ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ภาษีมูลค่าเพิ่ม: ความหมาย และประเภท

บทความวันที่ 8 ม.ค. 2566  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 547 ครั้ง

ภาษีมูลค่าเพิ่ม: ความหมาย และประเภท


ในการเริ่มต้นศึกษา ภาษีมูลค่าเพิ่ม อย่างเป็นระบบ พึงทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของคำวา "มูลค่าเพิ่ม" (Value Added) และประเภทภาษีมูลค่าเพิ่มที่นำมาใช้บริหารจัดเก็บ เสียก่อน เพื่อเป็นการปูพื้นฐานความเข้าใจเบี้องต้น ที่จะช่วยเติมเต็มให้ผู้ศึกษามีความชัดเจนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มที่นำมาใช้ในการบริหารจัดเก็บในประเทศไทย 


1. คำว่า มูลค่าเพิ่ม(Value Added)

คำว่า มูลค่าเพิ่ม(Value Added) หมายถึง มูลค่าของสินค้าหรือบริการในส่วนที่เพิ่มขึ้น ในแต่ละขั้นตอนการขายสินค้าหรือการให้บริการ หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า มูลค่าเพิ่มหมายถึง ผลต่างของต้นทุนของสินค้าหรือบริการ กับราคาสินค้าที่ขายหรือค่าบริการที่ได้ให้แก่ลูกค้า ผลต่างดังกล่าว ได้แก่

- ค่าจ้าง

- ค่าเช่า

- ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร และ

- ผลกำไร

ดังนั้น ภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงหมายถึง ภาษีที่จัดเก็บจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นของสินค้าหรือบริการ ในทุกขั้นตอนของการขายสินค้าหรือการให้บริการเฉพาะในส่วนที่ยังไม่ผ่านการเสียภาษีมูลค่า เพิ่มมาก่อน

1.1 ในแง่ของผู้ประกอบการแต่ละราย ภาษีมูลค่าเพิ่ม หมายถึง ภาษีที่จัดเก็บจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นของสินค้าหรือบริการ ในแต่ละขั้นตอนของการขายสินค้าหรือการให้บริการ เฉพาะในส่วนที่ยังไม่ผ่านการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมาก่อน

1.2 ในแง่ของผู้บริโภค เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มมุ่งหมายที่จะจัดเก็บจากการบริโภค ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้บริโภคต้องรับภาระจากการบริโภคสินค้าหรือการรับบริการในแต่ละหน่วย จึงเท่ากับจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการแต่ละรายได้จ่ายสำหรับสินค้าหรือบริการแต่ละหน่วยนั้นรวมกัน

ดังนั้น แม้ภาษีมูลค่าเพิ่มจะมุ่งหมายที่จะจัดเก็บจากการบริโภคสินค้าหรือการให้บริการ แต่คำว่า ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นคำที่ใช้สำหรับจัดเก็บจากผู้ประกอบการที่เป็นผู้ขายสินค้าหรือผู้บริการ จึงย่อมเกิดความสับสนในหลักการ (Principle) และชื่อเรียก (Title) ระบบภาษีนี้อยู่เนือง ๆ

 

2. ประเภทของภาษีมูลค่าเพิ่ม

โดยทั่วไปภาษีมูลค่าเพิ่มแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามลักษณะของฐานภาษี ดังนี้

2.1 ภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานผลิตภัณฑ์ประชาชาติเบื้องต้น (Gross National Product Type VAT หรือ GNP Type VAT) เป็นระบบภาษีที่มุ่งจัดเก็บจากผลิตภัณฑ์ประชาชาติเบื้องต้น โดยจัดเก็บจากการบริโภคของประชาชน และจากการลงทุนของผู้ประกอบการ ไม่ยอมให้ผู้ประกอบการนำภาษีมูลค่า เพิ่มจากการลงทุนในทรัพย์สิน หรือรายจ่ายในการดำเนินกิจการทั้งหลาย (ภาษีซื้อ) มาเครดิตหักออกจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการได้เรียกเก็บจากการขายสินค้าหรือให้บริการ (ภาษีขาย) และไม่ยอมให้หักค่าสึกหรอและค่าเลื่อมราคาสำหรับสินค้าทุน

2.2 ภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานผลิตภัณฑ์ประชาชาติสุทธิ (Net National Product Type VAT หรือ NNP Type VAT) เป็นระบบภาษีที่มุ่งจัดเก็บจากผลิตภัณฑ์ประชาชาติสุทธิ โดยจัดเก็บจากการบริโภคของประชาชน และจากการลงทุนของผู้ประกอบการ เช่นเดียวกับภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานผลิตภัณฑ์ประชาชาติเบื้องต้น แต่ยอมให้ผู้ประกอบการหักค่าสึกหรอและค่าเลื่อมราคาสำหรับสินค้าทุน

2.3 ภาษีมูลค่าเพิ่มตามฐานการบริโภค (Consumption Type VAT) เป็นระบบภาษีที่มุ่งจัดเก็บจากการบริโภค โดยไม่จัดเก็บจากการลงทุน จึงยอมให้ผู้ประกอบการนำภาษีมูลค่าเพิ่มจากการลงทุนในทรัพย์สิน หรือรายจ่ายในการดำเนินกิจการทั้งหลาย (ภาษีซื้อ) มาเครดิตหักออกจากภาษีมูลค่า เพิ่มที่ผู้ประกอบการได้เรียกเก็บจากการขายสินค้าหรือให้บริการ (ภาษีขาย) 

 

ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลไทยนำมาใช้บังคับจัดเก็บแทนที่ระบบภาษีการค้า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 เป็นต้นมานั้น เป็นระบบภาษีมูลค่าเพิ่มแบบการบริโภค (Consumption Type VAT) ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนในฐานะผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายได้รับประโยชน์จากระบบสูงสุด อันเป็นระบบภาษีมูลค่าเพิ่มที่นิยมในมาประยุกต์ใช้ในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกันทั่วโลก โดยหลักการทั่วไปมีความมุ่งหมายที่จะให้ภาระภาษีมูลค่าเพิ่มตกต้องแก่ผู้บริโภค เท่ากับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7.0 ของราคาสินค้าหรือค่าบริการที่ผู้บริโภคได้ซื้อหรือรับบริการเพื่อการบริโภคนั้น คำว่า “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” เป็นคำที่มาจากภาษาอังกฤษว่า Value Added Tax โดยใช้คำย่อว่า VAT ซึ่งในบางประเทศ เช่น แคนาดา นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เป็นต้น ใช้คำว่า Goods and Service Tax (GST) หรือ ภาษีสินค้าหรือบริการ สำหรับประเทศญี่ปุ่นใช้คำว่า Consumption Tax หรือภาษีการบริโภค ซึ่งแตกต่างไปจาก ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ใช้ในการบริหารการจัดเก็บในประเทศไทย