ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

การยกเว้นภาษีอากรจากการแปรรูปเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

บทความวันที่ 3 มิ.ย. 2560  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 5616 ครั้ง

การยกเว้นภาษีอากรจากการแปรรูปเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

         โดยที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนส่งเสริมให้มีการแปรรูปแปรสภาพธุรกิจบุคคลธรรมดาให้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แต่ในการแปรรูปแปรสภาพดังกล่าว  ผู้ประกอบการ ต้องมีภาระภาษีอันเกิดขึ้นจากการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ และมีรายจ่ายอันเกิดจากการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ค่าทําบัญชีและค่าสอบบัญชี ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบกิจการในรูปแบบบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้มากขึ้น จึงได้มีการตราพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 630) พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2560 เพื่อยกเว้นภาษีอากรจากการโอนทรัพย์สินบางกรณี ดังนี้

1. ให้ยกเว้นเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่บุคคลธรรมดา สําหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้า หรือการกระทําตราสารอันเนื่องมาจากการโอนทรัพย์สินให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นหุ้นสามัญของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ทั้งนี้ เฉพาะการโอนทรัพย์สิน และการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้กระทําตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 4) เรื่อง กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 630) พ.ศ. 2560 ดังนี้

    "(1) ต้องเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกกิจการของบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้น ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 เพื่อใช้เป็นทุนจดทะเบียนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ตามราคาตลาด เว้นแต่ทรัพย์สินประเภทที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ต้องโอนด้วยราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนนั้น หรือราคาต้นทุนการซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่บุคคลผู้โอนได้ซื้อมา ตามหลักฐานสัญญาซื้อขายที่ได้ทำเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วแต่กรณี"

     (แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 5) เรื่อง กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 630) พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2560) 

    (2) บุคคลผู้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ต้องถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่รับโอนทรัพย์สินเป็นจำนวนไม่น้อยกว่ามูลค่าทรัพย์สินที่โอน

    (3) ต้องไม่โอนหุ้นอันเกิดจากการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ซึ่งได้รับยกเว้นรัษฎากรในราคาต่ำกว่ามุลค่าหุ้นทางบัญชี

    (4) บุคคลผู้โอนอสังหาริมทรัพย์และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้รับโอนอสังหาริมทรัพย์ จะต้องร่วมกันจัดทำหนังสือรับรองการโอนอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้เป็นทุนจดทะเบียนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยบุคคลผู้โอนอสังหาริมทรัพย์ต้องแจ้งหนังสือรับรองดังนี้

          (ก) แจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินท้องที่ที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม โดยให้ส่งมอบหนังสือรับรองดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดินผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมาย เว้นแต่บุคคลผู้โอนอสังหาริมทรัพย์ประสงค์จะชำระภาษีอากรก่อนในขณะที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมาย ก็ไม่ต้องแจ้งและส่งมอบหนังสือรับรองดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดิน

          (ข) แจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากร โดยให้ส่งมอบหนังสือรับรองดัีงกล่าวผ่านสรรพากรพื้นที่ ในเขตท้องที่ที่บุคคลผู้โอนอสังหาริมทรัพย์มีภูมสำเนาหรือสถานประกอบการตั้งอยู่ หรือในเขตท้องที่ที่อสังหาริมทรัพย์ที่โอนตั้งอยู่

          ทั้งนี้ หนังสือรับรองดังกล่าวต้องมีข้อมความอย่างน้อยตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ท้ายประกาศฉบับดังกล่าว  

2. ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งมีทุนที่ชําระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินสามสิบล้านบาท และได้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 สําหรับเงินได้เป็นจํานวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายอันเกิดจากการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ค่าทําบัญชี และค่าสอบบัญชี เป็นระยะเวลาห้ารอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน นับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 4) เรื่อง กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 630) พ.ศ. 2560 ดังนี้

