ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

เตรียมความรู้เพื่อสอบเป็น “ผู้สอบบัญชีภาษีอากร”

บทความวันที่ 14 ธ.ค. 2566  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 97 ครั้ง

เตรียมความรู้เพื่อสอบเป็น “ผู้สอบบัญชีภาษีอากร”

                                                                                     

การทดสอบความรู้เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอาการ ในอันที่จะเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ปรากฏขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2544 ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินมาถึงครั้งที่ 43 (3/2560) แล้วในบทความนี้จะได้นำประเด็น “ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี” มากล่าวเพื่อเตรียมความรู้ในอันที่จะเข้าทดสอบเป็น “ผู้สอบบัญชีภาษีอากร” ตามหัวข้อต่อไปนี้

1. เจตนารมณ์ของการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร

2. ปูมประวัติความเป็นมาของ “ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี”

3. การตรวจสอบและรับรองบัญชีตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

4. ผู้สอบบัญชีภาษีอากร

5. องค์กรวิชาชีพบัญชีหรือหน่วยงานจัดอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากรแก่ผู้สอบบัญชีภาษีอากร

6. หลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับกำหนดการรักษาจรรยาบรรณ การปฏิบัติงาน การรายงาน และ บทลงโทษสำหรับผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี

7. บทสรุป

 

1. เจตนารมณ์ของการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร

1.1 ได้มีการตราพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 และ “ประมวลรัษฎากร” โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2482 พร้อมๆ กับพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2482 ซึ่งต่อมาได้มีการเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ขึ้นเป็นครั้งแรกในประมวลรัษฎากร ในปี พ.ศ. 2492 โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2492 ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 เป็นต้นมา พร้อมกับพระราชบัญญัติการบัญชี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2492 ดังนี้

      “มาตรา 3 สัตต เพื่อประโยชน์แห่งการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร การตรวจสอบและรับรองบัญชีจะกระทำได้ก็แต่โดยบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี 

              บุคคลที่จะขอใบอนุญาตจากอธิบดีตามความในวรรคก่อน ต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติและปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

              บุคคลใดได้รับใบอนุญาตดังกล่าวแล้ว ถ้าฝ่าฝืนระเบียบที่อธิบดีกำหนด อธิบดีอาจพิจารณาสั่งถอนใบอนุญาตเสียก็ได้ 

              บทบัญญัติแห่งมาตรานี้จะใช้บังคับในเขตจังหวัดใด ให้อธิบดีประกาศโดยอนุมัติรัฐมนตรี

              การประกาศ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา”

1.2 เจตนารมณ์ของการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร มีบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งในตอนต้นของมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร แล้วว่า เพื่อประโยชน์แห่งการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร...”

      ประกอบกับมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกำหนดให้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนบุคคลยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีตามมาตรา 65 มาตรา 65 ทวิ มาตรา 66 และมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร เกี่ยวกับรายรับ รายจ่าย กำไรสุทธิและรายการอื่น ๆ ต่อเจ้าพนักงานประเมินตามแบบ ภ.ง.ด.50 หรือ ภ.ง.ด.52 พร้อมด้วยบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน บัญชีรายรับรายจ่าย หรือบัญชีรายรับก่อนหักรายจ่ายที่มีบุคคลตามมาตรา 3 สัตต ตรวจสอบและรับรองในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

      ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบเจตนารมณ์ของการจัดทำบัญชีเพื่อประโยชน์แห่งการจัดเก็บภาษีอากร และการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร กับเจตนารมณ์ของการจัดทำงบการเงินและการสอบบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 แล้วอาจแสดงเป็นตารางได้ดังนี้

ตารางเจตนารมณ์ในการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามประมวลรัษฎากร เปรียบเทียบกับ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543

เจตนารมณ์

ตามประมวลรัษฎากร

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

พระราชบัญญัติการบัญชี

พ.ศ. 2543

· ในการจัดทำบัญชี และงบการเงิน

· เพื่อให้การคำนวณภาษีอากรและการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรเป็นไปโดยถูกต้อง ครบถ้วน

·     เพื่อแสดงว่าภายในรอบปีซึ่งพิจารณากันอยู่นั้นการงานของบริษัทได้จัดทำไปเป็นประการใด (วัดผลการดำเนินงาน) ตามมาตรา 1198

·   เพื่อให้มีการแสดงผลการดำเนินงาน ฐานะการเงิน หรือการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงินของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีที่เป็นอยู่ตามความเป็นจริงและตามมาตรฐานการบัญชี ตามมาตรา 20

· การตรวจสอบและรับรองบัญชี และการสอบบัญชี

· เพื่อประโยชน์แห่งการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ตามมาตรา 3 สัตต

·   เพื่อแสดงว่างบการเงินได้จัดทำขึ้นตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปหรือตามมาตรฐานการบัญชี

·   เพื่อแสดงว่างบการเงินได้จัดทำขึ้นตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปหรือตามมาตรฐานการบัญชี

 

มีข้อสังเกตว่า การตราพระราชบัญญัติการสอบบัญชี พ.ศ. 2505 นั้น มุ่งหมายถึงการสอบบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการบัญชีในสมัยนั้น คือ พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2482 และพระราชบัญญัติการบัญชี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496 ยังมิได้ข้อกำหนดให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีต้องจัดให้มีการสอบบัญชี มีแต่เพียงบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้นที่กำหนดให้ต้องมีการสอบบัญชี ตราบจนเมื่อมีการบังคับใช้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 285 ในปี พ.ศ. 2515 จึงได้มีข้อกำหนดให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ทั้งบริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนต้องจัดให้มีการตรวจสอบบัญชี ดังบันทึกหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.ศ. 2505 ที่บันทึกไว้ว่า “…การสอบบัญชีเป็นวิชาชีพอิสระแขนงหนึ่ง อันมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งแก่การพัฒนาเศรษฐกิจ ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายควบคุมการสอบบัญชี ประกอบกับขณะนี้ได้มีผู้สำเร็จการศึกษาวิชาการบัญชีจากมหาวิทยาลัยและสำนักศึกษาต่างๆ มากขึ้น จึงสมควรจะได้ตรากฎหมายกำหนดคุณสมบัติและพื้นความรู้ของผู้สอบบัญชีให้อยู่ในมาตรฐาน ให้มีคณะกรรมการควบคุมให้เป็นไปตามความมุ่งหมายดังกล่าว

 

2. ปูมประวัติความเป็นมาของ “ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี” 

2.1 บทบัญญัติมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากรดังกล่าว เป็นบทบัญญัติเดิมนับแต่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม มีเจตนารมณ์โดยชัดแจ้งที่จะกำหนดให้มีการตรวจสอบและรับรองบัญชีขึ้น “เพื่อประโยชน์แห่งการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร” อันเป็นกฎหมายพิเศษของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 มาตรา 1197 และส่วนที่ 4 ว่าด้วย “การสอบบัญชี” ตามมาตรา 1208 ถึงมาตรา 1214 ที่กำหนดให้มีการสอบบัญชีงบดุลของบริษัทจำกัดเท่านั้น

      ก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ. 2494 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2  แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งหมด โดยเฉพาะมาตรา 68 มาตรา 68 ทวิ และมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจัดทำบัญชีงบดุล บัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุนในรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร พร้อมกับแนบบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน ไปพร้อมกับแบบแสดงรายการ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

2.2 ต่อมาในปี พ.ศ. 2505 ได้มีการตราพระราชบัญญัติการสอบบัญชี พ.ศ. 2505 เพื่อจัดให้มีการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและประกอบกิจการในประเทศไทย โดยกำหนดคุณสมบัติ การปฏิบัติงาน และจรรยาบรรณ (มรรยาท) ของผู้สอบบัญชี และให้เหตุผลในการตรากฎหมายดังกล่าวว่า “…การสอบบัญชีเป็นวิชาชีพอิสระแขนงหนึ่ง อันมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งแก่การพัฒนาเศรษฐกิจ ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายควบคุมการสอบบัญชี ประกอบกับขณะนี้ได้มีผู้สำเร็จการศึกษาวิชาการบัญชีจากมหาวิทยาลัยและสำนักศึกษาต่าง ๆ มากขึ้น จึงสมควรจะได้ตรากฎหมายกำหนดคุณสมบัติและพื้นความรู้ของผู้สอบบัญชีให้อยู่ในมาตรฐาน ให้มีคณะกรรมการควบคุมให้เป็นไปตามความมุ่งหมายดังกล่าว

2.3 จวบจนในปี พ.ศ. 2515 ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 285 (พ.ศ. 2515) อันเป็นกฎหมายว่าด้วยการบัญชีเพื่อใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2482 ที่กำหนดให้กิจการทั้งบริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนต้องจัดให้มีการตรวจสอบบัญชี ว่างบการเงินได้จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการบัญชีหรือหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไปหรือไม่ เพียงใด

