ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

การขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร

บทความวันที่ 30 พ.ค. 2560  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 4662 ครั้ง

การขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร

        รัฐบาล ฯพณฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กราบบังคมทูลเพื่อตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 38) พ.ศ. 2557 เพื่อยกเลิกความในมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร และให้ใช้ความใหม่แทน โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 131 ตอนที่ 77 ก ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 จึงได้แก่ วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557
        เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว คือ โดยที่มาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากรกําหนดให้การขอคืนภาษีเงินได้ที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายและนําส่งแล้วเป็นจํานวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียให้ยื่นคําร้องขอคืนได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งถูกหักภาษีเกินไป ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวไม่สอดคล้องกับมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร อันเป็นบทบัญญัติในลักษณะทํานองเดียวกันทําให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย สมควรปรับปรุงระยะเวลาการยื่นคําร้องขอคืนภาษีเงินได้ที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัติดังกล่าว

         ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 38) พ.ศ. 2557 ได้กำหนดให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๓ แห่งประมวลรัษฎากร และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
         “มาตรา 63 บุคคลใดถูกหักภาษีไว้ณ ที่จ่ายและนําส่งแล้วเป็นจํานวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีตามส่วนนี้ บุคคลนั้นมีสิทธิได้รับเงินจํานวนที่เกินนั้นคืน แต่ต้องยื่นคําร้องขอคืนต่อเจ้าพนักงานประเมินภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกําหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกําหนด
บุคคลใดที่ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินในปีภาษีแต่ถูกหักภาษีไว้ณ ที่จ่าย และนําส่งแล้ว บุคคลนั้นมีสิทธิได้รับเงินจํานวนที่ถูกหักและนําส่งไว้แล้วนั้นคืน แต่ต้องยื่นคําร้องขอคืนต่อเจ้าพนักงานประเมินภายในสามปีนับแต่วันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดจากปีที่ถูกหักภาษีไว้”

        ดังนั้น นับแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2557 เป็นต้นไป การขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ให้ยื่นคำร้องขอคืน ภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้
        1. กรณีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 และหรือมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร
            (1) สำหรับผู้มีเงินได้ที่มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ ให้มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จายที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายและนําส่งแล้วเป็นจํานวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีนั้นคืนตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร ต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกําหนดเวลายื่นรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ วันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดจากปีที่ถูกหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย
                 กรณีได้รับอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาออกไป ไม่ว่าจะโดยอธิบดีกรมสรรพากร หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามมาตรา 3 อัฏฐ แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดเวลา 3 ปี ก็ให้เลื่อนออกไป เป็นนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาที่ขยายออกไปนั้นด้วย
            (2) กรณีที่ผู้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนําส่งแล้วนั้น ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินในปีภาษี ให้บุคคลนั้นมีสิทธิยื่นคำร้อง (ตามขอ ค.10) เพื่อขอคืนภาษีเงินได้ที่ถูกหักและนําส่งไว้แล้วนั้นคืน ภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดจากปีที่ถูกหักภาษีไว้
        2. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย
            (1) สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จายดังกล่าว ที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายและนําส่งแล้วเป็นจํานวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีนั้นคืน ตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร ต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกําหนดเวลายื่นรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 68 และมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ เมื่อพ้นกำหนด 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีที่ถูกหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย
                กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลออกไป ไม่ว่าจะโดยอธิบดีกรมสรรพากร หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามมาตรา 3 อัฏฐ แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดเวลา 3 ปี ก็ให้เลื่อนออกไป เป็นนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาที่ขยายออกไปนั้นด้วย
อนึ่ง เนื่องจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการทุกกรณี จึงไม่ต้องนำความในวรรคสองของมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากรมาปรับใช้
            (2) สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 69 ทวิ และมาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จายดังกล่าว ที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายและนําส่งแล้วเป็นจํานวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีนั้นคืน ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกําหนดเวลายื่นรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 68 และมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ เมื่อพ้นกำหนด 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีที่ถูกหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย