ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

วันนักบัญชีภาษีอากรไทย

บทความวันที่ 15 เม.ย. 2567  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 31 ครั้ง

วันนักบัญชีภาษีอากรไทย

 

ในทันทีภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตย ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้ริเริ่มจัดเก็บภาษีอากรสมัยใหม่ (Modernize Taxes) ขึ้นหลากหลายประเภท โดยกำหนดให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารการจัดเก็บ ได้แก่

1. พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ พุทธศักราช 2475 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เป็นต้นไป โดยให้ยกเลิกพระราชบัญญัติภาษีเงินเดือน พุทธศักราช 2475 ด้วย

2. พระราชบัญญัติภาษีการค้า พุทธศักราช 2475 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2476 เป็นต้นไป

3. พระราชบัญญัติอากรแสตมป์ พุทธศักราช 2475 ใช้บังคับเมื่อครบกำหนด 60 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2475)

4. พระราชบัญญัติภาษีการธนาคารและการประกันภัย พุทธศักราช 2476 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2476 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ยังได้ตราพระราชบัญญัติภาษีโรงเรีอนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 ซึ่งกหนดให้กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้มีอำหน้าที่ในการบริหารการจัดเก็บ   

ในขณะเดียวกันประเทศไทยยังคงจัดเก็บภาษีดั้งเดิมที่สืบทอดมาแต่โบราณกาล ได้แก่

1. พระราชบัญญัติเงินรัชชูปการ พุทธศักราช 2468

2. พระราชบัญญัติลักษณะเก็บเงินค่านา ร.ศ. 119

3. พระราชบัญญัติลักษณะการเก็บภาษีค่าที่ไร่อ้อย พุทธศักราช 2464

4. พระราชบัญญัติเปลี่ยนวิธีเก็บภาษียา ร.ศ. 119

5. ประกาศพระราชทานยกเงินอากรสวนใหญ่ค้างเก่าและเดินสำรวจต้นผลไม้ใหม่ สำหรับเก็บเงินอากรสวนใหญ่ รัตนโกสินทรศก 130

ตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ พุทธศักราช 2475 ซึ่งกำหนดให้กรมสรรพากร กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีอำนาจหน้าทีในการบริหารการจัดเก็บทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล ในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น กำหนดจัดเก็บจากฐานรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ (Gross Income) ที่จ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้หรือพันธบัตร และผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ดังนี้  

หมวด ๒

บริษัท

ภาค ๑

การจัดเก็บภาษี

มาตรา 32 บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายสยาม และที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายเมืองต่างระเทศ และกระทำกิจการในสยาม ต้องเสียภาษีเป็นส่วนร้อยแห่งจำนวนเงินทั้งสิ้นที่จ่ายเป็นดอกเบี้ยแก่ผู้ถือหุ้นกู้หรือพันธบัตร และ/หรือเป็นเงินมั้นผลและ หรือเป็นเงินโบนัสแก่ผู้ถือหุ้นส่วนร้อยที่กล่าวนั้น ท่านว่าเท่ากับอัตราปกติแห่งภาษีเงินได้ตามพิกัดอัตราต่อท้ายพระราชบัญญัตินี้

     เพื่อประโยชน์แห่งการคำนวณเงินภาษี ซึ่งบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายเมืองต่างประเทศและกระทำกิจการในที่อื่นๆ รวมทั้งสยามจะต้องเสียนั้น ท่านให้เทียบยอดเงินได้ก่อนหักรายจ่ายที่บริษัทได้จากกิจการในสยาม กับยอดเงินได้ก่อนหักรายจ่ายของบริษัทแลเมื่อเทียบเป็นส่วนเท่าใด ก็ให้เก็บภาษีในเงินดอกเบี้ย เงินบันผลและ /หรือเงินโบนัส ตามส่วนที่เทียบได้นั้น”

 

เป็นที่สังเกตได้ว่า ฐานรายได้ก่อนหักรายจ่ายใดๆ (Gross Income) ที่จ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เป็นการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลตามหลักความมั่งคั่ง (Wealth Principle) เหมือนกับในทุกประเทศที่กำหนดจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งในภาคพื้นยุโรป และทวีปอเมริกา รวมทั้งในทวีปเอเชีย และออสเตรเลีย ซึ่งเป็นฐานภาษีที่แตกต่างไปจากฐานกำไรสุทธิทางภาษีอากร (Net Taxable Profit) ที่จัดเก็บตามหลักความสามารถในการเสียภาษี (Ability to Pay Principle) อย่างเช่นในปัจจุบัน

 