2.4 แม้จะได้มีบทบัญญัติมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ที่จะกำหนดให้มีการตรวจสอบและรับรองบัญชีเพื่อประโยชน์แห่งการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรขึ้นเป็นพิเศษก็ตาม แต่กระทรวงการคลัง และกรมสรรพากรก็ยังมิได้นำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับ (Implement) เพื่อประโยชน์แห่งการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรเป็นการเฉพาะแต่อย่างใด ทั้งนี้ ภายใต้ข้อสมมติฐานตามกรอบกระบวนทัศน์เดิม (The old paradigm) ในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรว่า “หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดทำบัญชีให้เป็นไปตามหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป (Generally Accepted Accounting Principle: GAAP) หรือตามมาตรฐานการบัญชีแล้ว บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ย่อมมีฐานข้อมูลทางการเงินที่ดี โดยบันทึกรายการทางการเงินอย่างถูกต้อง ครบถ้วน จะนำไปสู่การคำนวณภาษีอากร โดยเฉพาะการปรับปรุงกำไรสุทธิทางบัญชีให้เป็นกำไรสุทธิทางภาษีอากรเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยถูกต้องและครบถ้วน และเป็นการง่ายที่กรมสรรพากรจะบริหารการจัดเก็บภาษีอากร และทำการตรวจสอบประเมินความถูกต้องทางภาษีอากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

      2.4.1 ตราบจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2523 อธิบดีกรมสรรพากร (นายพนัส สิมะเสถียร) โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี เรื่อง กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2523 เนื่องจากได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามศัพท์ “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ให้หมายความรวมถึง “กิจการร่วมค้า” โดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2521 ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2521 เป็นต้นมา เพื่อให้กิจการร่วมค้า หรือ Joint Venture เป็นหน่วยทางภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นอีกหน่วยหนึ่ง ซึ่งตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 285 (พ.ศ. 2515) หรือกฎหมายว่าด้วยการบัญชีในขณะนั้น มิได้กำหนดให้ “กิจการร่วมค้า” เป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี จึงไม่มีการตรวจสอบและรับรองงบการเงินของกิจการร่วมค้าว่า ได้มีการจัดทำบัญชีให้เป็นไปตามหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป อันเป็นการขัดแย้งกับแนวความคิดข้างต้น โดยได้กำหนดให้การตรวจสอบและรับรองบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องจัดทำและยื่นต่อเจ้าพนักงานประเมินพร้อมกับแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือ ภ.ง.ด.50 ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ให้กระทำได้โดย ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต(CPA: Certified Public Accountant) ตามกฎหมายว่าด้วยการสอบบัญชี โดยถือว่าผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพากรตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว

      2.4.2 สืบเนื่องจากประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2523 ดังกล่าว เป็นผลให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิทั้งหมด ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 พร้อมกับแนบงบดุล ที่มีการตรวจสอบและรับรองโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ในขณะที่แม้ กิจการร่วมค้าไม่มีหน้าที่จัดทำบัญชีและนำส่งงบการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี หรือประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 285 (พ.ศ. 2515) แต่กลับมีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน พร้อมทั้งจัดให้มีการตรวจสอบและรับรองบัญชีโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ซึ่งนับได้ว่า เป็นปรากฏการณ์ “ความแตกต่างของการตรวจสอบและรับรองบัญชีทางการเงิน และการตรวจสอบและรับรองบัญชีเพื่อประโยชน์แห่งการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร” ที่ชัดเจนประการหนึ่ง นอกเหนือไปจากหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการรับรู้รายได้ รายจ่าย และการตีราคาทรัพย์สินและหนี้สิน

      2.4.3 ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2525 ได้มีการตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2525 แก้ไขเพิ่มเติมความในมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิต้องแนบบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน ไปพร้อมกับแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) นั้น ต้องมีบุคคลตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ “ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี” ตรวจสอบและรับรองในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศอธิบดีกรมสรรรพากร เรื่อง กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2523 และในชั้นนี้กรมสรรพากรมิได้ดำเนินการอื่นใดเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี นอกเหนือไปจากการกำหนดให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีตามประกาศอธิบดีกรมสรรรพากรฯ ลงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2523 อีกเลย

2.5 ในปี พ.ศ. 2525 อธิบดีกรมสรรพากรอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 35) เรื่อง กำหนดให้ผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลแจ้งข้อความตามมาตรา 17 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2533 ซึ่งต่อมาได้ถูกยกเลิกโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 96)ฯ ลงวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2544 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 126)ฯ ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 ซึ่งได้กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องแจ้งข้อความเกี่ยวกับกิจการอย่างน้อยตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดและยื่นต่อเจ้าพนักงานประเมินพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการ ในประเด็นดังต่อไปนี้  

      - รายได้จากการขายสินค้า บริการ หรือทรัพย์สิน ให้กู้ยืมเงินเป็นไปตามราคาตลาดตามนัยมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร

      - การซื้อทรัพย์สิน รวมทั้งรายจ่ายเพื่อการซื้อทรัพย์สินดังกล่าว และค่าบริการในราคาที่เกินปกติ ตามนัยมาตรา 65 ตรี (15) แห่งประมวลรัษฎากร

      - การตั้งเจ้าหนี้ หรือลูกหนี้โดยไม่มีตัวตน หรือมีตัวตน แต่จำนวนเกินความเป็นจริง ซึ่งส่อไปในทางทุจริตหลีกเลี่ยงภาษีอากรตามนัยมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร

      - มีผลขาดทุนสุทธิติดต่อกันเกินกว่า 3 รอบระยะเวลาบัญชีแต่มีการขยายกิจการ อันเป็นการขัดแย้งกับเจตนารมณ์ในการจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเพื่อแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน

      - ความครบถ้วนของการหักและนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในชั้นแรก กล่าวถึงการจัดทำบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและการนำส่ง ต่อมาจึงได้เปลี่ยนเป็น ความครบถ้วนของการหักและนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย อันเป็นหน้าที่ที่สำคัญของผู้จ่ายเงินได้ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

      พร้อมทั้งกำหนดให้ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีทำการทดสอบรายการตามแบบแจ้งข้อความของกรรมการ หุ้นส่วนผู้จัดการ หรือผู้จัดการ และแสดงความเห็นถึงความถูกต้องหรือความเห็นอื่น โดยลงลายมือชื่อไว้ในแบบแจ้งข้อความดังกล่าว อีกทั้งมีคำเตือนว่า “ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร และหากฝ่าฝืนมีความผิดและต้องระวางโทษตามประมวลรัษฎากร”

2.6 ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 ได้มีการตราพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 285 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2543 เป็นต้นไป กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล รวมทั้ง กิจการร่วมค้าตามมาตรา 39 ประมวลรัษฎากรเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีและจัดให้มีการตรวจสอบและแสดงความเห็นเกี่ยวกับงบการเงินโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต

      รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อาศัยอำนาจตามมาตรา 11 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ออกกฎกระทรวง เพื่อกำหนดให้ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยขนาดเล็ก ซึ่งได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่มีทุนเรียกชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท และมีทรัพย์สินรวมไม่เกิน 30 ล้านบาท ไม่ต้องจัดให้มีการตรวจสอบและแสดงความเห็นในงบการเงินที่ต้องยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทั้งนี้ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดในหรือหลังวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2545 เป็นต้นไป

 

แผนผังแสดงรูปแบบของกฎหมายที่ออกตามความในมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร

มาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี

เรื่อง กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2544


คำสั่งกรมสรรพากรที่

ท.ป. 98/2544

เรื่อง กำหนดคุณสมบัติ การทดสอบ การขอขึ้นทะเบียนการออกใบอนุญาต การอบรม การต่ออายุ และการขอออกใบแทนใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร

คำสั่งกรมสรรพากรที่

ท.ป. 122/2545

เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติงาน และการรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีของผู้สอบบัญชีภาษีอากร ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร 

คำสั่งกรมสรรพากรที่

ท.ป. 123/2545

เรื่อง กำหนดจรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร    

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

· เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการอบรม ทางด้านกฎหมายภาษีอากรของผู้สอบบัญชีภาษีอากร

· เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเป็นองค์กรวิชาชีพบัญชีหรือหน่วยงานที่อธิบดีให้ความเห็นชอบในการจัดอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากรแก่ผู้สอบบัญชีภาษี

· เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรฯ

· เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการอบรมของผู้สอบบัญชีภาษีอากร

· เรื่อง กำหนดแบบคำขอ/แบบแจ้งเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นแบบคำขอ/แบบแจ้งเกี่ยวกับ การตรวจสอบและรับรองบัญชีฯ

· เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการขอขึ้นทะเบียน การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การขอออกใบแทนใบอนุญาต และการขอแก้ไขทะเบียนของผู้สอบบัญชีภาษีอากรฯ

คู่มือการปฏิบัติงาน

·  เรื่อง การจัดทำรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชี

·  เรื่อง การจัดทำแนวทางการสอบบัญชี

·  เรื่อง การจัดทำกระดาษทำการ 

·  เรื่อง การทดสอบรายการทางบัญชีและภาษีอากร

·  คำแนะนำในการขอยืนยันการออกใบกำกับภาษีซื้อ

-

· ประกาศกรมสรรพากร เพื่อกำหนดกิจกรรมเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี

-

-

 

 

