ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ประมวลรัษฎากร: โมเดล “ขนมชั้นห่อใบตอง”

บทความวันที่ 6 ม.ค. 2560  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 3086 ครั้ง

ประมวลรัษฎากร: โมเดล “ขนมชั้นห่อใบตอง” 

 

ขอนำโมเดล “ขนมชั้นห่อไปตอง” มาเปรียบเทียบกับรูปเล่ม (Physical) ของ “ประมวลรัษฎากร” โดยทั่วไปประมวลรัษฎากร เป็นกฎหมายภาษีอากรสมัยใหม่ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากตะวันตก แต่ถูกนำมาบัญญัติเป็นกฎหมายไทย ก็มีลักณษะเฉพาะที่มีความเป็น “ไทย” ทั้งด้าน สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ประเพณี ที่ถือเป็นกฎหมายแบบไทยๆ ประมวลรัษฎากร มีความแตกต่างจากรูปแบบของกฎหมายทั่วไป ทั้งประมวลกฎหมายแพ่ง และประมวลกฎหมายอาญา ที่มีแต่บทบัญญัติหรือกฎหมายแม่บท โดยไม่มีอนุบัญญัติหรือกฎหมายลูกแต่อยางใด ในขณะที่ประมวลรัษฎากร นั้น ประกอบไปด้วย ส่วนที่เป็นบทบัญญัติ และส่วนที่เป็นอนุบัญญัติ เรียงลำดับเป็นชั้นๆ ซึ่งอาจเปรียบเสมือนเป็น “ขนมชั้น” กับส่วนของ หน้าปก คำนำ สารบัญ ซึ่งไม่ใช่ตัวเนื้อแท้ของบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามประมวลรัษฎากร อาจเปรียบเสมือนเป็น “ใบตอง" ที่ห่อหุ้มขนมชั้นไว้ที่ด้านใน โดยเฉพาะในส่วนที่เป็น “เนื้อหาประมวลรัษฎากรที่จำแนกเป็นชั้นๆ ทั้งในส่วนของบทบัญญัติหรือกฎหมายแม่บท และอนุบัญญัติหรือกฎหมายลูก ที่มีลำคับศักดิ์ของกฎหมายต่างกันในแนวดิ่ง เรียงลำดับตามศักดิ์ของกฎหมายเป็นชั้นๆ มุ่งหมายที่จะให้ทราบว่า ในการศึกษาบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรให้เข้าใจได้โดยกระจ่างชัด และเป็นการศึกษาธรรมชาติของกฎหมาย ต้องจำแนกให้ได้ความชัดเจนว่า กฎหมายส่วนใดเป็นกฎหมายแม่บท และกฎหมายส่วนใดเป็นกฎหมายลูก มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไร หาใช่ต้องศึกษาทีเดียวทั้งหมดพร้อมกัน เปรียบได้การการ “ลอก” ขนมชั้นออกเป็นชั้นๆ เพื่อง่ายและสะดวกต่อการรับประทาน ฉันใดก็ฉันนั้น กล่าวคือ

 

1. ส่วนของ “ขนมชั้น” ส่วนที่หนึ่ง

ในที่นี้ ได้แก่ บทบัญญัติหรือกฎหมายแม่บทประกอบด้วย พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 และ “ประมวลรัษฎากร” ที่เป็นบทบัญญัติต่อท้ายพระราชบัญญ้ติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 เพียง่เท่านี้ ก็จะได้ขนมชั้นมา 2 ชั้นแล้ว

1.1 ในส่วนของชั้นแรก อันเป็นพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 เนื้อขนมชั้นอาจจะบางเพราะใส่แป้งเข้าไปน้อย มีเพียง 6 มาตรา แต่เป็นสิ่งที่จะทำให้เข้าใจเจตนารมณ์ของการบัญญัติประมวลรัษฎากร ประวัติศาสตร์การจัดเก็บภาษีก่อนใช้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร รูปแบบของประมวลทุกฉบับ และบทเฉพาะกาล ที่สะท้อนว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องใดก็ตามที่ต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ให้ระลึกไว้เสมอว่าต้องมีบทเฉพาะกาล เพื่อมิให้เกิดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอันเป็นผลกระทบจาการยกเลิกกฎหมายเก่าและใช้กฎหมายใหม่

