ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

การยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง

บทความวันที่ 30 ธ.ค. 2559  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 27000 ครั้ง

การยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง


1. มูลเหตุในการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง

        เพื่อให้สามารถใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีที่เคยเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากความบกพร่องของใบกำกับภาษีฉบับนั้นๆ ให้เป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่มีรายการถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร และใช้ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีฉบับนั้นในการนำไปเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ได้ 


2. ความบกพร่องของใบกำกับภาษี 

        2.1 สำหรับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป

              (1) กรณีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปมีข้อความไม่ถูกต้อง สมบูรณ์ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร

                   ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าว ถือเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 3 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษี ตามมาตรา 82/5 (1)(2)(3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร 

              (2) กรณีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง เว้นแต่รายการซึ่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากร กำหนดตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 46/2537 เรื่อง การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการตามใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2537 ดังนี้

                    "เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจหรือแนะนำผู้ประกอบการจดทะเบียนปฏิบัติ สำหรับกรณีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

                    ข้อ 1  ให้การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4แห่งประมวลรัษฎากร ในกรณีดังต่อไปนี้ เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ตาม (10) ของข้อ 2 แห่งประกาศกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อ 1 แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 50)เรื่อง กำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2537

                             “(1) การแก้ไขที่อยู่ของผู้ออกใบกำกับภาษี พร้อมกับลงลายมือชื่อผู้ออกใบกำกับภาษีกำกับการแก้ไข ทั้งนี้ เฉพาะใบกำกับภาษีที่ได้ออกในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่ทางราชการได้ประกาศเปลี่ยนแปลงเลขที่บ้าน ชื่อถนน หมู่บ้าน ตำบลหรือแขวง อำเภอหรือเขต หรือจังหวัด หรือได้ทำการแบ่งเขตถนน หมู่บ้าน ตำบลหรือแขวง อำเภอหรือเขต หรือจังหวัดใหม่

                             (2) การแก้ไขที่อยู่ของผู้ออกใบกำกับภาษีด้วยวิธีการประทับตรายางที่อยู่ที่ถูกต้องเพิ่มเติม ทั้งนี้ เฉพาะใบกำกับภาษีที่ได้ออกในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่ทางราชการได้ประกาศเปลี่ยนแปลงเลขที่บ้าน ชื่อถนน หมู่บ้าน ตำบลหรือแขวง อำเภอหรือเขต หรือจังหวัด หรือได้ทำการแบ่งเขตถนน หมู่บ้าน ตำบลหรือแขวง อำเภอหรือเขต หรือจังหวัดใหม่

(แก้ไขเพิ่มเติมตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 72/2541 ใช้บังคับ 1 มกราคม พ.ศ. 2541 เป็นต้นไป)

                             “(3) การแก้ไขเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ออกใบกำกับภาษีพร้อมกับลงลายมือชื่อผู้ออกใบกำกับภาษีกำกับการแก้ไข หรือประทับตรายางเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรที่ถูกต้องเพิ่มเติม ทั้งนี้ เฉพาะใบกำกับภาษีที่ได้ออกในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่กรมสรรพากรได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรให้ใหม่

(แก้ไขเพิ่มเติมตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 147/2557 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป)

                    ข้อ 2  คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2537 เป็นต้นไป 

                           ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าว ถือเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (10) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง กำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษี ตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535

        2.2 สำหรับใบกำกับภาษีอย่างย่อ

                  ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีอย่างย่อ ถือเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง กำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษี ตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535 


3. แนวทางการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง 

        3.1 การเปิดโอกาสให้มีการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง

             ตามข้อ 24 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 86/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบเต็มรูป ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 กรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติในอันที่จะเปิดโอกาสให้มีการยกเลิกแใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำฉบับใหม่ที่ถูกต้อง ดังนี้ 

             "ข้อ 24  กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 22 ไม่มีสิทธินำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องห้ามตามมาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จัดทำใบกำกับภาษีดำเนินการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง จึงจะมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ 

                        กรณีเจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบพบว่า ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้นำใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามวรรคหนึ่งไปถือเป็นภาษีซื้อแล้ว ถ้าเจ้าพนักงานประเมินพิจารณาเห็นว่ามีเหตุอันสมควรให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิม และนำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องมาให้ตรวจสอบภายในระยะเวลาที่กำหนด และผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถนำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องมามอบให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้ ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