2.7 เพื่อรองรับการที่ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยขนาดเล็กดังกล่าว จะไม่ต้องมีการตรวจสอบและแสดงความเห็นในงบการเงินที่ต้องยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า อันเป็นผลทำใหไม่มีการตรวจสอบและรับรองบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุนดังกล่าว จึงในปี พ.ศ. 2544 อธิบดีกรมสรรพากร (นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล) โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร จึงออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี เรื่อง กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2544 โดยให้ยกเลิกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2523

 

3. การตรวจสอบและรับรองบัญชี  

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากร (นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล) โดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี เรื่อง กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 12 มีนาคม 2544 กำหนดคุณสมบัติและระเบียบปฏิบัติสำหรับบุคคลที่ทำการตรวจสอบและรับรองบัญชีบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร

จากบทบัญญัติดังกล่าวอาจแยกพิจารณาได้ดังนี้

3.1 การตรวจสอบและรับรองบัญชี สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดในหรือหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2545 หมายความว่า การตรวจสอบและรับรองงบการเงินที่จัดทำขึ้นตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543

3.2 ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี

      ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี ต้องมีคุณสมบัติตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี เรื่อง กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 12 มีนาคม 2544 ดังนี้

      3.2.1 ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎหมายเกี่ยวกับการสอบบัญชี เป็นผู้ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีสำหรับบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไปที่มิใช่ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดให้งบการเงินได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็น โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตาม 2.1.2

      3.2.2 ผู้สอบบัญชีภาษีอากรที่ขอขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพากร ให้เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีเฉพาะห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดให้งบการเงินได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็น โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5,000,000 บาท และมีรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีปีใดไม่ถึง 30,000,000 บาท และมีทรัพย์สินรวมในรอบระยะเวลาบัญชีปีใดไม่ถึง 30,000,000 บาท

             อนึ่ง หากรอบระยะเวลาบัญชีปีใดห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วเกินกว่า 5,000,000 บาท และหรือมีรายได้เกินกว่า 30,000,000 บาท และหรือมีทรัพย์สินรวมเกินกว่า 30,000,000 บาท ต้องให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตดำเนินการตรวจสอบและรับรองบัญชี

             เช่นเดียวกับ ความตามมาตรา 1255 แห่งประมวลแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้บัญญัติให้การตรวจสอบงบดุลของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด ที่ได้มีการเลิกกิจการและชำระบัญชีต้องมีการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ดังนั้น หากห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่มีที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5,000,000 บาท และมีรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีปีใดไม่ถึง 30,000,000 บาท และมีทรัพย์สินรวมในรอบระยะเวลาบัญชีปีใดไม่ถึง 30,000,000 บาท ได้มีการแจ้งเลิกกิจการ  ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจึงไม่มีสิทธิตรวจสอบและรับรองงบการเงินที่แจ้งเลิก 

3.3 หน้าที่และความรับผิดชอบของ ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีตามประมวลรัษฎากร

      3.3.1 การปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชี 

             (1)ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต” (CPA: Certified Public Accountant) ต้องปฏิบัติงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีของบัญชีบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ตามกฎหมายเกี่ยวกับการสอบบัญชี หรือประกาศขององค์กรวิชาชีพบัญชีที่กฎหมายกำหนด

                    สำหรับการตรวจสอบและรับรองบัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5,000,000 บาท และมีรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีปีใดไม่ถึง 30,000,000 บาท และมีทรัพย์สินรวมในรอบระยะเวลาบัญชีปีใดไม่ถึง 30,000,000 บาท ซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดให้งบการเงินได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดเช่นเดียวกับผู้สอบบัญชีภาษีอากร ในเรื่องมรรยาท การปฏิบัติงาน การรายงาน และบทลงโทษ

                   กรณีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตซึ่งหมดสิทธิในการเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตไม่ว่าด้วยประการใด  ให้ถือว่าเป็นผู้หมดสิทธิในการเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

             (2)ผู้สอบบัญชีภาษีอากร” (TA: Tax Auditor) ต้องปฏิบัติงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 98/2544 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2545 คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 122/2545 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 123/2545 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ในเรื่องดังต่อไปนี้ (ดู รายละเอียดตามข้อ 4 และข้อ 6)

                   (ก) คุณสมบัติ การทดสอบ การขอขึ้นทะเบียน การออกใบอนุญาตการอบรม การต่ออายุ และการขอออกใบแทนใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร

                   (ข) การปฏิบัติงาน การรายงาน และบทลงโทษ

                   (ค) จรรยาบรรณ

      3.3.2 ความรับผิดชอบของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี

             “ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีมีความรับผิดชอบตามประมวลรัษฎากรดังนี้

             (1) ต้องรักษามรรยาทในการตรวจสอบและรับรองบัญชี ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

             (2) ต้องสอดส่องใช้ความรู้ และความระมัดระวังในการตรวจสอบและรับรองบัญชีเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพโดยทั่วไปต้องปฏิบัติ ในกรณีที่พบว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเจ้าของบัญชีได้มีการกระทำหรืองดเว้นการกระทำเอกสารประกอบการลงบัญชี และหรือลงบัญชีโดยที่เห็นว่าไม่ตรงกับความเป็นจริง อันอาจเป็นเหตุให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น มิต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยกว่าที่ควรเสียอันเป็นสาระสำคัญ ให้ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีเปิดเผยข้อเท็จจริงที่พบในแบบแจ้งข้อความที่อธิบดีกำหนด

                   ในกรณีที่กรรมการ หรือผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้จัดการของ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแจ้งข้อความเกี่ยวกับกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามแบบแจ้งข้อความที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด เพื่อยื่นพร้อมกับแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลของกิจการนั้น ให้ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีทำการทดสอบรายการดังกล่าวด้วย

      3.3.3 กรณี ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชี และรักษามรรยาทในการตรวจสอบและรับรองบัญชี อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจสั่งถอนใบอนุญาตการเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีได้

 

4. ผู้สอบบัญชีภาษีอากร

หลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับคุณสมบัติ การทดสอบ การขอขึ้นทะเบียน  การออกใบอนุญาต การอบรม การต่ออายุ  และการขอออกใบแทนใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร เป็นไปตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 98/2544 เรื่อง กำหนดคุณสมบัติ การทดสอบ การขอขึ้นทะเบียน การออกใบอนุญาต การอบรม การต่ออายุ และการขอออกใบแทนใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2544 ดังนี้

4.1 คุณสมบัติของ ผู้สอบบัญชีภาษีอากร

    4.1.1 สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบัญชี หรือประกาศนียบัตรทางการบัญชี ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการหรือทบวงมหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนรับรองเทียบเท่าไม่ต่ำกว่าปริญญาดังกล่าว

    4.1.2 มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์

    4.1.3 มีสัญชาติไทย หรือมีสัญชาติของประเทศที่ยินยอมให้บุคคลสัญชาติไทยเป็นผู้สอบบัญชีในประเทศนั้นได้

    4.1.4 ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี

    4.1.5 ไม่เคยต้องโทษจำคุกในคดีเกี่ยวกับภาษีอากรหรือคดีอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรเห็นว่า อาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งความเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร

    4.1.6 ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

    4.1.7 ไม่เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีที่อยู่ระหว่างถูกสั่งพักหรือถูกเพิกถอนบอนุญาต

    4.1.8 ต้องผ่านการทดสอบตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

4.2 การทดสอบ 

    4.2.1 ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องผ่านการทดสอบวิชาต่างๆ ที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ซึ่งในการทดสอบความรู้ครั้งที่ 43 (3/2560) กรมสรรพากรได้กำหนดขอบเขตเนื้อหาวิชาที่ทำการทดสอบดังต่อไปนี้

         (1) วิชาการบัญชี ทดสอบความรู้เกี่ยวกับการบัญชีเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน โดยครอบคลุมเนื้อหาในเรื่องดังต่อไปนี้

            (ก) แม่บทการบัญชี (Accounting Framework) หรือแม่บทการบัญชีสำหรับการจัดทำและนำเสนองบการเงิน(Framework for the Preparation and Preparation and Presentation of Financial Statement)ไม่ถือว่าเป็นมาตรฐานการบัญชีแต่เป็นกรอบหรือแนวคิดขั้นพื้นฐานในการจัดทำและนำเสนองบการเงินตลอดจนการกำหนดและนำเสนองบการเงินตลอดจนการกำหนดและนำมาตรฐานการบัญชีมาปฏิบัติซึ่งผู้จัดทำและผู้ใช้งบการเงินจำเป็นต้องเข้าใจเนื้อหาในแม่บทการบัญชีก่อนที่จะสามารถเข้าใจและปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีเฉพาะเรื่องได้อย่างถูกต้อง

            (ข) การจัดทำงบการเงินตามประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน พ.ศ. 2554 ลงวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554 และคำชี้แจงกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน 2554 ลงวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554 และคำชี้แจงกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ลงวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2559

            (ค) การเปิดเผยข้อมูลในงบการเงิน ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียสาธารณะ

            (ง) มาตรฐานการบัญชีเกี่ยวกับสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของผู้เป็นหุ้นส่วน ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียสาธารณะ

            (จ) การรับรู้รายได้และค่าใช้จ่าย ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียสาธารณะ

            (ช) การบัญชีต้นทุนผลิตสินค้า อาทิ ต้นทุนงานสั่งทำและต้นทุนช่วง

            ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียสาธารณะ (TFRS for Non-Publicly Accountable Entries: NPAEs) ที่สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศใช้ในปัจจุบัน