การตราประมวลรัษฎากร ตามหลักความเป็นธรรมแก่สังคม

การเสนอร่างพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พุทธศักราช 2481 มีขึ้นครั้งแรกในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันอังคารที่ 7 มีนาคม พุทธศักราช 2481 โดยนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขณะนั้นได้แถลงว่า

“รัฐบาลขอเสนอร่างพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร การที่ได้เสนอขึ้นมานี้ก็ได้แถลงไว้โดยละเอียดในเหตุผลนั้นแล้ว

เนื่องจากรัฐบาลได้รับรองต่อสภาฯ ว่าจะปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นธรรมต่อสังคมโดยเร็วและถ้าสามารถเป็นไปในสมัยประชุมนี้ก็จะนำมาเสนอ และบัดนี้ก็ได้ทำมาเสร็จแล้ว จึงได้นำมาเสนอท่านสมาชิกทั้งหลายและในการที่เสนอร่างพระราชบัญญัติฉะบับนี้นั้น รัฐบาลมีความปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะกระทำการร่วมมือกับท่านสมาชิก…”

นายปรีดี พนมยงค์ ยังชี้ว่าหลักการสำคัญของร่างพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร คือ “เพื่อปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นธรรมแก่สังคม” ที่เป็นประโยชน์แก่ราษฎรและยังปลุกสำนึกให้ตระหนักถึงหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ

“ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติขึ้นมานี้ก็เปรียบประดุจว่า ข้าพเจ้าได้นำแผ่นกระดาษขาวแผ่นหนึ่งมายื่นให้ท่านทั้งหลาย เมื่อท่านเห็นว่าจะปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นธรรมแก่สังคมแล้ว การที่จะเป็นธรรมแก่สังคมอย่างไร ท่านก็ควรจะเขียนลงไปในแผ่นกระดาษขาวนั้น ข้าพเจ้ายอมทั้งหมด

ขอให้ในเรื่องนี้เราได้ทำด้วยความเป็นธรรมจริง ไม่ใช่ว่าเราปล่อยปละละเลยตามใจ หาแต่พระคุณอย่างเดียว มีบางสิ่งบางอย่างจะต้องทำให้ราษฎรได้รู้สึกถึงหน้าที่ของตนตามรัฐธรรมนูญ รู้สึกถึงความเสียสละ ให้รู้สึกรักประเทศชาติด้วย…”

และได้จัดตั้งกรรมาธิการจัดทำประมวลรัษฎากรขึ้น 36 คน โดยมี 18 คน ที่มาจากการเสนอของรัฐบาล และอีก 18 คน มาจากการเสนอของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายปรีดีเป็นประธานกรรมาธิการฯ ซึ่งการประชุมร่างพระราชบัญญัติฯ ของกรรมาธิการชุดนี้จะเป็นการประชุมลับ เมื่อประชุมฯ เสร็จสิ้นลงจึงนำร่างพระราชบัญญัติฯ ประมวลรัษฎากรมาแปรญัตติและแก้ไขเพิ่มเติมในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันพุธที่ 29 มีนาคม พุทธศักราช 2481 นายปรีดีกล่าวว่าคณะกรรมาธิการฯ ทั้ง 36 คนทำงานกัน “หามรุ่ง หามค่ำ” กว่าจะตรากฎหมายออกมาเป็นประมวลรัษฎากรฉบับแรก โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2482 ในชื่อว่า พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พุทธศักราช 2481

เป้าหมายสำคัญของการปรับปรุงการบริหารการจัดเก็บภาษีในครั้งนี้ปรากฏตามถ้อยแถลงของ นายดิเรก ชัยนาม ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลที่แถลงว่า

รัฐบาลได้แถลงไว้ว่า จะปรับปรุงภาษีให้เป็นธรรมแก่สังคมนั้น...รัฐบาลได้ถือหลักโดยคำนึงถึงความสามารถในการเสียภาษีของราษฎรตามส่วนซึ่งราษฎรจะเสียได้ หลักในเรื่องความแน่นอน หลักความสะดวก และหลักประหยัดค่าใช้จ่าย และคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนในทางการเมืองเป็นสิ่งประกอบการพิจารณา ด้วยความรู้สึกของประชาชนนั้นมิใช่จะคำนึงถึงความรู้ของคนชั้นเดียว ได้พยายามนึกถึงความรู้สึกของคนทุกชั้น สิ่งใดที่จะคิดเก็บภาษีก็เป็นไปในทำนองซึ่งหวังว่า ผู้ซึ่งสามารถเสียภาษีได้นั้น คงจะเสียสละเพื่อความเจริญของท้องที่และของประเทศชาติ

เจตนารมณ์ของการแก้ไขภาษีในครั้งนี้รัฐบาลต้องการให้ระบบภาษีใหม่นี้มีหลักการคำนึงถึงความสามารถในการเสียภาษี (Ability to pay) ของประชาชนผู้รับภาระภาษี ซึ่งระบบภาษีก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบภาษีที่ไม่ได้คำนึงถึงหลักการดังกล่าว แต่มุ่งใช้ภาษีในลักษณะของการสร้างความมั่งคั่งให้กับรัฐบาล ซึ่งแตกต่างจากภาษีในอดีต

การปฏิรูปภาษีทำให้ระบบภาษีใหม่กลายเป็นหลักการของภาษีที่ “มีมากเสียมาก มีน้อยเสียน้อย ใช้มากเสียมาก ใช้น้อยเสียน้อย

ปรากฏตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พุทธศักราช 2481 กำหนดให้ใช้ “ประมวลรัษฎากร” ตามที่ตราไว้ต่อท้ายพระราชบัญญัติฉบับนี้ เป็นกฎหมาย โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2482 เป็นต้นไป

ซึ่งบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ในขณะนั้น อันเป็นการรวบรวมกฎหมายภาษีอากรที่จัดเก็บจากราษฎรที่บัญญัติจัดเก็บ ณ เวลาบั้น ผนวกกับภาษีอากรสมัยใหม่ทั้งหลาย จึงทำให้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ประกอบด้วย 4 ลักษณะ ดังนี้

ลักษณะ 1 ข้อความเบื้องต้น ตั้งแต่มาตรา 1 ถึงมาตรา 4 รวม 4 มาตรา

ลักษณะ 2 ภาษีอากรฝ่ายสรรพากร ตั้งแต่มาตรา 5 ถึงมาตรา 143 รวม 139 มาตรา

    หมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป ตั้งแต่มาตรา 5 ถึงมาตรา 13 รวม 9 มาตรา

    หมวด 2 วิธีการเกี่ยวแก่ภาษีอากรประเมิน ตั้งแต่มาตรา 14 ถึงมาตรา 37 รวม 24 มาตรา

    หมวด 3 ภาษีเงินได้ ตั้งแต่มาตรา 38 ถึงมาตรา 76 และบัญชีอัตราภาษีเงินได้ รวม 39 มาตรา

    หมวด 4 ภาษีโรงค้า ตั้งแต่มาตรา 77 ถึงมาตรา 92 และพิกัดอัตราภาษีป้าย พิกัดอัตราร้านค้า และพิกัดอัตราโรงอุตสาหกรรม รวม 16 มาตรา

    หมวด 5 ภาษีการธนาคาร การเครดิตฟองซิเอร์ การออมสิน และการประกันภัย ตั้งแต่มาตรา 93 ถึงมาตรา 102 รวม 10 มาตรา

    หมวด 6 อากรแสตมป์ ตั้งแต่มาตรา 103 ถึงมาตรา 129 และบัญชีอัตราอากรแสตมป์ รวม 27 มาตรา

    หมวด 7 อากรมหรสพ ตั้งแต่มาตรา 130 ถึงมาตรา 143 และบัญชีอัตราอากรมหรสพ รวม 14 มาตรา

ลักษณะ 3 ภาษีบำรุงท้องที่ ตั้งแต่มาตรา 144 ถึงมาตรา 166 และบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ รวม 23 มาตรา

ลักษณะ 4 เงินช่วยการประถมศึกษา ตั้งแต่มาตรา 167 ถึงมาตรา 179 รวม 13 มาตรา

โดยการตราพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 กำหนดให้ยกเลิกกฎหมายภาษีดั่งเดิมทั้งหมด อันได้แก่  

1. ยกเลิกพระราชบัญญัติเงินรัชชูปการ พุทธศักราช 2468 ซึ่งจัดเก็บจากราษฎรที่เป็นชายฉกรรจ์ที่มีอายุตั้งแต่ 18 – 60 ปี ที่ไม่ได้รับราชการเป็นทหารหรือไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย ภาษีเงินรัชชูปการนี้แตกต่างจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากการจัดเก็บเงินรัชชูปการไม่อาศัยฐานการจัดเก็บจากการรายได้ ทรัพย์สิน การบริโภค หรือการแสวงหาประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติ แต่เก็บจากสถานะของบุคคลในฐานะเป็นราษฎรของแผ่นดินสยาม โดยเป็นการเก็บเงินทดแทนจากการส่งส่วยในอดีตของระบบไพร่ โดยจะเก็บเงินรัชชูปการจากราษฎรชายฉกรรจ์ปีละ 4 บาท โดยบางภูมิภาคและบางช่วงเวลาอาจจะเก็บมากถึง 6 บาท

2. ยกเลิกพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ พุทธศักราช 2475 เปลี่ยนเป็นหมวด 3 ภาษีเงินได้ ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่มาตรา 38 ถึงมาตรา 76 และบัญชีอัตราภาษีเงินได้ รวม 39 มาตรา

3. ยกเลิกพระราชบัญญัติภาษีการค้า พุทธศักราช 2475 เปลี่ยนเป็นหมวด 4 ภาษีโรงค้า ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่มาตรา 77 ถึงมาตรา 92 และพิกัดอัตราภาษีป้าย พิกัดอัตราร้านค้า และพิกัดอัตราโรงอุตสาหกรรม รวม 16 มาตรา

4. ยกเลิกพระราชบัญญัติภาษีการธนาคารและการประกันภัย พุทธศักราช 2476 เปลี่ยนเป็นหมวด 5 ภาษีการธนาคาร การเครดิตฟองซิเอร์ การออมสิน และการประกันภัย ตั้งแต่มาตรา 93 ถึงมาตรา 102 รวม 10 มาตรา

5. ยกเลิกพระราชบัญญัติอากรแสตมป์ พุทธศักราช 2475 เปลี่ยนเป็นหมวด 6 อากรแสตมป์ ตั้งแต่มาตรา 103 ถึงมาตรา 129 และบัญชีอัตราอากรแสตมป์ รวม 27 มาตรา โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๒ เป็นต้นไป

6. ยกเลิกพระราชบัญญัติลักษณะเก็บเงินค่านา ร.ศ. 119 พระราชบัญญัติลักษณะการเก็บภาษีค่าที่ไร่อ้อย พุทธศักราช 2464 พระราชบัญญัติเปลี่ยนวิธีเก็บภาษียา ร.ศ. 119 และประกาศพระราชทานยกเงินอากรสวนใหญ่ค้างเก่าและเดินสำรวจต้นผลไม้ใหม่ สำหรับเก็บเงินอากรสวนใหญ่ รัตนโกสินทรศก 130 เปลี่ยนไปเป็น “ภาษีบำรุงท้องที่” ตามลักษณะ 3 ภาษีบำรุงท้องที่ แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่มาตรา 144 ถึงมาตรา 164 และบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ รวม 23 มาตรา

นอกจากนี้ ยังได้บัญญัติเพิ่มเติมภาษีสมัยบางประเภท ได้แก่

1. หมวด 7 อากรมหรสพ ตั้งแต่มาตรา 130 ถึงมาตรา 143 และบัญชีอัตราอากรมหรสพ รวม 14 มาตรา และ

2. ลักษณะ 4 เงินช่วยการประถมศึกษา ตั้งแต่มาตรา 167 ถึงมาตรา 179 รวม 13 มาตรา

จึงอาจนับได้ว่านับแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2482 เป็นต้นมา นั้น เป็นเริ่มต้นหลักกิโลเมตรแรกว่าด้วย “ภาษีอากรสมัยใหม่” ของประเทศไทยอย่างแท้จริง เนื่องจากมีการยกเลิกภาษีอากรระบบตั้งเดิมที่เคยใช้จัดเก็บก่อนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หมดสิ้นไป ก้าวเข้าสู่ระบบภาษีอากรสมัยใหม่ทัดเทียมนานาอารยประเทศ นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  

 

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

กล่าวสำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น แม้จะมีกระแสการเปลี่ยนแปลงหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่กำหนดจัดเก็บจากฐานกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี ในประเทศสหรัฐอเมริการ และประเทศในภาคพื้นยุโรป แต่รัฐบาลไทยยังคงกำหนดจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานรายได้ก่อนหักรายจ่ายใดๆ ดังกล่าว ต่อเนื่องเรื่อยมาตราบจนถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2482 ได้มีการปรับปรุงการรัษฎากรตามหลักความเป็นธรรมแก่สังคม รายได้ก่อนหักรายจ่ายใดๆ (Gross Income) ที่จ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้หรือพันธบัตร และผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ก็ยังคงบัญญัติจัดเก็บบนฐานฐานรายได้ก่อนหักรายจ่ายใดๆ ตามหลักการเดิม อยู่ต่อไป ดังที่ปรากฏในมาตรา 65 ส่วน 3 การเก็บภาษีเงินได้จากบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หมวด 3 ภาษีเงินได้ แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้

“หมวด 3

ภาษีเงินได้

ส่วน 3

การเก็บภาษีจากบริษัท และหุ้นส่วนนิติบุคคล

        

มาตรา 65 เงินได้ต้องเสียภาษีในส่วนนี้ คือ

      (1) ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยพันธบัตร หรือดอกเบี้ยเงินกู้ ที่จ่ายแก่ผู้ถือหุ้น

