม่มีกำหนดเวลา ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสิทธิเก็บกินมีอยู่ตลอดชีวิตผู้ทรงสิทธิ

     ถ้ามีกำหนดเวลา ท่านให้นำบทบัญญัติมาตรา 1403 วรรค 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

     ถ้าผู้ทรงสิทธิเก็บกินถึงแก่ความตาย ท่านว่าสิทธินั้นย่อมสิ้นไปเสมอ”


2. ตามมาตรา 57 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ได้บัญญัติเกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้ถือแก่ความตายระหว่างปีภาษีดังนี้

    “มาตรา 57 ทวิ ถ้าผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง ถึงแก่ความตายเสียก่อนที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง หรือก่อนที่ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ได้ปฏิบัติตามมาตรา 57 ให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดก หรือทายาท หรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแล้วแต่กรณี ปฏิบัติแทน และโดยเฉพาะในการยื่นรายการเงินได้พึงประเมินของผู้ตายนั้น ให้รวมเงินได้พึงประเมินของผู้ตายและของกองมรดกที่ได้รับตลอดปีภาษีที่ผู้นั้นถึงแก่ความตายเป็นยอดเงินได้พึงประเมินที่จะต้องยื่น 

        สำหรับในปีต่อไป ถ้ากองมรดกของผู้ตายยังมิได้แบ่งและมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกินจำนวนตามมาตรา 56 (1) ให้ผู้จัดการมรดกหรือทายาทหรือผู้ครอบครอง ทรัพย์มรดก แล้วแต่กรณี มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในส่วนนี้ในชื่อกองมรดกของผู้ตาย”  

    จากบทบัญญัติอาจแยกพิจารณาได้ดังนี้

2.1 กรณีผู้มีเงินได้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี ให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดก หรือทายาท หรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแล้วแต่กรณี ปฏิบัติหน้าที่ในการยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้ในนามของผู้ถึงแก่ความตายดังกล่าว

2.2 โดยเฉพาะในการยื่นรายการเงินได้พึงประเมินของผู้ตายในระหว่างปีภาษีที่ถึงแก่ความตายนั้น ให้รวมเงินได้พึงประเมินของผู้ตาย (ก่อนที่จะถึงแก่ควายตาย) และเงินได้ของกองมรดกที่ยังไม่ได้แก่ที่ได้รับตลอดปีภาษีที่เจ้ามรดกนั้นถึงแก่ความตายเป็นยอดเงินได้พึงประเมินที่จะต้องยื่น ภ.ง.ด.90

2.3 สำหรับในปีต่อไป ถ้ากองมรดกของผู้ตายยังมิได้แบ่ง และมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 60,000 บาท ตามมาตรา 56 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ให้ผู้จัดการมรดกหรือทายาทหรือผู้ครอบครอง ทรัพย์มรดก แล้วแต่กรณี มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในส่วนนี้ในชื่อกองมรดกของผู้ตาย

 

            ตัวอย่าง

กรณี นาง ก. เป็นผู้ถือครองในกรรมสิทธิ์ที่ดินแห่งหนึ่ง และได้ยกสิทธิ์เก็บกินในที่ดินดังกล่าวให้แก่ นาง ข. ซึ่งมีฐานะเป็นมารดา

นาง ข มารดาของนาง ก นำที่ดินที่นาง ก ยกสิทธิเก็บกินออกให้บริษัท เอ เช่า มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี ระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 100,000.00 บาท (จ่ายเป็นรายเดือน) 

ต่อมา นาง ข. ได้เสียชีวิตลงในเดือน เมษายน พ.ศ. 2565 และบริษัท เอ ยังคงดำเนินการจ่ายค่าเช่าที่ดินดังกล่าวตามสัญญาให้แก่ นาง ข. ตลอดปี พ.ศ. 2565 นั้น มีภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเกี่ยวกับสิทธิเก็บกินดังนี้ 

1. ช่วงระยะเวลาก่อนที่นาง ข. จะถึงแก่ความตายนั้น เงินได้ค่าเช่าตกเป็นสิทธิของนาง ข ตามสิทธิเก็บกิน เงินได้ในส่วนนี้ ต้องยื่นรายการ และเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามของนาง ข ทั้งกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ตามแบบ ภ.ง.ด.94 (สำหรับค่าเช่าระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 ถึงวันที่นาง ข ถึงแก่ความตาย และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ตามแบบ ภ.ง.ด.90

2. ช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันถัดจากวันที่นาง ข ถึงแก่ความตาย ค่าเช่าต้องกลับคืนไปเป็นของนาง ก เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยปริยาย ตามมาตรา 1418 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

นาง ก พึงต้องแจ้งให้บริษัท เอ ผู้เช่าคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายเสียใหม่ให้ถูกต้อง