ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีการขนส่งสินค้าทางทะเล

บทความวันที่ 3 ก.ย. 2559  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 3218 ครั้ง

                                                         ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีการขนส่งสินค้าทางทะเล


เลขที่หนังสือ : กค 0811/10115

วันที่            : 22 ตุลาคม 2544

เรื่อง            : ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีการขนส่งสินค้าทางทะเล

ข้อกฎหมาย   : มาตรา 65, มาตรา 67, มาตรา 79, คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528

ข้อหารือ       : 

         สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Thai International Freight Forwarders Association) ได้หารือกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

1. กรณีการขนส่งสินค้าทางทะเลขาออก

    1.1 ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 234 (พ.ศ. 2544) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ กำหนดให้การจ่ายค่าขนส่งอยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.0 สมาคมฯเข้าใจว่า ค่าขนส่งของการขนส่งสินค้าทางทะเลขาออกหมายถึง ค่าระวาง (Freight) และประโยชน์อื่นใดเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าขาออก ได้แก่ ค่า CFS, THC และ B/L fee แต่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติทั้งในส่วนราชการและเอกชนบางรายมีความเข้าใจว่า ค่าขนส่งของการขนส่งสินค้าทางทะเลขาออก หมายถึงเฉพาะค่าระวาง (Freight) เท่านั้น

    1.2 ผู้ประกอบกิจการให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล (Freight Forwarder) มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 โดยคำนวณจากค่าระวาง (Freight) และประโยชน์อื่นใดเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าขาออก ได้แก่ ค่า CFS, THC และ B/L fee

2. กรณีการขนส่งสินค้าทางทะเลขาเข้า

    2.1 กรณี Freight Forwarder ในประเทศไทย ได้กระทำการในฐานะเป็น ตัวแทน ของ Forwarder ในต่างประเทศ เมื่อผู้ใช้บริการ (Consignee) จ่ายค่าระวาง (Freight) และประโยชน์อื่นใดเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าขาเข้า (CFS, THC, D/O fee, Status Fee) ให้กับ Freight Forwarder ผู้ใช้บริการไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เนื่องจากเป็นการจ่ายค่าขนส่งสินค้าทางทะเลขาเข้า ซึ่งไม่เป็นฐานภาษีในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ผู้ใช้บริการยังมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าบริการ (Handling Charge) ที่จ่ายให้กับ Freight Forwarder

    2.2 Freight Forwarder ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าระวาง (Freight) และประโยชน์อื่นใดเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าขาเข้า (CFS, THC, D/O fee, Status Fee)เนื่องจากค่าระวางและประโยชน์อื่นใดเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าขาเข้า ไม่เป็นฐานภาษีในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79/1 (2) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ Freight Forwarder มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าบริการ (Handling Charge) ในอัตราร้อยละ 7.0

3. สมาคมฯ หารือว่า ความเข้าใจของสมาคมถูกต้องหรือไม่

แนววินิจฉัย   :

1. ฐานภาษีสำหรับการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยสายการเดินเรือไทย และสายการเดินเรือต่างประเทศ ซึ่งต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 และมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.54/2537 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับกิจการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล และสำหรับกิจการให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเลลงวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2537 และข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 55/2538 เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม ฐานภาษีสำหรับการให้บริการรับขนคนโดยสารหรือสินค้าระหว่างประเทศ ลงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2538 หมายถึงกรณีดังต่อไปนี้

    (1) กรณีสายการเดินเรือไทย และสายการเดินเรือต่างประเทศรับขนของให้ผู้รับบริการโดยตรง รายได้ที่ต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล หมายถึง รายได้ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยตามมูลค่าของค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดตามที่ระบุในใบตราส่งสินค้า (บิลออฟเลดิง) ไม่ว่าจะเรียกเก็บในหรือนอกประเทศไทย

(2) กรณีสายการเดินเรือไทย และสายการเดินเรือต่างประเทศรับขนของให้ผู้รับบริการโดยผ่านผู้ประกอบกิจการให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล (Freight Forwarder) รายได้ที่ต้องนำมารวมคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล หมายถึง รายได้ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการรับขนของออกนอกประเทศไทยตามมูลค่าของค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดตามที่ระบุในใบตราส่งสินค้า (บิลออฟเลดิง) ที่สายการเดินเรือไทย หรือสายการเดินเรือต่างประเทศออกให้กับ Freight Forwarder ไม่ว่าจะเรียกเก็บในหรือนอกประเทศไทยดังนั้น กรณีผู้ใช้บริการ (Shipper หรือ Forwarder) จ่ายค่าระวาง ค่าธรรมเนียมและประโยชน์อื่นใดตามที่ระบุในใบตราส่งสินค้า (Master Bill of Lading) ให้กับสายการเดินเรือ โดยสายการเดินเรือออกใบเสร็จรับเงินในนามผู้ใช้บริการ หรือกรณีเจ้าของสินค้า (Shipper) จ่ายค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดตามที่ระบุในใบตราส่งสินค้าของสายการเดินเรือ (Master Bill of Lading) ให้กับ Forwarder โดย Forwarder ออกใบเสร็จรับเงินในนามของเจ้าของสินค้าหรือกรณีผู้ใช้บริการ (Shipper หรือ Forwarder A) จ่ายค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดตามที่ระบุในใบตราส่งสินค้าของ Forwarder B (House Bill of Lading) ให้กับ Forwarder B โดย Forwarder B ออกใบเสร็จรับเงินให้กับผู้ใช้บริการ ถือเป็นการจ่ายค่าขนส่งซึ่งอยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ทั้งนี้ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 234 (พ.ศ. 2544)ฯ และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 104/2544 ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2544

2. กรณีผู้ใช้บริการ (Consignee หรือ Forwarder) จ่ายค่าระวาง ค่าธรรมเนียมและประโยชน์อื่นใดเนื่องจากการขนสินค้าขาเข้าตามที่ระบุไว้ในบิลออฟเลดิง ให้กับสายการเดินเรือไทยโดยที่สายการเดินเรือไทยจะต้องนำรายได้ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการรับขนสินค้าขาเข้าไปรวมคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินจึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.0 ตามข้อ 12/4 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 104/2544 ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2544 อย่างไรก็ดี หากปรากฏว่า สายการเดินเรือไทยเป็นสายการเดินเรือที่เข้าลักษณะตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 314) พ.ศ.2540 ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

3. กรณีผู้ใช้บริการ (Consignee หรือ Forwarder) จ่ายค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดเนื่องจากการขนสินค้าขาเข้าตามที่ระบุไว้ในบิลออฟเลดิง ให้กับสายการเดินเรือต่างประเทศ โดยที่ค่าขนส่งสินค้าขาเข้าไม่เป็นฐานภาษีในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินจึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

4. กรณีผู้ใช้บริการ (Consignee หรือ Forwarder A) จ่ายค่าบริการเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าขาออกและการขนส่งสินค้าขาเข้าที่มิได้ระบุไว้ในบิลออฟเลดิงให้กับสายการเดินเรือไทยหรือสายการเดินเรือต่างประเทศ หรือ Forwarder B ผู้ใช้บริการซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าบริการตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 104/2544 ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2544

5. กรณี Freight Forwarder ในประเทศไทยได้กระทำการในฐานะเป็นตัวแทนเรียกเก็บเงินค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าขาเข้า ของ Freight Forwarder ในต่างประเทศ ซึ่ง Freight Forwarder ในประเทศไทยต้องมีหลักฐานหรือเอกสารอื่นใดที่มีเนื้อหาแสดงว่ากระทำในฐานะเป็นตัวแทนของ Freight Forwarder ในต่างประเทศ และ Freight Forwarder ในประเทศไทยออกใบเสร็จรับเงินในนามของผู้ใช้บริการ กรณีผู้ใช้บริการจ่ายค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดตามที่ระบุในใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading) ให้กับ Freight Forwarder ถือว่าผู้ใช้บริการจ่ายค่าขนส่งสินค้าขาเข้า ซึ่งไม่เป็นฐานภาษีในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ใช้บริการไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในส่วนที่กระทำการแทนนั้น แต่ผู้ใช้บริการยังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าบริการที่ Freight Forwarder ในประเทศไทยได้รับจากการดำเนินการแทนนั้น

6. ผู้ประกอบกิจการให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล (Freight Forwarder) มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยรายได้ที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 3 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 54/2537 ฯ ลงวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2537 หมายถึง รายได้ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการให้บริการ โดยให้คำนวณจากค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่ได้มีการเรียกเก็บจากผู้รับบริการ หักด้วยค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่ถูกสายการเดินเรือเรียกเก็บ

7. ผู้ประกอบกิจการให้บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยเรือเดินทะเล (Freight Forwarder) มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 7.0 จากค่าบริการ ซึ่งค่าบริการที่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 4 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.54/2537 ฯ ลงวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2537 หมายถึง มูลค่าของค่าบริการ โดยให้คำนวณจากค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่ได้มีการเรียกเก็บจากผู้รับบริการ หักด้วยค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่ถูกสายการเดินเรือเรียกเก็บ

 

เลขตู้          : 64/30746