1.2 สำหรับประมวลรัษฎากร ก็แยกเป็นชั้นๆ ใหญ๋ๆ ได้เป็น 2 ลักษณะในปัจจุบันเหลือมีเพียง 2 ลักษณะ มีมาตรารวมทั้งสิ้นถึง 310 มาตรา แบ่งเป็น

      ลักษณะ 1 ข้อความเบื้องต้น (มาตรา 1 ถึงมาตรา 4 ทศ รวม 26 มาตรา) กล่าวถึง

                 - ชื่อกฎหมาย “ประมวลรัษฎากร” (มาตรา 1)

                 - บทนิยามศัพท์สำหรับบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร (มาตรา 2)

                 - การตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อการยกเว้นหรือลดอัตรารัษฎากร (มาตรา 3)

                 - การกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการตามประมวลรัษฎากร และอำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร (มาตรา 4)

                 - บทเบ็ดเตล็ดในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร (มาตรา 3 ทวิ ถึงมาตรา 3 จตุทศ)

                 - การออกใบผ่านภาษีอากร (มาตรา 4 ทวิ ถึงมาตรา 4 นว) และ

                 - การให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนภาษีอากร (มาตรา 4 ทศ)

      ลักษณะ 2 ภาษีอากรฝ่ายสรรพากร ตั้งแต่มาตรา 5 ถึงมาตรา 129 รวม 284 มาตรา แบ่งเป็นหมวดได้ ประกอบด้วย

           หมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป (มาตรา 5 ถึงมาตรา 13 รวม 14 มาตรา) กล่าวถึง

                 - อำนาจหน้าที่อำนาจหน้าที่และการควบคุมการจัดเก็บภาษีอากรของกรมสรรพากร (มาตรา 5)  

                 - ผู้รับผิดชอบทางภาษีอากรของคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล (มาตรา 6)

                 - ผู้ลงลายมือชื่อในรายการรายงาน หรือเอกสารที่ต้องทำยื่นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (มาตรา 7)

                 - วิธีการส่งหมายเรียก หนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากร หรือหนังสืออื่น (มาตรา 8)

                 - การคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย กรณีทั่วไป (มาตรา 9)

                 - การตีราคาทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเป็นเงิน (มาตรา 9 ทวิ)

                 - ห้ามเจ้าพนักงานเปิดเผยกิจการของผู้เสียภาษีอากร เว้นแต่มีอำนาจกระทำได้ และบทกำหนดโทษ (มาตรา 10 และมาตรา 13)

                 - การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียภาษีอากรและผู้สอบบัญชี (มาตรา 10 ทวิ)

                 - อำนาจอธิบดีในการกำหนดให้อำเภอหรือที่อื่นเป็นสถานที่เสียภาษีอากร (มาตรา 11)

                 - การขอใบแทนใบเสร็จภาษีอากรและค่าธรรมเนียม (มาตรา 11 ทวิ)

                 - ภาษีอากรค้าง และอำนาจในการเร่งรัดหนี้ภาษีอากรค้า (มาตรา 12 ถึงมาตรา 12 ตรี)

           หมวด 1 ทวิ คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร (มาตรา 13 ทวิ ถึงมาตรา 13 อัฏฐ รวม 7 มาตรา) กล่าวถึง

                 - องค์คณะของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร (มาตรา 13 ทวิ)

                 - ผู้ทรงคุณวุฒิ (มาตรา 13 ตรี มาตรา 13 จัตวา และมาตรา 13 อัฏฐ)

                 - องค์ประชุมของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร (มาตรา 13 เบญจ)

                 - อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร (มาตรา 13 สัตต)