         (2) วิชาการสอบบัญชี ทดสอบความรู้เกี่ยวกับการสอบบัญชีตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศใช้ในปัจจุบันและตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานและการรายงานสำหรับผู้สอบบัญชีภาษีอากร ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร โดยครอบคลุมถึง

            (ก) หลักฐานการสอบบัญชี และวิธีการรวบรวมหลักฐาน

            (ข) หลักพื้นฐานในการควบคุมภายใน

            (ค) การประเมินความเสี่ยง

            (ง) เทคนิคต่างๆ ที่ใช้ในการสอบบัญชี

            (จ) การจัดทำกระดาษทำการ

            กระดาษทำการ หมายถึง หลักฐานที่แสดงถึงการปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชี  หลักฐานที่ได้รับจากการปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชี และสิ่งที่ตรวจพบจากการตรวจสอบของผู้สอบบัญชีภาษีอากร  ซึ่งได้แก่ เอกสารที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรได้จัดทำขึ้นเอง  เอกสารที่ได้รับมาจากกิจการที่ทำการตรวจสอบ  หรือที่ขอจากบุคคลภายนอกกิจการ ทั้งนี้ เพื่อใช้ในการจัดทำรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชี

            การจัดทำกระดาษทำการกระดาษทำการไม่มีขอบเขต รูปแบบ และเนื้อหาที่แน่นอนขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และเนื้อหาในเรื่องที่ตรวจสอบ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องของการใช้ดุลยพินิจเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพของผู้สอบบัญชีภาษีอากรเอง (ที่มา: https://th.jobsdb.com/th-th/articles/)

            (ฉ) การจัดทำแนวการตรวจสอบ

            (ช) การสอบทานและการควบคุมงานสอบบัญชี

            (ซ) การเขียนรายงานตามแบบรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชี ที่มีข้อความตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดท้ายคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 122/2545 เรื่อง    กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติงาน และการรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีของผู้สอบบัญชีภาษีอากร ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545

            (ฌ) จรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 123/2545 เรื่อง กำหนดจรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545

         (3) วิชาความรู้เกี่ยวกับประมวลรัษฎากร และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ทดสอบความรู้เกี่ยวกับ

            (ก) ประมวลรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับ

                1) การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้อกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน เท่านั้น ขอบเขตของเนื้อหาจึงแคบกว่ากรณีทั่วไปอย่างมาก อาทิ  

                   - ความสัมพันธ์และความแตกต่างของกำไรสุทธิทางบัญชีกับกำไรสุทธิทางภาษีอากร ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

                   - เงื่อนไขเกี่ยวกับรายได้ตาม

                    มาตรา 65 – เกณฑ์รับรู้รายได้ – รายจ่าย

                    มาตรา 65 ทวิ (4)– การรับรู้รายได้จากการประกอบกิจการตามราคาตลาด (10) – การรับรู้เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร ทั้งจำนวน (14)– ภาษีขายไม่ใช่รายได้

                    มาตรา 70 ตรี – กรณีถือเป็นการขาย แห่งประมวลรัษฎากร รวมทั้งรายการรายได้ที่ได้รับยกเว้นกรณีต่างๆ

                  - เงื่อนไขเกี่ยวกับรายจ่าย ตาม

                    มาตรา 65 ทวิ (1) – รายการรายจ่ายต้องห้ามตาม

                    มาตรา 65 ทวิ (2) – การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินถาวร

                    มาตรา 65 ทวิ (5) – ราคาทุนของสินค้าที่เป็นเงินตราต่างประเทศ

                    มาตรา 65 ทวิ (9) – การจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ แห่งประมวลรัษฎากร รวมทั้งรายการรายจ่ายที่หักได้เพิ่มขึ้น

                  - หลักเกณฑ์ในการตีราคาทรัพย์สินและหนี้สิน ตาม

                    มาตรา 65 ทวิ (3) – การตีราคาทรัพย์สินอย่างอื่นที่มิใช่สินค้าคงเหลือหรือเงินตราต่างประเทศ

                    มาตรา 65 ทวิ (5) – การตีราคาเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินที่มีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศ

                    มาตรา 65 ทวิ (6) – การตีราคาสินค้าคงเหลือ และมาตรา 74 (1) การตีราคาทรัพย์สิน ณ วันเลิกกิจการ แห่งประมวลรัษฎากร

               2) ภาษีมูลค่าเพิ่ม อาทิ

                  - กิจกรรมที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และกิจกรรมที่ไม่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Out of VAT Scope)  

                  - ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 78 – มาตรา 78/3 แห่งประมวลรัษฎากร และกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ. 2534)

                  - ฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม และกรณีที่ไม่นับเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 79 ถึงมาตรา 79/7 แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40)

                  - อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 80 ถึงมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร

                  - การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 ถึงมาตรา 81/3 แห่งประมวลรัษฎากร

                  - หน้าที่ของผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม อาทิ หน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 85 ถึงมาตรา 85/19 แห่งประมวลรัษฎากร หน้าที่เกี่ยวกับใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ ตามมาตรา 86 ถึงมาตรา 86/14 แห่งประมวลรัษฎากร หน้าที่เกี่ยวกับรายงานในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 87 ถึงมาตรา 87/3 แห่งประมวลรัษฎากร หน้าที่เกี่ยวกับการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 ถึงมาตรา 82/15 แห่งประมวลรัษฎากร หน้าที่เกี่ยวกับการยื่นรายการและการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 83 ถึงมาตรา 83/10 แห่งประมวลรัษฎากร

                  - สิทธิของผู้ประกอบการจดทะเบียน

                  - เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และบทกำหนดโทษทางอาญา

               3) ภาษีธุรกิจเฉพาะ อาทิ

                  - กิจกรรมที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2 (1) – (8) แห่งประมวลรัษฎากร (ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 26/2534 ประกอบ)

                  - การยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/3 แห่งประมวลรัษฎากร

                  - ฐานภาษีและอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2 (1) – (8) แห่งประมวลรัษฎากร

                  - วิธีการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/10 แห่งประมวลรัษฎากร

               4) อากรแสตมป์ อาทิ

                  - ลักษณะตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์

                  - คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 153/2559

               5) การหักภาษึเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

                  - หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 มาตรา 69 ทวิ มาตรา 69 ตรี และมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528

                  - หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร

                  - หน้าที่ของผู้นำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

               6) การจัดทำรายงานและบัญชีพิเศษตามประมวลรัษฎากร รวมถึงประกาศเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร

            (ข) กฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน

               1) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในส่วนที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน

               2) พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ประกาศและคำสั่งของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในส่วนที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน

    4.2.2 เกณฑ์การผ่านการทดสอบแต่ละวิชา เพื่อขึ้นทะเบียนเป็น ผู้สอบบัญชีภาษีอากรในแต่วิชาผู้ทดสอบต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 จากคะแนนเต็ม 100 โดยแบ่งเป็นข้อสอบปรนัย 40 ข้อ (40 คะแนน) และข้อสอบอัตนัย 3 ข้อข้อละ 20 คะแนน (รวม 60 คะแนน)     

    4.2.3 หน่วยงานผู้รับผิดชอบดำเนินการเกี่ยวกับการสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรได้แก่ กรมสรรพากรหรือหน่วยงานที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย

          การเปิดให้มีการทดสอบ การยื่นคำขอสมัครทดสอบ ระยะเวลารับสมัคร วันเวลา สถานที่ทดสอบ ขอบเขตวิชาที่ทดสอบ ค่าธรรมเนียมในการทดสอบ สถานที่ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการทดสอบ ผู้ผ่านการทดสอบ และรายละเอียดอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

    4.2.4 อาศัยอำนาจตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 5 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี เรื่อง กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 12 มีนาคม 2544 และข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 98/2544 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2544 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรไว้ดังต่อไปนี้

          (1) ผู้ขอเข้ารับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร จะต้องยื่นคำขอเข้ารับการทดสอบตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

          (2) ผู้ขอเข้ารับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร จะต้องได้คะแนนในแต่ละวิชาไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 จึงจะถือว่าสอบผ่านในวิชานั้น

          (3) ผู้เข้ารับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรสามารถสะสมผลการทดสอบของแต่ละวิชาที่สอบผ่านได้ไม่เกิน 3 ปีนับแต่วันที่ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการทดสอบในแต่ละวิชา

          (4) ผู้ประสงค์จะเข้ารับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ และวุฒิการศึกษายังไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สามารถยื่นคำขอให้พิจารณาวุฒิการศึกษาก่อนยื่นคำขอเข้ารับการทดสอบได้ตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด และจะต้องยื่นเอกสารหลักฐาน ดังนี้

                (ก) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 1 ฉบับ

                (ข) ภาพถ่ายปริญญาบัตร จำนวน 3 ฉบับ

                (ค)  ภาพถ่ายใบแสดงผลการศึกษารายวิชา (Transcript) จำนวน 3 ฉบับ

                (ง) ภาพถ่ายคู่มือ/รายละเอียดหลักสูตรการศึกษาของสถาบันที่สำเร็จการศึกษาจำนวน 3 ฉบับ

4.3 การขอขึ้นทะเบียนและการขอใบอนุญาตเป็น ผู้สอบบัญชีภาษีอากร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ 

    4.3.1 ผู้ผ่านการทดสอบทุกวิชาตาม 4.2 จะต้องยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร พร้อมชำระค่าธรรมเนียมต่ออธิบดีตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการทดสอบ โดยต้องปฏิบัติดังนี้

          (1) มีข้าราชการพลเรือนสามัญ ระดับ 7 ขึ้นไป หรือข้าราชการอื่น ๆ เทียบเท่าข้าราชการพลเรือนสามัญ ระดับ 7 ขึ้นไป หรือผู้สอบบัญชีรับอนุญาต หรือผู้สอบบัญชีภาษีอากร รับรองว่าผู้ขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ที่มีความประพฤติดี และมีคุณสมบัติครบถ้วนสมควรเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรได้ ตามหนังสือรับรองความประพฤติและคุณสมบัติของผู้ขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรที่  แนบท้ายประกาศนี้

          (2) ผู้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนที่มีความประสงค์จะให้นำชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ของตนเองลงในเว็บไซต์ของกรมสรรพากรเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ ให้แจ้งความประสงค์ดังกล่าวไว้ในคำขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร ด้วย

          (3) เอกสารหลักฐานที่ต้องยื่นสำหรับการขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร 

              (ก) ภาพถ่ายใบปริญญาบัตร ตามวุฒิการศึกษาที่ใช้ในการยื่นคำขอเข้ารับการทดสอบ จำนวน 1 ฉบับ

              (ข) ภาพถ่ายใบแสดงผลการศึกษารายวิชา (Transcript) จำนวน 2 ฉบับ

              (ค) ภาพถ่ายใบระเบียนแสดงผลการเรียนระดับ ปวท. หรือ ปวส. หรืออนุปริญญา กรณีผู้ขอขึ้นทะเบียนสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่อง 2 ปี จำนวน 1 ฉบับ

              (ง) ภาพถ่ายใบรับรองคุณวุฒิจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน กรณีจบการศึกษาจากต่างประเทศ หน่วยงานละ1 ฉบับ  

              (จ) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 1 ฉบับ

              (ฉ) ภาพถ่ายใบเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล (ถ้ามี) จำนวน 1 ฉบับ

              (ช) ภาพถ่ายใบสำคัญการสมรสหรือใบสำคัญการหย่า (ถ้ามี) จำนวน 1 ฉบับ

              (ซ) รูปถ่ายปกติหน้าตรง แต่งกายสุภาพ ไม่สวมหมวก ไม่สวมแว่นตาดำ โดยถ่ายในคราวเดียวกันไม่เกิน 6 เดือนก่อนวันยื่นคำขอ ขนาด 2 นิ้ว จำนวน 2 รูป

              (ฌ) หนังสือรับรองความประพฤติและคุณสมบัติของผู้ขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรพร้อมแนบเอกสารหลักฐานของผู้ให้คำรับรอง ได้แก่

                  - ภาพถ่ายบัตรประจำตัวของข้าราชการผู้ให้คำรับรองจำนวน 1 ฉบับ หรือ

                  - ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน และภาพถ่ายใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชี กรณีผู้รับรองเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตหรือผู้สอบบัญชีภาษีอากร อย่างละ 1 ฉบับ

    4.3.2 เมื่อผู้ขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน ให้เจ้าหน้าที่เสนอคำขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรต่ออธิบดีกรมสรรพากร เพื่อพิจารณาอนุมัติให้รับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร

    4.3.3 เมื่ออธิบดีอนุมัติให้รับขึ้นทะเบียน และออกใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรแล้ว เจ้าหน้าที่จะทำการบันทึกชื่อ ที่อยู่ คุณวุฒิ ที่ตั้งสำนักงาน และรายละเอียดอื่นๆ ตามที่ได้แจ้งไว้ตามคำขอขึ้นทะเบียน และติดรูปถ่ายของผู้นั้นลงในทะเบียนผู้สอบบัญชีภาษีอากรแล้วจึงออกใบอนุญาตให้

           ใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรให้ใช้แบบที่อธิบดีกำหนด และให้มีอายุห้าปี

4.4 การเข้าฝึกอบรมของ ผู้สอบบัญชีภาษีอากร

    4.4.1 เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรแล้ว ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องเข้ารับการอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากรไม่น้อยกว่า 9 ชั่วโมงต่อปีจากองค์กรวิชาชีพบัญชีหรือหน่วยงานที่อธิบดีกรมสรรพากรให้ความเห็นชอบ

    4.4.2 อาศัยอำนาจตามมาตรา 3 สัตต และข้อ 5 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี เรื่อง กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 12 มีนาคม 2544 และข้อ 4 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 98/2544 ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2544 อธิบดีกรมสรรพากรออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากรของผู้สอบบัญชีภาษีอากร ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ลงในประกาศดังกล่าวเป็นต้นไป ดังนี้

          (1) ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องเข้ารับการอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากรจากองค์กรวิชาชีพบัญชีหรือหน่วยงานที่อธิบดีกรมสรรพากรให้ความเห็นชอบในการจัดอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากรแก่ผู้สอบบัญชีภาษีอากร ไม่น้อยกว่าเก้าชั่วโมงต่อปี และแจ้งการเข้ารับการอบรมต่ออธิบดีผ่านผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการสอบบัญชีภาษีอากรตามแบบคำขอแจ้งการเข้ารับการอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากรตามแบบที่กำหนดภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ใบอนุญาตมีอายุครบทุกหนึ่งปี สำหรับปีสุดท้ายที่ใบอนุญาตสิ้นอายุให้แจ้งพร้อมการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต

          (2) กรณีมีเหตุจำเป็นไม่สามารถเข้ารับการอบรมตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดได้ให้ยื่นคำขอผ่อนผันการเข้ารับการอบรมต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการสอบบัญชีภาษีอากรตามแบบคำขอทั่วไปตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ใบอนุญาตมีอายุครบทุกหนึ่งปี สำหรับปีสุดท้ายที่ใบอนุญาตสิ้นอายุจะไม่พิจารณาผ่อนผันให้

          (3) ผู้สอบบัญชีภาษีอากรที่ไม่ได้เข้ารับการอบรมหรือเข้ารับการอบรมน้อยกว่าเก้าชั่วโมงต่อปี อธิบดีกรมสรรพากรอาจพิจารณาพักใบอนุญาตการเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรเป็นการชั่วคราวจนกว่าผู้นั้นจะได้เข้ารับการอบรมครบตามที่กำหนดและแจ้งการเข้ารับการอบรมดังกล่าวต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามแบบที่กำหนดใน (1)

              การพักใบอนุญาตเป็นการชั่วคราว มิได้ทำให้อายุของใบอนุญาตสะดุดหยุดลง  ใบอนุญาตยังคงมีอายุห้าปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต

          (4) เอกสารหลักฐานที่ต้องยื่นพร้อมการแจ้งการเข้ารับการอบรม

              (ก) สำเนาหรือภาพถ่ายใบประกาศนียบัตร หรือหนังสือรับรองการเข้ารับการอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากรจากองค์กรวิชาชีพบัญชีหรือหน่วยงานที่อธิบดีกรมสรรพากรให้ความเห็นชอบในการจัดอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากรแก่ผู้สอบบัญชีภาษีอากร        

              (ข) สำเนาหรือภาพถ่ายใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมการเข้ารับการอบรม

4.5 การต่ออายุใบอนุญาตการเป็น ผู้สอบบัญชีภาษีอากร

    4.5.1 กรณีใบอนุญาตหมดอายุ

          (1) ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรต่ออธิบดีกรมสรรพากรกำหนดตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด  และชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตภายในสามเดือนก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นสุด โดยให้แนบสำเนาหรือภาพถ่าย ใบประกาศนียบัตร หรือหนังสือรับรองผ่านการอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากรที่ได้รับการอบรมระหว่างที่เป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร ไม่น้อยกว่า 9 ชั่วโมงต่อปีจากองค์กรวิชาชีพบัญชีหรือหน่วยงานที่อธิบดีกรมสรรพากรให้ความเห็นชอบ

              (ก) ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรตามแบบที่อธิบดีกำหนด ภายในสามเดือนก่อนวันที่ใบอนุญาตหมดอายุ พร้อมแจ้งการเข้ารับการอบรมในปีที่ใบอนุญาตหมดอายุตามแบบที่อธิบดีกำหนด

              (ข) กรณีที่ไม่สามารถยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรภายในเวลาที่กำหนดตาม (ก) ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องขอความเห็นชอบจากอธิบดีเพื่อขอต่ออายุใบอนุญาตก่อนระยะเวลาดังกล่าวแต่จะต้องไม่เกินหกเดือนก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นสุดตามแบบที่อธิบดีกำหนด

              (ค) กรณีที่ไม่สามารถยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรภายในเวลาที่กำหนดตาม (ก) หรือ (ข) ให้ถือว่าผู้นั้นหมดสภาพการเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรและหากประสงค์จะเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรต่อไปจะต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นสุดและเข้ารับการอบรมนอกเหนือจากที่ต้องแจ้งตาม (ก) เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบแปดชั่วโมง โดยจะต้องแจ้งต่ออธิบดีตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด พร้อมยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้เข้ารับการอบรมครบสิบแปดชั่วโมง  