      (1) กรณีรายจ่ายอันเกิดจากการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังนี้

            (ก) กรณีรายจ่ายอันเกิดจากการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่มีหลักฐานพิสูจน์ได้และให้ที่ประชุมจัดตั้งบริษัทได้ให้สัตยาบันไว้  

            (ข) กรณีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่มีหลักฐานพิสูจน์ได้และมีการรับรองโดยหุ้นส่วนผู้จัดการ

      (2) กรณีรายจ่ายค่าทำบัญชี และค่าสอบบัญชี ต้องเป็นค่าทำบัญชีและค่าสอบบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี

      อนึ่ง คำว่า “ขายสินค้าหมายความว่า จําหน่าย จ่าย หรือโอนสินค้า อันได้แก้ ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ที่มีไว้เพื่อขายเท่านั้นโดยมีหรือไม่มีประโยชน์หรือค่าตอบแทนและให้หมายความรวมถึงสัญญาให้เช่าซื้อสินค้า สัญญาซื้อขายผ่อนชําระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้ว และการส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร

      คำว่า บริการหมายความว่า การกระทําใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า

      ดังนั้น หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนมีรายได้อย่างอื่นที่ไม่เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าหรือการให้บริการตามนคำนิยามดังกล่าว ก็จะไม่นับรวมเป็นรายได้จาการขาย สินค้าหรือการให้บริการในส่วนที่ไม่เกินสามสิบล้านบาท  

 

หนังสือรับรองการโอนอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้เป็นทุนจดทะเบียนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 630) พ.ศ. 2560

 

 

                                                                            วันที่...........เดือน.......................พ.ศ.........

              เจ้าพนักงานที่ดิน.......................................

เรียน

              อธิบดีกรมสรรพากร (ผ่านสรรพากรพื้นที่...............................................)

 

                     ๑. หนังสือนี้ทำขึ้นโดย

                          (๑) .........................................................................สำนักงานตั้งอยู่เลขที่.................. ตำบล/แขวง.....................................อำเภอ/เขต.................................... จังหวัด...........................................ซึ่งต่อไปนี้เรียกว่า “ผู้โอน”

                          (๒) .........................................................................สำนักงานตั้งอยู่เลขที่.................. ตำบล/แขวง.....................................อำเภอ/เขต.................................... จังหวัด...........................................ซึ่งต่อไปนี้เรียกว่า “ผู้รั้บโอน”

                     ๒. ผู้โอนขอโอนอสังหาริมทรัพย์ให้ผู้รับโอน ได้แก่       โฉนด      น.ส.๓       น.ส.๓ก        อื่นๆ 

เลขที่.................... หมู่ที่........... ตำบล/แขวง.............................. อำเภอ......................จังหวัด.......................  

                     ๓. ผู้โอน/ผู้รับโอน ขอรับรองว่า การโอนอสังหาริมทรัพย์นี้ เป็นการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้โอนได้ใช้ในการประกอบกิจการของตนเองอยู่ก่อนแล้ว เพื่อใช้เป็นทุนจดทะเบียนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้รับโอน โดยชำระค่าหุ้นจำนวน ................ หุ้น ราคาหุ้นละ...................บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น..........................บาท ทั้งนี้ ปรากฏรายละเอียดตามหนังสือรับรองนิติบุคคล สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น และเอกสารรายงานการประชุม (ถ้ามี) ที่แนบมาพร้อมนี้

                     ผู้โอน/ผู้รับโอน ขอรับรองว่า รายการในหนังสือฉบับนี้เป็นความจริงทุกประการ

                     จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

                                                                  ลงชื่อ.............................................ผู้โอน

                                                                         (...........................................)            

                                                                  ลงชื่อ.............................................ผู้รับโอน

                                                                         (...........................................)

                                                                  ลงชื่อ.............................................พยาน

                                                                         (...........................................)

                                                                  ลงชื่อ.............................................พยาน

                                                                         (...........................................)