           หมวด 2 วิธีการเกี่ยวแก่ภาษีอากรประเมิน (มาตรา 14 ถึงมาตรา 37 ทวิ รวม 33 มาตรา) กล่าวถึง วิธีการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรประเมินอันเป็นบททั่วไป แบ่งออกเป็นสี่ส่วน ดังนี้

                 มาตรา 14 ถึงมาตรา 16 รวม 3 มาตรา กล่าวถึง

                       - ความหมายของคำว่า ภาษีอากรประเมิน(มาตรา 14)

                       - การนำบทบัญญัติตามหมวด 2 ไปใช้บังคับแก่การภาษีอากรประเมินตามหมวด 3 หมวด 4 และหมวด 5 (มาตรา 15) และ

                       - ความหมายของคำว่า เจ้าพนักงานประเมิน(มาตรา 16)

                 ส่วน 1 การยื่นรายการและการเสียภาษีอากร (มาตรา 17 ถึงมาตรา 27 ตรี รวม 16 มาตรา) กล่าวถึง

                       - การยื่นรายการประเมินตนเองโดยผู้ต้องเสียและผู้นำส่งภาษีอากรประเมิน (มาตรา 17)

                       - การประเมินโดยเจ้าพนักงานประเมิน (มาตรา 18 ถึงมาตรา 27 จัตวา ยกเว้นมาตรา 27 ตรี)

                       - เบี้ยปรับ (มาตรา 22 และมาตรา 26)

                       - เงินเพิ่มภาษี (มาตรา 27)

                       - การขอคืนภาษีอากร (มาตรา 27 ตรี) และ

                       - หน้าที่อื่นทางภาษีอากรประเมิน (มาตรา 17 วรรคสองและวรรคสาม)

                 ส่วน 2 การอุทธรณ์ (มาตรา 28 ถึงมาตรา 34 รวม 7 มาตรา) กล่าวถึง

                       - แบบที่ใช้ในการอุทธรณ์ (ภ.ส.6) (มาตรา 28)

                       - การอุทธรณ์การประเมิน (มาตรา 30)

                       - การขอทุเลาการเสียภาษีอากรระหว่างการอุทธรณ์ (มาตรา 31)

                       - อำนาจการออกหมายเรียกเพื่อพิจารณาอุทธรณ์ (มาตรา 32)

                       - กรณีต้องห้ามอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ (มาตรา 33) และ

                       - การส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (มาตรา 34)

                 ส่วน 3 บทกำหนดโทษ (มาตรา 35 ถึงมาตรา 37 ทวิ รวม 5 มาตรา) กล่าวถึง บทกำหนดโทษทางอาญา

           หมวด 3 ภาษีเงินได้ (มาตรา 38 ถึงมาตรา 76 ทวิ และบัญชีอัตราภาษีเงินได้ รวม 62 มาตรา) แบ่งออกเป็นสามส่วน ดังนี้ 

                 ส่วน 1 ข้อความทั่วไป (มาตรา 38 ถึงมาตรา 39 รวม 2 มาตรา) ซึ่งเป็นบทบัญญัติกฎหมายทั่วไปของหมวดนี้ กล่าวถึง

                       - ความเป็นภาษีอากรประเมินของหมวด 3 ภาษีเงินได้ (มาตรา 38) และ

                       - บทนิยามศัพท์สำหรับหมวด 3 (มาตรา 39) 

                 ส่วน 2 การเก็บภาษีจากบุคคลธรรมดา (มาตรา 40 ถึงมาตรา 64 รวม 39  มาตรา) กล่าวถึง

                       - หลักการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (มาตรา 41)

                       - ประเภทเงินได้พึงประเมิน และการยกเว้น (มาตรา 40 และมาตรา 41)

                       - การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งในส่วนของฐานภาษีและอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (มาตรา 48 ประกอบมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 47) และ

                       - การบริหารการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่บัญญัติขึ้นเป็นพิเศษที่แตกต่างไปจากวิธีการตามหมวด 2  