              (ง) กรณีที่ไม่ได้เข้ารับการอบรม หรือเข้ารับการอบรมไม่ครบตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด หรือตามที่ได้รับการผ่อนผันการเข้ารับการอบรมจากอธิบดีกรมสรรพากร ผู้นั้นจะไม่ได้รับการต่ออายุใบอนุญาต

          (2) เอกสารหลักฐานที่ต้องยื่นสำหรับการขอต่ออายุใบอนุญาต

              (ก) ใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร

              (ข) รูปถ่ายหน้าตรง แต่งกายสุภาพ ไม่สวมหมวก ไม่สวมแว่นตาดำ ถ่ายในคราวเดียวกันไม่เกิน 6 เดือนก่อนวันยื่นคำขอ ขนาด 2 นิ้ว จำนวน 2 รูป

          (3) กรณีที่ไม่สามารถยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรภายในเวลาที่กำหนดใน (1) ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตก่อนระยะเวลาดังกล่าวได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีแล้ว แต่ทั้งนี้ ต้องขอต่ออายุใบอนุญาตภายในเวลาไม่เกินหกเดือนก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นสุด มิฉะนั้นให้ถือว่า ผู้นั้นหมดสภาพการเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร และหากประสงค์จะเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรต่อไปจะต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตและเข้ารับการอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากรอีกเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 18 ชั่วโมง

          (4) ใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรที่ได้รับการต่ออายุแล้ว ให้มีอายุห้าปีนับแต่วันที่ใบอนุญาตสิ้นสุด

    4.5.2 กรณีพ้นจากการถูกเพิกถอนใบอนุญาต

          ผู้สอบบัญชีภาษีอากรที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตมีสิทธิยื่นคำขอ เพื่อให้ได้รับการพิจารณาอนุญาตให้กลับไปเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรได้อีก  เมื่อเวลาผ่านไปเกินกว่าสามปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต แต่ต้องผ่านการทดสอบทุกวิชาตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของอธิบดีกรมสรรพากร

4.6 การขอออกใบแทนใบอนุญาต และการขอแก้ไขทะเบียน ผู้สอบบัญชีภาษีอากร” 

    4.6.1 ในกรณีใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรสูญหายหรือถูกทำลายหรือชำรุดเสียหายจนไม่สามารถใช้การได้ ให้ผู้สอบบัญชีภาษีอากรยื่นคำขอใบแทนใบอนุญาตต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด และจะต้องยื่นเอกสารหลักฐาน ดังนี้

          (1) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน

          (2) บันทึกประจำวันรับแจ้งเอกสารหายของสถานีตำรวจ กรณีสูญหาย

          (3) ใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร กรณีถูกทำลายหรือชำรุดเสียหายบางส่วน

          (4) รูปถ่ายหน้าตรง แต่งกายสุภาพ ไม่สวมหมวก ไม่สวมแว่นตาดำ โดยถ่ายในคราวเดียวกันไม่เกิน 6 เดือนก่อนวันยื่นคำขอ ขนาด 2 นิ้ว จำนวน 2 รูป

          ใบแทนใบอนุญาตให้ใช้แบบเดียวกันกับใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด แต่ให้ระบุข้อความเพิ่มเติมว่า ใบแทนไว้ในที่ซึ่งเห็นได้ชัดเจน และให้มีอายุเช่นเดียวกันกับใบอนุญาตฉบับจริงที่สูญหายหรือถูกทำลายหรือชำรุดเสียหายจนไม่สามารถใช้การได้นั้น

    4.6.2 ผู้สอบบัญชีภาษีอากร ที่มีการเปลี่ยนแปลงรายการทางทะเบียนตามที่ได้แจ้งไว้แล้ว ได้แก่ ชื่อ ที่อยู่ และที่ตั้งสำนักงานตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ต่ออธิบดีกรมสรรพากร ให้แจ้งแก้ไขการเปลี่ยนแปลงต่ออธิบดีกรมสรรพากร ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด และจะต้องยื่นเอกสารหลักฐาน ดังนี้

          (1) ภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน

          (2) ใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร 

          (3) รูปถ่ายหน้าตรง แต่งกายสุภาพ ไม่สวมหมวก ไม่สวมแว่นตาดำ โดยถ่ายในคราวเดียวกันไม่เกิน 6 เดือนก่อนวันยื่นคำขอ ขนาด 2 นิ้ว จำนวน 2 รูป

          (4) ภาพถ่ายเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงรายการทางทะเบียน

    4.6.3 สำเนาหรือภาพถ่ายเอกสารหลักฐานที่ต้องนำส่งสำหรับการยื่นคำขอดังกล่าว ผู้ยื่นคำขอจะต้องลงลายมือชื่อรับรองเอกสารทุกฉบับ

4.7 ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องชำระค่าธรรมเนียมการทดสอบ การขอขึ้นทะเบียนการอบรมจากกรมสรรพากร และการต่ออายุใบอนุญาต รวมทั้งค่าธรรมเนียมอื่นๆ ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

4.8 การรับรองรายการในงบการเงิน ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องรับผิดชอบในการรายงานต่องบการเงินของห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจากผลการตรวจสอบของตนเอง โดยต้องทำการรับรองรายการดังนี้

    4.8.1 รับรองงบการเงินได้แสดงฐานะการเงิน ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี และผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันเดียวกันของห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นว่า ตรงตามสมุดบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชี และอธิบายข้อยกเว้นที่สำคัญ ถ้ามี

    4.8.2 รับรองว่างบการเงินได้จัดทำขึ้นตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป และอธิบายข้อยกเว้นที่สำคัญ ถ้ามี

    4.8.3 รับรองว่าเอกสารประกอบการลงบัญชี เป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับรายการที่เกิดขึ้นจริง ถูกต้อง เชื่อถือได้ และเกี่ยวข้องกับกิจการ และอธิบายข้อยกเว้นที่สำคัญ ถ้ามี

    4.8.4 กิจการได้ปรับปรุงกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทางบัญชี ให้เป็นกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ เพื่อเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร อธิบายข้อยกเว้นที่สำคัญ ถ้ามี

    4.8.5 อื่นๆ (ถ้ามี)

 

5. องค์กรวิชาชีพบัญชีหรือหน่วยงานจัดอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากรแก่ผู้สอบบัญชีภาษีอากร

การเป็นองค์กรวิชาชีพบัญชีหรือหน่วยงานที่อธิบดีกรมสรรพากรให้ความเห็นชอบในการจัดอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากรแก่ผู้สอบบัญชีภาษีอากร เป็นไปตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเป็นองค์กรวิชาชีพบัญชีหรือหน่วยงานที่อธิบดีกรมสรรพากรให้ความเห็นชอบในการจัดอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากรแก่ผู้สอบบัญชีภาษีอากร ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ที่ลงในประกาศดังกล่าวเป็นต้นไป ดังนี้

องค์กรวิชาชีพบัญชีหรือหน่วยงานที่ประสงค์จะขอเข้าเป็นองค์กรวิชาชีพบัญชีหรือหน่วยงานที่อธิบดีกรมสรรพากรให้ความเห็นชอบในการจัดอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากรแก่ผู้สอบบัญชีภาษีอากร ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้

5.1 องค์กรวิชาชีพบัญชีหรือหน่วยงานนั้นต้องเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือสถานฝึกอบรมวิชาชีพเอกชนที่มีฐานะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มูลนิธิ หรือสมาคม และให้ยื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการสอบบัญชีภาษีอากร แสดงความประสงค์เป็นองค์กรวิชาชีพบัญชีหรือหน่วยงานที่อธิบดีกรมสรรพากรให้ความเห็นชอบเป็นผู้จัดอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากรแก่ผู้สอบบัญชีภาษีอากร พร้อมกับแนบเอกสารดังต่อไปนี้

    5.1.1 สำเนาหรือภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจกระทำการในนามของนิติบุคคล สถาบันอุดมศึกษา หรือสถานฝึกอบรมวิชาชีพเอกชน และบัตรประจำตัวผู้เสีย ภาษีอากรของนิติบุคคล สถาบันอุดมศึกษา หรือสถานฝึกอบรมวิชาชีพเอกชน พร้อมกับสำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือรับรองนิติบุคคล ทะเบียนสมาคม หรือหลักฐานอื่นที่แสดงฐานะเป็นนิติบุคคลหรือสถานฝึกอบรมวิชาชีพเอกชน แล้วแต่กรณี

    5.1.2 รายละเอียดรายละเอียดหลักสูตร เนื้อหา ขอบเขตวิชา และระยะเวลาในการจัดอบรม

    5.1.3 ชื่อ คุณวุฒิ และประสบการณ์ในการทำงานของวิทยากรผู้บรรยาย

5.2 องค์กรวิชาชีพบัญชีหรือหน่วยงานที่อธิบดีกรมสรรพากรให้ความเห็นชอบในการจัดอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากรแก่ผู้สอบบัญชีภาษีอากร ต้องจัดหลักสูตรการอบรมเกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร โดยมีเนื้อหาวิชาครอบคลุมกฎหมายหลักในประมวลรัษฎากรและให้มุ่งเน้นเนื้อหาที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในแต่ละปี ดังนี้