      (2) เงินปันผล หรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่จ่าย เงินโบนัสที่จ่ายแก่ผู้ถือหุ้นรวมทั้งเงินลดทุนซึ่งจ่ายหรือเงินเพิ่มทุน ซึ่งตั้งจากกำไรที่ได้มา หรือเงินรายได้ที่กันไว้ของบริษัทหรือหุ้นส่วนนิติบุคคล

      (3) ผลประโยชน์ที่ได้จากการยุบ บริษัท หรือหุ้นส่วนนิติบุคคลไปควบเข้ากันกับบริษัทหรือหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นหรือการรับช่วงกัน หรือการเลิก ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน

 มาตรา 66 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายสยามหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทำกิจการในสยาม ต้องเสียภาษีในจำนวนเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้

 มาตรา 67 บริษัทหรือหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และกระทำกิจการในที่อื่น ๆ รวมทั้งสยาม ให้เทียบยอดเงินได้ก่อนหักรายจ่ายที่บริษัทหรือหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นได้จากกิจการในสยาม กับยอดเงินได้ก่อนหักรายจ่ายทั้งหมด เมื่อเทียบเป็นส่วนเท่าใด ให้คำนวณเงินได้ต้องเสียภาษีตามส่วนนั้น...”

 

กระแสการเปลี่ยนแปลงหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากหลักความมั่งคั่งที่จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบคุคลจากฐานรายได้ก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากการถือหุ้นกู้หรือพันธบัตร และเงินปันผล หรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่จ่าย เงินโบนัสที่จ่ายแก่ผู้ถือหุ้นรวมทั้งเงินลดทุนซึ่งจ่ายหรือเงินเพิ่มทุน ซึ่งตั้งจากกำไรที่ได้มา หรือเงินรายได้ที่กันไว้ของบริษัทหรือหุ้นส่วนนิติบุคคล รวมทั้งผลประโยชน์ที่ได้จากการยุบบริษัทหรือหุ้นส่วนนิติบุคคลไปควบเข้ากันกับบริษัทหรือหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นหรือการรับช่วงกัน หรือการเลิก ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน เป้นหลักความสามารถในการเสียภาษี (Ability to Pay) ที่จัดเก็บจากฐานกำไรสุทธิทางภาษีอากร ซึ่งเริ่มต้นเป็นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937) โหมกระหน่ำและแพร่สะพัดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ชนิดที่ไม่เคยปรากฏมีมาก่อน การแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลตามหลักการดังกล่าว ได้ดำเนินการกันอย่างกว้างขวางและทั่วถึง รวมทั้งประเทศไทยก็เป็นโดมิโนอีกตัวหนึ่งที่ต้องเป็นไปตามกระแสและแนวโน้มของระบบเศรษฐกิจของโลก จึงในวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2494 ประเทศไทยได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมยกเลิกบทบัญญัติตามส่วน 3 ว่าด้วยการเก็บภาษีจากบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หมวด 3 ภาษีเงินได้ ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่มาตรา 65 ถึงมาตรา 76 โดยมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2494 บัญญัติเป็นตั้งแต่มาตรา 65 ถึงมาตรา 76 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร และบัญชีอัตราภาษีเงินได้ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล มาเป็นฐานกำไรสุทธิทางภาษีอากร โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันที่บทบัญญัติดังกล่าวประกาศในราชกิจการนุเบกษา ซึ่งได้แก่ วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2494 เป็นต้นไป ดังนี้

“ส่วน ๓

การเก็บภาษีจากบริษัท และห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

------------------

 

มาตรา 65 เงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามความในส่วนนี้คือกําไรสุทธิซึ่งคํานวณได้จากรายได้จากกิจการ หรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี และรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวให้มีกำหนดสิบสองเดือน เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้จะน้อยกว่าสิบสองเดือนก็ได้คือ

     (ก) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเริ่มตั้งใหม่จะถือวันเริ่มตั้งถึงวันหนึ่งวันใดเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรกก็ได้

     (ข) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอาจยื่นคําร้องต่ออธิบดีขอเปลี่ยนวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีในกรณีเช่นว่านี้ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาต สุดแต่จะเห็นสมควรคำสั่งเช่นว่านั้นต้องแจ้งให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้ยื่นคําร้องทราบภายในเวลาอันสมควร

มาตรา 65 ทวิ การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อคำนวณภาษีในส่วนนี้ ให้เป็นไปตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

      (1) รายการที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ตรี ไม่ให้ถือเป็นรายจ่าย

      (2) ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ให้หักได้ไม่เกินกว่าอัตราซึ่งกำหนดในพระราชกฤษฎีกา

      (3) ราคาสินค้าคงเหลือเมื่อวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้คำนวณตามราคาทุนหรือราคาตลาด แล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่า และให้ถือราคานี้เป็นราคาสินค้าคงเหลือยกมาสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใหม่ด้วย

      (4) ราคาทรัพย์สินอื่นนอกจาก (3) ให้ถือตามราคาในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีก่อนวันใช้บังคับบทบัญญัติในส่วนนี้ ถ้าได้ทรัพย์สินหลังจากนั้น ให้ถือตามราคาที่พึงซื้อทรัพย์สินนั้นได้ตามปกติ และห้ามมิให้ตีราคาเพิ่มขึ้น เว้นแต่ในกรณีที่แม้จะมิได้มีการตีราคาเพิ่มขึ้น ก็ยังมีกำไรสุทธิอยู่

      (5) ในกรณีโอนทรัพย์สินใด ๆ โดยมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุผลสมควร หรือโดยไม่มีค่าตอบแทน เจ้าพนักงานประเมินอาจประเมินราคาทรัพย์สินนั้นตามราคาตลาดได้

      (6) การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้จะกระทำได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติการโดยสมควร เพื่อให้ได้รับชำระหนี้แล้วเว้นแต่ตามพฤติการณ์ไม่อาจปฏิบัติการเช่นว่านั้นได้โดยสมควร แต่ถ้าได้รับชำระหนี้ในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้นำมาคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

           หนี้สูญรายใดได้นำมาคำนวณเป็นรายได้แล้ว หากได้รับชำระในภายหลัง ก็มิให้นำมาคำนวณเป็นรายได้อีก

      (7) เงินตรา ทรัพย์สิน และหนี้สินซึ่งมีค่า หรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยตามส่วนเฉลี่ยของอัตราที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อเงินตราต่างประเทศครั้งหลังที่สุดแห่งวันทำการสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี หรือราคาทุนแล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่า

มาตรา 65 ตรี รายการต่อไปนี้ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ

      (1) เงินสำรองต่าง ๆ นอกจาก

           (ก) เงินสำรองจากเบี้ยประกันภัยเพื่อสมทบทุนประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต เฉพาะส่วนที่กันไว้ก่อนคำนวณกำไร แต่ต้องไม่เกินร้อยละ ๗๕ ของจำนวนเบี้ยประกันที่ได้รับในรอบระยะเวลาบัญชี

           (ข) เงินสำรองจากเบี้ยประกันภัยเพื่อสมทบทุนประกันภัยของบริษัทประกันภัยอื่น ๆ เฉพาะส่วนที่กันไว้ก่อนคำนวณกำไร แต่ต้องไม่เกินร้อยละ ๓๐ ของจำนวนเบี้ยประกันที่ได้รับในรอบระยะเวลาบัญชี

      (2) เงินกองทุน เว้นแต่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่กระทำกิจการในประเทศไทยได้จ่ายสมทบและจัดสรรไว้เพื่อประโยชน์แก่ลูกจ้างโดยเฉพาะ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้ ให้หักเป็นค่าใช้จ่ายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่จ่ายแก่ลูกจ้างโดยเด็ดขาดในจำนวนที่เกินร้อยละ 10 ของเงินเดือนทั้งหมดของผู้รับ ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นถือเป็นหลักคำนวณเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

      (3) รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว การให้โดยเสน่หา หรือการกุศล เว้นแต่การกุศลสาธารณะในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 1 ของกำไรสุทธิ

      (4) ค่ารับรองหรือค่าบริการในส่วนที่เกินสมควร

      (5) รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน หรือรายจ่ายในการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่ไม่ใช้เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม

      (6) ภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

      (7) การถอนเงินโดยปราศจากค่าตอบแทนของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

      (8) เงินเดือนของผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนเฉพาะส่วนที่จ่ายเกินสมควร

      (9) รายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง หรือรายจ่ายซึ่งควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่น เว้นแต่ในกรณีที่ไม่สามารถจะลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีใด ก็อาจลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ถัดไปได้

      (10) ค่าตอบแทนแก่ทรัพย์สินซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นเจ้าของเองและใช้เอง

      (11) ดอกเบี้ยที่คิดให้สำหรับเงินทุน เงินสำรองต่าง ๆ หรือเงินกองทุนของตนเอง

      (12) ผลขาดทุนของรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ๆ เฉพาะส่วนที่มีเงินสำรองหรือกำไรยกมาที่จะชดเชย หรือผลเสียหายอันอาจได้กลับคืนเนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใด ๆ

      (13) รายจ่าย ซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไร หรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ

      (14) รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะ

      (15) ค่าซื้อทรัพย์สินและรายจ่ายเกี่ยวกับการซื้อหรือขายทรัพย์สินในส่วนที่เกินปกติโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