                 ส่วน 3 การจัดเก็บภาษีจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (มาตรา 65 ถึงมาตรา 76 ทวิ รวม 21 มาตรา) กล่าวถึง

                       - หลักการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล (มาตรา 66)

                       - ฐานภาษีเงินได้นิติบุคคล (มาตรา 65 มาตรา 66 มาตรา 67 มาตรา 70 มาตรา 71 (1))

                       - เงื่อนไขในการคำนวณกำไรสุทธิ (มาตรา 65 ทวิ)

                       - อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล (มาตรา 67) และ

                       - การบริหารการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่บัญญัติขึ้นเป็นพิเศษที่แตกต่างไปจากวิธีการตามหมวด 2

                 บัญชีอัตราภาษีเงินได้ (1) สำหรับบุคคลธรรมดา และ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

           หมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม (มาตรา 77 ถึงมาตรา 90/5 รวม 115 มาตรา) แบ่งออกเป็น 14 ส่วน ดังนี้

                 ส่วน 1 ข้อความทั่วไป (มาตรา 77 ถึงมาตรา 77/5 รวม 6 มาตรา) ซึ่งเป็นบทบัญญัติกฎหมายทั่วไปของหมวดนี้ กล่าวถึง

                       - ความเป็นภาษีอากรประเมินของหมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม (มาตร่า 77)

                       - บทนิยามศัพท์สำหรับหมวด 4 (มาตรา 77/1)

                       - หลักการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือกิจกรรมที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (มาตรา 77/2)

                       - ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นภาษีทางเลือก (มาตรา 77/3)  

                 ส่วน 2 ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (มาตรา 78 ถึงมาตรา 78/3  รวม 4 มาตรา) กล่าวถึง

                       - เงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่บ่งบอกให้ทราบว่า ภาระภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้า การให้บริการ และการนำเข้าสินค้า เกิดขึ้นในกรณีใดและเมื่อใด   

                 ส่วน 3 ฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม (มาตรา 79 ถึงมาตรา 79/7 รวม 8 มาตรา) กล่าวถึง ฐานภาษี รูปแบบของฐานภาษี และกรณีไม่นับรวมเป็นฐานภาษี สำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการ และฐานภาษีกรณีต่างๆ

                 ส่วน 4 อัตราภาษี (มาตรา 80 ถึงมาตรา 80/2 รวม 3 มาตรา) กล่าวถึงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และเพื่อการขจัดภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม

                 ส่วน 5 การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (มาตรา 81 ถึงมาตรา 81/3 รวม 4 มาตรา) กล่าวถึง

                       - การยกเว้นสำหรับการขายที่ไม่ใช่การส่งออกหรือการให้บริการ และการนำเข้า (มาตรา 81)

                       - การยกเว้นสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการแก่กิจการขนาดย่อม (มาตรา 81/1)

                       - สิทธิของกิจการที่ได้รับยกเว้นในอันที่จะขออนุมัติจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (มาตรา 81/3)

                 ส่วน 6 ผู้มีหน้าทีเสียภาษีและการคำนวณภาษี (มาตรา 82 ถึงมาตรา 82/18 รวม 19 มาตรา) กล่าวถึง

                       - ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มร่วมกับผู้ประกอบการอยู่นอกราชอาณาจักร (มาตรา 82 มาตรา 82/1 และมาตรา 82/2)

                       - การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามวิธีเครดิต (มาตรา 82/3) 

                       - สิทธิของผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ (มาตรา 82/4)

                       - ภาษีซื้อที่ไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษี การเฉลี่ยภาษีซื้อ และการจำหน่ายหนี้สูญ (มาตรา 82/5 มาตรา 82/6 และมาตรา 82/11)

                       - การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีต่างๆ จากการขายยาสูบ (มาตรา 82/8)

                       - เงื่อนไขในการออกใบเพิ่มหนี้ และใบลดหนี้ (มาตรา 82/9 และมาตรา 82/10)