    5.2.1 ภาษีเงินได้นิติบุคคล 6 ชั่วโมง

    5.2.2 ภาษีมูลค่าเพิ่ม 3   ชั่วโมง

    5.2.3 ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และกฎหมายระเบียบข้อบังคับอื่นๆ 3 ชั่วโมง

    การจัดอบรมตามหลักสูตรดังกล่าว ไม่ว่าจะจัดอบรมหลักสูตรที่ ครอบคลุมเนื้อหาวิชาทั้งหมดในคราวเดียวกันหรือไม่ก็ตาม หากภายหลังองค์กรวิชาชีพบัญชีหรือ หน่วยงานที่อธิบดีกรมสรรพากรให้ความเห็นชอบในการจัดอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากรแก่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการอบรมจากที่อธิบดีกรมสรรพากรให้ความเห็นชอบ จะต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการสอบบัญชีภาษีอากรพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน

    การนับระยะเวลาในการจัดอบรมตามหลักสูตร ให้นับระยะเวลาในการจัดอบรม 1 ชั่วโมงการอบรมเท่ากับ 60 นาที สำหรับระยะเวลาในช่วงพิธีเปิด ปิดการอบรม และเวลาพัก ไม่ให้นับเป็นชั่วโมงการอบรม และหากไม่มีการกำหนดระยะเวลาพักไว้ ให้ถือเวลาพักรับประทานอาหารเป็น 1 ชั่วโมง และเวลาพักรับประทานอาหารว่างเป็นครั้งละ 15 นาที

5.3 องค์กรวิชาชีพบัญชีหรือหน่วยงานที่อธิบดีกรมสรรพากรให้ความเห็นชอบในการจัดอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากรแก่ผู้สอบบัญชีภาษีอากร ต้องจัดส่งหลักฐานการลงทะเบียนเข้ารับการอบรมต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการสอบบัญชีภาษีอากรภายในหนึ่งเดือนนับแต่สิ้นสุดการอบรม และจะต้องออกหนังสือรับรองการเข้ารับการอบรมในแต่ละครั้งให้แก่ผู้เข้ารับการอบรม โดยหนังสือรับรองดังกล่าวจะต้องมีรายการอย่างน้อย ดังต่อไปนี้

    5.3.1 ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรขององค์กรวิชาชีพบัญชีหรือหน่วยงานที่จัดอบรม

    5.3.2 เลขที่หนังสือ และวันที่ที่ได้รับความเห็นชอบในการจัดอบรมจากอธิบดีกรมสรรพากร 

    5.3.3 ชื่อผู้เข้ารับการอบรม

    5.3.4 หลักสูตรที่อบรม

    5.3.5 วัน เวลา และจำนวนชั่วโมงที่เข้ารับการอบรม

    5.3.6 วันที่ออกหนังสือรับรอง

อนึ่งในปัจจุบัน การติดต่อราชการใดๆ เกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี ณ สำนักมาตรฐานผู้สอบบัญชีภาษีอากร อาทิ การสมัครทดสอบ การขึ้นทะเบียนผู้สอบบัญชีภาษีอากร ให้ติดต่อผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Web site) ของกรมสรรพากร www.rd.go.th

 

6. หลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับกำหนดการรักษาจรรยาบรรณ การปฏิบัติงาน การรายงาน และ บทลงโทษสำหรับผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี

อธิบดีกรมสรรพากรได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการปฏิบัติงาน และการรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีของผู้สอบบัญชีภาษีอากร ในการตรวจสอบและรับรองบัญชีห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดให้งบการเงินได้รับการตรวจสอบ และแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ตามกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 122/2545 และจรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 123/2545 โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2545 เป็นต้นไป

6.1 การปฏิบัติงานและการรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชี   

    6.1.1 มาตรฐานการปฏิบัติงาน

          (1) ผู้สอบบัญชีภาษีอากร  ต้องจัดทำแนวทางการสอบบัญชีสำหรับงานที่รับตรวจสอบไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ทราบถึงวิธีการปฏิบัติงานตรวจสอบ โดยให้จัดเก็บแนวทางการสอบบัญชีดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน

          (2) ผู้สอบบัญชีภาษีอากร  ต้องจัดทำกระดาษทำการ เพื่อบันทึกการตรวจสอบและจัดเก็บไว้เป็นหลักฐาน

          (3) การปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชี ให้ผู้สอบบัญชีภาษีอากรเน้นการทดสอบความถูกต้องของงบการเงินและบัญชีว่าถูกต้องเป็นจริงตามควรตรงตามเอกสารประกอบการลงบัญชี และบันทึกบัญชีตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปหรือไม่ ซึ่งงบการเงินต้องแสดงข้อมูลและรายการตรงตามสมุดบัญชี รวมถึงการตรวจสอบความถูกต้องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญทางด้านภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร โดยเลือกใช้วิธีการตรวจสอบต่างๆ ให้เหมาะสมกับกรณี

          (4) ผู้สอบบัญชีภาษีอากร ต้องทำการตรวจสอบการปรับปรุงกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทางบัญชี เป็นกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีอากร รวมถึงการตรวจสอบการจัดทำบัญชีพิเศษของกิจการที่กำหนดไว้ตามประมวลรัษฎากร

          (5) ในกรณีที่พบว่าห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีพฤติการณ์ในการทำเอกสารประกอบการลงบัญชีหรือบันทึกบัญชี โดยที่เห็นว่าน่าจะไม่ตรงกับความเป็นจริงอันอาจเป็นเหตุให้    ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นมิต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยลงกว่าที่ควรเสีย ให้ผู้สอบบัญชีภาษีอากร เปิดเผยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของบัญชี และแจ้งพฤติการณ์ไว้ในรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีที่ตนจะต้องลงลายมือชื่อรับรอง

    6.1.2 ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องแจ้งจำนวนและรายชื่อห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตนจะลงลายมือชื่อรับรองการตรวจสอบและรับรองบัญชีต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามแบบที่กำหนด ภายในวันที่ 30 มิถุนายนของทุกปี พร้อมแนบหนังสือตอบรับงานการตรวจสอบและรับรองบัญชี ที่มีข้อความอย่างน้อยตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดท้ายคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 122/2545 

          กรณีผู้สอบบัญชีภาษีอากรที่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรจากอธิบดีกรมสรรพากรภายหลังกำหนดระยะเวลาการแจ้งข้อมูลภายในวันที่ 30 มิถุนายนของทุกปีข้างต้น ให้แจ้งจำนวนและรายชื่อห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะลงลายมือชื่อรับรองการตรวจสอบและรับรองบัญชีภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร   

          กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนและรายชื่อห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้แจ้งไว้ดังกล่าว ให้แจ้งการเปลี่ยนแปลงต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้น ทั้งนี้ ต้องแจ้งก่อนวันที่ลงลายมือชื่อรับรองการตรวจสอบและรับรองบัญชี

    6.1.3 แนวทางการรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชี

          การตรวจสอบและรับรองบัญชีของห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจัดทำรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีที่มีข้อความตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดท้ายคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 122/2545

6.2 จรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี

    6.2.1 ความเป็นอิสระ ความเที่ยงธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต

          (1) ไม่รับตรวจสอบและรับรองบัญชีในกิจการที่ตนขาดความเป็นอิสระ                        (2) ไม่รับตรวจสอบและรับรองบัญชีในกิจการที่ตนขาดความเป็นกลางโดยมีผลประโยชน์หรือตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับกิจการนั้น หรือโดยมีเหตุอื่นที่อาจจะก่อให้เกิดความลำเอียงและส่งผลให้มีการละเว้นการเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยกว่าความเป็นจริง      

          (3) ปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชีด้วยความเที่ยงธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต

          (4) ไม่ปกปิดข้อเท็จจริงหรือบิดเบือนความจริงอันเป็นสาระสำคัญของงบการเงินที่ตนลงลายมือชื่อรับรองไว้ในรายงาน ซึ่งอาจทำให้เกิดการหลงผิดและอาจเสียหายแก่กิจการที่ตรวจสอบและรับรองบัญชีนั้น หรือแก่กรมสรรพากร หรือแก่บุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง

          (5) ไม่เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อ ขาย ออก หรือใช้ใบกำกับภาษีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

          (6) ไม่เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงบัญชีหรือการทำเอกสารประกอบการลงบัญชี ซึ่งเป็นเหตุให้กิจการที่ตรวจสอบและรับรองบัญชีนั้นมิต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยลงกว่าที่ควรเสีย

          (7) ไม่เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและรับรองบัญชีของกิจการใด ซึ่งมีเหตุผลเชื่อได้ว่ามีข้อมูลที่ผิดหรือบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง และมีการละเว้นหรือปิดบังข้อมูลที่จำเป็นต้องยื่นต่อกรมสรรพากร 

          (8) ไม่รับรองบัญชีที่ตนเป็นผู้จัดทำขึ้นเอง หรือช่วยเหลือ หรือเป็นผู้จัดทำบัญชีชุดอื่นขึ้น เพื่อเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร

    6.2.2 ความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน

          (1) ต้องปฏิบัติงานด้วยความรู้ความสามารถของวิชาชีพ 

          (2) ไม่ตรวจสอบและรับรองบัญชีในกิจการที่เกินความรู้ความสามารถของตนที่จะปฏิบัติงานได้ และไม่ทำการตรวจสอบและรับรองบัญชีเกินกว่า  300  รายต่อปี

          (3) ไม่ลงลายมือชื่อรับรองในรายงานของกิจการที่ตนมิได้ปฏิบัติงานตรวจสอบหรือควบคุมการปฏิบัติงานตรวจสอบ

          (4) สอดส่องใช้ความรู้ความระมัดระวังในการตรวจสอบและรับรองบัญชีเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพโดยทั่วไป

          (5) ไม่ยินยอมให้ผู้อื่นอ้างว่าตนเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีใน  กิจการใดโดยตนมิได้ปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชี

    6.2.3 จรรยาบรรณต่อผู้เสียภาษี

          (1) ไม่เปิดเผยความลับกิจการของผู้เสียภาษีหรือผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง โดยนำออกแจ้งแก่ผู้ใดหรือให้ทราบโดยวิธีใด สำหรับกิจการที่ตนได้รู้มาในหน้าที่จากการตรวจสอบและรับรองบัญชีอันเป็นเหตุให้กิจการนั้นได้รับความเสียหาย เว้นแต่การกระทำนั้นเป็นการกระทำตามหน้าที่ทางวิชาชีพหรือตามกฎหมาย

          (2) ไม่ละทิ้งการปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชีที่รับไว้แล้วโดยไม่มีเหตุอันสมควร

    6.2.4 จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมอาชีพ

          (1) ไม่แย่งงานตรวจสอบและรับรองบัญชีจากผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีอื่น

          (2) ไม่ทำการตรวจสอบและรับรองบัญชีเกินกว่าที่ได้รับมอบหมายจากผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีอื่น  เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้มอบหมายนั้น

    6.2.5 จรรยาบรรณทั่วไป

          (1) ไม่กระทำการใดๆ อันอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร หรือกฎหมายอื่น

          (2) ไม่โฆษณาหรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาด้วยประการใด ๆ ซึ่งการประกอบวิชาชีพอันแสดงให้เห็นว่าจะช่วยเหลือให้เสียภาษีน้อยกว่าความเป็นจริง

          (3) ไม่ให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์ใดๆ เพื่อเป็นการจูงใจให้บุคคลอื่นแนะนำหรือจัดหางานตรวจสอบและรับรองบัญชีมาให้ตนทำ

          (4) ไม่เรียกหรือรับทรัพย์สินหรือประโยชน์จากบุคคลใดในเมื่อบุคคลนั้นได้รับงานเพราะการแนะนำหรือการจัดหางานของตน

          (5) ไม่กำหนดค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทน โดยถือเอาอัตราสูงต่ำตามยอดเงินหรือของทรัพย์สินใดที่ตนตรวจสอบและรับรองบัญชี หรือมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและรับรองบัญชีเป็นเกณฑ์

 

7. บทสรุป

7.1 ผู้เข้าทดสอบต้องทำความเข้าใจว่า การทดสอบความรู้ต่างๆ ทั้ง 3 วิชา นั้น เป็นการทดสอบความรู้ในแต่วิชาเสมือนผู้ทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร จึงต้องมีความรู้ความชำนาญทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติทั้ง 3 วิชา คือ  

    7.1.1 วิชาการบัญชี ทดสอบความรู้เกี่ยวกับการบัญชีสำหรับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน โดยครอบคลุมเนื้อหาในเรื่อง แม่บทการบัญชี การจัดทำงบการเงินตามประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า การเปิดเผยข้อมูลในงบการเงิน มาตรฐานการบัญชีเกี่ยวกับสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของผู้เป็นหุ้นส่วน  การรับรู้รายได้และค่าใช้จ่าย การบัญชีต้นทุนผลิตสินค้า อาทิ ต้นทุนงานสั่งทำและต้นทุนช่วง ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียสาธารณะ (TFRS for Non-Publicly Accountable Entries: NPAEs) ที่สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศใช้ในปัจจุบัน

          ในส่วนของวิชาการบัญชีนั้น ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบัญชีสำหรับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน อาจไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยาก แต่ในส่วนของความรู้เกี่ยวกับการบัญชีต้นทุนผลิตสินค้า อาทิ ต้นทุนงานสั่งทำและต้นทุนช่วง นั้นถือเป็นอุปสรรคที่ยากยิ่งในส่วนของวิชานี้

    7.1.2 วิชาการสอบบัญชี ทดสอบความรู้เกี่ยวกับการสอบบัญชีตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศใช้ในปัจจุบัน และตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานและการรายงานสำหรับผู้สอบบัญชีภาษีอากร ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร โดยครอบคลุมถึง หลักฐานการสอบบัญชี และวิธีการรวบรวมหลักฐาน หลักพื้นฐานในการควบคุมภายใน การประเมินความเสี่ยง เทคนิคต่างๆ ที่ใช้ในการสอบบัญชี การจัดทำกระดาษทำการ การจัดทำแนวการตรวจสอบ การสอบทานและการควบคุมงานสอบบัญชี การเขียนรายงานตามแบบรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชี ที่มีข้อความตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดท้ายคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 122/2545 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติงาน และการรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีของผู้สอบบัญชีภาษีอากร ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 จรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 123/2545 เรื่อง กำหนดจรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545

          เนื่องจากการเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรไม่ได้กำหนดให้มีการผ่านงานฝึกการตรวจสอบและรับรองบัญชี ผู้เข้าทดสอบจึงอาจขาดประสบการณ์ตรง และไม่แม่นยำในเนื้อหาเกี่ยวกับการตรวจสอบบัญชีตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประกาศใช้ในปัจจุบันและตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติงาน ในทุกประเด็น โดยเฉพาะการจัดทำกระดาษทำการ และแนวทางการตรวจสอบ และการออกรายงานสำหรับผู้สอบบัญชีภาษีอากร ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องศึกษา คู่มือการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีภาษีอากร จากเวบไซต์ http://www.rd.go.th/publish/22778.0.html ของกรมสรรพากร ได้แก่

          (1) คู่มือการปฏิบัติงาน เรื่อง การจัดทำรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชี

          (2) คู่มือการปฏิบัติงาน เรื่อง การจัดทำแนวทางการสอบบัญชี

          (3) คู่มือการปฏิบัติงาน เรื่อง การจัดทำกระดาษทำการ

          (4) คู่มือการปฏิบัติงาน เรื่อง การทดสอบรายการทางบัญชีและภาษีอากร

          (5) คำแนะนำในการขอยืนยันการออกใบกำกับภาษีซื้อ

    7.1.3 วิชาความรู้เกี่ยวกับประมวลรัษฎากร และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ทดสอบความรู้เกี่ยวกับ ประมวลรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ การหักภาษึเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การจัดทำรายงานและบัญชีพิเศษตามประมวลรัษฎากร รวมถึงประกาศเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ประกาศและคำสั่งของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในส่วนที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน

          ในส่วนของข้อสอบวิชาความรู้เกี่ยวกับประมวลรัษฎากร และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งข้อสอบปรนัยและอัตนัย ในทางปฏิบัติอาจแบ่งสัดส่วนเป็น 2:1 ส่วน จึงควรเตรียมความรู้ให้เหมาะสมกับสัดส่วนของปริมาณข้อสอบ

7.2 การทดสอบความรู้ในแต่วิชาเสมือนผู้ทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร จึงต้องมีความรู้ความชำนาญทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติทั้ง 3 วิชา โดยต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 จากคะแนนเต็ม 100 ซึ่งแบ่งเป็นข้อสอบปรนัย 40 ข้อๆ ละ 1 คะแนน รวม 40 คะแนน และข้อสอบอัตนัย 3 ข้อๆ ละ 20 คะแนน รวม 60 คะแนน

7.3 เงื่อนไขที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ผู้เข้ารับการทดสอบเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรสามารถสะสมผลการทดสอบของแต่ละวิชาที่สอบผ่านได้ไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันที่ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการทดสอบในแต่ละวิชา จึงอาจวางแผนการเข้าทดสอบวิชาที่ไม่ถนัดให้ได้เสียก่อนเป็นลำดับแรกๆ เพื่อให้มีระยะเวลา 3 ปี สำหรับวิชาที่เหลือ ซึ่งจะช่วยให้มีกำลังใจในการเข้าทดสอบ

7.4 ไม่พึงเสียค่าสมัครสอบเพื่อเข้าไปดูข้อสอบ หากแต่ต้องมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเข้าทดสอบเพื่อให้ผ่านการทดสอบให้ได้ การวางแผนดูหนังสือหรือทำความเข้าใจกับผู้มีประสบการณ์ (ติวเตอร์) ก็เป็นเรื่องที่พึงกระทำ เพื่อที่จะไม่ต้องเสียเวลาและเงินทองมากเกินไป 

7.5 การเตรียมดูหนังสือเพื่อเข้าทดสอบทั้งผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และผู้สอบบัญชีภาษีอากร อาจเป็นการยิ่งปืนนัดเดียว ได้นกสองตัว ก็ต้องวางแผนให้ดี ว่ามีวิชาที่มีความสัมพันธ์และเกี่ยวเนื่องกัน