ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ภาษีเงินได้ของสามีภริยา

บทความวันที่ 5 ธ.ค. 2566  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 116 ครั้ง

ภาษีเงินได้ของสามีภริยา

ตามมาตรา 57 แห่งประมวลรัษฎากร แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2555 ใช้บังคับสำหรับเงินได้ปีภาษี 2555 เป็นต้นไป ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้ของสามีและภริยาดังนี้ 

มาตรา 57 ในการเก็บภาษีเงินได้จากสามีและภริยานั้น ให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วตามมาตรา 56

     ในกรณีที่เงินได้พึงประเมินไม่อาจแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นของสามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง เว้นแต่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ( 8 ) สามีและภริยาจะแบ่งเงินได้พึงประเมินเป็นของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันก็ได้ แต่รวมกันต้องไม่น้อยกว่าเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ถ้าตกลงกันไม่ได้ ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยา ฝ่ายละกึ่งหนึ่ง

     สามีและภริยาจะตกลงยื่นรายการและเสียภาษีรวมกัน โดยให้ถือเอาเงินได้พึงประเมินของตนเป็นเงินได้ของสามีหรือภริยาอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้ หรือจะแยกยื่นรายการและเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) โดยมิให้ถือเอาเป็นเงินได้ของอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้แต่ถ้ามีภาษีค้างชำระสามีและภริยาต้องร่วมรับผิดในการเสียภาษีที่ค้างชำระนั้น

     เมื่อได้เลือกยื่นรายการตามวรรคสองและวรรคสามในปีภาษีใดแล้ว ให้ถือว่าเป็นวิธีการยื่นรายการสำหรับปีภาษีนั้นตลอดไป เว้นแต่อธิบดีจะอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกยื่นรายการดังกล่าว" 


จากบทบัญญัติดังกล่าว อาจแยกพิจารณาหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้จากสามีและภริยาได้ดังนี้

1. กรณีที่สามารถแยกได้อย่างชัดแจ้งว่า เงินได้พึงประเมินเป็นของสามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด (มาตรา 57 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร)  

    1.1 กรณีมีเงินได้พึงประเมินแต่เพียงฝ่ายเดียว ให้ฝ่ายที่มีเงินได้เป็นผู้มีหน้าที่ยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้จากเงินได้ของตน

    1.2 กรณีต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร

2. กรณีที่เงินได้พึงประเมินไม่อาจแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นของสามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด

    2.1 สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) – (7) แห่งประมวลรัษฎากร ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินดังกล่าวเป็นของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง

    2.2 สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร

         (1) สามีและภริยาจะแบ่งเงินได้พึงประเมินเป็นของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันก็ได้ แต่รวมกันต้องไม่น้อยกว่าเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ

         (2) ถ้าตกลงกันไม่ได้ ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยา ฝ่ายละกึ่งหนึ่ง

    ทั้งนี้ เมื่อได้เลือกแบ่งแบ่งเงินได้พึงประเมินตามวิธีการดังกล่าว และได้ยื่นรายการในปีภาษีใด เป็นอย่างใดแล้ว ให้ถือว่าเป็นวิธีการยื่นรายการสำหรับปีภาษีนั้นตลอดไป เว้นแต่อธิบดีจะอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกยื่นรายการดังกล่าว

3. การเลือกเสียภาษีเงินได้ของสามีและภริยา  

    สามีและภริยาจะตกลงยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินได้พึงประเมินที่แต่ละฝ่ายได้รับดังนี้

    3.1 สามีและภริยาจะตกลงยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยให้ถือเอาเงินได้พึงประเมินทั้งหมดของภริยา เป็นของสามีก็ได้ หรือ

    3.2 สามีและภริยาจะตกลงยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยให้ถือเอาเงินได้พึงประเมินทั้งหมดของสามี เป็นของภริยาก็ได้ หรือ

    3.3 สามีและภริยาจะตกลงยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยให้ถือเอาเงินได้พึงประเมินทั้งหมดของภริยา เว้นแต่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นของสามีก็ได้ หรือ

    3.4 สามีและภริยาจะตกลงยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยให้ถือเอาเงินได้พึงประเมินทั้งหมดของสามี เว้นแต่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นของภริยาก็ได้

    ทั้งนี้ เมื่อได้เลือกยื่นรายการดังกล่าวในปีภาษีใด เป็นอย่างใดแล้ว ให้ถือว่าเป็นวิธีการยื่นรายการสำหรับปีภาษีนั้นตลอดไป เว้นแต่อธิบดีจะอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกยื่นรายการดังกล่าว


ตัวอย่าง กรณีค่าเช่าบ้าน (อันเป็นสินส่วนตัวของสามี) ถือเป็นดอกผลจากทรัพย์สินส่วนตัว เมื่อได้มาระหว่างสมรสย่อมถือเป็นสินสมรสตามกฎหมาย คำถาม คือ เงินได้จากค่าเช่าบ้านดังกล่าว สามารถแบ่งให้ภรรยา กึ่งหนึ่งตามมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากรได้หรือไม่

คำตอบ ตามมาตรา 57  แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสินส่วนตัว หรือสินสมรส ไว้แต่ประการใด หากแต่กล่าวเป็นกลางๆ ว่าเป็นเงินได้ของฝ่ายสามีหรือฝ่ายภริยา ดังนั้น การแบ่งเงินได้พึงประเมินจากการให้เช่าบ้านอันเป็นสินส่วนตัวของสามี ที่ได้มาระหว่างสมรสถือเป็นดอกผลจากทรัพย์สินส่วนตัว ย่อมถือเป็นสินสมรสตามกฎหมาย ของคู่สมรส เงินได้จากค่าเช่าบ้านดังกล่าว อันเป็นเงินได้พึงประเมินของสามี ย่อมสามารถแบ่งให้ภริยากึ่งหนึ่ง โดยชอบด้วยกฎหมาย