                 ส่วน 7 การยื่นแบบและการชำระภาษี (มาตรา 83 ถึงมาตรา 83/10 รวม 11 มาตรา) กล่างถึง

                       - การยื่นแบบแสดงรายการเพื่อชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม (มาตรา 83)   

                       - การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติม (มาตรา 83/4)

                       - การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีต่างๆ (มาตรา 83/5 มาตรา 86/6 และมาตรา 86/7) 

                       - การยื่นใบขนสินค้าเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้า (มาตรา 83/8)

                       - การเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อกรมสรรพากร โดยกรมศุลกากร หรือ กรมสรรพสามิต (มาตรา 83/10)

                 ส่วน 8 เครดิตและการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (มาตรา 84 ถึงมาตรา 84/4 รวม 5 มาตรา) กล่างถึง

                       - การขอคืนเครดิตภาษีที่เหลืออยู่จากการคำนวณภาษีในแต่ละเดือนภาษี (มาตรา 84)

                       - การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการ (มาตรา 84/1)

                       - ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้า (มาตรา 84/2)

                       - การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว (มาตรา 84/41)

                 สวน 9 การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (มาตรา 85 ถึงมาตรา 85/19 รวม 20 มาตรา)

                       - การยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการออกใบทะเบียน (มาตรา 85)

                       - การแสดงใบทะเบียน และใบแทนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (มาตรา 85/4)

                       - การแจ้งการเปลี่ยนแปลงรายการกรณีต่างๆ (มาตรา 85/6 ถึงมาตรา 85/8 และมาตรา 85/12 ถึงมาตรา 85/16)

                       - สิทธิการขอให้สั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (มาตรา 85/10)

                       - การปฏิบัติกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนถึงแก่ความตาย (มาตรา 85/18)

                       - อำนาจอธิบดีในการสั่งเพิกถอนการจดทะเบียน และการสั่งขีดชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนออกจากทะเบียน (มาตรา 85/17 และมาตรา 85/19)

                 ส่วน 10 ใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ และใบลดหนี้ (มาตรา 86 ถึงมาตรา 86/14 รวม 15 มาตรา) กล่าวถึง 

                       - เงื่อนไขและกำหนดเวลาในการออกใบกำกับภาษี (มาตรา 86)

                       - ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี และความรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ที่ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิ (มาตรา 86/1 และมาตรา 86/13)

                       - ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป (มาตรา 86/4)

                       - ใบกำก้บภาษีอย่างย่อ (มาตรา 86/6)

                       - ข้อผ่อนปรนในการออกใบกำกับภาษี (มาตรา 86/8)

                       - การออกใบเพิ่มหนี้ และการออกใบลดหนี้ (มาตรา 86/9 และมาตรา 8610) 

                       - ใบแทนใบกำกับภาษี (มาตรา 86/12)

                       - ใบเสร็จรับเงินสำหรับการรับชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของส่วนราชการให้ถือเป็นใบกำกับภาษี (มาตรา 86/14)

                 ส่วน 11 การจัดทำรายงาน และการเก็บรักษารายงานและหลักฐานเอกสาร (มาตรา 87 ถึงมาตรา 87/3 รวม 4 มาตรา) กล่าวถึง 

                       - ประเภทรายงานและกำหนดเวลาในการจัดทำรายการ (มาตรา 87)

                       - หลักเกณฑ์การเก็บรักษารายงาน และหลักฐานเอกสาร (มาตรา 87/3)

                 ส่วน 12 อำนาจเจ้าพนักงารประเมิน (มาตรา 88 ถึงมาตรา 88/6 รวม 7 มาตรา) กล่าวถึง 

                       - อำนาจเจ้าพนักงานประเมิน (มาตรา 88 มาตรา 88/1 และมาตรา 88/2)

                       - อำนาจตรวจปฏิบัติการ (มาตรา 88/3)

                       - อำนาจในการออกหมายเรียก (มาตรา 88/4)

                       - อำนาจแจ้งการประเมิน (มาตรา 88/5)

                       - กำหนดเวลาในการประเมิน (มาตรา 88/6)                

