ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

อนุบัญญัติที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร

บทความวันที่ 8 ม.ค. 2560  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 8478 ครั้ง

อนุบัญญัติที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร

 

ดังได้กล่าวแล้วว่า ประมวลรัษฎากร เป็นกฎหมายที่มีอนุบัญญัติ หรือกฎหมายลูกที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร หลายชั้นหลายระดับ ต่างกันไปตามลักษณะความสำคัญของอนุบัญญัตินั้น ซึ่งอาจจำแนกได้ดังนี้

1. พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ....

2. กฎกระทรวง ฉบับที่ (พ.ศ ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร และประกาศ หรือระเบียบกระทรวงการคลัง ที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร เป็นอนุบัญญัติหรือกฎหมายลูกในลำดับเดียวกับกฎกระทรวง ซึ่งขอแยกออกมาอธิบายต่างหาก เพื่อประโยชน์ในการศึกษาและทำความเข้าใจประมวลรัษฎากร

3. คำวินิจฉัยภาษีอากรของคณะกรรมการวินิจฉัยภ๋าษีอากร

4. คำสั่งกรมสรรพากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งเป็นกฎหมายลูกหรืออนุบัญญัติลำดับศักดิ์เดียวกับคำสั่งกรมสรรพากร ที่ออกโดยกรมสรรพากร ซึ่งในรายละเอียดขอแยกออกไปกล่าวต่างหาก

 

1. พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร

1.1 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยการตราพระราชกฤษฎีกาจะเกิดขึ้นใน 3 กรณี คือ

      (1)  รัฐธรรมนูญกำหนดให้พระราชกฤษฎีการในกิจการที่สำคัญอันเกี่ยวกับฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรหรือพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

      (2)  โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เป็นการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อใช้กับฝ่ายบริหาร ไม่ใช้บังคับแก่ประชาชนทั่วไป อนึ่ง กรณีนี้จะไม่มีบทมาตราใดในรัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้โดยเฉพาะ เช่น พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเบิกค่าเช่าบ้านของข้าราชการ

      (3)  โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายแม่บท (พระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด) ที่ให้อำนาจตราพระราชกฤษฎีกาได้ เช่น พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2522 กำหนดว่าการให้ปริญญาใดๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา กรณีนี้กฎหมายแม่บทจะกำหนดแต่หลักสาระสำคัญไว้ ส่วนรายละเอียดให้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา

1.2 เหตุที่กฎหมายแม่บทกำหนดแต่หลักการส่วนรายละเอียดนั้นให้ออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ก็เพราะมีเหตุผลอธิบายได้ 4 ประการ คือ

      (1) ทำให้กฎหมายแม่บทอ่านง่าย เข้าใจง่ายเพราะมีแต่หลักการใหญ่ๆ อันเป็นสาระสำคัญ

      (2) ประหยัดเวลาของผู้บัญญัติกฎหมายแม่บท ที่จะไม่ต้องเสียเวลาพิจารณารายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งสมควรมอบหมายความไว้วางใจให้ฝ่ายบริหารไปกำหนดได้เอง

      (3) พระราชกฤษฎีกาและกฎกระทรวงแก้ไขให้ทันกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ง่ายกว่ากฎหมายแม่บท ทั้งนี้ เพราะกฎหมายแม่บทจะต้องผ่านความเห็นชอบของบุคคลหลายฝ่าย

      (4) ทำให้กฎหมายเหมาะสมกับกาลเวลาอยู่เสมอ เพราะถ้าพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ก็เป็นตัวแก้ไขพระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงเท่านั้น ไม่ต้องแก้ไขตัวกฎหมายแม่บท

          1.3 กระบวนการในการตราพระราชกฤษฎีกามีสาระสำคัญ และขั้นตอนดังต่อไปนี้

      (1) ผู้มีอำนาจเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา

           ผู้มีอำนาจเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา คือ บุคคลที่เกี่ยวข้องหรือได้รักษาการตามกฎหมายแม่บทที่บัญญัติให้ออกพระราชกฤษฎีกานั้นๆ ตัวอย่างเช่น พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2535 ผู้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกา คือ รัฐมานตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกา

      (2) ผู้มีอำนาจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกา ได้แก่ คณะรัฐมนตรี

      (3) ผู้มีอำนาจตราพระราชกฤษฎีกา ได้แก่ พระมหากษัตริย์

      (4) การใช้บังคับเป็นกฎหมาย พระราชกฤษฎีกาจะใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ต่อเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

1.4 พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร

      (1) ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร หรือลดอัตรารัษฎากร หรือยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าสินค้า ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 แห่งประมวลรัษฎากร อาทิ

            (ก) พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2499 ยกเว้นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร แก่บุคคลตามสัญญาว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจหรือทางเทคนิค 

           (ข) พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 การยกเว้นรัษฎากร

           (ค) พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 การยกเว้นตามอนุสัญญาภาษีซ้อน

           (ง)  พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2510 ยกเว้นอากรแสตมป์สำหรับตราสารใบรับซึ่งสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยและองค์การสาธารณกุศลอื่นที่เป็นนิติบุคคล 

           (จ) พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2514 ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแก่ผู้มีเงินได้จากการเป็นสมาชิกสหกรณ์เฉพาะส่วนเงินได้ที่เป็นเงินปันผลหรือเงินเฉลี่ยคืน 

           (ฉ) พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 205) พ.ศ. 2532 ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแก่กองทุนเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นในหมู่บ้าน

           (ช) พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 250) พ.ศ. 2535 ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่มูลนิธิหรือสมาคม

            (ซ) พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 269) พ.ศ. 2536 ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อใช้ผลิตปุ๋ย

           (ฌ) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการบริจาคกรณีต่างๆ แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนดังกล่าวนั้น หรือไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร อาทิ  

                 1) พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2548 สำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา (ดูพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 616) พ.ศ. 2559 ประกอบ)

                 2) พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 428) พ.ศ. 2548 สำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างและการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้เป็นการทั่วไป โดยไม่เก็บค่าบริการใด ๆ หรือสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของทางราชการ (เฉพาะกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล)

                 3) พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 515) พ.ศ. 2554 สำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาขององค์การของรัฐบาล โรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เพื่อใช้ในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน

                 4) พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 515) พ.ศ. 2554 สำหรับการบริจาคเงินให้แก่กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งขึ้น

                 5) พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 526) พ.ศ. 2554 สำหรับรายจ่ายที่ลได้จ่ายให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

                 6) พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 596) พ.ศ. 2559 สําหรับการบริจาคให้แก่การกีฬาแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกีฬาจังหวัด สมาคมกีฬาแห่งจังหวัด สมาคมกีฬาที่ใช้คําว่า แห่งประเทศไทยหรือกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย และกรมพลศึกษา ที่ได้กระทําตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561

           (ญ) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในกรณีต่างๆ ดังนี้

                 1) พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 437) พ.ศ. 2548 สำหรับค่าใช้จ่ายในการส่งลูกจ้างของตนเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมในสถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมฝีมือแรงงานต่างๆ (Public Training) หรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างของตน (Inhouse Training) หรือค่าใช้จ่ายในการฝึกเตรียมเข้าทำงานเพื่อประโยชน์ของกิจการของตน

                 2) พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 499) พ.ศ. 2553 สำหรับค่าใช้จ่ายในการจ้างคนพิการ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และเพิ่มเป็นร้อยละสองร้อยตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 519) พ.ศ. 2554 กรณีจ้างคนพิการดังกล่าวเข้าทำงานเกินกว่าร้อยละหกสิบของลูกจ้าง

                 3) พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 526) พ.ศ. 2554 สำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กเพื่อเป็นสวัสดิการของลูกจ้างสำหรับสถานประกอบการของตน เฉพาะในส่วนที่ไม่เกินหนึ่งล้านบาท

           (ฎ) พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 540) พ.ศ. 2554 ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

      (2) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ที่ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตราอื่นๆ อาทิ

           (ก) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502  ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 43 มาตรา 44 มาตรา 45 และมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร

           (ข) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และราคาหรือมูลค่าสำหรับการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์แก่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่มิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ฉบับที่ 121) พ.ศ. 2525 ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร 

           (ค) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร

           (ง)  พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีซื้อที่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ 243) พ.ศ. 2534 ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 65 ตรี (6 ทวิ)

            (จ) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 65 ตรี (20) แห่งประมวลรัษฎากร ตราขึ้น          

           (ฉ) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 81 (1)(น) แห่งประมวลรัษฎากร ตราขึ้น

           (ช) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดมูลค่าของฐานภาษีบางกรณี (ฉบับที่ 245) พ.ศ. 2534 ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 79/7 แห่งประมวลรัษฎากร 

            (ซ) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ทางการค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร

           (ฌ) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ และกำหนดฐานภาษีสำหรับกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะบางกรณี ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 91/2 (8) และมาตรา 91/5 (8) แห่งประมวลรัษฎากร  

                 1)   พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 350) พ.ศ. 2542 (กิจการซื้อและขายคืนหลักทรัพย์)

                 2)   พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 358) พ.ศ. 2542 (กิจการแฟ็คเตอริ่ง)

           (ญ) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการเฉพาะอย่างที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะให้เป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 246) พ.ศ. 2534 ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 91/4 (2) แห่งประมวลรัษฎากร

           (ฎ) พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่  432) พ.ศ. 2548 ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร

 

2. กฎกระทรวง ออกตามความในประมวลรัษฎากร

          2.1 กระบวนการในการออกกฎกระทรวง มีขั้นตอน ดังนี้

      (1) ผู้มีอำนาจเสนอร่างกฎกระทรวง  ได้แก่  รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายแม่บทซึ่งให้อำนาจออกกฎกระทรวงนั้นๆ

      (2) ผู้มีอำนาจพิจารณาร่างกฎกระทรวง ตามธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ (Convention of Constitution) ของประเทศไทย ได้แก่ คณะรัฐมนตรี แม้พิจารณาตามตัวบทกฎหมายไม่ได้บังคับให้ต้องนำร่างกฎกระทรวงเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา แต่ด้วยหลักที่ว่าด้วยความรับผิดชอบร่วมกันของคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีคนใดจะออกกฎกระทรวงก็ต้องให้คณะรัฐมนตรีร่วมกันพิจารณาเสียก่อน

      (3) ผู้มีอำนาจตรากฎกระทรวง ได้แก่  รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายแม่บทซึ่งให้อำนาจออกกฎกระทรวงนั้นๆ

      (4) การใช้บังคับเป็นกฎหมายเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา

2.2 กฎกระทรวงออกตามความในประมวลรัษฎากร

      (1) กฎกระทรวงที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร อาทิ

           (ก) กฎกระทรวง ฉบับที่ 79 (พ.ศ. 2496) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยอากรแสตมป์

           (ข) กฎกระทรวง ฉบับที่ 129 (พ.ศ. 2512) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยอากรแสตมป์และอากรมหรสพ (เกี่ยวกับการลดเงินเพิ่มอากรแสตมป์)

           (ค) กฎกระทรวง ฉบับที่ 141 (พ.ศ. 2521) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยอากรแสตมป์ กรณีผู้ประกอบกิจการที่ไม่ต้องทำและเก็บต้นขั้วหรือสำเนาใบรับตามมาตรา 105 ทวิ วรรคหนึ่ง

      (2) กฎกระทรวงที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 4 และมาตราอื่นๆ แห่งประมวลรัษฎากร อาทิ

           (ก) อาศัยอำนาจตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 144 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้

           (ข) อาศัยอำนาจตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร

           (ค) อาศัยอำนาจตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

            (ง)  อาศัยอำนาจตามมาตรา 48 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 134 (พ.ศ. 2517) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ 

            (จ) อาศัยอำนาจตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้

            (ฉ) อาศัยอำนาจตามมาตรา 65 ตรี (2) แห่งประมวลรัษฎากร ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 143 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

            (ฌ) อาศัยอำนาจตามมาตรา 65 ตรี (4) แห่งประมวลรัษฎากร ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 144 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้

           (ญ) อาศัยอำนาจตามมาตรา 65 จัตวา แห่งประมวลรัษฎากร ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 158 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้

           (ฎ) อาศัยอำนาจตามมาตรา 77/1 (8)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 188 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยกรณีอื่นที่ถือว่าเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร

           (ฏ) อาศัยอำนาจตามมาตรา 78/3 แห่งประมวลรัษฎากร ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มบางกรณี

           (ฐ) อาศัยอำนาจตามมาตรา 86/5 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 198 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายสินค้าหรือการให้บริการอื่น ตามมาตรา 86/5 (4) แห่งประมวลรัษฎากร

 

3. ประกาศกระทรวงการคลัง และระเบียบกระทรวงการคลัง

ประกาศหรือระเบียบกระทรวงการคลัง ที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ได้แก่

          3.1 ประกาศกระทรวงการคลัง

      (1) ออกตามความในมาตรา 3 อัฎฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อ ขยายกำหนดเวลาการยื่นรายการกรณีต่างๆ  

      (2) ออกตามความในมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อประกาศอัตราแลกเปลี่ยน

      (3) ออกตามความในมาตรา 4 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 437) พ.ศ. 2548

          3.2 ประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน ออกตามความในมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยเฉพาะประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 54)

          3.3 ประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาประกาศกำหนดองค์การ สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาลและสถานศึกษา ตามมาตรา 47 (7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 3 (4) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534

          3.4 ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับผู้เสียภาษีที่ออกตามความในมาตรา 10 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

 

4. คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการที่ออกตามความในมาตรา 13 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ ตามมาตรา 13 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร  

 

5. คำสั่งกรมสรรพากร

คำสั่งกรมสรรพากร ที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ได้แก่

          5.1 คำสั่งกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์

          5.2 คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. เป็นคำสั่งที่อาศัยอำนาจตามความในประมวลรัษฎากร ออกเพื่อใช้บังคับเป็นการทั่วไป เช่น คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 1/2528 ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร หรือคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร

          อนึ่ง คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. เป็นแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร อันมิใช่กฎหมาย ซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรออกคำสั่งเพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาให้ถือปฏิบัติในการจัดเก็บภาษีอากร

 

6. ประกาศกรมสรรพากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

ประกาศกรมสรรพากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ได้แก่

          6.1 ประกาศกรมสรรพากร

          6.2 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

          6.3 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี

          6.4 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้และภาษีการค้า

          6.5 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้

          6.6 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม

          6.7 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ

          6.8 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์

 

7. บทสรุป

อนุบัญญัติหรือกฎหมายลูกที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร มีความหลากหลายในรูปแบบของกฎหมายอนุบัญญัติทั้วนี้ขึ้นอยู่กับระดับความสำคัญของอนุบัญญัตินั้นๆ ว่ามีความสำคัญต่อการบริหารการจัดเก็บมากน้อยเพียงใด ในกรณีที่มีระดับความสำคัญสูงมากก็ตราในรูปของพระราชกฤษฎีกาฯ อาทิ การยกเว้นรัษฎากร หรืออัตรารัษฎากร หรือหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่มีผลกระทบต่อฐานภาษีอากร หากเป็นการกำหนดกิจการเพื่อการปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร ก็ออกเป็น “กฎกระทรวง” และในกรณีที่ข้อปฏิบัติที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อย ก็ให้ออกเป็นคำสั่งกรมสรรพากร หรือประกาศอธิบดีกรมสรรพากร