                        กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคสอง ไม่สามารถนำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องมาให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89(4) แห่งประมวลรัษฎากร ถ้าต่อมาผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องก็ยังคงมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีดังกล่าวไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติม ตามมาตรา 83/4 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อขอคืนภาษีเป็นเงินสด แต่ต้องไม่เกินสามปีนับจากวันที่ได้มีการจัดทำใบกำกับภาษี

                       กำหนดระยะเวลาตามวรรคสองต้องไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานประเมินตรวจพบการกระทำความผิด"

        3.2 แนวทางยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง

             ตามข้อ 25 และข้อ 26 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 86/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบเต็มรูป ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 กรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการยกเลิกแใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำฉบับใหม่ที่ถูกต้อง ดังนี้ 

              "ข้อ 25  ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งจัดทำใบกำกับภาษีโดยมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ถูกต้องครบถ้วนตามข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 22 เมื่อได้รับการร้องขอให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

                        (1) เรียกคืนใบกำกับภาษีฉบับเดิมและนำมาประทับตราว่ายกเลิก” หรือขีดฆ่า แล้วเก็บรวมไว้กับสำเนาใบกำกับภาษีฉบับเดิม

                        (2) จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ซึ่งเป็นเลขที่ใหม่ แต่จะต้องลง วัน เดือน ปี ให้ตรงกับ วัน เดือน ปี ตามใบกำกับภาษีฉบับเดิม และ

                        (3) หมายเหตุไว้ในใบกำกับภาษีฉบับใหม่ว่า เป็นการยกเลิกและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนฉบับเดิมเลขที่ ... เล่มที่ ...” และหมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ในรายงานภาษีขายของเดือนภาษีที่จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ด้วย

                        ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ร้องขอให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำฉบับใหม่ที่ถูกต้อง จะต้องถ่ายเอกสารใบกำกับภาษีฉบับเดิมที่ขอยกเลิกติดเรื่องไว้ด้วย

               ข้อ 26  กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 25 จัดทำใบกำกับภาษีด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีระบบซอฟต์แวร์ในระบบงานจัดทำใบกำกับภาษีบันทึกเข้าระบบบัญชีแยกประเภทโดยอัตโนมัติ ถ้าระบบซอฟต์แวร์ดังกล่าวไม่สามารถระบุวัน เดือน ปี ในใบกำกับภาษีฉบับใหม่ ให้ตรงกับวัน เดือน ปี ตามใบกำกับภาษีฉบับเดิม ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ โดยดำเนินการตามข้อ 8 วรรคสามและวรรคสี่ ดังนี้

                        (1) จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่โดยรายการดังต่อไปนี้ ได้จัดทำขึ้นโดยตีพิมพ์ ซึ่งทำให้รายการอื่น ๆ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร จะตีพิมพ์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

                              (ก) คำว่า ใบกำกับภาษี

                              (ข) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จัดทำใบกำกับภาษี

                              (ค) คำว่า เอกสารออกเป็นชุด

                        (2) จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่โดยรายการตาม (1) (ก)(ข) และ(ค) ทั้งสามรายการหรือเพียงรายการหนึ่งรายการใดได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้รายการอื่น ๆ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องตีพิมพ์ หรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์เท่านั้น"

              จากแนวทางปฏิบัติดังกล่าว กรมสรรพากรได้กำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งจัดทำใบกำกับภาษีดำเนินการดังต่อไปนี้ 