                 ส่วน 13 เบี้ยปรับ-เงินเพิ่ม (มาตรา 89 ถึงมาตรา 89/2 รวม 3 มาตรา)

                 ส่วน 14 บทกำหนดโทษ (มาตรา 90 ถึงมาตรา 90/5 รวม 6 มาตรา)

           หมวด 5 ภาษีธุรกิจเฉพาะ (มาตรา 91 ถึงมาตรา 91/21 รวม 22 มาตรา) กล่าวถึง

                       - ความเป็นภาษีอากรประเมินของหมวด 5 ภาษีธุรกิจเฉพาะ (มาตรา 914)

                       - บทนิยามศัพท์สำหรับหมวด 5 (มาตรา 91/1)

                       - หลักการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือกิจกรรมที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ (มาตรา 91/2)

                       - การคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะ ฐานภาษีและอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ (มาตรา 91/5 และมาตรา 91/6)

                       - การยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (มาตรา 91/3)

                       - การยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ (มาตรา 91/10)

                       - การจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ และกรณีไม่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ (มาตรา 91/12 และมาตรา 91/13)

      - การจัดทำรายงานภาษีธุรกิจเฉพาะ (มาตรา 91/14)

      - อำนาจเจ้าพนักงานประเมินในการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม (มาตรา 91/15 และมาตรา 91/16)

      - การยกเว้นจำนวนภาษีธุรกิจเฉพาะที่มีจำนวนไม่ถึง 100 บาทในแต่ละเดือนภาษี (มาตรา 91/17)

      - บทกำหนดโทษเกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ          (มาตรา 91/

            หมวด 6 อากรแสตมป์ (มาตรา 103 ถึงมาตรา 129 และบัญชีอัตราอากรแสตมป์ รวม 31 มาตรา)

                       - บทนิยามศัพท์เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (มาตรา 103)

                 ส่วน 1 การเสียอากร

                       - หลักการจัดเก็บอากรแสตมป์จากการกระทำตราสารที่กำหนด (มาตรา 104)

                       - การออกใบรับและรูปแบบของใบรับ (มาตรา 105 และมาตรา 105 ทวิ)

                       - ผู้มีหน้าที่ออก ระยะเวลาเก็บรักษาและแบบของใบส่งของ (มาตรา 105 ตรี)

                       - การออกใบส่งของ และรูปแบบของใบส่งของ (มาตรา 105 จัตวา)

                       - ผู้มีหน้าที่เสียอากรและผู้มีหน้าที่ขีดฆ่าอากรแสตมป์ (มาตรา 107)

                       - การทำตราสารหลายลักษณะบนกระดาษแผ่นเดียวกัน (มาตรา 108)

                       - การเสียอากรแสตมป์ในตราสาร ที่เกิดขึ้นโดยมีหนังสือโต้ตอบกัน (มาตรา 109)

                       - การเสียอากรสำหรับตราสารที่ทำขึ้นในต่างประเทศ (มาตรา 111)

                       - สิทธิไล่เบี้ยค่าอากรกรณีตั๋วเงิน (มาตรา 112)

                 ส่วน 2 เบ็ดเตล็ด (มาตรา 113 ถึงมาตรา 123 ตรี รวม 13 มาตรา) กล่าวถึง

                       - เงินเพิ่มอากรแสตมป์ (มาตรา 113 และมาตรา 114)

                       - อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการสั่งให้เสียเงินอากร เงินเพิ่ม และการอุทธรณ์คำสั่ง (มาตรา 115)

                       - การเสียอากรและเงินเพิ่มเป็นตัวเงิน (มาตรา 116)

                       - การใช้ตราสารที่ปิดแสตมป์บริบูรณ์เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง (มาตรา 118)

                       - สิทธิไล่เบี้ยค่าอากรหรือเงินเพิ่มอากร (มาตรา 120)

                       - การยกเว้นอากรแสตมป์แก่รัฐบาล และบุคคลที่เกี่ยวข้อง (มาตรา 121)

