ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

กิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย (์New Start up)

บทความวันที่ 16 ก.ย. 2559  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 4762 ครั้ง

กิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย

 

รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม โดยได้ตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 602) พ.ศ. 2559 กำหนดยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด เป็นเวลาห้ารอบระยะเวลาบัญชี

 

1. “กิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย

กิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายหมายความว่า กิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายดังต่อไปนี้ซึ่งใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในกระบวนการผลิตและการให้บริการตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกำหนด และได้รับการรับรองจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ   

(1) อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร

(2) อุตสาหกรรมเพื่อประหยัดพลังงาน ผลิตพลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด

(3) อุตสาหกรรมฐานเทคโนโลยีชีวภาพ

(4) อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข

(5) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมบริการ และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์

(6) อุตสาหกรรมวัสดุก้าวหน้า

(7) อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องประดับ

(8) อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน

(9) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และบริการสารสนเทศ

(10) อุตสาหกรรมฐานการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม หรืออุตสาหกรรมใหม่

 

2. คุณสมบัติ และหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้

1. จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559

2. มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท

3. มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการของกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือรายได้เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของรายได้ทั้งหมดในรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

    “ขายหมายความว่า จำหน่าย จ่าย หรือโอน “สินค้า” (ได้แก่ ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ที่มีไว้เพื่อขายเท่านั้น) โดยมีหรือไม่มีประโยชน์หรือค่าตอบแทน และให้หมายความรวมถึงสัญญาให้เช่าซื้อสินค้า สัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้ว และการส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร

    “บริการหมายความว่า การกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า

    รายได้เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการ ให้หมายความรวมถึง หมายความรวมถึง

    (1) รายได้จากการจำหน่ายผลพลอยได้และสินค้ากึ่งสำเร็จรูปในกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย

    (2) รายได้จากการจำหน่ายเครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้ และทรัพย์สินบรรดาที่ใช้ในกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย และหมดสภาพหรือไม่เหมาะสมที่จะใช้งานต่อไป

    (3) รายได้อื่นของกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

4. ยื่นคำร้องขอและได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 265) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2559

5. ไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

 

3. หลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิเป็นระยะเวลาห้ารอบระยะเวลาบัญชี นับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดี สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังต่อไปนี้

1. ในกรณีที่รอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ยื่นคำร้องขอและได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้นับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรก หรือ

2. ในกรณีที่มีการยื่นคำร้องขอและได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร ระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีใดให้นับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรก แม้ว่ามีระยะเวลาน้อยกว่าสิบสองเดือนก็ตามในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขาดคุณสมบัติหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เป็นอันระงับเฉพาะในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

 

4. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 602) พ.ศ. 2559 อธิบดีกรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 265) ลงวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายดังต่อไปนี้

4.1 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งดำเนินกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายและได้รับการรับรองกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในกระบวนการผลิตและการให้บริการจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ที่ประสงค์จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 602) พ.ศ. 2559 ยื่นคำร้องขออนุมัติอธิบดีกรมสรรพากรตามแบบคำขออนุมัติเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start up) (ร.ม.1) ตามที่แนบท้ายประกาศนี้ โดยต้องกรอกคำขออนุมัติตรมแบบ ร.ม.1 ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์ (Web Site) ของกรมสรรพากร http://www.rd.go.th พร้อมแนบไฟล์อีเล็กทรอนิกส์เอกสารหนังสือและการให้บริการที่ออกโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ในรูปแบบของไฟล์ PDF เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย

4.2 ในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งดำเนินกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายและได้รับอนุมัติตามข้อ 1 แล้ว ที่ประสงค์จะขอเพิ่มกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือเพิ่มประเภทสินค้าหรือบริการในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อขอรับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 602) พ.ศ. 2559 ยื่นคำขอตามแบบแจ้งเพิ่มกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ (ร.ม.2) ต่ออธิบดีกรมสรรพากร ผ่านผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์ (Web Site) ของกรมสรรพากร http://www.rd.go.th

        บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประสงค์จะขอเพิ่มกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือเพิ่มประเภทสินค้าหรือบริการในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามวรรคหนึ่ง จะต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะต้องแนบไฟล์อีเล็กทรอนิกส์เอกสารหนังสือและการให้บริการที่ออกโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ในรูปแบบของไฟล์ PDF มาพร้อมกับคำขอด้วย

4.3   การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งดำเนินกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในมาตรา 65  มาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

        กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายมีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้และรายได้จากกิจการอื่น ให้คำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของแต่ละกิจการแยกต่างหากจากกัน หากรายจ่ายใดไม่สามารถแยกกันได้โดยชัดแจ้งว่า ส่วนใดเป็นรายจ่ายของกิจการใด ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉลี่ยรายจ่ายดังกล่าวตามส่วนของรายได้แล้วให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลฉบับเดียว โดยให้แยกกระดาษทำการซึ่งแสดงรายละเอียดการคำนวณกำไรขาดทุนของแต่ละกิจการออกจากกัน