หลักการภาษีมูลค่าเพิ่ม
บทความวันที่ 9 ม.ค. 2566 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 1391 ครั้ง
บทความวันที่ 9 ม.ค. 2566 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 1391 ครั้ง
หลักการภาษีมูลค่าเพิ่ม
ในโครงสร้างภาษีอากรทุกประเภทต้องกล่าวถึง
“หลักการ” ของกฎหมายภาษีอากรประเภทนั้น ๆ เพื่อเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการทำความเข้าใจกฎหมายภาษีอากรโดยละเอียดในชั้นต่อไป
ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มก็เช่นเดียวกัน การเรียนรู้เกี่ยวกับ “หลักการภาษีมูลค่าเพิ่ม”
เท่ากับได้เข้าถึงแนวคิดพื้นฐานในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นหลักการสำคัญ
ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ศึกษาและผู้ที่สนใจที่จะช่วยให้สามารถสืบค้นเข้าไปในรายละเอียดของระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
และนำไปต่อยอดในการทำความเข้าใจโครงสร้างภาษีมูลค่าเพิ่มในประเด็นอื่น ๆ โดยละเอียดต่อไป
1.
ภาษีมูลค่าเพิ่มมุ่งจัดเก็บจากการบริโภค
เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่นำมาใช้บังคับจัดเก็บในประเทศไทย เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มตามฐานการบริโภค
ซึ่งมุ่งจัดเก็บจากการบริโภค (Tax on Consume) ดังนั้น ผู้รับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มโดยแท้จริง คือ ผู้บริโภคคนสุดท้าย
(Final Consumers)
สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ
แม้จะถูกกำหนดให้เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
โดยต้องมีหน้าที่ยื่นรายการ และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือนภาษีก็ตาม แต่ผู้ประกอบการก็ได้สิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการได้หรือ
“ภาษีขาย” (Output
Tax) และนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้จ่ายหรือพึงต้องจ่ายหรือ “ภาษีซื้อ” (Input Tax)
มาเครดิตหักออกจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้เรียกเก็บหรือมีสิทธิเรียกเก็บหรือภาษีขายนั้น
ซึ่งเท่ากับผู้ประกอบการจะได้รับคืนภาษีมูลค่าเพิ่มกลับคืนมาทันที
เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ประกอบการมียอดภาษีซื้อมากกว่ายอดภาษีขายในแต่ละเดือนภาษี
ก็จะได้สิทธิขอคืนเงินภาษี มูลค่าเพิ่มดังกล่าวจากทางราชการ
2.
ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีทางอ้อม (Indirect
Tax)
กล่าวโดยทั่วไปภาษีมูลค่าเพิ่มจะมุ่งจัดเก็บจากการบริโภคของผู้บริโภค
แต่โดยระบบการบริหารการจัดเก็บที่จัดเก็บจากฐานการบริโภคภายในประเทศทุกประเภท
ไม่อาจจัดเก็บภาษีโดยตรงจากผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เนื่องจากผู้บริโภคมีจำนวนมาก จึงกำหนดให้
ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักร เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามลักษณะภาษีทางอ้อม (Indirect Tax) ทั้งนี้ ผู้ประกอบการดังกล่าวไม่ต้องเป็นผู้รับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มที่ตนต้องเสียตามกฎหมายแต่อย่างใด
เพราะผู้ประกอบการดังกล่าวมีสิทธิได้รับคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากทางราชการกรมสรรพากรโดยการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้เสียหรือชำระให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นหรือจากการนำเข้า
และผลักภาระภาษีมูลค่าเพิ่มไปยังผู้บริโภคได้
โดยการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีภาษีมูลค่าเพิ่มอาจจัดเป็นภาษีทางตรง (Direct Tax) ได้แก่ กรณีผู้บริโภคเป็นผู้นำสินค้าเข้ามาจากต่างประเทศด้วยตนเอง ซึ่งผู้บริโภคต้องยื่นใบขนสินค้าขาเข้า และแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อเสียอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยตนเอง
ตารางแสดงความสัมพันธ์ของกิจกรรมที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
และผู้รับภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม
กิจกรรมที่ต้องเสีย
VAT |
ผู้มีหน้าที่เสีย VAT |
ผู้รับภาระ VAT |
ประเภทภาษี |
- การขายสินค้าในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ |
ผู้ประกอบการ |
ผู้บริโภค |
ภาษีทางอ้อม |
- การให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ |
ผู้ประกอบการ |
ผู้บริโภค |
ภาษีทางอ้อม |
- การนำเข้าโดยผู้ประกอบการ |
ผู้ประกอการ |
ผู้บริโภค |
ภาษีทางอ้อม |
- การนำเข้าโดยผู้บริโภค |
ผู้บริโภค |
ผู้บริโภค |
ภาษีทางตรง |
3.
ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บจากเฉพาะมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นของสินค้าหรือบริการ
ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บจากเฉพาะมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นของสินค้าหรือบริการในทุกขั้นตอนของการขายสินค้าหรือการให้บริการ
เฉพาะส่วนที่ยังไม่ผ่านการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมาก่อน
ภาษีมูลค่าเพิ่มจึงได้ชื่อว่าเป็นภาษีที่จัดเก็บไม่ซ้ำซ้อน
และมีความเป็นธรรมอย่างยิ่ง และเป็นประเภทภาษีทางอ้อมที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกหรือเป็นที่ยอมรับในนานาอารยประเทศอย่างรวดเร็วและกว้างขวางกว่าทุกประเภทภาษีอากร
อย่างไม่เคยมีมาก่อน
สำหรับผู้ประกอบการแต่ละรายถูกกำหนดให้ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการในส่วนที่เพิ่มขึ้นจากการประกอบประกอบกิจการของตน
โดยคำนวณภาษีที่ต้องชำระจากยอด “ภาษีขาย” หรือภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการได้เรียกเก็บหรือพึงเรียกเก็บจากการประกอบกิจการขายสินค้าหรือการให้บริการ
(Output Tax) หักด้วย “ภาษีซื้อ”
หรือภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการได้จ่ายหรือพึงต้องจ่าย (Input
Tax) ตามหลักฐานใบกำกับภาษี (Tax Invoice)
4.
หลักการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแบบการบริโภค
4.1 ภาษีมูลค่าเพิ่มที่นำมาใช้จัดเก็บในประเทศไทยเป็นระบบภาษีที่มุ่งจัดเก็บจากการบริโภค
โดยไม่จัดเก็บจากการลงทุน จึงยอมให้ผู้ประกอบการนำภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีซื้อ)
จากการลงทุนในทรัพย์สิน หรือรายจ่ายในการดำเนินกิจการทั้งหลาย
มาเครดิตหักออกจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการได้เรียกเก็บจากการขายสินค้าหรือให้บริการ
(ภาษีขาย) ทำให้ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนในการประกอบการที่ต่ำลง
และไม่ก่อให้เกิดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บภาษี
4.2 การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระในแต่ละเดือนภาษี ใช้วิธีเครดิต (Credit
Method) โดยนำยอดภาษีขายมาหักด้วยยอดภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี
โดยไม่คำนึงว่าภาษีขายและภาษีซื้อนั้นจะมีความสัมพันธ์กันหรือไม่
5. ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บตามหลักปลายทาง
5.1 หลักเกณฑ์การกำหนดขอบเขตการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ
การกำหนดขอบเขตการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ โดยทั่วไปมี 2
หลักเกณฑ์คือ
(1) หลักต้นทาง (Original Principle) ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บตามหลักต้นทาง
ประเทศที่เป็นต้นทางของสินค้า หรือบริการจะเป็นผู้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
แต่ในทางตรงกันข้ามจะยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้า
หรือบริการที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ
ซึ่งไม่เป็นที่นิยมนำมาใช้เนื่องจากทำให้ต้นทุนของสินค้าที่ส่งออกมีราคาเพิ่มขึ้น
ไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
(2) หลักปลายทาง (Destination Principle) ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บตามหลักปลายทาง
ประเทศที่เป็นปลายทางของสินค้าหรือบริการจะเป็นผู้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
สำหรับสินค้าหรือบริการที่นำเข้าจากต่างประเทศ
แต่ในทางตรงกันข้ามจะกำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 0 สำหรับสินค้าหรือบริการที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ
5.2 การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการค้าระหว่างประเทศ ในประเทศไทย
ถือปฏิบัติตามหลักปลายทาง (Destination Principle) ดังนี้
(1) กรณีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ถือว่าปลายทาง (Destination) ของสินค้าดังกล่าวอยู่ในประเทศไทย จึงกำหนดให้การนำเข้าสินค้านั้น
เป็นกิจกรรมที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในลักษณะเดียวกับการขายสินค้าหรือการให้บริการในราชอาณาจักร
โดยกำหนดให้กรมศุลกากรเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแทนกรมสรรพากร
สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นผู้นำเข้า
ย่อมนำภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า หรือภาษีซื้อไปเครดิตหักออกจากภาษีขาย
หรือภาษีมูลค่าเพิ่มได้เรียกเก็บหรือมีสิทธิเรียกเก็บ ในการคำนวณภาษีมูลค่า
เพิ่มที่ต้องชำระในแต่ละเดือนภาษี
ส่วนผู้นำเข้าอื่นใดที่มิใช่ผู้ประกอบการอาจต้องรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าดังกล่าว
โดยเฉพาะผู้นำเข้าที่เป็นผู้บริโภคคนสุดท้าย
(2) กรณีนำเข้าบริการจากต่างประเทศ ถือว่า ปลายทาง (Destination) ของบริการดังกล่าวอยู่ในประเทศไทย จึงกำหนดให้การนำเข้าบริการนั้น
เป็นกิจกรรมที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในลักษณะเดียวกับการขายสินค้าหรือการให้บริการในราชอาณาจักร
เช่นเดียวกับการนำเข้าสินค้า
แต่เนื่องจากการนำเข้าบริการไม่มีตัวสินค้าที่จะสำแดงและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ
ด่านศุลกากรได้ดังเช่นกรณีการนำเข้าสินค้า
จึงกำหนดให้ผู้นำเข้าบริการเป็นผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการที่เป็นผู้ให้บริการจากต่างประเทศนั้น
สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นผู้นำเข้าบริการ
เมื่อได้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ย่อมนำภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่ได้นำส่ง
ไปถือภาษีซื้อเพื่อเครดิตหักออกจากภาษีขาย
หรือภาษีมูลค่าเพิ่มได้เรียกเก็บหรือมีสิทธิเรียกเก็บ
ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระในแต่ละเดือนภาษีได้
(3)
กรณีส่งออกสินค้าหรือบริการ
เนื่องจากปลายทางของสินค้าหรือบริการนั้นอยู่ในต่าง ประเทศ
จึงกำหนดให้มีการขจัดภาระภาษีมูลค่าเพิ่มสำรับสินค้าหรือบริการที่ส่งออกโดยให้ผู้ประกอบการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ
0 (Zero Rating) อันจะทำให้ภาษีขายของผู้ประกอบการเป็นศูนย์
หากผู้ประกอบการมีภาษีซื้อจากการซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบ
และทรัพย์สินก็ย่อมจะได้รับคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีซื้อดังกล่าวกลับคืนจากรัฐมาเป็นตัวเงิน
โดยรัฐไม่ต้องชดเชยภาษีสำหรับการส่งออกซึ่งจะมีผลกระทบต่อระบบการค้าระหว่างประเทศ
6.