                       - การขอคืนเงินอากรหรือค่าเพิ่มอากร (มาตรา 122)

                       - อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรณีต่างๆ (มาตรา 123 ถึงมาตรา 123 ตรี)

                 ส่วน 3 บทลงโทษ (มาตรา 124 ถึงมาตรา 129 รวม 7 มาตรา) กล่าวถึง บทลงโทษทางอาญาเกี่ยวกับอากรแสตมป์

                 บัญชีอัตราอากรแสตมป์

      เนื่องเพราะลักษณะ 3 ภาษีบำรุงท้องที่ถูกยกเลิกไปเป็นกฎหมายเดี่ยว ด้วยพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508

 

2. ส่วนของขนมชั้น ส่วนที่สอง อนุบัญญัติหรือกฎหมายลูก

          กฎหมายลูกหรืออนุบัญญัติตามประมวลรัษฎากร แบ่งเป็น

2.1 พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วย ... (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ....

2.2 กฎกระทรวง ฉบับที่ ... (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร

2.3 ประกาศกระทรวงการคลัง และระเบียบกระทรวงการคลัง

2.4 คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร (ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน)

2.5 คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. .../เลข พ.ศ.

2.6 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ว่าด้วยกรณีและประเภทภาษีอากรต่างๆ ตามประมวลรัษฎากร

 

3. ในส่วนของใบตอง ที่ใช้ห่อหุ้มขนมชั้น ซึ่งได้แก่ 

อาจเปรียบ ปก คำนำ สารบัญ ซึ่งไม่ใช้ตัวเนื้อแท้ของกฎหมายตามประมวลรัษฎากร ได้กับ “ใบตองที่ห่อหุ้มขนมชั้นไว้ที่ด้านใน" 

อนึ่ง ในเนื้อขนมชั้นดังกล่าว อาจมีผงฝุ่นที่แม้ไม่ใช่เนื้อขนมชั้นแต่หากรับประทานเข้าไปก็ไม่เป็นพิษเป็นภัยได้ อาทิ คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. .../เลข พ.ศ. ย่อคำพิพากษาฎีกา หรือคำตอบข้อหารือของกรมสรรพากร ความเห็นของผู้รวบรวม ไว้ด้วย

 

4. บทสรุปโมเตล “ขนมชั้น” 

ในที่สุดก็จะได้ขนมชั้นห่อใบตองที่มีเนื้อหาน่าลองลิ้มชิมรสชาดว่าจะหวานหอม นุ่มนวล และได้กลิ่นอายของภูมิปัญญาไทยไปบ้าง

กฎหมายภาษีสรรพากรตาม “ประมวลรัษฎากร” ที่เปรียบกับ “ขนมชั้น” นั้น สะท้อนให้เห็นถึงลำดับศักดิ์ของกฎหมายภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ที่ไล่เลียงตามแนวดิ่ง ตั้งแต่  “พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481” “ประมวลรัษฏากร” ซึ่งเป็นบทบัญญัติหรือกฎหมายแม่บท กับ อนุบัญญัติหรือกฎหมายลูกที่อาศัยอำนาจตามความในประมวลรัษฎากรหรืออนุบัญญัติที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ตราขึ้นหรือออกมาเพื่ออำนวยให้การบริหารการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร เป็นไปตามเจตนารมณ์หรือวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้เพื่อ “ความเป็นธรรมแก่สังคม” เป็น “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ. ....” “กฎกระทรวง ฉบับที่ (พ.ศ. ....) ออกตามมความในประมวลรัษฎากร” “ประกาศกระทรวงการคลัง...” “ระเบีบบกระทรวงการคลัง...” “คำวินิจฉัยภาษีอากรของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร” “คำสั่งกรมสรรพากร...” และ “ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ...” ซึ่งกฎหมายลำดับศักดิ์ที่ต่ำกว่า จะขัดหรือแย่งกฎหมายสำคับศักดิ์ที่สูงกว่าไม่ได้ มิฉะนั้น จะตกเป็นโมฆะ