      (16) ค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่สูญหรือสิ้นไปเนื่องจากกิจการที่ทำ

      (17) ค่าของทรัพย์สินนอกจากสินค้าที่ตีราคาต่ำลง ทั้งนี้ ภายใต้บังคับมาตรา 65 ทวิ

      (18) รายจ่ายที่มีลักษณะเช่นเดียวกับที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (17) ตามที่จะได้กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

มาตรา 66 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทำกิจการในประเทศไทย ต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้

      บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทำกิจการในที่อื่น ๆ รวมทั้งในประเทศไทย ให้เสียภาษีในกำไรสุทธิจากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำในประเทศไทยในรอบระยะเวลาบัญชี และการคำนวณกำไรสุทธิให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับมาตรา 65 และมาตรา 65 ทวิ แต่ถ้าไม่สามารถจะคำนวณกำไรสุทธิดังกล่าวแล้วได้ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการประเมินภาษีตามมาตรา 71 (1) มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 67 การเสียภาษีตามความในส่วนนี้ ให้เสียตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวดนี้..”

 

การที่รัฐบาล ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิ ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2494 นับแต่วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2494 เป็นต้นมา ได้ก่อให้เกิดคำว่า “การบัญชีภาษีอากร” หรือ Tax Accounting ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย อันเป็นหลักการและแนวความคิดใหม่อย่างยิ่ง พอสรุปความได้ว่า

การบัญชีภาษีอากร หมายถึง กระบวนการปฏิบัติในการปรับปรุงรายการทางบัญชีการเงิน และหรือรายการกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทางบัญชีการเงิน รวมทั้งเกณฑ์การคำนวณรายได้หรือรายจ่าย ด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามกฎหมายภาษีอากร เพื่อให้ได้มาซึ่งรายการทางบัญชีภาษีอากร ตลอดจนกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทางภาษีอากร และรายได้หรือรายจ่ายทางภาษีอากร และให้หมายความรวมถึง การจัดทำบัญชีและเอกสารหลักฐานทางภาษีอากร ในอันที่จะคำนวณภาษีอากรที่ต้องเสียหรือนำส่ง และปฏิบัติการเกี่ยวกับหน้าที่ต่างๆ ในทางภาษีอากรให้ถูกต้องและ ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข อัตรา และกำหนดเวลาที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ โดยไม่มุ่งเน้นการบันทึกรายการทางบัญชีตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปหรือตามมาตรฐานการบัญชี

ความสัมพันธ์ของการบัญชีการเงินกับการบัญชีภาษีอากร

กำไรหรือขาดทุนสุทธิทางบัญชีการเงิน กับกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทางภาษีอากรมีความ สัมพันธ์กันดังต่อไปนี้

จากหลักเกณฑ์ทางบัญชีที่รับรองทั่วไป (Generally Accepted Accounting Principle: GAAP) หรือตามมาตรฐานการบัญชี (Accounting Standard) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรท้งกรณีบุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่บันทึกรายการทางบัญชีเกี่ยวกับรายได้ รายจ่าย ตลอดจนทรัพย์สินและหนี้สินที่เกิดขึ้นในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีทุกรายการ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามมาตรฐานบัญชี และเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีทำการปิดบัญชี ต้องจัดทำบัญชีกำไรขาดทุน และจัดทำงบดุล เพื่อแสดงผลการดำเนินงานของรอบระยะเวลาบัญชีนั้นๆ และแสดงฐานะทางการเงินเพียง ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี โดยมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและรับรอง จากนั้นเสนอให้เจ้าของกิจการ อันได้แก่ เจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้น หรือผู้เป็นหุ้นส่วนเพื่อให้รับทราบ โดยเฉพาะสำหรับบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ให้ดำเนินการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ภายในสี่เดือนนับแต่วันปิดบัญชี และส่งให้สำนักงานกลางบัญชี หรือสำนักงานบัญชี ภายใน 5 เดือน นับแต่วันปิดบัญชี กำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิซึ่งได้จัดทำตามมาตรฐานการบัญชีดังกล่าวเรียกว่า "กำไรหรือขาดทุนสุทธิทางบัญชี" (Financial Profit and Loss) 

สำหรับในทางภาษีอากร ทั้งกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล มีข้อกำหนดในการคำนวณเงินได้สุทธิ และกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทางภาษีอากร (Taxable Profit and Loss) ไว้เป็นกรณีพิเศษต่างหากจากหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขทางการบัญชี ทั้งในส่วนของเงินได้พึงประเมิน รายได้ และรายจ่าย กล่าวคือ

เงินได้สุทธิเพื่อการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คำนวณได้จากเงินได้พึงประเมินที่มิใช่เงินได้ที่ได้รับยกเว้น หักด้วยค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน

กำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทางภาษีอากรเพื่อการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล คำนวณได้จากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี  หักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้ใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายได้และรายจ่าย เว้นแต่อธิบดีกรมสรรพากรจะกำหนดเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในทางภาษีอากร ที่แตกต่างจากการคำนวณกำไรและขาดทุนสุทธิทางบัญชีหรือทางการเงินมีสามรายการ คือ

(1) เงื่อนไขเกี่ยวกับรายได้ 

(2) เงื่อนไขเกี่ยวกับรายจ่าย  และ

(3) หลักเกณฑ์ในการตีราคาทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ก่อให้เกิดรายได้และรายจ่าย

ดังนั้น เมื่อต้องการคำนวณเงินได้สุทธิหรือกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทางภาษีอากร ก็เพียงแต่นำกำไรสุทธิทางบัญชีมาทำการปรับปรุงด้วยเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากรดัง ต่อไปนี้ ก็จะได้กำไรหรือขาดทุนสุทธิทางภาษีอากร เพื่อนำไปยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามแบบ ภ.ง.ด.50 และ ภ.ง.ด.51 ต่อไป

ในทางการศึกษาเกี่ยวกับ “การบัญชีภาษีอากร” นั้น ในเบื้องต้นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ได้เปิดสอนกระบวนวิชา “การบัญชีภาษีอากร” แก่นิสิต นักศึกษา คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จึงปรากฏตำรา “การบัญชีภาษีอากร” โดย ศาสตราจารย์วิโรจน์ เลาหพันธุ์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ คำอธิบายภาษีสรรพากร โดย ศาสตราจารย์ ไพจิตร โรจนวานิช อันเป็นคุณุปการต่อวงการการศึกษาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ “การบัญชีภาษีอากร” แก่นักบัญชีภาษีอากรในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง

ต่อมาเมื่อมีการตราพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 ขึ้น โดยมีศาสตราจารย์ คุณหญิง เกษรี ณรงค์เดช ศาสตราจารย์ วิโรจน์ เลาหพันธ์ อาจารย์อวยพร ตันละมัย และอาจารย์ พรรณี วรวุฒิจงสถิต เป็นอาทิ ร่วมกันผลักดันจนเกิดเป็นสาขา “การบัญชีภาษีอากร” อันเป็นส่วนหนึ่งของวิชาชีพบัญชีทั้งหกสาขาตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 ซึ่งการบัญชีภาษีอากรที่ประกอบด้วย ความรู้เกี่ยวการบัญชีที่ต้องจัดทำตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี และบัญชีที่ต้องจัดทำตามประมวลรัษฎากร การปรับปรุงกำไรสุทธิทางบัญชีให้เป็นกำไรสุทธิทางภาษีอากร การปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ทางภาษีอากรตามที่กฎหมายภาษีอากรกำหนด รวมทั้งการวางแผนภาษีอากร ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่มีภาระที่ต้องเสียภาษีอากรประเภทต่างๆ จึงอาจกล่าวได้ว่า “การบัญชีภาษีอากร” เป็น “ยาดำ” ที่แทรกอยู่ในทุกสาขาวิชาการบัญชีอย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้น เพื่อความเป็นปึกแผ่นของวิชาชีพบัญชีภาษีอากร โดยมีประวัติความเป็นมาที่ชัดเจน สามารถใช้อ้างอิงได้ว่าประเทศไทย ได้เริ่มมีระบบการบัญชีภาษีอากร นับแต่วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2494 อันเป็นวันที่กฎหมายภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล บนฐานกำไรสุทธิเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งก่อให้เกิดการปรับปรุงกำไรสุทธิทางบัญชีให้เป็นกำไรสุทธิทางภาษีอากร และสร้างสรรค์ให้เกิดนักบัญชีภาษีอากรในประเทศไทย ในอันที่จะขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เจริญก้างหน้า ภายใต้หลักคุณธรรมและจริยธรรม ตามหลักธรรมาภิบาล และหลักภาษีอากรที่ดีสืบไป จึงเป็นการสมควรที่จะกำหนดให้ถือว่า วันที่ 25 เมษายน ของทุกปี เป็น “วันนักบัญชีภาษีอากรไทย” ในอันที่จะเป็นผลักดันให้วิชาชีพบัญชีเป็นอีกหนึ่งเสาหลักทางเศรษฐกิจ และพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงสืบไป ตามแนวคิด “รู้และเข้าใจภาษีอากร ช่วยพัฒนาประเทศ”