              (1) เรียกคืนใบกำกับภาษีฉบับเดิมและนำมาประทับตราว่า ยกเลิก”  หรือขีดฆ่า แล้วเก็บรวมไว้กับสำเนาใบกำกับภาษีฉบับเดิม 
              (2) จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ซึ่งเป็นเลขที่ใหม่ แต่จะต้องลง วัน เดือน ปี ให้ตรงกับ วัน เดือน ปี ตามใบกำกับภาษีฉบับเดิม และ 
              (3) หมายเหตุไว้ในใบกำกับภาษีฉบับใหม่ว่า เป็นการยกเลิกและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนฉบับเดิมเลขที่ ... เล่มที่ ...” และหมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ในรายงานภาษีขายของเดือนภาษีที่จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ด้วย 
              สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ร้องขอให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำฉบับใหม่ที่ถูกต้อง จะต้องถ่ายเอกสารใบกำกับภาษีฉบับเดิมที่ขอยกเลิกติดเรื่องไว้ด้วย (ข้อ 25) 
              กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีระบบซอฟต์แวร์ในระบบงานจัดทำใบกำกับภาษีบันทึกเข้าระบบบัญชีแยกประเภทโดยอัตโนมัติ ถ้าระบบซอฟต์แวร์ดังกล่าวไม่สามารถระบุวัน เดือน ปี ในใบกำกับภาษีฉบับใหม่ ให้ตรงกับวัน เดือน ปี ตามใบกำกับภาษีฉบับเดิม ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ โดยดำเนินการดังนี้ 
              (1) จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่โดยรายการดังต่อไปนี้ ได้จัดทำขึ้นโดยตีพิมพ์ ซึ่งทำให้รายการอื่น ๆ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร จะตีพิมพ์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้ 
                   (ก) คำว่า ใบกำกับภาษี” 
                   (ข) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จัดทำใบกำกับภาษี 
                   (ค) คำว่า เอกสารออกเป็นชุด” 
              (2) จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่โดยรายการตาม (1)(ก)(ข) และ (ค) ทั้งสามรายการหรือเพียงรายการหนึ่งรายการใดได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้รายการอื่น ๆ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องตีพิมพ์ หรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์เท่านั้น (ข้อ 26)
แนวคิดเกี่ยวกับการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง ก็เพื่อที่จะให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการสามารถใช้ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร ได้โดยไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายจนเกินเหตุ ทั้งยังเป็นการอำนวยความสะดวก ในขณะที่ใบกำกับภาษีได้มีการออกและส่งมอบกันไปก่อนแล้ว

        กรณีบริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไปแล้ว ต่อมาผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการต้องการเปลี่ยนเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร นั้น บริษัทฯ มีสิทธิยกเลิกใบกำกับภาษีอย่างย่อฉบับเดิมและออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการได้เนื่องจาก ไม่มีกฎหมายใดห้ามผู้ประกอบการจดทะเบียนยกเลิกใบกำกับภาษีอย่างย่อฉบับเดิมแล้วออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแทนแต่อย่างใด ทั้งนี้ ให้นำหลักเกณฑ์ข้อ 25 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 86/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบเต็มรูป ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 มาบังคับใช้โดยอนุโลม โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ 

   (1) บริษัทฯ ต้องเรียกใบกำกับภาษีอย่างย่อคืนและประทับตราว่ายกเลิกหรือขีดฆ่าและเก็บรวบรวมไว้กับสำเนาเครื่องออกใบเสร็จรับเงินและให้ออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่ให้ตรงวันเดือนปีในใบกำกับภาษีอย่างย่อพร้อมทั้งระบุชื่อที่อยู่ของลูกค้าและหมายเหตุในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปว่า "เป็นการยกเลิกใบกำกับภาษีอย่างย่อและออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแทนเลขที่....เล่มที่...."

   (2) บริษัทฯ ต้องหมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีอย่างย่อไว้ในรายงานภาษีขายประจำเดือนที่ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแทนด้วยว่า "ใบกำกับภาษีเล่มที่....เลขที่....เป็นการออกแทนใบกำกับภาษีอย่างย่อเลขที่....วันที่......"

   (3) ลูกค้าผู้รับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแทนใบกำกับภาษีอย่างย่อต้องส่งมอบใบกำกับภาษีอย่างย่อคืนให้แก่บริษัทฯ โดยจะต้องถ่ายเอกสารใบกำกับภาษีอย่างย่อแนบกับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปเก็บไว้ ณ สถานประกอบการของลูกค้าด้วย

   (4) การออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปจะต้องออกเรียงตามลำดับที่ได้ออกไปก่อนหน้าแล้วจะนำเลขที่วันที่ในใบกำกับภาษีอย่างย่อมาออกในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปไม่ได้


       
การยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง ไม่มีกฎหมายรองรับแต่อย่างใด จึงไม่มีโทษทางอาญา หากการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ไม่ถูกต้องตามมาตรา 86/4 หรือมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร