ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

เบี้ยปรับตามมาตรา 22 และมาตรา 26 แห่งประมวลรัษฎากร

บทความวันที่ 12 พ.ค. 2560  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 13132 ครั้ง

ปุจฉา: 

สงสัยเกี่ยวกับวิธีการคำนวณ เบี้ยปรับ ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 22 กับ มาตรา 26 ว่าเบี้ยปรับ 1 เท่า หรือ 2 เท่า นี้คำนวณจากยอดเงินได้สุทธิคูณอัตราภาษี ก่อนหรือหลังหักยอดภาษีหัก ณ ที่จ่ายครับ


สุเทพ พงษ์พิท้กษ์ 
วิสัชนา: 
เบี้ยปรับตามมาตรา 22 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งใช้กับกรณีภาษีเงินได้ บัญญัติว่า 
...."มาตรา 22 ในการประเมินตามมาตรา 20 หรือมาตรา 21 ผู้ต้องเสียภาษีต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระอีก" 
….“มาตรา 26 เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในลักษณะนี้ ในการประเมินตามมาตรา 24 หรือมาตรา 25 ผู้ต้องเสียภาษีต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ” 
....และตามมาตรา 60 มาตรา 69 ทวิ และมาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรก็ดี รวมทั้งมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ที่กำหนดให้นำมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากร ไปใช้บังคับโดยอนุโลมก็ดี กำหนดให้ถือว่า "จำนวนเงินภาษีที่หักและนำส่งไว้นั้น ให้ถือเป็นเครดิตของผู้ต้องเสียภาษีในการคำนวณภาษี" ซึ่งหมายความว่า ให้นำไปเครดิตหักออกจากจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระก่อนคำนวณเบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม 
....ดังนั้น คำว่า “จำนวนเงินภาษีที่ชำระอีก” ตามมาตรา 22 หรือคำว่า “จำนวนเงินภาษีที่ชำระ” ตามมาตรา 26 แห่งประมวลรัษฎากร ย่อมหมายถึง ... 
....(1) ในกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หมายถึง จำนวนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องชำระเพิ่มเติมภายหลังจากคำนวณหักด้วยเครดิตภาษีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ชำระไว้แล้วตามแบบ ภ.ง.ด.93 ภ.ง.ด.92 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย รวมทั้งเครดิตภาษีตามอนุสัญญาภาษีซ้อน 
….(2) ในกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล หมายถึง จำนวนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ต้องชำระเพิ่มภายหลังจากคำนวณหักด้วยเครดิตภาษีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ชำระไว้แล้วตามแบบ ภ.ง.ด.51 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย รวมทั้งเครดิตภาษีตามอนุสัญญาภาษีซ้อน 
....ข้อสังเกต
....1. คำว่า “เงินภาษีที่ชำระ” หมายถึง ส่วนที่ผู้ต้องเสียภาษีต้องชำระเพิ่มเติมจากการประเมินเรียกเก็บภาษีของเจ้าพนักงานประเมิน ซึ่งต่างจากคำว่า “เงินภาษีที่ต้องเสีย” นั้น ได้แก่ จำนวนภาษีที่คำนวณได้ก่อนเครดิตภาษีทุกกรณี
....2. คำว่า “อีก” ตามมาตรา 22 แห่งประมวลรัษฎากร นั้น เป็นที่แจ้งชัดว่า หมายถึง ส่วนที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น

ดังนั้น วิธีการคำนวณเบี้ยปรับ ทั้งกรณีตามมาตรา 22 และมาตรา 26 แห่งประมวลรัษฎากร นั้น จำนวนเบี้ยปรับ 1 เท่า หรือ 2 เท่า ดังกล่าว ให้คำนวณจากจำนวนภาษีเงินได้ที่คำนวณจากยอดเงินได้สุทธิคูณอัตราภาษี หลังจากหักด้วยจำนวนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เท่านั้น