ภาษีมูลค่าเพิ่มให้ความสำคัญต่อระบบเอกสารหลักฐาน
ภาษีมูลค่าเพิ่มให้ความสำคัญต่อระบบเอกสารหลักฐาน (Paper
System) โดยเฉพาะใบกำกับภาษีที่ใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระ
จึงนิยมเรียกระบบภาษีมูลค่าเพิ่มว่า ระบบใบกำกับภาษี (Tax Invoice System) เนื่องจากใบกำกับภาษีเป็นเอกสารสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการ
ที่เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ สามารถถอดจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากราคาสินค้าหรือค่าบริการ
อันเป็นผลให้ผู้บริโภคคนสุดท้ายไม่ต้องรับภาระความซ้ำซ้อน
ของจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละขั้นตอนการขายหรือการให้บริการ ดังนั้น
ตามประมวลรัษฎากร จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับใบกำกับภาษีในส่วนที่เป็นภาษีซื้อที่ไม่สามารถนำมาถือเป็นเครดิต
หักออกจากภาษีขายอยู่หลายรายการ ตามมาตรา 82/5
นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำรายงานต่างๆ
การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งบทกำหนดโทษทั้งในทางแพ่ง
และในทางอาญาเกี่ยวกับใบกำกับภาษี และเอกสารหลักฐานต่างๆ
และการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องปฏิบัติด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง
7. ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีอากรประเมิน
ภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด
4 เป็นภาษีอากรประเมิน (Assessment Tax) เช่นเดียวกับภาษีเงินได้ ตามหมวด
3 และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามหมวด 4 ซึ่งกำหนดให้ผู้เสียภาษี
หรือผู้นำส่งภาษีมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ภายในกำหนดเวลา
และให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินความถูกต้องของจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระหรือนำส่งนั้น
อีกทั้งมีอำนาจในตรวจการปฏิบัติการต่างๆ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการ
ในกรณีที่พบว่าผู้ประกอบการหรือผู้นำส่งภาษีชำระหรือนำส่งภาษีไว้ไม่ถูกต้อง
ก็ให้มีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งเบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม
โดยไม่จำเป็นต้องออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษีอากร
8.
บทบัญญัติกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม
บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร หมวด 4 ว่าด้วยภาษีมูลค่าเพิ่ม
แบ่งออกเป็น 14 ส่วน รวม 116 มาตรา
ในแต่ละส่วนจะขึ้นเลขมาตราใหม่จากมาตรา 77 ถึงมาตรา 90 ดังนี้
ส่วน 1 ข้อความทั่วไป
มาตรา 77 – ม าตรา 77/5 รวม 6 มาตรา
ส่วน
2 ความรับผิดในการเสียภาษี มาตรา 78 – มาตรา 78/3
รวม 4 มาตรา
ส่วน 3 ฐานภาษี มาตรา 79 – มาตรา 79/7 รวม 8 มาตรา
ส่วน 4 อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม
มาตรา 80 – มาตรา 80/2 รวม 3 มาตรา
ส่วน 5
การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรา 81 – มาตรา 81/3 รวม
4 มาตรา
ส่วน 6
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีและการคำนวณภาษี รวม 19 มาตรา
ดังนี้
-
ผู้มีหน้าที่เสียภาษี มาตรา 82 – มาตรา 82/2 รวม 3 มาตรา
- การคำนวณภาษี มาตรา 82/3 – มาตรา 82/18
รวม 16 มาตรา
ส่วน 7 การยื่นแบบและการชำระภาษี
มาตรา 83 – มาตรา 83/10 รวม 11 มาตรา
ส่วน 8 เครดิตภาษีและการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
มาตรา 84 – มาตรา 84/4 รวม 5 มาตรา
ส่วน 9
การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ส่วน 10 ใบกำกับภาษี
ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ มาตรา 86 – มาตรา
86/14 รวม 15 มาตรา
ส่วน 11
การจัดทำรายงานและเก็บรักษาหลักฐานและเอกสาร มาตรา 87 – มาตรา 87/3 รวม 4 มาตรา
ส่วน 12 อำนาจเจ้าพนักงานประเมิน
มาตรา 88 – มาตรา 88/6 รวม 7 มาตรา
ส่วน 13 เบี้ยปรับ
- เงินเพิ่ม มาตรา 89 – มาตรา 89/2 รวม 3 มาตรา
ส่วน 14 บทกำหนดโทษ
มาตรา 90 – มาตรา 90/5 รวม 6 มาตรา